ข้ามไปเนื้อหา

โอลกา คอนสแตนตินอฟนา แห่งรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โอลกา คอนสแตนตินอฟนา แห่งรัสเซีย
พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีโอลกาแห่งกรีซ
สมเด็จพระราชินีแห่งชาวเฮเลนส์
ระหว่าง27 ตุลาคม ค.ศ. 1867 - 18 มีนาคม ค.ศ. 1943
ก่อนหน้าอมาเลียแห่งอ็อลเดินบวร์ก
ถัดไปโซเฟียแห่งปรัสเซีย
พระราชสมภพ3 กันยายน ค.ศ. 1851
ปาฟลอฟก์ เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก จักรวรรดิรัสเซีย
สวรรคต18 มิถุนายน ค.ศ. 1926
(74 พรรษา)
พระราชสวามีพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ
พระราชบุตรพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ
เจ้าชายจอร์จ
เจ้าหญิงอเล็กซานดรา
เจ้าชายนิโคลัส
เจ้าหญิงมาเรีย
เจ้าหญิงโอลกา
เจ้าชายแอนดรูว์
เจ้าชายคริสโตเฟอร์
ราชวงศ์ฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ-โรมานอฟ (โดยประสูติ)
กลึคส์บวร์ค (โดยการอภิเษกสมรส)
พระราชบิดาแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชแห่งรัสเซีย
พระราชมารดาเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก
ลายพระอภิไธย

แกรนด์ดัชเชสโอลกา คอนสแตนตินอฟนาแห่งรัสเซีย (อังกฤษ: Olga Constantinovna; รัสเซีย: О́льга Константи́новна Рома́нова) ต่อมาเป็น สมเด็จพระราชินีโอลกาแห่งชาวเฮลเลนส์ (กรีก: Βασίλισσα Όλγα των Ελλήνων) (3 สิงหาคม [ปฏิทินเก่า 22 สิงหาคม] ค.ศ. 1851 – 18 มิถุนายน ค.ศ. 1926) เป็นพระมเหสีในพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ และทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งกรีซเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1920 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระเป็นพระราชนัดดาของพระองค์

แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงเป็นสมาชิกพระราชวงศ์โรมานอฟ พระองค์เป็นพระธิดาในแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชกับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก พระองค์ใช้พระชนม์ชีพวัยเยาว์ในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก โปแลนด์ และคาบสมุทรไครเมีย พระนางอภิเษกสมรสกับพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซใน ค.ศ. 1867 ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ในตอนแรก พระองค์ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยเมื่อได้มาประทับที่ราชอาณาจักรกรีซ แต่พระองค์ทรงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างรวดเร็วในงานสังคมและการกุศล สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงก่อตั้งโรงพยาบาลและศูนย์ช่วยเหลือ แต่ความพยายามของพระองค์ในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงที่มากขึ้นในการแปลพระวรสารเป็นภาษากรีก ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการจลาจลโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนา

ต่อมาพระสวามีของพระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1913 สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาได้เสด็จกลับรัสเซีย เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้รุนแรงมากขึ้น พระนางทรงจัดตั้งโรงพยาบาลทหารที่พระราชวังปลอฟก์ ซึ่งเป็นพระราชวังของพระอนุชา พระองค์ต้องทรงถูกคุมขังในพระราชวังหลังจากการปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ. 1917 จนกระทั่งสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กได้เข้ามาแทรกแซง ทำให้พระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัวและเสด็จหนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์ พระนางโอลกาไม่สามารถเสด็จกลับกรีซได้เนื่องจากพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ พระโอรสของพระองค์ทรงถูกโค่นล้มราชบัลลังก์

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920 พระองค์เสด็จกลับกรุงเอเธนส์เนื่องจากพระอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งกรีซ พระราชนัดดา หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคต พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกระทั่งมีการฟื้นฟูพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 กลับคืนสู่บัลลังก์ในเดือนถัดมา หลังจากที่กองทัพกรีกพ่ายแพ้ในสงครามกรีซ-ตุรกี (ค.ศ. 1919–1922) พระราชวงศ์กรีกต้องเสด็จลี้ภัยอีกครั้ง และพระนางโอลกาใช้เวลาช่วงปลายพระชนม์ชีพในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและอิตาลี

พระราชวงศ์และช่วงต้นพระชนม์ชีพ

[แก้]
แกรนด์ดัชเชสโอลกาแห่งรัสเซียขณะทรงพระเยาว์ ในค.ศ. 1861

แกรนด์ดัชเชสโอลกาประสูติที่พระราชวังปาฟลอฟก์ ใกล้กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในวันที่ 3 กันยายน [ปฏิทินเก่า 22 สิงหาคม] ค.ศ. 1851 ทรงเป็นบุตรองค์ที่สองและเป็นพระธิดาในแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชกับแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา ซึ่งเดิมคือเจ้าหญิงแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก โดยผ่านทางพระบิราชบิดา แกรนด์ดัชเชสโอลกาเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในจักรพรรดินีโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย และเป็นพระภาติยะ (หลานลุง) ในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย และเป็นพระญาติในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย[1]

ช่วงวัยเยาว์ทรงใช้พระชนม์ชีพในพระตำหนักของพระราชบิดา รวมทั้งพระราชวังปาฟลอฟก์และที่พำนักในคาบสมุทรไครเมีย พระราชบิดาของพระองค์เป็นพระอนุชาในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2[2] และพระราชมารดาของพระองค์ทรงได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสตรีที่ฉลาดและสง่างามที่สุดในราชสำนัก[3] แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงสนิทกับพระเชษฐา คือ แกรนด์ดยุกนิโคลัสอย่างมาก และเป็นหนึ่งในพระราชวงศ์เพียงไม่กี่พระองค์ที่ยังทรงติดต่อกับแกรนด์ดยุกอยู่หลังจากที่พระองค์ทรงถูกเนรเทศไปยังทาชเคนต์[4]

ขณะทรงพระเยาว์ แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงถูกกล่าวถึงว่าเป็นสาวน้อยเรียบ ๆ และอวบอ้วนด้วยพระพักตร์ที่กว้างและมีพระเนตรสีฟ้าใหญ่[5] ซึ่งแตกต่างจากพระขนิษฐาของพระองค์ คือ แกรนด์ดัชเชสเวรา ซึ่งมีพระอารมณ์สงบเสงี่ยม แต่ก็ทรงขี้อายอย่างมาก ตัวอย่างเช่นเมื่อทรงถูกซักถามโดยพระอาจารย์เกี่ยวกับบทเรียน พระองค์จะมีน้ำพระเนตรไหลเต็มและวิ่งออกไปจากห้องเรียน[6]

ใน ค.ศ. 1862 แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอุปราชแห่งรัสเซียโปแลนด์โดยพระราชโองการของพระเชษฐา และต้องย้ายไปยังวอร์ซอพร้อมพระมเหสีและพระโอรสธิดา การประทับที่โปแลนด์เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน ซึ่งทรงเป็นเหยื่อในความพยายามลอบปลงพระชนม์โดยนักชาตินิยมในวันที่พระองค์เสด็จถึงเมืองหลวงของโปแลนด์[7] แม้ว่าแกรนด์ดยุกคอนสแตนตินจะทรงริเริ่มดำเนินการในการเปิดเสรีและจัดตั้งให้ภาษาโปแลนด์เป็นภาษาทางการอีกครั้ง[7] แต่การก่อกวนการปฏิรูปโดยกลุ่มชาตินิยมโปแลนด์ก็ได้ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น ท้ายสุดการลุกฮือเดือนมกราคม ค.ศ. 1863 และการทำให้รุนแรงขึ้นของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนได้ผลักดันให้พระเจ้าซาร์ทรงเรียกพระอนุชากลับในเดือนสิงหาคม[8] ประสบการณ์อันยากลำบากของแกรนด์ดัชเชสโอลกาในโปแลนด์ได้เป็นรอยแผลลึกในพระทัยของพระองค์[9]

การหมั้นและเสกสมรส

[แก้]
สมเด็จพระราชินีโอลกาในฉลองพระองค์แบบกรีก ราวค.ศ. 1870
แกรนด์ดัชเชสโอลกา คอนสแตนตินอฟนา ในค.ศ. 1867

แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงพบกับพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ พระสวามีในอนาคต ครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1863 โดยเสด็จมาเยี่ยมจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย พระปิตุลาของแกรนด์ดัชเชสโอลกา ที่เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เพื่อมาขอบพระทัยที่พระองค์ทรงสนับสนุนในการเลือกพระเจ้าจอร์จให้ขึ้นครองราชบัลลังก์กรีซ กษัตริย์หนุ่มได้ทรงมีโอกาสพบปะกับแกรนด์ดยุกคอนสแตนตินและครอบครัวที่พระราชวังปาฟลอฟก์ ซึ่งที่นั่นทำให้พระเจ้าจอร์จทรงพบกับแกรนด์ดัชเชสโอลกาครั้งแรกซึ่งขณะนั้นพระนางมีพระชนมายุ 12 พรรษา[10] พระเจ้าจอร์จประทับในรัสเซียเพียงหกวัน และดูเหมือนในขณะนั้นทั้งสองพระองค์ยังไม่ทรงสนพระทัยกันมาก[11][12]

พระเจ้าจอร์จเสด็จเยือนรัสเซียอีกครั้งใน ค.ศ. 1867 เพื่อเสด็จไปเยี่ยมเจ้าหญิงดักมาร์ พระขนิษฐา ซึ่งอภิเษกสมรสกับซาเรวิชอะเลคซันดร์ (ต่อมาคือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย) ไปในปีก่อนหน้านี้ พระองค์ตัดสินพระทัยที่จะแสวงหาคู่อภิเษกสมรสและมีพระดำริที่จะสร้างความสัมพันธ์กับแกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย ซึ่งประสูติมาในอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ เป็นสิ่งที่สร้างความสนพระทัยให้พระองค์มาก[13] แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงตกหลุมรักพระเจ้าจอร์จ แต่พระองค์ก็ยังทรงกังวลและกระวนกระวายเมื่อจำต้องเสด็จออกจากรัสเซีย พระองค์กันแสงตลอดคืนในช่วงระหว่างการหมั้น[14]

พระเจ้าจอร์จทรงขอแกรนด์ดัชเชสหมั้นต่อพระบิดาและพระมารดาของแกรนด์ดัชเชส ในตอนแรกพระบิดาของแกรนด์ดัชเชสไม่เต็มพระทัยที่จะทรงยอมรับการอภิเษกสมรส เพราะทรงคิดว่าพระธิดามีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ซึ่งยังทรงพระเยาว์เกินไป และการที่ทรงสนิทกับพระธิดา ทำให้ทรงกังวลถึงระยะทางที่ห่างไกลระหว่างกรีซและรัสเซีย สำหรับในส่วนของแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา พระมารดา ทรงมีความกระตือรือร้นมากกว่าพระสวามี และเมื่อมีสมาชิกราชวงศ์บางพระองค์ได้ท้วงติงว่าพระธิดาของพระนางทรงเยาว์วัยเกินไป พระนางก็ทรงตอบว่าโอลกาไม่ได้เป็นเด็กตลอดไป[13]

ในที่สุดด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้การอภิเษกสมรสเป็นไปได้ มีการกำหนดการอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าจอร์จและแกรนด์ดัชเชสโอลกา โดยจะต้องให้แกรนด์ดัชเชสโอลกามีพระชนมายุครบ 16 พรรษาบริบูรณ์ ในขณะเดียวกันแกรนด์ดัชเชสต้องเข้ารับการฝึกอบรมและต้องทำการศึกษาจนกว่าจะถึงวันอภิเษกสมรส[13]

สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ

[แก้]

อภิเษกสมรส

[แก้]

แกรนด์ดัชเชสโอลกาและพระเจ้าจอร์จอภิเษกสมรสกันที่โบสถ์ในพระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก วันที่ 27 ตุลาคม [ปฏิทินเก่า 15 ตุลาคม] ค.ศ. 1867 และมีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเป็นเวลาห้าวันเต็ม ในระหว่างพระราชพิธี แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงฉลองพระองค์ตามแบบราชวงศ์โรมานอฟดั้งเดิม ฉลองพระองค์เย็บด้วยด้ายเงิน ตามแบบฉลองพระองค์ของจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย โดยคล้องด้วยห่วงโซ่เพชรขนาดใหญ่และผ้าคลุมตัวเออร์มินสีกำมะหยี่แดง แกรนด์ดัชเชสยังทรงมงกุฎเพชรโคโคชนิค ประดับด้วยตรามหามงกุฎขนาดเล็กด้านบน และทรงปล่อยพระเกศาสามเส้นให้ลงมาแตะพระอังสา (ไหล่)[15]

หลังจากงานเลี้ยงทั้งห้าวันผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งสองพระองค์ทรงใช้เวลาฮันนีมูนในช่วงสั้น ๆ ที่พระราชวังรอปชา ซึ่งห่างจากเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก 50 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังกรีซ ซึ่งสมเด็จพระราชินีผู้ทรงพระเยาว์ได้เสด็จมาครั้งแรก[15] แต่ก่อนที่จะเสด็จออกจากรัสเซีย พระนางโอลกาได้เสด็จไปพบกับพระปิตุลาของพระองค์ คือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 พระเจ้าซาร์ทรงบอกให้พระนางโอลกา "รักประเทศใหม่ให้มากกว่าตัวเองเป็นสองเท่า"[16]

การปรับตัวที่ยากลำบาก

[แก้]

การปรับพระองค์ของสมเด็จพระราชินีโอลกาต่อประเทศใหม่เป็นเรื่องยาก ก่อนที่เสด็จออกจากรัสเซียและลาจากครอบครัวของพระองค์ พระองค์ยังทรงพระเยาว์และสัมภาระที่ทรงขนมาส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยตุ๊กตาและของเล่น พระอภิบาลของพระองค์ยังกังวลถึงความเยาว์ของพระนางที่ต้องเสด็จไปยังเอเธนส์ พระองค์จึงต้องเสด็จไปพร้อมกับผู้ดูแลตำหนักเพื่อช่วยในการถวายการศึกษา[15]

พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกา ใน ค.ศ. 1867

เมื่อสมเด็จพระราชินีโอลกาและพระเจ้าจอร์จได้เสด็จถึงเมืองไพรีอัสโดยเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระราชินีวัยเยาว์ทรงฉลองพระองค์สีน้ำเงินและขาว ซึ่งเป็นสีประจำชาติกรีซ เพื่อให้ฝูงชนประทับใจ ในระหว่างเดินทางสู่เมืองหลวง ได้เกิดการก่อความไม่สงบครั้งใหญ่ โดยสมเด็จพระราชินีโอลกาซึ่งไม่ทรงคุ้นเคยกับการเดินขบวนประท้วงดังกล่าว ทำให้พระองค์เกือบทรงพระกันแสง แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระราชินีไม่ทรงมีเวลาพักผ่อนเนื่องจากทรงต้องปฏิบัติพระกรณียกิจในงานเต้นรำซึ่งตัวแทนทางการได้จัดขึ้นซึ่งใช้เวลาหลายวันและในขณะที่พระนางไม่สามารถเข้าใจภาษากรีกได้ ซึ่งในที่สุดแล้ว มีคนไปพบสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงพระกันแสงอยู่ใต้บันไดและทรงกอดตุ๊กตาหมีแน่น ในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่เสด็จถึงราชอาณาจักร ซึ่งพระนางทรงเป็นที่คาดหวังของกิจกรรมของทางการ[17]

สมเด็จพระราชินีโอลกายังคงเป็นเด็กสาวที่ทรงเข้าพระทัยดีและพระองค์พยายามเรียนรู้การปฏิบัติตนในฐานะพระราชินี ดังนั้นพระองค์ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเรียนรู้ภาษากรีกและภาษาอังกฤษ[2] พระองค์ยังทรงเรียนรู้วัตรปฏิบัติของผู้ปกครองและการต้อนรับผู้มาเยือน ในขั้นตอนแรกพระองค์ยังทรงลังเลพระทัย แต่ทรงสามารถสร้างความประทับใจอย่างมากในการเสด็จออกรับแขกอย่างเป็นทางการครั้งแรก เนื่องจากมีพระบุคลิกที่น่าเคารพซึ่งทรงแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่น พระเจ้าจอร์จที่ 1 ตรัสถึงว่าพระราชินีทรงทำได้ดี[18]

ในการเรียนรู้วัตรปฏิบัติของพระราชินี สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงขอคำปรึกษาจากพระสวามีและครอบครัวของพระองค์ พระองค์ทรงติดต่อกับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน พระบิดาและแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา พระมารดา ซึ่งพระมารดาทรงแนะนำให้พระองค์สนพระทัยในโบราณคดีและประวัติศาสตร์กรีกสมัยโบราณเพื่อให้ทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชน[19]

พระชนม์ชีพส่วนพระองค์

[แก้]
สมเด็จพระราชินีโอลกาและเจ้าชายคริสโตเฟอร์ พระโอรสองค์สุดท้อง ในค.ศ. 1889

ตลอดชีวิตการสมรส พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเป็นคู่ที่มีความใกล้ชิด แม้ว่ากษัตริย์จะทรงเคยนอกพระทัยเป็นครั้งคราว แต่สมเด็จพระราชินีก็ทรงยอมรับได้[20][21] และในทางกลับกันทรงปฏิบัติต่างจากธรรมเนียมในสมัยนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงใช้เวลาร่วมกันบ่อยครั้ง มีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ ซึ่งเจริญพระชันษาภายใต้การอบรมเลี้ยงดูที่อบอุ่น[22] แต่เนื่องด้วยวัย พระเจ้าจอร์จที่ 1 มักจะทรงโต้เถียงกับพระโอรส และสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเสียพระทัยบ่อยครั้งเมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทซึ่งมักจะมีเป็นระยะในครอบครัว[23]

โดยส่วนพระองค์แล้ว พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกามักจะตรัสภาษาเยอรมันเนื่องจากเป็นเพียงภาษาเดียวที่ทั้งสองพระองค์สามารถสื่อเข้าพระทัยกันได้ ในความเป็นจริงช่วงนั้น พระเจ้าจอร์จที่ 1 ไม่ทรงสันทัดในภาษาฝรั่งเศสและภาษารัสเซีย ในขณะที่สมเด็จพระราชินีไม่สามารถตรัสภาษาเดนมาร์ก ดังนั้นจึงตรัสภาษากรีกหรือไม่ก็ภาษาอังกฤษ[24] แต่เมื่อต้องตรัสกับพระโอรสธิดา ทั้งสองพระองค์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก[25] แม้ว่าพระโอรสธิดาจะต้องตรัสเป็นภาษากรีกด้วยพระองค์เอง[26] เจ้าชายแอนดรูว์ทรงปฏิเสธที่จะตรัสภาษาอื่น ๆ กับพระราชบิดาและพระราชมารดา ยกเว้นแต่เพียงภาษากรีกเท่านั้น[27]

ในกรีซ พระชนม์ชีพของพระราชวงศ์ค่อนข้างเงียบและถอนตัวออกจากสังคม ราชสำนักเอเธนส์ไม่ได้โอ่อ่าและหรูหรานักเมื่อเทียบกับเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก[28] และในบางครั้งเมืองหลวงของกรีซได้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อสำหรับสมาชิกราชวงศ์[29] ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว พระราชวงศ์ได้แบ่งไปประทับที่พระราชวังหลวงในเอเธนส์ และพระราชวังตาโตยที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูเขาพาร์นิธา จากนั้นในช่วงฤดูร้อน พระราชวงศ์ได้ประทับที่มอนเรปอส, คอร์ฟู และเสด็จไปประทับต่างประเทศที่อิกซ์เลส์แบ็งส์ในฝรั่งเศส ไม่ก็จะเสด็จไปเยี่ยมเมืองหลวงของรัสเซีย หรือ พระราชวังฟรีเดนบอร์กและพระราชวังเบิร์นสตอฟฟ์ในเดนมาร์ก[30] พระญาติจากต่างประเทศก็จะเสด็จมากรีซบ่อย ๆ (จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย, ซาเรวิชแห่งรัสเซีย, เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เป็นต้น)[31]

เมื่อประทับอยู่ในเมืองหลวงของกรีซ เป็นเรื่องที่ไม่ปกติที่พระราชวงศ์ได้ใช้เวลาในวันอาทิตย์ไปที่ฟาเลรัม และทรงพระดำเนินไปบนทะเลริมหาด สมเด็จพระราชินีโอลกาและพระโอรส เจ้าชายจอร์จจะประทับรถม้าโดยสารประจำทางกลับพระราชวัง ในเส้นทางที่สงวนไว้สำหรับพระราชวงศ์เท่านั้น เมื่อรถม้าหยุด มีเสียงแตรดังมาจากพระราชวังและพระราชวงศ์ต้องเสด็จลงจากรถม้าโดยเร็ว เนื่องจากทรงปรารถนาที่จะไม่ให้ผู้โดยสารคนอื่นรอนาน ทัศนคตินี้ทำให้พระราชวงศ์ยังคงสามารถรักษาความนิยมในหมู่ประชาชนได้ พระเจ้าจอร์จที่ 1 เคยตรัสกับพระโอรสธิดาว่า "จงอย่าลืมว่าตนเองเป็นชาวต่างชาติในหมู่ชาวกรีก และต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำให้พวกเขาจดจำเราในเรื่องนี้ได้"[31]

สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงทุกข์ทรมานมากกว่าพระสวามีของพระองค์ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากพระอุปนิสัยดั้งเดิมของพระนางและทรงคิดถึงพระชนม์ชีพของพระองค์ในรัสเซียมาก ห้องประทับของพระองค์เต็มไปด้วยรูปเคารพที่มาจากรัสเซีย และในพระวิหารของพระราชวัง พระองค์ทรงร้องเพลงสวดเป็นภาษาสลาฟร่วมกับพระโอรสธิดา โดยเมื่อเรือสัญชาติรัสเซียผ่านเมืองหลวง พระองค์มักจะเสด็จเยี่ยมเรือรัสเซียซึ่งเทียบท่าที่ไพรีอัสและพระองค์ทรงเชิญกะลาสีชาวรัสเซียมายังพระราชวัง[32] นับตั้งแต่อภิเษกสมรสในค.ศ. 1867 สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเป็นสตรีเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทรงได้รับตำแหน่งจอมพลแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งเป็นเกียรติยศที่ทรงได้รับพระราชทานในวันอภิเษกสมรส[14] พระองค์ได้รับเกียรติจากกองทัพเรือกรีซในการตั้งนามเรือตามพระนามของพระองค์[33]

เมื่อเจ้าชายคริสโตเฟอร์ พระโอรสองค์ที่แปดและองค์สุดท้ายของพระเจ้าจอร์จและพระราชินีโอลกา ประสูติในค.ศ. 1888 พระองค์ทรงเรียกพระโอรสว่า "เจ้ารัสเซียตัวน้อย" ของพระองค์ เนื่องจากพระองค์มีพระประสูติกาลพระโอรสธิดาองค์ก่อนหน้านี้ในกรีซ ส่วนเจ้าชายคริสโตเฟอร์ประสูติที่พระราชวังปาฟลอฟก์ พระโอรสมีพระบิดามารดาอุปถัมภ์คือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 พระเทวันและจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา พระขนิษฐาในพระเจ้าจอร์จที่ 1[34] ในปีถัด ๆ มา สมเด็จพระราชินีทรงพอพระทัยอย่างมากในการเสกสมรสพระโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ได้แก่ เจ้าชายนิโคลัส, เจ้าหญิงอเล็กซานดราและเจ้าหญิงมาเรีย เสกสมรสกับพระราชวงศ์โรมานอฟ โดยการเสกสมรสนี้เป็นสาเหตุที่พระองค์จะได้เสด็จไปรัสเซียบ่อย

อิทธิพลทางการเมือง

[แก้]
สมเด็จพระราชินีโอลกาแห่งกรีซ ใน ค.ศ. 1880

เนื่องจากทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์โรมานอฟ สมเด็จพระราชินีโอลกาจึงทรงต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรงและทรงสนับสนุนระบอบอัตตาธิปไตย เจ้าชายนิโคลัส พระโอรสของพระองค์ทรงเขียนบันทึกความทรงจำของพระองค์ว่า วันหนึ่งเมื่อพระองค์ตรัสถึงความสำคัญของมติมหาชน สมเด็จพระราชินีทรงโต้แย้ง (ในภาษาฝรั่งเศส) ว่า "แม่ชอบที่จะถูกปกครองโดยราชสีห์ตัวหนึ่งที่เติบโตมาอย่างดีมากกว่าที่จะถูกปกครองโดยพวกหนูสี่ร้อยตัวที่เป็นแบบเดียวกับตัวแม่นะ"[35]

แต่ความสนพระทัยในการเมืองของพระองค์กลับถูกจำกัด ถึงแม้นักเขียนบางคนเสนอว่าพระองค์ทรงสนับสนุนพรรครัสเซียและแนวคิดแพนสลาฟก็ตาม[36] แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าพระองค์ไม่ทรงมีอิทธิพลทางการเมืองใด ๆ เหนือพระสวามีและไม่ทรงใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงระบบรัฐสภาของกรีซ[37][38] ในความเป็นจริง พระเจ้าจอร์จที่ 1 มักจะทรงเคารพในรัฐธรรมนูญตลอดรัชกาลของพระองค์และไม่ทรงถูกอิทธิพลในพระราชวงศ์เข้าครอบงำเมื่อทรงต้องตัดสินพระทัยทางการเมือง[39] แต่อิทธิพลของพระประมุขกลับเห็นได้ชัดมากขึ้นในพระราชบุตร โดยพระโอรสพระองค์ที่สองคือ เจ้าชายจอร์จ ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งรัฐครีตในระหว่าง ค.ศ. 1898 ถึง ค.ศ. 1906 ตามบันทึกของเอ็ดเวิร์ด เดรียอุลท์ และมิเชล รีริเทียร์ บันทึกว่า พระนางโอลกาและเจ้าชายทรงมีส่วนร่วมอย่างมากในการทำให้นโยบายของพระองค์มั่นคงยิ่งขึ้นซึ่งท้ายที่สุดนโยบายประสบความล้มเหลว[40]

ด้วยทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระประมุขแห่งรัสเซีย ทั้งสองพระองค์จึงต้องทรงดำเนินการปกครองเพื่อปกป้องกรีซ เมื่อครั้งที่พระนางโอลกาทรงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก (หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามกรีซ-ตุรกี (1897)[41]) เนื่องจากทรงกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ให้ชาวสลาฟต่อต้านราชอาณาจักรกรีซ ดังนั้นในช่วงต้นของสงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่ง สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงแสดงจุดยืนต่อต้าานอิทธิพลของบัลแกเรียในเทสซาโลนีกีและไม่ทรงลังเลที่จะมีกระแสพระราชดำรัสในเชิงรักชาติก่อนพระเจ้าซาร์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งบัลแกเรีย[42] แต่ดูเหมือนว่าสมเด็จพระราชินีโอลกาจะไม่ทรงเชื่อในแนวคิดที่ชาวกรีกจะทำการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลคืนจากออตโตมัน เนื่องจากในจุดนี้ทรงโปรดให้รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลเหนือช่องแคบมากกว่า[43]

ท้ายที่สุด บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระราชินีโอลกาจะเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์เสียส่วนใหญ่และอิทธิพลลดลงอย่างมากเหลือเพียงการเสด็จออกมหาสมาคมต้อนรับผู้มาเยือนในเอเธนส์ เหล่าสตรีชนชั้นสูงและเจ้าหน้าที่ต่างประเทศชาวกรีก ซึ่งต้องปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าพระองค์[44] แต่พระองค์ก็ทรงไปให้ความสำคัญแก่พระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์แทน

พระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์

[แก้]
สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอมาลีเอียน กรุงเอเธนส์

สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงได้รับความนิยมโดยแท้จริงและทรงมีส่วนร่วมในงานการกุศลอย่างกว้างขวาง[10][45] พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยที่ทรงเป็นชาวต่างชาติที่แตกต่างจากชาวกรีก เมื่อครั้งเสด็จมาถึงเอเธนส์ ในช่วงนั้นมีพระประมุขเพียง 16 พระองค์ที่มีพระราชกรณียกิจด้านการกุศลในการสงเคราะห์ผู้ป่วย ขอทาน เด็กและสตรี สมเด็จพระราชินีโอลกาจึงทรงอุปถัมภ์สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอมาลีเอียน ซึ่งเป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระราชินีอมาเลียแห่งกรีซ สมเด็จพระราชินีองค์ก่อนหน้า ซึ่งตั้งอยูเบื้องหลังสวนของพระราชวัง และทรงอุปถัมภ์โรงเรียนอาร์ซาเคโอซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงก่อตั้งสถาบันต่าง ๆ เพื่อคนยากจน พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคจากผู้ร่ำรวย ในการสร้างโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและสำหรับผู้พิการซึ่งสูงอายุ และทรงสร้างสถานพักฟื้นผู้ป่วยสำหรับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค[46]

ในเมืองหลวง พระองค์ทรงก่อตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและช่วยเหลือให้บุตรของคนยากจนเข้าเรียนระดับอนุบาล และทรงมีครัวซุปในไพรีอัสซึ่งเป็นโรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับเด็กสาวที่ยากจน สถาบันนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนสอนในวันอาทิตย์สำหรับบุตรสาวของแรงงาน และได้ขยายเป็นโรงเรียนสอนทอผ้าสำหรับเด็กหญิงและสตรีสูงวัยที่ประสบปัญหาด้านการเงิน[47]

ก่อนการเสด็จมายังกรีซของพระนางโอลกา ในกรีซมีเพียงฑัณฑสถานประเภทเดียว ซึ่งทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเยาวชนที่กระทำผิดได้ถูกจองจำในสถานที่เดียวกัน แต่อันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินจากจอร์จ อเวรอฟ นักปรัชญา ทำให้พระองค์สามารถก่อตั้งอาคารฑัณฑสถานหญิงในเมืองหลวงและอาคารอีกแห่งสำหรับเยาวชนที่ประทำผิด การดำเนินการนี้ทำให้เกิดการปฏิรูประบบเรือนจำทั่วประเทศ[48]

จอร์จ อเวรอฟ ผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินในการสังคมสงเคราะห์

พระองค์ยังทรงอุปถัมภ์โรงพยาบาลทหารสองแห่งและทรงบริจาคพระราชทรัพย์แก่โรงพยาบาลอีวานเกลิสมอส ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในย่านดาวน์ทาวน์ของกรุงเอเธนส์[10][49] สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงก่อตั้งโรงพยาบาลรัสเซียในไพรีอัส จากบันทึกความทรงจำของแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดราแห่งรัสเซีย พระราชธิดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ที่มอสโกในค.ศ. 1891 ระบุว่าถึงแม้โรงพยาบาลจะเปิดรับกะลาสีเรือชาวรัสเซียเป็นหลัก แต่โรงพยาบาลก็เปิดบริการให้แก่นักเดินเรือทุกคนที่เดินทางมายังกรีซ ด้วยค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำในราคาสามสิบเล็บตาและไม่ต้องเสียเงินค่ายา[50]

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งใหญ่ของสมเด็จพระราชินีคือ การเกื้อหนุนการก่อตั้งโรงพยาบาลอีวานเกลิสมอส ซึ่งสร้างด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากอันเดรียส ซินกรอส นายธนาคารผู้มีจิตกุศล โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นสถาบันที่มีความทันสมัยมาก ซึ่งให้บริการทั้งเป็นสถานรักษาและโรงเรียนการพยาบาลภายใต้การดูแลของมิสไรน์ฮาร์ด ซึ่งเป็นพยาบาลชาวเดนมาร์กที่ได้เดินทางมายังกรีซในช่วงสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน ในสงครามกรีก-ตุรกี (1897) เมื่อประทับอยู่ในเมืองหลวง พระองค์จะเสด็จไปเยือนโรงพยาบาลนี้เกือบทุกวันเพื่อเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยและตรวจสอบการดำเนินงานของโรงพยาบาล[51][52].

ในช่วงรัชกาลของพระเจ้าจอร์จที่ 1 สมเด็จพระราชินีโอลกายังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะพยาบาลในช่วงที่กรีซเกิดปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพระนางโอลกาพร้อมพระราชธิดาและพระสุณิสา ได้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลภาคสนามในแนวหน้าของสมรภูมิและเสด็จดูแลทหารที่บาดเจ็บด้วยพระองค์เอง ในช่วงสงครามกรีก-ตุรกี (1897) และสงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่ง (1912-1913)[53] การปฏิบัติพระราชกิจเพื่อผู้บาดเจ็บทำให้พระนางทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์กาชาดพร้อมกับเจ้าหญิงโซเฟียแห่งปรัสเซีย พระสุณิสา โดยทางได้รับการพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1897[54]

ไม่นานหลังจากความพ่ายแพ้ของกรีซในสงครามกรีก-ตุรกี ค.ศ. 1897 ได้เกิดการลอบปลงพระชนม์พระสวามีและพระราชธิดาของพระองค์ด้วยกระสุนปืนจากชาวกรีกที่ไม่พอใจ ใน ค.ศ. 1898 แม้การลอบปลงพระชนม์จะล้มเหลว แต่สมเด็จพระราชินีโอลกายังทรงปฏิบัติพระราชกิจต่อไปโดยไม่มีทหารองครักษ์คุ้มกัน[10] การประกอบพระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์นี้ ทำให้สมเด็จพระราชินีทรงได้รับความนิยมในหมู่พสกนิการอย่างรวดเร็วและทรงกลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งกรีซที่ทรงได้รับความนิยมที่สุดในประวัติศาสตร์[55] แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระสวามี

ความขัดแย้งอีวานเกลีกา

[แก้]
การจลาจล อีวานเกลีกา ในกรุงเอเธนส์ ค.ศ. 1901

ในฐานะที่ทรงเป็นอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ตั้งแต่ประสูติ สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเริ่มตระหนักถึงในช่วงที่เสด็จเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสงครามกรีก-ตุรกี (1897) ซึ่งมีทหารหลายนายไม่มีความสามารถในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้[16] พระคัมภีร์รูปแบบที่ใช้โดยศาสนจักรกรีซนั้นได้รวมทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลกรีก (Septuagint) ในภาคพันธสัญญาเดิมและพระคัมภีร์ภาษากรีกดั้งเดิมในภาคพันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์ทั้งสองฉบับได้เขียนขึ้นด้วยภาษาโคอีนกรีก ในขณะที่บรรพบุรุษของพระนางทรงใช้รูปแบบคาทารีโวซา หรือที่เรียกว่า รูปแบบอักษรเดโมติกกรีกในภาษากรีกสมัยใหม่ คาทารีโวซาเป็นรูปแบบภาษาทางการ ซึ่งได้ประกอบจากรูปแบบคำโบราณในคำภาษากรีกสมัยใหม่ โดยได้ดัดแปลงปรับปรุงด้วยการใช้คำศัพท์ "ที่ไม่ใช่กรีก" จากภาษาอื่น ๆ ในยุโรปและภาษาตุรกี และยังมีรูปของไวยกรณ์โบราณประกอบด้วย (ซึ่งแก้ไขให้เข้าใจง่าย) ภาษากรีกสมัยใหม่ หรือกรีกเดโมติกนี้เป็นรูปแบบภาษาที่มีการใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไป สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงตัดสินพระทัยให้มีการแปลพระคัมภีร์ให้เป็นรูปแบบที่ชาวกรีกร่วมสมัยโดยส่วนใหญ่เข้าใจได้มากที่สุด มากกว่าการที่จะต้องให้ประชาชนไปเรียนภาษาโคอีนกรีก แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านการแปลพระคัมภีร์ได้พิจารณาว่า มันเป็นเหมือน"ประหนึ่งการละทิ้ง 'มรดกอันศักดิ์สิทธิ์' ของกรีซ"[56]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1901 การแปลพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่จากภาษาโคอีนกรีกไปเป็นภาษากรีกสมัยใหม่ซึ่งพระนางทรงสนับสนุนได้ตีพิมพ์โดยไม่ผ่านการอนุมัติจากเถรสมาคมกรีก พระคัมภีร์ตั้งราคาไว้ที่หนึ่งดรักมา ซึ่งราคาต่ำกว่าต้นทุนจริงมาก และเป็นฉบับที่ขายดี เพื่อลดความขัดแย้งกับฝ่ายต่อต้านการแปล ทั้งข้อความเก่าและข้อความใหม่ยังคงได้รับการรวมไว้และภาพตรงข้ามหน้าแรกได้มีการเขียนระบุไว้ว่า "สำหรับใช้ศึกษาในครอบครัวเท่านั้น" มากกว่าการใช้ในโบสถ์[57]

ในขณะเดียวกัน การแปลอีกสำนวนหนึ่งได้แปลสำเร็จโดยอเล็กซานดรอส พัลลิส ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในขบวนการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่สนับสนุนการใช้อักษรเดโมติกในภาษาเขียน การตีพิมพ์ฉบับแปลนี้ได้เริ่มตีพิมพ์เป็นชุดบทความในหนังสือพิมพ์ อโครโปลิส ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1901[58] นักศาสนศาสตร์สายบริสุทธิ์ได้ประณามพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้ว่า "เป็นการเย้ยหยันมรดกตกทอดที่ล้ำค่าของชาติ" และอัครบิดร โจอาคิมที่ 3 แห่งคอนสแตนติโนเปิลทรงออกมาประณามพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้[59] ฝ่ายของสื่อหนังสือพิมพ์ของกรีกได้ออกมากล่าวหาพัลลิสและผู้สนับสนุนอักษรเดโมติกว่าเป็นพวกดูหมิ่นศาสนาและเป็นพวกขายชาติ[58] การจลาจลได้เกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ ซึ่งบางส่วนได้ถูกปลุกระดมจากอาจารย์ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม[60] กลุ่มนักศึกษาได้เรียกร้องให้มีการปัพพาชนียกรรมพัลลิสและทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลพระคัมภีร์ รวมทั้งสมเด็จพระราชินีโอลกาและโปรโคปิอุส มุขนายกมหานครแห่งเอเธนส์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแปลหลักตามคำขอของสมเด็จพระราชินี[61]

กองทัพได้ถูกเรียกมาเพื่อรักษาความสงบและจัดการความขัดแย้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 คนและบาดเจ็บกว่า 60 คน[62] ในเดือนธันวาคมสำเนาการแปลพระคัมภีร์ฉบับสมเด็จพระราชินีโอลกาถูกยึดและไม่ได้รับการอนุญาตให้จัดจำหน่าย ทุกคนที่ขายหรืออ่านสำนวนพระคัมภีร์ฉบับแปลได้ถูกข่มขู่ด้วยการปัพพาชนียกรรม[63] ความขัดแย้งนี้เรียกว่า "อีวานเกลีกา (Evangelika) "[64] หรือ "ปัญหาพระวรสาร" ซึ่งมาจากคำว่า "Evangelion" (อีวานเกเลียน) ซึ่งเป็นภาษากรีกของคำว่า "Gospel" (พระวรสาร) และเหตุการณ์นี้นำไปสู่การสละตำแหน่งของมุขนายกมหานคร โปรโคปิอุส และการล่มสลายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรียอร์โยส ธีโอโตกิส[65][66]

สมเด็จพระพันปีหลวง

[แก้]

เหตุการณ์การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าจอร์จที่ 1

[แก้]
ภาพโปสการ์ดพระราชพิธีฝังพระบรมศพของพระเจ้าจอร์จที่ 1

ใน ค.ศ. 1913 สงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิออตโตมันต่อกองทัพพันธมิตรกรีซ บัลแกเรีย เซอร์เบียและมอนเตเนโกร การขยายอาณาเขตของราชอาณาจักรกรีซที่ได้รับจากตุรกีได้ทำให้เกิดความขัดแย้ง และเห็นได้ชัดอย่างรวดเร็วคือความขัดแย้งระหว่างกองทัพพันธมิตรสันนิบาตบอลข่าน รัฐบาลกรุงเอเธนส์และรัฐบาลกรุงโซเฟียต่างพยายามต่อสู้กันเพื่อครอบครองแคว้นเทสซาโลนีกี[67]

เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิของราชอาณาจักรกรีกเหนือเมืองหลักของแคว้นมาซิโดเนีย พระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงเสด็จไปยังเมืองเหล่านั้น หลังจากชัยชนะทางการทหารขององค์รัชทายาท คือ มกุฎราชกุมารคอนสแตนติน ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1912 ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่เมืองเทสซาโลนีกีเป็นเวลานาน ทุก ๆ วันพระองค์มักจะเสด็จพระดำเนินไปตามท้องถนน อย่างที่ทรงเคยทำเป็นประจำในกรุงเอเธนส์ แต่ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1913 นักอนาธิปไตย อเล็กซานดรอส ไซนัส ได้กระทำการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าจอร์จที่ 1 ด้วยอาวุธปืนหนึ่งนัด ในขณะที่พระองค์กำลังเสด็จพระดำเนินอยู่ใกล้ ๆ หอคอยขาว[68]

ในช่วงที่พระสวามีถูกลอบปลงพระชนม์ สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงอยู่ห่างไกลจากพระองค์ โดยประทับอยู่ที่เอเธนส์ พระสุณิสา คือ มกุฎราชกุมารีโซเฟียและเจ้าหญิงเฮเลน พระราชนัดดา ทรงเป็นผู้นำข่าวมาแจ้งแก่พระองค์[N 1] เมื่อพระองค์ทรงทราบ สมเด็จพระราชินีทรงพยายามทำให้พระทัยเย็นลงกับสิ่งที่เกิดขึ้น และตรัสว่า "มันคงเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า" และพระนางทรงเตรียมการเสด็จไปยังเทสซาโลนีกีในวันถัดไป เมื่อถึงเมืองแถบมาซิโดเนีย สมเด็จพระราชินีโอลกาและพระราชวงศ์เสด็จไปยังสถานที่เกิดเหตุและเสด็จไปรับพระบรมศพก่อนที่จะเสด็จกลับกรุงเอเธนส์ มีการฝังพระบรมศพที่พระราชวังตาโตย[69]

สำหรับสมเด็จพระราชินีโอลกา เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทรงต้องสูญเสียพระสวามี อีกทั้งยังทรงสูญเสียบทบาทอย่างเป็นทางการในการประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระราชินี การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ได้ทำให้พระชายาของพระองค์ คือ พระนางโซเฟีย ได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งกรีซพระองค์ใหม่ ในตอนนี้พระนางโอลกาจึงกลายเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งทรงต้องย้ายไปประทับที่ตึกปีกของพระราชวัง แต่ก็ประทับไม่นานนัก เนื่องจากพระองค์เสด็จกลับไปเยือนภูมิลำเนาของพระนาง ซึ่งประทับอยู่กับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิชแห่งรัสเซีย พระอนุชาและครอบครัวอย่างเป็นเวลานานที่พระราชวังปาฟลอฟก์[70]

เสด็จกลับรัสเซียและสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

[แก้]
พระราชวังปาฟลอสก์ ใกล้เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาประทับอยู่ที่รัสเซียในช่วงการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[71] ซึ่งประเทศสัมพันธมิตร ได้แก่ รัสเซีย อังกฤษและฝรั่งเศส ทำการรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน พระองค์ตัดสินพระทัยประทับในเซนต์ปีเตอส์เบิร์กและทรงก่อตั้งโรงพยาบาลทหารเพื่อสนับสนุนด้านการสงครามของรัสเซีย[72]

ขณะประทับอยู่ที่พระราชวังปาฟลอสก์ ซึ่งในตอนนี้ผู้ครอบครอง คือ แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิช พระอนุชาของพระนาง สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงก่อตั้งคลินิกที่พระราชวังนี้เพื่อรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บโดยทรงดำเนินการร่วมกับแกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ มาฟริเคียฟนา พระชายาในพระอนุชา สมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ เช่น เจ้าหญิงเฮเลนแห่งเซอร์เบีย และพระนัดดาของพระนางโอลกา คือ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนา ได้ทำการก่อตั้งโรงพยาบาลภาคสนามในแนวหน้า[73]

แต่สงครามเลวร้ายลงและก่อให้เกิดวิกฤตที่รุนแรงในรัสเซีย สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงพยายามเตือนถึงภัยอันตรายที่พระราชวงศ์ต้องเผชิญ และพระองค์ทรงพยายามเตือนจักรพรรดินีอะเลคซันดรา ฟอโดรอฟนา พระมเหสีในจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ใน ค.ศ. 1916 ถึงภัยอันตรายของการปฏิวัติแต่จักรพรรดินีปฏิเสธที่จะรับฟัง ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาแห่งกรีซทรงต้องประสบกับความพิโรธของจักรพรรดินีอะเล็กซันดรา หลังจากที่จักรพรรดินีทรงต้องลงพระนามในคำขออภัยโทษให้แก่พระนัดดาของพระนางโอลกา คือ แกรนด์ดยุกดมิตรี ปาฟโลวิช ซึ่งทรงถูกเนรเทศไปยังสงครามที่แนวหน้าเปอร์เซีย ในข้อหาที่ทรงมีส่วนร่วมในการลอบสังหารนักรหัสยลัทธิคนโปรดของจักรพรรดินี คือ กริกอรี รัสปูติน[74]

การปฏิวัติรัสเซีย

[แก้]
พระบรมสาทิสลักษณ์พระนางโอลกา วาดโดย ยอร์โยส จาโคบีดีส ใน ค.ศ. 1915

ในที่สุด การปฏิวัติก็ได้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ระบอบซาร์ล่มสลาย สถานะของสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาและครองครัวของพระนางก็ประสบกับความยากลำบากอย่างรวดเร็ว พระขนิษฐาและพระนัดดาของพระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จออกจากวังปาฟลอสก์ แต่สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกายังคงประทับอยู่ที่เดิม ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกไป และท้ายที่สุดทรงพบว่าพระนางเองต้องประทับอย่างโดดเดี่ยว เหลือแต่เพียงข้าราชบริพารหญิงชื่อว่า แอนนา เอกอรอวา (หลังจากการปฏิวัติเอกอรอวาได้ทำงานรับใช้เจ้าชายคริสโตเฟอร์แห่งกรีซและต่อมากลายเป็นพระอภิบาลในพระโอรสของพระองค์ เจ้าชายไมเคิล[75]) เนื่องจากการขาดแคลนอาหาร สตรีทั้งสองจำต้องรับประทานเพียงขนมปังแห้ง ๆ ชิ้นเล็กที่แช่ในน้ำมันคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะในปาฟลอสก์ ความปลอดภัยของที่นี่ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ และเพียงเวลาไม่กี่วันหลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม พวกบอลเชวิกบุกรุกและเข้าปล้นพระราชวัง พระนางโอลกาทรงไม่ได้รับอันตรายใด ๆ นางสนองพระโอษฐ์เป็นผู้ที่พยายามปกป้องพระนางจากฝูงชนปฏิวัติ[76]

พระนางตัดสินพระทัยที่จะเสด็จออกจากรัสเซียด้วยความจำเป็น แต่กลุ่มบอลเชวิกพยายามที่จะไม่ให้พระนางเสด็จหนีไปและความช่วยเหลือทางการทูตจากกรีซก็ไม่มีมาถึงเนื่องจากประสบปัญหาความแตกแยกแห่งชาติ โดยในทางตรงกันข้ามกับสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกา คือ พระโอรสองค์โตของพระองค์ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองที่เป็นกลาง[77] พระมารดาของพระองค์ทรงเป็นชาวรัสเซีย และพระมเหสีของพระองค์ทรงเป็นชาวเยอรมัน เป็นพระขนิษฐาในจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี นโยบายทางการเมืองของพระองค์ทำให้ทรงต้องมีความขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี อีเลฟเทริออส เวนิเซลอส ซึ่งนิยมฝ่ายสัมพันธมิตร พระเจ้าคอนสแตนตินทรงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นิยมเยอรมันและรัฐบาลเอเธนส์ได้รับการยกย่องอย่างน่าสงสัยในลอนดอนและปารีส เหตุการณ์นี้จึงเรียกว่า "ความแตกแยกแห่งชาติ" นายกรัฐมนตรีเวนิเซลอสจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนานที่เทสซาโลนิกีเพื่อต่อต้านพระเจ้าคอนสแตนติน ในเดือนมิถุนายน พระเจ้าคอนสแตนตินทรงถูกปลดออกจากราชบัลลังก์และต้องลี้ภัยไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ต้องการให้กรีซเป็นสาธารณรัฐและไม่ต้องการให้มกุฎราชกุมารจอร์จ ครองราชย์สืบต่อ ราชบัลลังก์จึงถูกแทนที่ด้วยพระโอรสองค์ที่สองครองราชย์เป็น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งกรีซ ผู้ซึ่งถือกันว่าทรงนิยมสัมพันธมิตรมากกว่า และควบคุมได้ง่ายกว่าพระเชษฐา[78] เวนิเซลอสได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ผู้สนับสนุนกษัตริย์พระองค์ก่อนได้ถูกจับกุมหรือประหารชีวิต[79]

การลี้ภัยครั้งแรก

[แก้]

หลังจากทรงร้องขอความช่วยเหลือมาเป็นเวลาหลายปี สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กในรัสเซียได้ออกหนังสือเดินทางให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกา ซึ่งพระองค์ทรงใช้เดินทางเข้าเยอรมนีในวันก่อนที่เยอรมนีจะพ่ายแพ้ และในที่สุดทรงเข้าไปร่วมกับพระโอรสองค์โตและพระราชวงศ์ที่ลี้ภัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงต้น ค.ศ. 1919[80] ส่วนสมาชิกพระราชวงศ์รัสเซียพระองค์อื่น ๆ ไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ พระราชวงศ์เหล่านี้ได้ถูกปลงพระชนม์ซึ่งมีทั้งจักรพรรดิ จักรพรรดินีและพระโอรสธิดาทั้งห้าพระองค์, พระเชษฐาและพระอนุชาของพระนางโอลกา แกรนด์ดยุกนิโคลัสและแกรนด์ดยุกดมิตรี ตามลำดับ, พระนัดดาทั้งสามของพระนางโอลกา ได้แก่ เจ้าชายจอห์น, เจ้าชายคอนสแตนตินและเจ้าชายอิกอร์ รวมทั้งพระเชษฐภคินีในพระจักรพรรดินี คือ แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย[81]

ในสวิตเซอร์แลนด์ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 และพระราชวงศ์ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีรายได้ รัฐบาลกรีกภายใต้นายกรัฐมนตรีเวนิเซลอสปฏิเสธไม่จ่ายเงินประจำปีแก่อดีตกษัตริย์และสั่งห้ามการติดต่อใด ๆ กันระหว่างกษัตริย์ผู้ลี้ภัยกับพระโอรสคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เนื่องด้วยพระพลานามัยเริ่มที่อ่อนแอ อดีตกษัตริย์มีพระอาการซึมเศร้ามากขึ้น[82] การปฏิวัติรัสเซียและการแตกแยกแห่งชาติได้ทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาถูกเพิกถอนสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และทรงต้องดำรงพระชนม์ที่ฟุ่มเฟือยน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต[83] แต่พระนางก็ทรงทำได้ ทรงมีความสุขกับการใช้เวลามากขึ้นประทับกับพระโอรสและพระนัดดา หลังจากที่ต้องทรงแยกจากกันตลอดระยะเวลาสงครามที่ยาวนาน[84]

ผู้สำเร็จราชการแห่งกรีซ

[แก้]
สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาแห่งกรีซ วาดโดยฟิลิป เดอ ลาสโล

ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1920 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงถูกลิงทรงเลี้ยงกัดระหว่างทรงพระดำเนินในสวนพระราชวังตาโตย รอยกัดได้กลายเป็นแผลติดเชื้อ และได้ยกระดับเป็นภาวะพิษเหตุติดเชื้อ ในวันที่ 19 ตุลาคม พระองค์ทรงเริ่มมีพระสติคลั่ง ทรงร้องเรียกหาพระมารดาขณะที่ประทับอยู่บนพระแท่น แต่รัฐบาลกรีกปฏิเสธที่จะให้อดีตพระราชินีโซเฟียเสด็จกลับมายังกรีซ[85] ด้วยทรงเป็นห่วงพระโอรสและทรงทราบว่าพระอัยยิกาของพระโอรสเป็นเชื้อพระวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนิยมเวนิเซลอส อดีตพระราชินีโซเฟียทรงร้องขอให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาเสด็จไปยังเอเธนส์เพื่ออภิบาลพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ หลังจากใช้เวลาหลายวันในการเจรจา สมเด็จพระพันปีหลวงทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับกรีซ แต่การเดินทางกลับล่าช้าเนื่องจากประสบกับพายุในทะเล พระนางโอลกาเสด็จมาถึงในอีก 12 ชั่วโมง หลังจากพระนัดดาสวรรคตในวันที่ 25 ตุลาคม[86] ในวันที่ 29 ตุลาคม พระบรมศพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้รับการฝังที่ตาโตย สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาเป็นพระราชวงศ์เพียงพระองค์เดียวของกรีกที่เข้าร่วมพระราชพิธี[87]

ด้วยความที่ยังไม่เห็นด้วยกับการเสด็จกลับมาของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 และมกุฎราชกุมารจอร์จ รัฐบาลของอีเลฟเทริออส เวนิเซลอสจึงเสนอราชบัลลังก์แก่พระโอรสองค์ที่สามในพระเจ้าคอนสแตนตินคือ เจ้าชายปัพโลส แต่เจ้าชายทรงปฏิเสธที่จะครองบัลลังก์ก่อนพระราชบิดาและพระเชษฐา เว้นแต่จะมีการลงประชามติเพื่อให้พระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐ[88] แต่ในช่วงวันที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคต เวนิเซลอสพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในกรีซ ค.ศ. 1920 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พลเรือตรี ปัพโลส โคอันตูริโอทิส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่การสวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์และเป็นฝ่ายเวนิเซลอส ได้ลาออกจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ ดีมิทริออส รอลลิส ได้ทูลเชิญให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์ทรงดำรงในตำแหน่งนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนจนกระทั่งพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 พระโอรสกลับคืนสู่ราชบัลลังก์ในวันที่ 19 ธันวาคม หลังจากการลงประชามติในกรีซ ค.ศ. 1920 ประชาชน 99% สนับสนุนการกลับคืนสู่บัลลังก์ของพระองค์[89]

การลี้ภัยครั้งที่สองและสวรรคต

[แก้]
สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกา (กลาง) พร้อมพระโอรส คือ เจ้าชายคริสโตเฟอร์ และพระชายาองค์แรก เจ้าหญิงอนาสตาเซีย

พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 เสด็จกลับคืนสู่บัลลังก์ได้เพียง 18 เดือนซึ่งอยู่ในช่วงสงครามกรีซ-ตุรกี (ค.ศ. 1919-22) ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1919 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1921 กองทัพกรีกพ่ายแพ้ที่สมรภูมิซาการ์ยา ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการถอนทัพกรีกออกจากตุรกี ด้วยความที่กองทัพสัมพันธมิตรไม่พอใจนโยบายของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้รัฐบาลกรุงเอเธนส์ขาดการสนับสนุนจากภายนอก[90] มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้นำคนใหม่ของตุรกี ได้ยึดคืนสมีร์นาและเทรซตะวันออก ซึ่งถูกผนวกโดยรัฐบาลกรุงเอเธนส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด[91]

ต่อมาเกิดการรัฐประหารโดยกลุ่มทหารที่ไม่พอใจ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 สละราชบัลลังก์เป็นครั้งที่สองในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1922 พระองค์เสด็จลี้ภัยไปยังอิตาลี พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้ง สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาด้วย และพระโอรสองค์โตของพระองค์ได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อเป็นเวลาไม่กี่เดือน คือ พระเจ้าจอร์จที่ 2[92] ภายในช่วงหลายเดือนนี้ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 เสด็จสวรรคตในอิตาลี หนึ่งในพระโอรสของสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกา คือ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก ถูกจับกุมโดยการปกครองระบอบใหม่ จำเลยหลายคนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติในการพิจารณาคดีจำเลยทั้งหกที่ดำเนินการโดยคณะรัฐประหาร อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองอาวุโสและนายพลในกองทัพหลายคนที่เป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า[93] นักการทูตต่างประเทศมองว่าเจ้าชายแอนดรูว์ทรงตกอยู่ในอันตราย และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ประธานาธิบดีแรมง ปวงกาเร รวมถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ทรงส่งผู้แทนไปยังเอเธนส์เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยนให้แก่เจ้าชายแอนดรูว์[94] เจ้าชายแอนดรูว์ทรงรอดพระชนม์ แต่ทรงถูกเนรเทศตลอดพระชนม์ชีพและครอบครัวของพระองค์ต้องลี้ภัยด้วยเรือเฮชเอ็มเอส คาลิปโซ (ดี61) ของราชนาวีอังกฤษ[95][96]

สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงได้รับเงินรายปีจากสาธารณรัฐเฮเลนิกที่สอง ซึ่งไม่เหมือนกับพระโอรสธิดาและพระนัดดาของพระองค์ที่ไม่ได้รับเงินรายปีเลย แต่พระองค์ก็ยังคงประคับประคองข้าราชบริพารเก่าแก่ซึ่งหลบหนีมาจากกรีซพร้อมกับพระนางซึ่งทำให้พระนางทรงเหลือพระราชทรัพย์ไว้ใช้สอยไม่เกิน 20 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อเดือน[83] (มีค่าประมาณ 900 ปอนด์ใน ค.ศ. 2010) แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวของพระองค์ที่กระจายไปทั่วยุโรปตะวันตก ในสหราชอาณาจักร พระนางประทับอยู่ที่บ้านสเปนเซอร์, ลอนดอน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระโอรสองค์สุดท้องคือ เจ้าชายคริสโตเฟอร์ และทรงไปประทับที่ย่านรีเจนท์ปาร์ค ที่ซึ่งแกรนด์ดัชเชสมารี พระนัดดาของพระนาง ทรงเช่าตำหนักซานดริงแฮม ซึ่งเป็นตำหนักของสมเด็จพระราชชนนีอเล็กซานดรา พระเชษฐภคินีในพระสวามีของพระองค์ และทรงไปประทับที่พระราชวังวินด์เซอร์และพระราชวังบักกิงแฮม ที่ซึ่งพระนัดดาของพระองค์คือ พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงให้พระนางเช่าห้องชุด[97]

ช่วงปีสุดท้ายของสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงประสบกับพระพลานามัยที่ย่ำแย่ พระอาการขัดยอกทำให้ทรงต้องประทับรถเข็น และทรงต้องประทับที่ปารีสหลายครั้งเพื่อรักษาพระเนตร ด้วยพระเนตรที่ไม่ดีทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงพระสรวลอย่างหนักเมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงทรงเข้าใจผิดว่ารูปปั้นเปลือยกายของเลดีโกไดวา คือ พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร[94] ด้วยความที่ต้องทรงพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาเสด็จไปประทับกับเจ้าชายคริสโตเฟอร์ ซึ่งเป็นเวลาสั้น ๆ หลังจาก เจ้าหญิงอนาสตาเซีย พระชายาองค์แรกของพระองค์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1923 สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาสิ้นพระชนม์ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1926 ซึ่งมีสองหลักฐานว่าสิ้นพระชนม์ที่ตำหนักวิลลาอนาสตาเซียของเจ้าชายคริสโตเฟอร์ในโรม[98] หรือสิ้นพระชนม์ที่โป (จังหวัดปีเรเน-อัตล็องติก)[99]

ที่ฝังพระศพของพระนางโอลกาในตาโตย

แม้ว่ากลุ่มสาธารณรัฐนิยมจะเถลิงอำนาจในกรีซอยู่ แต่สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกายังคงได้รับความนิยมสูงสุดและรัฐบาลสาธารณรัฐในเอเธนส์เสนอที่จะออกค่าใช้จ่ายสำหรับพระราชพิธีฝังพระศพและดำเนินการส่งพระศพของพระองค์กลับมายังกรีซ อย่างไรก็ตาม พระโอรสธิดาของพระนางได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ และเลือกที่จะฝังพระศพของพระนางในอิตาลี เคียงข้างพระราชโอรสคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ซึ่งพระบรมศพของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 รัฐบาลกรีซปฏิเสธที่จะยอมรับ[100] พระราชพิธีฝังพระศพของพระองค์จัดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1926 ที่โบสถ์ออร์ทอด็อกซ์ในโรม และในวันรุ่งขึ้นก็ย้ายพระศพไปพักที่สุสานใต้ดินในโบสถ์รัสเซียที่ฟลอเรนซ์[101][102] หลังจากมีการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยในกรีซ ค.ศ. 1935 พระศพของพระองค์ได้ฝังใหม่ที่ตาโตยในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1936[103]

ทรัพย์สินของพระองค์ส่วนมากถูกริบโดยสหภาพโซเวียตและรัฐบาลสาธารณรัฐกรีก อสังหาริมทรัพย์ของพระนางทรงมีเครื่องเพชรอัญมณีอยู่ด้วยโดนมีการรายงานจากเดอะไทมส์ว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ปอนด์สเตอร์ลิง (ซึ่งเป็นมูลค่ามากกว่า 4,500,000 ปอนด์สเตอร์ลิงในปัจจุบัน) ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้มีการแบ่งปันให้พระโอรสธิดาของพระองค์ และพระโอรสธิดาในพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1[104] ด้วยความบอบช้ำจากการปฏิวัติรัสเซีย ทำให้พระนางโอลกาทรงอยากตัดความสัมพันธ์กับประเทศที่ฆ่าล้างครอบครัวของพระองค์ ก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงให้พระเจ้าจอร์จที่ 2 พระนัดดาให้สัตย์สัญญาแก่พระองค์ว่าจะทรงขอให้มีการส่งคืนเถ้ากระดูกของเจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระธิดาของพระนาง ที่ฝังอยู่ในมหาวิหารปีเตอร์และปอล กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จใน ค.ศ. 1940 หลังจากมีการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์กรีซ[105] พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงขอร้องรัฐบาลโซเวียตให้ส่งพระศพของเจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระปิตุจฉาให้กลับมาฝังใหม่ในกรีซ ซึ่งรัฐบาลโซเวียตอนุญาต

พระราชตระกูล

[แก้]
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
16. จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย[106]
 
 
 
 
 
 
 
8. จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
17. เจ้าหญิงโซฟีแห่งอันฮัลท์-แซร์บส์ต (จักรพรรดินีแคทเทอรีนที่ 2)[106]
 
 
 
 
 
 
 
4. จักรพรรดินีโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
18. เฟรเดอริกที่ 2 ยูจีน ดยุกแห่งแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค[107]
 
 
 
 
 
 
 
9. ดัชเชสโซฟี โดโรเทียแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
19. มาร์เกรฟวีนเฟรเดอริเกแห่งบรันเดินบวร์ค-ชเวดท์[107]
 
 
 
 
 
 
 
2. แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชแห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
20. พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย[108]
 
 
 
 
 
 
 
10. พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 3 แห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
21. เจ้าหญิงเฟรเดอริกา หลุยส์แห่งเฮสส์-ดาร์มชตัดท์[108]
 
 
 
 
 
 
 
5. เจ้าหญิงชาร์ล็อตแห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
22. ชาร์ลที่ 2 แกรนด์ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์[108]
 
 
 
 
 
 
 
11. ดัชเชสหลุยส์แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
23. แลนด์เกรฟวีนเฟรเดอริเกแห่งเฮสส์-ดาร์มชตัดท์[109]
 
 
 
 
 
 
 
1. โอลกา คอนสแตนตินอฟนาแห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
24. แอนสท์ ฟรีดิชที่ 3 ดยุกแห่งซัคเซิน-ฮิลด์บูร์กเฮาเซน[110]
 
 
 
 
 
 
 
12. เฟรเดอริก ดยุกแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
25. เจ้าหญิงเออร์เนสทีนแห่งซัคเซิน-ไวมาร์[110]
 
 
 
 
 
 
 
6. โจเซฟ ดยุกแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
26. ชาร์ลที่ 2 แกรนด์ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ (= 22)[109]
 
 
 
 
 
 
 
13. ดัชเชสชาร์ล็อต จอร์จีนแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
27. แลนด์เกรฟวีนเฟรเดอริเกแห่งเฮสส์-ดาร์มชตัดท์ (= 23)[109]
 
 
 
 
 
 
 
3. เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
28. เฟรเดอริกที่ 2 ยูจีน ดยุกแห่งแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค (= 18)[107]
 
 
 
 
 
 
 
14. หลุยส์ ดยุกแห่งแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
29. มาร์เกรฟวีนเฟรเดอริเกแห่งบรันเดินบวร์ค-ชเวดท์ (= 19)[107]
 
 
 
 
 
 
 
7. ดัชเชสอเมเลียแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
30. ชาร์ล คริสเตียน เจ้าชายแห่งนัสเซา-ไวล์บูร์ก[107]
 
 
 
 
 
 
 
15. เจ้าหญิงเฮนเรียตแห่งนัสเซา-ไวล์บูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
31. เจ้าหญิงแคโรไลนาแห่งออเรนจ์-นัสเซา[111]
 
 
 
 
 
 

เชิงอรรถอ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. แต่ฮิวโก วิคเกอร์ ซึ่งได้เขียนพระประวัติของเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทนแบร์ก ได้บันทึกว่า เจ้าหญิงอลิซ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์กและเจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก ทรงเป็นผู้มาแจ้งข่าวแก่สมเด็จพระราชินี กล่าวใน Hugo Vickers, Alice, Princess Andrew of Greece, Hamish Hamilton, Londres, 2000, p. 105.

รายการอ้างอิง

[แก้]
  1. Montgomery-Massingberd 1977, pp. 469–474.
  2. 2.0 2.1 Van der Kiste 1999, p. 26.
  3. Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 69–70.
  4. King & Wilson 2006, pp. 55, 109–110.
  5. King & Wilson 2006, p. 36.
  6. King & Wilson 2006, pp. 36–38.
  7. 7.0 7.1 King & Wilson 2006, p. 35.
  8. King & Wilson 2006, pp. 34–36.
  9. Christmas 1914, p. 81.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 The Times (London), Monday 21 June 1926, p. 19.
  11. Walter Christmas, King George of Greece, MacBride, Naste & Company, New York, 1914, p. 81.
  12. John Van der Kiste, Kings of the Hellenes. The Greek Kings 1863-1974, Sutton publishing, 1999, p. 14 et 25.
  13. 13.0 13.1 13.2 Van der Kiste 1999, pp. 24–25.
  14. 14.0 14.1 King & Wilson 2006, p. 37.
  15. 15.0 15.1 15.2 Van der Kiste 1999, pp. 25.
  16. 16.0 16.1 Carabott 1993, p. 123.
  17. Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 69; Van der Kiste 1999, p. 26.
  18. Marie von Bothmer, « Queen Olga of Greece, née Grand Duchess of Russia » dans The Sovereign ladies of Europe, Adamant Media Corporation, 1899, p. 172-173.
  19. Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 70.
  20. Hugo Vickers, Alice, Princess Andrew of Greece, Hamish Hamilton, Londres, 2000, p. 68.
  21. Gelardi 2006, p. 181; Vickers 2000, p. 68.
  22. Van der Kiste 1999, p. 36.
  23. Van der Kiste 1999, p. 53.
  24. Greg King et Penny Wilson, op. cit., p. 88.
  25. Forster 1958, p. 74.
  26. Van der Kiste 1999, p. 42.
  27. Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 73; Vickers 2000, p. 309.
  28. Michael of Greece 2004, p. 27.
  29. Bertin 1982, p. 150.
  30. Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 70–73.
  31. 31.0 31.1 Michael LLewellyn Smith, Olympics in Athens. 1896, Profile Books, Londres, 2004, p. 20-23.
  32. Van der Kiste 1999, pp. 26, 39.
  33. Driault & Lheritier 1926, pp. 227, 319, 424, vol. III.
  34. Michel de Grèce, op. cit., p. 26-27.
  35. Prince Nicholas of Greece, My Fifty Years, Hutchinson & Co., Londres, 1926, p. 51
  36. Édouard Driault et Michel Lhéritier, Histoire diplomatique de la Grèce de 1821 à nos jours, Tome IV, Paris, PUF, 1926, p. 270 et 477.
  37. John Van der Kiste, op. cit., p. 41.
  38. Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome III, p. 323.
  39. John Van der Kiste, op. cit., p. 18 et 20-21.
  40. Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome IV, p. 499-500 et 529.
  41. Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome IV, p. 365.
  42. John Van der Kiste, op. cit., p. 73.
  43. Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome IV, p. 464.
  44. John Van der Kiste, op. cit., p. 40.
  45. Vickers 2000, p. 67.
  46. Walter Christmas, op. cit., p. 129.
  47. Walter Christmas, op. cit., p. 129-130.
  48. Walter Christmas, op. cit., p. 130.
  49. Christmas 1914, p. 131; Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 72.
  50. Christmas 1914, pp. 130–131.
  51. Walter Christmas, op. cit., p. 131.
  52. Ricardo Mateos Sainz de Medrano, op. cit., p. 72.
  53. Walter Christmas, op. cit., p. 265-266 et 368.
  54. Gelardi 2006, p. 83.
  55. Hugo Vickers, op. cit., p. 67.
  56. Carabott 1993, p. 125.
  57. Carabott 1993, p. 124.
  58. 58.0 58.1 Carabott 1993, p. 126.
  59. "The Struggle for a Bible in Modern Greek". The Watchtower. Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania. 15 November 2002. สืบค้นเมื่อ 2 November 2014.
  60. Carabott 1993, pp. 128–130.
  61. Carabott 1993, pp. 123, 129–130.
  62. Carabott 1993, pp. 117, 131.
  63. Carabott 1993, p. 131.
  64. Carabott 1993, p. 117.
  65. Campbell & Sherrard 1968, p. 198; Carabott 1993, p. 131.
  66. The Times (London), Tuesday 26 November 1901, p. 9.
  67. John van der Kiste, op. cit., p. 72.
  68. John van der Kiste, op. cit., 72-75.
  69. John van der Kiste, op. cit., 76-77.
  70. Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 85; Michael of Greece 2004, p. 27.
  71. Van der Kiste 1999, p. 87.
  72. Van der Kiste 1999, p. 116.
  73. King & Wilson 2006, p. 155; Michael of Greece 2004, p. 78.
  74. King & Wilson 2006, pp. 163–164; Van der Kiste 1998, p. 191.
  75. Michael of Greece 2004, p. 78.
  76. King & Wilson 2006, pp. 166, 186.
  77. Van der Kiste 1999, pp. 89–90.
  78. Van der Kiste 1999, pp. 104–108.
  79. Van der Kiste 1999, pp. 112–115.
  80. Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 89–90; Van der Kiste 1999, p. 116.
  81. Montgomery-Massingberd 1977, pp. 470–476; Van der Kiste 1998, pp. 198–202.
  82. Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 90.
  83. 83.0 83.1 Van der Kiste 1999, p. 147.
  84. Vickers 2000, p. 145.
  85. Van der Kiste 1999, pp. 122–123.
  86. Van der Kiste 1999, pp. 123–124.
  87. Van der Kiste 1999, p. 125.
  88. Van der Kiste 1999, pp. 125–126; Vickers 2000, p. 148.
  89. Van der Kiste 1999, p. 126.
  90. Bertin 1982, p. 230; Van der Kiste 1999, pp. 129–130.
  91. Van der Kiste 1999, pp. 134–137.
  92. Van der Kiste 1999, p. 137.
  93. The Times (London), Friday 1 December 1922, p. 12.
  94. 94.0 94.1 Van der Kiste 1999, p. 140.
  95. Van der Kiste 1999, pp. 140–141; Vickers 2000, pp. 170–171.
  96. The Times (London), Tuesday 5 December 1922, p. 12.
  97. Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 92–93, 318; Van der Kiste 1999, p. 147.
  98. Van der Kiste 1999, p. 147; Vickers 2000, p. 180.
  99. Montgomery-Massingberd 1977, p. 325.
  100. Vickers 2000, pp. 180–181.
  101. Van der Kiste 1999, p. 147; Vickers 2000, pp. 180–181.
  102. The Times (London), Friday 25 June 1926, p. 13.
  103. Forster 1958, p. 198; Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 188.
  104. The Times (London), Tuesday 22 June 1926, p. 15.
  105. Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 327.
  106. 106.0 106.1 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 468–471.
  107. 107.0 107.1 107.2 107.3 107.4 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 184–186.
  108. 108.0 108.1 108.2 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 136–141.
  109. 109.0 109.1 109.2 Montgomery-Massingberd 1977, p. 237.
  110. 110.0 110.1 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 265–266.
  111. Montgomery-Massingberd 1977, p. 240.

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า โอลกา คอนสแตนตินอฟนา แห่งรัสเซีย ถัดไป
ดัชเชสอเมเลียแห่งโอลเดนบูร์ก
สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ
(27 ตุลาคม ค.ศ. 1867 – 18 มีนาคม ค.ศ. 1913)
เจ้าหญิงโซเฟียแห่งปรัสเซีย