จอร์จ ดูปองท์
จอร์จ ดูปองท์ George Dupont | |
---|---|
ชื่อเกิด | ยอด (Yod) |
เกิด | ช่วงปี พ.ศ. 2387 - พ.ศ. 2389 อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) |
เสียชีวิต | 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
สุสาน | |
รับใช้ | สหรัฐอเมริกา สยาม |
แผนก/ | |
ประจำการ | พ.ศ. 2405 - พ.ศ. 2408 |
หน่วย | กองร้อย B, กรมทหารราบอาสานิวเจอร์ซีย์ที่ 13 |
การยุทธ์ | สงครามกลางเมืองอเมริกา |
จอร์จ ดูปองท์ (อังกฤษ: George Dupont) หรือชื่อภาษาไทยคือ ยอด [1] เป็นชาวสยามคนเดียวที่ได้เข้ารวมรบในสงครามกลางเมืองอเมริกา โดยร่วมรบในฐานะทหารของฝ่ายสหภาพ (สหรัฐ) ซึ่งสู้รบกับฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา นายยอดได้ร่วมรบในยุทธการที่สำคัญ 3 ครั้ง คือ ยุทธการแอนตีแทม ยุทธการแชนเซลเลอรส์วิลล์ และยุทธการเกตตีสเบิร์ก[2] หลังจากที่สงครามกลางเมืองอเมริกันสิ้นสุดลง ฝ่ายสหภาพก็ได้รับชัยชนะ แล้วนายยอดก็เดินทางกลับมาที่สยาม และเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยาม วิคลี่ แอดเวอร์ไทเซอร์ อยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมา รัฐบาลสยามได้จ้างนายยอดให้เข้าไปทำงานเป็นครูฝึกในกองทัพสยาม หลังจากที่นายยอดออกจากการเป็นครูฝึกแล้ว ก็ได้ผันตัวออกมาเป็นตัวแทนบริษัททำไม้ และออกเดินทางอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2443 นายยอดได้สมรส และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปีนั้นเอง[3] ปัจจุบันศพของนายยอดถูกฝังอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]ชีวิตช่วงต้น
[แก้]นายยอดน่าจะเกิดในช่วงปี พ.ศ. 2387 - พ.ศ. 2389[4] แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังปรากฎหลักฐานไม่แน่ชัดว่า เกิดในครอบครัวใด มีเชื้อชาติใด และเหตุใดจึงเดินทางไปยังสหรัฐ แต่เอกสารต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า นายยอดเป็นคนที่มีการศึกษา[3] จึงเป็นไปได้ว่า นายยอดอาจเคยศึกษากับมิชชันนารีชาวอเมริกันมาก่อน แล้วจึงถูกส่งไปที่สหรัฐ หรือติดตามมิชชันนารีเหล่านั้นกลับไปที่สหรัฐ นายยอดเดินทางไปถึงท่าเรือที่นครนิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ. 2402 และไปอาศัยอยู่ที่เมืองเจอร์ซีย์ซิตีในรัฐนิวเจอร์ซีย์[5] ต่อมา เมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกันเริ่มขึ้น นายยอดก็ได้สมัครเข้าร่วมเป็นทหารฝ่ายสหภาพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2405 ในกองร้อย B กรมทหารราบอาสาที่ 13 แห่งนิวเจอร์ซีย์[6]
การร่วมรบในสงครามกลางเมือง
[แก้]หลังจากเข้าร่วมกองทหารอาสาแล้ว นายยอดก็ถูกส่งไปรบในสมรภูมิที่สำคัญหลายแห่งในสงคราม นายยอดได้ร่วมรบในยุทธการแอนตีแทม ยุทธการแชนเซลเลอรส์วิลล์ และยุทธการเกตตีสเบิร์กโดยไม่บาดเจ็บมากนัก แต่หลังจากยุทธการเกตตีสเบิร์ก นายยอดก็ล้มป่วย และต้องรักษาตัวอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากหายดี นายยอดก็ได้เข้าร่วมรบอีกครั้งที่ยุทธการเรซากา โดยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ไม่ต้องเข้ารักษาตัว เมื่อผ่านไปอีกหนึ่งเดือน นายยอดก็ได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจากการเข้าร่วมรบในยุทธการโคล์บส์ฟาร์ม และต้องเข้ารักษาตัวอีกครั้ง โดยในระหว่างที่นายยอดกำลังรักษาตัวนั้น สงครามกลางเมืองอเมริกันก็สิ้นสุดลง
หลังสงครามกลางเมือง
[แก้]หลังจากหายดีแล้ว นายยอดก็ออกจากราชการทหารที่เมืองลุยส์วิลล์ ในรัฐเคนทักกี ในปี พ.ศ. 2408 โดยได้รับเงินจากรัฐบาลสหรัฐเป็นจำนวน 75 ดอลลาร์ และได้เงินค่าจ้างย้อนหลังอีกจำนวน 64.30 ดอลลาร์ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านายยอดได้กลับไปที่เมืองเจอร์ซีย์ซิตี้หรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว นายยอดก็ได้เดินทางต่อไปที่เมืองฟิลาเดลเฟีย แล้วไปทำงานเป็นพนักงานในโรงหล่อ[3] จากนั้น ในปี พ.ศ. 2412 นายยอดก็ได้รับสัญชาติอเมริกันและหนังสือเดินทาง ต่อมา นายยอดได้ออกเดินทางจากสหรัฐ และเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ก่อนที่จะเดินทางกลับมาถึงสยามในปี พ.ศ. 2413
หลังจากกลับมาที่สยามแล้ว นายยอดก็เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยาม วิคลี่ แอดเวอร์ไทเซอร์ อยู่เป็นช่วงสั้นๆ จากนั้น รัฐบาลสยามได้จ้างนายยอดให้เข้าเป็นครูฝึกในกองทัพ เนื่องจากนายยอดมีประสบการณ์และความรู้ทางด้านการรบ อีกทั้งยังเป็นพลเมืองอเมริกัน นายยอดจึงถูกจ้างในฐานะ "ครูฝึกชาวต่างชาติ" จึงได้รับเงินเดือน 50 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินเดือนที่สูงมากในสมัยนั้น[2]
นายยอดได้ออกจากการเป็นครูฝึก แล้วผันตัวมาเป็นตัวแทนบริษัทค้าไม้ และเดินทางโดยเรือไปทำการติดต่อค้าขายต่าง ๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2432 ในขณะที่นายยอดกำลังพักผ่อนอยู่บนเรือที่เมืองสวรรคโลก ก็ได้ถูกโจรเข้ามาปล้น ทำให้นายยอดถูกยิงที่เท้าทั้งสองข้าง และไม่สามารถทำงานต่อได้ หนังสือพิมพ์อเมริกันได้วิจารณ์ว่าเหตุการณ์นี้เป็น "การข่มเหงพลเมืองชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร"[3] ในปี พ.ศ. 2434 นายยอดได้ขอรับเงินบำนาญจากรัฐบาลสหรัฐ ในฐานะที่เป็นพลเมืองอเมริกันและเป็นทหารผ่านศึก นายยอดจึงได้รับเงินบำนาญเดือนละ 12 ดอลลาร์[3]
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2443 หลังจากกลับมาที่สยามเป็นเวลาประมาณ 30 ปี นายยอดก็ได้สมรส แต่ต่อมาก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปีนั้นเอง ปัจจุบันศพของนายยอดถูกฝังอยู่ที่หลุมศพหมายเลย 720 ที่สุสานโปรเตสแตนต์ กรุงเทพมหานคร[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Royal Thai Embassy. "The Eagle and the Elephant (หน้า 32)" (PDF). thaiembdc.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-01-21. สืบค้นเมื่อ 2022-01-21.
- ↑ 2.0 2.1 Brandon, John (2015-04-08). "George Dupont, the Only Thai in the U.S. Civil War". The Asia Foundation (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-01-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Sundman, Jim (2012-03-08). "A Soldier From Siam". Emerging Civil War (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-01-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 4.0 4.1 "Pvt George Dupont (1844-1900) - Find A Grave..." www.findagrave.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-01-09.
- ↑ "คอลัมน์ออนไลน์ - คนไทยในสงครามกลางเมืองอเมริกา". www.naewna.com. 2018-12-11. สืบค้นเมื่อ 2022-01-09.
- ↑ "N.J. Civil War Record: Page 633. |". historicalpubs.njstatelib.org.