ข้ามไปเนื้อหา

หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือชื่อเรียกย่อ โอดอส (ODOS ย่อมาจาก One District One Scholarship) เป็นโครงการพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลในยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ อดิสัย โพธารามิก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยชื่อเดิม และชื่อเต็มของโครงการนี้คือ โครงการทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอ และกิ่งอำเภอ ในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี)

ทุนการศึกษา "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยได้นำเงินจากการขายหวยออนไลน์ เลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว ทำให้หลายคนเรียกและรู้จักทุนนี้ในชื่อของ "ทุนหวย"

ประวัติ

[แก้]

โครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียน จากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา หรือที่เรียกว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นโครงการที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ ร่วมกับสำนักงาน ก.พ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนไทยยากจน ที่เรียนดี มีความประพฤติดี และกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า จากสถานศึกษาทุกอำเภอและกิ่งอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 926 ทุน (ตามจำนวนสถานศึกษาที่เปิดสอนในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย) ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง ชุมชนและท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ และการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ทั้งนี้ รัฐบาลมีความคาดหวังว่านักเรียนทุนเหล่านี้ จะนำความรู้และทักษะที่ได้รับกลับมาพัฒนาประเทศต่อไป

แนวคิดในการพัฒนาการศึกษาไทย

[แก้]

แนวคิดของรัฐบาลยุค พ.ต.ท. ทักษิน ชินวัตร เชื่อว่าการศึกษาเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถและศักยภาพของบุคคล นอกจากนี้ การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเสมอภาคยังเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ เนื่องจากคุณลักษณะร่วมสำคัญประการหนึ่งของความยากจน ได้แก่การขาดโอกาสทางการศึกษาของบุคคล ซึ่งรวมถึงโอกาสในการเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา หรือโอกาสในการศึกษาต่อเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับไปแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดพันธกิจภายใต้ยุทธศาตร์สู่การปฏิบัติในการสร้างความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น นอกเหนือจากนโยบายในการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังได้ดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสและยากจน เช่น โครงการจักรยานยืมเรียน การสนับสนุนรายได้ระหว่างเรียนของนักเรียน-นักศึกษา โครงการให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนโดยการเขียนเรียงความ และโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอใระดับอุดมศึกษา(ปริญญาตรี) เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงของทุน

[แก้]

ทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" หลังจากการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล คณะปฏิวัติ โดยนายวิจิตร ศรีสะอ้าน ได้เปลี่ยนชื่อทุน พร้อมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน อันเนื่องมาจาก รัฐบาลประกาศยกเลิกจำหน่ายหวยออนไลน์ 2 ตัวและ 3 ตัว ทำให้ทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนต้องเปลี่ยนมาใช้งบประมาณจากส่วนกลางแทน และได้มีการระงับการดำเนินการของทุนในรุ่นต่อมา ทำให้จนถึงขณะนี้นั้น มีทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนเพียงแค่ 2 รุ่น เท่านั้น

แหล่งที่มาของเงินทุน

[แก้]

อย่างที่เรารู้กันดีในชื่อของทุนหวย ซึ่งต้นกำเนิดที่แท้จริงของทุนนี้ มาจากการที่รัฐบาลได้เปิดจำหน่ายหวยออนไลน์ เลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว โดยเป็นการร่วมมือของรัฐบาล ซึ่งดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล แต่หลังจากที่ประเทศไทยได้เกิดการก่อรัฐประหารเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิวัติ ได้เข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงระบบการดำเนินการของทุน โดยการยกเลิกการจำหน่ายหวยเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แหล่งเงินทุนหลักของโครงการนี้ จึงมาจากเงินส่วนกลางของรัฐบาล ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนร่นที่ 1 นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยในปี 2547 ใช้งบประมาณประมาณ 445 ล้านบาท และคาดว่า งบประมาณ ตลอดโครงการเป็นเงินประมาณสามพันเจ็ดร้อยล้านบาท และใช้งบประมาณในจำนวนใกล้เคียงกัน ในทุนรุ่นที่ 2

เงื่อนไขในการรับทุน และข้อผูกพันหลังจบการศึกษา

[แก้]

ในการสมัครสอบคัดเลือกเพื่อรับทุนในโครงการนี้ (ครั้งที่ 1 ) ผู้สมัครจะต้องมีผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมา เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 มีความประพฤติดี และต้องเป็นผู้มีฐานะยากจน โดยรายได้ของบิดามารดาและผู้สมัครสอบรวมกันไม่เกิน 200,000 บาท/ปี และเนื่องจาก โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กยากจน ให้สามารถพัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิตของตัวเอง และครอบครัว ดังนั้น เมื่อผู้รับทุนสำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย โดยไม่ต้องชดใช้หนี้ทุนผู้มีสิทธิรับทุน

รูปแบบการขอรับทุน

[แก้]

ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นหรือ หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน มีกรอบกำหนดการรับทุนแตกต่างกันออกไปตามประเทศที่เดินทางไปศึกษา โดยกรอบระยะเวลาจะอยู่ในระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาของประเทศนั้น ๆ โดยแบ่งระบบการให้ทุนออกเป็น 2 ช่วง นั่นคือ

  • ช่วงที่ 1 การปรับตัวเตรียมความพร้อมและเรียนภาษาท้องถิ่น เนื่องมาจากว่าทุนนี้ ระบุให้ไปทำการศึกษาในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งอาจใช้เวลาในการศึกษาภาษานานถึงสองปี ในกรณีที่นักเรียนไม่มีพื้นฐานภาษามาเลย และเป็นภาษาที่ต้องใช้เวลาในการเรียนนานกว่าภาษาอื่น เช่น ภาษาจีน, ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น
  • ช่วงที่ 2 การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาของการศึกษาในประเทศนั้น ๆ เช่นประเทศในยุโรป ใช้เวลาในการศึกษาในระดับปริญาตรีเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้นักเรียนที่ไม่สามารถปรับตัวหรือไม่สามารถดำเนินการศึกษาต่อในต่างประเทศได้ สามารถกลับมาใช้ทุนตามระยะเวลาที่เหลือ เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในโอกาสที่กลับมาศึกษาในประเทศต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการรับทุน

การสำเร็จการศึกษา

[แก้]

นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย หรือในกรณีที่บางคนต้องการศึกษาต่อโดยใช้ทุนจากหน่วยงานอื่น หรือรัฐบาลต่างประเทศ ก็สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องผ่านการเห็นชอบ และพิจารณาจากสำนักงาน กพ.เท่านั้น ซึ่งในปีแรกมีผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศทั้งสิ้น 50 คน อันเนื่องมาจากระบบการศึกษาและระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ตลอดจนการใช้เวลาในการปรับตัว รวมถึงความยากง่ายในการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ มีนักเรียนที่ได้ทุนศึกษาในต่างประเทศจำนวน 1211 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักเรียนทุนในรุ่นที่ 1 จำนวน 518 ราย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปีการศึกษา 2551-2552 และรุ่นที่ 2 ในอีก 2 ปีต่อมา

จำนวนผู้ที่ได้รับทุน (รุ่นที่ 1)

[แก้]

มีผู้ได้รับทุนทั่วประเทศจำนวน 921 ทุน จาก 926 อำเภอและกิ่งอำเภอทั่วประเทศ (อำเภอที่ไม่มี ผู้สมัครรับทุนได้แก่อำเภอ ศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน นอก จากนี้ ผู้ได้รับทุนจากอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาขอสละสิทธิ์)

นักเรียนที่ได้รับทุนเลือกศึกษาต่อในประเทศจำนวนทั้งสิ้น 182 คน และเลือกศึกษาในต่างประเทศ จำนวน 739 คน ตามรายละเอียดดังนี้

  1. ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 183 คน
  2. ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 121 คน
  3. ประเทศจีน จำนวน 97 คน
  4. ประเทศเยอรมนี จำนวน 84 คน
  5. ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 82 คน
  6. ประเทศอิตาลี จำนวน 69 คน
  7. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 25 คน
  8. ประเทศอินเดีย จำนวน 21 คน
  9. ประเทศออสเตรีย จำนวน 18 คน
  10. ประเทศสเปน จำนวน 14 คน
  11. ประเทศรัสเซีย จำนวน 10 คน
  12. ประเทศมาเลเซีย จำนวน 6 คน
  13. ประเทศเดนมาร์ก จำนวน 6 คน
  14. ประเทศสวีเดน จำนวน 3 คน
  15. ประเทศอียิปต์ จำนวน 1 คน

หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนรุ่นที่ 3

[แก้]

หลังจากการเข้ามาบริหารประเทศของ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายการจำหน่ายหวยเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัวอีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของแหล่งเงินทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนในรุ่นที่ 3 โดยนายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมทั้งวางแผนเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือก โดยจะแบ่งการคัดเลือกจากนักเรียนที่จบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ในจำนวนที่เท่าเทียมกัน พร้อมทั้งนโยบาย ลดจำนวนทุนลง โดยจะใช้การสอบแข่งขันแบ่งตามเขตพื้นที่การศึกษาแทน ซึ่งจะทำให้จำนวนทุนลดลงเหลือเพียงแค่ 446 ทุนเท่านั้น พร้อมกันนี้ จะยังคงใช้ชื่อเป็น "ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น"

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]