ทัชชกร ยีรัมย์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ทัชชกร ยีรัมย์ | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | ทัชชกร ยีรัมย์ |
ชื่ออื่น | จา พนม, โทนี่ จา |
เกิด | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 สุรินทร์ ประเทศไทย |
คู่สมรส | ปิยรัตน์ โชติวัฒนานนท์ (2554–ปัจจุบัน) |
บุตร | 2 คน |
อาชีพ |
|
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2535–ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | บุญทิ้ง - องค์บาก (2546) ขาม - ต้มยำกุ้ง (2548) เทียน - องค์บาก 2-3 (2551/2553) ขาม - ต้มยำกุ้ง 2 (2556) เกียรติ - เร็ว..แรงทะลุนรก 7 (2558) โทนี่ - คู่ซัดอันตราย (2558) ชัย - โหดซัดโหด (2558) ทาลอน - ทริปเปิ้ลเอ็กซ์ ทลายแผนยึดโลก (2560) ตั๊ก - เดือด ซัด ดิบ (2560) พายุ - ทริปเปิล เธรท สามโหดมหากาฬ (2562) ฮันเตอร์ - มอนสเตอร์ฮันเตอร์ (2563) |
สังกัด | สหมงคลฟิล์ม (2546–2558) |
รางวัล | |
สุพรรณหงส์ | รางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ พ.ศ. 2548 - ต้มยำกุ้ง |
ทัชชกร ยีรัมย์[1](เกิด 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519) ชื่อเล่น จา หรือที่รู้จักกันในชื่อ จา พนม เป็นอดีตนักกีฬาเริ่มเข้าสู่วงการแสดง พ.ศ. 2535 โดยเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงภาพยนตร์สังกัดค่ายสหมงคลฟิล์มเมื่อ พ.ศ. 2546[2] แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกสัญญาแล้วเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางธุรกิจ โดยใช้และเป็นต้นแบบคติในการแสดง คือ แสดงจริง, ไม่ใช้สตันท์แมน และไม่ใช้เทคนิคพิเศษในการแสดงคิวต่อสู้[3] เขาใช้ชื่อในการแสดงเฉพาะในประเทศไทยว่า "จา พนม" และใช้ชื่อในการแสดงระดับสากลว่า โทนี่ จา (Tony Jaa) เขาเป็นนักแสดงภาพยนตร์แอ็คชัน ผู้ศึกษาศิลปะการต่อสู้ทั้งศาสตร์ตะวันตกและตะวันออก ชำนาญในศิลปะการต่อสู้, การใช้อาวุธ, กีฬา และการออกกำลังกายหลากหลายศาสตร์
ภาพยนตร์เรื่องสำคัญเรื่องแรกที่เขาแสดงนำคือ องค์บาก ซึ่งได้รับการชื่นชมและสนใจจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวงการศิลปะการต่อสู้และภาพยนตร์ด้านต่าง ๆ ในประเทศไทยและระดับโลกอย่างมาก[4][5] และเป็นต้นแบบของ MUAYTHAI อีกด้วย นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของเขาที่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์แอ็คชันระดับโลก ซึ่งต่อมาภาพยนตร์ ต้มยำกุ้ง ก็ได้ประสบความสำเร็จในระดับโลกสูง และได้รับการตอบรับจากทั่วโลกเช่นเดียวกับองค์บาก[6][7] ทำให้เขาได้รับรางวัลจากภาพยนตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้มากมาย
ต่อมาได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไอยราฟิล์ม บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวแอ็คชันหลายเรื่อง
ปัจจุบันสมรสกับ ปิยรัตน์ โชติวัฒนานนท์ ซึ่งเป็นบุตรสาวเจ้าของธุรกิจโรงแรมที่จังหวัดระยอง เมื่อ พ.ศ. 2554 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน[8][9]
ประวัติ
[แก้]ครอบครัว
[แก้]ทัชชกร ยีรัมย์ มีบิดาชื่อ ทองดี ยีรัมย์ มารดาชื่อ รินทร์ ทรายเพชร [10] โดยมารดาเป็นชาวอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ย้ายถิ่นฐานมากับครอบครัวโดย สงค์ ทรายเพชร ในยุคบุกเบิกนิคม มาอยู่ติดชายแดนเขมร คือ อำเภอพนมดงรักปัจจุบัน และวันหนึ่ง ทองดี ยีรัมย์ เดิมเป็นชาวอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหัวหน้าทีมค้าขายไม้ ได้พาคณะช้างเดินทางขนไม้ จากฝั่งเขมรข้ามมายังไทย ฝ่ายหมู่บ้านโคกสูง จึงพบกับ รินทร์ ทรายเพชร ทั้งคู่ได้รักกัน แล้วแต่งงานกันโดยลงหลักปักฐานที่บ้านโคกสูง จังหวัดสุรินทร์ และมีลูกด้วยกันทั้งหมด 4 คน เป็นชายสองคนและหญิงสองคน
ทัชชกร ยีรัมย์ เป็นบุตรคนที่สามในบรรดาพี่น้องสี่คน มีชื่อพี่น้อง ดังนี้
- ทวีศักดิ์ ยีรัมย์ (ชาย)
- หัทยา ยีรัมย์ (หญิง)
- ทัชชกร ยีรัมย์ (ชาย)
- ชรินทร์ทิพย์ ยีรัมย์ (หญิง)
ระยะหลังได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างนายทัชชกรกับพี่น้องคนอื่น ๆ [โปรดขยายความ] จนถึงขั้นพี่น้องประกาศตัดพี่ตัดน้องกับนายทัชชกร[11]
การศึกษา
[แก้]- ประถมศึกษา - โรงเรียนบ้านอำปีล จังหวัดสุรินทร์
- มัธยมศึกษาตอนต้น - โรงเรียนโคกกลางวิทยา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพนมดงรักวิทยา) จังหวัดสุรินทร์
- มัธยมศึกษาตอนปลาย - โรงเรียนประสาทวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์
- อุดมศึกษา - สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตมหาสารคาม) จังหวัดมหาสารคาม[12]
ชีวิตวัยเด็ก
[แก้]ทัชชกร ยีรัมย์ เกิดมาในครอบครัวชนบทที่ยากจน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวกูยโบราณ ชนเผ่าซึ่งเคร่งครัดในศาสนาพุทธ[13] ครอบครัวประกอบอาชีพหลายอย่างทั้งทำนา เลี้ยงช้าง, ปลูกผัก[14] ตามวัฒนธรรมของชาวกูย เขามีพรสวรรค์ทางด้าน กระโดดสูง, กระโดดไกล และการสปริงข้อเท้ามาตั้งแต่เกิด ในวัยเด็กเขาชอบดูภาพยนตร์กลางแปลง มีความชื่นชอบการแสดงของเฉินหลง, เจ็ท ลี และพันนา ฤทธิไกร[15] ทัชชกรมีความใฝ่ฝันที่จะได้แสดงภาพยนตร์แอ็คชัน รักในการสร้างภาพยนตร์และพากย์ภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก
เขาได้เริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้ด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ [16] โดยชอบและสังเกตศิลปะการต่อสู้ของเจ็ทลี เฉินหลง และบรูซ ลี และนำมาปฏิบัติตาม[15] ในวัยเด็กนั้นทัชชกรก็เช่นเดียวกับเด็กผู้ชายชนบททั่วไป ที่มีความซุกซน เขาชอบเล่นศิลปะการต่อสู้กับเพื่อน ๆ และชอบที่จะเป็นหัวหน้ากลุ่ม จนทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ตั้งสมญานามให้เขาว่า "จ่า" ซึ่งแปลว่าหัวหน้าทีมและคนเลี้ยงช้าง และเรียกแทนชื่อจริงของเขาเสมอ ซึ่งต่อมาจากคำว่าจ่าก็เพี้ยนมากลายเป็น "จา" นับตั้งแต่วันนั้นเขาจึงได้ชื่อเล่นว่า จา จนทุกวันนี้
เด็กชายทัชชกรมีความสนใจในศิลปะการต่อสู้อย่างมากและมักจะออกไปฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ตามป่า กลางทุ่ง ลำธาร เขาชื่นชอบที่จะออกไปฝึกฝนศิลปะการต่อสู้เวลากลางคืน หากคืนไหนเป็นคืนเดือนเพ็ญเขาจะชอบฝึกเป็นพิเศษ และด้วยเหตุที่วรวิทย์เกิดในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผู้คนมีอาชีพเลี้ยงช้างเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเขาจึงมีความรัก ความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่เกิด เขาจึงชอบฝึกศิลปะการต่อสู้บนหลังช้าง บางครั้งเขาก็ฝึกหนักจนลืมทานข้าวและไม่กลับบ้าน และด้วยความที่เขามีพรสวรรค์ทางด้านสปริงข้อเท้า จึงทำให้เขาสนใจที่จะฝึกฝนทักษะและเล่นกรีฑาและกีฬาหลากหลายประเภท
ชีวิตในกองถ่ายภาพยนตร์
[แก้]เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขาได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง เกิดมาลุย ที่แสดงโดยพันนา ฤทธิไกร (ครูสอนศิลปะการต่อสู้, นักแสดง และผู้กำกับภาพยนตร์) เขาได้ขอร้องให้พ่อพาไปหาพันนาที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อจะขอให้พันนารับเขาไว้เป็นนักแสดงแอ็กชั่น ขณะนั้นพันนากำลังอยู่ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ปีนเกลียว ภาค 1 ครั้งแรกที่พันนาเห็นเขา คิดว่าทัชชกรนั้นยังอายุน้อยเกินไปที่จะเรียนศิลปะการต่อสู้อย่างจริงจัง จึงขอให้ทัชชกรกลับไปศึกษาให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อน แต่ยังอนุญาตให้ทัชชกรมาฝึกประสบการณ์ในกองถ่ายภาพยนตร์ได้ช่วงปิดภาคเรียน[17]
เมื่อถึงช่วงที่โรงเรียนปิดภาคเรียนหรือช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ทัชชกรมักเดินทางมาขอนแก่นเพื่อฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ สตันท์ กับสตันท์แมนในกองถ่ายภาพยนตร์ แต่วรวิทย์กลับไม่ได้รับความคาดหวังจากพันนามากนัก และบางครั้งเมื่อมีโอกาสดีที่พอจะได้พบกับพันนาเป็นเวลานาน ๆ ทัชชกรก็มักฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้กับพันนาเสมอ ซึ่งพันนาก็ได้ยอมรับในความสามารถของเขา และได้ดูแลเปลี่ยนบุคลิกใหม่ให้เขาดูดีขึ้น ดังนั้นเขาจึงให้ความนับถือพันนาและปฏิบัติตามทุกอย่างที่พันนากล่าวหรือขอร้องให้เขาปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ [17]
ต่อมาเขาได้เริ่มเข้าวงการครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี [18] โดยเป็นคนเสิร์ฟน้ำ, ตัวประกอบ, ยกของ, ทำอาหาร ฯลฯ ในกองถ่ายภาพยนตร์พร้อม ๆ กับฝึกฝนศิลปะการต่อสู้กับสตันท์แมน และในเวลาต่อมาเขาได้เรียนวิชามวยไทยโบราณและมวยกังฟูหวิงชุนของจีนจากรัฐพล ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกของทัชชกร จากจังหวัดสุรินทร์ และได้ร่วมงานกับพันนา ฤทธิไกร ซึ่งเป็นอาจารย์สอนศิลปะการต่อสู้คนสำคัญของเขา[19]
การเปลี่ยนผันทางบทบาทการแสดง
[แก้]พ.ศ. 2540 เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ด้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาต้องพักการเรียนและเริ่มทำแนวคิดภาพยนตร์เรื่อง คนสารพัดพิษ ร่วมกับพันนา เพื่อนำเสนอขอทุนจากปรัชญา ปิ่นแก้ว โดยทัชชกรรับบทบาทเป็นนักแสดงนำ ซึ่งเขาได้ฝึกฝนจากการจดจำศิลปะการต่อสู้ของนักแสดงภาพยนตร์ที่เขาชื่นชอบมาใช้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ รวมถึงฝึกฝนเพิ่มเติมจากอาจารย์สอนศิลปะการต่อสู้หลายคน และร่วมกันระดมทุนและนักแสดงรอบข้างมาเป็นส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เมื่อถ่ายทำเสร็จฟิล์มภาพยนตร์กลับเสียหายทั้งหมด ทั้งคู่จึงต้องร่วมระดมทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องเดิมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จึงประสบความสำเร็จ ทั้งคู่จึงนำแนวคิดภาพยนตร์ดังกล่าวเสนอต่อปรัชญา ปิ่นแก้ว และได้ถูกถ่ายทำออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่ององค์บากในที่สุด
ประสบความสำเร็จในอาชีพ
[แก้]พ.ศ. 2546 ผลงานเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จคือภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ซึ่งทำรายได้เฉพาะในประเทศไทย 200 ล้านบาท[20] ติดบ็อกซ์ออฟฟิซ อันดับ 1 หลายประเทศในทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกา, และทวีปยุโรป รวมถึงบ็อกซ์ออฟฟิซฮอลลีวูด ทำให้เขาได้รับความสนใจจากบริษัทโกลเด้นฮาร์เวสท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างให้บรูซ ลีมีชื่อเสียง ได้ทาบทามให้มาร่วมงานด้วย[5] ส่งผลให้เขากลายเป็นนักแสดงไทยที่ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัล และมีอิทธิพลด้านต่าง ๆ ในวงการแสดงระดับโลก
พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง ก็สามารถติดบ็อกซ์ออฟฟิซฮอลลีวูด อันดับ 4[21] ทำรายได้รวมทั่วโลกสูงถึง 1,000 ล้านบาท[7]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]พ.ศ. 2553 ทัชชกรสมรสกับ ปิยรัตน์ โชติวัฒนานนท์ ซึ่งทำธุรกิจโรงแรม ชื่อ ดาร์กอน ในจังหวัดระยอง ที่โรงแรมของฝ่ายหญิง หลังจากคบดูใจกันมา 3 ปี ต่อมา พ.ศ. 2555 ทั้งคู่ได้จัดงานฉลองมงคลสมรสที่หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย โดยมี สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ประธานบริษัท สหมงคลฟิล์ม จำกัด เป็นประธานในพิธี[22] และมีลูกด้วยกัน 2 คน คือน้องจอมขวัญ หทัยปวีต์ ยีรัมย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2555 และน้องเรือนแก้ว นริทรรัฐ ยีรัมย์ เกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 [23]
กีฬา
[แก้]ด้วยความที่ทัชชกรมีกล้ามเนื้อขาและข้อเท้าที่แข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดีกว่าคนปกติมาตั้งแต่กำเนิดสทำให้เขามีความสนใจด้านกีฬาและกรีฑา หลากหลายชนิด เมื่อสมัยยังศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เขาก็ได้เป็นนักกีฬาและกรีฑา ที่มีความสามารถเล่นได้หลากหลายประเภท และมีผลงานโดดเด่นเสมอมา จนได้รับการแต่งตั้งเป็นนักกีฬาดีเด่นของโรงเรียนและเป็นประธานชมรมกระบี่กระบองในขณะเดียวกัน ความสามารถด้านกรีฑา เช่น กระโดดสูง, กระโดดไกล, ยิมนาสติก ฯลฯ ด้านกีฬาประเภทอาวุธ เช่น กระบี่กระบอง และกีฬาประเภททีมเช่นตะกร้อด้วย ซึ่งได้รับเหรียญทองทั้งกรีฑาและกีฬาทุกประเภททุกปีที่ลงแข่งขัน[24] จนได้โควตาไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเขาได้เข้าเรียนต่อด้านกีฬาที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม ตามคำแนะนำของพันนา ฤทธิไกร[5] และได้เป็นนักกีฬาจังหวัดสุรินทร์[25]และถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานชมรมกระบี่กระบองอีกครั้งหนึ่ง[26] ทำให้ได้รู้จักกับ ชูพงษ์ ช่างปรุง นักศึกษาที่เรียนอยู่ชมรมเดียวกัน โดยทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้งทีมสตันท์รับงานตามสถานที่ต่าง ๆ[27]
- ผลงานระหว่างที่เป็นประธานชมรมกระบี่กระบอง
- นักกีฬาเหรียญทอง จังหวัดสุรินทร์ ประเภท กรีฑา
- นักกีฬาเหรียญทองทุกปี จากสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม
- วิทยากรสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม เผยแพร่ศิลปะป้องกันตัว ที่โรงเรียนมัธยมต่าง ๆ ในประเทศไทย
- ตัวแทนสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม เผยแพร่ศิลปการต่อสู้ของไทย ในภาคอีสาน
- ตัวแทนสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ (กระบี่กระบอง) ที่ประเทศจีน[28]
ส่วนร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา
[แก้]ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จุดคบเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา เอเชี่ยนมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 1 โดยทัชชกรรับบทเป็น "หนุมานยินดี" (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เทพกึ่งสัตว์ประจำการแข่งขันฯ) จุดคบเพลิงในพิธีเปิดแบบพื้นฐาน โดยเขาได้แสดงศิลปะการต่อสู้แบบหนุมานและแสดงศิลปะการควงกระบองไฟ ถวายต่อพระพักตร์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ[29]
ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จุดคบเพลิงในพิธีเปิด เมืองช้างเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่จังหวัดสุรินทร์ โดยแสดงเป็นองค์อัมรินทร์ (พระอินทร์) ประทับช้างเอราวัณ มีผู้แสดงเป็นเทพธิดา 95 องค์ และเทวดา 9 องค์เสด็จตาม [30]
ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จุดคบเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 41 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแสดงเป็นนักโยนไฟที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี
ตัวแสดงแทน
[แก้]ระหว่างที่เขาศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ในช่วงที่โรงเรียนปิดภาคเรียน พนมได้เข้าไปประกอบอาชีพเสริมและหาประสบการณ์ในกองถ่ายภาพยนตร์ และได้เริ่มแสดงเป็นตัวประกอบและตัวแสดงแทนในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ดังนี้ :
- สิงห์สยาม - ขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เขาได้แสดงครั้งแรกในชีวิตโดยแสดงเป็นตัวประกอบ ซึ่งเป็นฉากที่ต้องตีลังกาผ่านฉากอย่างรวดเร็ว โดยไม่ให้เห็นใบหน้า
- กวนโอ๊ย - ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เช่นกัน โดยแสดงเป็นตัวประกอบในฉากที่ต้องกระโดดตีลังกายิมนาสติกซิกแซก โดยแสดงร่วมกับหม่ำ จ๊กมก, พันนา ฤทธิไกร และ ธงชัย ประสงค์สันติ ซึ่งขณะนั้นได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเดียวกัน หลังจากนั้นก็มีภาพยนตร์ต่าง ๆ ติดต่อเข้ามาให้ไปเป็นตัวแสดงแทนอยู่เป็นประจำ
- Mortal Kombat 2 : Annihilation - ขณะที่เขากำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดมหาสารคาม ในช่วงปิดภาคเรียน เขาก็ได้ออกไปหาประสบการณ์ หารายได้ในกองถ่ายภาพยนตร์เช่นเคย ช่วงนั้นได้มีภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่ง เข้ามาถ่ายทำที่ประเทศไทย คือเรื่อง Mortal Kombat 2 : Annihilation พันนาจึงได้พาเขาไปคัดตัวให้เป็นตัวแสดงแทน Robin Shou ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีผู้มาสมัครเป็นตัวแสดงแทน 100 คน เขาได้แสดงท่าเตะให้ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ชม จึงได้ถูกเลือกให้มาเป็นตัวแสดงแทน โรบิน ชู ในที่สุด
- อินทรีแดง – ต่อมาในขณะที่เขากำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา เขาก็ได้แสดงเป็นตัวแสดงแทนเจมส์ เรืองศักดิ์ โดยแสดงเป็นอินทรีแดง แสดงในฉากตีลังกาต่าง ๆ[25]
ด้วยความที่เขาต้องทำงานในกองถ่าย แสดงภาพยนตร์ เป็นตัวแสดงแทน ฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ จึงทำให้เขามีปัญหาด้านการเรียนและต้องหยุดเรียนบ่อยขึ้น ทั้งยังเห็นว่า วิชาด้านกีฬาที่เขากำลังศึกษาอยู่ไม่ตรงกับอาชีพของตนเองในอนาคต เขาจึงตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัยขณะที่กำลังศึกษาปีที่ 3 หลังจากที่เขาลาออกจากวิทยาลัย เขากับพันนาจึงได้เริ่มดำเนินตามแผนงานที่วางเอาไว้ คือสร้างภาพยนตร์เรื่ององค์บาก อย่างจริงจัง ซึ่งทัชชกรได้รวบรวมหนังของเจ็ทลี, บรูซ ลี และเฉินหลงทุกเรื่องมาดู โดยยึดนักแสดงทั้ง 3 คน เป็นเกณฑ์พื้นฐานในการฝึก และจึงฝึกตาม ซึ่งเขาได้นำเอกลักษณ์ในการต่อสู้ของทั้ง 3 คนมาผสมรวมกัน และผสมผสานเอกลักษณ์ของตนลงไป เขาต้องเข้าฝึกซ้อมทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 ปี[31]
ศิลปะการต่อสู้
[แก้]ทัชชกร ยีรัมย์ มีทักษะทางศิลปะการต่อสู้และการใช้อาวุธหลายประเภท ดังนี้
- ประเภทศิลปะการต่อสู้
มวยไทย-คาดเชือก, มวยคชสาร, เทควันโด, วิชาหมัดเมา (ทั้งแบบไทย, แบบจีน และแบบผสม), กังฟู (ทั้งแบบเส้าหลิน และแบบหวิงชุน), ไอคิโด้ , ยูโด, คาราเต้ ,คาโปเอร่า, ศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA), BJJ
- อาวุธ
กระบองสามท่อน, กระบองสองท่อน, โซ่, ดาบซามูไร, ดาบไทย, เชือกลูกดอก, กระบี่จีน, กระบี่-กระบอง, พลอง, ไม้ศอก
รูปแบบศิลปะการต่อสู้
[แก้]พนม ยีรัมย์ มีรูปแบบในการต่อสู้ที่หลากหลาย สำหรับรูปแบบในการต่อสู้ของเขาโดยภาพรวมมี 4 รูปแบบ ดังนี้
- แบบต่อสู้ตามต้นฉบับของศิลปะการต่อสู้ชนิดต่าง ๆ
- แบบผสมผสานดึงเอาจากศาสตร์หนึ่งมาผสมกับอีกศาสตร์หนึ่ง เช่น นำศิลปะการต่อสู้แบบวิชาหมัดเมาของจีนมาผสมกับมวยไทย
- แบบประยุกต์ คือนำต้นฉบับมาดัดแปลงอีกครั้งหนึ่ง เช่น ประยุกต์รูปแบบ Free running และ Parkour มาเป็นศิลปะการต่อสู้, นำทักษะจากกีฬาตะกร้อมาประยุกต์เป็นท่าเตะในเรื่องต้มยำกุ้ง
- แบบคิดค้นขึ้นเองทั้งหมด เช่น คิดค้นนาฏยุทธ์
ถึงเขาจะมีรูปแบบในการต่อสู้ที่หลากหลาย แต่เขาก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจากการเป็นนักแสดงแอ็กชั่นที่มีความสามารถสูงในศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย[32]
ศิลปะการต่อสู้ที่คิดค้นขึ้น
[แก้]ด้วยความที่พนมมีความสามารถประยุกต์การเคลื่อนไหวร่างกายแบบต่าง ๆ มาผสานเป็นศิลปะการต่อสู้ จึงทำให้เขาเป็นผู้ให้กำเนิดศิลปะการต่อสู้รูปแบบใหม่ ขึ้นมากมาย แต่มีเพียงศิลปะการต่อสู้รูปแบบเดียวเท่านั้นที่เขาใช้เป็นศิลปะการต่อสู้เอกลักษณ์ของเขา ด้วยความที่เขาชื่นชอบวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดค้นศิลปะการต่อสู้รูปแบบใหม่ขึ้น จากภาพยนตร์เรื่ององค์บาก 2 เขาได้คิดค้นศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า นาฎยุทธ์ รูปแบบการต่อสู้ที่ถูกคิดค้นและผสมผสานจากนาฏศิลป์ไทย ลีลาแห่งศิลปะชั้นสูงอย่างโขน เช่น ตัวยักษ์, ลิง,(ตัวละครที่เขาชอบมากที่สุดคือ หนุมาน) พระ ฯลฯ มาผนวกรวมเข้ากับศิลปะการเต้นเบรกแดนซ์ และศิลปะการต่อสู้รูปแบบต่างๆ จนเกิดเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่เชื่อว่ายังไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน
{{คำพูด|ด้วยความที่ชอบฮิปฮอป เลยดึงมาประสานเป็น "นาฏยุทธ์" ตีความใหม่เรื่องการแสดงเหมือนการเต้นไปตามจังหวะเพลง จะเต้นยังไงให้รู้สึกอินตามไปกับเพลง "นาฏยุทธ์" ก็เป็นศาสตร์เดียวกัน เพียงแต่ว่าจะตีโจทย์ยังไงให้รู้สึกว่าท่าแอ็คชั่นในหนังดูแข็งแรงและกล้าแกร่ง พร้อมแทรกท่าพระช่วงไหน ใช้ท่าลิงตอนไหน ใช้ท่ายักษ์ระห่ำเวลาไหน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีเรียนการแสดงเพิ่มเติมด้วย
คดีความ
[แก้]ปัญหาการชำระเงินกู้ค่าทำภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก 2
[แก้]วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พนม ยีรัมย์ ผู้เป็นจำเลยได้ลงลายมือทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแก่โจทก์ คือ อุน ฮี ปาร์ค นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ จำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นโจทก์ได้โอนเงินจากธนาคารเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย และจำเลยได้ทำสัญญาว่าจะชำระหนี้ทันทีหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวถ่ายทำเสร็จและออกฉายแล้ว แต่หลังจากภาพยนตร์ดังกล่าวออกฉายจำเลยก็ไม่ได้ชดใช้เงินกู้จำนวนดังกล่าว โจทก์จึงนำคดีขึ้นฟ้องศาลให้พิพากษาและให้จำเลยคืนเงินต้นที่กู้ยืมไป พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 แก่โจทก์
เมื่อถึงวันที่ศาลกำหนดนัด แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลแต่มอบอำนาจให้ทนายความส่วนตัวแถลงว่าเขายินยอมชดใช้เงินคืนแก่โจทก์จำนวน 5 แสนบาท ซึ่งโจทก์ก็ได้ยอมความและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องแก่ศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ[33]
ปัญหาสัญญากับบริษัทสหมงคลฟิล์ม
[แก้]ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558 ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้ระงับการฉายภาพยนตร์เรื่องเร็ว..แรงทะลุนรก 7 ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ในคดีที่สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ (เสี่ยเจียง) ประธานสหมงคลกรุ๊ป ผู้ประกอบธุรกิจภาพยนตร์บริษัทสหมงคลฟิล์ม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพนม ยีรัมย์ (tony jaa), บริษัทยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์) และบริษัทยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด หรือยูไอพี ประเทศไทย (บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์) เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดผิดสัญญา พร้อมเรียกค่าเสียหาย 1,600 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคำสั่งนี้มีผลภายในประเทศเท่านั้น[34][35][36] แต่ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม ทีมทนายของจำเลยที่ 1-3 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งระงับฉายภาพยนตร์ดังกล่าว และศาลแพ่งก็ได้ยกเลิกคำสั่งนั้น โดยที่ทางสหมงคลฟิล์มได้คัดค้านคำอุทธรณ์ดังกล่าวแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากศาลมีความเห็นว่ากระทบกับสิทธิของผู้อื่น ทำให้ยูไอพีสามารถจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 1 เมษายน 2558 แต่การฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นยังคงอยู่[37][38] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 เสี่ยเจียงได้ตัดสินใจถอนฟ้องแพ่งนายพนมทั้งหมด และกล่าวว่าจากนี้ไปต่างคนต่างเดิน[39][40]
ความสำเร็จในระดับโลก
[แก้]- พ.ศ. 2546
- เว็บไซต์ www.kungfucinema.com เว็บไซต์เกี่ยวกับภาพยนตร์แอ็กชั่นและการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเว็บหนึ่งของโลก ได้มีการจัดมอบรางวัล KUNGFUCINEMA AWARD โดยองค์บากได้รับ 2 รางวัล จากการเสนอชื่อ 3 รางวัล ทัชชกรได้รับรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายที่เน้นการต่อสู้ยอดเยี่ยม และพันนาได้รับรางวัลออกแบบฉากแอ็กชั่นและการต่อสู้ยอดเยี่ยม(ชนะเฉินหลง, ทอมครูซ, เจ็ท ลี, เคียนู รีฟส์, หยวนหูผิง, และดอนนี่ เยน[41]
- พ.ศ. 2548
- ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 200 ดาราหน้าใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดในโลก ประจำปี 2548 โดยเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ วีกลี่ (Entertainment Weekly) ซึ่งดาราเอเชียติดอันดับเพียง 2 คนเท่านั้นคือ โทนี่ จาและจางอื้อยี่
- เว็บไซต์ www.positioningmag.com จัดอันดับให้ทัชชกร ยีรัมย์ ในชื่อของ Tony jaa เป็นนักแสดงแอ๊กชั่นยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของโลก [42]
- พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง มาดามทุซโซต์ กรุงเทพฯ ได้จัดสร้างห้องแสดงหุ่นขี้ผึ้งในแผนกศิลปะการต่อสู้ ชื่อ IN ON THE ACTION: Martial arts heroes Bruce Lee, above, and Tony Jaa โดยได้สร้างหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงของ โทนี่ จาและบรูซ ลี ตั้งไว้ในห้องเดียวกัน (เนื่องจากทั้งคู่เคยถูกทาบทามให้เป็นนักแสดงจากสังกัดค่ายภาพยนตร์เดียวกัน) ภายในห้องจัดฉากเป็นฉากการต่อสู้ที่ปรากฏในภาพยนตร์ของทั้งสองคน [43] และพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง Louis Tussaud’s Waxworks พัทยา ที่รวบรวมและจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของนักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ได้จัดสร้างหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงของ Tony jaa นั่งอยู่บนช้าง
- หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่ององค์บาก ประสบความสำเร็จจนถึงขีดสุดในระดับโลก คำว่าองค์บาก จึงกลายเป็นศัพท์สแลงในหมู่วัยรุ่นทั่วโลกที่แปลว่า กล้าหาญ และบ้าบิ่น[44]
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ในนักแสดงผู้มีอิทธิพลสูงสุดในเอเชีย (Asia's Most Popularity Entertainer People of The Year 2008) จากนักวิจารณ์และนักแสดงทั่วโลก [45]
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 300 ดาราดังในเอเชีย มาถ่ายแบบเปลือย เพื่อนำรายได้จากการเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิที่ประเทศฮ่องกง[46]
- พ.ศ. 2551
- ทัชชกร ยีรัมย์ ในชื่อ Tony jaa ถ่ายแบบและถ่ายทอดประวัติชีวิตลงในนิตยสาร GQ นิตยสารสหรัฐอเมริกา ที่ว่าด้วยเรื่องราวประวัติชีวิตของผู้ชายที่มหัศจรรย์ระดับโลก ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 2008[47]
- พ.ศ. 2552
- ทัชชกร ยีรัมย์ ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ลงในทำเนียบ "คนไทยที่โลกยกย่อง" ประกาศเกียรติคุณโดยเว็บไซต์ สารานุกรมทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (kc.hri.tu.ac.th)
- ภาพยนตร์ในการแสดงนำหลายเรื่องของเขาได้ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 อันดับภาพยนตร์ไทยที่ผู้ชมทั่วโลกชื่นชอบมากที่สุดในทศวรรษ เช่นเรื่อง องค์บาก และต้มยำกุ้ง จากผลการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ www.toptenthailand.com ในหัวข้อ 10 อันดับหนังไทยที่คนชื่นชอบมากที่สุดในทศวรรษ
- พ.ศ. 2553
- ทัชชกร ยีรัมย์ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักแสดงภาพยนตร์แอ๊กชันอันดับ 1 ระดับตำนาน จากผลการสำรวจผู้ชมภาพยนตร์แนวแอ๊กชันทั่วโลก ของเว็บไซต์ www.deknang.com และเว็บไซต์ www.openmm.com เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์ทุกประเภทจากทั่วโลก[48][49]
- พ.ศ. 2556
- ทัชชกร ยีรัมย์ ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในนักแสดงของภาพยนตร์เรื่อง Fast and Furious 7 ซึ่งเป็นภาพยนตร์แข่งรถขายดีของค่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ
ผลงานการแสดง
[แก้]- เพชฌฆาตดำ (2533) รับบท หัวหน้าโจรนินจา
- เพชรพระอุมา (2533) รับบท พรานจัน
- สิงห์สยาม (2535) รับบท ตีลังกา
- กวนโอ๊ย (2536) รับบท กระโดดตีลังกายิมนาสติกซิกแซก
- ปีนเกลียว (2536)
- ปลัดบ้านนอก (2536)
- ปลุกมันขึ้นมาฆ่า 4 (2537) รับบท หมู่พวกเขา
- พยัคฆ์ร้ายเซี่ยงชุน 2 (2537) รับบท เล็ก ๆ
- มนต์เพลงนักเลงบ้านนอก (2537)
- นักฆ่าหน้าหยก (2537)
- นักเลงกลองยาว (2537)
- นักสู้เมืองอีสาน (2538)
- ข้ามากับปืน (2538)
- ปีนเกลียว 2 (2538)
- กองทัพเถื่อน 2 (2538)
- อัดแหลกไอ้เพชร บขส. - ไอ้ผาง รฟท. (2538)
- เพชฌฆาตเดนสงคราม 2 (2539)
- มือปราบปืนโหด (2539) รับบท โทนี่
- คนดิบเหล็กน้ำพี้ (2539) รับบท ชายติดอาวุธ 6 คน
- แก๊งค์กระแทกก๊วนส์ เก๋ากวนเมือง (2540)
- มอร์ทัลคอมแบท (Mortal Kombat 2 : Annihilation) (2540)
- อุ้มเธอไว้อันตรายเกินร้อย (2540)
- ปู่ตาคาถาถล่มคน (2540)
- ปืนเกลียว 3 (2540) รับบท นักสู้เกย์
- คนสารพัดพิษ (2540)
- เซี่ยงชุน 3 พยัคฆ์ร้ายครกแตก (2540)
- CC-J แสบฟ้าแลบ (2541)
ภาพยนตร์ที่แสดงเอง
[แก้]ปี พ.ศ. | เรื่อง | รับบทเป็น | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
2546 | องค์บาก | บุญทิ้ง | |
2547 | บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม | นักสู้ในห้างสรรพสินค้า | รับเชิญ |
2548 | ต้มยำกุ้ง | ขาม | |
2550 | บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม 2 | คนขายช้างออมสิน | รับเชิญ |
2551 | องค์บาก 2 | เทียน | |
2553 | องค์บาก 3 | ||
2556 | ต้มยำกุ้ง 2 3D | ขาม | |
2558 | เร็ว..แรงทะลุนรก 7 | เกียรติ | |
คู่ซัดอันตราย | โทนี่ | ||
โหดซัดโหด | ชัย | ||
2559 | Never Back Down: No Surrender | รับเชิญ | |
2560 | ทริปเปิ้ลเอ็กซ์ ทลายแผนยึดโลก | ทาลอน | |
เดือด ซัด ดิบ': | ตั๊ก | ||
Gong Shou Dao | มาสเตอร์จา | รับเชิญ | |
2561 | ยิปมัน: ตำนานมาสเตอร์ Z | Sadi the Warrior | |
2562 | ทริปเปิล เธรท สามโหดมหากาฬ | พายุ | เผยแพร่ทางเน็ตฟลิกซ์[51] |
2563 | มอนสเตอร์ฮันเตอร์ | ฮันเตอร์ | |
2564 | Detective Chinatown 3 | Jack Jaa | พากย์เสียงตัวเองในบางฉากและบางบทก่อนที่ทีมพันธมิตรจะพากย์ |
2566 | Expend4bles โคตรคนทีมมหากาฬ 4 | Decha |
กำกับภาพยนตร์
[แก้]- องค์บาก 2 (2551) (กำกับและแสดงนำ) (วันที่เข้าฉาย 5 ธันวาคม)
- องค์บาก 3 (2553) (กำกับและแสดงนำ) (วันที่เข้าฉาย 5 พฤษภาคม)
ละครโทรทัศน์
[แก้]เกมโชว์
[แก้]- ชิงร้อยชิงล้าน ชะชะช่า ช่วง ละคร 3 ช่า เรื่อง 7 ประจัญบาน รับบท ลูกน้องโหน่ง
ผลงานเพลง
[แก้]ศิลปินเดี่ยว
[แก้]- พ.ศ. 2560 พนมได้ออกซิงเกิ้ลแรกในชีวิตกับค่าย แกรนด์มิวสิค ในเครือ แกรมมี่ ในชื่อเพลง ลุยเฮลุย และได้แสดงมิวสิกวิดีโอของเพลงดังกล่าว[52]
มิวสิกวิดีโอ
[แก้]- เป็นพระเอกในมิวสิกวิดีโอเพลง Je Reste Ghetto ONG-BAK ให้กับวง Tragedie และเป็นเพลงเปิดตัวประจำของโทนี่ จา ในระยะเวลาหนึ่ง
ผลลัพธ์
[แก้]เกม
[แก้]- ต้มยำกุ้ง เดอะเกมส์ - ให้เสียงพากย์เป็นตัวเอกในเกม [53]
ตุ๊กตา Model
[แก้]- โทนี่จาในชุดขามจากภาพยนตร์เรื่องต้มยำกุ้ง เป็นที่รู้จักอย่างมากที่สุดในตลาดต่างประเทศ [54]
บริษัท
[แก้]- บริษัทไอยราฟิล์มจำกัด (IYARA FILM CO.,LTD) เป็นบริษัทผลิต-จัดจำหน่ายภาพยนตร์, โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้หลายรูปแบบ และสำนักพิมพ์ในสถานที่เดียวกัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 อยู่ที่ 199, 201 ซอยลาดพร้าว 101 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
ทีมสตั๊นท์
[แก้]- เป็นผู้ก่อตั้งทีมนักแสดงแทนด้านศิลปะการต่อสู้ในภาพยนตร์ ชื่อทีม "ไอยราสตั๊นท์" โดยทีมสตั๊นท์ส่วนหนึ่งมาจากนักแสดงแทนในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ของทัชชกร
สถาบันสอนศิลปะการต่อสู้
[แก้]- ทัชชกรร่วมกับครอบครัว ก่อตั้งสถาบันสอนศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยประเภทต่าง ๆ ในชื่อ "สถาบันมวย IMA" เปิดสอนหลักสูตรมวยไทยประเภทต่าง ๆ ให้แก่ชาวต่างชาติและคนไทย มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 สถานที่ตั้งอยู่ที่ อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์[55]
โฆษณา
[แก้]- พรีเซ็นเตอร์โฆษณา "ลำไยไทยช่วยชาติ" แก้ปัญหาลำไยล้นตลาด โดยโครงการของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 [56]
- พรีเซ็นเตอร์โฆษณา "รถมิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส" 3 ภาค โดยได้รับค่าตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในประเทศไทย ถึง 50 ล้านบาท ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 [57] ทำให้รถมิตซูบิชิ ไทรทัน เป็นที่นิยมในตลาดโลก[58]
- พรีเซ็นเตอร์โฆษณา รณรงค์วินัยจราจร จังหวัดสุรินทร์ ในโครงการของ พ.ต.ท.นิรันดร์ คู่พิทักษ์ ผกก. (ป.) สภ.ปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552[59]
- ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสถาบันการพลศึกษา (ประเทศไทย) ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ "หลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทย 9 ขั้น ของสถาบันการพลศึกษาสู่เวทีโลก" โดยมีหลายประเทศจากทั่วโลกให้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
- พรีเซ็นเตอร์โฆษณาบัตรเครดิต DBS Compass Visa ของฮ่องกง พ.ศ. 2559[60]
- หนังสือ
- นิตยสาร I+Extreme "ไอ+เอกซ์ตรีม" โดยบริษัทไอยราฟิล์ม[61]
รางวัลและการเชิดชูเกียรติ
[แก้]รางวัลและการเชิดชูเกียรติที่พนม ยีรัมย์ ได้รับจากการแสดงภาพยนตร์ และศิลปะมวยไทย
พ.ศ. | ชื่อรางวัล | คำอธิบาย | อ้างอิง |
---|---|---|---|
2546 | รางวัล KUNGFUCINEMA AWARD
|
จากเว็บไซต์ www.kungfucinema.com | [62] |
รางวัลทูตวัฒนธรรมด้านภาพยนตร์ครั้งที่ 1 | จัดขึ้นโดยโครงการของรัฐบาล ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนสปาร์ค | [63] | |
2548 | ลงหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์สาขาสอนและโชว์มวยไทยแก่ประชาชนมากที่สุดในโลก | มีผู้มาฝึก 2,000 คน ณ ฮ่องกง | [64] |
รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่15 รางวัลเกียรติยศแห่งปี 2548 สาขาดาราไทยที่สร้างชื่อเสียงให้ภาพยนตร์ไทยที่รู้จักทั่วโลก | จาก ภาพยนตร์เรื่องต้มยำกุ้ง | [65] | |
รางวัลดาราหน้าใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดในโลก | เอ็นเตอร์เทนเม้นท์วีกลี่ | [66] | |
2550 | รางวัล BEST ACTION ACTOR รางวัลศิลปะการต่อสู้ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย | จากงาน MARTIAL ARTS GLOBAL CELEBRATION ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน ร่วมกับเฉินหลง, เดวิดเจียง, หยวนเปียว, เจ็ทลี,ฯลฯ และแสดงศิลปะรำกังฟูบนเวทีด้วย | [67] |
2551 | รางวัลใบโพธิ์ทองคำ | (สหมงคลฟิล์ม) | [68] |
2552 | รางวัลเพนกวินผู้กล้า The First Penguin Award | บุคคลตัวอย่างมีความกล้าหาญ-สร้างสรรค์) จากรูปแบบการถ่ายทำภาพยนตร์ และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบศิลปะการต่อสู้รูปแบบใหม่ จากเรื่ององค์บาก 2 | |
รางวัลศิลปินมรดกอีสาน ประเภทศิลปะการแสดง สาขานักแสดง | มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดขึ้นเนื่องในงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย | ||
2553 | รางวัลสตั๊นท์ชายยอดเยี่ยมประเภทแข่งขัน (BEST STUNT by A STUNT MAN AWARD) | จากงาน 1st THAILAND STUNT AWARDS (รางวัลสตั๊นต์แมนยอดเยี่ยม ครั้งที่ 1) นักแสดงนำที่แสดงบทเสี่ยงตายโดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยความปลอดภัย จากภาพยนตร์เรื่ององค์บาก 3 | [69] |
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ เขาปรากฏตัวในฐานะสตันท์แมนคู่ใจของ เจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ในรายการแสบคูณสอง เทปที่ 65 ช่วงแสบพบญาติ รอบที่ 4
อ้างอิง
[แก้]- ↑ โทนี่จา...หมัด เท้า เขย่าโลก! วันที่สืบค้น 28 กุมภาพันธ์ 2555, จาก www.positioningmag.com
- ↑ เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ แรงดัน หนุนสร้าง พลังฮีโร่ สูตรสำเร็จ "โทนี่ จา" บนโลกเซลลูลอยด์ จาก www.pantip.com
- ↑ ขำกลิ้ง..ฮากระจาย..กับสาระแนสิบล้อ เก็บถาวร 2010-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก archive.voicetv.co.th
- ↑ "จา พนม ถูกจัดอันดับให้เป็นตำนานเรื่องการต่อสู้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-14.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 จา พนม ยีรัมย์ ประวัติความเป็นมาของ จา พนม ยีรัมย์
- ↑ จา พนม หอบต้มยำกุ้ง โกอินเตอร์ ถล่ม BOX-OFFICE ฮ่องกง ฉาย 4 วันครองแชมป์อันดับ 1 สู่ปรากฏการณ์ความสำเร็จในระดับโลก จาก www.ryt9.com
- ↑ 7.0 7.1 เส้นทางของ “ต้มยำกุ้ง”
- ↑ จา พนมเฮ! ภรรยาคลอดลูกสาว ตั้งชื่อ น้องจอมขวัญ หทัยปวี วันที่สืบค้น 1 พ.ย. 2556 จาก www.kapook.com
- ↑
"สุดเห่อ! จา พนม ในบทบาทคุณพ่อลูกสาวสอง". สนุก.คอม. 9 กันยายน 2558. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ thairath, (9/ กย./ 54), ข้อมูลบิดา-มารดา, เรียกข้อมูล 9/ กย. / 54, จาก : www.thairath.co.th,
- ↑ ""จา-พนม"ไม่ร่วมเผาพ่อ น้องเผยแม่ร่ำไห้เป็นลม". ข่าวสด. 26 สิงหาคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2558.
น้องสาวจา-พนม เผยอีกว่า ตอนนี้ญาติ พี่น้องทุกคนไม่คาดหวังในตัวจาอีกแล้ว จาเปลี่ยนไปมาก เฉยชาต่อญาติพี่น้องทุกคน เขาไม่สมควรใช้นามสกุลยีรัมย์ ด้วยซ้ำ ตนรับ ไม่ได้และญาติๆ ไม่มีใครรับได้ ทางญาติๆ พี่น้องอโหสิกรรมกับเขา ปล่อยแล้ว เราทำดีที่สุดแล้ว
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประวัติการศึกษาของทัชชกร ยีรัมย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-11. สืบค้นเมื่อ 2010-09-13.
- ↑ "ชาวกูย (Kui) ชาวกูย (Kui) กวย (Kuoy) ส่วย (Suay) ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขากะตูอิค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-12-23.
- ↑ ASTV ผู้จัดการออนไลน์, (14 มีนาคม 2548), โอ้ว้าว!! "จา พนม" สร้างบ้าน 18 ล้านสนองคุณ "พ่อ-แม่" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วันที่สืบค้น 12/ กย. /54, จาก : manager.co.th
- ↑ 15.0 15.1 จา พนม (โทนี่ จา) ประวัติดารา เก็บถาวร 2022-09-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่สืบค้น 15 เม.ย. 2555 จาก www.club.zubzip.com
- ↑ "เริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-13. สืบค้นเมื่อ 2011-08-21.
- ↑ 17.0 17.1 jabcha,จา พนม สุดดัง กับบรรดาแฟนคลับที่ฝรั่งเศส เก็บถาวร 2016-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูล 8/กย./54 จาก : www.jabchai.com
- ↑ การเริ่มเข้าวงการครั้งแรกของ จา พนม
- ↑ The Stunt วันที่เรียกข้อมูล 27 เม.ย. 2555 จาก www.thaicinema.org
- ↑ Cover Story : Hot movies of the Year (Marketeer/ธ.ค./51) เก็บถาวร 2012-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่สืบค้น 19 กันยายน 2554, จาก www.marketeer.co.th
- ↑ “ต้มยำกุ้ง” หนังไทยเรื่องแรก ถล่ม BOX-OOFICE ฮอลลีวู้ดกระจุย ข่าวหนังไทย movie.sanook.com วันที่สืบค้น 8 ตค.54
- ↑ จา พนม ประกาศวิวาห์ น้องบุ้งกี๋ ทายาทโรงแรมระยอง เก็บถาวร 2013-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่สืบค้น 1 พ.ย. 2556. จาก www.news.voicetv.co.th
- ↑ ครอบครัวอันแสนอบอุ่นของ โทนี่จา
- ↑ ประวัติด้านดีฬา/การได้รับเหรียญทอง (1)
- ↑ 25.0 25.1 จา พนม ยีรัมย์[ลิงก์เสีย]วันที่สืบค้น 18 เม.ย. 2555 จาก www.esanclick.com ]
- ↑ Behind the Scene :บทสัมภาษณ์ เดี่ยว ชูพงษ์
- ↑ “จาปะทะเดี่ยว” ความมันส์เกินพิกัดของ “องค์บาก3” กับสายสัมพันธ์กว่า 20 ปีสู่ปรากฏการณ์ที่สาวกแอ็คชั่นรอคอย ข่าวบันเทิง ฮาร์วายทีไนน์ วันที่สืบค้น 8 ตค.54
- ↑ พนม ยีรัมย์ เก็บถาวร 2013-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่สืบค้น 1 พ.ย.2556 จาก www.nangdee.com
- ↑ จา พนม เป็นผู้จุดคบเพลิงพิธีเปิดเอเชียลฯ ครั้งที่ 1
- ↑ เปิดฉากเมืองช้างเกมส์ เจ้าภาพสุรินทร์คว้าเหรียญทองแรก เก็บถาวร 2020-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่สืบค้น 1 พ.ย. 2556 จาก www.dpe.go.th
- ↑ ระยะเวลาในการฝึกศิลปะการต่อสู้
- ↑ Tony Jaa - Muay Thai Master เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ เคลียร์หนี้ 5 แสนคดีจาพนมเบี้ยวเงินกู้ทำหนังยุติ เก็บถาวร 2012-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่สืบค้น 16 เม.ย. 2555 จาก : www.komchadluek.net
- ↑ 'จา พนม' ผิดสัญญา 'เสี่ยเจียง' ศาลสั่งระงับฉาย 'ฟาสต์ 7' ในไทย
- ↑ "ศาลแพ่งห้ามฉายฟาสต์ 7 ในไทย หลังไต่สวนฉุกเฉินเสี่ยเจียง ฟ้องเรียก 1.6 พันล้าน จา พนม-ยูนิเวอร์แซล-ยูไอพี ละเมิดผิดสัญญา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
- ↑ "คนไทยอดดู Fast 7 พร้อมทั่วโลก!? "เสี่ยเจียง" ฟ้อง "จา" ศาลสั่งระงับฉายหนังชั่วคราว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-20. สืบค้นเมื่อ 2015-04-20.
- ↑ เมเจอร์ฯ คอนเฟิร์ม! Fast & Furious 7 ฉายแน่ 1 เมษายนนี้!
- ↑ "แฟน Fast and furious 7 เฮ! ศาลยกเลิกคำสั่งระงับฉายแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-02. สืบค้นเมื่อ 2015-04-20.
- ↑ "อโหสิให้! เสี่ยเจียงถอนฟ้อง จา พนม ต่างคนต่างเดิน". ไทยรัฐออนไลน์. 6 กรกฎาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""เสี่ยเจียง" ถอนฟ้อง "จา" ลั่นต่างคนต่างเดิน". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 6 กรกฎาคม 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-07. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ KUNGFUCINEMA AWARD
- ↑ จา พนมได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักแสดงแอ๊กชั่นอันดับ 1 ของโลก
- ↑ "จา พนม ถูกสร้างเป็นหุ่นขี้ผึ้ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-01. สืบค้นเมื่อ 2011-01-01.
- ↑ จา พนม(TONY JAA) ประกาศแต่งงาน น้องบุ้งกี๋ 3 พ.ค.นี้ เก็บถาวร 2015-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่สืบค้น 28 เม.ย. 2555 จาก www.ruengdd.com
- ↑ K-POP อิทธิพลกลืนวัฒนธรรม เก็บถาวร 2016-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วันที่เรียกข้อมูล 26 เม.ย. 2555 จาก www.sahavicha.com
- ↑ โทนี่ จา ปลื้มร่วม 300 ดาราเอเชียแก้ผ้า
- ↑ โทนี่จา...หมัด เท้า เขย่าโลก! วันที่เรียกข้อมูล 26 เม.ย. 2555 จาก www.positioningmag
- ↑ "จา พนม ถูกจัดอันดับให้เป็นตำนานเรื่องการต่อสู้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-14.
- ↑ "พนม ถูกจัดอันดับให้เป็นตำนานเรื่องการต่อสู้.2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-22. สืบค้นเมื่อ 2011-01-22.
- ↑ Tony Jaa (อังกฤษ)
- ↑ "Triple Threat - Netflix". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-25. สืบค้นเมื่อ 2019-05-06.
- ↑ "From high kicks to high pitches". The Nation. 2017-03-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-06. สืบค้นเมื่อ 2017-04-18.
- ↑ "ต้มยำกุ้งเดอะเกมส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-10-14.
- ↑ Sensasian, Tom Yum Goong - Fantastic Tony Jaa AFC 7 Action Figure ,เรียกข้อมูล 5/กย./54 จาก : sensasian.com (อังกฤษ)
- ↑ ภาพข่าว: พิธีเปิดสถาบันมวย IMA ของบริษัทไอยราฟิล์ม จำกัด โดยครอบครัวคุณจาพนม ยีรัมย์
- ↑ “เสี่ยเจียง” สนับสนุน “จา พนม” เป็นพรีเซนเตอร์ลำไยไทยช่วยชาติ
- ↑ "เหนือ เบิร์ด จา-พนม รับค่าตัว 50 ล้าน..." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-25. สืบค้นเมื่อ 2010-09-01.
- ↑ อิทธิพลของการโฆษณารถของ จา พนม ที่มีผลในตลาดรถไทยในต่างประเทศ[ลิงก์เสีย]
- ↑ "จา พนม โฆษณารณรงค์วินัยจราจร ที่จ.สุรินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 2021-09-23.
- ↑ Marketing Oops! - “จาพนม” บู๊สนั่นจอ ผ่านโฆษณาตัวใหม่ให้ธนาคาร DBS Hong Kong
- ↑ บริษัท ไอยราฟิล์ม โดยคุณจาพนม ยีรัมย์ เปิดตัวนิตยสารใหม่[ลิงก์เสีย]
- ↑ จาพนมได้รับรางวัลกังฟูอวอร์ด[ลิงก์เสีย]
- ↑ "จาพนมได้รับรางวัลทูตวัฒนธรรมด้านภาพยนตร์ครั้งที่ 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-17. สืบค้นเมื่อ 2021-10-14.
- ↑ Thai News :"ต้มยำกุ้ง" หวังฟัน 1,000 ล. "จา" ปลื้มได้ลงกินเนสส์บุ๊ค
- ↑ "- ผลการตัดสินรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 15". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-18. สืบค้นเมื่อ 2021-09-23.
- ↑ จาพนมรับรางวัล ดาราหน้าใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดในโลก
- ↑ จา พนม บุกแดนมังกร รับรางวัล นักแสดงแอ็กชั่นยอดเยี่ยม
- ↑ คนวงการบันเทิงนับร้อยร่วมภูมิใจ ต่างชาติยกย่องเสี่ยเจียง-จา พนม
- ↑ Thai News :ประกาศแล้ว! รางวัลสตั๊นท์แมนยอดเยี่ยม
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ไอยราฟิล์ม เก็บถาวร 2011-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2007-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Tony Jaa เก็บถาวร 2007-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์โดยแฟน ๆ
- บทสัมภาษณ์ ที่ Suicide Girls (อังกฤษ)
- บทสัมภาษณ์โดยนิตยสาร ไทม์ เอเชีย เก็บถาวร 2005-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)