จักรวรรดิบริติช
จักรวรรดิบริติช (อังกฤษ: British Empire) ประกอบด้วยประเทศในเครือจักรภพ, คราวน์โคโลนี, รัฐในอารักขา, รัฐในอาณัติ และดินแดนอื่นซึ่งสหราชอาณาจักรปกครองหรือบริหาร จักรวรรดิกำเนิดจากดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลและสถานีการค้าที่ราชอาณาจักรอังกฤษก่อตั้งระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงที่เจริญถึงขีดสุด จักรวรรดิบริติชเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นมหาอำนาจโลกชั้นแนวหน้านานกว่าหนึ่งศตวรรษ[1] ใน ค.ศ. 1922 จักรวรรดิบริติชปกครองประชากรประมาณ 458 ล้านคน หรือกว่าหนึ่งในห้าของประชากรโลกในเวลานั้น[2] ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 33,000,000 ตารางกิโลเมตร เกือบหนึ่งในสี่ของพื้นดินทั้งหมดของโลก[3][4] เป็นผลให้มรดกทางการเมือง กฎหมาย ภาษาและวัฒนธรรมของอังกฤษแผ่ขยาย ในยุคที่จักรวรรดิบริติชรุ่งเรืองที่สุด มักใช้คำวลี "จักรวรรดิที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน" เพราะดินแดนที่มีอยู่ทั่วโลกทำให้ดวงอาทิตย์ยังส่องแสงอยู่ในดินแดนใต้ปกครองอย่างน้อยที่สุดหนึ่งแห่งตลอดเวลา
จักรวรรดิบริติช | |
---|---|
ค.ศ. 1707–ค.ศ. 1997 | |
| |
พื้นที่ต่าง ๆ ของโลกซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิบริติช ปัจจุบันดินแดนโพ้นทะเลอังกฤษถูกขีดเส้นใต้สีแดง | |
สถานะ | จักรวรรดิ |
เมืองหลวง | ลอนดอน |
ประวัติศาสตร์ | |
ค.ศ. 1707 | |
• เสียสิบสามอาณานิคม | ค.ศ. 1776 |
ค.ศ. 1801 | |
ค.ศ. 1858 | |
• สนธิสัญญาอังกฤษ-ไอร์แลนด์ | ค.ศ. 1922 |
ค.ศ. 1931 | |
• อินเดียได้รับเอกราช | ค.ศ. 1947 |
• การส่งมอบฮ่องกง | ค.ศ. 1997 |
ระหว่างยุคแห่งการสำรวจในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 สเปนและโปรตุเกสบุกเบิกการสำรวจโลกของชาวยุโรป และสร้างจักรวรรดิโพ้นทะเลขนาดใหญ่ไปพร้อมกัน จากความอิจฉาในความมั่งคั่งของจักรวรรดิทั้งสอง อังกฤษ ฝรั่งเศส และดัตช์จึงเริ่มก่อตั้งอาณานิคมและเครือข่ายการค้าของตนในทวีปอเมริกาและเอเชีย[5] สงครามอย่างต่อเนื่องกับเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ทำให้อังกฤษ (หรือบริเตนใหญ่ หลังสหภาพระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ใน ค.ศ. 1707) เป็นมหาอำนาจด้านอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือและอินเดียอย่างเด็ดขาด
เอกราชของสิบสามอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือให้หลังสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกาใน ค.ศ. 1783 ทำให้บริเตนเสียอาณานิคมที่เก่าแก่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดไปหลายแห่ง ไม่นานบริเตนหันความสนใจไปทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย และแปซิฟิกแทน หลังฝรั่งเศสสมัยนโปเลียนปราชัยใน ค.ศ. 1815 บริเตนก้าวเป็นมหาอำนาจทางทะเลและจักรวรรดิหลักในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีกรุงลอนดอนเป็นนครใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1830[6] ภาวะครอบงำของบริเตนที่ไร้ผู้ต่อกรในทะเลภายหลังมีผู้อธิบายว่าเป็นสันติภาพบริเตน ระยะที่ค่อนข้างสันติในทวีปยุโรปและโลก (ค.ศ. 1815–1914) ซึ่งระหว่างนั้นจักรวรรดิบริติชเป็นผู้ครองความเป็นใหญ่ในโลกและรับบทบาทตำรวจโลก[7][8][9][10] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงบริเตน ในขณะที่มีนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ใน ค.ศ. 1851 จักรวรรดิบริติชมีผู้อธิบายว่า "โรงซ่อมสร้างของโลก"[11] จักรวรรดิบริติชขยายไปรวมอินเดีย ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา และดินแดนอื่นอีกลหายดินแดนทั่วโลก นอกจากใช้การควบคุมอย่างเป็นทางการเหนืออาณานิคมของตนแล้ว ภาวะครอบงำของบริเตนเหนือการค้าโลกปริมาณมากหมายความว่า จักรวรรดิควบคุมเศรษฐกิจของหลายภูมิภาคได้ชะงัด เช่น ทวีปเอเชียและละตินอเมริกา[12][13] ในประเทศ ทัศนะทางการเมืองนิยมการค้าเสรีและนโยบายปล่อยให้ทำไปและการค่อย ๆ ขยายสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ระหว่างศตวรรษนั้น ประชากรเพิ่มจำนวนในอัตราน่าตกใจ ร่วมกับการทำให้เป็นเมืองอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความเครียดทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างสำคัญ[14] ในการแสวงตลาดและแหล่งวัตถุดิบใหม่ พรรคอนุรักษนิยมภายใต้การนำของเบนจามิน ดิสราเอลีเริ่มสมัยการขยายจักรวรรดินิยมในอียิปต์ แอฟริกาใต้และที่อื่น แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศในเครือจักรภพที่ปกครองตนเอง[15]
เมื่อเริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 20 เยอรมนีและสหรัฐท้าทายความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของบริเตน ความตึงเครียดทางทหารและเศรษฐกิจต่อมาระหว่างบริเตนและเยอรมนีเป็นสาเหตุหลักของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งระหว่างสงคราม บริเตนพึ่งพาจักรวรรดิของตนอย่างหนัก ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดความเครียดต่อทรัพยากรทหาร การเงินและกำลังคนอย่างมโหฬารแก่บริเตน แม้จักรวรรดิมีดินแดนไพศาลที่สุดทันทีหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่บริเตนก็มิใช่มหาอำนาจทางทหารหรืออุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไป ในสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นยึดครองอาณานิคมของบริเตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้บริเตนและพันธมิตรชนะในบั้นปลายก็ตาม ความเสียหายต่อเกียรติภูมิของบริเตนช่วยเร่งความเสื่อมของจักรวรรดิ อินเดีย การครอบครองที่มีมูลค่าที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของบริเตน ได้รับเอกราชโดยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปลดปล่อยอาณานิคมซึ่งบริเตนให้เอกราชแก่ดินแดนส่วนใหญ่ของจักรวรรดิ หลายคนนับว่าการคืนฮ่องกงให้จีนใน ค.ศ. 1997 เป็นการสิ้นสุดของจักรวรดิบริติช[16][17][18][19] ดินแดน 14 แห่งยังอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของอังกฤษ หลังได้รับเอกราช อดีตอาณานิคมหลายแห่งเข้าร่วมเครือจักรภพแห่งชาติ เป็นสมาคมอิสระของรัฐเอกราช บัดนี้สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งใน 16 ชาติเครือจักรภพ โดยมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกันคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
จุดเริ่มต้น (1497–1583)
แก้มีการวางรากฐานจักรวรรดิบริติชตั้งแต่อังกฤษและสกอตแลนด์ยังเป็นราชอาณาจักรแยกกัน ใน ค.ศ. 1496 หลังโปรตุเกสและสเปนประสบความสำเร็จในการสำรวจโพ้นทะเล พระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษทรงแต่งตั้งให้จอห์น คาบ็อตนำการเดินทางทางเรือเพื่อสำรวจหาเส้นทางไปทวีปเอเชียผ่านทางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ[20] ต่อมาใน ค.ศ. 1497 ห้าปีหลังการค้นพบทวีปอเมริกา คาบ็อตแล่นเรือจากอังกฤษ และแม้เขาขึ้นฝั่งเกาะนิวฟันด์แลนด์ได้สำเร็จ (ซึ่งเข้าใจผิดว่าเขาได้ถึงทวีปเอเชียแล้ว เช่นเดียวกับคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส[21]) แต่ไม่มีความพยายามตั้งอาณานิคม คาบ็อตนำการเดินทางด้วยเรือไปทวีปอเมริกาอีกครั้งในปีต่อมา แต่ไม่มีผู้ทราบข่าวจากเรือของเขาอีกเลย[22]
อังกฤษไม่พยายามก่อตั้งอาณานิคมอีกในทวีปอเมริกาเรื่อยมาจนรัชกาลพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 16[23] ขณะเดียวกันการปฏิรูปโปรแตสแตนต์ทำให้อังกฤษกับสเปนที่นับถือนิกายคาทอลิกเป็นศัตรูกัน[20] ใน ค.ศ. 1562 พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงส่งเสริมให้นักเดินเรือส่วนตัว (prirateer) จอห์น ฮอว์กินส์และฟรานซิส เดรก โจมตีปล้นทาสตามเรือสเปนและโปรตุเกสซึ่งแล่นจากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก[24] มีเป้าหมายเพื่อทำลายระบบการค้าแอตแลนติก ความพยายามดังกล่าวถูกหยุดยั้ง และเมื่อสงครามอังกฤษ-สเปนทวีความรุนแรงขึ้น พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงอนุญาตให้ขยายโจมตีแบบโจรสลัดไปถึงเมืองท่าของสเปนในทวีปอเมริกาและการเดินเรือที่แล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกลับมา ซึ่งเรือนี้เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติซึ่งขนกลับจากโลกใหม่[25] ขณะเดียวกัน นักเขียนที่มีอิทธิพล อาทิ ริชาร์ด ฮัคลุยต์ และจอห์น ดี (เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า "จักรวรรดิบริติช"[26]) กำลังเริ่มผลักดันให้มีการก่อตั้งจักรวรรดิของอังกฤษเอง จนถึงเวลานี้ สเปนเป็นชาติที่ครอบงำในทวีปอเมริกาและกำลังสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนโปรตุเกสสร้างสถานีการค้าและค่ายทหารตั้งแต่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาและบราซิลจนถึงจีน และฝรั่งเศสเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ที่ต่อมากลายเป็นอาณานิคมนิวฟรานซ์[27]
การตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์
แก้แม้อังกฤษล่าอาณานิคมล้าหลังเมื่อเทียบกับสเปนและโปรตุเกส ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 อังกฤษก็เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์ด้วยชาวโปรเตสแตนท์จากอังกฤษและสกอตแลนด์ คล้ายกับการบุกครองของชาวนอร์มันใน ค.ศ. 1169[28][29] หลายคนซึ่งช่วยตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์ยังมีส่วนในการตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือในช่วงเริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ชายเวสต์คันทรี" (West Country men)[30]
"จักรวรรดิบริติชที่หนึ่ง" (1583–1783)
แก้ใน ค.ศ. 1578 พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 พระราชทานเอกสารสิทธิ์ (patent) แก่ฮัมฟรีย์ กิลเบิร์ต ในการค้นพบและการสำรวจโพ้นทะเล[31] ปีนั้น กิลเบิร์ตเดินเรือมุ่งหมู่เกาะอินเดียตะวันตก โดยเจตนาปล้นสะดมและตั้งอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือ แต่การเดินทางดังกล่าวถูกยกเลิกก่อนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก[32][33] ค.ศ. 1583 กิลเบิร์ตออกเดินทางครั้งที่สอง โดยครั้งนี้ไปเกาะนิวฟันด์แลนด์ ซึ่งเขาอ้างสิทธิท่าเรือให้อังกฤษอย่างเป็นทางการ แม้ยังไม่มีผู้ตั้งถิ่นฐาน กิลเบิร์ตเสียชีวิตขณะเดินทางกลับอังกฤษ และน้องชายต่างมารดา วอลเทอร์ ราเลห์ สืบหน้าที่ต่อ เขาได้รับพระราชทานเอกสารสิทธิ์ของเขาเองจากพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ใน ค.ศ. 1584 ในปีเดียวกัน เขาก่อตั้งอาณานิคมโรอาโนคบนชายฝั่งรัฐนอร์ทแคโรไลนาในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากขาดแคลนเสบียง[34]
ใน ค.ศ. 1603 พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ทรงสืบราชบัลลังก์อังกฤษต่อมา และใน ค.ศ. 1604 ทรงเจรจาสนธิสัญญาลอนดอน ซึ่งยุติความบาดหมางกับสเปน หลังการสงบศึกกับคู่แข่งหลัก ความสนใจของอังกฤษเปลี่ยนจากการหาผลประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางอาณานิคมของชาติอื่นมาเป็นธุระการก่อตั้งอาณานิคมโพ้นทะเลของตนเอง[35] จักรวรรดิบริติชเริ่มเป็นรูปร่างขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ด้วยนิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือและหมู่เกาะเล็ก ๆ แถบแคริบเบียน ตลอดจนการจัดตั้งบริษัทเอกชน ซึ่งที่เลื่องชื่อที่สุดคือ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เพื่อบริหารอาณานิคมและการค้าโพ้นทะเล ในช่วงนี้จนถึงการเสียสิบสามอาณานิคมหลังสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักประวัติศาสตร์บางคนต่อมาเรียก "จักรวรรดิบริติชที่หนึ่ง"[36]
ทวีปอเมริกา แอฟริกา และการค้าทาส
แก้ทีแรกแคริบเบียนเป็นอาณานิคมที่สำคัญและให้กำไรมากที่สุดของอังกฤษ[37] แต่ก่อนหน้านั้นการยึดเป็นอาณานิคมล้มเหลวหลายครั้ง ความพยายามตั้งอาณานิคมในกิอานาเมื่อ ค.ศ. 1604 อยู่ได้เพียงสองปี และไม่ประสบความสำเร็จวัตถุประสงค์หลักในการหาแหล่งแร่ทองคำ[38] อาณานิคมในเซนต์ลูเชีย (ค.ศ. 1605) และเกรนาดา (ค.ศ. 1609) ถูกล้มเลิกอย่างรวดเร็ว แต่มีการตั้งนิคมสำเร็จในเซนต์คิตส์ (ค.ศ. 1624) บาร์เบโดส (ค.ศ. 1627) และเนวิส (ค.ศ. 1628) [39] ไม่ช้าอาณานิคมก็รับเอาระบบการปลูกน้ำตาลที่ชาวโปรตุเกสใช้อย่างได้ผลในบราซิล ซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานทาส และเรือสินค้าดัตช์ในตอนแรก เพื่อขายทาสและซื้อน้ำตาล[40] เพื่อรับประกันให้กำไรงามที่เพิ่มขึ้นจากการค้านี้อยู่ในมืออังกฤษ รัฐสภาจึงออกพระราชกฤษฎีกาใน ค.ศ. 1651 ว่าให้เรือสินค้าอังกฤษเท่านั้นที่สามารถค้าขายในอาณานิคมอังกฤษได้ เหตุนี้นำไปสู่ความเป็นปรปักษ์กับสหจังหวัดดัตช์ คือ ชุดสงครามอังกฤษ-ดัตช์ ซึ่งสุดท้ายทำให้ฐานะของอังกฤษในทวีปอเมริกาแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่ดัตช์อ่อนแอลง[41] ใน ค.ศ. 1655 อังกฤษผนวกจาเมกาจากสเปนและใน ค.ศ. 1656 ก็ยึดบาฮามาสเป็นอาณานิคมได้สำเร็จ[42]
นิคมถาวรแห่งแรกของอังกฤษในทวีปอเมริกาก่อตั้งใน ค.ศ. 1607 ณ เจมส์ทาวน์ นำโดยกัปตันจอห์น สมิธ และมีบริษัทเวอร์จิเนียจัดการ มีการตั้งถิ่นฐานบนเบอร์มิวดาและอังกฤษอ้างสิทธิ์หลังเรือธงของบริษัทเวอร์จิเนียล่มที่นั่นใน ค.ศ. 1609 และใน ค.ศ. 1615 ถูกมอบให้บริษัทหมู่เกาะซอเมอส์ (Somers Isles Company) ที่เพิ่งตั้ง[43] กฎบัตรของบริษัทเวอร์จิเนียถูกเพิกถอนใน ค.ศ. 1624 และพระมหากษัตริย์เข้าควบคุมเวอร์จิเนียโดยตรง จึงตั้งเป็นอาณานิคมเวอร์จิเนีย[44] ส่วนบริษัทลอนดอนและบริสตอลตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1610 มุ่งก่อตั้งนิคมถาวรบนเกาะนิวฟันด์แลนด์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก[45] ใน ค.ศ. 1620 มีการตั้งอาณานิคมพลีมัธเป็นที่พำนักแก่พวกแบ่งแยกศาสนากลุ่มเพียวริตัน ซึ่งต่อมาเรียกว่า พิลกริม (Pilgrim)[46] การหลบหนีจากการเบียดเบียนทางศาสนาจะเป็นแรงกระตุ้นให้เหล่าว่าที่ชาวอาณานิคมอังกฤษหลายคนเสี่ยงกับการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอันยากเข็ญ กล่าวคือ อาณานิคมแมรีแลนด์ถูกตั้งเป็นที่พำนักแก่นิกายโรมันคาทอลิก (ค.ศ. 1634) อาณานิคมโรดไอส์แลนด์ (ค.ศ. 1636) เป็นอาณานิคมที่ยอมรับทุกศาสนา และอาณานิคมคอนเน็กติกัต (ค.ศ. 1639) สำหรับนิกายคอนเกรเกชันนอลลิสต์ มณฑลแคโรไลนาตั้งใน ค.ศ. 1663 หลังฟอร์ทอัมสเตอร์ดัมยอมจำนนใน ค.ศ. 1664 อังกฤษควบคุมอาณานิคมนิวเนเธอร์แลนด์ของดัตช์ และเปลี่ยนชื่อเป็นนิวยอร์ก การควบคุมดังกล่าวมีการทำให้เป็นทางการในการเจรจาให้หลังสงครามอังกฤษ-ดัตช์ครั้งที่สอง เพื่อแลกเปลี่ยนกับซูรินาม[47] และใน ค.ศ. 1681 วิลเลียม เพนน์ก่อตั้งอาณานิคมเพนซิลเวเนีย อาณานิคมบนทวีปอเมริกาประสบความสำเร็จทางการเงินน้อยกว่าในแคริบเบียน แต่อาณานิคมเหล่านี้มีพื้นที่เกษตรกรรมดีขนาดใหญ่ และดึงดูดผู้ย้ายถิ่นออกชาวอังกฤษซึ่งชื่นชอบภูมิอากาศอบอุ่นของอาณานิคมเหล่านี้[48]
ใน ค.ศ. 1670 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บริษัทอ่าวฮัดสัน โดยให้บริษัทผูกขาดการค้าขนสัตว์ในดินแดนซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า รูเพิตส์แลนด์ ซึ่งต่อมากลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศในเครือจักรภพแคนาดา บริษัทอ่าวฮัดสันตั้งค่ายทหารและสถานีการค้าซึ่งบ่อยครั้งตกเป็นเป้าการโจมตีของฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอาณานิคมค้าขนสัตว์ของตนในนิวฟรานซ์ที่อยู่ใกล้เคียง[49]
อีกสองปีต่อมา มีการสถาปนาบริษัทรอยัลแอฟริกันโดยได้รับพระราชทานสิทธิ์จากพระเจ้าชาร์ลส์ให้ผูกขาดการค้าเพื่อจัดหาทาสให้อาณานิคมบริติชในแคริบเบียน[50] จากแรกเริ่ม ทาสถือเป็นรากฐานของจักรวรรดิบริติชในอินเดียตะวันตก จนการยกเลิกการค้าทาสใน ค.ศ. 1807 บริเตนเป็นผู้ขนส่งทาสชาวแอฟริกันกว่า 3.5 ล้านคนไปทวีปอเมริกา คิดเป็นหนึ่งในสามของทาสทั้งหมดที่ถูกขนส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก[51] เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้านี้ จึงมีการตั้งค่ายทหารตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก อย่างเช่น เกาะเจมส์, อักกรา และเกาะบันซ์ ในบริติชแคริบเบียน ร้อยละของประชากรผิวดำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ใน ค.ศ. 1650 เป็นราวร้อยละ 80 ใน ค.ศ. 1780 และในสิบสามอาณานิคม อัตราส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 40 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ส่วนใหญ่ในอาณานิคมตอนใต้) [52] สำหรับนักค้าทาส การค้าสร้างกำไรมหาศาล และกลายเป็นหลักสำคัญทางเศรษฐกิจใหญ่สำหรับนครบริเตนทางตะวันตก อย่างเช่น บริสตอลและลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นมุมที่สามของการค้าสามเหลี่ยมกับทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกา สำหรับผู้ที่ถูกขนส่ง สภาพรุนแรงและไม่มีสุขอนามัยบนเรือทาสและอาหารเลว ทำให้อัตราการเสียชีวิตระหว่างการเดินทางเฉลี่ยมีมากถึง 1 ใน 7[53]
ใน ค.ศ. 1695 รัฐสภาสกอตแลนด์ให้กฎบัตรแก่บริษัทสกอตแลนด์ ซึ่งตั้งนิคมใน ค.ศ. 1698 บนคอคอดปานามา อาณานิคมถูกแวดล้อมโดยชาวอาณานิคมสเปนเพื่อนบ้าน นิวกรานาดา และมีโรคมาลาเรีย อาณานิคมจึงถูกละทิ้งในอีกสองปีต่อมา แผนดาเรียนถือเป็นหายนะทางการเงินสำหรับสกอตแลนด์ โดยทุนหนึ่งในสี่ของสกอตแลนด์เสียไปในวิสาหกิจดังกล่าว[54] และยุติความหวังของสกอตแลนด์ที่จะก่อตั้งจักรวรรดิอาณานิคมโพ้นทะเลของตัวอย่างสิ้นเชิง กรณีดังกล่าวยังมีผลกระทบทางการเมืองสำคัญ โดยชวนให้รัฐบาลของทั้งอังกฤษและสกอตแลนด์เห็นประโยชน์ของสหภาพของสองประเทศ มากกว่ามีพระมหากษัตริย์ร่วมกันเท่านั้น[55] การรวมประเทศเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1707 ด้วยพระราชบัญญัติสหภาพ และสถาปนาราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
การแข่งขันกับเนเธอร์แลนด์ในทวีปเอเชีย
แก้ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 อังกฤษและเนเธอร์แลนด์เริ่มท้าทายการผูกขาดการค้ากับทวีปเอเชียของโปรตุเกส โดยก่อตั้งบริษัทร่วมหุ้นเอกชนเพื่อหาเงินสนับสนุนการออกเดินเรือ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษและบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ ได้รับพระบรมราชานุญาตและกฎบัตรใน ค.ศ. 1600 และ 1602 ตามลำดับ เป้าหมายหลักของบริษัทดังกล่าว คือ การเจาะการค้าเครื่องเทศซึ่งกำไรงาม เป็นความพยายามที่มุ่งไปสองภูมิภาคเป็นหลัก คือ กลุ่มเกาะอินเดียตะวันออก และอินเดีย ศูนย์กลางสำคัญในเครือข่ายการค้านี้ ที่นั่น ทั้งสองแข่งครองความเป็นใหญ่ทางการค้ากับโปรตุเกสและระหว่างกัน[56] แม้สุดท้ายอังกฤษจะบดบังเนเธอร์แลนด์ในฐานะมหาอำนาจอาณานิคม แต่ในระยะสั้นระบบการเงินที่ก้าวหน้ากว่าของเนเธอร์แลนด์[57]และสงครามอังกฤษ–ดัตช์สามครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้เนเธอร์แลนด์มีฐานะเข้มแข็งกว่าในทวีปเอเชีย ความเป็นปรปักษ์ยุติหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1688 เมื่อวิลเลียมแห่งออเรนจ์ ชาวดัตช์ ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษ นำมาซี่งสันติภาพระหว่างเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ ข้อตกลงระหว่างชาติทั้งสองให้การค้าเครื่องเทศในกลุ่มเกาะอินเดียตะวันออกเป็นของเนเธอร์แลนด์ และอุตสาหกรรมสิ่งทออินเดียเป็นของอังกฤษ แต่ในไม่ช้า สิ่งทอได้กำไรมากกว่าเรื่องเทศ และในแง่ยอดขายใน ค.ศ. 1720 บริษัทบริติชแซงหน้าบริษัทดัตช์[57]
ความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในระดับโลก
แก้สันติภาพระหว่างอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1688 หมายความว่าทั้งสองประเทศเข้าสู่สงครามเก้าปีโดยเป็นพันธมิตรกัน แต่ความขัดแย้งซึ่งปะทุในทวีปยุโรปและดินแดนโพ้นทะเลระหว่างฝรั่งเศส สเปน และพันธมิตรอังกฤษ-ดัตช์ ทำให้อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมที่แข็งแกร่งกว่าดัตช์ ซึ่งถูกบีบให้ทุ่มงบประมาณทางทหารในสงครามทางบกราคาแพงในทวีปยุโรป[58] ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษก้าวเป็นอำนาจอาณานิคมของโลกอย่างเด็ดขาด และฝรั่งเศสกำลังจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญในเวทีจักรวรรดิ[59]
การสวรรคตของพระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปน ใน ค.ศ. 1700 และพินัยกรรมยกสเปนและจักรวรรดิอาณานิคมสเปนให้เฟลีเปแห่งอันจู หลานชายพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส เร่งให้เกิดความหวังในการรวมฝรั่งเศส สเปน และอาณานิคมของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รับไม่ได้สำหรับอังกฤษและอำนาจอื่นในทวีปยุโรป[60] ใน ค.ศ. 1701 อังกฤษ โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์เข้าพวกกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ต่อต้านสเปนและฝรั่งเศสในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนซึ่งกินเวลาถึง ค.ศ. 1714
สงครามยุติลงด้วยสนธิสัญญาอูเทร็คท์ เฟลีเปทรงบอกเลิกสิทธิของพระองค์และผู้สืบสันดานเหนือราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและสเปนเสียจักรวรรดิในทวีปยุโรป[61] ดินแดนของจักรวรรดิบริติชขยาย บริเตนได้นิวฟันด์แลนด์และอคาเดียจากฝรั่งเศส และยิบรอลตาร์และไมนอร์กาจากสเปน ยิบรอลตาร์กลายมาเป็นฐานทัพเรือสำคัญยิ่ง และให้บริเตนควบคุมจุดเข้าและออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่แอตแลนติก สเปนยังมอบสิทธิ์อาเซย์นโต (การอนุญาตให้ขายทาสในอเมริกาเหนือของสเปน) กำไรงามแก่บริเตน[62]
ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีความขัดแย้งทางทหารอุบัติหลายครั้งในอนุทวีปอินเดีย สงครามคาร์แนติก บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (บริษัท) และบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสต่อสู้ร่วมกันผู้ปกครองท้องถิ่นเพื่อเติมสุญญากาศที่เกิดหลังจักรวรรดิโมกุลเสื่อมอำนาจ ยุทธการที่ปลาศีใน ค.ศ. 1757 ซึ่งฝ่ายบริเตน นำโดย รอเบิร์ต คลีฟ พิชิตนาวาบแห่งเบงกอลและพันธมิตรชาวฝรั่งเศส ทำให้บริษัทควบคุมเบงกอลและเป็นประเทศทางทหารและการเมืองสำคัญในอินเดีย[63] ฝรั่งเศสเหลือการควบคุมดินแดนแทรกแต่ด้วยการจำกัดทางทหารและพันธะให้สนับสนุนรัฐบริวารของบริเตน ยุติความหวังของฝรั่งเศสในการควบคุมอินเดีย[64] ในหลายทศวรรษให้หลังบริษัทค่อย ๆ เพิ่มขนาดของดินแดนที่อยู่ในการควบคุม ไม่ว่าปกครองโดยตรงหรือผ่านทางผู้ปกครองท้องถิ่นภายใต้การขู่ใช้กำลังจากกองทัพบริติชอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยซีปอยอินเดีย[65]
การสู้รบระหว่างบริเตนและฝรั่งเศสในอินเดียกลายเป็นยุทธบริเวณหนึ่งของสงครามเจ็ดปี (1756–1763) ที่แผ่ไปทั่วโลก สงครามนี้เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส บริเตนและมหาอำนาจยุโรปอื่น การลงนามสนธิสัญญาปารีสมีผลกระทบสำคัญต่ออนาคตของจักรวรรดิบริติช ในทวีปอเมริกาเหนือ อนาคตของฝรั่งเศสในการเป็นเจ้าอาณานิคมจบลงอย่างสิ้นเชิงด้วยการรับรองการอ้างสิทธิ์ของบริเตนเหนือดินแดนรูเพิร์ต[49] และการยกนิวฟรานซ์ให้บริเตน (ทำให้ประชากรพูดภาษาฝรั่งเศสจำนวนมากอยู่ในการปกครองของอังกฤษ) และลุยส์เซียนาให้สเปน สเปนยกฟลอริดาให้บริเตน ร่วมกับชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในอินเดีย สงครามเจ็ดปีทำให้บริเตนเป็นมหาอำนาจทางทะเลที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก[66]
การเสียสิบสามอาณานิคม
แก้ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1760 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1770 ความสัมพันธ์ระหว่างสิบสามอาณานิคมและอังกฤษตึงเครียดมากขึ้น หลัก ๆ เนื่องจากความไม่พอใจต่อความพยายามของรัฐสภาบริติชในการปกครองและเก็บภาษีผู้อยู่ในนิคมอเมริกันโดยปราศจากความยินยอมของพวกเขา[67] ในเวลานั้น มีการสรุปเป็นคำขวัญว่า "ไม่จ่ายภาษีหากไม่มีผู้แทน" โดยมองว่าเป็นการฝ่าฝืนสิทธิชาวอังกฤษที่ได้รับประกัน การปฏิวัติอเมริกาเริ่มต้นจากการปฏิเสธอำนาจของรัฐสภาและการเคลื่อนไหวสู่การปกครองตนเอง บริเตนสนองโดยส่งทหารมาบังคับการปกครองโดยตรง ทำให้สงครามอุบัติใน ค.ศ. 1775 ในปีต่อมา สหรัฐประกาศอิสรภาพ การเข้าสู่สงครามของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1778 ทำให้ดุลทหารเข้าข้างฝ่ายอเมริกาและหลังความปราชัยเด็ดขาดที่ยอร์กทาวน์ใน ค.ศ. 1781 บริเตนเริ่มเจรจาเงื่อนไขสันติภาพ เอกราชของอเมริกาได้รับการรับรองในสนธิสัญญาสันติภาพปารีสใน ค.ศ. 1783[68]
นักประวัติศาสตร์มองว่าการเสียดินแดนกว้างใหญ่ของบริติชอเมริกา ซึ่งเป็นอาณานิคมโพ้นทะเลซึ่งมีประชากรมากที่สุดของบริเตนในเวลานั้น เป็นเหตุการณ์ซึ่งนิยามการเปลี่ยนผ่านระหว่างจักรวรรดิ "ที่หนึ่ง" และ "ที่สอง"[69] ซึ่งบริเตนหันความสนใจจากทวีปอเมริกาไปทวีปเอเชีย มหาสมุทรแปซิฟิก และทวีปแอฟริกาในภายหลัง ความมั่งคั่งของประชาชาติ ของอดัม สมิธ ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1776 โต้แย้งว่าอาณานิคมนั้นมีมากเกินไป และควรนำระบบการค้าเสรีมาแทนนโยบายพาณิชยนิยมแบบเก่า อันเป็นลักษณะของการขยายอาณานิคมในช่วงแรกซึ่งย้อนไปถึงลัทธิคุ้มครองของสเปนและโปรตุเกส[66][70] การเติบโตของการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชกับบริเตนหลัง ค.ศ. 1783 ดูเหมือนยืนยันมุมมองของสมิธที่ว่าการควบคุมทางการเมืองไม่จำเป็นต่อความสำเร็จในทางเศรษฐกิจ[71][72]
เหตุการณ์ในอเมริกามีอิทธิพลต่อนโยบายของบริเตนในแคนาดา ที่ซึ่งพวกลอยัลลิสต์ที่แพ้สงครามจำนวนระหว่าง 40,000 ถึง 100,000 คน[73] อพยพจากอเมริกาหลังอิสรภาพ ลอยัลลิสต์ 14,000 คนผู้ซึ่งไปแม่น้ำเซนต์จอห์นซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโนวาสโกเทียรู้สึกว่าอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลจังหวัดในฮาลิแฟกซ์ ฉะนั้นรัฐบาลบริติชจึงแบ่งนิวบรันสวิกเป็นอาณานิคมต่างหากใน ค.ศ. 1784[74] พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ตั้งมณฑลอัปเปอร์แคนาดา (ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษ) และโลว์เออร์แคนาดา (ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศส) เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศส และนำรูปแบบการปกครองซึ่งคล้ายกับรูปแบบซึ่งใช้ในอังกฤษมาใช้ โดยเจตนาแสดงอำนาจของจักรวรรดิและไม่อนุญาตการควบคุมการปกครองของปวงชนอย่างที่ถูกมองว่านำไปสู่การปฏิวัติอเมริกา[75]
ความตึงเครียดระหว่าบริเตนและสหรัฐเพิ่มขึ้นอีกครั้งระหว่างสงครามนโปเลียน บริเตนพยายามตัดการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศส และส่งคนขึ้นเรืออเมริกันเพื่อเกณฑ์ลูกเรือเข้าราชนาวี สหรัฐอเมริกาประกาศสงคราม สงคราม ค.ศ. 1812 และบุกครองดินแดนแคนาดาขณะบริเตนบุกครองดินแดนอเมริกา แต่ดินแดนก่อนสงครามได้รับการยืนยันอีกในสนธิสัญญาเก้นท์ ค.ศ. 1814 รับประกันว่าอนาคตของแคนาดาจะแยกจากสหรัฐ[76][77]
ความรุ่งเรืองของ "จักรวรรดิบริติชที่สอง" (1783–1815)
แก้การสำรวจแปซิฟิก
แก้นับแต่ ค.ศ. 1718 การขนส่งไปอาณานิคมอเมริกาเป็นการลงโทษสำหรับอาชญากรรมหลายอย่างในบริเตน โดยนักโทษประมาณ 1,000 คนถูกขนส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกต่อปี[78] หลังการเสียสิบสามอาณานิคมใน ค.ศ. 1783 รัฐบาลบริติชถูกบีบให้หาที่ใหม่ และหันไปดินแดนออสเตรเลียซึ่งเพิ่งค้นพบ[79] ชาวยุโรปเคยสำรวจชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียแล้ว โดยนักสำรวจชาวดัตช์ วิลเล็ม เจนซ์ ใน ค.ศ. 1606 และภายหลังบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์เปลี่ยนชื่อเป็นนิวฮอลแลนด์[80] แต่ไม่มีความพยายามยึดเป็นอาณานิคม ใน ค.ศ. 1770 เจมส์ คุกค้นพบชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียระหว่างการเดินเรือเที่ยววิทยาศาสตร์ไปมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ เขาอ้างสิทธิ์ทวีปเป็นของบริเตน และตั้งชื่อว่านิวเซาท์เวลส์[81] ใน ค.ศ. 1778 โจเซฟ แบงส์ นักพฤกษศาสตร์ซึ่งเดินทางไปกับคุก นำเสนอหลักฐานต่อรัฐบาลถึงความเหมาะสมของอ่าวโบตานีในการตั้งทัณฑนิคม และใน ค.ศ. 1787 เรือขนนักโทษเที่ยวแรกก็ออกเดินทาง โดยมาถึงใน ค.ศ. 1788[82] บริเตนดยังส่งนักโทษมายังนิวเซาท์เวลส์เรื่อยมาจน ค.ศ. 1840[83] อาณานิคมออสเตรเลียกลายเป็นผู้ส่งออกขนสัตว์และทองคำซึ่งมีรายได้มหาศาล[84] หลัก ๆ เพราะการตื่นทองในอาณานิคมวิกตอเรียทำให้เมืองหลวงเมลเบิร์นเป็นเมืองที่รวยที่สุดในโลก[85] และนครใหญ่สุดในจักรวรรดิบริติชรองจากกรุงลอนดอน[86]
ระหว่างการเดินทางของเขา คุกยังเดินทางไปนิวซีแลนด์ ซึ่งนักสำรวจชาวดัตช์ แอเบล แทสมัน ค้นพบครั้งแรกใน ค.ศ. 1642 และอ้างสิทธิ์ทั้งเกาะเหนือและเกาะใต้ให้เป็นของพระมหากษัตริย์บริติชใน ค.ศ. 1769 และ ค.ศ. 1770 ตามลำดับ เดิมทีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชากรชนพื้นเมืองมาวรีและชาวยุโรปจำกัดอยู่เพียงการค้าสินค้าเท่านั้น นิคมชาวยุโรปได้ขยายตัวในทศวรรษแรก ๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีการตั้งสถานีการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะเหนือ ใน ค.ศ. 1839 บริษัทนิวซีแลนด์ประกาศแผนซื้อที่ดินขนาดใหญ่และสถาปนาอาณานิคมในนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1840 กัปตันวิลเลียม ฮอบสันและหัวหน้าชนเผ่ามาวรีอีกราว 40 คนลงนามสนธิสัญญาไวทังกิ[87] คนส่วนใหญ่ถือว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารก่อตั้งนิวซีแลนด์[88] แต่การตีความที่แตกต่างกันของข้อความฉบับภาษามาวรีและภาษาอังกฤษ[89] หมายความว่ามันจะยังเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งต่อไป[90]
สงครามกับฝรั่งเศสสมัยนโปเลียน
แก้บริเตนถูกท้าทายอีกหนหนึ่งโดยฝรั่งเศสสมัยนโปเลียน ในการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกับสงครามครั้งที่ผ่านมา โดยมีลักษณะการประชันอุดมการณ์ระหว่างสองชาติ[91] ไม่เพียงฐานะของบริเตนในเวทีโลกเท่านั้นที่ถูกคุกคาม นโปเลียนยังคุกคามจะบุกครองเกาะบริเตนเลยทีเดียว เมื่อกองทัพของเขายึดครองหลายประเทศในยุโรปภาคพื้นทวีปเวลานั้น
ฉะนั้นสงครามนโปเลียนจึงเป็นสงครามที่บริเตนลงทุนและทุ่มทรัพยากรมหาศาลเพื่อเอาชนะ เมืองท่าของฝรั่งเศสถูกราชนาวีปิดล้อม ซึ่งชนะกองทัพเรือฝรั่งเศส-สเปนที่ทรากัลฟาร์อย่างเด็ดขาดใน ค.ศ. 1805 อาณานิคมโพ้นทะเลถูกโจมตีและถูกยึดครอง รวมถึงอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนโปเลียนผนวกใน ค.ศ. 1810 สุดท้ายฝรั่งเศสปราชัยต่อกองทัพผสมยุโรปใน ค.ศ. 1815[92] บริเตนได้รับผลประโยชน์จากสนธิสัญญาสันติภาพหลายฉบับอีกครั้ง คือ ฝรั่งเศสยกหมู่เกาะไอโอเนียน มอลตา (ซึ่งถูกยึดครองใน ค.ศ. 1797 และ 1798 ตามลำดับ) เซเชลส์ มอริเชียส เซนต์ลูเชีย และโตบาโก สเปนยกตรินิแดด เนเธอร์แลนด์เกียนาและอาณานิคมเคป บริเตนคืนกัวเดอลุป มาร์ตีนิก โกรี เฟรนช์เกียนา และเรอูว์นียงให้ฝรั่งเศส รวมทั้งคืนเกาะชวาและซูรินามให้แก่เนเธอร์แลนด์ ขณะที่ได้ควบคุมซีลอน (ค.ศ. 1795–1815)[93]
การเลิกทาส
แก้ด้วยการสนับสนุนจากขบวนการผู้รณรงค์ให้เลิกทาสชาวบริติช รัฐสภาตราพระราชบัญญัติการค้าทาสใน ค.ศ. 1807 ซึ่งเลิกการค้าทาสในจักรวรรดิ ใน ค.ศ. 1808 เซียร์ราลีโอนได้รับประกาศให้เป็นอาณานิคมบริติชอย่างเป็นทางการสำหรับทาสผู้เป็นไท[94] พระราชบัญญัติเลิกทาสผ่านใน ค.ศ. 1833 เลิกทาสในจักรวรรดิบริติชในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1834 (โดยยกเว้นเซนต์เฮเลนา ซีลอนและดินแดนที่บริษัทอินเดียตะวันออกบริหาร แม้ข้อยกเว้นเหล่านี้ถูกยกเลิกภายหลังเช่นกัน) ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว ทาสได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระสมบูรณ์หลัง "การเป็นลูกมือฝึกหัด" ระยะ 4 ถึง 6 ปี[95]
ศตวรรษแห่งจักรวรรดิของบริเตน (1815–1914)
แก้ระหว่าง ค.ศ. 1815 และ ค.ศ. 1914 เป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์บางส่วนเรียกว่า "ศตวรรษแห่งจักรวรรดิ" ของบริเตน[96][97] โดยพื้นที่ราว 26,000,000 ตารางกิโลเมตร และประชากรราว 400 ล้านคนเพิ่มเข้าจักรวรรดิบริติช[98] ชัยชนะเหนือนโปเลียนทำให้บริเตนไม่มีคู่แข่งในระดับนานาชาติที่สำคัญ นอกจากรัสเซียในเอเชียกลาง[99] บริเตนไร้ผู้คัดค้านในทะเล และรับดำเนินบทบาทของตำรวจโลก เป็นสภาพซึ่งต่อมาเรียกว่า สันติภาพบริเตน[8] และนโยบายต่างประเทศ "การโดดเดี่ยวอย่างสง่างาม"[100] พร้อม ๆ กับความพยายามใช้การควบคุมอย่างเป็นทางหารเหนืออาณานิคมของตน ฐานะของบริเตนซึ่งครอบงำการค้าโลกอยู่นั้น หมายความว่า บริเตนสามารถควบคุมเศรษฐกิจของหลายประเทศได้ชะงัด อาทิ จีน อาร์เจนตินา และสยาม ซึ่งเป็นลักษณะที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า "จักรวรรดิไม่เป็นทางการ"[101][102]
ความแข็งแกร่งของจักรวรรดิบริติชได้รับการส่งเสริมจากเรือไอน้ำและโทรเลข เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้จักรวรรดิบริติชสามารถควบคุมและป้องกันจักรวรรดิได้ ใน ค.ศ. 1902 จักรวรรดิบริติชเชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยสายโทรเลข ซึ่งเรียกว่า "ออลเรดไลน์"[103]
บริษัทอินเดียตะวันออกในอินเดีย
แก้บริษัทอินเดียตะวันออกขับเคลื่อนการขยายของจักรวรรดิบริติชในทวีปเอเชีย กองทัพของบริษัทเข้าร่วมกับราชนาวีระหว่างสงครามเจ็ดปีก่อน และทั้งสองกองทัพยังร่วมมือในสมรภูมิอื่นนอกเหนือจากอินเดีย ได้แก่ การขับไล่นโปเลียนออกจากอียิปต์ (ค.ศ. 1799) การยึดเกาะชวาจากเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1811) การเข้าควบคุมสิงคโปร์ (ค.ศ. 1819) และมะละกา (ค.ศ. 1824) และการพิชิตพม่า (ค.ศ. 1826)[99]
จากฐานของบริษัทในอินเดีย บริษัทยังค้าส่งออกฝิ่นอันสร้างรายได้เพิ่มขึ้นไปจีนนับแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 การค้าดังกล่าว ซึ่งราชวงศ์ชิงประกาศให้มิชอบด้วยกฎหมายใน ค.ศ. 1729 ช่วยพลิกการขาดดุลการค้าอันเป็นผลมาจากการนำเข้าชาของบริเตน โดยมีการไหลออกจากเงินจากบริเตนไปจีนเป็นอันมาก[104] ใน ค.ศ. 1839 การริบฝิ่นกว่า 20,000 ลังที่กวางตุ้งโดยทางการจีน ทำให้บริเตนโจมตีจีนในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง และนำไปสู่การยึดเกาะฮ่องกงของบริเตน ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นนิคมขนาดเล็ก[105]
ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 พระมหากษัตริย์บริติชเริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในกิจการของบริษัท มีการผ่านพระราชบัญญัติหลายฉบับซึ่งรวมพระราชบัญญัติวางระเบียบ ค.ศ. 1773 พระราชบัญญัติอินเดียของพิตต์ ค.ศ. 1784 และพระราชบัญญัติพระบรมราชานุญาต ค.ศ. 1813 ซึ่งวางระเบียบกิจการของบริษัทและสถาปนาอำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์เหนือดินแดนที่บริษัทได้[106] การกบฏอินเดียนำมาซึ่งการสิ้นสุดของบริษัทในท้ายสุด การกบฏอินเดียเป็นความขัดแย้งซึ่งเริ่มจากการก่อการกำเริบของซีปอย ทหารอินเดียซึ่งอยู่ภายใต้นายทหารและระเบียบวินัยของบริเตน[107] การกบฏใช้เวลาปราบปรามหกเดือนโดยทั้งสองฝ่ายเสียเลือดเนื้ออย่างหนัก ปีต่อมา รัฐบาลบริติชยุบบริษัทและเข้าควบคุมอินเดียโดยตรงผ่านพระราชบัญญัติรัฐบาลอินเดีย ค.ศ. 1858 สถาปนาบริติชราช ซึ่งข้าหลวงใหญ่ที่ได้รับแต่งตั้งปกครองอินเดียและพระราชินีนาถวิกตอเรียราชาภิเษกเป็นจักรพรรดินีอินเดีย[108] อินเดียกลายเป็นการครอบครองทรงคุณค่าที่สุดของจักรวรรดิ "เพชรพลอยในมงกุฎ" และเป็นบ่อเกิดความแข็งแกร่งของบริเตนที่สำคัญที่สุด[109]
เหตุพืชผลล่มจมร้ายแรงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นำสู่ทุพภิกขภัยกว้างขวางในอนุทวีปอินเดียซึ่งมีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 15 ล้านคน บริษัทอินเดียตะวันออกไม่สามารถนำนโยบายประสานงานไปปฏิบัติเพื่อรับมือกับทุพภิกขภัยได้เลยระหว่างสมัยการปกครอง ต่อมา ภายใต้การปกครองของบริเตนโดยตรง มีการตั้งคณะกรรมการหลังทุพภิกขภัยแต่ละครั้งเพื่อสืบสวนสาเหตุและนำนโยบายใหม่ไปปฏิบัติ ซึ่งใช้เวลาจนต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 จึงมีผล[110]
การแข่งขันกับรัสเซีย
แก้ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 บริเตนและรัสเซียแข่งกันเพื่อเติมเต็มสุญญากาศแห่งอำนาจหลังจากการเสื่อมถอยของจักรวรรดิออตโตมัน ราชวงศ์กอญัร และราชวงศ์ชิง ความขัดแย้งในยูเรเชียนี้ได้ชื่อว่า "เกมใหญ่"[111] เท่าที่บริเตนเกรง ความปราชัยของเปอร์เซียและตุรกีต่อรัสเซียแสดงความทะเยอทะยานและขีดความสามารถของจักรวรรดิ และสร้างความกลัวในบริเตนว่าจะมีการบุกครองอินเดียทางบก[112] ใน ค.ศ. 1839 บริเตนชิงตัดหน้าโดยการบุกครองอัฟกานิสถาน แต่สงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถานครั้งที่หนึ่งเป็นหายนะสำหรับบริเตน[113]
เมื่อรัสเซียบุกครองบอลข่านของตุรกีใน ค.ศ. 1853 ความกลัวภาวะครอบงำของรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกกลาง ทำให้บริเตนและฝรั่งเศสร่วมกันบุกครองคาบสมุทรไครเมียเพื่อทำลายขีดความสามารถของกองทัพเรือรัสเซีย[113] สงครามไครเมีย (ค.ศ. 1854–1856) ที่เกิดให้หลังซึ่งเกี่ยวข้องกับการสงครามสมัยใหม่[114] และเป็นสงครามระดับโลกครั้งเดียวระหว่างบริเตนและเจ้าจักรวรรดิอื่นระหว่างสันติภาพบริเตน ยุติลงด้วยความปราชัยครั้งใหญ่ของรัสเซีย[113] สถานการณ์ในเอเชียกลางนี้ยังไม่ยุติไปอีกสองทศวรรษ โดยบริเตนผนวกบาโลชิสถานใน ค.ศ. 1876 และรัสเซียผนวกเคอร์กิเซีย คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน ชั่วขณะหนึ่งดูเหมือนว่าจะเลี่ยงสงครามอีกหนหนึ่งไม่ได้นั้น แต่สองประเทศบรรลุความตกลงเรื่องเขตอิทธิพลของสองประเทศในภูมิภาคใน ค.ศ. 1878 และประเด็นที่ค้างอยู่ทั้งหมดใน ค.ศ. 1907 โดยการลงนามความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย[115] การทำลายกองทัพเรือรัสเซียโดยญี่ปุ่นที่ยุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์ระหว่างสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1904-1905 ยังจำกัดภัยคุกคามของกองทัพเรือรัสเซียต่อบริเตน[116]
จากแหลมถึงไคโร
แก้บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ตั้งอาณานิคมเคป ณ ปลายใต้สุดของทวีปแอฟริกาใน ค.ศ. 1652 เป็นสถานีทางผ่านสำหรับเรือดัตช์ในการเดินทางไปและกลับจากอาณานิคมในอินเดียตะวันออก บริเตนได้อาณานิคมดังกล่าวอย่างเป็นทางการรวมทั้งประชากรแอฟริกันเนอร์ (หรือชาวบัวร์) ขนาดใหญ่ใน ค.ศ. 1806 หลังจากยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1795 เพื่อป้องกันมิให้อาณานิคมแห่งนี้ตกอยู่ในมือฝรั่งเศส หลังจากการบุกครองเนเธอร์แลนด์ของฝรั่งเศส[117] การเข้าเมืองของชาวบริติชเริ่มเพิ่มขึ้นหลังจาก ค.ศ. 1820 และผลักดันชาวบัวร์นับพันซึ่งไม่พอใจกับการปกครองของอังกฤษขึ้นไปทางเหนือเพื่อก่อตั้งสาธารณรัฐอิสระปกครองตนเองในช่วงเกรตเทร็ก ปลายคริสต์ทศวรรษ 1830 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1840[118] ระหว่างนั้น วูเทรกเกอส์ปะทะกับชาวบริติชบ่อยครั้ง ซึ่งมีแรงจูงใจของตนเกี่ยวกับการขยายอาณานิคมในแอฟริกาใต้และต่อองค์กรการเมืองแอฟริกาหลายแห่ง รวมถึงชาติโซโทและซูลู สุดท้ายชาวโบร์สถาปนาสาธารณรัฐสองแห่งที่มีอายุยืนยาวกว่าแห่งอื่น ๆ ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้หรือสาธารณรัฐทรานส์วัลล์ (ค.ศ. 1852–1877; 1881–1902) และเสรีรัฐออเรนจ์ (ค.ศ. 1854–1902)[119] ใน ค.ศ. 1902 บริเตนยึดครองทั้งสองสาธารณรัฐ โดยบรรลุสนธิสัญญากับสองสาธารณรัฐบัวร์ให้หลังสงครามบัวร์ครั้งที่สอง (ค.ศ. 1899–1902)[120]
ใน ค.ศ. 1869 คลองสุเอซเปิดภายใต้นโปเลียนที่ 3 ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรอินเดีย เดิมบริเตนต่อต้านคลองสุเอซ[121] แต่เมื่อเปิดแล้ว คุณค่าทางยุทธศาสตร์ของคลองได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและกลายเป็น "หลอดเลือดดำคอของจักรวรรดิ"[122] ใน ค.ศ. 1875 รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมนายกรัฐมนตรีเบนจามิน ดิสราเอลีซื้อหุ้นคลองสุเอซร้อยละ 44 เป็นจำนวนเงิน 4 ล้านปอนด์ (340 ล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2013) จากผู้ปกครองอียิปต์ อิสมาอิล ปาชาซึ่งเป็นหนี้ แม้ว่าจำนวนหุ้นดังกล่าวไม่ได้ทำให้บริเตนได้ควบคุมเส้นทางน้ำยุทธศาสตร์นี้โดยสมบูรณ์ แต่ก็ทำให้บริเตนมีความได้เปรียบ การควบคุมทางการเงินร่วมกันของบริเตนและฝรั่งเศสเหนืออียิปต์ยุติลงเมื่อบริเตนยึดครองโดยสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1882[123] ฝรั่งเศสยังเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากของคลองสุเอซและพยายามทำให้ฐานะของบริเตนอ่อนแอลง[124] แต่มีการบรรลุการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล ค.ศ. 1888 ทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนเป็นกลางอย่างเป็นทางการ[125]
เนื่องจากกิจกรรมของฝรั่งเศส เบลเยียมและโปรตุเกสในภูมิภาคแม่น้ำคองโกตอนล่างบ่อนทำลายการแทรกซึมแอฟริกาเขตร้อนอย่างเป็นระบบ การประชุมเบอร์ลิน ค.ศ. 1884-1885 จัดขึ้นเพื่อวางระเบียบการแข่งขันระหว่างอำนาจยุโรปในสิ่งที่เรียกว่า "ยุคล่าอาณานิคมในแอฟริกา" (Scramble for Africa) โดยนิยาม "การยึดครองอย่างมีประสิทธิภาพ" เป็นเกณฑ์การรับรองของนานาชาติต่อการอ้างสิทธิ์ดินแดน[126] ยุคล่าอาณานิคมดังกล่าวดำเนินไปจนคริสต์ทศวรรษ 1890 และทำให้บริเตนพิจารณาการตัดสินใจของตนใหม่ที่จะถอนตัวออกจากซูดานใน ค.ศ. 1885 กำลังร่วมบริเตนและอียิปต์สามารถพิชิตกองทัพมะซิซต์ใน ค.ศ. 1896 และขัดขวางความพยายามบุกครองฟาโชดาของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1898 ซูดานกลายเป็นดินแดนใต้การปกครองร่วมอังกฤษ-อียิปต์ในนาม แต่ที่จริงเป็นอาณานิคมบริติช[127]
ดินแดนที่บริติชได้ในแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันออกทำให้ซีซิล โรดส์ ผู้บุกเบิกการขยายตัวของบริติชในแอฟริกา กระตุ้นให้สร้างทางรถไฟ "แหลมถึงไคโร" เชื่อมคลองสุเอซอันมีความสำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์กับแอฟริกาใต้ซึ่งอุดมไปด้วยแร่[128] ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1880 และ 1890 โรดส์และบริษัทแอฟริกาใต้ของอังกฤษซึ่งเขาเป็นเจ้าของ ยึดครองและผนวกดินแดนซึ่งต่อมาได้ชื่อตามเขาว่า โรดีเซีย[129]
การเปลี่ยนสถานภาพของอาณานิคมผิวขาว
แก้เส้นทางสู่อิสรภาพของอาณานิคมผิวขาวของจักรวรรดิบริติชเริ่มต้นขึ้นด้วยรายงานดูร์ฮัม ค.ศ. 1839 ซึ่งเสนอการสร้างเอกภาพและการปกครองตนเองสำหรับทั้งอัปเปอร์และโลวเออร์แคนาดา ซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ไขความไม่สงบทางการเมืองในพื้นที่ได้[130] เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นจากการผ่านพระราชบัญญัติสหภาพในปี ค.ศ. 1840 ซึ่งได้ก่อตั้งจังหวัดแคนาดา ได้มีให้สิทธิ์รัฐบาลแห่งความรับผิดชอบแก่โนวาสโกเทียเป็นแห่งแรกในปี ค.ศ. 1848 และได้ขยายไปยังอาณานิคมอเมริกาเหนือของอังกฤษที่เหลืออย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1867 อัปเปอร์และโลวเออร์แคนาดา นิวบรันสวิก และโนวาสโกเทียได้รวมเข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรแคนาดา สมาพันธรัฐแห่งนี้มีสิทธิในการปกครองตนเอง ยกเว้นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น[131] ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้รับระดับการปกครองตนเองระดับเดียวกันหลังจาก ค.ศ. 1900 โดยอาณานิคมออสเตรเลียได้รวมเข้าด้วยกันเป็นสมาพันธรัฐใน ค.ศ. 1901[132] คำว่า "สถานภาพดินแดนในปกครอง" มีที่มาอย่างเป็นทางการจากการประชุมอาณานิคม ค.ศ. 1907 โดยหมายถึงแคนาดา นิวฟันด์แลนด์ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ใน ค.ศ. 1910 อาณานิคมเคป นาทัล ทรานสวัล และเสรีรัฐออเรนจ์ได้ถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับสถานภาพดินแดนในปกครองเช่นเดียวกัน[133]
ทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการรณรงค์ทางการเมืองอย่างพร้อมเพรียงกันของการปกครองตนเองไอริช ไอร์แลนด์ถูกรวมกับสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์โดยพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 หลังจากการกบฏไอริช ค.ศ. 1798 และประสบทุพภิกขภัยรุนแรงระหว่าง ค.ศ. 1845 ถึง 1852 การปกครองตนเองได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร วิลเลียม แกลดสโตน ผู้ซึ่งหวังว่าไอร์แลนด์จะตามรอยของแคนาดาในการเป็นประเทศในเครือจักรภพภายในจักรวรรดิ แต่ร่างกฎหมายปกครองตนเอง ค.ศ. 1886 ของเขาไม่ผ่านรัฐสภา แม้ว่าหากร่างกฎหมาสยนี้ผ่านจะให้อัตตาณัติน้อยลงในสหราชอาณาจักรกว่าที่มณฑลของแคนาดามีในสหพันธรัฐของตน[134] สมาชิกรัฐสภาหลายคนเกรงว่าไอร์แลนด์ที่มีอำนาจอธิปไตยบางส่วนอาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของบริเตนใหญ่หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายจักรวรรดิ[135] กฎหมายปกครองตนเองฉบับที่สองก็พ่ายแพ้ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน[135] กฎหมายปกครองตนเองฉบับที่สามได้ผ่านโดยรัฐสภาในปี ค.ศ. 1914 แต่มิได้นำออกมาบังคับใช้เนื่องจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การก่อการกำเริบอีสเตอร์ใน ค.ศ. 1916[136]
สงครามโลก (1914–1945)
แก้เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความกลัวเริ่มแพร่ขยายขึ้นในหมู่ชาวอังกฤษว่าอังกฤษอาจะไม่สามารถป้องกันเมืองแม่และจักรวรรดิทั้งหมดในขณะเดียวกับการดำเนินนโยบาย "การโดดเดี่ยวอย่างสง่างาม"[137] เยอรมนีได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วในฐานะอำนาจทางการทหารและอุตสาหกรรม และถูกมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นคู่แข่งของอังกฤษในสงครามอนาคต เนื่องจากทราบดีว่าตนถูกบีบให้ทำเกินความสามารถในแปซิฟิก[138] และถูกคุกคามที่แผ่นดินแม่โดยกองทัพเรือเยอรมัน อังกฤษจึงได้ก่อตั้งพันธมิตรกับญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1902 และศัตรูเก่า ได้แก่ ฝรั่งเศสและรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 ตามลำดับ[139]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
แก้มีการตระหนักถึงความกลัวสงครามกับเยอรมนีของบริเตนใน ค.ศ. 1914 ด้วยการอุบัติของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บริเตนบุกครองและยึดครองอาณานิคมโพ้นทะเลในทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่ของเยอรมนี ในมหาสมุทรแปซิฟิก ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยึดครองเยอรมันนิวกินีและซามัวตามลำดับ มีการร่างแผนสำหรับการแบ่งจักรวรรดิออตโตมันหลังสงครามซึ่งเข้าฝ่ายกับเยอรมนีอย่างลับ ๆ โดยบริเตนและฝรั่งเศสหลังความตกลงไซคส์–ปิโก ค.ศ. 1916 ความตกลงนี้มิได้เปิดเผยแก่ชาริฟเมกกะที่บริเตนส่งเสริมให้เปิดฉากการก่อการกำเริบต่อผู้ปกครองออตโตมันของตน ทำให้มีภาพลักษณ์ว่าบริเตนกำลังสนับสนุนการสถาปนารัฐอาหรับอิสระ[140]
การประกาศสงครามต่อเยอรมนีและพันธมิตรยังผูกมัดอาณานิคมและประเทศในเครือจักรภพด้วย ซึ่งให้การสนับสนุนทางทหาร การเงิน และวัตถุดิบอย่างหาค่ามิได้ มีทหารกว่า 2.5 ล้านนายรับราชการในกองทัพประเทศในเครือจักรภพทั้งหมด เช่นเดียวกับอาสาสมัครหลายพันคนจากคราวน์โคโลนี[141] การมีส่วนร่วมของกำลังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ระหว่างการทัพกัลลิโปลี ค.ศ. 1915 ต่อจักรวรรดิออตโตมันส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสำนึกแห่งชาติที่ประเทศแม่ และเป็นจุดต้นกำเนิดของการเปลี่ยนผ่านของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จากอาณานิคมเป็นชาติซึ่งมีสิทธิ์ของตน ทั้งสองประเทศยังจัดพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันแอนแซก ชาวแคนาดามองว่ายุทธการที่เนินไวมีในทำนองเดียวกัน[142] การมีส่วนร่วมอย่างสำคัญของประเทศในเครือจักรภพในความพยายามสงครามได้รับการรับรองใน ค.ศ. 1917 โดยนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด ลอยด์ จอร์จ เมื่อเขาเชิญนายกรัฐมนตรีของประเทศในเครือจักภพเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีสงครามจักรวรรดิเพื่อประสานงานนโยบายจักรวรรดิ[143]
ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งลงนามใน ค.ศ. 1919 จักรวรรดิบริติชขยายตัวกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด เมื่อได้ดินแดนเพิ่มเข้ามาอีก 4,700,000 ตารางกิโลเมตร และประชากรเพิ่มขึ้นอีก 13 ล้านคน[144] อาณานิคมของเยอรมนีและจักรวรรดิออตโตมันถูกแจกจ่ายให้กับอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอาณัติสันนิบาติชาติ บริเตนได้ควบคุมปาเลสไตน์ ทรานสจอร์แดน อิรัก บางส่วนของแคเมอรูนและโตโก และแทนกานยิกา ประเทศในเครือจักรภพเองก็ได้อาณัติของตนเองเช่นกัน คือ สหภาพแอฟริกาใต้ได้แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (ปัจจุบัน คือ นามิเบีย) ออสเตรเลียได้เยอรมันนิวกินี นิวซีแลนด์ได้เวสเทิร์นซามัว นาอูรูก็เป็นอาณัติร่วมของบริเตนและสองประเทศในเครือจักรภพแปซิฟิก[145]
สมัยระหว่างสงคราม
แก้ระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงที่นำพามาโดยสงคราม โดยเฉพาะการเติบโตของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจทางทะเล และความเจริญของขบวนการเรียกร้องเอกราชในอินเดียและไอร์แลนด์ ทำให้มีการประเมินนโยบายจักรวรรดิบริติชใหม่ครั้งสำคัญ[146] อังกฤษถูกบีบให้เลือกระหว่างปรับแนวกับสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น อังกฤษเลือกไม่ต่ออายุพันธมิตรกับญี่ปุ่นและลงนามในสนธิสัญญานาวิกวอชิงตัน ค.ศ. 1922 แทน ซึ่งอังกฤษยอมรับความเสมอกันทางนาวิกกับสหรัฐอเริกา[147] การตัดสินใจนี้เป็นที่มาของการโต้เถียงอย่างมากในอังกฤษระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1930[148] เพราะรัฐบาลนิยมทหารถือการช่วยเหลือญี่ปุ่นและเยอรมนีบางส่วนโดยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เพราะเกรงว่าจักรวรรดิไม่สามารถอยู่รอดจากการโจมตีพร้อมกันของทั้งสองประเทศได้[149] แม้ประเด็นความมั่นคงของจักรวรรดิเป็นความกังวลใหญ่หลวงในอังกฤษ แต่ขณะเดียวกันจักรวรรดิก็สำคัญต่อเศรษฐกิจอังกฤษเช่นกัน[150]
ใน ค.ศ. 1919 ความขัดข้องอันเกิดจากความล่าช้าต่อสมาชิกพรรคซินน์เฟน พรรคนิยมเอกราชที่ได้รับเสียงข้างมากในที่นั่งไอร์แลนด์ในเวสต์มินสเตอร์ในการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษ ค.ศ. 1918 ผู้นำขบวนการปกครองตนเองของไอร์แลนด์ (Irish home rule) ในการจัดตั้งสมัชชาไอร์แลนด์ในดับลิน ที่ซึ่งมีการประกาศเอกราชของไอร์แลนด์ พร้อมกันนั้น กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์เริ่มสงครามกองโจรต่อรัฐบาลอังกฤษ[151] สงครามอังกฤษ-ไอร์แลนด์สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1921 ด้วยการคุมเชิงกันอยู่ และการลงนามสนธิสัญญาอังกฤษ-ไอร์แลนด์ สถาปนารัฐอิสระไอร์แลนด์ ประเทศในเครือจักรภพในจักรวรรดิอังกฤษ โดยเอกราชภายในมีผลแต่ยังเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์อังกฤษในทางรัฐธรรมนูญ[152] ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งประกอบด้วย เทศมณฑล 6 จาก 32 แห่งของไอร์แลนด์ ซึ่งได้ถูกสถาปนาเป็นภูมิภาคที่ได้รับถ่ายโอนอำนาจ (devolved region) ภายใต้พระราชบัญญัติรัฐบาลไอร์แลนด์ ค.ศ. 1920 ซึ่งใช้ทางเลือกของตนภายใต้สนธิสัญญาทันทีเพื่อคงสถานภาพที่มีอยู่ในสหราชอาณาจักร[153]
การต่อสู้คล้ายกันเริ่มในประเทศอินเดียเมื่อพระราชบัญญัติรัฐบาลอินเดีย ค.ศ. 1919 ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องเอกราช[154] ความกังวลต่อแผนคอมมิวนิสต์และต่างชาติให้หลังกบฏกาดาร์ (Ghadar Mutiny) รับรองว่าโครงสร้างยามสงครามถูกรื้อฟื้นโดยพระราชบัญญัติโรว์ลัตต์ (Rowlatt Acts) ซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียด[155] โดยเฉพาะในภูมิภาคปัญจาบ ซึ่งมาตรการกดขี่ลงเอยด้วยการสังหารหมู่อมฤตสาร์ (Amritsar Massacre) ในบริเตน ความเห็นสาธารณะแตกออกในเรื่องศีลธรรมของเหตุการณ์ดังกล่าว ระหว่างผู้ที่มองว่าเป็นการช่วยอินเดียให้พ้นจากอนาธิปไตย และผู้ที่มองอย่างแขยง[155] มีการเลื่อนขบวนการไม่ร่วมมือต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1922 หลังเหตุการณ์เชารีเชารา (Chauri Chaura incident) และความไม่พอใจคุกรุ่นอยู่อีก 25 ปีจากนี้ไป[156]
ใน ค.ศ. 1922 อียิปต์ ซึ่งถูกประกาศเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติ ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการ แม้ยังเป็นรัฐบริวารของอังกฤษต่อไปจน ค.ศ. 1954 ทหารอังกฤษยังประจำอยู่ในประเทศอียิปต์กระทั่งการลงนามสนธิสัญญาอังกฤษ-อียิปต์ใน ค.ศ. 1936[157] ซึ่งในสนธิสัญญา ทั้งสองตกลงว่า จะถอนทหารแต่ยังยึดครองและป้องกันเขตคลองสุเอซ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน อียิปต์ได้รับสนับสนุนให้เข้าร่วมสันนิบาตชาติ[158] ประเทศอิรัก อาณัติของอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. 1920 ยังได้สมาชิกภาพสันนิบาตชาติในสิทธิของตนหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ. 1932[159] ในปาเลสไตน์ อังกฤษประสบปัญหาการไกล่เกลี่ยระหว่างชุมชนอาหรับและยิว ในปฏิญญาแบลฟะ (Balfour Declaration) ค.ศ. 1917 ซึ่งถูกรวมอยู่ในเงื่อนไขอาณัติด้วย แถลงว่า จะสถาปนาบ้านชนชาติสำหรับชาวยิวในปาเลสไตน์ และอนุญาตการเข้าเมืองของชาวยิวถึงขีดจำกัดซึ่งจะตัดสินโดยอำนาจอาณัติ[160] ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นกับประชากรอาหรับ ซึ่งก่อการกำเริบอย่างเปิดเผยใน ค.ศ. 1936 เมื่อภัยคุกคามสงครามกับเยอรมนีเพิ่มขึ้นระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1930 อังกฤษตัดสินว่าการสนับสนุนประชากรอาหรับในตะวันออกกลางสำคัญกว่าการสถาปนาบ้านเกิดเมืองนอนยิว และเปลี่ยนท่าทีเป็นนิยมอาหรับ จำกัดการเข้าเมืองของชาวยิว แล้วจุดชนวนการก่อการกำเริบของชาวยิวแทน[140]
ประเทศในเครือจักรภพสามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศของตนเป็นอิสระจากบริเตนได้ โดยได้รับการรับรองที่การประชุมจักรวรรดิ ค.ศ. 1923[161] คำขอความช่วยเหลือทางทหารของบริเตนจากประเทศในเครือจักรภพเมื่อวิกฤตชานัก (Chanak Crisis) อุบัติเมื่อปีกลายถูกแคนาดาและแอฟริกาใต้ปฏิเสธ และแคนาดาปฏิเสธถูกผูกมัดโดยสนธิสัญญาโลซาน ค.ศ. 1923[162][163] หลังแรงกดดันจากไอร์แลนด์และแอฟริกาใต้ การประชุมจักรวรรดิ ค.ศ. 1926 ออกปฏิญญาแบลฟะ ประกาศให้ประเทศในเครือจักรภพเป็น "ชุมชนปกครองตนเองในจักรวรรดิบริติช มีสถานภาพเท่าเทียมกัน ไม่เป็นรองชุมชนอื่นในทางหนึ่งทางใด" ใน "เครือจักรภพแห่งประชาชาติบริติช"[164] ปฏิญญานี้มีสถานะเป็นกฎหมาย (legal substance) ภายใต้บทกฎหมายเวสต์มินสเตอร์ (Statute of Westminster) ค.ศ. 1931[133] รัฐสภาแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพแอฟริกาใต้ เสรีรัฐไอร์แลนด์และนิวฟันด์แลนด์บัดนี้เป็นอิสระจากการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติของบริติช ประเทศเหล่านี้สามารถทำให้กฎหมายบริติชเป็นโมฆะและบริเตนไม่สามารถผ่านกฎหมายให้ได้โดยปราศจากความยินยอมอีก[165] นิวฟันด์แลนด์กลับเป็นสถานะอาณานิคมอีกใน ค.ศ. 1933 โดยประสบความเดือดร้อนทางการเงินระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่[166] ไอร์แลนด์เว้นระยะจากบริเตนมากขึ้นโดยการริเริ่มรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1937 ทำให้เป็นสาธารณรัฐโดยพฤตินัย[167]
สงครามโลกครั้งที่สอง
แก้การประกาศสงครามต่อนาซีเยอรมนีของบริเตนเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 รวมคราวน์โคโลนีและอินเดียด้วย แต่ไม่ผูกมัดประเทศในเครือจักรภพโดยอัตโนมัติ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ นิวฟันด์แลนด์และแอฟริกาใต้ล้วนประกาศสงครามต่อเยอรมนีในไม่ช้า แต่เสรีรัฐไอร์แลนด์เลือกเป็นกลางทางกฎหมายตลอดสงคราม[168]
หลังการยึดครองฝรั่งเศสของเยอรมนีใน ค.ศ. 1940 บริเตนและจักรวรรดิยืนต่อกรเยอรมนีเพียงลำพัง จนสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. 1941 นายกรัฐมนตรีบริติช วินสตัน เชอร์ชิลล์ วิ่งเต้นประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ เพื่อขอความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ แต่โรสเวลต์ยังไม่พร้อมขอรัฐสภาให้ผูกมัดประเทศเข้าร่วมสงคราม[169] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1941 เชอร์ชิลล์และโรสเวลต์พบกันและลงนามกฎบัตรแอตแลนติก ซึ่งรวมถ้อยแถลงว่า ควรเคารพ "สิทธิเลือกระบอบการปกครองที่พวกตนอาศัยอยู่ของประชาชนทั้งปวง" การใช้คำนี้เคลือบคลุมว่าหมายถึงประเทศยุโรปที่ถูกเยอรมนีบุกครอง หรือผู้ที่ถูกชาติยุโรปตั้งนิคม และต่อมาชาวบริติช อเมริกันและขบวนการชาตินิยมตีความต่างกัน[170][171]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นเปิดฉากการเข้าตีบริติชมาลายา ฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่ท่าจอดเรือเพิร์ล และฮ่องกงต่อ ๆ กันอย่างรวดเร็ว ปฏิกิริยาของเชอร์ชิลล์ต่อการเข้าสู่สงครามของสหรัฐอเมริกา คือ บริเตนได้รับประกันชัยชนะและอนาคตของจักรวรรดิปลอดภัย[172] แต่จริตของการยอมจำนนอย่างรวดเร็วของบริเตนเป็นผลเสียต่อฐานะและเกียรติภูมิของบริเตนในฐานะอำนาจจักรวรรดิอย่างไม่อาจผันกลับได้[173][174] ที่เสียหายหนักที่สุด คือ การเสียสิงคโปร์ ซึ่งเคยได้รับการเชิดชูเป็นปราการไม่อาจทะลวงและเทียบเท่ากับยิบรอลตาร์แห่งทิศตะวันออก[175] การตระหนักว่า บริเตนไม่สามารถป้องกันทั้งจักรวรรดิของตนได้ผลักดันให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งบัดนี้ราวกับถูกกองทัพญี่ปุ่นคุกคาม ให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น จนให้เกิดสนธิสัญญาแอนซัส ค.ศ. 1951 ระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา[170]
การปลดปล่อยอาณานิคมและความเสื่อม (1945–1997)
แก้แม้บริเตนและจักรวรรดิคว้าชัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผลของความขัดแย้งนั้นล้ำลึก ทั้งในบริเตนและโพ้นทะเล ทวีปยุโรปบริเวณกว้าง อันเป็นทวีปซึ่งครอบงำโลกมาหลายศตวรรษ เป็นซากปรักหักพัง และมีกองทัพสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งบัดนี้ถือดุลอำนาจโลก[176] อังกฤษล้มละลายโดยสิ้นเชิง โดยปัดป้องการไม่สามารถชำระหนี้ได้เฉพาะใน ค.ศ. 1946 หลังเจรจาขอกู้เงิน 4,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2012) จากสหรัฐอเมริกา[177] ซึ่งผ่อนชำระงวดสุดท้ายใน ค.ศ. 2006[178] ขณะเดียวกัน ขบวนการต่อต้านอาณานิคมเจริญในอาณานิคมของชาติยุโรป สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นอีกโดยความเป็นปรปักษ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต โดยหลักการ ทั้งสองชาติคัดค้านลัทธิอาณานิคมยุโรป ทว่าในทางปฏิบัติ การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอยู่เหนือการต่อต้านจักรวรรดินิยม ฉะนั้น สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนการมีอยู่ของจักรวรรดิบริติชต่อไปเพื่อถ่วงดุลการขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์[179] สุดท้าย "สายลมการเปลี่ยนแปลง" หมายความว่า วันแห่งจักรวรรดิบริติชเหลือน้อยแล้ว และโดยรวม บริเตนใช้นโยบายการปล่อยอาณานิคมเมื่อมีรัฐบาลซึ่งมีเสถียรภาพและมิใช่คอมมิวนิสต์ให้ถ่ายโอนอำนาจไป ซึ่งตรงข้ามกับประเทศยุโรปอ่นอย่างฝรั่งเศสและโปรตุเกส[180] ซึ่งทำสงครามราคาแพงและสุดท้ายล้มเหลวเพื่อรักษาจักรวรรดิของตนให้สมบูรณ์ ระหว่าง ค.ศ. 1945 ถึง 1965 จำนวนประชากรในการปกครองของอังกฤษนอกสหราชอาณาจักรลดลงจาก 700 ล้านคนเหลือ 5 ล้านคน ซึ่ง 3 ล้านคนในจำนวนนี้อยู่ในฮ่องกง[181]
การปล่อยขั้นต้น
แก้รัฐบาลพรรคแรงงานซึ่งนิยมการให้เอกราชได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1945 และมีคลีเมนต์ แอตลีเป็นหัวหน้า ขยับอย่างรวดเร็วเพื่อจัดการปัญหาซึ่งกดดันที่สุดซึ่งจักรวรรดิกำลังเผชิญ คือ ปัญหาเอกราชของอินเดีย[182] พรรคการเมืองหลักสองพรรคของอินเดีย คองเกรสแห่งชาติอินเดียและสันนิบาตมุสลิม รณรงค์เรียกร้องเอกราชมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าควรนำไปปฏิบัติอย่างไร พรรคคองเกรสนิยมรัฐเดี่ยวฆราวาสอินเดีย แต่พรรคสันนิบาต ด้วยเกรงถูกฝ่ายข้างมากฮินดูครอบงำ ปรารถนารัฐอิสลามต่างหากสำหรับภูมิภาคซึ่งมีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ความไม่สงบของพลเมืองที่เพิ่มขึ้นและการก่อการกำเริบในราชนาวีอินเดียระหว่าง ค.ศ. 1946 นำให้แอตลีสัญญาเอกราชไม่เกิน ค.ศ. 1948 เมื่อความเร่งด่วนของสถาบการณ์และความเสี่ยงสงครามกลางเมืองประจักษ์ชัด ลอร์ดเมานท์บัตเทิน (Lord Mountbatten) อุปราชซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้ง (และคนสุดท้าย) เลื่อนเวลามาเป็นวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947[183] โดยด่วน เขตแดนที่บริเตนลากเพื่อแบ่งอินเดียเป็นพื้นที่ฮินดูและมุสลิมทำให้หลายสิบล้านคนเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐเอกราชใหม่อินเดียและปากีสถาน[184] ต่อมา มุสลิมหลายล้านคนข้ามจากอินเดียไปปากีสถาน และกลับกันสำหรับชาวฮินดู และความรุนแรงระหว่างสองชุมชนทำให้มีการเสียชีวิตนับหลายแสน พม่าซึ่งถูกปกครองเป็นส่วนหนึ่งของบริติชราชและศรีลังกาได้รับเอกราชในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1948 อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกากลายเป็นสมาชิกเครือจักรภพ แต่พม่าเลือกไม่เข้าร่วม[185]
อาณัติปาเลสไตน์ของบริเตน ซึ่งประชากรอาหรับส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกับชนกลุ่มน้อยชาวยิว นำปัญหาให้บริเตนคล้ายกับในกรณีอินเดีย[186] แต่ปาเลสไตน์ยุ่งยากเพราะผู้ลี้ภัยชาวยิวจำนวนมากแสวงการรับเข้าปาเลสไตน์หลังฮอโลคอสต์ แต่ชาวอาหรับคัดค้านการสถาปนารัฐยิว ด้วยท้อกับความยากของปัญหา การโจมตีขององค์การกึ่งทหารยิวและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการคงทหารไว้ บริเตนจึงประกาศใน ค.ศ. 1947 ว่าจะถอนทหารใน ค.ศ. 1948 และทิ้งปัญหาให้สหประชาชาติแก้ไข[187] ต่อมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติสนับสนุนแผนแบ่งปาเลสไตน์เป็นรัฐยิวและอาหรับ
หลังญี่ปุ่นปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการต่อต้านต่อต้านญี่ปุ่นในมาลายาหันความสนใจไปยังบริติชแทน ซึ่งกลับควบคุมอาณานิคมอย่างรวดเร็ว โดยให้มูลค่าเพราะเป็นแหล่งยางและดีบุก[188] ข้อเท็จจริงที่ว่ากองโจรเป็นคอมมิวนิสต์ชาวมลายู-จีนเป็นหลักหมายความว่า ชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่สนับสนุนความพยายามปราบปรามการก่อการกำเริบนี้ของอังกฤษ โดยความเข้าใจว่าเมื่อปราบปรามการก่อการกำเริบดังกล่าวแล้ว จะได้รับเอกราช[188] ภาวะฉุกเฉินมาลายา ตามที่ถูกเรียก เริ่มใน ค.ศ. 1948 และกินเวลาถึง ค.ศ. 1960 แต่ใน ค.ศ. 1957 บริเตนรู้สึกมั่นใจพอให้เอกราชแก่สหพันธรัฐมาลายาในเครือจักรภพ ใน ค.ศ. 1963 สิบเอ็ดรัฐแห่งสหพันธรัฐร่วมกับสิงคโปร์ ซาราวักและบอร์เนียวเหนือ แต่ใน ค.ศ. 1965 สิงคโปร์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนถูกขับออกจากสหภาพหลังความตึงเครียดที่เกิดตามมาระหว่างประชากรชาวมลายูกับชาวจีน[189] บรูไนซึ่งเป็นรัฐในอารักขาของบริเตนตั้งแต่ ค.ศ. 1888 ปฏิเสธเข้าร่วมสหภาพ[190] และธำรงสถานภาพของตนจนได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1984
สุเอซและผลลัพธ์
แก้ค.ศ. 1951 พรรคอนุรักษนิยมหวนสู่อำนาจในบริเตน ภายใต้การนำของวินสตัน เชอร์ชิลล์ เชอร์ชิลล์และพรรคอนุรักษนิยมเชื่อว่าฐานะมหาอำนาจโลกของบริเตนขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ต่อไปของจักรวรรดิ โดยฐานที่คลองสุเอซทำให้บริเตนธำรงฐานะเด่นในตะวันออกกลางแม้เสียอินเดียไปแล้ว ทว่า เชอร์ชิลล์ไม่อาจเพิกเฉยต่อรัฐบาลปฏิวัติใหม่ของญะมาล อับดุนนาศิรซึ่งเถลิงอำนาจใน ค.ศ. 1952 และในปีต่อมา มีการตกลงว่าจะมีการถอนทหารบริติชจากเขตคลองสุเอซและซูดานจะได้รับการกำหนดการปกครองด้วยตัวเองภายใน ค.ศ. 1955 โดยจะได้รับเอกราชตามมา[191] ซูดานได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1956
เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1956 นาศิรโอนคลองสุเอซเป็นของรัฐฝ่ายเดียว แอนโทนี อีเดน นายกรัฐมนตรีคนถัดจากเชอร์ชิลล์ สนองโดยการคบคิดกับฝรั่งเศสวางแผนให้อิสราเอลเข้าตีอียิปต์ซึ่งจะทำให้บริเตนและฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงทางทหารและยึดคลองคืน[192] อีเดนทำให้ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์แห่งสหรัฐโกรธเนื่องจากไม่ได้ปรึกษาเขา และไอเซนฮาวร์ไม่ยอมสนับสนุนการบุกครองนี้[193] ข้อกังวลอีกอย่างหนึ่งของไอเซนฮาวร์คือ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามวงกว้างขึ้นกับสหภาพโซเวียตหลังโซเวียตขู่แทรกแซงโดยเข้ากับฝ่ายอียิปต์ ไอเซนฮาวร์ใช้เลฟเวอริจทางการเงิน (financial leverage) โดยขู่ขายเงินปอนด์บริติชสำรองของสหรัฐและจะเร่งให้เกิดการล่มสลายของเงินตราบริติช[194] แม้กำลังบุกครองจะประสบความสำเร็จทางทหารตามวัตถุประสงค์[195] แต่การเข้าแทรกแซงของสหประชาชาติและแรงกดดันจากสหรัฐบีบให้บริเตนถอนกำลังของตนอย่างขายหน้าและอีเดนลาออก[196][197]
วิกฤตการณ์สุเอซเผยข้อจำกัดของบริเตนต่อโลกและยืนยันความเสื่อมของบริเตนบนเวทีโลก แสดงให้เห็นว่าสืบแต่นั้นบริเตนไม่สามารถกระทำการใดได้โดยปราศจากความยินยอมหรือการสนับสนุนอย่างเต็มขั้นของสหรัฐ[198][199][200] เหตุการณ์ที่สุเอซทำให้ความภูมิใจในชาติบริเตนเสียหาย ทำให้สมาชิกรัฐสภาผู้หนึ่งอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "วอเตอร์ลูของบริเตน"[201] และอีกคนแนะว่า บริเตนกลายเป็น "บริวารของอเมริกา"[202] ภายหลังมาร์กาเรต แทตเชอร์อธิบายกรอบความเชื่อ (mindset) ที่นางเชื่อว่าเกิดกับสถาบันการเมืองของบริเตนว่า "กลุ่มอาการสุเอซ" ซึ่งบริเตนไม่ฟื้นตัวจนยึดหมู่เกาะฟอล์คแลนด์คืนจากอาร์เจนตินาใน ค.ศ. 1982[203]
แม้วิกฤตการณ์สุเอซทำให้อำนาจของบริเตนในตะวันออกกลางอ่อนแอลง แต่ก็มิได้ล่มสลายทีเดียว[204] บริเตนเริ่มวางกำลังกองทัพเข้าไปในภูมิภาคนั้นใหม่ โดยเข้าแทรกแซงในโอมาน (ค.ศ. 1957), จอร์แดน (ค.ศ. 1958) และคูเวต (ค.ศ. 1961) แม้โอกาสเหล่านี้จะได้รับความยินยอมจากอเมริกา[205] เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของฮาโรลด์ แมคมิลแลน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ การคงเข้ากับสหรัฐอย่างเหนียวแน่น[201] บริเตนคงทหารในตะวันออกกลางอีกทศวรรษ เดือนมกราคม ค.ศ. 1968 ไม่กี่สัปดาห์หลังการลดค่าเงินตราปอนด์ นายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ วิลสัน และเดนิส เฮียเลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ประกาศว่าจะถอนกำลังกำลังบริเตนจากฐานทัพใหญ่ทางตะวันออกของสุเอซ ซึ่งรวมถึงฐานทัพในตะวันออกกลาง และมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นหลัก[206] บริเตนถอนทหารจากเอเดนใน ค.ศ. 1967, บาห์เรนใน ค.ศ. 1971 และมัลดีฟส์ใน ค.ศ. 1976[207]
ลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
แก้แมคมิลแลนกล่าวสุนทรพจน์ในเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1960 ซึ่งเขากล่าวว่า "ลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านทวีปนี้"[208] แมคมิลแลนปรารถนาหลีกเลี่ยงสงครามอาณานิคมแบบเดียวกับที่ฝรั่งเศสกำลังสู้รบอยู่ในอัลจีเรีย และภายใต้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขา การปลดปล่อยอาณานิคมดำเนินอย่างรวดเร็ว[209] จากสามอาณานิคมที่ได้รับเอกราชในคริสต์ทศวรรษ 1950 ได้แก่ ซูดาน โกลด์โคสตฺและมาลายา มีเพิ่มขึ้นอีกเกือบสิบเท่าระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960[210]
อาณานิคมของบริเตนที่ยังเหลืออยู่ในทวีปแอฟริกา ยกเว้นเซาเทิร์นโรดีเชียที่ปกครองตนเอง ได้รับเอกราชทั่วกันภายใน ค.ศ. 1968 การถอนตัวจากส่วนใต้และตะวันออกของทวีปแอฟริกาของบริเตนมิใช่กระบวนการอย่างสันติ เอกราชของเคนยาเกิดให้หลังการก่อการกำเริบเมาเมา (Mau Mau Uprising) นาน 8 ปี ในโรดีเซีย คำประกาศเอกราชฝ่ายเดียว ค.ศ. 1965 โดยฝ่ายข้างน้อยผิวขาวทำให้เกิดสงครามกลางเมืองซึ่งกินเวลาจนความตกลงแลงคาสเตอร์เฮาส์ ค.ศ. 1979 ซึ่งตั้งข้อกำหนดสำหรับเอกราชที่ได้รับการรับรองใน ค.ศ. 1980 เป็นประเทศใหม่ซิมบับเว[211]
ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สงครามกองโจรที่ชาวไซปรัสกรีก (Greek Cypriots) เป็นผู้ก่อลงเอยด้วยประเทศไซปรัสที่มีเอกราชใน ค.ศ. 1960 โดยสหราชอาณาจักรคงฐานทัพแอโครเทียรีและดิเคเลีย เกาะมอลตาและโกโซในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้รับเอกราชฉันมิตรจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1964 แม้มีการเสนอความคิดให้รวมกับบริเตนใน ค.ศ. 1955[212]
ดินแดนแคริบเบียนของสหราชอาณาจักรส่วนมากได้รับเอกราชหลังจาไมกาและตรินิแดดออกจากสหพันธ์อินเดียตะวันตกใน ค.ศ. 1961 และ 1962 สหพันธ์อินเดียตะวันตกสถาปนาใน ค.ศ. 1958 ในความพยายามรวมอาณานิคมแคริบเบียนบริติชภายใต้รัฐบาลเดียว แต่ล่มสลายหลังการเสียสมาชิกใหญ่สุดสองชาติ[213] บาร์บาโดสได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1966 และเกาะแคริบเบียนตะวันออกต่าง ๆ ที่เหลือในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980[213] แต่แองกวิลลาและหมู่เกาะเติกส์และหมู่เกาะเคคอสเลือกกลับสู่การปกครองของบริเตนหลังเริ่มเส้นทางสู่เอกราชแล้ว[214] หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน[215] หมู่เกาะเคย์แมนและมอนต์เซอร์รัตเลือกคงความสัมพันธ์กับบริเตน[216] ขณะที่กายอานาได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1966 อาณานิคมสุดท้ายของบริเตนบนแผ่นดินใหญ่ทวีปอเมริกา บริติชฮอนดูรัส กลายเป็นอาณานิคมปกครองตนเองใน ค.ศ. 1964 และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นเบลีซใน ค.ศ. 1973 และได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1981 ข้อพิพาทระหว่างเบลีซกับกัวเตมาลาเรื่องดินแดนยังไม่ยุติ[217]
ดินแดนในมหาสมุทรแปซิฟิกของบริเตนได้รับเอกราชในคริสต์ทศวรรษ 1970 เริ่มจากฟิจิใน ค.ศ. 1970 และจบด้วยวานูอาตูใน ต.ศ. 1980 เอกราชของวานูอาตูล่าไปเพราะข้อพิพาททางการเมืองระหว่างชุมชนที่พูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะหมู่เกาะนั้นมีการปกครองร่วมเป็นดินแดนใต้การปกครองร่วมกับฝรั่งเศส[218] ฟิจิ ตูวาลู หมู่เกาะโซโลมอนและปาปัวนิวกินี เลือกเป็นราชอาณาจักรเครือจักรภพ
จุดจบของจักรวรรดิ
แก้ค.ศ. 1980 โรดีเซีย อาณานิคมสุดท้ายของบริเตนในทวีปแอฟริกา กลายเป็นรัฐเอกราชซิมบับเว นิวเฮบริดีส์ (New Hebrides) ได้รับเอกราชในชื่อวานูอาตูใน ค.ศ. 1980 ตามด้วยเบลีซใน ค.ศ. 1981 การผ่านพระราชบัญญัติสัญชาติบริติช ค.ศ. 1981 ซึ่งจัดแบ่งคราวน์โคโลนีที่เหลืออยู่เป็น "ดินแดนในภาวะพึ่งพาบริติช" และเปลีย่นชื่อเป็นดินแดนโพ้นทะเลบริติชใน ค.ศ. 2002[219] หมายความว่า นอกจากเกาะและด่านหน้ากระจัดกระจาย (และการได้ร็อกออล โขดหินไม่มีคนอยู่อาศัยในมหาสมุทรแอตแลนติกใน ค.ศ. 1955)[220] กระบวนการการปลดปล่อยอาณานิคมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองสำเร็จไปแล้วส่วนใหญ่ ใน ค.ศ. 1982 ความเด็ดเดี่ยวในการปกป้องดินแดนโพ้นทะเลที่เหลืออยู่ของบริเตนถูกทดสอบเมื่ออาร์เจนตินาบุกครองหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ โดยการอ้างสิทธิ์ยาวนานซึ่งย้อนไปถึงสมัยจักรวรรดิสเปน[221] การสนองทางทหารที่สัมฤทธิ์ผลในท้ายสุดของบริเตนในการยึดหมู่เกาะคืนระหว่างสงครามฟอล์กแลนด์มีหลายคนมองว่าช่วยพลิกแนวโน้มสถานภาพมหาอำนาจโลกของบริเตนที่ลดลง[222] ในปีเดียวกัน รัฐบาลแคนาดาตัดความเชื่อมโยงทางกฎหมายสุดท้ายกับบริเตนโดยการทวง (Patriation) รัฐธรรมนูญแคนาดาจากบริเตน รัฐสภาบริเตนผ่านพระราชบัญญัติแคนาดา ค.ศ. 1982 ทำให้การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแคนาดาไม่ต้องมีบริเตนเข้ามาเกี่ยวข้อง[18] คล้ายกัน พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1986 ปฏิรูปรัฐธรรมนูญนิวซีแลนด์เพื่อตัดความเชื่อมโยงตามรัฐธรรมนญกับบริเตน และพระราชบัญญัติออสเตรเลีย ค.ศ. 1986 ตัดความเชื่อมโยงตามรัฐธรรมนูญระหว่างบริเตนและรัฐออสเตรเลียต่าง ๆ[223]
เดือนกันยายน ค.ศ. 1982 นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจากับรัฐบาลจีนเรื่องอนาคตของฮ่องกงซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลใหญ่สุดท้ายและมีประชากรมากที่สุด[224] ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญานานกิง ค.ศ. 1842 เกาะฮ่องกงถูกยกให้บริเตนตลอดกาล แต่อาณานิคมส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากนิวเทอร์ริทอรีส์ซึ่งได้มาภายใต้การเช่า 99 ปีใน ค.ศ. 1898 ซึ่งจะหมดอายุใน ค.ศ. 1997[225][226] แทตเชอร์ซึ่งมองเห็นความคล้ายกับหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ทีแรกปรารถนาถือครองฮ่องกงและเสนอการปกครองของบริติชโดยอยู่ภายใต้เอกราชของจีน แต่ถูกจีนปฏิเสธ[227] มีการบรรลุข้อตกลงใน ค.ศ. 1984 ภายใต้เงื่อนไขของปฏิญญาร่วมจีน-บริเตน ฮ่องกงจะเป็นเขตบริหารพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยธำรงวิถีชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 50 ปี[228] มีพิธีส่งมอบใน ค.ศ. 1997[16] ซึ่งหลายคนซึ่งรวมถึงเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์[17] ซึ่งทรงร่วมพิธีด้วย ว่า "จุดจบของจักรวรรดิ"[18][19]
มรดกตกทอด
แก้บริเตนยังคงอำนาจอธิปไตยเหนือ 14 ดินแดนนอกหมู่เกาะบริติช ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นดินแดนโพ้นทะเลบริติชใน ค.ศ. 2002[229] บางแห่งไม่มีผู้อยู่อาศัยยกเว้นบุคลากรทางทหารหรือวิทยาศาสตร์ชั่วคราว ที่เหลือมีการปกครองตนเองในระดับต่าง ๆ และอาศัยสหราชอาณาจักรในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการป้องกัน รัฐบาลบริติชแถลงเจตนาในการสนับสนุนดินแดนโพ้นทะเลใด ๆ ที่ปรารถนาดำเนินสู่เอกราชซึ่งเป็นตัวเลือกหนึ่ง[230] อำนาจอธิปไตยของบริเตนเหนือดินแดนโพ้นทะเลหลายแห่งถูกประเทศเพื่อนบ้านทางภูมิศาสตร์พิพาท คือ สเปนอ้างสิทธิ์ยิบรอลตาร์ อาร์เจนตินาอ้างสิทธิ์หมู่เกาะฟอล์กแลนด์และเกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช และมอริเชียสและเซเชลส์อ้างสิทธิ์บริติชอินเดียนโอเชียนเทร์ริทอรี[231] บริติชแอนตาร์กติกเทร์ริทอรีมีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับอาร์เจนตินาและชิลี ส่วนหลายประเทศไม่รับรองการอ้างสิทธิ์ดินแดนใด ๆ ในทวีปแอนตาร์กติกา[232]
อดีตอาณานิคมและรัฐในอารักขาของบริเตนส่วนใหญ่เป็นรัฐสมาชิก 53 ประเทศของเครือจักรภพแห่งชาติ เป็นสมาคมที่มิใช่ทางการเมืองโดยความสมัครใจของสมาชิกที่มีฐานะเสมอกัน มีประชากรราว 2,200 ล้านคน[233] ราชอาณาจักรเครือจักรภพ 16 แห่งสมัครใจมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นประมุขแห่งรัฐ 16 ชาติเหล่านี้ได้แก่ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี แอนติกาและบาร์บูดา บาฮามาส บาร์บาโดส เบลีซ เกรนาดา จาไมกา เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเชีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ หมู่เกาะโซโลมอนและตูวาลู[234]
การปกครองและการย้ายถิ่นของบริเตนหลายทศวรรษและหลายศตวรรษในบางกรณีทิ้งร่องรอยบนชาติที่ได้รับเอกราชที่เกิดจากจักรวรรดิบริติช จักรวรรดิสถาปนาการใช้ภาษาอังกฤษในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักของคน 400 ล้านคนและมีผู้พูดเป็นภาษาแรก ที่สองหรือต่างด้าวประมาณ 1,500 ล้านคน[235]
อิทธิพลทางวัฒนธรรมของสหรัฐมีส่วนช่วยการเผยแพร่ภาษาอังกฤษตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ซึ่งสหรัฐเองก็กำเนิดจากอาณานิคมของบริเตน มีการใช้ระบบรัฐสภาอังกฤษเป็นแม่แบบสำหรับรัฐบาลในอดีตอาณานิคมหลายแห่ง (ยกเว้นในทวีปแอฟริกาซึ่งอดีตอาณานิคมเกือบทั้งหมดรับระบบประธานาธิบดี) และคอมมอนลอว์อังกฤษเป็นระบบกฎหมาย[236]
คณะกรรมการตุลาการบริติชของคณะองคมนตรียังเป็นศาลอุทธรณ์สูงสุดสำหรับอดีตอาณานิคมหลายแห่งในแคริบเบียนและแปซิฟิก มิชชันนารีโปรเตสแตนท์อังกฤษผู้ท่องรอบโลกซึ่งบ่อยครั้งล่วงหน้าทหารและข้าราชการเผยแพร่แองกลิคันคอมมิวเนียนไปทุกทวีป พบเห็นสถาปัตยกรรมอาณานิคมบริติชดังเช่นในโบสถ์ สถานีรถไฟและอาคารรัฐบาลได้ในหลายนครซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิบริติช[237]
มีการพัฒนากีฬาปัจเจกและทีมต่าง ๆ ในบริเตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล คริกเกต รักบี้ เทนนิสและกอล์ฟ ก็ถูกส่งออกด้วย[238] ยังมีการใช้ระบบอิมพีเรียล ซึ่งเป็นทางเลือกระบบการวัดของบริติช ในบางประเทศในหลายทาง ธรรมเนียมการขับรถชิดซ้ายของถนนก็ยังอยู่ในหลายส่วนของอดีตจักรวรรดิ[239]
เขตแดนทางการเมืองที่บริเตนลากไม่สะท้อนชาติพันธุ์หรือศาสนาเดียวกันเสมอไป ส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่อดีตอาณานิคมหลายแห่ง จักรวรรดิบริติชยังทำให้มีการย้ายถิ่นประชากรขนานใหญ่ หลายล้านคนออกจากหมู่เกาะบริเตน โดยประชากรผู้ตั้งถิ่นฐานของสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่มาจากบริเตนและไอร์แลนด์ ยังมีความตึงเครียดระหว่างประชากรผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวของประเทศเหล่านี้กับชนกลุ่มน้อยพื้นเมือง และระหว่างชนกลุ่มน้อยผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวและฝ่ายข้างมากพื้นเมืองในแอฟริกาใต้และซิมบับเว ผู้ตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์จากบริเตนใหญ่ทิ้งร่องรอยในรูปชุมชนชาตินิยมและสหภาพนิยมที่แตกแยกในไอร์แลนด์เหนือ หลายล้านคนย้ายเข้าและออกจากอาณานิคมบริติช โดยมีชาวอินเดียจำนวนมากย้ายถิ่นไปส่วนอื่นของจักรวรรดิ เช่น มาเลเซียและฟิจิ และชาวจีนไปมาเลเซีย สิงคโปร์และแคริบเบียน[240] ประชากรศาสตร์ของบริเตนเองก็เปลี่ยนหลังสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องจากมีการเข้าเมืองบริเตนจากอดีตอาณานิคม[241]
อ้างอิง
แก้- ↑ Ferguson, Niall (2004). Empire, The rise and demise of the British world order and the lessons for global power. Basic Books. ISBN 0-465-02328-2.
- ↑ Maddison 2001, pp. 98, 242.
- ↑ Ferguson 2004, p. 15., saying: "At its maximum extent between the world wars the British Empire covered more than 13 million square miles, approximately 23 percent of the world's land surface."
- ↑ Elkins2005, p. 5.saying: "The British Empire encompassed nearly 13 million square miles or roughly 25 percent of the world's total landmass"
- ↑ Ferguson 2004, p. 2.
- ↑ Tellier, L.-N. (2009). Urban World History: an Economic and Geographical Perspective. Quebec: PUQ. p. 463. ISBN 2-7605-1588-5.
- ↑ Johnston, pp. 508-10.
- ↑ 8.0 8.1 Porter, p. 332.
- ↑ Sondhaus, L. (2004). Navies in Modern World History. London: Reaktion Books. p. 9. ISBN 1-86189-202-0.
- ↑ Porter, Andrew (1998). The Nineteenth Century, The Oxford History of the British Empire Volume III. Oxford University Press. p. 332. ISBN 0-19-924678-5.
- ↑ "The Workshop of the World". BBC History. สืบค้นเมื่อ 28 April 2013.
- ↑ Porter, Andrew (1998). The Nineteenth Century, The Oxford History of the British Empire Volume III. Oxford University Press. p. 8. ISBN 0-19-924678-5.
- ↑ Marshall, P.J. (1996). The Cambridge Illustrated History of the British Empire. Cambridge University Press. pp. 156–57. ISBN 0-521-00254-0.
- ↑ Tompson, Richard S. (2003). Great Britain: a reference guide from the Renaissance to the present. New York: Facts on File. p. 63. ISBN 978-0-8160-4474-0.
- ↑ Hosch, William L. (2009). World War I: People, Politics, and Power. America at War. New York: Britannica Educational Publishing. p. 21. ISBN 978-1-61530-048-8.
- ↑ 16.0 16.1 Brendon, p. 660.
- ↑ 17.0 17.1 "Charles' diary lays thoughts bare". BBC News. 22 February 2006. สืบค้นเมื่อ 13 December 2008.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 Brown, p. 594.
- ↑ 19.0 19.1 "BBC – History – Britain, the Commonwealth and the End of Empire". BBC News. สืบค้นเมื่อ 13 December 2008.
- ↑ 20.0 20.1 Ferguson 2004, p. 3.
- ↑ Andrews 1985, p. 45.
- ↑ Ferguson 2004, p. 4.
- ↑ Canny, p. 35.
- ↑ Thomas, pp. 155–158
- ↑ Ferguson 2004, p. 7.
- ↑ Canny, p. 62.
- ↑ Lloyd, pp. 4–8.
- ↑ Canny, p. 7.
- ↑ Kenny, p. 5.
- ↑ Alan, Taylor (2001). American Colonies, The Settling of North America. Penguin. p. 119.
- ↑ Olson, p. 466.
- ↑ Andrews, p. 188.
- ↑ Canny, p. 63.
- ↑ Canny, pp. 63–64.
- ↑ Canny, p. 70.
- ↑ Canny, p. 34.
- ↑ James, p. 17.
- ↑ Canny, p. 71.
- ↑ Canny, p. 221.
- ↑ Lloyd, pp. 22–23.
- ↑ Lloyd, p. 32.
- ↑ Lloyd, pp. 33, 43.
- ↑ Lloyd, pp. 15–20.
- ↑ Olson, p. 600.
- ↑ Andrews, pp. 20–22.
- ↑ Olson, p. 897.
- ↑ Lloyd, p. 40.
- ↑ Ferguson 2004, pp. 72–73.
- ↑ 49.0 49.1 Buckner, p. 25.
- ↑ Lloyd, p. 37.
- ↑ Ferguson 2004, p. 62.
- ↑ Canny, p. 228.
- ↑ Marshall, pp. 440–64.
- ↑ Magnusson, p. 531.
- ↑ Macaulay, p. 509.
- ↑ Lloyd, p. 13.
- ↑ 57.0 57.1 Ferguson 2004, p. 19.
- ↑ Canny, p. 441.
- ↑ Pagden, p. 90.
- ↑ Olson, p. 1045.
- ↑ Olson, p. 1122.
- ↑ Olson, pp. 1121–22.
- ↑ Smith, p. 17.
- ↑ Bandyopādhyāẏa, pp. 49–52
- ↑ Smith, pp. 18–19.
- ↑ 66.0 66.1 Pagden, p. 91.
- ↑ Ferguson 2004, p. 73.
- ↑ Marshall, pp. 312–23.
- ↑ Canny, p. 92.
- ↑ Olson, p. 1026.
- ↑ James, p. 119.
- ↑ Marshall, p. 585.
- ↑ Olson, p. 685.
- ↑ Olson, p. 796.
- ↑ Smith, p. 28.
- ↑ Latimer, pp. 8, 30–34, 389–92.
- ↑ Marshall, pp. 388.
- ↑ Smith, p. 20.
- ↑ Smith, pp. 20–21.
- ↑ Mulligan & Hill, pp. 20–23.
- ↑ Peters, pp. 5–23.
- ↑ James, p. 142.
- ↑ Britain and the Dominions, p. 159.
- ↑ Fieldhouse, pp. 145–149
- ↑ Cervero, Robert B. (1998). The Transit Metropolis: A Global Inquiry. Chicago: Island Press. p. 320. ISBN 1-55963-591-6.
- ↑ Statesmen's Year Book 1889
- ↑ Olson, p. 1137.
- ↑ "Waitangi Day". History Group, New Zealand Ministry for Culture and Heritage. สืบค้นเมื่อ 13 December 2008.
- ↑ Porter, p. 579.
- ↑ Mein Smith, p. 49.
- ↑ James, p. 152.
- ↑ Lloyd, pp. 115–118.
- ↑ James, p. 165.
- ↑ Porter, p. 14.
- ↑ Porter, p. 204.
- ↑ Hyam, p. 1.
- ↑ Smith, p. 71.
- ↑ Parsons, p. 3.
- ↑ 99.0 99.1 Porter, p. 401.
- ↑ Olson, p. 285.
- ↑ Porter, p. 8.
- ↑ Marshall, pp. 156–57.
- ↑ Dalziel, pp. 88–91.
- ↑ Martin, pp. 146–148.
- ↑ Olson, p. 293.
- ↑ Keay, p. 393
- ↑ Parsons, pp. 44–46.
- ↑ Smith, pp. 50–57.
- ↑ Brown, p. 5.
- ↑ Marshall, pp. 133–34.
- ↑ Olson, p. 478.
- ↑ James, p. 181.
- ↑ 113.0 113.1 113.2 James, p. 182.
- ↑ Royle, preface.
- ↑ Williams, Beryl J. (1966). "The Strategic Background to the Anglo-Russian Entente of August 1907". The Historical Journal. 9 (3): 360–373. doi:10.1017/S0018246X00026698. JSTOR 2637986.
- ↑ Hodge, p. 47.
- ↑ Smith, p. 85.
- ↑ Smith, pp. 85–86.
- ↑ Lloyd, pp. 168, 186, 243.
- ↑ Lloyd, p. 255.
- ↑ Olson, p. 1070.
- ↑ Roger 1986, p. 718.
- ↑ Ferguson 2004, pp. 230–33.
- ↑ James, p. 274.
- ↑ "Treaties". Egypt Ministry of Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 September 2010. สืบค้นเมื่อ 20 October 2010.
- ↑ Herbst, pp. 71–72.
- ↑ Vandervort, pp. 169–183.
- ↑ Olson, p. 248.
- ↑ Lloyd, p. 215.
- ↑ Smith, pp. 28–29.
- ↑ Porter, p. 187
- ↑ Smith, p. 30.
- ↑ 133.0 133.1 Rhodes, Wanna & Weller, pp. 5–15.
- ↑ Lloyd, p. 213
- ↑ 135.0 135.1 James, p. 315.
- ↑ Smith, p. 92.
- ↑ O'Brien, p. 1.
- ↑ Brown, p. 667.
- ↑ Lloyd, p. 275.
- ↑ 140.0 140.1 Brown, pp. 494–495.
- ↑ Marshall, pp. 78–79.
- ↑ Lloyd, p. 277.
- ↑ Lloyd, p. 278.
- ↑ Ferguson 2004, p. 315.
- ↑ Olson, p. 658.
- ↑ Goldstein, p. 4.
- ↑ Louis, p. 302.
- ↑ Louis, p. 294.
- ↑ Louis, p. 303.
- ↑ Lee 1996, p. 305.
- ↑ Brown, p. 143.
- ↑ Smith, p. 95.
- ↑ Magee, p. 108.
- ↑ Ferguson 2004, p. 330.
- ↑ 155.0 155.1 James, p. 416.
- ↑ Low, D.A. (February 1966). "The Government of India and the First Non-Cooperation Movement-—1920–1922". The Journal of Asian Studies. 25 (2): 241–259. doi:10.2307/2051326.
- ↑ Smith, p. 104.
- ↑ Brown, p. 292.
- ↑ Smith, p. 101.
- ↑ Louis, p. 271.
- ↑ McIntyre, p. 187.
- ↑ Brown, p. 68.
- ↑ McIntyre, p. 186.
- ↑ Brown, p. 69.
- ↑ Turpin & Tomkins, p. 48.
- ↑ Lloyd, p. 300.
- ↑ Kenny, p. 21.
- ↑ Lloyd, pp. 313–14.
- ↑ Gilbert, p. 234.
- ↑ 170.0 170.1 Lloyd, p. 316.
- ↑ James, p. 513.
- ↑ Gilbert, p. 244.
- ↑ Louis, p. 337.
- ↑ Brown, p. 319.
- ↑ James, p. 460.
- ↑ Abernethy, p. 146.
- ↑ Brown, p. 331.
- ↑ "What's a little debt between friends?". BBC News. 10 May 2006. สืบค้นเมื่อ 20 November 2008.
- ↑ Levine, p. 193.
- ↑ Abernethy, p. 148.
- ↑ Brown, p. 330.
- ↑ Lloyd, p. 322.
- ↑ Smith, p. 67.
- ↑ Lloyd, p. 325.
- ↑ McIntyre, pp. 355–356.
- ↑ Lloyd, p. 327.
- ↑ Lloyd, p. 328.
- ↑ 188.0 188.1 Lloyd, p. 335.
- ↑ Lloyd, p. 364.
- ↑ Lloyd, p. 396.
- ↑ Brown, pp. 339–40.
- ↑ James, p. 581.
- ↑ Ferguson 2004, p. 355.
- ↑ Ferguson 2004, p. 356.
- ↑ James, p. 583.
- ↑ Combs, pp. 161–163.
- ↑ "Suez Crisis: Key players". BBC News. 21 July 2006. สืบค้นเมื่อ 19 October 2010.
- ↑ Brown, p. 342.
- ↑ Smith, p. 105.
- ↑ Burk, p. 602.
- ↑ 201.0 201.1 Brown, p. 343.
- ↑ James, p. 585.
- ↑ Thatcher.
- ↑ Smith, p. 106.
- ↑ James, p. 586.
- ↑ Pham 2010
- ↑ Lloyd, pp. 370–371.
- ↑ James, p. 616.
- ↑ Louis, p. 46.
- ↑ Lloyd, pp. 427–433.
- ↑ James, pp. 618–621.
- ↑ Springhall, pp. 100–102.
- ↑ 213.0 213.1 Knight & Palmer, pp. 14–15.
- ↑ Clegg, p. 128.
- ↑ Lloyd, p. 428.
- ↑ James, p. 622.
- ↑ Lloyd, pp. 401, 427–429.
- ↑ Macdonald, pp. 171–191.
- ↑ "British Overseas Territories Act 2002". legislation.gov.uk.
- ↑ "1955: Britain claims Rockall". BBC News. 21 September 1955. สืบค้นเมื่อ 13 December 2008.
- ↑ James, pp. 624–625.
- ↑ James, p. 629.
- ↑ Brown, p. 689.
- ↑ Brendon, p. 654.
- ↑ Joseph, p. 355.
- ↑ Rothermund, p. 100.
- ↑ Brendon, pp. 654–55.
- ↑ Brendon, p. 656.
- ↑ House of Commons Foreign Affairs Committee Overseas Territories Report, pp. 145–147
- ↑ House of Commons Foreign Affairs Committee Overseas Territories Report, pp. 146,153
- ↑ "British Indian Ocean Territory". The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ 13 December 2008.
- ↑ House of Commons Foreign Affairs Committee Overseas Territories Report, p. 136
- ↑ The Commonwealth - About Us; Online September 2014
- ↑ "Head of the Commonwealth". Commonwealth Secretariat. สืบค้นเมื่อ 9 October 2010.
- ↑ Hogg, p. 424 chapter 9 English Worldwide by David Crystal: "approximately one in four of the worlds population are capable of communicating to a useful level in English".
- ↑ Ferguson 2004, p. 307.
- ↑ Marshall, pp. 238–40.
- ↑ Torkildsen, p. 347.
- ↑ Parsons, p. 1.
- ↑ Marshall, p. 286.
- ↑ Dalziel, p. 135.
บรรณานุกรม
แก้- Abernethy, David (2000). The Dynamics of Global Dominance, European Overseas Empires 1415–1980. Yale University Press. ISBN 0-300-09314-4. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Andrews, Kenneth (1984). Trade, Plunder and Settlement: Maritime Enterprise and the Genesis of the British Empire, 1480–1630. Cambridge University Press. ISBN 0-521-27698-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Bandyopādhyāẏa, Śekhara (2004). From Plassey to partition: a history of modern India. Orient Longman. ISBN 81-250-2596-0.
- Brendon, Piers (2007). The Decline and Fall of the British Empire, 1781–1997. Random House. ISBN 0-224-06222-0.
- Brock, W.R. (n.d.). Britain and the Dominions. Cambridge University Press.
- Brown, Judith (1998). The Twentieth Century, The Oxford History of the British Empire Volume IV. Oxford University Press. ISBN 0-19-924679-3. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Louis, Roger (1986). The British Empire in the Middle East, 1945–1951: Arab Nationalism, the United States, and Postwar Imperialism. Oxford University Press. p. 820. ISBN 978-0-19-822960-5. สืบค้นเมื่อ 24 August 2012.
- Buckner, Phillip (2008). Canada and the British Empire. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-927164-1. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Burk, Kathleen (2008). Old World, New World: Great Britain and America from the Beginning. Atlantic Monthly Press. ISBN 0-87113-971-5. สืบค้นเมื่อ 22 January 2012.
- Canny, Nicholas (1998). The Origins of Empire, The Oxford History of the British Empire Volume I. Oxford University Press. ISBN 0-19-924676-9. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Clegg, Peter (2005). "The UK Caribbean Overseas Territories". ใน de Jong, Lammert; Kruijt, Dirk (บ.ก.). Extended Statehood in the Caribbean. Rozenberg Publishers. ISBN 90-5170-686-3.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์) - Combs, Jerald A. (2008). The History of American Foreign Policy: From 1895. M.E. Sharpe. ISBN 978-0-7656-2056-9.
- Dalziel, Nigel (2006). The Penguin Historical Atlas of the British Empire. Penguin. ISBN 0-14-101844-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- David, Saul (2003). The Indian Mutiny. Penguin. ISBN 0-670-91137-2. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Elkins, Caroline (2005). Imperial Reckoning: The Untold Story of Britain's Gulag in Kenya. Owl Books. ISBN 0-8050-8001-5.
- Ferguson, Niall (2004). Colossus: The Price of America's Empire. Penguin. ISBN 1-59420-013-0. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.[ลิงก์เสีย]
- Ferguson, Niall (2004). Empire. Basic Books. ISBN 0-465-02329-0. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Fieldhouse, David Kenneth (1999). The West and the Third World: trade, colonialism, dependence, and development. Blackwell Publishing. ISBN 0-631-19439-8.
- Fox, Gregory H. (2008). Humanitarian Occupation. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-85600-3.
- Games, Alison (2002). Armitage, David; Braddick, Michael J (บ.ก.). The British Atlantic world, 1500–1800. Palgrave Macmillan. ISBN 0-333-96341-5.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์) - Gapes, Mike (2008). HC Paper 147-II House of Commons Foreign Affairs Committee: Overseas Territories, Volume II. The Stationery Office. ISBN 0-215-52150-1. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Gilbert, Sir Martin (2005). Churchill and America. Simon and Schuster. ISBN 0-7432-9122-0. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Goldstein, Erik (1994). The Washington Conference, 1921–22: Naval Rivalry, East Asian Stability and the Road to Pearl Harbor. Routledge. ISBN 0-7146-4559-1. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Goodlad, Graham David (2000). British foreign and imperial policy, 1865–1919. Psychology Press. ISBN 0-415-20338-4. สืบค้นเมื่อ 18 September 2010.
- Herbst, Jeffrey Ira (2000). States and power in Africa: comparative lessons in authority and control. Princeton University Press. ISBN 0-691-01028-5.
- Hinks, Peter (2007). Encyclopedia of antislavery and abolition. Greenwood Publishing Group. ISBN 978-0-313-33143-5. สืบค้นเมื่อ 1 August 2010.
- Hodge, Carl Cavanagh (2007). Encyclopedia of the Age of Imperialism, 1800–1914. Greenwood Publishing Group. ISBN 0-313-33404-8. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Hogg, Richard (2008). A History of the English Language. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-66227-7. สืบค้นเมื่อ 13 April 2010.
- Hopkirk, Peter (2002). The Great Game: The Struggle for Empire in Central Asia. Kodansha International. ISBN 4-7700-1703-0.
- Hollowell, Jonathan (1992). Britain Since 1945. Blackwell Publishing. ISBN 0-631-20968-9.
- Hyam, Ronald (2002). Britain's Imperial Century, 1815–1914: A Study of Empire and Expansion. Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-7134-3089-9. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- James, Lawrence (2001). The Rise and Fall of the British Empire. Abacus. ISBN 978-0-312-16985-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Janin, Hunt (1999). The India–China opium trade in the nineteenth century. McFarland. ISBN 0-7864-0715-8.
- Joseph, William A. (2010). Politics in China. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-533530-9.
- Keay, John (1991). The Honourable Company. Macmillan Publishing Company.
- Kelley, Ninette; Trebilcock, Michael (2010). The Making of the Mosaic (2nd ed.). University of Toronto Press. ISBN 978-0-8020-9536-7.
- Kenny, Kevin (2006). Ireland and the British Empire. Oxford University Press. ISBN 0-19-925184-3. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Knight, Franklin W.; Palmer, Colin A. (1989). The Modern Caribbean. University of North Carolina Press. ISBN 0-8078-1825-9.
- Latimer, Jon (2007). War with America. Harvard University Press. ISBN 0-674-02584-9. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Lee, Stephen J. (1994). Aspects of British political history, 1815–1914. Routledge. ISBN 0-415-09006-7.
- Lee, Stephen J. (1996). Aspects of British political history, 1914–1995. Routledge. ISBN 0-415-13102-2.
- Levine, Philippa (2007). The British Empire: Sunrise to Sunset. Pearson Education Limited. ISBN 978-0-582-47281-5. สืบค้นเมื่อ 19 August 2010.
- Lloyd, Trevor Owen (1996). The British Empire 1558–1995. Oxford University Press. ISBN 0-19-873134-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Louis, Wm. Roger (2006). Ends of British Imperialism: The Scramble for Empire, Suez and Decolonization. I. B. Tauris. ISBN 1-84511-347-0. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Macaulay, Thomas (1848). The History of England from the Accession of James the Second. Penguin. ISBN 0-14-043133-0.
- Macdonald, Barrie (1994). "Britain". ใน Howe, K.R.; Kiste, Robert C.; Lal, Brij V (บ.ก.). Tides of history: the Pacific Islands in the twentieth century. University of Hawaii Press. ISBN 0-8248-1597-1.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์) - McIntyre, W. Donald (1977). The Commonwealth of Nations. University of Minnesota Press. ISBN 0-8166-0792-3. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- McLean, Iain (2001). Rational Choice and British Politics: An Analysis of Rhetoric and Manipulation from Peel to Blair. Oxford University Press. ISBN 0-19-829529-4. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Maddison, Angus (2001). The World Economy: A Millennial Perspective. Organisation for Economic Co-operation and Development. ISBN 92-64-18608-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Magee, John (1974). Northern Ireland: Crisis and Conflict. Taylor & Francis. ISBN 0-7100-7947-8. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Magnusson, Magnus (2003). Scotland: The Story of a Nation. Grove Press. ISBN 0-8021-3932-9. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Marshall, PJ (1998). The Eighteenth Century, The Oxford History of the British Empire Volume II. Oxford University Press. ISBN 0-19-924677-7. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Marshall, PJ (1996). The Cambridge Illustrated History of the British Empire. Cambridge University Press. ISBN 0-521-00254-0. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Martin, Laura C (2007). Tea: the drink that changed the world. Tuttle Publishing. ISBN 0-8048-3724-4.
- Mein Smith, Philippa (2005). A Concise History of New Zealand. Cambridge University Press. ISBN 0-521-54228-6. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Mulligan, Martin; Hill, Stuart (2001). Ecological pioneers. Cambridge University Press. ISBN 0-521-81103-1.
- O'Brien, Phillips Payson (2004). The Anglo–Japanese Alliance, 1902–1922. Routledge. ISBN 0-415-32611-7. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Pagden, Anthony (2003). Peoples and Empires: A Short History of European Migration, Exploration, and Conquest, from Greece to the Present. Modern Library. ISBN 0-8129-6761-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Parsons, Timothy H (1999). The British Imperial Century, 1815–1914: A World History Perspective. Rowman & Littlefield. ISBN 0-8476-8825-9. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Peters, Nonja (2006). The Dutch down under, 1606–2006. University of Western Australia Press. ISBN 1-920694-75-7.
- Pham, P.L. (2010). Ending 'East of Suez': The British Decision to Withdraw from Malaysia and Singapore, 1964–1968. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-958036-1. สืบค้นเมื่อ 24 August 2012.
- Porter, Andrew (1998). The Nineteenth Century, The Oxford History of the British Empire Volume III. Oxford University Press. ISBN 0-19-924678-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Rhodes, R.A.W.; Wanna, John; Weller, Patrick (2009). Comparing Westminster. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-956349-4.
- Rothermund, Dietmar (2006). The Routledge companion to decolonization. Routledge. ISBN 0-415-35632-6.
- Royle, Trevor (2000). Crimea: The Great Crimean War, 1854–1856. Palgrave Macmillan. ISBN 1-4039-6416-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Shennan, J.H (1995). International relations in Europe, 1689–1789. Routledge. ISBN 0-415-07780-X.
- Smith, Simon (1998). British Imperialism 1750–1970. Cambridge University Press. ISBN 978-3-12-580640-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Springhall, John (2001). Decolonization since 1945: the collapse of European overseas empires. Palgrave. ISBN 0-333-74600-7.
- Taylor, Alan (2001). American Colonies, The Settling of North America. Penguin. ISBN 0-14-200210-0. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Thatcher, Margaret (1993). The Downing Street Years. Harper Collins. ISBN 0-06-017056-5. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Thomas, Hugh (1997). The Slave Trade: The History of The Atlantic Slave Trade. Picador, Phoenix/Orion. ISBN 0-7538-2056-0. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
- Tilby, A. Wyatt (2009). British India 1600–1828. BiblioLife. ISBN 978-1-113-14290-0.
- Torkildsen, George (2005). Leisure and recreation management. Routledge. ISBN 978-0-415-30995-0.
- Turpin, Colin; Tomkins, Adam (2007). British government and the constitution (6th ed.). Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-69029-4.
- Vandervort, Bruce (1998). Wars of imperial conquest in Africa, 1830–1914. University College London Press. ISBN 1-85728-486-0.
- Zolberg, Aristide R (2006). A nation by design: immigration policy in the fashioning of America. Russell Sage. ISBN 0-674-02218-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- The British Empire. An Internet Gateway
- The British Empire
- The British Empire audio resources at TheEnglishCollection.com เก็บถาวร 2012-12-05 ที่ archive.today
- British Colonial Regime: Considering the Administration of British Colony in Burma and Malay Peninsular between the 19th and 20th Centuries.