ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความนี้รวบรวมการประกอบพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ต่าง ๆ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

[แก้]
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ภายหลังกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้ายเสด็จทิวงคตแล้ว ก็ไม่มีการสถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก เพราะว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัย และอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ซึ่งเรียกว่า "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ครั้งกรุงเก่า เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า[1]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรสมมติเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงศ์ อุกฤษฐพงศ์วโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ์ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาท แทนตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในการนี้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้ส่งโทรเลขมาอำนวยพรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย[2]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

[แก้]
พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อเสด็จฯขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในพระปรมาภิไธยที่"พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวารวดี ซึ่งทรงดำรงพระเกียรติยศเป็นลำดับที่สองรองจากสมเด็จพระเชษฐา และกำลังทรงศึกษาอยู่ ณ สหราชอาณาจักร ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2437 มีพระนามว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร"[3][4]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ฯ สยามมกุฎราชกุมาร[5]

[แก้]

วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2515

[แก้]

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๒๐ พรรษา และทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว ในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต[6]

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2515

[แก้]

พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

วันพุธที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2515

[แก้]

พระราชพิธีศรีสัจจปาน การเสกน้ำพระพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515

[แก้]

พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อาลักษณ์กองประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ มาที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

และประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง พระราชครูวามเทพมุนีประกอบพิธีแช่งน้ำ ด้วยการร่ายพระเวท อ่านโองการแช่งน้ำ เชิญพระแสงศร พระแสงราชศัตราวุธสำคัญ พระแสงประจำรัชกาล แทงน้ำในขันพระสาคร หลังจากจบพิธีแช่งน้ำ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณความว่า "จะทรงรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ที่พระราชทานไว้เสมอ"

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
  2. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2429
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๓, ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗, หน้า ๓๔๖
  4. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้ากรุงสยาม (บางตอน) และพระราชนิพนธ์อันเป็นสุดที่รัก เรื่อง พระนล คำหลวง, หน้า 20
  5. การพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร 28 ธันวาคม 2515 ที่ยูทูบ 
  6. กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง. นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], ๒๕๖๒.