ข้ามไปเนื้อหา

เขื่อนอุบลรัตน์

พิกัด: 16°46′31.42″N 102°37′5.97″E / 16.7753944°N 102.6183250°E / 16.7753944; 102.6183250
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขื่อนอุบลรัตน์
เขื่อนอุบลรัตน์ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น
เขื่อนอุบลรัตน์
ที่ตั้งของ เขื่อนอุบลรัตน์ ใน จังหวัดขอนแก่น
เขื่อนอุบลรัตน์ตั้งอยู่ในประเทศไทย
เขื่อนอุบลรัตน์
เขื่อนอุบลรัตน์ (ประเทศไทย)
แผนที่
ที่ตั้งอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
พิกัด16°46′31.42″N 102°37′5.97″E / 16.7753944°N 102.6183250°E / 16.7753944; 102.6183250
เริ่มก่อสร้าง10 พฤษภาคม พ.ศ. 2507
เปิดดำเนินการ14 มีนาคม พ.ศ. 2509
ผู้ดำเนินการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นแม่น้ำพอง
ความสูง32 เมตร
ความยาว885 เมตร
ความกว้าง (ฐาน)6 เมตร
อ่างเก็บน้ำ
ปริมาตรกักเก็บน้ำ2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพล และเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 55 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ประวัติ

[แก้]

ระหว่างวันที่ 20 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามใต้ โดยความสนับสนุนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งเอเซียและตะวันออกไกล (Economic Commission For Asia And The Far East, ECAFE) ได้ประชุมหารือกันเกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่างเพื่อประโยชน์ในด้านการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า การประมง และการป้องกันอุทกภัย ที่ประชุมได้ให้ผู้แทนทุกฝ่ายเสนอให้รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ ภายใต้ความอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ (United Nations) คณะกรรมการฯได้ลงมติว่าใน 4 ประเทศ ที่ร่วมงานกันนี้ จะดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำประเทศละ 2 สาขา ซึ่งประเทศไทเสนอโครงการน้ำพอง (ปัจจุบันคือ เขื่อนอุบลรัตน์) และโครงการน้ำพุง (ปัจจุบันคือเขื่อนน้ำพุง) เป็นสาขาของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ปี พ.ศ. 2502 คณะกรรมการประสานงานการสำรวจลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้ดำเนินการสำรวจลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง อีกหนึ่งปีต่อมาคณะกรรมการประสานงานการสำรวจลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้เสนอให้มีการพิจารณาโครงการน้ำพองเป็นอันดับแรก เพราะโครงการนี้จะให้ประโยชน์แก่การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือนานัปการ[1]

ปี พ.ศ. 2503 องค์การสหประชาชาติ ได้ทำการว่าจ้างบริษัท Rogers International Corporation จากสหรัฐอเมริกาให้มาดำเนินการสำรวจเบื้องต้นให้กับโครงการน้ำพอง โดยใช้เงินจากกองทุนพิเศษสหประชาชาติ (UN Special Fund) ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2507[1]

ปี พ.ศ. 2506 การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท Salzgitter Industriebau GmbH. แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา เพื่อสำรวจรายละเอียดออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง โครงการพัฒนาแม่น้ำพอง[1]

ปี พ.ศ. 2507 ได้เริ่มก่อสร้างโครงการโดยการกู้เงินจาก สถาบันเครดิตเพื่อการบูรณะแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (K.F.W.) การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อปลายปี พ.ศ. 2508 และเนื่องจากบริเวณที่สร้างเขื่อน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านช่องเขาทั้งสอง ซึ่งแม่น้ำพองดูเหมือนถูกหนีบ ชาวบ้านจึงเรียกเขื่อนนี้ว่า เขื่อนพองหนีบ ตามชื่อดั้งเดิมของบริเวณนี้[2][3][1]

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (ฐานันดรศักดิ์ในขณะนั้น) ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน พระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า เขื่อนอุบลรัตน์[4]

ปี พ.ศ. 2512 ได้โอนย้ายจากการไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย[1]

ปลายปี พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ทำการปรับปรุงเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเสริมสันเขื่อนให้สูงขึ้นไปอีก 3.10 เมตร จากระดับ เดิม 185 เมตร เป็นที่ระดับ 188.10 เมตร ความกว้างสันเขื่อนเท่าเดิม ส่วนฐานเขื่อนด้านท้ายขยายออกจากเดิม ซึ่งกว้าง 120 เมตร เป็น 125 เมตรและปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2530

ลักษณะ

[แก้]

เขื่อนอุบลรัตน์ หรือชาวเมืองเรียกกันว่า เขื่อนพองหนีบ สร้างปิดกั้นแม่น้ำพองที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สร้างขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแห่งที่สองของประเทศ ไทยที่ก่อสร้างเสร็จหลังเขื่อนภูมิพล[2]

  • เป็นเขื่อนหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียว มีความยาว 800 เมตร สูงจากพื้นท้องน้ำ 32 เมตร ระดับสันเขื่อน อยู่ที่ 185 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง)
  • สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร ฐานเขื่อนกว้าง 120 เมตร และที่ระดับเก็บกักปกติสูงสุด 182 เมตร
  • อ่างเก็บน้ำมีความจุทั้งหมด 2,559 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละประมาณ 1,750 ล้าน ลูกบาศก์เมตร
  • ทางปีกขวาของตัวเขื่อนเป็นอาคารระบายน้ำล้น มีช่องระบายน้ำ 4 ช่อง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถ ระบายน้ำสูงสุดได้ วินาทีละ 2,500 ลูกบาศก์เมตร
  • อาคารโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ทางปีกซ้ายของตัวเขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 8,400 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 25,200 กิโลวัตต์
  • เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2507 และสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ พระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ทำการปรับปรุงเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเสริมสันเขื่อนให้สูงขึ้นไปอีก 3.10 เมตร จากระดับ เดิม 185 เมตร เป็นที่ระดับ 188.10 เมตร ความกว้างสันเขื่อนเท่าเดิม ส่วนฐานเขื่อนด้านท้ายขยายออกจากเดิม ซึ่งกว้าง 120 เมตร เป็น 125 เมตร ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2527 และปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2530

คุณประโยชน์

[แก้]

เขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ ต่อประชาชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้[2]

  • ด้านการผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 65 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
  • ด้านการชลประทานและการเกษตร น้ำที่ปล่อยผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้ว จะส่งเข้าสู่ระบบชลประทาน ให้ประโยชน์แก่พื้นที่ เกษตรกรรมที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 300,000 ไร่ ซึ่งสามารถจะเพาะปลูกได้ถึงปีละ 2 ครั้ง อีกทั้งยัง ปลูกพืชในฤดูแล้งได้ด้วย
  • ด้านการการประมง อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันเป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศทำรายได้ ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคนี้ในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น
  • ด้านการบรรเทาอุทกภัย ตามปกติก่อนการสร้างเขื่อนน้ำ มักจะท่วมอย่างกระทันหันในฤดูฝน บริเวณแนวฝั่งลำน้ำพองจนถึง แม่น้ำชี ทำความเสียหายให้แก่เรือกสวนไร่นาของประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ภายหลังก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์แล้วได้ช่วย บรรเทาภาวะน้ำท่วมให้ลดน้อยลง
  • ด้านการคมนาคม เขื่อนอุบลรัตน์ยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ซึ่งประชาชนใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กัน อย่างสะดวก และช่วยย่นระยะทาง ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ประวัติเขื่อน". การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์. สืบค้นเมื่อ 2024-08-16.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 "เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น". สรรพศิลปศาสตราธิราช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 2024-08-16.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "เขื่อนอุบลรัตน์ (เขื่อนพองหนีบ)". amazing THAILAND. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-08-16.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "เขื่อนอุบลรัตน์". การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์. สืบค้นเมื่อ 2024-08-16.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]