ข้ามไปเนื้อหา

ความสามารถของบุคคล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความสามารถของบุคคล (อังกฤษ: competence of person) ในทางนิติศาสตร์นั้นได้แก่ความสามารถสองประการ คือ ความสามารถที่บุคคลจะมีสิทธิ และความสามารถที่บุคคลจะใช้สิทธิ บุคคลจะใช้สิทธิกระทำการใด กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีความสามารถจะกระทำการนั้นก่อน เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่บุคคลนั้นเองและบุคคลอื่น[1] [2]

บุคคลประเภทที่กฎหมายสันนิษฐานว่าไม่อยู่ในภาวะที่จะบริหารความสามารถของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ผู้เยาว์ (อังกฤษ: minor), คนวิกลจริต (อังกฤษ: person of unsound mind), คนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: incompetent person) และคนเสมือนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: quasi-incompetent person) ซึ่งความสามารถตามกฎหมายของบุคคลเหล่านี้จะถูกจำกัดมากน้อยแล้วแต่กรณี นิติกรรมที่บุคคลเหล่านี้จะกระทำ กฎหมายจึงกำหนดเงื่อนไขไว้ต่าง ๆ เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของเขาเหล่านั้นโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี นิติบุคคล (อังกฤษ: juristic person) ซึ่งมิใช่บุคคลแท้ ๆ ก็อาจมีความสามารถตามกฎหมายเช่นบุคคลธรรมดา (อังกฤษ: natural person) ได้ เว้นแต่เป็นเรื่องที่ตามสภาพแล้วไม่สามารถกระทำได้เองจริง ๆ เช่น การมีครอบครัว หรือเข้าสมรส เป็นต้น

ประเภท

[แก้]

การจัดประเภทความสามารถของบุคคลแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนักวิชา กระนั้น แม้องค์ประกอบจะแตกต่างแต่เนื้อหาสาระหาได้แตกต่างไม่

การจัดประเภทโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[แก้]

ในประเทศไทยนั้น ตามคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อรพินท์ ขจรอำไพสุข ผู้ช่วยศาสตรจารย์คณะดังกล่าว จัดประเภทความสามารถของบุคคล ดังนี้[3]

1. ความสามารถที่จะมีสิทธิ คือ การที่บุคคลสามารถมีสิทธิ หรือการที่บุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิ (อังกฤษ: principal of right) บุคคลทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ คนพิการ สตรี บุรุษ เศรษฐี ยาจก บัณฑิต หรือผู้ประกอบมิจฉาชีพ ย่อมมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายนับแต่เกิดมา ย้อนหลังไปถึงตอนที่ปฏิสนธิเป็นทารกในครรภ์มารดา ไปจนถึงเมื่อตาย นอกจากนี้ สิทธิบางอย่างของบุคคลจะได้รับต่อเมื่อเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย เช่น บุคคลจะสามารถสมรสได้ต่อเมื่อมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์เป็นต้นไปตามกฎหมายไทย

2. ความสามารถที่จะใช้สิทธิ คือ การที่บุคคลสามารถกระทำการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตนและเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก บุคคลนั้นแม้จะมีสิทธิแต่ในบางกรณีก็ไม่อาจใช้สิทธิได้เพราะกฎหมายกำหนดไว้

การจัดประเภทโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้]

ในขณะที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์[4], จิตติ ติงศภัทิย์ ศาสตราจารย์ (พิเศษ)[5]และ สมทบ สุวรรณสุทธิ ศาสตราจารย์[6] แห่งคณะดังกล่าว จัดประเภทความสามารถของบุคคลไว้ว่า ประกอบด้วยประเภทใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

1. ความสามารถในการทำนิติกรรม คือ ความสามารถที่จะใช้ เปลี่ยนแปลง หรือจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งสิทธิ หรือก่อนิติสัมพันธ์กับผู้อื่นตามความสมัครใจของผู้กระทำ ซึ่งในการกฎหมายเรียกการกระทำเหล่านี้ว่า "นิติกรรม" (อังกฤษ: juristic act)[7] โดยกฎหมายจะกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ใช้สิทธิเช่นนั้นต้องอยู่ในภาวะที่รู้รับผิดชอบในการกระทำของตนได้ หาไม่แล้วเขาย่อมใช้สิทธิไปในทางเสื่อมเสียทั้งต่อตนและผู้อื่นได้ ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงสันนิษฐานโดยปริยายว่าบุคคลบางประเภทไม่อาจรู้รับผิดชอบเช่นนั้นได้ ต้องจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมไว้ บุคคลเหล่านี้ได้แก่ ผู้เยาว์, คนวิกลจริต, คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ[8]

2. ความสามารถจะกระทำละเมิด คือ ความสามารถในการที่จะกระทำโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่ออันส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น ซึ่งในทางกฎหมายเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า "ละเมิด" (อังกฤษ: wrongful act)[9] และเช่นเดียวกับผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรม ผู้จะสามารถกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นได้ต้องอยู่ในภาวะที่รู้รับผิดชอบในการกระทำของตนได้ ภาวะที่จะรู้รับผิดชอบนี้ย่อมเป็นผลมาจากการที่รู้สำนึกว่าการกระทำของตนจะส่งผลอย่างไร[10] ผู้ที่ไม่อยู่ในภาวะเช่นว่ากระทำละเมิดต่อบุคคลใด ก็ไม่อาจให้เขาต้องรับผิดต่อผลแห่งการกระทำอันเป็นละเมิดของเขาได้ และกฎหมายมิให้ถือว่าเป็นละเมิด เนื่องเพราะเขามิได้สำเหนียกรู้ในผลของการกระทำแห่งตน[11] [12] [13]

"จำเลยเป็นผู้เยาว์อายุสิบสามปี ทิ้งหินหนักสิบกิโลกรัมจากสะพานลงในคลองสาธารณะซึ่งมีผู้สัญจรไปมา หินตกสู่ผู้พายเรือคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้จำเลยจะไร้ความสามารถตามกฎหมายเพราะเป็นผู้เยาว์ แต่จำเลยก็อยู่ในวัยและภาวะที่แยกแยะดีชั่วได้แล้ว ถือว่ามีความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท พิพากษาให้กักตัวจำเลยไว้ยังโรงเรียนดัดสันดานมีกำหนดหนึ่งปี"
ฎ. 497/2486

ตัวอย่างเช่น "...เด็กอายุสามขวบหยิบปืนใต้หมอนของบิดาไปเล่นยิงเด็กด้วยกันจนเด็กอื่นถึงแก่ความตาย ดังนี้ จะเรียกว่าเด็กทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ได้ ผู้ที่ประมาทเลินเล่อคือบิดาที่มิได้เก็บของอันตรายไว้ในที่ห่างมือเด็กจนเกิดเป็นอันตรายขึ้น ในทำนองเดียวกันหากคนวิกลจริต หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ กระทำการในภาวะที่ไม่รู้ผิดชอบ คือไม่เข้าใจในผลแห่งการกระทำของตน การกระทำของเขาย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อ และหากก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นย่อมไม่เป็นละเมิด"[14]

อย่างไรก็ดี บุคคลบางประเภทที่กฎหมายจำกัดความสามารถไว้ ก็อาจต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำอันเป็นละเมิดของตน หากปรากฏว่าในขณะกระทำละเมิดนั้น เขาอยู่ในภาวะที่สามารรับรู้ผลจากการกระทำต่าง ๆ ของตนได้ โดยกฎหมายไทย คือ ม.429 ป.พ.พ. ว่า "บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด" ที่ว่า "ไร้ความสามารถ" ในบทบัญญัติดังกล่าวนี้หมายถึงไร้ความสามารถในการทำนิติกรรม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความสามารถจะกระทำละเมิดตามประเด็นนี้[15] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย คือ คดีตาม ฎ. 497/2486 (ดูด้านข้าง)

3. ความสามารถจะกระทำการอื่น ๆ อันมีผลทางกฎหมาย คือ ความสามารถจะกระทำการอย่างอื่นที่มิใช่นิติกรรม แต่มีผลทางกฎหมาย แม้ว่าตัวผู้กระทำจะไม่ได้มุ่งประสงค์ในผลทางกฎหมายนั้นก็ตาม หากแต่เขาเพียงมุ่งตรงต่อข้อเท็จจริง ซึ่งในทางกฎหมายเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า "นิติเหตุ" (อังกฤษ: legal cause) คือ เหตุที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย และนิติเหตุนี้ไม่ต้องคำนึงว่า ผู้กระทำมีความสามารถตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร เพียงแต่เขาได้กระทำลงไปและมุ่งตรงต่อข้อเท็จจริง แต่เมื่อข้อเท็จจริงก่อให้เกิดผลทางกฎหมายขึ้น กฎหมายก็คุ้มครองผลนั้นให้เสมอหน้ากัน[15]

ตัวอย่างเช่น "...เด็กเล็กอายุห้าขวบ หรือคนวิกลจริต หากรู้และเข้าใจการกระทำของตนในทางข้อเท็จจริง เช่นยึดถือหวงกันทรัพย์สิน ถือเอาทรัพย์ไม่มีเจ้าของ เขาย่อมมีสิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ตามที่กฎหมายคุ้มครอง หรือหากเขาสามารถสื่อจินตภาพทางศิลปวรรณกรรมของตนออกมา เช่นผู้เยาว์หรือคนวิกลจริตเป็นผู้เขียนบทกวี หรือประพันธ์บทเพลง ที่เป็นงานสร้างสรรค์ เขาย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นได้"[16] ทั้งนี้ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้หวังเอาลิขสิทธิ์ในงานหรือคือผลทางกฎหมาย เพียงแต่หวังตรงต่องานหรือคือข้อเท็จจริงแห่งกรณีนั้นก็ตาม ในเมื่อลิขสิทธิ์เกิดแล้ว กฎหมายก็จะคุ้มครองให้โดยอัตโนมัติ

กิตติศักดิ์ ปรกติ ว่าถึงข้อยกเว้นสำหรับความสามารถจะกระทำการอื่น ๆ อันมีผลทางกฎหมายนี้ว่า[17]

"...บุคคลบางประเภทอาจจะไม่สามารถกระทำการอันมีผลทางกฎหมายใด ๆ ได้ด้วยตนเอง เพราะยังไม่อยู่ในฐานะที่จะรู้และเข้าใจการเคลื่อนไหวร่างกายของตนได้ เช่นผู้เยาว์ที่ไร้เดียงสา อายุเพียงหนึ่งเดือน หรือเพียงหนึ่งปี แม้จะสามารถมีสิทธิแล้ว เพราะมีสภาพบุคคลสมบูรณ์และสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย หรือแสดงความต้องการ หรือสื่อความหมายกับผู้อื่นได้แล้ว แต่ก็ไม่อาจถือได้ว่ามีความสามารถจะกระทำการใด ๆ ให้มีผลทางกฎหมายได้ด้วยตนเอง เพราะยังขาดความสามารถรู้และเข้าใจความหมายแห่งการเคลื่อนไหวร่างกายเช่นนั้น ดังนี้ การเคลื่อนไหวร่างกายก็ดี การสื่อความหมาย หรือความต้องการของตนก็ดี ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มีผลทางกฎหมายใด ๆ และไม่มีทางที่จะเป็นการแสดงเจตนาหรือทำนิติกรรมได้เลย ในกรณีเช่นนี้ การเคลื่อนไหวร่างกายของผู้เยาว์เป็นได้แต่เพียงเครื่องมือหรือผลแห่งการกระทำของบุคคลอื่น เช่น ผู้เยาว์ทำตามคำสั่งหรือลอกเลียนแบบการกระทำของบิดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งสั่งให้ไปซื้อหนังสือพิมพ์ หรือซื้อไอศกรีม ดังนี้ การซื้อขายนั้นไม่อาจนับเป็นการกระทำของผู้เยาว์ แต่ต้องถือเป็นการกระทำของผู้แทนโดยชอบธรรมที่ใช้ผู้เยาว์เป็นเครื่องมือ หรือผู้เยาว์อายุห้าปี เห็นบิดาขว้างมีดหรือยิงปืน จึงนำมีดมาขว้างหรือนำปืนมาเล่นยิงกันบ้าง โดยมิได้เข้าใจในการกระทำเช่นนั้น ดังนี้ การยิงปืนของผู้เยาว์ไม่อาจนับเป็นการกระทำของผู้เยาว์เอง แต่ต้องนับเป็นผลจากการกระทำที่ขาดความระมัดระวังของบิดานั่นเอง"

การหย่อนความสามารถ

[แก้]

บุคคลอาจหย่อนความสามารถตามกฎหมายลงได้ ในเมื่อเขาประสบเหตุบางอย่าง กรณีเช่นนี้เป็นการที่บุคคลอยู่ในภาวะที่สามารถกำหนดเจตนาของตนได้อยู่ กล่าวคือ เป็นภาวะที่เขายังรับรู้ผิดชอบชั่วดี สำเหนียกถึงการกระทำของตน และรู้ถึงความประสงค์ของตนได้อยู่ เพียงแต่ไม่สามารถกำหนดเจตนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ[18] เรียกว่าไม่อาจใช้วิจารณาญาณหรือไม่อาจการบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ ผู้เยาว์ และคนเสมือนไร้ความสามารถ

ผู้เยาว์

[แก้]

ผู้เยาว์ (อังกฤษ: adolescent, child, infant, minor, nonage หรือ person of infancy) คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือยังมีอายุไม่ถึงที่กฎหมายกำหนด หรือยังมิได้บรรลุนิติภาวะโดยประการอื่น เช่น โดยการสมรส

ตราบใดที่บุคคลยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะมีความสามารถกระทำการต่าง ๆ ตามกฎหมายโดยจำกัด ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำลงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายต่อเมื่อผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบุคคลที่เรียก "ผู้แทนโดยชอบธรรม" (อังกฤษ: legal representative หรือ statutory agent) ซึ่งได้แก่ "ผู้ใช้อำนาจปกครอง" (อังกฤษ: parent) คือ บิดามารดาทั้งสองคน หรือมารดาในกรณีที่บิดามิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือถูกศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรเสีย ส่วนมารดานั้นเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ, หรือ "ผู้ปกครอง" (อังกฤษ: guardian) ในกรณีที่บิดาและมารดาหาตัวมิได้แล้ว หรือถูกศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรเสีย นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำลงโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว ตกเป็นโมฆียะ

นิติภาวะ

[แก้]

นิติภาวะ (อังกฤษ: majority, full age หรือ lawful age; ละติน: sui juris) คือ ภาวะที่บุคคลเป็นผู้มีความสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง การบรรลุนิติภาวะย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้วแต่กรณี

คนเสมือนไร้ความสามารถ

[แก้]

คนเสมือนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: quasi-incompetent person) คือ บุคคลที่ไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้ เพราะกายพิการ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา และศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยต้องอยู่ในความดูแลของ "ผู้พิทักษ์" (อังกฤษ: curator)

การไร้ความสามารถ

[แก้]

คนวิกลจริต

[แก้]

คนไร้ความสามารถ

[แก้]

คนเสมือนไร้ความสามารถ

[แก้]

ความสามารถของนิติบุคคล

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. สมทบ สุวรรณสุทธิ, 2510 : 80.
  2. จิตติ ติงศภัทิย์, 2530 : 46.
  3. อรพินท์ ขจรอำไพสุข, 2551 : 190-191.
  4. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 123.
  5. จิตติ ติงศภัทิย์, 2530 : 46.
  6. สมทบ สุวรรณสุทธิ, 2510 : 80.
  7. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ ปรคุปต์), 2549 : 171.
  8. เสนีย์ ปราโมช, 2520 : 619.
  9. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ ปรคุปต์), 2549 : 300-301.
  10. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 124.
  11. เสนีย์ ปราโมช, 2520 : 619.
  12. พจน์ ปุษปาคม, 2530 : 352-353.
  13. จิตติ ติงศภัทิย์, 2526 : 177.
  14. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 124-125.
  15. 15.0 15.1 กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 125.
  16. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 126.
  17. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 125-126.
  18. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 132.

อ้างอิง

[แก้]

ภาษาไทย

[แก้]
  • กิตติศักดิ์ ปรกติ.
    • (2550). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไปว่าด้วยบุคคลธรรมดา และหลักทั่วไปว่าด้วยนิติบุคคล. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
    • (2552). "ส่วนที่ 3 เงื่อนไขความมีผลแห่งนิติกรรม (หน้า 89-168)". เอกสารประกอบการศึกษาวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา (น. 101). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 กรกฎาคม 2552).
  • ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
  • จิตติ ติงศภัทิย์.
    • (2526). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 มาตรา 354 ถึงมาตรา 452. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
    • (2530). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • พจน์ ปุษปาคม. (2530). ละเมิด. กรุงเทพฯ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา.
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
  • ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2551). คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 13, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
  • ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • สมทบ สุวรรณสุทธิ. (2510). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2003-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • เสนีย์ ปราโมช. (2520). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 1 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2505. กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ.
  • อรพินท์ ขจรอำไพสุข. (2551). "ผู้ทรงสิทธิ." ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาต่างประเทศ

[แก้]
  • Interpol. (2006, September). "National Laws : Legislation of Interpol member states on sexual offences against children." [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2011-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 4 June 2009).
  • Konrad Zweigert & Hain Kötz. (1984). Einführung in die Rechtsvergleichung. (2.Aufl.). Tuebingen : Mohr & Siebeck.
  • Konrad Zweigert & Hein Kotz. (1988). An Introduction to Comparative Law. Tony Weir (translator). (Third Edition). Oxford : Clarendon Press.
  • Rudolf Sohm. (1884). Institution des Roemischen Rechts. Leipzig : Duncher & Humflot.
  • Sec. 246. False Representations Of Age. (2009). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 11 June 2009).
  • Susan Munroe. (2009). "Age of majority". About.com. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 4 June 2009).