ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประเทศไทย เดิมเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งถูกญี่ปุ่นบุกครอง ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลาประมาณ 02.00 น. กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย และปะทะกับทหารไทยและยุวชนก่อนรัฐบาลจะมีคำสั่งหยุดยิงเมื่อเวลา 11.00 น. หลังจากนั้นมีการทำสนธิสัญญาทหารระหว่างสองประเทศ ในช่วงแรกของสงครามแปซิฟิก ญี่ปุ่นกดดันให้รัฐบาลไทยเปิดทางให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังพม่าและบริติชมาลายา ซึ่งรัฐบาลไทยนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามยินยอมเนื่องจากญี่ปุ่นให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบดินแดนอินโดจีนบางส่วนที่เสียให้ฝรั่งเศสคืน
หลังร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประเทศไทยยังคงมีอำนาจในการจัดการกำลังพลและกิจการภายใน ซึ่งคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ระหว่างนาซีเยอรมนีกับฟินแลนด์ บัลแกเรีย และโรมาเนีย[1] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงครามกับฝ่ายเสรีไทย ขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นนำโดยปรีดี พนมยงค์ โดยขบวนการเสรีไทยนี้มีส่วนในการต่อรองเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ ทำให้ไทยไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าประเทศที่ร่วมมือกับฝ่ายอักษะอื่น ๆ
ภูมิหลัง
แก้หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทสูงในการนำสังคม สภาพสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ ประชาชนขึ้นมาเป็นเจ้าของประเทศและมีบทบาทในการปกครองประเทศด้วยกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชนชั้นกลาง พวกพ่อค้า ปัญญาชน ขึ้นมามีบทบาทในสังคมแต่ผู้กุมอำนาจยังคงได้แก่ทหารและข้าราชการ นายทุนเติบโตจากการค้าและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งมีอิทธิพลและบทบาทจนได้เปรียบในสังคม เกิดช่องว่างในสังคมทำให้ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกรมีฐานะและชีวิตอยู่กับความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคม[ต้องการอ้างอิง]
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังจากเข้าร่วมการปราบปรามกบฎบวรเดช และได้รวบอำนาจเข้าสู่ตัวเองมากขึ้น จอมพล ป. มองว่า พระยาทรงสุรเดชเป็นคู่แข่งของตน ความขัดแย้งระหว่างตัวของจอมพล ป. กับพระยาทรงสุรเดช นำไปสู่เหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช ทำให้พระยาทรงสุรเดชต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ จอมพล ป. เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2481
ลัทธิชาตินิยมและรัฐนิยม
แก้ในช่วง พ.ศ. 2482 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี รัฐบาลได้อยู่ภายใต้ฝ่ายทหาร ซึ่งขณะนี้นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเรือนเสรีนิยม นำโดยปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำงานรวมกันอย่างสมานฉันท์เป็นเวลาหลายปี แต่เมื่อหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ความร่วมมือนี้กลับพังลง และการครอบงำของทหารกลายมาเด่นชัดขึ้น หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้เลื่อมใสเบนิโต มุสโสลินี และรัฐบาลของเขาเริ่มมีลักษณะฟาสซิสต์บางประการ ต้น พ.ศ. 2482 คู่แข่งทางการเมือง 40 คน ทั้งนิยมพระมหากษัตริย์และนิยมประชาธิปไตย ถูกจับกุม และหลังจากการพิจารณาคดีที่เป็นแผนหลอกลวง 18 คนถูกประหารชีวิต นับเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองครั้งแรกในสยามในรอบกว่าศตวรรษ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระยาทรงสุรเดช ต่างเสด็จลี้ภัย หลวงพิบูลสงครามเริ่มการรณรงค์ซึ่งเป็นการปลุกปั่นต่อชนชั้นธุรกิจชาวจีน โรงเรียนและหนังสือพิมพ์จีนถูกปิด และมีการเพิ่มภาษีต่อธุรกิจจีน
จอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) โฆษกด้านอุดมการณ์ของรัฐบาล ลอกเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อที่ฮิตเลอร์และมุสโสลินีใช้เพื่อสร้างลัทธิผู้นำ ด้วยตระหนักถึงพลังของสื่อมวลชน ทั้งสองจึงใช้การผูกขาดการแพร่สัญญาณวิทยุของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาล คำขวัญของรัฐบาลซึ่งเป็นที่นิยมมีการออกอากาศอย่างต่อเนื่องทางวิทยุและมีการปิดประกาศทางหนังสือพิมพ์และป้ายโฆษณา ภาพของหลวงพิบูลสงครามสามารถพบเห็นได้ทุกหนแห่งในสังคม ขณะที่พระบรมฉายาลักษณ์ของอดีตพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงวิจารณ์ระบอบเผด็จการ ถูกห้าม ในขณะเดียวกัน เขาผ่านกฎหมายเผด็จการออกมาจำนวนหนึ่งซึ่งให้อำนาจแก่รัฐบาลแทบไร้ข้อจำกัดในการจับและตรวจพิจารณาสื่ออย่างสมบูรณ์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือพิมพ์ได้รับคำสั่งให้พิมพ์แต่ข่าวดีที่ส่งมาจากแหล่งข่าวฝ่ายอักษะ ขณะที่ความคิดเห็นเสียดสีเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศถูกห้าม
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม มาเป็น ไทย[2] หมายถึง "ดินแดนของเสรีชน" (land of the free) ซึ่งนับเป็นท่าทีชาตินิยม เป็นการแสดงนัยเอกภาพของประชาชนที่พูดภาษาไททั้งหมด รวมทั้งภาษาลาวและภาษาฉาน คำขวัญของรัฐบาลได้เปลี่ยนเป็น "ประเทศไทยสำหรับคนไทย" (Thailand for the Thai) อีกทั้งจอมพล ป. ได้ประกาศนโยบาย มหาอาณาจักรไทย โดยเป็นนโยบายขยายดินแดนของไทย มีแนวความคิดจะรวม ประเทศลาว กัมพูชา รัฐฉาน ในพม่า มณฑลยูนนาน และ เวียดนาม เข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทย
การทำให้ทันสมัยยังเป็นอีกแก่นหนึ่งที่สำคัญในชาตินิยมไทยใหม่ของหลวงพิบูลสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ถึง 2485 เขาออกประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ นอกเหนือจากการกำหนดให้คนไทยทุกคนเคารพธงชาติ รู้จักเพลงชาติ และพูดภาษาไทยสำเนียงภาคกลางแล้ว รัฐนิยมดังกล่าวยังกระตุ้นให้คนไทยทำงานหนัก ติดตามข่าวสารปัจจุบัน และแต่งกายแบบตะวันตก ห้ามผู้ชาย นุ่งโสร่ง โจงกระเบน ผู้หญิงเลิกนุ่งผ้าซิ่น สไบ รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาตรวจตราตามสถานที่ต่าง ๆ มีการใช้กรรไกรมาตัดโจงกระเบนสำหรับผู้ที่ขัดขืนทิ้ง อีกทั้งจะมีคำสั่งห้ามกินหมาก โดยให้เจ้าหน้าที่ไปตัดทำลายต้นหมาก บางครั้งถึงขั้นจุดไฟเผาสวนหมาก ด้านการดนตรีได้มีคำสั่งให้นักดนตรีไทยห้ามนั่งเล่นดนตรี ต้องยืนเล่น และต้องมีใบอนุญาตเล่นดนตรีไทย หากขัดขืนก็จะถูกยึดเครื่องดนตรี
จนถึง พ.ศ. 2484 การเยาะเย้ยผู้พยายามส่งเสริมจารีตประเพณีไทยเป็นการผิดกฎหมาย โครงการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงวิจิตรศิลป์ด้วย การแสดงและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามและการทหารที่มีเนื้อหาชาตินิยมอย่างดุเดือดได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาล ความรักชาติมีสอนในโรงเรียนและเป็นแก่นไม่รู้จบในเพลงและการเต้นรำต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน หลวงพิบูลสงครามพยายามอย่างแข็งขันเพื่อขจัดอิทธิพลของผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์จากสังคม วันหยุดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ (royal holiday) แต่โบราณ ถูกแทนที่ด้วยเหตุการณ์แห่งชาติใหม่ และมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทยของชนชั้นสูง แม้แต่สถาบันสงฆ์ก็ยังได้รับผลกระทบเมื่อสถานภาพธรรมยุตินิกายที่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ถูกลดระดับลง
ขณะเดียวกัน โรงภาพยนตร์ทุกแห่งได้รับคำสั่งให้แสดงภาพของเขาในตอนจบการแสดงทุกครั้งราวกับเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ และผู้ชมถูกคาดหวังว่าจะลุกขึ้นยืนและโค้งคำนับ ลัทธิบูชาบุคคลที่กำลังเติบโตขึ้นของหลวงพิบูลสงครามอีกด้านหนึ่ง คือ การกลายมาปรากฏชัดในการตกแต่งอย่างเป็นทางการ เขาเกิดในปีระกา และสัญลักษณ์นี้เริ่มใช้แทนกงล้อ คล้ายกับการที่สีเขียว (สีประจำวันพุธอันเป็นวันเกิดของเขา) ก็ถูกใช้ในการตกแต่งเช่นกัน
กรณีพิพาทอินโดจีน
แก้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2483 คณะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งประชาชนร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลให้ทวงดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศสจากที่สูญเสียไปเมื่อคราววิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เช่น เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์ เป็นต้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ส่งทหารข้ามพรมแดนเข้าไปยึดดินแดนคืนทันที[3] ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก
เกิดการต่อสู้กันระหว่างทหารไทยกับทหารฝรั่งเศส ในบางช่วงทหารไทยสามารถจับทหารโมร็อกโกทหารประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสมาได้ และได้นำเชลยศึกเหล่านั้นมาแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ดูที่สวนสัตว์เขาดินวนา[ต้องการอ้างอิง] โดยการต่อสู้ที่เป็นที่กล่าวขานมากที่สุดคือ เกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อเรือหลวงธนบุรีของกองทัพเรือไทยประจัญบานกับเรือรบลามอตต์ปิเกต์ของฝรั่งเศส ที่สุดเรือหลวงธนบุรีในการบังคับบัญชาของนาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธ์ก็ถูกยิงจมลง นายทหารบนเรือเสียชีวิตรวม 36 นาย รวมทั้งตัวหลวงพร้อมวีระพันธ์เองด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างความเสียหายให้แก่เรือรบลามอตต์ปิเกต์ จนฝ่ายฝรั่งเศสไม่ส่งเรือรบมาลาดตระเวนในน่านน้ำอ่าวไทยอีก[ต้องการอ้างอิง]
ด้านกองทัพอากาศไทย เครื่องบินรบของไทยและฝรั่งเศสได้ปะทะกันในภาคตะวันออก การต่อสู้ที่ได้รับการกล่าวขานอย่างที่สุด คือ ในวันที่ 10 ธันวาคม เรืออากาศโท ศานิต นวลมณี ได้นำเครื่องขับไล่แบบคอร์แซร์เข้าโจมตีทิ้งระเบิดเมืองเวียงจันทน์ในระยะต่ำ เครื่องบินของเรืออากาศโทศานิตได้ถูกกระสุนปืนต่อสู้อากาศของฝ่ายฝรั่งเศส ทำให้เกิดไฟลุกท่วมเครื่องบิน นักบินพลปืนหลังได้เสียชีวิตทันทีเนื่องจากถูกกระสุน เรืออากากาศโทศานิตได้กระโดดร่มลงในฝั่งไทย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากถูกไฟคลอกและกระสุนทะลุหัวเข่า ถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานคร และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา[ต้องการอ้างอิง]
การต่อสู้ยังคงดำเนินไปถึงปลายเดือนมกราคม 2484 ไม่มีทีท่าว่าจะสงบ ทางญี่ปุ่นแสดงเจตจำนงเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง เหตุการณ์ได้จบลงโดยที่ฝรั่งเศสได้มอบดินแดนบางส่วนคืนให้แก่ไทย ฝ่ายไทยจึงจัดการปกครองเป็น 4 จังหวัด คือ จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดพระตะบอง จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง หลังสงคราม มีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้
เริ่มสงคราม
แก้หลังการเข้ามามีบทบาทของญี่ปุ่นในเหตุการณ์นี้ เป็นที่คาดหมายว่า ญี่ปุ่นจะยาตราทัพเข้าสู่ประเทศไทยแน่ในอนาคต[1][4][5] ขณะเดียวกัน จอมพล ป. ประกาศให้ประเทศไทยเป็นกลางโดยมีการออกประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลางพุทธศักราช พ.ศ. 2482 ขึ้น[6] และได้รณรงค์ให้ประชาชนปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ และการเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับต้น ๆ อย่างเข้มแข็ง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่นการออกพระราชบัญญัติสงวนอาชีพบางประเภท ที่ส่วนมากเป็นงานฝีมือ เฉพาะแก่คนไทย เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง]
ทูตทหารบกของกลุ่มประเทศตะวันตกประจำกรุงเทพมหานครแจ้งต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เร่งรัดปรับปรุงกองทัพ เพื่อรับมือกับสถานการณ์สงครามขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับทั้งมีความเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่น เพราะจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างหนัก และประเทศไทยจะหวังพึ่งชาติอื่นไม่ได้เลย ก่อนกองทัพญี่ปุ่นจะบุกเอเชียอาคเนย์ 2 เดือน บรรดาทูตทหารตะวันตกประจำประเทศไทยได้แจ้งให้ทราบเป็นการลับเฉพาะว่า ญี่ปุ่นจะบุกอินโดจีนผ่านประเทศไทยทางด้านอรัญประเทศ เพื่อมุ่งไปโจมตีพม่า และจะมีกำลังหนึ่งกองพลตรึงอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนอีกสี่กองทัพใหญ่จะกระจายขึ้นตามฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไปถึงโกตาบารู ซึ่งเป็นแผนการที่แน่นอน[ต้องการอ้างอิง]
มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศของท่านในเร็ววันนี้ ถ้าท่านถูกโจมตีจงป้องกันตนเอง การธำรงไว้ซึ่งอิสรภาพและอธิปไตยอันสมบูรณ์ของประเทศไทยคือผลประโยชน์ของบริเตน และเราจะถือว่าการโจมตีต่อท่านเสมือนเป็นการโจมตีขึ้นแก่ตัวเรา
— ข้อความจาก นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ถึงจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ลงวันที่ 8 ธันวาคม 1941[7]
บรรยากาศโดยทั่วไปทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ประชาชนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ในเหตุการณ์สงครามที่อาจเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพลงปลุกใจจำนวนมากได้ถูกเปิดขึ้นโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยส่วนมากจะเป็นเพลงมาร์ชของเหล่าทัพต่าง ๆ[ต้องการอ้างอิง]
ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานีและบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่นการรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร กล่าวคือ กลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลสั่งหยุดยิง เมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่ากลุ่มยุวชนทหารหลายคนเป็นเพียงนักเรียนมัธยมศึกษา จึงส่งหนังสือเชิดชูความกล้าหาญมายังกระทรวงกลาโหม และร้อยเอกถวิล นิยมเสน ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพันโท ส่วนการเชิดชูเกียรติของยุวชนทหารผู้เสียชีวิตและผู้ร่วมต่อสู้ในครั้งนั้น มีอนุสาวรีย์ยุวชนทหารอยู่ที่ริมสะพานท่านางสังข์ เป็นรูปยุวชนทหารพร้อมกับอาวุธปืนยาวติดดาบปลายปืน ในท่าเฉียงอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2524[ต้องการอ้างอิง]
ต่อมารัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 20.45 น.[8]โดยใช้บังคับทั่วประเทศไทย โดยมี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กฎอัยการศึกใช้ต่อเนื่องและยกเลิกในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2489 เวลา 6.00 น.[9]โดยมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ซึ่งในระยะแรกกองทัพญี่ปุ่นยังไม่อาจบุกเข้ามาได้ ทางญี่ปุ่นเองได้ประกาศว่า ไม่ต้องการยึดครองประเทศไทยแต่จะขอใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังพม่าและอินเดีย เท่านั้น การต่อสู้ทำท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไป จนกระทั่งอัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลาประมาณ 07.55 น. พร้อมกับคำขู่ว่า ญี่ปุ่นได้เตรียมเครื่องบินทิ้งระเบิดไว้ 250 ลำที่ไซ่ง่อน เพื่อจะมาทิ้งระเบิดกรุงเทพมหานคร ถ้าไทยไม่ยอมให้ผ่าน มีกำหนดเวลา 10.30 น.[10] รัฐบาลไทยเห็นว่า ไม่อาจต้านทานกองกำลังญี่ปุ่นได้นาน จึงยอมยุติการต่อสู้ และประกาศทางวิทยุให้ทุกฝ่ายหยุดยิง เมื่อเวลา 10.00 น. ในวันที่ 11 ธันวาคม และในวันที่ 17 ธันวาคม รัฐบาลไทยโดยจอมพล.ป ได้รับคำปรึกษาจากทูตทหารเยอรมันให้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเนื่องจากสถานการณ์ทางการรบของญี่ปุ่นกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ จนในที่สุดในอีก 4 วันต่อมา รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในวันที่ 25 มกราคม สถานการณ์ผลจากสงครามทวีความรุนแรงขึ้นอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ชักชวนรัฐบาลไทยให้ร่วมลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัวโดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญี่ปุ่นและเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานครและได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด[1]
ระหว่างสงคราม
แก้ในเวลานั้น ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากได้เข้าสู่พระนครเต็มไปหมด และได้ใช้สถานที่ทางราชการบางแห่งเป็นที่ทำการ รัฐบาลได้ประกาศให้ญี่ปุ่นเป็น มหามิตร ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนกับทางญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ การกระทำใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์มีโทษถึงประหารชีวิต[ต้องการอ้างอิง]
ในวันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา[1] ผลทำให้ไทยได้ดินแดนในแหลมมลายูที่เสียให้อังกฤษกลับคืน (จังหวัดมาลัย) ซึ่งในขณะเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกา หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ไม่ยอมรับการประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นของรัฐบาลไทย และตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นที่นั่นในวันที่ 12 ธันวาคม พร้อม ๆ กับขบวนการเสรีไทยในที่อื่น ๆ สมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนหลายคน เช่น ปรีดี พนมยงค์ ทวี บุณยเกตุ ควง อภัยวงศ์ ได้แยกตัวออกมา เนื่องจากไม่อาจรับกับการกระทำของรัฐบาลเช่นเดียวกัน และกลายมาเป็นขบวนการเสรีไทยในประเทศ
-
แผนที่สหรัฐไทยเดิม (พ.ศ. 2485–2488) และการอ้างสิทธิของไทยในพม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร
-
สี่รัฐมาลัยที่เป็นส่วนหนึ่งของบริติชมาลายาได้ถูกผนวกโดยไทย (พ.ศ. 2486–2488)
ทางรถไฟสายมรณะ
แก้ทางญี่ปุ่นก็ได้สร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่าหรือทางรถไฟสายมรณะเพื่อลำเลียงกองทัพไปรบยังพม่า ญี่ปุ่นได้เริ่มโครงการใน มิถุนายน 2485[11] โดยใช้แรงงานจากเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรในการก่อสร้าง[12] 16 กันยายน 2485 ลงนามข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายพม่า แยกจากทางรถไฟสายใต้ของไทยที่สถานีหนองปลาดุก ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ญี่ปุ่นขอยืมเงินไทย 4 ล้านบาทในการก่อสร้าง และต่อมา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ได้มีข้อบังคับออกตามความในกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ฉบับที่ 7 เพื่ออำนวยความสะดวกในการสร้างทางรถไฟ[13]
การร่วมมือทางการทหาร
แก้สำหรับความร่วมมือระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพไทยเกิดขึ้นภายหลังจากการทำ “ข้อตกลงร่วมรบระหว่างญี่ปุ่น-ไทย” เมื่อต้นปี พ.ศ. 2485 ถึงแม้ข้อตกลงฉบับนี้จะใช้คำว่าร่วมรบแต่อันที่จริงแล้ว กองทัพญี่ปุ่นหมายถึงการที่กองทัพไทยจะต้องอยู่ภายใต้การชี้นำของญี่ปุ่น[14] ซึ่งการร่วมรบระหว่างทหารญี่ปุ่นและทหารไทยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้เปรียบในการรบด้านพม่าตลอดจนถึงยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาล จอมพล ป. มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ครอบครอง เนื่องจากความเชื่อที่ว่าดินแดนดังกล่าวคือดินแดนที่ไทยสูญเสียให้กับอังกฤษในสมัยล่าอาณานิคม
ความปรารถนาดังกล่าวของไทยได้รับการตอบสนองจากกองทัพญี่ปุ่นและนำมาสู่การทำ “เค้าโครงในการร่วมรบระหว่างญี่ปุ่น-ไทยต่อจีน” ในเค้าโครงดังกล่าวกองทัพพายัพของไทยซึ่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของญี่ปุ่นโดยมีพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์เป็นแม่ทัพ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบุกพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ได้บุกเข้าไปทางรัฐฉานของพม่าและเข้ายึดเชียงตุงซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลที่ 93 ของจีนซึ่งเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยหวังจะรวมดินแดนที่ส่งกองทัพเข้ายึดดินแดนที่มีทรัพยากรจำนวนมาก ได้แก่ แคว้นรัฐฉาน (เชียงตุง เมืองพาน), รัฐกะยา รวมไปถึงเมืองตองยีและครึ่งใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ในเขตประเทศพม่าอีกด้วย[1][15] อีกทั้งยังได้เริ่มกำหนดนโยบายต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมกับจักรวรรดิญี่ปุ่น[ต้องการอ้างอิง] แต่ภายหลังจากเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าวได้แล้วก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ของญี่ปุ่นกับกองทัพพายัพของไทยในเรื่องการครอบครองดินแดนในรัฐฉาน ซึ่งสุดท้ายความขัดแย้งดังกล่าวสิ้นสุดลงภายหลังจากญี่ปุ่นยกเมืองเชียงตุงและเมืองพานให้กับไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2486 เมื่อคราวที่นายพลฮิเดะกิ โทโจ เดินทางมาเยือนกรุงเทพ[16] ส่วนดินแดนอื่นที่กองทัพไทยยึดได้ให้เป็นเขตทหารภายใต้การดูแลร่วมของไทยและญี่ปุ่น แต่ในแง่ปฏิบัติกองทัพไทยไม่มีอำนาจโดยตรงนอกจากการควบคุมของกองทัพประจำพม่าของญี่ปุ่นซึ่งขึ้นตรงต่อกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้อีกที
อย่างไรก็ตามรัฐบาลจอมพล.ป ได้นำดินแดนที่ญี่ปุ่นมอบให้ไปรวมกับสหรัฐไทยเดิม[17] หลังจากการเยือนของโตโจ จอมพล ป. กลับมองว่าญี่ปุ่นฉวยโอกาส เอาผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปและแบ่งผลประโยชน์ให้ฝ่ายไทยเพียงเล็กน้อย แม้ว่าญี่ปุ่นจะมอบดินแดนกันตรวดีเพิ่มเติมให้ก็ตาม[18]
หลังจากนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพระนคร การทิ้งระเบิดครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2485 สถานการณ์โดยทั่วไปในพระนครนั้น ประชาชนได้รับคำสั่งให้พรางไฟ คือการใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าขาวม้าปิดบังแสงไฟในบ้าน ให้เหลือเพียงแสงสลัว ๆ เพื่อป้องกันมิให้เครื่องบินของฝ่ายข้าศึกมาทิ้งระเบิดลงได้[ต้องการอ้างอิง] ส่วนสถานการณ์โดยรวมของสงคราม ฝ่ายอักษะมีทีท่าว่าจะได้รับชัยชนะในยุทธบริเวณยุโรปและแอฟริกาเหนือ ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นก็สามารถยึดมลายูและสิงคโปร์ได้แล้ว
ความขัดแย้งระหว่างไทยและญี่ปุ่น
แก้ในเดือนกันยายนเดียวกันนั้นญี่ปุ่นเตรียมการจัดตั้ง "กระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา" หรือ "วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" โดยมีความมุ่งประสงค์สำคัญคือ รวมประเทศต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกให้กระชับแน่นยิ่งขึ้น ประโยชน์เฉพาะหน้าคือรวบรวมกำลังไว้สำหรับดำเนินสงครามทั้งในทางวัตถุสัมภาระและทางยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นคิดว่า ถ้าชนะสงครามจะได้อาศัยประเทศเหล่านี้ เป็นแหล่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นตลาดจำหน่ายสินค้า ประเทศเหล่านี้จะเป็นยุ้งฉางสำหรับจะใช้เลี้ยงประชาชนพลเมืองญี่ปุ่นต่อไป การรวมประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวให้อยู่ภายใต้การ "คุ้มครอง" และ "การนำ" ของญี่ปุ่น รัฐบาลไทยซึ่งนำโดยจอมพล ป. มีนโยบาย มหาอาณาจักรไทย อยู่แล้วซึ่งขัดแย้งวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น และมองกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาเป็น กระทรวงอาณานิคม ในรูปแบบใหม่
เอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม ได้รายงานรัฐบาลไทยพร้อมทั้งความเห็น ในความไม่พอใจในการเรื่องการตั้งกระทรวงใหม่นี้ และแจ้งเรื่องร้องเรียนให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่า รัฐบาลไทยประท้วงและไม่เห็นด้วยกับกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้ทรงลงพระนามประกาศตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาในเดือน ตุลาคม 2485 จอมพล ป. ได้ตอบโต้โดยการไม่เข้าร่วมการประชุมมหาเอเชียบูรพา โดยส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรไปประชุมแทนเพราะถือว่าประเทศไทยไม่อยู่ใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น[19]
ทิ้งระเบิด
แก้การที่ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทางสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ส่งเครื่องบิน บี 24, บี 29 และ บริสตอล เบลนไฮม์ (Mk.1 L6739) ทิ้งระเบิด ทำลายสนามบิน ชุมทางรถไฟ ท่าเรือ สะพาน อันเป็นปมคมนาคมเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น พระนครและธนบุรีถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิดระหว่างปี พ.ศ. 2485 ถึง 2488 รวม 34 ครั้ง[ต้องการอ้างอิง] สถานที่ที่ถูกโจมตีได้แก่ สถานีรถไฟกรุงเทพ สถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานีรถไฟช่องนนทรีย์ สถานีรถไฟบางซื่อ โรงงานซ่อมสร้างหัวรถจักรมักกะสัน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ สะพานพุทธยอดฟ้า สะพานพระราม 6 ท่าเรือคลองเตย สนามบินดอนเมือง สถานทูตญี่ปุ่น ที่พักและคลังอาวุธของทหารญี่ปุ่น ที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานบริเวณถนนกาติ๊บ สนามเป้า กองสัญญาณทหารเรือข้างสวนลุมพินี ประตูทดน้ำบางซื่อ โรงเก็บสินค้าและโรงงาน[ต้องการอ้างอิง] การทิ้งระเบิดในระยะแรก ระหว่างปี 2486 ถึงกลางปี 2487 เป็นการโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางคืน ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2487 จึงได้เริ่มโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางวัน[ต้องการอ้างอิง] การทิ้งระเบิดมีการทิ้งผิดเป้าหมายที่ต้องการเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น วัดราชบุรณราชวรวิหาร ทำให้ภาพวาดของขรัวอินโข่งถูกทำลาย[ต้องการอ้างอิง] เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้มีแบบบี-24 ซึ่งส่วนใหญ่จะมาทิ้งระเบิดเวลากลางคืน ปืนต่อสู้อากาศยานได้ยิงต่อสู้โดยใช้ไฟฉายส่อง ค้นหาเป้าหมายแบบประสานกันจากจุดต่าง ๆ บนพื้นดิน เมื่อจับเป้าคือเครื่องบินได้แล้ว ก็เกาะเป้าไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปืนต่อสู้อากาศยาน ยิงทางเครื่องบินทิ้งระเบิด จะต่อสู้โดยยิงปืนกลอากาศสวนมาตามลำแสงของไฟฉาย ซึ่งจะเห็นได้จากกระสุนส่องวิถีจากปืนกลอากาศ ที่ยิงมาเป็นชุดยาว[ต้องการอ้างอิง]
ทางกองทัพอากาศไทยได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นต่อสู้สกัดกั้น แต่ไม่ได้ผลเพราะเครื่องบินที่มีสมรรถนะต่ำกว่า และต่อมาในระยะหลังที่ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบบี-29 ซึ่งจะบินมาเป็นหมู่ในระยะสูง ปืนต่อสู้อากาศยานยิงไม่ถึง จึงได้มีการมาทิ้งระเบิดเวลากลางวันอย่างเสรี อีกทั้งรัฐบาลต้องประกาศให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับการทิ้งระเบิด เมื่อมาถึงทางการจะเปิดเสียงสัญญาณหวอเสียงดังเพื่อเตือนให้ประชาชนได้ระวังตัว เช่น หลบอยู่ในหลุมพรางที่ขุดขึ้นเอง หรือพรางไฟ เป็นต้น แต่ประชาชนบางส่วนก็ได้อพยพย้ายไปอยู่ตามชานเมืองหรือต่างจังหวัด ตลอดจนลงไปอยู่ในหลุมที่ทางการจัดสร้างไว้ เป็นต้น ซึ่งการอพยพนั้นมักจะเดินกันไปเป็นขบวนกลุ่มใหญ่เหมือนขบวนคาราวาน โดยชานเมืองที่ผู้คนนิยมไปกันเป็นจำนวนมากคือ บริเวณถนนสุขุมวิท ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า บางกะปิ[ต้องการอ้างอิง]
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2487 ถึงเดือนมกราคม 2488 ประเทศไทยถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร ประมาณ 250 ครั้ง[ต้องการอ้างอิง] มีเครื่องบินเข้าปฏิบัติการประมาณ 2,490 เที่ยวบิน[ต้องการอ้างอิง] ทิ้งลูกระเบิดทำลายประมาณ 18,600 ลูก ระเบิดเพลิงประมาณ 6,100 ลูก ทุ่นระเบิดประมาณ 250 ลูก พลุส่องแสงประมาณ 150 ลูก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,900 คน บาดเจ็บประมาณ 3,000 คน อาคารถูกทำลายประมาณ 9,600 หลัง เสียหายประมาณ 1,200 หลัง รถจักรเสียหาย 73 คัน รถพ่วงเสียหาย 617 คัน เรือจักรกลเสียหาย 14 ลำ เรืออื่น ๆ ประมาณ 100 ลำทรัพย์สินเสียหายประมาณ 79 ล้านบาท[ต้องการอ้างอิง]
อุทกภัยปี 2485
แก้ในปลายปี 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นที่พระนครและธนบุรี[20] ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเลวร้ายลงไปอีก ซ้ำสภาพเศรษฐกิจของกินของใช้ก็ขาดแคลนไปแทบทุกอย่าง ทั้งข้าวสาร ยารักษาโรค ราคาข้าวสารถังละ 6 บาท แม้จะหาซื้อได้ยากอยู่แล้วก็ยังต้องกักตุนเพื่อให้ไว้สำหรับกองทัพญี่ปุ่นด้วย และมีพ่อค้าคนไทยบางส่วนได้กักตุนสินค้าไว้เพื่อโก่งราคา ซึ่งเรียกกันว่า ตลาดมืด และพ่อค้าที่ได้ผลประโยชน์ในครั้งนี้ว่า เศรษฐีสงคราม เพราะร่ำรวยไปตาม ๆ กันจากเหตุนี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อถึงคราวนี้ เครื่องบินบี 29 กลับไม่ได้มาทิ้งระเบิดเหมือนอย่างเคย[ต้องการอ้างอิง]
รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปิดทำเนียบรัฐบาลซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ให้ประชาชนทั่วไปมารับแจกข้าวสาร โดยนำหลักฐานคือสำมะโนครัวไปด้วย โดยทำการแจก 1 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ คณะผู้แจกโดยมากจะเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกและยุวชนทหาร[ต้องการอ้างอิง]
กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
แก้การบังคับบัญชาทางการทหารของญี่ปุ่นในระหว่างสงครามนั้นมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลายครั้ง โดยมีการสั่งการสูงสุดอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดที่กรุงโตเกียว ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบนในพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 มีเพียงฐานทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนฝรั่งเศสเท่านั้น จนกระทั่งภายหลังจากเข้ายึดดินแดนอาณานิคมตะวันตกได้บางส่วนแล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ที่เรียกว่า “กองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้” ที่สิงคโปร์
สำหรับทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาเคลื่อนไหวในไทยช่วงระยะแรกก่อนจัดตั้งกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยนั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ที่สิงคโปร์ จนกระทั่งเกิด “กรณีบ้านโป่ง” ที่เกิดการปะทะกันระหว่างทหารญี่ปุ่นกับราษฎรและตำรวจไทยที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้บานปลายใหญ่โตและทำให้พันธไมตรีที่เปราะบางระหว่างไทยและญี่ปุ่นเกิดรอยร้าวขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยงานราชการและราษฎรไทยเริ่มไม่ให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของกองทัพญี่ปุ่นมากขึ้น ดังนั้นภายหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงสถานการณ์ที่เปราะบางต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ จนกระทั่งเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มได้เปรียบในการรบที่พม่าและได้เริ่มผลักดันให้ญี่ปุนถอยไป ฝายญี่ปุ่นเห็นว่าฝ่ายสัมพันธมิตรอาจทำการโจมตีประเทศไทยจากทางฝั่งพม่า ดังนั้นญี่ปุ่นจึงได้จัดตั้ง ”กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” ขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 เพื่อให้เป็นกองกำลังสำหรับการสู้รบ โดยการป้องกันรักษากรุงเทพและประเทศไทยจากการรุกรานของสัมพันธมิตร
”กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” นั้นมีกองบัญชาการอยู่ที่หอการค้าจีนที่ถนนสาทร กรุงเทพ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโทอาเกโตะ นากามูระ โดยมีหน้าที่สำคัญสองประการคือ ป้องกันไทยซึ่งเป็นที่มั่นแนวหลังให้กับสมรภูมิพม่า และหน้าที่ในการดูแลกองทัพญี่ปุ่นที่เดินทัพผ่านประเทศไทย จะเห็นได้ว่าหน้าที่หลักทั้งสองของกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมีลักษณะในการดูแลความสงบเรียบร้อยมากกว่าที่จะเป็นกองทัพเพื่อการสู้รบ กล่าวจนถึงที่สุดก็คือการจัดตั้งกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยก็เพื่อรักษาวินัยของทหารญี่ปุ่นเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองนั่นเอง[21]
การที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อป้องกันการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมองรัฐบาลไทยของจอมพล ป. ในสถานะเดียวกันกับราชอาณาจักรอิตาลีซึ่งเห็นได้จากการที่สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่เกาะซิซิลีที่เยอรมนีส่งกองทัพเข้ามาตั้งฐานทัพในอิตาลีเพื่อปกป้องการคงอยู่ของพันธมิตรมุสโสลินี[22][23]
รัฐบาลพลเรือนควง อภัยวงศ์
แก้สงครามยิ่งดำเนินไปฝ่ายญี่ปุ่นก็ยิ่งเพลี่ยงพล้ำมากขึ้น เมื่อข่าวสถานการณ์ของการรบในพม่าของญี่ปุ่นเลวร้ายลงทุกที ฝ่ายสัมพันธมิตรทำลายแนวป้องกันที่อิรวะดีลงอย่างราบคาบ ประกอบกับการรบในทะเลของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เป็นตกฝ่ายเสียเปรียบ อำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. ค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากประเทศต้องตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบเหมือนกลุ่มประเทศอักษะ จอมพล ป. จึงเห็นว่าควรย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์เพราะมีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เพื่อเป็นฐานทัพลับเพื่อซ่องสุมกำลังไว้เพื่อรบขับไล่ญี่ปุ่น โดยวางแผนที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและหันมาประกาศสงครามกับญี่ปุ่น จนกระทั่ง 20 กรกฎาคม 2487 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลว่า "เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดารภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน...." จอมพล ป. จึงตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พันตรีควง อภัยวงศ์หนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 รัฐบาลของนาย ควง อภัยวงศ์ ได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ ว่า “จะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นโดยใกล้ชิดตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี” และให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นทุกประการ แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ได้แต่งตั้งบุคคลระดับหัวหน้าใน “องค์กรต่อต้านญี่ปุ่น” เป็นรัฐมนตรีด้วยกันหลายคน และได้ช่วยเหลือการดำเนินงานของขบวรการเสรีไทยอย่างลับ ๆ นอกจากนั้นผู้นำทางการเมืองและการปกครองสำคัญ ๆ หลายคนก็ได้เข้าร่วมในองค์การต่อต้านญี่ปุ่น เช่น พลตรีสังวร สุวรรณชีพ และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมตัว “เสรีไทย” จากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่เดินทางเข้าประเทศ
การลักทรัพย์ยามสงคราม
แก้ในเวลาเดียวกัน ก็เกิดขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นโดยคนไทยด้วยกันเอง เรียกว่า ขบวนการไทยถีบ ขบวนการนี้ทำหน้าที่ดักปล้นของเล็กของน้อย ยุทธปัจจัยต่าง ๆ ของกองทัพญี่ปุ่น ไปซ่อนตามป่าเขา โดยเฉพาะการตัดขบวนรถไฟขณะลำเลียงสิ่งของต่าง ๆ ให้ขาดจากกัน อีกทั้งบางครั้งยังแอบเข้าไปลักลอบขโมยดาบซามูไรของทหารญี่ปุ่นในเวลาหลับอีกด้วย เรียกว่า ไทยลักหลับ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ขบวนการนี้บางครั้งขโมยแม้แต่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทยเอง เช่น ลวดทองแดง สายโทรศัพท์ เป็นต้น อีกทั้งขบวนการเสรีไทยก็ไม่ได้นับขบวนการไทยถีบเป็นแนวร่วมแต่อย่างใด
นอกจากนี้ มีการปล้นทหารญี่ปุ่นกันอย่างหนัก ซึ่งมีทั้งใช้การปล้นสะดมด้วยการรมยาให้หลับ ที่สุดมีแม้แต่การปล้นในเวลากลางวัน โดยที่โจรถึงกับทักทายทหารญี่ปุ่นก่อนลงมือปลดทรัพย์สินและอาวุธ หรือ ปล้นทหารญี่ปุ่นด้วยไม้ตะพดชิงเอาอาวุธปืนไปได้ โดยไม่เกรงกลัวอาญาแผ่นดิน
หลังสงคราม ตำรวจต้องระดมกำลังปราบปรามบรรดาโจรผู้ร้ายซึ่งมีอาวุธที่ชิงมาจากทหารญี่ปุ่น และ บรรดาเสือร้ายต่าง ๆ เช่น กรณีการถล่มชุมโจรที่บางไผ่ ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง อำเภอปากท่อ ราชบุรี และ จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ ปี พ.ศ. 2490 กว่าจะราบคาบ ก็กินเวลาหลายปี
หลังสงคราม (จนถึง พ.ศ. 2493)
แก้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะทรงประกาศยอมจำนนและมีพระบรมราชโองการให้ทหารญี่ปุ่นทั่วโลกวางอาวุธ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ทางญี่ปุ่นก็ได้ทำพิธียอมจำนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ที่อ่าวโตเกียว พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้ออก "ประกาศสันติภาพ"[24] มีผลให้การประกาศสงครามของไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้ลาออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และร้องขอให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ด้านหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก็สามารถเจรจากับอังกฤษและสามารถตกลงกันได้ในที่สุด[21]
การยอมจำนนครั้งนี้ส่งผลให้ผู้นำประเทศหลายประเทศที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ตกเป็นอาชญากรสงครามทั้งสิ้น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ซึ่งจะต้องถูกแขวนคอในข้อหาอาชญากรสงคราม พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เร่งรีบออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและออกกฎหมายที่เรียก ประกาศสันติภาพ มีผลให้การประกาศสงครามของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ โดยอ้างเหตุว่าขณะที่ประกาศสงครามนั้นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ลงนามด้วย สภาพเศรษฐกิจโดยร่วมขณะนั้นย่ำแย่ ประกอบกับประเทศสัมพันธมิตรบางประเทศอย่างอังกฤษไม่ยอมรับในสถานภาพนี้ของไทย และเรียกร้องสิทธิบางประการกับไทยเสมือนประเทศที่แพ้สงครามอื่น ๆ ด้วย ซึ่งต่อมา พันตรี ควง อภัยวงศ์ จึงได้ลาออก และ ทวี บุณยเกตุ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อรอการกลับมาของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตที่สหรัฐอเมริกาและหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่นั่น เพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำร้องขอของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 กันยายน และได้ดำเนินการเจรจาตกลงข้อสัญญาบางประการกับอังกฤษ ไทยได้ตกลงทำสัญญาที่เรียกว่า สัญญาความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร ประกอบด้วยสัญญา 24 ข้อ[25] จนแล้วเสร็จได้ทำบันทึกอย่างเป็นทางการลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 เป็นอันเสร็จภารกิจและ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก็ได้ยื่นใบลาออกในวันนั้นทันที ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2489 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรที่ใช้มา 4 ปี 1 เดือน เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2489
การเสด็จนิวัติพระนคร
แก้ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จนิวัติพระนครพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งการเสด็จนิวัติประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ
การดำเนินการอาชญากรสงคราม
แก้ระหว่างนี้ได้มีการออกกฎหมายอาชญากรสงครามมาเพื่อให้ผู้กระทำผิดต้องขึ้นศาลไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมทั้งอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาระดับสูงหลายคน เช่น หลวงวิจิตรวาทการ, จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, พลเอกมังกร พรหมโยธี เป็นต้น จึงถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในประเทศไทย และต่อมาไม่ต้องรับโทษเพราะศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังและอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ระบุเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายอาชญากรสงคราม ทั้งนี้มีผู้วิจารณ์ว่าการออกกฎหมายอาชญากรสงครามก็เพื่อไม่ให้คนไทยถูกส่งไปดำเนินคดีในต่างประเทศอันจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศและทำให้เสียเปรียบในการเจรจาหลังสงคราม หรือบางแหล่งก็ว่าเป็นการช่วยเหลือจอมพล ป. ให้พ้นโทษ ในขณะที่อาชญากรสงครามของประเทศอื่น ๆ ถูกจับกุมและประหารชีวิตในที่สุด[ต้องการอ้างอิง]
ข้อพิพาทอังกฤษ-สหรัฐต่อประเทศไทย
แก้อังกฤษถือว่าการที่ไทยได้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่ออังกฤษ ได้สร้างความเสียหายต่ออังกฤษและอังกฤษมีสิทธิจะเรียกร้องความเสียหายนั้นจากไทย นอกจากนี้ อังกฤษยังต้องการรื้อฟื้นระบบอาณานิคมของตนในเอเชียตะวันออกขึ้นมาใหม่[26] หลังจากที่อิทธิพลของตนในอาณานิคมต่าง ๆ เสื่อมถอยลงจากการรุกรานของญี่ปุ่น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ท่าทีของอังกฤษขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่อยากถูกมองว่าเข้าร่วมสงครามเพื่อรักษาระบบอาณานิคมของชาติใด[26] สหรัฐต้องการจัดระเบียบโลกใหม่ให้เป็นตามกฎบัตรแอตแลนติก หนึ่งในนโยบายของสหรัฐคือการคงเอกราชของไทยไว้เพื่อเป็นตัวอย่างนโยบายของตัวเองต่อภูมิภาค สหรัฐกรานปกป้องไทยซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก[26] โดยถือว่าไทยในขณะนั้นเป็นดินแดนที่ถูกข้าศึกครอบครอง และไม่ยอมรับว่าไทยประกาศสงครามต่อตัวเองตามแนวคิดของขบวนการเสรีไทย
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 E. Bruce Reynolds. (1994) Thailand and Japan's Southern Advance 1940–1945. St. Martin's Press ISBN 0-312-10402-2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Reynolds-1994" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ Thailand (Siam) History, CSMngt-Thai.
- ↑ Vichy versus Asia: The Franco-Siamese War of 1941
- ↑ Charivat Santaputra (1985) Thai Foreign Policy 1932–1946. Thammasat University Press. ISBN 974-335-091-8
- ↑ Judith A. Stowe. (1991) Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue. University of Hawaii Press. ISBN 0-8248-1393-6
- ↑ "ประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลางพุทธศักราช 2482." ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 แผนกฤษฎีกา. หน้า 847-849. 5 กันยายน 2482.
- ↑ Prime Minister Winston Churchill's Broadcast on War With Japan
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/1781.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/007/66.PDF
- ↑ พีระพงศ์ ดามาพงศ์, ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 5, 2550 ISBN 978-974-7297-29-0
- ↑ roll-of-honour.org.uk
- ↑ MacPherson, Neil. "Death Railway Movements". สืบค้นเมื่อ 6 January 2015.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/065/1724.PDF
- ↑ โยชิกาวา โทชิฮารุ, สัญญาไมตรี ญี่ปุ่น-ไทย สมัยสงคราม, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2550)
- ↑ Young, Edward M. (1995) Aerial Nationalism: A History of Aviation in Thailand. Smithsonian Institution Press. ISBN 1-56098-405-8
- ↑ พวงทิพย์ เกียรติสหกุล, “กองทัพญี่ปุ่นกับทางรถไฟสายใต้ของไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ. 2484-2488.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (สาขาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 84-93.
- ↑ Ronald Bruce St. John, The Land Boundaries of Indochina: Cambodia, Laos and Vietnam, p. 20
- ↑ Aung Tun 2009: 203–204, 205–206
- ↑ Peter Dumus, Roman H. Meyers, and Mark R. Peattie, eds. (1996) The Japanese Wartime Empire, 1931-1945. Princeton University Press Press. ISBN 9780691145068
- ↑ D. Proverbs, S. Mambretti, C.A. Brebbia and D. de Wrachien, eds. (2012) Flood Recovery, Innovation and Response III. WIT Press. ISBN 9781845645885, p. 158
- ↑ 21.0 21.1 ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 436
- ↑ James F. Dunnigan. The World War II Bookshelf: Fifty Must-Read Books. Kensington Pub Corp, 2005 ISBN 0-8065-2649-1, p.16
- ↑ E Bruce Reynolds. (2005) Thailand's Secret War: The Free Thai, OSS, and SOE during World War II. Cambridge University Press. ISBN 0-521-83601-8
- ↑ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 429
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-10. สืบค้นเมื่อ 2013-06-26.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ 26.0 26.1 26.2 พบบันทึกลับยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เผยข้อมูลใหม่ อังกฤษเปรียบไทยเป็น “ฟินแลนด์แห่งตะวันออก” มติชนออนไลน์. 7 เมษายน 2560
- หนังสือ 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย โดย ส.คลองหลวง
- หนังสือชีวลิขิต โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
- วินทร์ เลียววาริณ. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2537. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8585-47-6