ข้ามไปเนื้อหา

เฮเทโรทรอพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เฮเทโรทรอพ (อังกฤษ: Heterotroph เป็นคำสมาสภาษากรีกมาจากคำว่า heterone แปลว่าผู้อื่น และ troph แปลว่าโภชนาการ) คือสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอินทรียสารจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นแหล่งคาร์บอนเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เฮเทโรทรอพ หรือเรียกกันว่าผู้บริโภคในห่วงโซ่อาหาร เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ซึ่งตรงข้ามกับออโตทรอพที่ต้องการแค่แหล่งพลังงานหรือแหล่งคาร์บอนที่มาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือไบคาร์บอเนตก็สามารถสร้างอาหารเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร สัตว์ทุกชนิดถือว่าเป็นเฮเทโรทรอพ เช่นเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดราหรือฟังไจ รวมถึงแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ และยังมีพืชประเภทกาฝากบางชนิดที่กลายไปเป็นเฮเทโรทรอพบางส่วน หรือเฮเทโรทรอพเต็มตัวก็มี แต่ในขณะที่พืชกินเนื้อนำเหยื่อที่เป็นแมลงไปเป็นแหล่งไนโตรเจนของพวกมัน แต่พืชจำพวกนี้ก็ยังถือว่าเป็นออโตทรอพ

สิ่งมีชีวิตจำพวกเฮเทโรทรอพนั้นไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ดังที่กล่าวข้างต้น นั่นคือ ความไม่สามารถในการสังเคราะห์อินทรียสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักจากแหล่งอนินทรียสารในสิ่งแวดล้อมได้ (ดังเช่นการที่สัตว์ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ต่างจากพืชที่สามารถทำได้) และจึงต้องอาศัยแหล่งอาหารที่มาจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งออโตทรอพ และเฮเทโรทรอพ

การที่จะกำหนดว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดที่อยู่ในจำพวกเฮเทโรทรอพ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้นจะต้องอาศัยคาร์บอนมาจากอินทรียสารหรือสิ่งชีวิตอื่น แม้ว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้นจะอาศัยไนโตรเจนมาจากอินทรียสารหรือสิ่งมีชีวิตอื่น แต่ยังคงอาศัยคาร์บอนจากอนินทรียสาร ก็ยังถือว่าสายพันธุ์นั้นเป็นออโตทรอพ ถ้าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดๆ อาศัยคาร์บอนจากอินทรียสารหรือสิ่งมีชีวิตอื่น จะสามารถแบ่งเฮเทโรทรอพย่อยลงมาตามแหล่งพลังงานของแต่ละสายพันธุ์ได้อีก 2 ประเภทคือ:

  • โฟโตเฮเทโรทรอพ (Photoheterotroph) : อาศัยพลังงานจากแสง
  • คีโมเฮเทโรทรอพ (Chemoheterotroph) : อาศัยพลังงานจากการออกซิเดชันของอนินทรียสาร (เช่นการอาศัยเกลือแร่ และวิตามิน ในการบำรุงร่างกายของมนุษย์นั่นเอง)

โดยสรุปคือ เฮเทโรทรอพคือบรรดาสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ จึงต้องหาอาหารเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการบริโภคสิ่งมีชีวิตอื่น (ซึ่งยังแบ่งได้อีกเป็นสิ่งมีชีวิตกินพืช และสิ่งมีชีวิตกินเนื้อ) หรือจากการดูดสารอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น (เช่นพยาธิ และพืชกาฝาก ซึ่งถือเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกปรสิต) นั่นเอง