ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศบราซิล

พิกัด: 10°S 52°W / 10°S 52°W / -10; -52
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บราซิล)

10°S 52°W / 10°S 52°W / -10; -52

สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล

República Federativa do Brasil (โปรตุเกส)
คำขวัญ"ระเบียบและความก้าวหน้า"
(โปรตุเกส: Ordem e Progresso)
ที่ตั้งของ ประเทศบราซิล  (เขียว) ในทวีปอเมริกาใต้  (เทา)
ที่ตั้งของ ประเทศบราซิล  (เขียว)

ในทวีปอเมริกาใต้  (เทา)

เมืองหลวงบราซิเลีย
15°47′S 47°52′W / 15.783°S 47.867°W / -15.783; -47.867
เมืองใหญ่สุดเซาเปาลู
23°33′S 46°38′W / 23.550°S 46.633°W / -23.550; -46.633
ภาษาราชการ
และภาษาประจำชาติ
โปรตุเกส[2]
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 2010)[3][4]
ศาสนา
(ค.ศ. 2010)[5][6]
การปกครองสหพันธ์สาธารณรัฐระบบประธานาธิบดี
ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา
เจอราลโด อัลก์มิน
อาร์ตูร์ ไลร่า
โฮดรีกู ปาเชกู
โรซา เวเบอร์
สภานิติบัญญัติรัฐสภาแห่งชาติ
วุฒิสภาสหพันธ์
สภาผู้แทนราษฎร
เอกราช 
7 กันยายน ค.ศ. 1822
29 สิงหาคม ค.ศ. 1825
15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889
5 ตุลาคม ค.ศ. 1988
พื้นที่
• รวม
8,515,767 ตารางกิโลเมตร (3,287,956 ตารางไมล์) (อันดับที่ 5)
0.65
ประชากร
• ค.ศ. 2022 ประมาณ
217,240,060[7] (อันดับที่ 7)
25 ต่อตารางกิโลเมตร (64.7 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 193)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 3.680 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 9)
เพิ่มขึ้น 17,208 ดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 88)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 1.833 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 12)
เพิ่มขึ้น 8,570 ดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 104)
จีนี (ค.ศ. 2019)positive decrease 53.4[9]
สูง · อันดับที่ 10
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021)ลดลง 0.754[10]
สูง · อันดับที่ 87
สกุลเงินเรอัล (R$) (BRL)
เขตเวลาUTC−2 ถึง −5 (เวลาในประเทศบราซิล)
รูปแบบวันที่วว/ดด/ปปปป (ค.ศ.)
ไฟบ้าน220 โวลต์, 60 เฮิรตซ์ และ 127 โวลต์, 60 เฮิรตซ์
ขับรถด้านขวามือ
รหัสโทรศัพท์+55
โดเมนบนสุด.br

บราซิล (อังกฤษ: Brazil; โปรตุเกส: Brasil, สำเนียงบราซิล: [bɾaˈziw] ( ฟังเสียง)) หรือชื่อทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล (อังกฤษ: Federal Republic of Brazil; โปรตุเกส: República Federativa do Brasil)[11] เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดทั้งในทวีปอเมริกาใต้และภูมิภาคลาตินอเมริกา ด้วยเนื้อที่ 8.5 ล้านตารางกิโลเมตร (3,300,000 ตารางไมล์)[12] และประชากรกว่า 211 ล้านคน จึงเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 และมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยมีเมืองหลวงคือกรุงบราซิเลีย ส่วนเมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือนครเซาเปาลู สหพันธ์บราซิลประกอบขึ้นจากการรวมตัวกันของรัฐ 26 รัฐและเขตเมืองหลวงสหพันธ์ เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกและประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ[13][14] นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์มากที่สุดประเทศหนึ่งจากการย้ายถิ่นเข้ามาของผู้คนจากทั่วโลกมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ[15]

บราซิลมีพื้นที่จรดมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันออก โดยมีแนวชายฝั่งยาว 7,491 กิโลเมตร (4,655 ไมล์)[16] มีพรมแดนติดกับทุกประเทศในอเมริกาใต้ยกเว้นเอกวาดอร์และชิลี และครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 47.3 ของทวีป[17] ลุ่มน้ำแอมะซอนในบราซิลเป็นที่ตั้งของป่าฝนเขตร้อนอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ป่านานาชนิด ระบบนิเวศที่หลากหลาย และทรัพยากรธรรมชาติที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่คุ้มครองหลายแห่ง[16] มรดกทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวทำให้บราซิลเป็นหนึ่งในสิบเจ็ดประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่งและอยู่ในความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการอย่างการทำลายป่าได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

บราซิลเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าชนหลายเผ่าก่อนที่เปดรู อัลวารึช กาบรัล นักสำรวจชาวโปรตุเกสจะมาขึ้นฝั่งใน ค.ศ. 1500 และอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นี้ในนามจักรวรรดิโปรตุเกส บราซิลมีฐานะเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสเรื่อยมาจนกระทั่ง ค.ศ. 1808 เมื่อเมืองหลวงของจักรวรรดิย้ายจากลิสบอนมายังรีโอเดจาเนโร ใน ค.ศ. 1815 อาณานิคมบราซิลได้รับการยกฐานะเป็นราชอาณาจักรเมื่อมีการจัดตั้งสหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ บราซิลได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1822 ด้วยการก่อตั้งจักรวรรดิบราซิลซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา การให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญฉบับแรกใน ค.ศ. 1824 นำไปสู่การก่อตั้งสภานิติบัญญัติระบบสองสภา บราซิลกลายเป็นสาธารณรัฐระบบประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1889 หลังรัฐประหารโดยทหาร คณะทหารเข้ายึดอำนาจใน ค.ศ. 1964 และปกครองประเทศจนถึง ค.ศ. 1985 เมื่ออำนาจการปกครองกลับสู่รัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของบราซิลซึ่งตราขึ้นใน ค.ศ. 1988 กำหนดให้ประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย[18] เนื่องจากความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศ บราซิลจึงอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลกในแง่จำนวนแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก[19]

บราซิลจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงโดยธนาคารโลก[20] และในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่[21] โดยมีส่วนแบ่งความมั่งคั่งสุทธิมากที่สุดในอเมริกาใต้ ถือเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่[22] โดยมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลกตามราคาตลาด และอันดับที่ 8 ของโลกตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ[23][24] เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา[25] นอกจากนี้ยังเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาคและประเทศอำนาจปานกลาง[26][27][28] และจัดว่ามีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่[29][30][31][32] อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้ยังคงมีการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ อาชญากรรม และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมในระดับสูง บราซิลเป็นสมาชิกก่อตั้งของสหประชาชาติ, กลุ่ม 20, บริกส์, ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง, องค์การนานารัฐอเมริกา, องค์การรัฐไอบีโร-อเมริกา และประชาคมประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกส

ภูมิศาสตร์

[แก้]
กฎหมายยกเลิกการเป็นทาสในบราซิล 1888

ภาคเหนือ กินพื้นที่ร้อยละ 42 ของทั้งประเทศหรือใหญ่กว่ายุโรปตะวันตกทั้งหมด เป็นเขตลุ่มน้ำแอมะซอนซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณน้ำจึด 1 ใน 5 ของโลก รวมทั้งเป็นเขตป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของทั้ง 5 ภูมิภาคของบราซิล (คิดเป็นร้อยละ 18) ประกอบด้วย 7 รัฐ มีพื้นที่ติดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีทั้งเขตลุ่มแม่น้ำที่สามารถทำการเพาะปลูกพืชเขตร้อน และเขตที่ราบสูงที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเล มีเมืองใหญ่หลายเมือง ได้แก่ ซัลวาดอร์และเรซีฟี

ภาคตะวันตกตอนกลาง เป็นที่ราบสูงเฉลี่ย 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล กินพื้นที่ร้อยละ 22 ของประเทศต่อจากเขตแอมะซอนไปทางใต้ เป็นเขตป่าไม้ชุกชุม เป็นพี้นที่เพาะปลูกและทำปศุสัตว์ บางแห่งเป็นพื่นที่แห้งแล้งกันดาร

ภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่เพียงร้อยละ 11 ของประเทศ แต่เป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ที่สุด 3 เมืองของบราซิล คือ รีโอเดจาเนโร เซาเปาลู และเบลูโอรีซองชี และเป็นที่อยู่ของประชากรร้อยละ 45 ของทั้งประเทศ เป็นพื้นที่ชายฝั่ง หาดทราย และที่ราบสูง

ภาคใต้ มีพื้นที่น้อยที่สุด มีอากาศใกล้เคียงกับยุโรป มีหิมะตกบางพื้นที่ในฤดูหนาว เป็นที่ตั้งรกรากของชาวยุโรปที่ไปตั้งถิ่นฐานในบราซิลในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะจากอิตาลี เยอรมนี โปแลนด์ และรัสเซีย และอยู่อาศัยเรื่อยมาจนปัจจุบัน ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ผลิตผลสำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าว รวมทั้งเป็นเขตปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศด้วย

ประวัติศาสตร์

[แก้]

เดิมทีทวีปอเมริกาใต้ ชนเผ่าพื้นเมืองคือพวกอินเดียแดงเผ่าต่าง ๆ ต่อมาชาวยุโรปได้เข้ามายึดครองบริเวณนี้ โดยชาวโปรตุเกสได้ยึดครองบริเวณประเทศบราซิล ส่วนบริเวณประเทศอื่น ๆ ในทวีปนี้ถูกยึดครองโดยชาวสเปน เหตุเพราะในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ชาวยุโรปได้เข้ามาในทวีปนี้ด้วยเข้าใจว่าทวีปนี้มีแร่ต่าง ๆ เช่น น้ำมัน ทองคำ เงินและอื่น ๆ แล้วชาวยุโรปได้ใช้กำลังกองทัพเข้าควบคุมบังคับชาวพื้นเมืองให้ทำงานในไร่นาและในเหมืองของตน ต่อมาหญิงชาวพื้นเมืองจำนวนมากได้แต่งงานกับชาวยุโรปทำให้มีลูกเลือดผสมจำนวนมาก ซึ่งเรียกว่า เมสติโซ ปัจจุบันมีสายเลือดผสมนี้เป็นชนส่วนใหญ่ในทวีป และได้รับภาษา วัฒนธรรมจากทวีปยุโรป รวมทั้งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วย

การเมืองการปกครอง

[แก้]

ฝ่ายบริหาร

[แก้]

ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้าคณะรัฐบาล และเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งในคราวเดียว ด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงระบบคะแนนนิยม วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2014 หากจำเป็นจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง (runoff election) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2014

ฝ่ายนิติบัญญัติ

[แก้]

ระบบ 2 สภา (Bicameral National Congress หรือ Congresso Nacional) ประกอบด้วย (1) Federal Senate หรือ Senado Federal จำนวน 81 ที่นั่ง สมาชิก 3 คนมาจากรัฐแต่ละรัฐ ระบบเสียงข้างมาก วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดยจะมีการเลือกตั้งหนึ่งในสาม และสองในสามของสมาชิกทุก ๆ 4 ปี สลับกัน และ (2) Chamber of Deputies หรือ Camera dos Deputados จำนวน 513 ที่นั่ง สมาชิกมาจากการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน (proportional representation) วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ฝ่ายตุลาการ

[แก้]

ฝ่ายตุลาการ มีศาลสูงสุดแห่งชาติ (Supreme Federal Tribunal) โดยที่ผู้พิพากษาทั้ง 11 คน มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยวุฒิสภา มีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีพ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จะเกษียณอายุเหมือนลูกจ้างภาครัฐทั่วไปที่อายุ 70 ปี

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้]

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

[แก้]

สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลกับราชอาณาจักรไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2502 บราซิลมีสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ณ กรุงเทพมหานคร และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำจังหวัดภูเก็ต และไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย[33]

ประเทศบราซิลเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในลาตินอเมริกา รองจากเม็กซิโก ไทยและบราซิลต่างเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ซึ่งกันและกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลาตินอเมริกา

ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 83,827 คน[34] โดยถือเป็นอันดับ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคลาตินอเมริกาในประเทศไทย

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
เขตการปกครองของประเทศบราซิล

ประเทศบราซิลแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 26 รัฐ (estado) และเฟเดอรัลดิสตริกต์ (Distrito Federal) (เป็นที่ตั้งของกรุงบราซิเลีย เมืองหลวง) ได้แก่

  1. โฮไรมา
  2. อามาปา
  3. อามาโซนัช
  4. ปารา
  5. โตกังจิงช์
  6. อาครี
  7. ฮงโดเนีย
  8. มารันเญา
  9. ปีเอาอี
  10. เซอารา
  11. ฮิวกรังจีดูนอร์ชี
  12. ปาราอีบา
  13. เปร์นังบูกู
  14. อาลาโกวัช
  1. แซร์จีปี
  2. บาเยีย
  3. มาตูโกรซูดูซูว
  4. โกยาช
  5. เฟเดอรัลดิสตริกต์ (บราซิเลีย)
  6. มาตูโกรซู
  7. มีนัชเจไรช์
  8. เอชปีรีตูซังตู
  9. รีโอเดจาเนโร
  10. เซาเปาลู
  11. ปารานา
  12. ซังตากาตารีนา
  13. ฮิวกรังจีดูซูว

รัฐต่าง ๆ และเฟเดอรัลดิสตริกต์ของบราซิลนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค โดยสถาบันภูมิศาสตร์และสถิติบราซิล (IBGE) คือ

เศรษฐกิจ

[แก้]
ธนาคารกลางของบราซิลในบราซิเลีย

บราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกทั้งในแง่จำนวนประชากรและอาณาเขต เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปละตินอเมริกาและมีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นดินส่วนใหญ่ของทวีป บราซิลใช้ระบบปกครองแบบสหพันธรัฐ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 26 รัฐและเขตนครหลวง 1 เขต โดยแต่ละรัฐจะมีรัฐบาลท้องถิ่นที่บริหารปกครองแบบอิสระ สามารถแบ่งรัฐเหล่านี้ออกได้เป็น 5 ภูมิภาค (ที่มีความสำคัญเชิงวัฒนธรรมและสถิติ) กล่าวโดยรวมได้ว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายด้าน ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติและพันธุ์ไม้ที่มีมากมายมหาศาล ชาติพันธุ์หลากวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ การใช้อำนาจอย่างนุ่มนวลทางการเมือง และชนชั้นกลางที่กำลังรุ่งเรือง

เศรษฐกิจของบราซิลประกอบไปด้วยภาคส่วนเกษตรกรรม เหมืองแร่ การผลิต และการบริการขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาอย่างสูง ตลอดจนชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ถือได้ว่าบราซิลเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในทวีปอเมริกาใต้ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง โดยมีการขยายอำนาจกว้างขวางขึ้นในตลาดโลกผ่านผู้เล่นสำคัญระดับโลก (บริษัทข้ามชาติ) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เศรษฐกิจระดับมหภาคได้ค่อย ๆ ทวีความมั่นคงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศและลดระดับหนี้โดยแปลงหนี้ให้เป็นตราสารหนี้สกุลเงินจริงและตราสารหนี้ในประเทศ

จนกระทั่งปี ค.ศ. 2008 บราซิลได้ผงาดขึ้นเป็นประเทศเจ้าหนี้สุทธิและได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเหมาะสมแก่การลงทุนจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่ง ทว่าหลังจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในปี ค.ศ. 2007-2008 วิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกได้โถมกระหน่ำบราซิลในช่วงปี ค.ศ. 2008 อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจจะทรุดตัวเล็กน้อยจากผลกระทบนี้ แต่บราซิลสามารถหลบเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้จากมาตรการจูงใจภาครัฐและเงินลงทุนมหาศาล หลังจากที่อุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกของบราซิลลดลงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศตกต่ำ สินเชื่อจากภายนอกเริ่มหายากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงปี ค.ศ. 2010 ความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนเริ่มฟื้นตัวและการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมไต่ระดับสูงถึง 7.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากสำหรับบราซิล ด้วยเหตุนี้ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตามองและนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักชี้ว่าบราซิลจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ แม้การคาดการณ์นี้จะมีข้อยืนยันว่าเป็นจริงในอีกหลายปีต่อมา แต่อำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศได้ชะลอตัวและมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมแตะอยู่ที่ราว 1% ในปัจจุบัน

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเติบโตลดลงคือภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องหันมาใช้มาตรการผ่อนการตึงตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการดังกล่าวและภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ทรุดตัวทำให้การเติบโตของประเทศช้าลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการว่างงานอยู่ในระดับต่ำลงเป็นประวัติการณ์และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ซึ่งโดยมากอยู่ในระดับสูงกลับลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี บราซิลสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยสูง ทว่ากลับส่งผลเสียต่อธุรกิจในประเทศ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ค่าเงินลอยตัวซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตเมื่อเทียบกับตลาดทั่วโลก รัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงตลาดเงินตราระหว่างประเทศและขึ้นภาษีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศบางส่วน

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ผลักดันให้บราซิลเติบโตและเป็นที่จับตามองของประชาคมทั่วโลก มีเสียงชื่นชมนวัตกรรมที่ช่วยเหลือและสนับสนุนประชากรผู้ยากไร้ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งได้นำไปใช้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเกษตรและเชื้อเพลิงชีวภาพยังกลายมาเป็นโมเดลระหว่างประเทศ ฐานผู้บริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ดึงดูดบริษัทและนักลงทุนมากมายมายังบราซิล ดังจะเห็นได้จากจำนวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าราว 64-66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.92-1.98 ล้านล้านบาท ) ต่อปีตั้งแต่ ค.ศ. 2011

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจบราซิลเริ่มชะลอตัวในปี ค.ศ. 2014 และคาดว่าจะยังคงชะลอตัวต่อไปในปี ค.ศ. 2015 จากการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังจะนำมาใช้ (เช่น มาตรการขึ้นราคาน้ำมัน) แม้สถานการณ์นี้จะทำให้บริษัทลงทุนต่างประเทศเริ่มหมดความสนใจ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงอัดฉีดเงินทุนและขยายโรงงานหรือจัดทำโครงการใหม่ ๆ เพื่อป้อนให้กับฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ต่อไป การชะลอตัวทางเศรษฐกิจนี้ไม่ควรนำมาซึ่งมาตรการคุ้มครองการค้า เนื่องจากมีระบบการคุ้มครองการค้าระดับสูงมากพออยู่แล้ว โดยเฉพาะในภาคการส่งออกอุตสาหกรรม นอกจากนี้ แรงกดดันจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและธุรกิจในการลดอุปสรรคด้านภาษีอากรจากวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตัวกลาง รวมทั้งการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ ยังสื่อให้เห็นว่ารัฐบาลมีแนวโน้มที่จะวางนโยบายการค้าไปในทิศทางดังกล่าว

อุตสาหกรรมหลัก

[แก้]

อุตสาหกรรมหลักของประเทศบราซิลประกอบไปด้วยการผลิตอลูมิเนียม ซีเมนต์ เชื้อเพลิง เครื่องจักร กระดาษ พลาสติกและเหล็ก อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคประกอบด้วยการผลิตอุปกรณ์ทำความสะอาด การผลิตและสุขอนามัยอาหาร การผลิตยาและสิ่งทอ อุตสาหกรรมสินค้าคงทนประกอบด้วยการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนและยานพาหนะ บริการด้านการเงินประกอบด้วยอุตสาหกรรมบริการเงินทุน นอกจากนี้ บราซิลยังเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่หลากหลายรายใหญ่ของโลก อาทิ กล้วย กาแฟ ข้าวโพด หัวน้ำส้มเข้มข้น ข้าว ถั่วเหลือง แอลกอฮอล์และอ้อย

ในแง่อื่นนอกเหนือจากเศรษฐกิจ บราซิลเป็นประเทศที่เติบโตในเชิงการเมืองและมีความโดดเด่นท่ามกลางประชาคมนานาชาติในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายได้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติและอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้ทรัพยากรสูง โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและจีนที่มีฐานประชากรขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโต นอกจากนี้ บราซิลยังมีบทบาทสำคัญในการเวทีโต้วาทีและการเจรจาระหว่างประเทศ โดยมากจะรับหน้าที่เป็นผู้นำหรือตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา อาทิ การอภิปรายด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศเฮติหลังประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 2010 การเข้าร่วมหารือกลุ่มประเทศ BRIC และเป็นผู้นำประเทศกลุ่มจี 20 ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) โดยองค์การการค้าโลก การดำเนินการนี้ได้สร้างความสนใจจากประชาคมโลกในเชิงความสามารถทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังรุ่งเรืองของบราซิล ไม่เพียงเท่านั้น การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 2014 และงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2016 ยังกระตุ้นความสนใจจากชาวต่างชาติ ทั้งในวงการสื่อและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป

บราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหลายภูมิภาคที่มีแง่มุมและความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมที่เด่นชัดจนในบางครั้งทำให้ยากต่อการสรุปลักษณะทั่วไป ส่วนในแง่ธุรกิจ บริษัทส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานในเมืองเซาเปาลู หากกล่าวในแง่วัฒนธรรมแล้ว ถือว่าบราซิลมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่อนข้างสูง มีการผสมผสานรากเหง้าในแบบยุโรปและเอเชียเข้าด้วยกันเนื่องจากมีผู้อพยพไหลบ่าเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ความหลากหลายด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และลักษณะนิสัยส่งผลให้ชาวบราซิลเป็นชาติพันธุ์ที่มีความซับซ้อนและมีวิถีชีวิตในแบบของตนเอง ชาวต่างชาติควรทำความเข้าใจว่าแม้ว่าชาวบราซิลจะมีนิสัยที่เป็นกันเองและให้การต้อนรับอย่างมาก แต่การอาศัยอยู่ในบราซิลอาจทำให้ตนตกใจเมื่อพบเห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม จึงขอแนะนำให้พนักงานต่างชาติโดยเฉพาะในระดับผู้จัดการหรือผู้อำนวยการเข้าเรียนรู้วัฒนธรรมบราซิลและวิธีบรรเทาความสับสนที่อาจเกิดขึ้น ในแง่การปฏิบัติงาน ผู้บริหารระดับสูงควรทำความเข้าใจและทำความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบบราซิลเพื่อรับการสนับสนุนและแรงบันดาลใจจากพนักงานของตน

โครงสร้าง

[แก้]

นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ

  • ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยึดหลักสำคัญคือ พลังงานสะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี การลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต
  • รักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี ต่อต้านระบบ Protectionism
  • สนับสนุนการปฏิรูประบบการเงินโลก เพื่อป้องกันปัญหาเงินทุนไหลเวียนและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม/การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศเพื่อเก็งกำไร
  • ปฏิรูประบบภาษีให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และเป็นธรรม รวมทั้งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 5
  • ส่งเสริมโครงการลงทุนและระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2557 และกีฬาโอลิมปิกในปี 2559 และเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่นในระยะยาว
  • พัฒนาโครงการขุดเจาะน้ำมันซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อความก้าวหน้าทางสังคมโดยคำนึงถึงดุลยภาพด้านสิ่งแวดล้อม
  • ลดรายจ่ายภาครัฐ โดยการลดงบประมาณของทุกกระทรวงลงตามสัดส่วน ยกเว้นนโยบายด้านสังคม เช่น Bolsa Familia

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

[แก้]

ในช่วง 3 ทศวรรษก่อนทศวรรษที่ 1980 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลสูงถึงร้อยละ 7.3 แต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ได้เกิดวิกฤตการณ์เสถียรภาพทางการเงิน โดยมีปัญหาเงินเฟ้อและขาดดุลการชำระเงิน รัฐบาลจึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในชื่อ “Real Plan” เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยสร้างวินัยการเงิน ปล่อยค่าเงินลอยตัว และลดภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงทบทวนนโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าซึ่งดำเนินมาตรการมากว่า 35 ปีและทำให้เศรษฐกิจมีลักษณะปิดและปกป้องตัวเอง

โดยในช่วงทศวรรษที่ 1990 บราซิลหันมาใช้นโยบายเปิดเศรษฐกิจ และได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 และในเวลาต่อมา รัฐบาลของประธานาธิบดี Lula ได้แสดงเจตจำนงในการใช้หนี้ต่างประเทศทำให้ลดลงจากร้อยละ 58.7 ของ GDP ในปี 2546 เหลือร้อยละ 51.6 ในปี 2548 และในปี 2552 หนี้ต่างประเทศของบราซิลลดเหลือร้อยละ 11.6 ของ GDP นอกจากนี้ การตัดสินใจให้กู้เงินจำนวน 14 พันล้านเหรียญสหรัฐแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศในปลายปี 2552 แสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของบราซิลเป็นอย่างมาก และในปี 2554 บราซิลคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวของ GDP ประมาณร้อยละ 8

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม G20 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่สาธารณรัฐเกาหลี ประธานาธิบดีบราซิลได้วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างรุนแรง ว่าเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามเงินตรา (Currency War) ทั่วโลก และจะทำให้เศรษฐกิจของโลกล้มละลายหากทุกประเทศลดค่าเงินของตนเพื่อความได้เปรียบในการส่งออก

ภาพรวมเศรษฐกิจ

[แก้]
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2555 ธนาคารกลางบราซิลเปิดเผยว่า GDP ของบราซิลจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 จากปีที่ผ่านมา
  • การค้าระหว่างประเทศ ในปี 2554 บราซิลส่งออกเป็นมูลค่ารวม 256.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าเป็นมูลค่ารวม 226.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บราซิลได้เปรียบดุลการค้า 29.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้ารวมปรับตัวสูงขึ้น จาก 383.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2553 เป็น 482.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555
  • การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ธนาคารกลางบราซิล รายงานว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศปี 2554 มีมูลค่าถึง 66.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึงร้อยละ 37.5 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางบราซิลคาดว่าในปี 2555 มูลค่าการลงทุนจะลดเหลือ 50 พันล้านดอลลร์สหรัฐ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของเม็ดเงินที่ไหลเข้าบราซิลมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหา
  • อัตราเงินเฟ้อ เมื่อปี 2554 ธนาคารกลางบราซิลได้ประเมินอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ ร้อยละ 6.5 และได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 12.50 เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ในปี 2555 และ 2556 บราซิลตั้งเป้าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และเพื่อควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น

ภาพรวมพลังงานทดแทนของบราซิล

[แก้]

บราซิลมีเป้าหมายจะลงทุนด้านพลังงานมูลค่าประมาณ 644 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี ค.ศ. 2011 – 2020 โดยจะลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (434 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภาคการผลิตไฟฟ้า (149 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเชื้อเพลิงชีวภาพ (61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งหากการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2020 พลังงานทดแทนจะมีสัดส่วนเป็น ร้อยละ 46.3 (ปัจจุบันพลังงานทดแทนมีสัดส่วน ร้อยละ 44.8) และปิโตเลียมจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 31.8 (ปัจจุบันปิโตรเลียมมีสัดส่วนร้อยละ 38.5) ของโครงสร้างพลังงานของประเทศ

ปัจจุบัน บราซิลมีบทบาทสำคัญในการสร้างอุปสงค์ของพลังงานทดแทนในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเอทานอลในหลายโอกาส

การพัฒนาเอทานอลเป็นพลังงานทดแทน

[แก้]

วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2516 ประกอบกับราคาน้ำตาลตกต่ำ ทำให้รัฐบาลบราซิลประกาศโครงการ “Pro-Alcool” หรือ “Program Nacional do Alcool” (National Alcohol Program) ขึ้นในปี 2518 ส่งเสริมการใช้เอทานอลที่ผลิตจากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ โดยรัฐบาลบราซิล และธนาคารโลกได้ให้เงินสนับสนุนทั้งในการขยายพื้นที่การ ปลูกอ้อย และการสร้างโรงกลั่นเอทานอล

ในระยะแรก บราซิลใช้เอทานอลผสมในน้ำมัน (anhydrous ethanol) ในอัตราส่วนร้อยละ 13 - 20 (E13 – E20) ต่อมาในปี 2523 บราซิลเริ่มทดลองใช้เอทานอล ร้อยละ 100 (E100 - hydrous ethanol) แต่โดยที่รถยนต์ยังเป็นแบบที่ผลิตเพื่อใช้กับน้ำมัน จึงทำให้การทำงานของเครื่องยนต์ไม่ได้ ประสิทธิภาพเต็มที่ รัฐบาลบราซิลจึงเริ่มส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่ออกแบบพิเศษ สามารถใช้ได้กับทั้งเอทานอล และกับน้ำมันเชื้อเพลิง (Flexible-fuel vehicle หรือ Flex-Fuel) และตั้งแต่ปี 2546 ก็เริ่มมีการผลิตรถยนต์ Flex-Fuel เพื่อการค้า ซึ่งใช้ได้กับ E100 และ E18 – E25 ทั้งนี้ รถยนต์ Flex-Fuel ได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2547 ปริมาณการผลิตรถยนต์ Flex-Fuel มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 17 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2554 มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 83 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในบราซิล

ในการเยือนบราซิลของอดีตนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) ระหว่าง 15 – 16 มิถุนายน 2547 ไทยและบราซิลได้หารือความร่วมมือด้านเอทานอล นับจากนั้นไทยและบราซิลได้ แลกเปลี่ยนการเยือนของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนของบราซิลและชาติอื่น ๆ เข้าร่วมการประชุม FEALAC Inter-regional Workshop on Clean Fuels and Vehicle Technologies: the Role of Science and Innovation เมื่อ 28 – 29 มิถุนายน 2549 ที่กรุงเทพฯ ช่วยให้เกิดเครื่อข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี

เมื่อปี 2553 บราซิลผลิตเอทานอลเป็นปริมาณ 27 พันล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณที่ผลิตได้ในโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ ซึ่งผลิตเป็นปริมาณ 50 พันล้านลิตรในปีเดียวกัน บราซิลและสหรัฐฯ สามารถผลิตเอทานอลได้กว่าร้อยละ 70 ของเอทานอลที่จำหน่ายทั่วโลก โดยสหรัฐฯ ผลิตเอทานอลจากข้าวโพด ในขณะที่บราซิลผลิตจากอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพจึงทำให้สามารถผลิตเอทานอลได้ในราคาที่ถูกกว่าการใช้วัตถุดิบประเภทอื่น อย่างไรก็ดี การผลิตเอทานอลจากอ้อยยังไม่เสถียรเพราะเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น เกษตรกรก็จะหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตน้ำตาลเป็นหลัก

ประชากรศาสตร์

[แก้]

ศาสนา

[แก้]
ศาสนาในบราซิล (2014 Census)
ศาสนา เปอร์เซนต์ (%)
โรมันคาทอลิก
  
79.6%
โปรเตสแตนต์
  
9.2%
ไม่นับถือศาสนา
  
8.0%
ลัทธิผี
  
2.0%
อื่น ๆ
  
3.2%

โรมันคาทอลิก 73.6% โปรเตสแตนท์ 15.4% Spiritualist 1.3%  Bantu/Voodoo 0.3% อื่นๆ 1.8% ไม่สามารถระบุได้ 0.2% ไม่นับถือศาสนา 7.4%

เมืองใหญ่

[แก้]

วัฒนธรรม

[แก้]

ดนตรี

[แก้]

วัฒนธรรมของประชากรบราซิลจะต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความรักดนตรีจะฝังอยู่ในสายเลือดของชาวบราซิลเลียนมานาน เพราะพวกเขาจะรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ ดนตรีจึงมีวิวัฒนาการเรื่อย ๆ บราซิล จะรับเอาวัฒนธรรมของแอฟริกาเอาไว้มาก ลักษณะการร้องรำทำเพลงและจังหวะกลองเป็นเครื่องดนตรีหลัก การเต้นรำและเสียงดนตรีจึงเป็นศิลปะที่โดดเด่นที่สุดของบราซิล ชาวบราซิลเป็นคนเปิดเผย เป็นมิตรกับคนง่าย รักสนุก ลักษณะเด่นที่เป็นธรรมชาติคือเวลาพูดจะเคลื่อนไหวร่างกายไปด้วย ภาษาท่าทาง บางครั้งใช้แทนคำพูดได้ เช่น เมื่อยกนิ้วหัวแม่มือขึ้น หมายถึงตกลงหรือขอบคุณ และอาจเป็นคำพูดที่ทักทายเมื่อพบกับ

แซมบา (Samba) เป็นดนตรีที่มีลักษณะผสมผสาน กันจากชน 3 ทวีป ที่มาอยู่ในบราซิล คือการร้องเพลงแบบโบเลโร ของสเปน จังหวะกลองของแอฟริกาและการเต้นรำจะเป็นแบบชาวลาตินอเมริกา ซึ่งรวม 3 อย่างเข้าด้วยกันแล้วจะสนุกสนานทั้งคนเต้นและคนฟัง ซึ่งดนตรีแซมบา เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมสูงสุด

บอซานอวา (Bossanova) เป็นจังหวะดนตรีที่มีวิวัฒนาการมาจากแซมบา นอกจากแซมบาและบอซานอวา ยังมีดนตรีที่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ แรมบาดา (Lambada) จังหวะดนตรีจะสนุกสนามด้วยจังหวะกลองของชาวแคริบเบียน

เทศกาล

[แก้]

บราซิลมีเทศกาลที่น่าสนใจและยิ่งใหญ่ 2 งานด้วยกัน งานแรกคืองานคาร์นิวัลที่รีโอเดจาเนโร จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ งานที่สองคืองานคาร์นิวัลที่บาเยีย จัดขึ้นหลังเทศกาลคริสต์มาส ช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม

หมายเหตุ

[แก้]
  1. รวมเชื้อสายอาหรับ, ยิว และโรมานี
  2. รวม กาโบกลู, มูแลตโต และ ซัมโบ
  3. สำมะโนบราซิลใช้คำว่า อามาแรลา (ผิวเหลือง) เพื่อระบุบุคคลที่มีภูมิหลังจากเอเชียตะวันออก ดังนั้นจึงไม่รวมบุคคลจากภูมิภาคอื่นของเอเชีย เช่น เอเชียตะวันตก/อาหรับ เอเชียใต้

อ้างอิง

[แก้]
  1. Exército Brasileiro. "Hino à Bandeira Nacional" (ภาษาโปรตุเกส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 February 2014. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
  2. "Demographics". Brazilian Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 November 2011. สืบค้นเมื่อ 8 October 2011.
  3. "Caracteristicas da População e dos Domicílios do Censo Demográfico 2010 – Cor ou raça" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 17 February 2012. สืบค้นเมื่อ 7 April 2012.
  4. "South America :: BRAZIL". CIA The World Factbook. สืบค้นเมื่อ 30 August 2017.
  5. IBGE – Instituto Brasileiro de Geografia e Estatística (Brazilian Institute for Geography and Statistics). 2010 Census. Retrieved 7 August 2012.
  6. "2010 Population Census – General characteristics of population, religion and persons with disabilities (Portuguese)". ibge.gov.br (ภาษาโปรตุเกส). 16 November 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2012. สืบค้นเมื่อ 10 August 2019.
  7. "Brazil". The World Factbook (2024 ed.). Central Intelligence Agency. สืบค้นเมื่อ 24 September 2022. (Archived 2022 edition)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "World Economic Outlook Database, October 2021". Imf. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 28 February 2022.
  9. "GINI index (World Bank estimate) – Brazil". World Bank. สืบค้นเมื่อ 8 April 2021.
  10. "Human Development Report 2021/2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 8 September 2022. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  11. José María Bello (1966). A History of Modern Brazil: 1889–1964. Stanford University Press. p. 56. ISBN 978-0-8047-0238-6.
  12. "Área Territorial Brasileira" [Brazilian Territorial Area] (ภาษาโปรตุเกส). Instituto Brasileiro de Geografia e Estatística. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 January 2012. สืบค้นเมื่อ 4 May 2018. Para a superfície do Brasil foi obtido o valor de 8.515.759,090 km2, publicado no DOU nº 124 de 30/06/2017, conforme Resolução Nº 02, de 29 de junho de 2017.
  13. Philander, S. George (2012). Encyclopedia of Global Warming and Climate Change, Second Edition. Vol. 1 (Second ed.). Los Angeles: Princeton University. p. 148. ISBN 978-1-4129-9261-9. OCLC 970592418.
  14. Vallance, Monique M. (2012). "Preface and Observations on Contemporary Brazil". ใน Crocitti, John J. (บ.ก.). Brazil Today: An Encyclopedia of Life in the Republic. Contributing editor Monique M. Vallance. ABC-CLIO. p. xxiii. ISBN 978-0-313-34672-9. OCLC 787850982.
  15. "Os migrantes de hoje". BBC Brasil. สืบค้นเมื่อ 24 October 2018.
  16. 16.0 16.1 "Geography of Brazil". The World Factbook. Central Intelligence Agency. 1 May 2018. Geography > Coastline. สืบค้นเมื่อ 4 May 2018.
  17. "Brazil – Land". Permanent Missions. United Nations. Geography. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2014.
  18. "Brazilian Federal Constitution" (ภาษาโปรตุเกส). Presidency of the Republic. 1988. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 December 2007. สืบค้นเมื่อ 3 June 2008. "Brazilian Federal Constitution". v-brazil.com. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 September 2018. สืบค้นเมื่อ 3 June 2008. Unofficial translate
  19. "UNESCO World Heritage Centre — World Heritage List". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 25 May 2012.
  20. "Country and Lending Groups". World Bank. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 March 2011. สืบค้นเมื่อ 5 March 2011. Uppermiddle Income defined as a per capita income between $3,976 – $12,275
  21. "World Economic Outlook Database, April 2019". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 29 September 2019.
  22. "FTSE Country Classification" (PDF). FTSE Group. September 2018. สืบค้นเมื่อ 20 November 2018.
  23. "International Monetary Fund". imf.org.
  24. "CIA – The World Factbook – Country Comparisons – GDP (purchasing power parity)". Cia.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 June 2011. สืบค้นเมื่อ 25 January 2011.
  25. Jeff Neilson; Bill Pritchard (2011). Value Chain Struggles. John Wiley & Sons. p. 102. ISBN 978-1-4443-5544-4.
  26. M. Schaefer; J. Poffenbarger (2014). The Formation of the BRICS and its Implication for the United States: Emerging Together. Springer. p. 32. ISBN 978-1-137-38794-3.
  27. Sean W. Burges (2016). Latin America and the Shifting Sands of Globalization. Routledge. pp. 114–15. ISBN 978-1-317-69658-2.
  28. Gardini, Gian Luca (2016). "Brazil: What Rise of What Power?". Bulletin of Latin American Research. 35: 5–19. doi:10.1111/blar.12417. ISSN 0261-3050.
  29. FRIDE: The international arena and emerging powers: stabilising or destabilising forces? เก็บถาวร 15 มิถุนายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Susanne Gratius, April 2008
  30. Peter Collecott (29 October 2011). "Brazil's Quest for Superpower Status". The Diplomatic Courier. สืบค้นเมื่อ 10 August 2014.
  31. Clendenning, Alan (17 April 2008). "Booming Brazil could be world power soon". USA Today. The Associated Press. p. 2. สืบค้นเมื่อ 12 December 2008.
  32. Jorge Dominguez; Byung Kook Kim (2013). Between Compliance and Conflict: East Asia Latin America and the New Pax Americana. Center for International Affairs, Harvard University. pp. 98–99. ISBN 978-1-136-76983-2.
  33. "ความสัมพันธ์ไทย-บราซิล". mfa. 26 พฤษภาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-24.
  34. "สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล – Federative Republic of Brazil". mfa. มกราคม 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
  35. "2010 Brazilian Institute of Geography and Statistics estimate". Brazilian Institute of Geography and Statistics. 29 November 2011. สืบค้นเมื่อ 22 January 2011.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Azevedo, Aroldo. O Brasil e suas regiões. São Paulo: Companhia Editora Nacional, 1971
  • Barman, Roderick J. Citizen Emperor: Pedro II and the Making of Brazil, 1825–1891. Stanford: Stanford University Press, 1999. ISBN 0-8047-3510-7
  • Biscardi, Afrânio; Rocha, Frederico Almeida (May 2006), "O Mecenato Artístico de D. Pedro II e o Projeto Imperial", 19&20 – A revista eletrônica de DezenoveVinte, vol. I no. 1
  • Boxer, Charles R.. The Portuguese Seaborne Empire (1969)
    • O império marítimo português 1415–1825. São Paulo: Companhia das Letras, 2002. ISBN 85-359-0292-9
  • Bueno, Eduardo. Brasil: uma História. São Paulo: Ática, 2003. ISBN 85-08-08213-4
  • Calmon, Pedro. História da Civilização Brasileira. Brasília: Senado Federal, 2002
  • Carvalho, José Murilo de. D. Pedro II. São Paulo: Companhia das Letras, 2007
  • Coelho, Marcos Amorim. Geografia do Brasil. 4th ed. São Paulo: Moderna, 1996
  • Diégues, Fernando. A revolução brasílica. Rio de Janeiro: Objetiva, 2004
  • Enciclopédia Barsa. Volume 4: Batráquio – Camarão, Filipe. Rio de Janeiro: Encyclopædia Britannica do Brasil, 1987
  • Ermakoff, George (2006). Rio de Janeiro – 1840–1900 – Uma crônica fotográfica (ภาษาโปรตุเกส). Rio de Janeiro: G. Ermakoff Casa Editorial. ISBN 978-85-98815-05-3.
  • Fausto, Boris and Devoto, Fernando J. Brasil e Argentina: Um ensaio de história comparada (1850–2002), 2nd ed. São Paulo: Editoria 34, 2005. ISBN 85-7326-308-3
  • Gaspari, Elio. A ditadura envergonhada. São Paulo: Companhia das Letras, 2002. ISBN 85-359-0277-5
  • Janotti, Aldo. O Marquês de Paraná: inícios de uma carreira política num momento crítico da história da nacionalidade. Belo Horizonte: Itatiaia, 1990
  • Lyra, Heitor. História de Dom Pedro II (1825–1891): Ascenção (1825–1870). v. 1. Belo Horizonte: Itatiaia, 1977
  • Lyra, Heitor. História de Dom Pedro II (1825–1891): Declínio (1880–1891). v. 3. Belo Horizonte: Itatiaia, 1977
  • Lustosa, Isabel. D. Pedro I: um herói sem nenhum caráter. São Paulo: Companhia das letras, 2006. ISBN 85-359-0807-2
  • Moreira, Igor A. G. O Espaço Geográfico, geografia geral e do Brasil. 18. Ed. São Paulo: Ática, 1981
  • Munro, Dana Gardner. The Latin American Republics; A History. New York: D. Appleton, 1942.
  • Peres, Damião (1949) O Descobrimento do Brasil por Pedro Álvares Cabral: antecedentes e intencionalidade Porto: Portucalense.
  • Scheina, Robert L. Latin America: A Naval History, 1810–1987. Annapolis, MD: Naval Institute Press, 1987. ISBN 0-87021-295-8
  • Lilia Schwarcz (30 พฤศจิกายน 1998), As barbas do imperador: D. Pedro II, um monarca nos trópicos, เซาเปาลู: Companhia das Letras, ISBN 978-85-7164-837-1, OL 142027MWikidata Q18238040
  • Stuart B. Schwartz Sovereignty and Society in Colonial Brazil (1973)
    • Early Latin America (1983)
    • Sugar Plantations in the Formation of Brazilian Society (1985)
  • Skidmore, Thomas E. Brazil: Five Centuries of Change (Oxford University Press, 1999)
  • Souza, Adriana Barreto de. Duque de Caxias: o homem por trás do monumento. Rio de Janeiro: Civilização Brasileira, 2008. ISBN 978-85-200-0864-5.
  • Wright, Simon. 1992. Villa-Lobos. Oxford and New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-315475-7
  • Vainfas, Ronaldo. Dicionário do Brasil Imperial. Rio de Janeiro: Objetiva, 2002. ISBN 85-7302-441-0
  • Vesentini, José William. Brasil, sociedade e espaço – Geografia do Brasil. 7th Ed. São Paulo: Ática, 1988
  • Vianna, Hélio. História do Brasil: período colonial, monarquia e república, 15th ed. São Paulo: Melhoramentos, 1994
  • Zirin, Dave. Brazil's Dance with the Devil: The World Cup, The Olympics, and the Fight for Democracy Haymarket Books 2014. ISBN 978-1-60846-360-2

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Alencastro Felipe, Luiz Felipe de. The Trade in the Living: The Formation of Brazil in the South Atlantic, Sixteenth to Seventeenth Centuries (SUNY Press, 2019) excerpt
  • Alves, Maria Helena Moreira (1985). State and Opposition in Military Brazil. Austin, TX: University of Texas Press.
  • Amann, Edmund (1990). The Illusion of Stability: The Brazilian Economy under Cardoso. World Development (pp. 1805–19).
  • "Background Note: Brazil". US Department of State. สืบค้นเมื่อ 16 June 2011.
  • Bellos, Alex (2003). Futebol: The Brazilian Way of Life. London: Bloomsbury Publishing plc.
  • Bethell, Leslie (1991). Colonial Brazil. Cambridge: CUP.
  • Costa, João Cruz (1964). A History of Ideas in Brazil. Los Angeles, CA: University of California Press.
  • Fausto, Boris (1999). A Concise History of Brazil. Cambridge: CUP.
  • Furtado, Celso (1963). The Economic Growth of Brazil: A Survey from Colonial to Modern Times. Berkeley, CA: University of California Press.
  • Leal, Victor Nunes (1977). Coronelismo: The Municipality and Representative Government in Brazil. Cambridge: CUP.
  • Levine, Robert M. Historical Dictionary of Brazil (2019)
  • Malathronas, John (2003). Brazil: Life, Blood, Soul. Chichester: Summersdale.
  • Martinez-Lara, Javier (1995). Building Democracy in Brazil: The Politics of Constitutional Change. Macmillan.
  • Prado Júnior, Caio (1967). The Colonial Background of Modern Brazil. Los Angeles, CA: University of California Press.
  • Schneider, Ronald (1995). Brazil: Culture and Politics in a New Economic Powerhouse. Boulder Westview.
  • Skidmore, Thomas E. (1974). Black into White: Race and Nationality in Brazilian Thought. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-501776-2.
  • Wagley, Charles (1963). An Introduction to Brazil. New York, New York: Columbia University Press.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

รัฐบาล