ดาวรุ่ง ชูวัฒนะ
ดาวรุ่ง ชูวัฒนะ | |
---|---|
เกิด | พ.อ.อ.สุพล สีแดงน้อย 1 เมษายน พ.ศ. 2512 |
ดาวรุ่ง ชูวัฒนะ มีชื่อจริงคือ สุพล สีแดงน้อย เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2512 ที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ สถิติการชกทั้งหมด 71 ครั้ง ชนะ 61 (น็อค 36) เสมอ 3 แพ้ 7
ประวัติ
[แก้]ดาวรุ่ง เป็นนักมวยที่ธรรมดา ๆ ไม่ได้มีฝีไม้ลายมืออะไรที่โดดเด่น แม้จะเคยเป็นแชมป์ OPBF โดยได้แชมป์มาจากประเทศเกาหลีใต้ก็ตาม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ดาวรุ่งมีโอกาสได้ชิงแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท ของ WBA กับ จอห์น ไมเคิล จอห์นสัน แชมป์โลกชาวอเมริกัน เนื่องจากดาวรุ่งเป็นรองแชมป์อันดับหนึ่ง ซึ่งผลการชกจบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อดาวรุ่งชนะแตกไปในยกแรกเท่านั้นเอง จากนั้นดาวรุ่งจึงได้ป้องกันแชมป์โลกอีก 2 ครั้ง กับ นักมวยชาวเกาหลีใต้ และเสมอกับหลักหิน ซีพียิม นักมวยชาวไทยด้วยกันเอง ดาวรุ่งป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 3 กับ วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น นักมวยไทยด้วยกันเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยยังชกมวยไทย ทั้งดาวรุ่งและวีระพลเคยมีผู้จัดการคนเดียวกัน คือ ชูเจริญ ระวีอร่วมวงศ์ ผลการชกดาวรุ่งเป็นฝ่ายเดินหน้าบุกตลอดทั้ง 12 ยก แต่ตกเป็นฝ่ายแพ้คะแนนวีระพลซึ่งในขณะนั้นขึ้นชกมวยสากลอาชีพได้เพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้นเอง (รวมการชกในครั้งนี้ด้วย)
เมื่อวีระพลได้เสียแชมป์โลกแก่ นานา คอนาดู นักมวยชาวกานาในต้นปี พ.ศ. 2539 ดาวรุ่งในครั้งนี้ซึ่งมีนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เป็นผู้สนับสนุน จึงได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้งในครั้งที่สอง และก็เป็นฝ่ายเอาชนะคอนาดูไปได้ จากนั้นจึงได้ป้องกันตำแหน่งไว้ครั้งหนึ่งอย่างจืดชืด ที่จังหวัดสตูล และเมื่อเดินทางไปป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกกับ นานา คอนาดู คู่ปรับเก่าที่สหรัฐอเมริกา ก็แพ้น็อกไปในยกที่ 7 อย่างหมดท่า ชนิดที่โดนชกหน้าคว่ำลงกองกับพื้นเวที
หลังแขวนนวม ดาวรุ่งไม่ได้กลับขึ้นเวทีมาชกมวยหรือยุ่งเกี่ยวกับวงการมวยอีกเลยเหมือนอดีตแชมป์โลกหลายคน โดยได้รับราชการเป็นทหารอากาศชั้นประทวน ในตำแหน่งพลขับและช่างเครื่อง สังกัดหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมียศสูงสุดเป็น พันจ่าอากาศเอก (พ.อ.อ.) ปัจจุบันได้ลาออกจากราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำเทศบาลจังหวัดอุตรดิตถ์[ต้องการอ้างอิง]
เกียรติประวัติ
[แก้]- แชมป์ประเทศไทยรุ่นฟลายเวท
- ชิง 8 มกราคม 2531 ชนะน็อค ยก 3 แชมป์ เกียรติเพชร
- สละแชมป์
- แชมป์ประเทศไทยรุ่นแบนตั้มเวท
- ชิง 27 พฤศจิกายน 2532 ชนะคะแนน ชูเชิด เอื้อสัมพันธ์
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 26 กันยายน 2533 เสมอกับ ชูเชิด เอื้อสัมพันธ์
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 21 มีนาคม 2534 ชนะคะแนน นักรบ ส.พญาไท
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 11 ธันวาคม 2534 ชนะน็อค ยก 1 อนันตเดช เกียรติประสานชัย
- สละแชมป์
- แชมป์ OPBF รุ่นแบนตั้มเวท
- ชิง 5 ตุลาคม 2534 ชนะน็อค ยก 8 มิน ยองชุน ( เกาหลีใต้) ที่ อินชอนยิมเนเซียม อินชอน
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 27 พฤษภาคม 2535 ชนะคะแนน นา จี-โฮ (เกาหลีใต้) ที่ จ.ปทุมธานี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 3 พฤษภาคม 2536 ชนะแตก ยก 5 อากุซ เอกาชายา ( อินโดนีเซีย) ที่ เวทีมวยลุมพินี
- มีนาคม พ.ศ. 2537 สละแชมป์
- แชมป์โลก WBA รุ่นแบนตั้มเวท
- ชิง 16 กรกฎาคม 2537 ชนะอาร์ทีดี ยก 1 จอห์น ไมเคิล จอห์นสัน ( สหรัฐ) ที่ สนามกีฬา จ.อุตรดิตถ์
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 20 พฤศจิกายน 2537 ชนะคะแนนโดยเทคนิค ยก 5 โก อิน-ซิก (เกาหลีใต้) ที่ ท่าเรือห้าเชียง จ.เชียงราย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 27 พฤษภาคม 2538 เสมอกับ หลักหิน ซีพียิม ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
- เสียแชมป์, 17 กันยายน 2538 แพ้คะแนน วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น ที่ เซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี
- แชมป์โลก WBA รุ่นแบนตั้มเวท
- ชิง 27 ตุลาคม 2539 ชนะคะแนนโดยเทคนิค ยก 10 นานา คอนาดู ( กานา) ที่ โรงเรียนลับแลพิทยาคม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 15 มีนาคม 2540 ชนะคะแนน เฟลิกซ์ มาชาโด ( เวเนซุเอลา) ที่ สนามกีฬา จ.สตูล
- เสียแชมป์ 22 มิถุนายน 2540 แพ้ทีเคโอ ยก 7 นานา คอนาดู (กานา) ที่ เยวหลิง เซนเตอร์ แทมปา รัฐฟลอริดา[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เทปการชกระหว่าง ดาวรุ่ง กับ นานา คอนาดู (2)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๙๘, ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔