พระไตรปิฎก
หน้าตา
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
พระไตรปิฎก (บาลี: तिपिटक ติปิฏก; สันสกฤต: त्रिपिटक ตฺริปิฏก) เป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า[1] ไตรปิฎก แปลว่า ตะกร้า 3 ใบ เพราะเนื้อหาแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ
- พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยสิกขาบทต่าง ๆ ของภิกษุและภิกษุณี
- พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่แสดงแก่บุคคลต่างชั้นวรรณะและการศึกษา ต่างกรรมต่างวาระกัน มีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง
- พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูง อธิบายด้วยหลักวิชาล้วน ๆ โดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์และบุคคล
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในยุคแรกเรียกว่าพระธรรมวินัย จนกระทั่งการสังคายนาครั้ง 3 จึงแยกเนื้อที่เกี่ยวกับปรมัตถธรรมออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งเรียกว่าพระอภิธรรมปิฎก
ในศาสนาพุทธยุคแรก แต่ละนิกายต่างมีคัมภีร์เป็นของตนเอง บางนิกายมี 5 ปิฎก บางนิกายมี 7 ปิฎก[2] แต่พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมีเพียงพระไตรปิฎกภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาท[3]
ในปัจจุบันคำว่าพระไตรปิฎก ใช้หมายถึงคัมภีร์ในศาสนาพุทธโดยรวม ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 สารบท ได้แก่[4]
- พระไตรปิฎกภาษาบาลี ใช้ในนิกายเถรวาท
- พระไตรปิฎกภาษาจีน ใช้ในนิกายมหายาน
- พระไตรปิฎกภาษาทิเบต ใช้ในศาสนาพุทธแบบทิเบต
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 392
- ↑ Journal of the Pali Text Society, volume XVI, page 114
- ↑ Harvey, Introduction to Buddhism, Cambridge University Press, 1990, page 3.
- ↑ เสถียร โพธินันทะ, ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์, มรดกธรรมของเสถียร โพธินันทะ, 2548, หน้า 82-3