พิธีศพของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
พิธีศพของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2540 เวลา 9.08 น. ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทันทีที่เสียงระฆังเทเนอร์ดังขึ้น เพื่อเป็นสัญญาณว่าขบวนแห่ศพได้เคลื่อนออกจากพระราชวังเคนซิงตัน โดยบรรทุกโลงศพบนรถปืนใหญ่ หลังเคลื่อนโลงศพออกจากพระราชวังเซนต์เจมส์มายังพระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งก่อนหน้านี้ศพถูกตั้งไว้ที่พระราชวังเซนต์เจมส์เป็นเวลา 5 วันก่อนที่จะมีการทำพิธีปลงศพ นอกจากนี้ยังได้มีการลดธงชาติยูเนียนแจ็กลงครึ่งเสาที่พระราชวังบักกิงแฮม โดยมีพิธีศพอย่างเป็นทางการที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในกรุงลอนดอน และพิธีเสร็จสิ้นที่ทะเลสาบราวนด์โอวัล (สุสานที่ใช้ฝังศพ) ในคฤหาสน์อัลธอร์ป เมืองนอร์ธแฮมป์ตัน มณฑลนอร์ธแฮมป์ตันเชียร์
ประชาชนกว่า 2,000 คน ได้ร่วมพระราชพิธีที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์[1] และมีประชาชนชาวอังกฤษรับชมการถ่ายทอดสดพิธีนี้ทางโทรทัศน์มากถึง 32.10 ล้านคน[2] กลายเป็นการถ่ายทอดสดรายการพิเศษทางโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักรที่มีผู้ชมมากที่สุดเป็นอันดับที่สองในประวัติศาสตร์ รองจากนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1966[3] นอกจากนี้ยังมีผู้คนทั่วโลกอีกราว 2.5 พันล้านคนได้เฝ้าชมพิธีศพของไดอานา และได้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ [4]
การเสียชีวิต
[แก้]ไดอานา ฟรานเซส เสียชีวิตเมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2540 หลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ภายในถนนลอดอุโมงค์ปองต์ เดด ลัลมา ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ อดีตพระสามีของไดอานา เสด็จถึงกรุงปารีส พร้อมกับเลดีซาราห์ แมคคอร์ควอเดลและเจน เฟลโลวส์ ซึ่งเป็นพี่สาว 2 คนของไดอานา เพื่อรับศพกลับมายังอังกฤษ
พิธีศพ
[แก้]แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐพิธี แต่เป็นพิธีศพที่สำคัญระดับชาติ ขบวนศพถูกจัดขึ้นตามแบบของพระราชประเพณี และมีพิธีสวดตามแบบนิกายแองกลิคัน โดยมีทหารองครักษ์จากแคว้นเวลส์จำนวน 8 นายได้ร่วมในขบวนศพด้วย[5] โลงศพถูกคลุมด้วยธงประจำราชสำนักล้อมรอบด้วยขอบสีขาวและสัญลักษณ์ขนเออร์มีน 10 ตัว ขบวนศพใช้เวลาเดินทางนาน 1 ชั่วโมงกับ 47 นาทีจากพระราชวังเคนซิงตันมายังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เมื่อขบวนเดินทางถึงพระราชวังเซนต์เจมส์ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี พร้อมทั้งเอิร์ลสเปนเซอร์ ได้ร่วมเสด็จตามหลังขบวนศพของเจ้าหญิงด้วย
พิธีเริ่มขึ้นภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เวลา 11.00 ตามเวลาท้องถิ่น ใช้เวลาทำพิธีนาน 1 ชั่วโมง 10 นาที โดยเจ้าหญิงไมเคิลแห่งเคนท์ได้เป็นตัวแทนจากราชวงศ์ในการวางพวงหรีดข้างโลงศพ เช่นเดียวกับพวงหรีดจากบุคคลสำคัญ เช่น มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และเอ็ดเวิร์ด ฮีธ อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสอง, วินสตัน เชอร์ชิล อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษนิยม บุตรชายคนแรกของวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนแขกผู้มีเกียรติอื่นที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีนี้ได้แก่ ฮิลลารี คลินตัน เฮนรี คิสซิงเกอร์, วิลเลียม โครว, เบนาเด็ต ชีรัค, สมเด็จพระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน, ทอม แฮ็งส์, สตีเว่น สปีลเบิร์ก, เอลตัน จอห์น, จอร์จ ไมเคิล, ทอม ครูซ และนิโคล คิดแมน[6] [7]
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากพระราชวงศ์จากประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมพิธีนี้ ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน เจ้าหญิงมาร์ครีตแห่งเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 แห่งกรีซ เจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น พร้อมด้วยเจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่น และอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา[8]
อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีและดีนแห่งเวสต์มินสเตอร์ เวสลีย์ คาร์ได้เข้าร่วมพิธีที่มหาวิหารด้วยเช่นกัน พิธีทางนิกายแองกลิคันเริ่มต้นขึ้นโดยการขับร้องเพลง God Save the Queen ตามธรรมเนียมดั้งเดิม และท่อนเพลงของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค, แอนโตนิน ดโวรัก, คามิลล์ แชนท์-ชอส์ และนักประพันธ์อื่นๆ ถูกบรรเลงตลอดงานพิธี
ครอบครัวสเปนเซอร์มีแผนการที่จะฝังศพที่โบสถ์เซนต์แมรี เดอะเวอร์จิน ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในเมืองเกรทบริงตัน เคียงข้างกับบรรพบุรุษของพระองค์ แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนสถานที่เป็นคฤหาสน์อัลธอร์พแทน โดยอ้างเหตุผลความเป็นส่วนตัว
ระหว่างพิธีเอลตัน จอห์นได้ขับร้องเพลง Candle in the Wind 1997 ที่ประพันธ์ขึ้นใหม่เพื่ออุทิศให้กับไดอานา โดยเอลตันได้ขอให้เบอร์นี่ ทอพิน แก้ไขเนื้อร้องที่ประพันธ์ในปี 2516 [9] ที่แสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตของมาริลีน มอนโร ดาราสาวชื่อดังวัย 36 ปีที่อายุเท่ากับไดอานาในขณะที่เสียชีวิต แต่เอลตันต้องการให้เพลงนี้สรรเสริญไดอานา [10] ก่อนเสียชีวิตเพียงหนึ่งเดือน ไดอานาถูกถ่ายภาพในขณะที่กำลังปลอบใจเอลตัน จอห์นในงานศพของจานนี เวอร์ซาเช [11][12]
พระราชพิธีฝังศพ
[แก้]ครอบครัวสเปนเซอร์ทำพิธีฝังศพอย่างเป็นส่วนตัวเงียบ ๆ ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน โดยมีเจ้าชายชาลส์ พระโอรสทั้งสองพระองค์ของไดอานา มารดา พี่น้องทั้งสามคน และเพื่อนสนิท และบาทหลวงอีกหนึ่งท่าน พร้อมกันอยู่ที่สุสาน ร่างของไดอานาในโลงศพสวมชุดเดรสแขนยาวสีดำสนิท ออกแบบโดยแคธรีน วอล์กเกอร์ ที่ไดอานาได้เลือกไว้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พระหัตถ์ทั้งสองกุมสร้อยสายประคำของขวัญจากแม่ชีเทเรชาซึ่งเสียชีวิตในสัปดาห์เดียวกับเธอ สุสานของไดอานาตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบในสวนของคฤหาสน์อัลธอร์พของตระกูลสเปนเซอร์มานานหลายศตวรรษ[13]
แผนการเดิมคือ จะฝังศพที่สุสานใต้ดินประจำตระกูลในโบสถ์ใกล้เมืองเกรทบริงตัน แต่เอิร์ลสเปนเซอร์กล่าวว่า ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้คนจำนวนมากที่หลั่งไหลเดินทางไปที่เกรทบริงตัน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะฝังศพพี่สาวไว้ในสถานที่ที่สามารถดูแลรักษาได้ง่ายและพระโอรสและญาติสามารถเดินทางมาที่นี่ได้อย่างเป็นส่วนตัว
เกาะที่ใช้เป็นสุสานสำหรับไดอานาตั้งอยู่ใจกลางทะเลสาบที่มีชื่อว่า เดอะราวน์โอวัล ซึ่งตั้งอยู่ในสวนทางทิศเหนือของคฤหาสน์ มีต้นโอ๊ก 36 ต้นริมทางเดินรอบทะเลสาบบ่งถึงจำนวนอายุของไดอานา ในฤดูร้อนจะมีหงส์ดำ 4 ตัวว่ายน้ำอยู่ในทะเลสาบและต้นดอกบัว และมีต้นกุหลาบขาวปลูกเรียงราย ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ไดอานาโปรดปราน
ริมฝั่งทะเลสาบด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของซัมเมอร์เฮาส์ ที่เคยตั้งอยู่ในสวนแอดไมรอลดี้เฮาส์ในกรุงลอนดอน แต่ตอนนี้ซัมเมอร์เฮาส์ได้ถูกดัดแปลงเป็นอนุสรณ์สถานถึงไดอานา และมีสวนพฤกษชาติโบราณตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน มีพรรณไม้ที่ปลูกโดยเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวสเปนเซอร์ รวมทั้งต้นไม้ของไดอานาด้วย [14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Princess Diana เก็บถาวร 2014-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Entertainment Weekly
- ↑ https://web.archive.org/web/20051125215025/http://www.bfi.org.uk/features/mostwatched/1990s.html
- ↑ https://web.archive.org/web/20051122221448/http://www.bfi.org.uk/features/mostwatched/1960s.html
- ↑ John Urry. Global complexity, Wiley-Blackwell, 2003 p. 134
- ↑ Paul D. L. Avis. A church drawing near: spirituality and mission in a post-Christian culture, Continuum International Publishing Group, 2003
- ↑ SPECIAL REPORT: PRINCESS DIANA, 1961-1997 เก็บถาวร 2000-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Time
- ↑ Joal Ryan (Sat., Sep. 6, 1997) Farewell, "Mummy": Princess Diana's Funeral E!online
- ↑ A Hot Ticket for a Sad Occasion Washington Post
- ↑ "The songwriters idea book". Writer's Digest Books p.103.
I thought it was very important to project it from a nation's standpoint. I wanted to make it sound like a country singing it. From the first couple of lines i wrote [which began "Goodbye England's Rose"], the rest sort of fell into place.
[ลิงก์เสีย] - ↑ Barry Miles Massive Music Moments p.207. Anova Books, 2008
- ↑ The Advocate 14 Oct 1997 Retrieved December 25, 2010
- ↑ Fred Bronson The Billboard book of number one hits p.860. Billboard Books, 1997
- ↑ "Diana Returns Home". BBC.co.uk. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
- ↑ "Althorp Park, Home of Princess Diana". Britainexpress.com. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.