อาน รอแบร์ ฌัก ตูร์โก
อาน รอแบร์ ฌัก ตูร์โก Anne Robert Jacques Turgot | |
---|---|
มุขมนตรีแห่งรัฐฝรั่งเศส | |
ดำรงตำแหน่ง 24 สิงหาคม 1774 – 12 พฤษภาคม 1776 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 |
ก่อนหน้า | เรอเน นีกอลา เดอ โมปู |
ถัดไป | เคานต์แห่งโมร์ปา |
ขุนคลังเอก | |
ดำรงตำแหน่ง 24 สิงหาคม 1774 – 12 พฤษภาคม 1776 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 |
ก่อนหน้า | โฌแซ็ฟ มารี แตแร |
ถัดไป | บารอนแห่งนูย |
รัฐมนตรีว่าการทหารเรือ | |
ดำรงตำแหน่ง 20 กรกฎาคม 1774 – 24 สิงหาคม 1774 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 |
ก่อนหน้า | ปีแยร์ เอเตียน บูร์ฌัว เดอ บวน |
ถัดไป | อ็องตวน เดอ ซาร์ตีน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1727 ปารีส |
เสียชีวิต | 18 มีนาคม ค.ศ. 1781 ปารีส | (53 ปี)
ลายมือชื่อ | |
อาน รอแบร์ ฌัก ตูร์โก (ฝรั่งเศส: Anne Robert Jacques Turgot) เป็นรัฐบุรุษและนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้รับการนับถือเป็นผู้อุทิศตนยุคแรก ๆ เพื่อเศรษฐกิจเสรี เขาดำรงตำแหน่งขุนคลังเอกในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
ประวัติ
[แก้]เขาเป็นบุตรคนที่สามของนายมีแชล-เอเตียน ตูร์โก (Michel-Étienne Turgot) ประธานหอการค้าปารีส เขาได้รับการศึกษาในโรงเรียนโบสถ์ ต่อมาเข้าศึกษาที่วิทยาลัยซอร์บอนใน 1749 และเริ่มสนใจเศรษฐศาสตร์ในปีนั้น เขาเริ่มศึกษาทฤษฎีของฟร็องซัว แกแน (François Quesnay) และแว็งซ็อง เดอ กูร์แน (Vincent de Gournay)
ในปี 1752 เขาได้เป็นสมาชิกสภาอำมาตย์ปารีส (Parlement de Paris), ในปี 1753 ได้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายยุติธรรม, ในปี 1760 เขาเดินทางไปฝรั่งเศสตะวันออกและสวิตเซอร์แลนด์ และได้แวะเยี่ยมวอลแตร์ซึ่งกลายเป็นเพื่อนสนิทและผู้สนับสนุนของเขา ต่อมาในปี 1761 ตูร์โกดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานอากร (intendant) ประจำมณฑลลีมอฌ (genéralité de Limoges) และได้ดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึงสิบสามปี ในช่วงนี้เอง เขาเล็งเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบภาษี และพยายามเอาทฤษฎีภาษีของแกแนและกูร์แนมาปรับใช้ภายในมณฑลเท่าที่จะทำได้ จุดที่แตกต่างคือ ในขณะที่แกแนและมีราโบผลักดันให้จัดเก็บภาษีอัตราคงที่ (proportional tax) ทุกคนจ่ายภาษีอัตราเท่ากัน แต่ตูร์โกผลักดันให้จัดเก็บภาษีอัตราถดถอย (regressive tax)
เดิมที ประชาชนต้องถูกเกณฑ์แรงงานมาช่วยงานภาคหลวงหนึ่งวันต่อสัปดาห์ เช่น การมาช่วยสร้างถนน ตูร์โกยินยอมให้ประชาชนที่ไม่ประสงค์มาช่วยงานหลวงจ่ายเป็นเงินได้ และยกหน้าที่การสร้างถนนให้แก่ผู้รับเหมา ทำให้ถนนหนทางภายในมณฑลของเขามีคุณภาพดีกว่า[1]
หัวหน้าฝ่ายบริหาร
[แก้]ตูร์โกได้ดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐ (principal ministre d'État) ควบขุนคลังเอกในเดือนสิงหาคม 1774 สิ่งแรกที่เขาทำคือเสนอต่อองค์กษัตริย์ว่ารัฐบาลจะ "ไม่ล้มละลาย, ไม่เพิ่มภาษี, ไม่กู้ยืม" โดยวิธีหลายประการ นโยบายของตูร์โกประสบความสำเร็จในการลดการขาดดุลการคลัง และสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ชาวเนเธอร์แลนด์ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 4% อย่างไรก็ตาม การขาดดุลงบประมาณก็ยังมีจำนวนมากอยู่ดี ทำให้เขาต้องคิดมาตรการอื่นเพิ่มเติม ทั้งการปฏิรูปราชสำนัก, การตั้งกฎหมายเศรษฐกิจเสรี นอกจากนี้เขายังคัดค้านการมีส่วนร่วมของฝรั่งเศสในสงครามปฏิวัติอเมริกา เขามองว่าฝรั่งเศสได้ไม่คุ้มเสียในสงครามครั้งนี้[1]
ในเดือนมกราคม 1776 ตูร์โกซึ่งเป็นผู้นิยมการค้าเสรี ได้ส่งร่างกฤษฎีกาหกฉบับต่อคณะองคมนตรี (conseil du roi) สี่ฉบับสำคัญไม่มาก แต่มีสองฉบับที่กระทบถึงเอกสิทธิ์ จึงเผชิญแรงต้านมหาศาล ได้แก่ การยกเลิกแรงงานเกณฑ์ (corvées) และการยกเลิก jurandes กับ maîtrises ของสมาคมหัตถกรรม ซึ่งจะทำให้ช่างฝีมือทุกคนมีสิทธิ์ทำงานมากเท่าที่ต้องการโดยไม่มีข้อจำกัด กฎหมายหกฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม เมื่อถึงเวลานั้น แทบทุกคนในราชสำนักมองตูร์โกเป็นศัตรู
ความตั้งใจทั้งหลายของเขาคงประสบผลดีหากได้รับความไว้วางใจจากองค์กษัตริย์ แต่ตูร์โกกลับเผชิญความยากลำบากในการทำงาน เขาขัดขวางโดยถูกกลุ่มคนที่ไม่ชอบและอิจฉาเขา กลุ่มนี้มีองค์ราชินีเป็นแกนนำ[2] เกิดการใส่ร้ายป้ายสีเขาสารพัด เช่นมีการเขียนจดหมายด่าราชินีโดยปลอมลายมือตูร์โก แล้วนำจดหมายฉบับนั้นไปฟ้องพระเจ้าหลุยส์ เป็นต้น เรียกได้ว่าตูร์โกมีศัตรูรอบด้านในราชสำนัก ท้ายที่สุดเขาถูกบีบให้ลาออกเมื่อ 12 พฤษภาคม 1776
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ประโยคหรือส่วนของบทความก่อนหน้านี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติ: Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 27 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 415–17.
- ↑ Fraser & Marie Antoinette 2006, p. 250