ข้ามไปเนื้อหา

คลองเปรมประชากร

พิกัด: 13°45′41″N 100°30′43″E / 13.76126°N 100.51182°E / 13.76126; 100.51182
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จุดเริ่มต้นคลองเปรมประชากรเชื่อมต่อกับคลองผดุงกรุงเกษม
คลองเปรมประชากรที่ไหลผ่านบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล

คลองเปรมประชากร (อักษรโรมัน: Khlong Prem Prachakon) หรือชื่อเดิมว่า คลองสวัสดิ์เปรมประชากร[1] เป็นคลองขุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2413 เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร ไปทะลุตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า (ปัจจุบันอยู่ในตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เป็นระยะทาง 1271 เส้น 3 วา (50846 เมตร) เนื่องจากทรงเห็นว่าการเดินเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีเส้นทางอ้อมไปมาทำให้เสียเวลาในการเดินทางมาก

คลองเปรมประชากรเป็นคลองที่มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับคลองผดุงกรุงเกษม ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยไหลผ่านเขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง (กรุงเทพมหานคร) อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก (จังหวัดปทุมธานี) และไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ที่มาก่อนการขุดคลอง

[แก้]

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่าเป็นยุคที่มีการขุดคลองมากที่สุดยุคหนึ่ง โดยพระองค์ทรงส่งเสริมให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งขุดคลองใหม่และขุดลอกคลองเก่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯกับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ[2]

ดังพระราชดำริที่กล่าวไว้ในประกาศเรื่องอนุญาตขุดคลอง ว่ามีความต้องการที่จะใช้คลองช่วยกระจายผู้คนออกไปจากย่านชุมชนเดิม "การขุดคลอง เพื่อที่จะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย แลเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้น"[2]

ซึ่งในสมัยของพระองค์ก็ได้มีการขุดคลองขึ้นหลายสาย เช่น คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ คลองอุดมชลจร คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา คลองนราภิรมย์ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองประปา รวมถึงคลองเปรมประชากร และคลองแยกอีกหลายคลองด้วยกัน[2]

หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2408 ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จะทรงพระกรุณาให้ขุดคลอง

"ตั้งแต่วัดพระนางเชิง ตัดท้องทุ่งดอนเมือง ตรงตลอดมาโดยลำดับ มาออกตรงวัดโสมนัสวิหาร... "[3]

หมอปลัดเล ผู้เขียนข่าวให้ความเห็นว่า "ข้าพเจ้ายินดีด้วยเป็นนักหนา เพราะคลองขุดใหม่จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ราษฎรจะได้อาศัยทำนา อันเป็นผลไม้มีเมล็ดข้าว มีภาษีงอกเงยขึ้น" นอกนั้นคือราษฎรจะได้มาชวนกันตั้งบ้านเรือน อยู่อย่างเป็นสุขสบายด้วย ที่ว่าตั้งแต่วัดพระนางเชิง หรือวัดพนัญเชิงนั้น ไม่ได้ทำ คงตัดย่อลงมา เริ่มที่ใกล้เกาะเกิด ต.บางกระสั้น ซึ่งอยู่ใต้ลงไป[3]

ประวัติการขุดคลอง

[แก้]

คลองเปรมประชากรเป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการขุด เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชาย สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง และให้พระชลธารวินิจฉัย (กัปตันฉุน) เป็นผู้ปักหมายกรุย แล้วจ้างจีนขุด[3] เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร ไปทะลุตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า เป็นระยะทาง 50.846 กม. เนื่องจากทรงเห็นว่าการเดินเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยามีเส้นทางอ้อมไปมาทำให้เสียเวลาในการเดินทางมาก[2] โดยเริ่มขุดคลองตั้งแต่ พ.ศ. 2412 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2413 รวมใช้เวลาขุด 18 เดือน ถือเป็นคลองขุดสายแรกในรัชสมัยของพระองค์ เมื่อขุดเสร็จแล้ว โปรดให้จัดพระราชพิธีฉลองคลอง มีมหรสพต่าง ๆ มากมาย[3] พระราชทานชื่อว่า "คลองเปรมประชากร" ต่อเนื่องจากคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วนั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คลองนี้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมขุดคลองและภาษีคลองใด ๆ ทั้งสิ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะขุดคลองนี้เพื่อให้เป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระราชกุศลให้ราษฎรได้รับความสะดวกสบายโดยทั่วกัน[2]

การขุดคลองเปรมประชากรโดยตัดให้ตรงขึ้น ได้ประโยชน์สองประการ คือ ช่วยร่นระยะทางการเดินทางระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงรัตนโกสินทร์ให้สั้นลง และขยายพื้นที่การเพาะปลูกเข้าไปในบริเวณที่คลองตัดผ่านซึ่งเดิมเป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยโขลงช้างเถื่อนจนไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย[2]

ความยาวและเส้นทาง

[แก้]

คลองเปรมประชากร มีความยาว 50.846 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การขุดคลองในสมัยโบราณนั้น จะมีการสร้างสัญลักษณ์เพื่อบอกระยะทางเอาไว้ โดยจะบอกระยะไว้ทุกๆ 100 เส้นหรือ 4 กิโลเมตร

เอนก นาวิกมูล บอกว่า เสาหรือเครื่องบอกระยะริมคลอง ยังไม่แน่ใจว่าสมัยอยุธยา หรือสมัย ร.1-2-3 เคยทำไว้หรือไม่ มาพบหลักฐานอีกที ก็สมัย ร.4 ตัวอย่างเช่น คลองมหาสวัสดิ์ ขุดเมื่อ พ.ศ. 2403 มีการสร้างศาลาริมคลองไว้ทุก 100 เส้น หรือทุก 4 กม.  สำหรับคนเดินทางได้พักผ่อน แต่ศาลาเหล่านี้ถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว คงเหลือไว้แต่ชื่อศาลาบางหลัง เช่น ศาลายา และศาลาทำศพ ที่แผลงเป็นศาลาธรรมสพน์[3]

มาถึงกรณี เสาริมคลองเปรมประชากร เอนก นาวิกมูล กล่าวว่า ริมคลองเปรมประชากร เคยมีเสาบอกระยะทุก 100 เส้น หรือ 4 กม. เพราะเคยอ่านพบข้อความที่คนรุ่นเก่าเขียนเอาไว้ เช่น ในเพลงนายตาบ บุตรสุนทรภู่ แต่งเมื่อคราวตามเสด็จ ร. 5 ไปยังกรุงเก่า เมื่อปี พ.ศ. 2414 "ตามแถวคลองร้อยเส้นเห็นหลักมี บอกวิถีทุกระยะที่จะไป"[3]

ระหว่างขุดคลอง รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปักหลักเป็นเครื่องหมายทุก 100 เส้น ไปจนสิ้นสุดทาง แต่กาลนานมา หลักเหล่านั้นหักหายเสียเกลี้ยง คงเหลือชื่อ เพียงหลักสี่ หลักหก ครั้นตั้งสถานีรถไฟ พวกรถไฟก็เอาชื่อ หลักสี่กับหลักหก มาตั้งเป็นสถานีรถไฟหลักสี่และสถานีหลักหกขึ้น[3]

เอนก นาวิกมูล ค้นหลักฐานจากวรรณกรรมแล้ว ก็ออกค้นหาหลักริมคลองเปรมประชากร ยังไม่พบหลักฐานว่าหลักนั้นทำด้วยหินหรืออะไร แต่เข้าใจเอาว่าคงจะทำด้วยศิลาเหมือนหลักริมคลองดำเนินสะดวก [3]

ไม่พบกระทั่งใคร...สักคน ที่สามารถบอกตำแหน่งหลักได้ ว่าเคยอยู่ที่ไหนกันแน่ ท้ายสุด เอนก นาวิกมูลเสนอให้ผู้สนใจ ช่วยกันหาหลักบอกระยะริมคลองเปรมประชากร ถ้าพบจะได้นำมาสงวนรักษา ใช้เป็นจุดขายในการท่องเที่ยว [3]

วิธีหาหลัก...ก็ทำอย่างง่าย กำหนดจุดจากปากคลองเปรมประชากร ตรงข้ามวัดโสมนัสวิหาร ไปทีละ 4 กิโลเมตร ได้ระยะ 4 กิโลเมตร เมื่อใดก็ทำเครื่องหมายขุดค้นไว้เป็นระยะๆ จนกว่าจะถึงปลายคลองด้านตำบลบางกระสั้น เอนกตั้งความหวังว่า เราน่าจะหาสมบัติเก่าชุดนี้ กลับคืนมาได้?[3]

ข้อสันนิษฐานการกำหนดตำแหน่งหลักบอกระยะของคลองเปรมประชากร (จุดเริ่มต้นเชื่อมคลองผดุงกรุงเกษม วัดระยะทีละ 4 กิโลเมตรเป็น 1 หลัก) ได้ดังนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. "คลองขุดในประเทศไทย". ครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-22. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2016-10-02.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 [1]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′41″N 100°30′43″E / 13.76126°N 100.51182°E / 13.76126; 100.51182