ฟุตบอลทีมชาติโบลิเวีย
ฉายา | ลาเบร์เด ("พวกสีเขียว")[1] | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
สมาคม | สหพันธ์ฟุตบอลโบลิเวีย (เอเฟเบเอเฟ) | ||||||||
สมาพันธ์ | คอนเมบอล (อเมริกาใต้) | ||||||||
หัวหน้าผู้ฝึกสอน | เซซาร์ ฟาริอัส | ||||||||
กัปตัน | มาร์เซโล โมเรโน | ||||||||
ติดทีมชาติสูงสุด | โรนัลด์ รัลเดส (102) | ||||||||
ทำประตูสูงสุด | มาร์เซโล โมเรโน (25) | ||||||||
สนามเหย้า | สนามกีฬาเอร์นันโด ซิเลส | ||||||||
รหัสฟีฟ่า | BOL | ||||||||
| |||||||||
อันดับฟีฟ่า | |||||||||
อันดับปัจจุบัน | 84 1 (20 มิถุนายน 2024)[2] | ||||||||
อันดับสูงสุด | 18 (กรกฎาคม ค.ศ. 1997) | ||||||||
อันดับต่ำสุด | 115 (ตุลาคม ค.ศ. 2011) | ||||||||
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก | |||||||||
ชิลี 7–1 โบลิเวีย (ซานเตียโก ชิลี; 12 ตุลาคม 1926) | |||||||||
ชนะสูงสุด | |||||||||
โบลิเวีย 7–0 เวเนซุเอลา (ลาปาซ โบลิเวีย; 22 สิงหาคม 1993) โบลิเวีย 9–2 เฮติ (ลาปาซ โบลิเวีย; 3 มีนาคม 2000) | |||||||||
แพ้สูงสุด | |||||||||
อุรุกวัย 9–0 โบลิเวีย (ลิมา เปรู; 6 พฤศจิกายน 1927) บราซิล 10–1 โบลิเวีย (เซาเปาลู บราซิล; 10 เมษายน 1949) | |||||||||
ฟุตบอลโลก | |||||||||
เข้าร่วม | 3 (ครั้งแรกใน 1930) | ||||||||
ผลงานดีที่สุด | รอบแบ่งกลุ่ม (1930, 1950, 1994) | ||||||||
โกปาอาเมริกา | |||||||||
เข้าร่วม | 27 (ครั้งแรกใน 1926) | ||||||||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ (1963) | ||||||||
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ | |||||||||
เข้าร่วม | 1 (ครั้งแรกใน 1999) | ||||||||
ผลงานดีที่สุด | รอบแบ่งกลุ่ม (1999) | ||||||||
เกียรติยศ
|
ฟุตบอลทีมชาติโบลิเวีย (สเปน: Selección de fútbol de Bolivia) หรือรู้จักกันในชื่อ ลาเบร์เด (La Verde) เป็นทีมฟุตบอลตัวแทนของประเทศโบลิเวีย ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1926 ดำเนินการโดยสหพันธ์ฟุตบอลโบลิเวีย (Federación Boliviana de Fútbol, FBF) และเป็นหนึ่งใน 10 ชาติสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้หรือคอนเมบอล
โบลิเวียเคยเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 3 ครั้งในปี 1930, 1950 และ 1994 โดยในครั้งหลังสุด พวกเขาพ่ายแพ้ต่อแชมป์เก่าอย่างเยอรมนีในนัดเปิดสนาม 1–0 โบลิเวียไม่เคยผ่านรอบแรกของฟุตบอลโลกเลย และทำได้เพียงประตูเดียวในรายการแข่งขันนี้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาชนะเลิศโกปาอาเมริกาหนึ่งสมัยที่จัดขึ้นในประเทศตัวเองเมื่อปี 1963 และจบอันดับรองชนะเลิศในเมื่อปี 1997 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศตัวเองเช่นกัน ในโกปาอาเมริกา 2015 พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศของรายการนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1997 หลังจากที่สามารถเอาชนะเอกวาดอร์ไปได้ 3–2 นอกจากนี้ ยังเป็นการชนะคู่แข่งในรายการนี้เป็นครั้งแรกของพวกเขานับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ที่พวกเขาเอาชนะเม็กซิโกในรอบรองชนะเลิศไปได้ 1–0[3]
ประวัติ
[แก้]ทีมฟุตบอลของโบลิเวียลงแข่งขันทางการครั้งแรกใน ค.ศ. 1926 หนึ่งปีภายหลังการก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลโบลิเวีย และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติในปีนั้น การแข่งขันรายการแรกของพวกเขาคือโกปาอาเมริกาที่ประเทศชิลี พวกเขาลงแข่งกับชิลีในนัดแรกวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1926 และแม้จะทำประตูขึ้นนำไปก่อนแต่การแข่งขันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ด้วยผลประตู 1–7 และพวกเขาแพ้ในการแข่งขันสามนัดถัดมาต่ออาร์เจนตินา (0–5), ปารากวัย (1–6) และอุรุกวัย (0–6)[4]
โบลิเวียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกสมัยแรกใน ค.ศ. 1930 ที่อุรุกวัยเป็นเจ้าภาพ โดยอยู่ในกลุ่มที่สองซึ่งพวกเขาแพ้ต่อยูโกสลาเวียและบราซิล ณ สนามเอสตาดีโอ เซนเตนารีโอ ด้วยผลประตู 0–4 ทั้งสองนัด[5] โดยการแข่งขันกับยูโกสลาเวียถือเป็นการแข่งขันกับทีมชาติจากนอกทวีปอเมริกาใต้เพียงครั้งเดียวของพวกเขามาจนถึง ค.ศ. 1972[6] โบลิเวียลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1950 โดยได้สิทธิ์จากการที่อาร์เจนตินาถอนตัวจากรายการ การแข่งขันเพียงนัดเดียวของพวกเขาจบลงด้วยความปราชัยต่ออุรุกวัยขาดลอย 0–8 ณ เบลูโอรีซองชี[7] ความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ของทีมชาติโบลิเวียเกิดขึ้นในรายการโกปาอเมริกา 1963 ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าภาพ และชนะเลิศโดยไม่แพ้ทีมใด เป็นอันดับหนึ่งจากจำนวนเจ็ดทีม และเสมอไปเพียงหนึ่งนัดจากการเสมอเอกวาดอร์ด้วยผลประตู 4–4 ในนัดแรก โดยโบลิเวียได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในการแข่งขันจากการที่พวกเขาคุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง[8] แต่พวกเขาจบอันดับสุดท้ายในการแข่งขันครั้งถัดมาที่อุรุกวัย ค.ศ. 1967 โดยจบอันดับสุดท้ายในบรรดาหกทีม ด้วยผลงานเสมอหนึ่งและแพ้สี่นัด โดยผลการแข่งขันรายการนี้ถือว่าเหนือความคาดหมาย เนื่องจากพวกเขาเป็นทีมแชมป์เก่า
ในทศวรรษต่อมา โบลิเวียเริ่มเน้นการพัฒนาระบบเยาวชน โดยการสร้างศูนย์ฝึกชื่อดังในเมือง ซานตา ครูซ เด ลา เซียร์รา ในปี 1978 ซึ่งเป็นโรงเรียนฟุตบอลที่พัฒนาผู้เล่นอย่าง มาร์โก เอตเชเวอร์รี, เอร์วิน ซันเชซ และลุยส์ กริสตัลโด ภายใต้การคุมทีมของซาบิเอร์ อัซการ์โกร์ตา ผู้ฝึกสอนชาวสเปน โบลิเวียเป็นทีมแรกที่เอาชนะบราซิลในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1994 ณ เมืองลาปาซด้วยผลประตู 2–0 และผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายโดยจบอันดับสองเป็นรองเพียงบราซิล และมีผลงานโดดเด่นจากการเอาชนะเวเนซุเอลาทั้งสองนัดด้วยผลประตู 7–0 และ 7–1[9] พวกเขาพบกับทีมแชมป์เก่าอย่างเยอรมนีในนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม ณ สนามโซลเจอร์ฟีลด์ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ่ 0–1 จากประตูปัญหาของเยือร์เกิน คลีนส์มันที่ดูเหมือนจะล้ำหน้า ตามด้วยการเสมอเกาหลีใต้ด้วยผล 0–0 และปิดท้ายด้วยความพ่ายแพ้ต่อสเปน 1–3 โดยผู้ทำประตูของโบลิเวียได้แก่ เอร์วิน ซันเชซ ถือเป็นประตูแรกของโบลิเวียในการแข่งขันรอบสุดท้าย[10]
ต่อมา โบลิเวียลงแข่งขันโกปาอเมริกา 1995 ที่อุรุกวัยด้วยการคุมทีมของอันโตนีโอ โลเปซ พวกเขาเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่คว้าแชมป์ได้ใน ค.ศ. 1963 ด้วยผลงานชนะ, เสมอ และแพ้อย่างละหนึ่งนัดในรอบแบ่งกลุ่ม ก่อนจะแพ้ทีมเจ้าภาพในรอบต่อมา แม้จะทำผลงานในภาพรวมได้น่าพึงพอใจ ทว่าโลเปซก็ถูกปลดก่อนการแข่งขันใน ค.ศ. 1997 และถูกแทนที่โดยดูชัน ดราชกอวิชจากมอนเตเนโกร โดยในปีนี้ถือเป็นครั้งที่สองที่โบลิเวียเป็นเจ้าภาพซึ่งพวกเขาเข้าชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าภาพในครั้งแรก แต่ในครั้งนี้จบลงด้วยการแพ้ต่อบราซิล 1–3 ได้เพียงรองแชมป์ โบลิเวียมีส่วนร่วมในการแข่งขันฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพเพียงครั้งเดียวใน ค.ศ. 1999 โดยจบอันดับสามของกลุ่มจากการเสมออียิปต์และซาอุดีอาระเบีย และแพ้เจ้าภาพอย่างเม็กซิโกในนัดสุดท้ายด้วยผลประตู 0–1 ต่อมา ในโกปาอาเมริกา 2015 ที่ชิลีด้วยการคุมทีมของเมาริซิโอ โซเรีย พวกเขาผ่านรอบแบ่งกลุ่มด้วยการมีสี่คะแนน โดยเสมอเม็กซิโก 0–0, ชนะเอกวาดอร์ 3–2 และแม้จะแพ้เจ้าภาพในนัดสุดท้ายขาดลอย 0–5 พวกเขายังจบอันดับสองของกลุ่มเอ ก่อนจะยุติเส้นทางในรอบก่อนรองชนะเลิศโดยแพ้เปรู 1–3 ผู้ทำประตูของโบลิเวียได้แก่ มาร์เซโล มาร์ตินส์ โมเรโน
ในการแข่งขันโกปาอาเมริกาเซนเตนาริโอ 2016 ที่สหรัฐอเมริกา โบลิเวียทำผลงานย่ำแย่ด้วยการแพ้รวดสามนัด นำไปสู่การประกาศเจตนารมณ์ในการปฏิวัติโครงสร้างด้านฟุตบอลในประเทศใหม่ทั้งหมด โดย เฟอร์นานโด กอสตา ซาร์เมียนโต ประธานสหพันธ์คนใหม่ใน ค.ศ. 2021 เขาตั้งเป้าที่จะสร้างระบบฟุตบอลโบลิเวียขึ้นมาใหม่ให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น[11] ในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2023 โบลิเวียสามารถบุกไปเอาชนะทีมชาติที่เคยลงแข่งขันฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 21 โดยเอาชนะซาอุดีอาระเบียด้วยผลประตู 2–1 ณ เมืองญิดดะฮ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Famous Bolivian Footballers". Your Spanish Translation. สืบค้นเมื่อ 22 June 2014.
- ↑ "The FIFA/Coca-Cola World Ranking". FIFA. 20 มิถุนายน 2024. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2024.
- ↑ "Ecuador 2 − Bolivia 3". futbol.univision.com. Univision Communications Inc. 15 June 2015. สืบค้นเมื่อ 16 June 2015.
- ↑ Administrador (2011-02-11). "Historia del fútbol boliviano, Capítulo 2. Nacen la FBF y la selección 1925-1926". Historia del Fútbol Boliviano (ภาษาสเปน).
- ↑ Administrador (2014-06-12). "Bolivia en la Copa del Mundo, Capítulo 1. Uruguay 1930". Historia del Fútbol Boliviano (ภาษาสเปน).
- ↑ "Bolivia - International Results". www.rsssf.org.
- ↑ Administrador (2014-07-13). "Bolivia en la Copa del Mundo, Capítulo 2. Brasil 1950". Historia del Fútbol Boliviano (ภาษาสเปน).
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-03. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-15. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
- ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ jornada (2021-05-24). "Fernando Costa: "A reconstruir el fútbol" - JORNADA" (ภาษาสเปน).