บรรณาธิการ
บรรณาธิการ (คำสนธิ: บรรณ (หนังสือ) + อธิการ (เจ้าการ); อังกฤษ: Editor) เป็นบุคคลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการจัดทำ รวบรวม ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุม เนื้อหาและภาพทั้งหมด ที่จะตีพิมพ์เป็นหนังสือ หรือเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดว่าจะออกเรื่อยไปตามลำดับ โดยใช้ชื่อเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ และนิยมใช้เป็นคำย่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “บ.ก.” ส่วนคำที่ใช้เรียกกระบวนการลักษณะดังกล่าว คือ บรรณาธิกร (อังกฤษ: Editing)
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ บรรณาธิการ ไว้ว่า ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์[1] และในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2550 ระบุว่า บรรณาธิการ หมายความถึง บุคคลผู้รับผิดชอบ ในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความ หรือภาพ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุ หรือเอกสาร ที่แทรกในหนังสือพิมพ์ โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย เมื่อหนังสือพิมพ์ มีความหมายรวมไปถึง นิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ ที่เรียกชื่ออย่างอื่น ในทำนองเดียวกัน[2]
ประเภทของบรรณาธิการ
[แก้]- บรรณาธิการอำนวยการ (อังกฤษ: Managing Editor) ทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานงาน ระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายปฏิบัติการของสิ่งพิมพ์
- บรรณาธิการที่ปรึกษา (อังกฤษ: Advising Editor) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บรรณาธิการ ในกรณีต่าง ๆ
- บรรณาธิการบริหาร (อังกฤษ: executive editor) หรือ บรรณาธิการใหญ่ (อังกฤษ: editor-in-chief) ทำหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายนโยบายของสิ่งพิมพ์ในภาพรวม ทั้งเรื่องธุรกิจ และการนำเสนอเนื้อหา ตลอดจนการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ
- บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา (อังกฤษ: Publishing Editor) ทำหน้าที่จัดการ และรับผิดชอบในการพิมพ์ ตลอดจนจัดการ ให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายออกไป ด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาย หรือให้เปล่า รวมถึงการเป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ลงตีพิมพ์ โดยมักจะตกเป็นจำเลย ในกรณีที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนมีผู้ให้ฉายาว่า “บ.ก.ติดคุก”
- บรรณาธิการภาพ (อังกฤษ: Newspicture Editor) ทำหน้าที่รวบรวม คัดเลือก และควบคุม การนำเสนอภาพในสิ่งพิมพ์ทุกกรณี โดยมักมีการแบ่งแยกในโครงสร้างของนิตยสาร
- บรรณาธิการข่าว (อังกฤษ: News Editor) ทำหน้าที่ตรวจแก้ รวบรวม คัดเลือก และควบคุม การนำเสนอเนื้อหาข่าวในกลุ่มเนื้อหาที่แตกต่างกันไป เช่น การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ภูมิภาค กีฬา บันเทิง เป็นต้น จากนั้นจึงนำเสนอไปยังบรรณาธิการบริหารอีกชั้นหนึ่ง
- สาราณียกร (อังกฤษ: The Mouthpiece) ทำหน้าที่เช่นเดียวกับบรรณาธิการ ในกรณีของสิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ เช่น หนังสือรุ่นนักเรียนนักศึกษา หนังสือที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
กองบรรณาธิการ
[แก้]กองบรรณาธิการ เป็นกลุ่มบุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะทำงานของบรรณาธิการ ในการช่วยตรวจสอบบทความแทนบรรณาธิการ รวมถึงการเขียนคอลัมน์ที่สำคัญในฉบับ เช่น บทบรรณาธิการ, คอลัมน์จดหมายถึงบรรณาธิการ (อังกฤษ: Letter to the Editor) รายงานพิเศษ (สกู๊ป; อังกฤษ: Scoop), บทสัมภาษณ์ เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 604.
- ↑ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอน 93 ก ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550