มานี สุมนนัฏ
มานี สุมนนัฏ | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม อำเภอบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ |
เสียชีวิต | 23 มิถุนายน พ.ศ. 2533 (74 ปี) |
คู่สมรส | สง่า สามโกเศศ |
อาชีพ | นักแสดง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2478–2481 |
สังกัด | ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง |
ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม หรือ ฉวีวรรณ สามโกเศศ เป็นที่รู้จักในชื่อ มานี สุมนนัฏ (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2533) เป็นนักแสดงหญิงชาวไทยสังกัดบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด มีผลงานแสดงภาพยนตร์และร้องเพลงประกอบ[1] ช่วงปี พ.ศ. 2478–2481 เธอได้รับสมญาว่าเป็น "ดาวจรัสแสงแห่งศรีกรุง" และ "ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย"[2]
ประวัติ
[แก้]มานีเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ มีชื่อจริงแต่แรกเกิดว่าฉวีวรรณ ดอกไม้งาม บิดาเป็นพ่อค้าไม้ เธอมีน้องสาวคนหนึ่งชื่ออนงค์ มารดาของอัญชลี จงคดีกิจ นักร้องและนักแสดงหญิงชาวไทย[3]
ส่วนตัวมานีชอบภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจ มักตามมารดาไปดูภาพยนตร์บ่อย ๆ
มานีสมรสกับสง่า สามโกเศศ และมิได้กลับหวนคืนสู่วงการอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคชราอย่างสงบ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ขณะอายุ 74 ปี[4]
การทำงาน
[แก้]พ.ศ. 2477 เธอได้พบกับหลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ) ผู้เป็นทั้งนักแสดงในเรื่องและเป็นผู้นำหนังเรื่อง ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ มาเร่ฉายที่ปากน้ำโพ ได้ชักชวนเธอเข้ามาสู่วงการ โดยฝากกับมานิต วสุวัต ผู้อำนวยการบริษัทศรีกรุง ใช้ชื่อว่า "มานี สุมนนัฏ"
ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก พญาน้อยชมตลาด ของศรีกรุง ออกฉายในปี พ.ศ. 2478 ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชมความสามารถจากหนังสือพิมพ์อิสสระ ฉบับเดือนตุลาคมว่า "....มานีได้ถึงแล้วซึ่งการเป็นที่พอใจของเวทีภาพยนตร์ เธอแสดงความองอาจอย่างที่จะหาความองอาจจากหญิงไทยได้ยาก บทปลูกเสน่หายาใจที่เธอจะพึงแสดงตามบทนั้น แม่หญิงสาวของเราคนนี้ได้สละทุกอย่างเพื่อวางสภาพความจริงให้คงไว้และเป็นไปตามหลักฐานภาพยนตร์ที่ดี" ด้วยเหตุนี้มานีจึงเป็นนักแสดงระดับดาราคนแรกของประเทศไทย[5]
จากความตั้งใจในการแสดง ทำให้เธอเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทจากภาพยนตร์เรื่อง เมืองแม่หม้าย จนได้ฉายาว่า "ดาวจรัสแสงแห่งศรีกรุง" และรับสิทธิพิเศษในการนั่งเก้าอี้พิเศษแบบฮอลลิวูดที่จะมอบแด่ผู้กำกับชั้นนำของโรงถ่าย[1] หลังจากนั้นได้แสดงคู่กับจำรัส สุวคนธ์ ครั้งแรกในภาพยนตร์รักตลก กลัวเมีย ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2479 ทุกเรื่องล้วนทำรายได้ดีและสร้างชื่อเสียงแก่นักแสดงอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องหลังสุด
ตั้งแต่นั้นมาชื่อ "มานี-จำรัส" ได้รับการจารึกในฐานะดาราคู่ขวัญคู่แรกของวงการภาพยนตร์ไทย บทบาทการแสดงโด่งดังถึงจุดสูงสุดเมื่อได้แสดงร่วมกันในภาพยนตร์เพลง "ระดับซูเปอร์" ที่ใช้ทุนสูงกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา เพลงหวานใจ ออกฉายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2480 ซึ่งประสบความสำเร็จมากอีกเช่นเคย และนับเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ไทยที่นางเอกชั้นนำใส่ชุดทูพีชชิ้นน้อยนิดซึ่งเป็นแฟชั่นใหม่ล่าสุดเข้าฉากถ่ายทำ[6] เธอเคยกล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไว้ว่า "ดิฉันนึกในใจว่า ถ้าเราแสดงไม่ดี ผู้กำกับก็ต้องลอยคออยู่ในน้ำอาจถึง 2–3 ชั่วโมงก็ได้"[1]
จากชื่อเสียงของมานี-จำรัส พวกเขาได้กลายเป็นผู้นำการแต่งกายที่ล้ำยุคของประชาชนยุคนั้น กล่าวคือบุรุษจะหวีผมแสกกลางเรียบแปล้ ไว้หนวดเรียวริมฝีปากอย่างนักแสดงฮอลลิวูด ส่วนสตรีจะเขียนคิ้วโก่ง ไว้ผมทรงชิงเกิล ใส่เสื้อเอวจัมพ์ และสวมชุดว่ายน้ำอวดขาอ่อนตามอย่างนักแสดง[7]
ในที่สุด มานีได้ตัดสินใจเลือกยุติชีวิตการแสดงไว้กับภาพยนตร์รักตลกเรื่อง หลอกเมีย คู่กับจำรัส สุวคนธ์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนสมรสกับสง่า สามโกเศศแล้วออกจากวงการบันเทิงไป
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]จากผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่อง เพลงหวานใจ กับจำรัส สุวคนธ์ ซึ่งเป็นดาราคู่ขวัญและกลายเป็นภาพจำ ด้วยเหตุนี้โรงภาพยนตร์ศรีศาลายาจึงได้มีการก่อสร้างสระประติมากรรม โดยจำลองมาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์ดังกล่าว ที่เรืออากาศเอกของไทย (จำรัส สุวคนธ์) ผู้ขับเครื่องตกในประเทศสมมติชื่อซานคอซซาร์ แล้วพบกับพระราชินี (มานี สุมนนัฏ) ที่กำลังสรงน้ำอยู่ริมห้วย ด้วยเหตุนี้สระประติมากรรมนั้นจึงสร้างให้เป็นรูปปั้นสตรีแช่อยู่ในสระน้ำ[2]
และในวาระครบ 100 ปีชาตกาลเมื่อปี พ.ศ. 2558 ไปรษณีย์ไทยจึงได้จัดทำดวงตราไปรษณียากรชุดพิเศษ "100 ปี มานี สุมนนัฏ ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย" แก่หอภาพยนตร์ โดยมีทั้งหมดสี่ดวงที่นำเสนอภาพยนตร์ที่มานีแสดงไว้[8]
ผลงาน
[แก้]- ภาพยนตร์
ปี | เรื่อง | บทบาท |
---|---|---|
2478 | พญาน้อยชมตลาด | เม้ยเจิง |
เมืองแม่หม้าย | นางพญาแห่งเมืองลับแล | |
2479 | กลัวเมีย | ภรรยา |
2480 | เพลงหวานใจ | ราชินีแห่งซานคอซซาร์ |
2481 | หลอกเมีย | ลาวรรณ |
- เพลงประกอบ
ปี | ชื่อ |
---|---|
2478 | "มอญกล่อมวัง" (ประกอบภาพยนตร์เรื่อง พญาน้อยชมตลาด) |
"บวงสรวง" (ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เมืองแม่หม้าย) | |
2479 | "ใจสนองใจ" (ประกอบภาพยนตร์เรื่อง กลัวเมีย) |
"ชื่นชีวิต" (ประกอบภาพยนตร์เรื่อง กลัวเมีย) |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ""ปุ๊ อัญชลี" ประทับรอยมือลานดารา หอภาพยนตร์-ร่วมรำลึก 100 ปี "มานี สุมนนัฏ"". ไทยพีบีเอส. 1 ธันวาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016.
- ↑ 2.0 2.1 "100 ปี ชาตกาล 3 บุคคลเด่นและดัง ในปี 2558". ผู้จัดการออนไลน์. 8 ธันวาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2023.
- ↑ ""ปุ๊" ปลื้มประทับมือเคียงข้างคุณป้า เผยเคล็ด 60 ยังแจ๋ว ที่ฟิตไปทั้งตัว". ไทยรัฐออนไลน์. 25 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016.
- ↑ "มานี สุมนนัฎ (ดาวจรัสแสง แห่งศรีกรุง)". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010.
- ↑ "หอภาพยนตร์จัด ๑๐๐ ปี มานี สุมนนัฏ ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย". หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016.
- ↑ ภาพนิ่งฉากเพลงในห้วยเรื่อง เพลงหวานใจ, หลักหนังไทย. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). 2555. หน้า 258. ISBN 978-616-543-150-7.
- ↑ "ศิลปะการแสดง". ลักษณะไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มกราคม 2019. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016.
- ↑ "100 ปี มานี สุมนนัฏ". แสตมป์ที่ฉันรัก. ข่าวสดรายวัน. 6 ธันวาคม 2015. p. 21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016.