อัญประกาศ
“◌” ‘◌’ "◌" '◌' | |
---|---|
อัญประกาศ | |
อัญประกาศ หรือ เครื่องหมายคำพูด เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากล ใช้เขียนสกัดข้างหน้าและข้างหลังของ อักษร คำ วลี หรือประโยค ที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ ให้ดูแตกต่างจากข้อความที่อยู่รอบข้าง ลักษณะคล้ายลูกน้ำแต่เขียนไว้ข้างบน (บางภาษาเขียนไว้ข้างล่างก็มี) มักเขียนเป็นคู่เรียกว่า อัญประกาศคู่ ข้างหน้าเขียนหัวคว่ำ ข้างหลังเขียนหัวหงาย ( “ ” ) หรือปรากฏเป็น อัญประกาศเดี่ยว ( ‘ ’ ) บางครั้งอาจพบการใช้ขีดตั้งเล็ก ๆ เพื่อความสะดวก ( " " หรือ ' ' )
การใช้งาน
[แก้]- ใช้เขียนสกัดตัวอักษร หรือ คำ เพื่อให้ผู้อ่านสังเกตเป็นพิเศษ เช่น :-
- ตัว "นอ" มี 2 ชนิด คือ ณ และ น
- หล่อนได้รับสมญาจากสังคมว่า "ผู้ดีแปดสาแหรก"
- "สามก๊ก" กล่าวถึงคนสำคัญ สามก๊ก
- ใช้สกัดข้อความที่เป็นความดำริตริคิด เช่น :-
- ฉันคิดว่า "เอ ! นี่เราก็เป็นลูกผู้ชาย เหตุไฉนจึงไม่พยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์" คิดดังนี้แล้ว ฉันก็เริ่มเขียนตำราหลักภาษาไทย
- เขาดำริว่า "ฉันเป็นคนไทย, ฉันต้องสร้างชาติไทยให้เจริญ"
- ใช้สกัดข้อความที่เป็นคำสนทนาปราศรัย เช่น :-
- แดงถามว่า "แป๊ว, หนูรักอะไรมากที่สุด ?" "ผมรักเพื่อนมากที่สุด" แป๊วตอบ
- "นอกจากชาติไทยแล้ว หนูรักใครอีก" "คุณพ่อ, และคุณแม่"
- "หนูรักพี่ไหม" แดงถาม "รัก" แป๊วตอบ
- ใช้สกัดข้อความที่นำมาจากที่อื่น หรือ เป็นคำพูดของผู้อื่น เช่น :-
- ในบาลีไวยากรณ์ ตอนอักขรวิธี มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งว่า "เนื้อความของถ้อยคำ ทั้งปวง ต้องหมายรู้กันด้วยอักขระ ถ้าอักขรวิบัติแล้ว ก็เข้าใจเนื้อความยาก"
- ฉันชอบพระพุทธโอวาทที่ว่า "ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย"
ถ้ามีส่วนที่เน้นซ้อนกันสองชั้น ชั้นนอกที่สุดให้ใช้อัญประกาศคู่ "..." ส่วนชั้นในให้ใช้อัญประกาศเดี่ยว '...' ไม่ควรใช้ซ้อนกันมากกว่าสองชั้น เพราะอาจทำให้สับสนได้ ตัวอย่างเช่น :-
นักเรียนคนหนึ่งเล่าให้ครูฟังว่า "ผมมีน้องชาย 2 คน เป็นเด็กช่างพูดทั้งคู่ พอเห็นผม กลับไปบ้าน น้องคนเล็ก มักพูดกับคุณแม่ว่า 'คุณแม่ครับ, พี่แป๊วกลับจากโรงเรียนแล้วครับ' แล้วแกก็วิ่งมารับผม และขอให้ผมเปิดรูปภาพในหนังสือให้แกดู"
การเขียนอัญประกาศ ควรเว้นวรรคก่อนอัญประกาศเปิดหนึ่งเคาะ หลังอัญประกาศปิดหนึ่งเคาะ ส่วนข้อความภายในให้เขียนติดกับอัญประกาศ [1] เช่น xxx “yyy” xxx
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Boonlert Aroonpiboon. "เครื่องหมายวรรคตอนและการเขียน". คลังความรู้ออนไลน์ ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สวทช. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2009.