วอลเลย์บอล

กีฬาประเภททีม

วอลเลย์บอล (อังกฤษ: Volleyball) เป็นกีฬาที่แข่งขันกันระหว่าง 2 ทีม ทีมละ 6 คน รวมตัวรับอิสระ 1 คน โดยแบ่งแดนจากกันด้วยตาข่ายสูง แข่งทำคะแนนจากลูกบอลที่ตกในเขตแดนของฝ่ายตรงข้ามเพื่อตีลูกวอลเลย์บอลลงแดนศัตรู

วอลเลย์บอล
การเล่นกีฬาวอลเลย์บอลทั่วไป
สมาพันธ์สูงสุดสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ
เล่นครั้งแรกค.ศ. 1895 เมืองโฮลีโยค รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
ลักษณะเฉพาะ
การปะทะไม่มี
ผู้เล่นในทีม6 คน
แข่งรวมชายหญิงเดี่ยว
หมวดหมู่กีฬาประเภททีม กีฬาตาข่าย
อุปกรณ์ลูกวอลเลย์บอล
จัดแข่งขัน
ประเทศ ภูมิภาคทั่วโลก
โอลิมปิกค.ศ. 1964

ประวัติ

ต้นกำเนิดกีฬาวอลเลย์บอล

 
วิลเลียม จี. มอร์แกน

กีฬาวอลเลย์บอลถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1895 โดยนายวิลเลียม จี. มอร์แกน ผู้อำนวยการฝ่ายพลศึกษาของสมาคม วายเอ็มซีเอ เมืองฮอลโยค รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศอเมริกา ซึ่งได้เกิดขึ้นเพียง 1 ปี ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ ครั้งที่ 1 ณ กรุงเอเธนส์ โดยเขามีความคิดที่ต้องการให้มีกีฬาสำหรับเล่นในช่วงฤดูหนาวแทนกีฬากลางแจ้งเพื่อออกกำลังกายพักผ่อนหย่อนใจยามหิมะตก

เขาได้เกิดแนวความคิดที่จะนำลักษณะและวิธีการ เล่นของกีฬาเทนนิสมาดัดแปลงใช้เล่น จึงใช้ตาข่ายเทนนิสซึ่งระหว่างเสาโรงยิมเนเซียม สูงจากพื้นประมาณ 6 ฟุต 6 นิ้ว และใช้ยางในของลูกบาสเกตบอลสูบลมให้แน่น แล้วใช้มือและแขนตีโต้ข้ามตาข่ายกันไปมา แต่เนื่องจากยางในของลูกบาสเกตบอลเบาเกินไป ทำให้ลูกบอลเคลื่อนที่ช้าและทิศทางที่เคลื่อนไปไม่แน่นอน จึงเปลี่ยนมาใช้ลูกบาสเกตบอล แต่ลูกบาสเกตบอลก็ใหญ่ หนักและแข็งเกินไป ทำให้มือของผู้เล่นได้รับบาดเจ็บ

จนในที่สุดเขาจึงให้บริษัท Ant G. Spalding and Brother Company ผลิตลูกบอลที่หุ้มด้วยหนังและบุด้วยยาง มีเส้นรอบวง 25-27 นิ้ว มีน้ำหนัก 8-12 ออนซ์ หลังจากทดลองเล่นแล้ว เขาจึงตั้งชื่อเกมการเล่นนี้ว่า "มินโทเนตต์" (Mintonette)

ค.ศ.1896 ได้มีการประชุมสัมมนาผู้นำทางพลศึกษาที่วิทยาลัยสปริงฟีลด์ (Spring-field College) นายวิลเลียม จี มอร์แกน ได้สาธิตวิธีการเล่นต่อหน้าที่ประชุมหลังจากที่ประชุมได้ชมการสาธิต ศาสตราจารย์ อัลเฟรด ที เฮลสเตด (Alfred T. Helstead) ได้เสนอแนะให้มอร์แกนเปลี่ยนจากมินโทเนตต์ (Mintonette) เป็น "วอลเลย์บอล" (Volleyball) โดยให้ความเห็นว่าเป็นวิธีการเล่นโต้ลูกบอลให้ลอยข้ามตาข่ายไปมาในอากาศ โดยผู้เล่นพยายามไม่ให้ลูกบอลตกพื้น

ค.ศ. 1928 ดร.จอร์จ เจ ฟิเชอร์ (Dr. George J. Fisher) ได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกติกาการเล่นวอลเลย์บอล เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลในระดับชาติ และได้เผยแพร่กีฬาวอลเลย์บอลจนได้รับสมญานามว่า บิดาแห่งกีฬาวอลเลย์บอล

การเข้ามาในประเทศไทย

วอลเลย์บอลได้แพร่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงไหนนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ชาวไทยบางกลุ่มเริ่มเล่นและแข่งขันวอลเลย์บอลในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 2477 กรมพลศึกษาได้จัดพิมพ์กติกาเผยแพร่โดยอาจารย์นพคุณ พงษ์สุวรรณซึ่งจัดให้มีการแข่งขันกีฬาประจำปีและบรรจุกีฬาวอลเลย์บอลหญิงเข้าไว้ในรายการแข่งขันเป็นครั้งแรกโดยใช้กติกาการเล่นระบบ 9 คน และตั้งแต่นั้นมากีฬาวอลเลย์บอลก็พัฒนาขึ้นมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปี 2500 ได้มีการประชุมหารือพิจารณาจัดตั้งสมาคมขึ้นมารับผิดชอบ จนกระทั่งมีการจัดตั้งสมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (Amateur Volleyball Association of Thailand) อย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 และเปลี่ยนระบบการแข่งขันเป็น 6 คน และต่อมาได้บรรจุเข้าในหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเมื่อปี 2521 หลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อปี 2524[1]

องค์กรบริหารกีฬาวอลเลย์บอล

สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Volleyball Association) เป็นองค์กรกีฬาระดับชาติ สำหรับบริหารกิตติกีฬาวอลเลย์บอลของไทย ทำหน้าที่จัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลอย่างเป็นทางการ ทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด และให้การสนับสนุนวอลเลย์บอลทีมชาติของไทย สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกของสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กีฬาวอลเลย์บอลของไทยเป็นที่ยอมรับทั้งระดับทวีปและระดับโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก กรุงเทพมหานคร

สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย (อังกฤษ: Asian Volleyball Confederation (AVC)) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า เอวีซี เป็นองค์กรกีฬาระดับทวีป สำหรับบริหารกีฬาวอลเลย์บอลในทวีปเอเชียและเขตโอเชียเนีย ทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียเป็นสมาชิกของสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ (ฝรั่งเศส: Fédération Internationale de Volleyball (FIVB)) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า เอฟไอวีบี เป็นองค์กรกีฬาระดับโลก เป็นองค์กรสูงสุดสำหรับบริหารกีฬาวอลเลย์บอล ทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สนาม

  • ขนาดสนาม ยาว 18 เมตร กว้าง 9 เมตร ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งแดนด้วยตาข่าย ทำให้เกิดพื้นที่แดนละ 9×9 เมตร
  • พื้นที่โล่ง พื้นที่โล่งเหนือสนามควรสูงอย่างน้อย 7 เมตร แต่แนะนำที่สูง 8 เมตร ส่วนพื้นที่โล่งรอบสนามควรกว้างอย่างน้อย 3 เมตรขึ้นไป ในการแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดพื้นที่โล่งเหนือสนามที่ 12.5 เมตร ด้านข้าง 5 เมตร ด้านหลัง 6.5 เมตร
  • สีพื้นสนาม สีพื้นสนามต้องเป็นสีอ่อนและสีแตกต่างกับพื้นที่โล่งรอบสนาม
  • ตาข่าย กว้าง 1 เมตร ขึงเหนือเส้นกลางสนาม แถบบนของตาข่ายกว้าง 7 ซม.
    • ประเภทชาย ส่วนบนของตาข่ายจะสูงจากพื้นสนาม 2.43 เมตร (8 ฟุต)
    • ประเภทหญิง ส่วนบนของตาข่ายจะสูงจากพื้นสนาม 2.24 เมตร (7 ฟุต 4 นิ้ว)
  • เส้นขอบสนาม เป็นเส้นสีขาวรอบพื้นที่สนาม กว้าง 2 นิ้ว (5 ซม.) ประกอบด้วยเส้นข้างและเส้นหลัง ถือเป็นเส้นแสดงขอบเขตและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สนาม
  • เส้น 3 เมตร เป็นเส้นที่ขนานกับตาข่าย โดยห่างจากตาข่าย 3 เมตรทั้งสองแดน เส้นนี้จะแบ่งแดนแต่ละฝั่งออกเป็นแดนหน้ากับแดนหลัง เป็นเส้นกำหนดขอบเขตการโจมตีของผู้เล่นแดนหลัง
  • เส้นจำกัดขอบเขตผู้ฝึกสอน เป็นเส้นประที่วาดต่อจากเส้นรุกออกไปด้านข้างยาว 1.75 เมตร แล้วจึงลากตั้งฉากโดยขนานไปกับเส้นข้างจนสุดเส้นหลังของสนาม
  • เสาอากาศ เป็นเสาที่ติดอยู่ข้างตาข่ายทั้ง 2 ด้านและอยู่เหนือเส้นข้างของสนาม เสาสูง 1.8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 มม. เสาอากาศมักมีแถบสีแดงสลับขาว เสาอากาศจะยื่นขึ้นไปด้านบนนับจากด้านบนตาข่าย 80 ซม. เพื่อแสดงสมมติฐานแนวเพดานของเส้นข้าง บอลจะข้ามตาข่ายอย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อบอลผ่านระหว่างเสาอากาศทั้ง 2 ด้านและไม่สัมผัสโดนเสาอากาศ
  • อุณหภูมิ อุณหภูมิภายในสนามไม่ควรต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ส่วนการแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดอุณหภูมิอยู่ในช่วง 16–25 องศาเซลเซียส
  • แสง การแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดที่ 1,000–1,500 ลักซ์โดยวัดที่ระดับจากพื้นสนามขึ้นมา 1 เมตร

บอล

 
สนามวอลเลย์บอล

สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ กำหนดว่าบอลต้องมีลักษณะทรงกลม ทำจากหนังหรือหนังสังเคราะห์ มีเส้นรอบวง 65–67 ซม. หนัก 260–280 กรัม และแรงดันภายใน 0.30–0.325 กก./ตร.ซม. โดยอาจเป็นสีเดียวหรือหลากสีประกอบกัน ถ้าจำเป็น

ผู้เล่น

ผู้เล่นในสนามมี 2 ทีม ทีมละ 6 คน แดนหลังประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่งที่ 5, 6 และ 1 ส่วนแดนหน้าประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่งที่ 4, 3 และ 2 โดยนับจากซ้าย(ดังรูป) ตำแหน่งที่ 1 คือ ตำแหน่งผู้เล่นเสิร์ฟ

  • ตัวตั้ง หรือ ตัวเซ็ต (Setter) มักต่อบอลในบอลที่สองโดยการตั้งบอลไปยังตัวรุกเพื่อทำคะแนน ตัวเซ็ตต้องมีลักษณะที่ปราดเปรียวว่องไว ไหวพริบดี มียุทธวิธีในการเลือกตัวรุกเพื่อทำคะแนน
  • ตัวบล็อกกลาง หรือ ตัวตีกลาง (Middle blocker / Middle hitter) คือผู้เล่นที่สามารถรุกได้อย่างรวดเร็วโดยมักอยู่ใกล้ตัวเซ็ต รวมทั้งมีการบล็อกที่ดี นอกจากนี้ยังต้องสามารถขึ้นบล็อกคู่ด้านข้างของสนามได้เป็นอย่างดี แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 คน
  • ตัวตีด้านนอก หรือ ตัวตีด้านซ้าย (Outside hitter / Left side hitter) บางครั้งเรียกว่า ตัวตีหัวเสา ทำหน้าที่บุกจากเสาอากาศด้านซ้าย มักจะเป็นตัวตบที่คงเส้นคงวาที่สุดของทีมและมักจะได้บอลจากตัวเซ็ตมากที่สุด กรณีรับบอลแรกไม่เข้าจุด ตัวเซ็ตจำเป็นต้องเซ็ตลูกโด่ง ท้ายที่สุดมักจะเซ็ตบอลมาให้ตำแหน่งนี้ แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 ค
  • ตัวตีตรงข้าม หรือ ตัวตีด้านขวา (Opposite hitter / Right side hitter) รับหน้าที่เป็นแนวหน้าปกป้องเกมรุกของคู่แข่งเป็นหลัก อยู่บริเวณเสาอากาศด้านขวา โดยคอยบล็อกตัวตีด้านซ้ายของคู่แข่ง และยังเป็นดั่งตัวเซ็ตสำรองด้วย
  • ตัวรับอิสระ หรือ ลิเบโร (Libero) คือผู้เล่นที่ชำนาญเกมรับเป็นพิเศษและไม่จำเป็นต้องตัวสูง ถือเป็นตัวที่ต่อบอลได้ดีที่สุดของทีม และจะต้องสวมชุดที่ต่างจากผู้เล่นคนอื่นในทีม ลิเบโรไม่มีสิทธิ์บล็อกหรือตีบอลขณะบอลอยู่เหนือตาข่ายได้ เมื่อเกมหยุด ลิเบโรสามารถเปลี่ยนตัวกับผู้เล่นแดนหลังได้โดยไม่ต้องแจ้งผู้ตัดสินและจะไม่นับรวมว่าเป็นการเปลี่ยนตัวของทีม ลิเบโรสามารถเซ็ตบอลเหนือศีรษะคล้ายตัวเซ็ตได้ก็ต่อเมื่อยืนอยู่หลังเส้นรุกเท่านั้น นอกจากนี้ลิเบโรไม่มีสิทธิ์เสิร์ฟบอล (ยกเว้นในบางองค์กร เช่น NCAA อนุญาตให้เสิร์ฟได้)

การเล่น

 
ตำแหน่งผู้เล่นวอลเลย์บอล
  • กรรมการผู้ตัดสินจะเสี่ยงเหรียญเพื่อหาทีมที่จะได้เลือกระหว่าง เสิร์ฟ/รับเสิร์ฟ หรือเลือกแดน โดยจะทำการเสี่ยงเหรียญในเซ็ตแรกและเซ็ตตัดสิน
  • ผู้เสิร์ฟ จะต้องเสิร์ฟจากด้านหลังของสนามโดยยืนไม่เลยแนวเส้นข้างและห้ามเหยียบเส้นหลัง โยนบอลและตีกลางอากาศให้บอลข้ามตาข่ายไปยังแดนของคู่แข่งภายใน 8 วินาทีหลังกรรมการให้สัญญาณ
  • ขณะที่มีการเสิร์ฟโดยถูกกติกา แต่มีผู้เล่นยืนผิดตำแหน่งในขณะนั้น ทีมที่ยืนผิดตำแหน่งจะเสียคะแนน แต่หากคนเสิร์ฟทำผิดกติกาแม้จะมีการยืนผิดตำแหน่งในขณะนั้นก็จะถือว่าทีมที่เสิร์ฟเป็นฝ่ายเสียคะแนน
  • ห้ามผู้เล่นทีมรับเสิร์ฟทำการบล็อกหรือตบบอลที่ถูกเสิร์ฟมา
  • บอลสามารถสัมผัสตาข่ายได้ทั้งในการเสิร์ฟและระหว่างเล่น แต่ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์สัมผัสตาข่ายในขณะที่บอลยังถูกเล่นอยู่ตามกติกา
  • เมื่อเสิร์ฟบอลข้ามตาข่าย แล้วบอลลงในแดนคู่แข่งทันที หรือคู่แข่งพยายามรับบอลจนบอลออกนอกสนามไป เรียกว่า เอซ (Ace) ทีมที่เสิร์ฟจะได้คะแนนนั้น
  • ผู้เล่นทีมรับเสิร์ฟ จะต้องพยายามรับบอลแรกโดยไม่ปล่อยให้บอลตกลงพื้นในแดนของตน และต่อบอลไปยังผู้เล่นที่เรียกว่าตัวเซ็ต เพื่อตั้งบอลให้กับผู้เล่นที่จะตีบอลรุกไปยังแดนตรงข้ามเพื่อทำคะแนน เมื่อบอลตกลงพื้นหรือเกิดความผิดพลาดต่างๆ จะถือว่าการเล่นคะแนนนั้นได้สิ้นสุดลง
  • ผู้เล่นแต่ละทีม มีสิทธิ์ต่อบอลได้ไม่เกิน 3 ครั้งก่อนตีไปยังแดนคู่แข่ง (ไม่นับรวมการบล็อก) โดยผู้เล่นแต่ละคนไม่มีสิทธิ์ต่อบอลติดต่อกัน 2 ครั้ง ยกเว้นมีผู้เล่นคนอื่นมาต่อบอลคั่นก่อน 1 ครั้งจึงจะต่อบอลได้อีก
  • ผู้เล่นตำแหน่งแดนหลังและลิเบโร ไม่มีสิทธิ์กระโดดตีบอลหรือบล็อกบอลได้ ยกเว้นผู้เล่นแดนหลังกระโดดมาจากหลังเส้น 3 เมตรเพื่อตีบอล
  • ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ใช้ผู้เล่นคนอื่นในการส่งตัวเองเพื่อให้เข้าถึงบอล
  • ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์เล่นบอลหากบอลยังอยู่ในแดนของคู่แข่ง
  • เมื่อบอลสัมผัสพื้นสนามหรือมีความผิดพลาดในการเล่น ฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดพลาดจะได้คะแนนนั้นไป และทีมที่ได้คะแนนจะต้องเป็นฝ่ายเสิร์ฟในคะแนนต่อไป
  • เมื่อทีมที่เสิร์ฟสามารถทำคะแนนได้ ผู้ที่เสิร์ฟในคะแนนถัดไปต้องเป็นผู้เล่นในตำแหน่งเดิม แต่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นมาเสิร์ฟได้
  • เมื่อทีมที่เสิร์ฟเสียคะแนนนั้น ผู้เล่นอีกฝ่ายจะได้สิทธิ์เสิร์ฟคะแนนถัดไปแทน แต่ต้องหมุนตำแหน่งไปตามเข็มนาฬิกาเพื่อเปลี่ยนคนไปเสิร์ฟ กล่าวคือ ผู้เล่นตำแหน่งที่ 2 ต้องหมุนลงมาตำแหน่งที่ 1 เพื่อเสิร์ฟ และตำแหน่งอื่นๆต้องหมุนตามมาเช่นกัน คือ 2>1>6>5>4>3>2 (ดังรูป)
  • เปลี่ยนแดนเมื่อจบแต่ละเซ็ต ส่วนเซ็ตที่ 5 หรือเซ็ตตัดสินจะเปลี่ยนแดนเมื่อทีมใดทีมหนึ่งถึงคะแนนที่ 8 ก่อน

การนับคะแนนในเกม

กำหนดจำนวนเซ็ต (Set) เพื่อตัดสินทีมที่ชนะการแข่งขัน โดยมักกำหนดไว้ที่ชนะ 3 ใน 5 เซ็ต ยกเว้นในบางการแข่งขันที่กำหนดเองเฉพาะกิจ

  • เซ็ตที่ 1 ถึงเซ็ตที่ 4 ทีมใดทำได้ 25 คะแนนก่อนจะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น แต่ถ้าคะแนนเสมอกันที่ 24-24 จะต้องเล่นต่อไป เรียกว่า ดิวซ์ (Deuce) จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่าย 2 คะแนน จึงจะจบเซ็ต
  • เซ็ตที่ 5 ซึ่งเป็นเซ็ตตัดสินผู้ชนะการแข่งขัน ทีมที่ทำได้ 15 คะแนนก่อน จะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น แต่ถ้าคะแนนเสมอกันที่ 14-14 จะต้องเล่นดิวซ์ จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่าย 2 คะแนน จึงจะจบการแข่งขัน[2]

การให้คะแนนจากนัดที่แข่งขัน

ในรายการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับลีก (League) หรือทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เช่นการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม จะมีการคิดคะแนนจากผลการแข่งขันในแต่ละนัดที่แข่งขัน (Match) เพื่อตัดสินทีมที่อันดับดีที่สุด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการคิดคะแนนที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนี้

  • ได้ 3 คะแนนต่อนัด เมื่อ ชนะ 3–0 เซ็ต หรือ 3–1 เซ็ต
  • ได้ 2 คะแนนต่อนัด เมื่อ ชนะ 3–2 เซ็ต
  • ได้ 1 คะแนนต่อนัด เมื่อ แพ้ 2–3 เซ็ต
  • ไม่ได้คะแนน เมื่อ แพ้ 0–3 เซ็ต หรือ 1–3 เซ็ต

อนึ่ง ในบางรายการจะตัดสินทีมที่อันดับดีกว่าโดยดูจากจำนวนนัดที่ชนะก่อนจะดูจากคะแนนที่ได้ และหากหลายทีมมีคะแนนเท่ากัน ก็จะใช้ค่าเพิ่มเติมมาตัดสินอันดับ คือ

  • อัตราส่วนเซ็ตที่ได้ต่อเซ็ตที่เสียจากทุกนัด
  • อัตราส่วนคะแนนที่ได้ในเกมต่อคะแนนที่เสียในเกมจากทุกนัด

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "ความเป็นวอลเลย์บอล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-08. สืบค้นเมื่อ 2015-02-18.
  2. สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ (FIVB)