ข้ามไปเนื้อหา

องค์การบริหารส่วนตำบลสวี

พิกัด: 10°15′11.7″N 99°05′36.2″E / 10.253250°N 99.093389°E / 10.253250; 99.093389
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์การบริหารส่วนตำบลสวี
วัดพระบรมธาตุสวี
อบต.สวีตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร
อบต.สวี
อบต.สวี
ที่ตั้งที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสวี
พิกัด: 10°15′11.7″N 99°05′36.2″E / 10.253250°N 99.093389°E / 10.253250; 99.093389
ประเทศ ไทย
จังหวัดชุมพร
อำเภอสวี
พื้นที่
 • ทั้งหมด55.93 ตร.กม. (21.59 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2565)[1]
 • ทั้งหมด4,171 คน
 • ความหนาแน่น74.57 คน/ตร.กม. (193.1 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.06860705
ที่อยู่ที่ทำการเลขที่ 13/2 หมู่ที่ 4 ตำบลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130
เว็บไซต์sawee.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

องค์การบริหารส่วนตำบลสวี เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทองค์การบริหารส่วนตำบลที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตำบลสวีและตำบลปากแพรก ในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เดิมได้รับการจัดตั้งเป็นสภาตำบลสวีใน พ.ศ. 2516[2] ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลสวีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2539[3] ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2565 มีประชากรทั้งหมด 4,171 คน โดยแบ่งประชากรเป็นเขตตำบลสวี 2,787 คน และเขตตำบลปากแพรก 1,384 คน

ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 กระทรวงมหาดไทยให้ยุบสภาตำบลปากแพรก รวมเข้ากับพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสวี[4] เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยดำเนินการประกาศยุบรวมสภาตำบลทั้งหมดและองค์การบริหารส่วนตำบลใดที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคน โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่น หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลสวีครอบคลุมพื้นที่ตำบลสวีและตำบลปากแพรกทั้งหมด

องค์การบริหารส่วนตำบลตั้งอยู่ข้างที่ว่าการอำเภอสวี และห่างจากศาลากลางจังหวัดชุมพรประมาณ 6.9 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 499 กิโลเมตรตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 และประมาณ 500.76 กิโลเมตรตามทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟสวี มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 55.93 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 34,956.25 ไร่ เป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุสวี พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบจากพระมหาธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา สูง 14.25 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 8.50 เมตร มีซุ้มช้างและยักษ์ยืน มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก ชั้นบนทำเป็นซุ้มพระล้อมรอบ ต่อด้วยเจดีย์ทรงระฆังประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง และมีเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุมทั้งสี่[5] ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดงานแห่ผ้าห่มพระธาตุสวีทุกปี

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประชากรในเขตอำเภอสวี จังหวัดชุมพร พ.ศ. 2565 โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งสภาตำบลตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 90 (108 ง): (ฉบับพิเศษ) 1–72. วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2516
  3. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (ตอนพิเศษ 52 ง): 1–365. วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2539
  4. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง รวมสภาตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (ตอนพิเศษ 75 ง): 7–10. วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
  5. "โบราณสถานวัดพระธาตุสวี จังหวัดชุมพร". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]