ข้ามไปเนื้อหา

อมัลเทีย (ดาวบริวาร)

บทความนี้เป็นบทความแปลของพนักงานดีแทคในความร่วมมือกับวิกิพีเดีย คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อมัลเทีย
ลักษณะของวงโคจร
ระยะจุดใกล้ศูนย์กลางวงโคจรที่สุด:181150 ก.ม.[a]
ระยะจุดไกลศูนย์กลางวงโคจรที่สุด:182840 ก.ม.[a]
รัศมีวงโคจรเฉลี่ย:181365.84±0.02 ก.ม. (2.54 RJ) [1]
ความเยื้องศูนย์กลาง:0.00319±0.00004[1]
คาบดาราคติ:0.49817943±0.00000007 d (11 ช.ม., 57 นาที, 23 วินาที)[1]
อัตราเร็วเฉลี่ย
ในวงโคจร
:
26.57 ก.ม./วินาที[a]
ความเอียง:0.374°±0.002° (ถึงศูนย์สูตรดาวพฤหัส) [1]
ดาวบริวารของ:ดาวพฤหัส
ลักษณะทางกายภาพ
มิติ:250 × 146 × 128 ก.ม.[2]
รัศมีเฉลี่ย:= 83.5±2.0 ก.ม.[2]
ปริมาตร:(2.43±0.22)×106 ก.ม.3[3]
มวล:(2.08±0.15)×1018 กิโลกรัม[3]
ความหนาแน่นเฉลี่ย:0.857±0.099 กรัม/ซ.ม.3[3]
ความโน้มถ่วง
ที่ศูนย์สูตร:
≈ 0.020 เมตร/วินาที² (≈ 0.002 กรัม) [a]
คาบการหมุน
รอบตัวเอง
:
การหมุนสมวาร[2]
ความเอียงของแกน:0[2]
อัตราส่วนสะท้อน:0.090±0.005[4]
อุณหภูมิพื้นผิว:
ต่ำสุดเฉลี่ยสูงสุด
โชติมาตรปรากฏ:14.1[5]

อมัลเทีย (อังกฤษ: Amalthea, กรีก: Αμάλθεια) บ้างเรียก จูปิเตอร์ 5 เป็นดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี มีระยะทางห่างจากดาวแม่เป็นอันดับที่ 3 ค้นพบเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2435 โดยเอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ดและได้ตั้งชื่อตามอมัลเทียที่เป็นนิมฟ์ในเทพปกรณัมกรีก[6]

อมัลเทียอยู่ในวงโคจรใกล้ดาวพฤหัสบดีและอยู่ที่ในขอบชั้นนอกของชั้นวงแหวนเบาบางอมัลเทีย (Amalthea Gossamer Ring) ซึ่งเป็นวงแหวนที่เกิดขึ้นจากการสะสมของฝุ่นที่หลุดออกจากพื้นผิวของอมัลเทีย[7] เมื่อมองจากพื้นผิวของอมัลเทียจะปรากฏภาพอันน่าอัศจรรย์ใจของดาวพฤหัสบดีขนาดใหญ่ โดยปรากฏขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 46.5 องศา[b] อมัลเทียเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาดาวบริวารชั้นในของดาวพฤหัสบดี อมัลเทียมีรูปร่างที่ไร้รูปทรงและมีสีแดง นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอมัลเทียประกอบขึ้นจากน้ำแข็งที่เป็นรูพรุนซึ่งเจือด้วยสสารอื่น ๆ ที่ยังไม่ทราบแน่ชัด บนพื้นผิวพบร่องรอยของหลุมอุกกาบาตและเทือกเขาสูง[2]

มีการถ่ายภาพอมัลเทียได้ใน พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2523 โดยยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 และต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 โดยยานอวกาศกาลิเลโอ[2]

การค้นพบและการตั้งชื่อ

[แก้]
ภาพสีของอมัลเทียจากยานวอยเอจเจอร์ 1 (2522)

การค้นพบ

[แก้]

อมัลเทียค้นพบในวันที่ 9 เดือนกันยายน พ.ศ. 2435 โดยเอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ดซึ่งใช้กล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาด 36 นิ้ว (91 เซนติเมตร) ในหอดูดาวลิก[6][8] อมัลเทียเป็นดาวบริวารดวงสุดท้ายที่ค้นพบจากการสังเกตภาพโดยตรง (ตรงข้ามกับการสังเกตจากภาพถ่าย) และเป็นดาวบริวารดวงแรกภายหลังจากที่กาลิเลโอ กาลิเลอีค้นพบดวงจันทร์ของกาลิเลโอใน พ.ศ. 2153[9]

ชื่อ

[แก้]

ดวงจันทร์บริวารดวงนี้ได้รับชื่อตามเทพเจ้าจากเทพนิยายกรีกชื่ออมัลเทียที่เป็นผู้อนุบาลซูส (เทียบได้กับจูปิเตอร์ในเทพปกรณัมโรมัน) ในวัยทารกด้วยนมแพะ[10] การเรียกขานลำดับตามเลขโรมันของดวงจันทร์นี้คือจูปิเตอร์ 5 ชื่ออมัลเทียไม่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลจนกระทั่ง พ.ศ. 2518[11][12] แม้ว่าชื่อนี้จะใช้อย่างไม่เป็นทางการเป็นเวลาหลายทศวรรษก็ตาม ชื่อนี้ได้รับการแนะนำครั้งแรกโดยกามีย์ ฟรามมาร์ยง (Camille Flammarion) [13] ก่อน พ.ศ. 2518 ชื่ออมัลเทียไม่ได้ใช้อย่างกว้างขวางดังเช่น จูปิเตอร์ 5[14]

วงโคจร

[แก้]

อมัลเทียโคจรรอบดาวพฤหัสบดี โดยมีระยะทางห่างจากดาวพฤหัสบดี 181 000 กิโลเมตร (2.54 เท่าของรัศมีของดาวพฤหัสบดี) วงโคจรของอมัลเทียเป็นวงรีโดยมีความเยื้อง 0.003 และทำมุมเอียง 0.37° กับเส้นศูนย์ของดาวพฤหัสบดี[1] ค่าความเยื้องและมุมเอียงแม้ว่าจะมีขนาดเพียงเล็กน้อยก็ตามเป็นความผิดปกติของวงโคจรของดาวบริวารชั้นในซึ่งเป็นอิทธิพบจากดวงจันทร์ของกาลิเลโอดวงในสุดคือไอโอ: ในอดีตที่ผ่านมาอมัลเทียได้ผ่านการสั่นพ้องของวงโคจรกับไอโอหลายต่อหลายครั้งจนทำให้เกิดความเยื้องและมุมเอียงดังเช่นปัจจุบัน (การสั่นพ้องของวงโคจรเกิดขึ้นเมื่องอัตราส่วนของคาบการโคจรของวัตถุสองชิ้นเป็นอัตราส่วนจำนวนเต็ม เช่น m:n) [7]

วงโคจรของอมัลเทียอยู่ใกล้กับบริเวณขอบด้านนอกของชั้นวงแหวนเบาบางอมัลเทียซึ่งเป็นวงแหวนที่เกิดขึ้นจากการสะสมของฝุ่นที่หลุดออกจากพื้นผิวของอมัลเทีย[15]

ลักษณะทางกายภาพ

[แก้]

พื้นผิวของอมัลเทียเป็นสีแดงเข้ม (เกิดเนื่องจากความสามารถในการสะท้อนแสงที่มากขึ้นตามความยาวคลื่นแสงจากสีเขียวไปยังความยาวคลื่นแสงใกล้แสงอินฟราเรด) [2] สีแดงที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากกำมะถันซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากดวงจันทร์ไอโอ หรือจากวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำแข็ง[2] รอยแต้มสีเขียวสดใสปรากฏอยู่ตามพื้นที่ลาดชันขนาดใหญ่หลายแห่งบนอมัลเทียแต่ต้นกำเนิดของสีเขียวสดใสนี้ยังคงเป็นปริศนา[2] พื้นผิวของอมัลเทียสุกสว่างกว่าพื้นผิวของดาวบริวารชั้นในของดาวพฤหัสบดีดวงอื่น ๆ อยู่เล็กน้อย[4] นอกจากนี้ความสว่างของซีกหัว และซีกหางก็มีความแตกต่างกัน โดยซีกหัวสว่างกว่าซีกหางราว 1.3 เท่า ความไม่สมมาตรนี้อาจจะเกิดจากความเร็วและความถี่ของการพุ่งชนของอุกกาบาตในบริเวณส่วนหัวที่มากกว่าบริเวณส่วนหางซึ่งทำให้สสารที่มีความสุกสว่างซึ่งอาจจะเป็นน้ำแข็งซึ่งอยู่ภายในของดวงจันทร์ถูกกระแทกออกมายังพื้นผิวด้านบนของดวงจันทร์[4]

ภาพของยานกาลิเลโอแสดงให้เห็นรูปร่างไม่สม่ำเสมอของอมัลเทีย

อมัลเทียมีรูปร่างที่ไร้รูปทรงโดยมีรูปร่างคล้ายทรงรีขนาดประมาณ 250 x 146 x 128 กิโลเมตร[2] โดยมีขนาดพื้นที่ผิวระหว่าง 88,000 ถึง 170,000 ตารางกิโลเมตร คาดการณ์ว่าน่าจะประมาณ 130,000 ตารางกิโลเมตร แกนยาวของอมัลเทียจะถูกล็อกด้วยแรงน้ำขึ้นน้ำลงให้ชี้เข้าหาดาวพฤหัสบดีตลอดเวลาซึ่งเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับดาวบริวารชั้นในของดาวพฤหัสบดีดวงอื่น ๆ [7] พื้นผิวของดวงจันทร์เต็มไปด้วยร่องรอยของการพุ่งชนของอุกกาบาตบางแห่งซึ่งมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดของดวงจันทร์ เช่น แอ่งอุตกาบาตแพนซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโดยมีขนาดปากหลุมกว้าง 100 กิโลเมตร และลึกไม่ต่ำกว่า 8 กิโลเมตร[2] หลุมอุกกาบาตไกอา กว้าง 80 กิโลเมตรซึ่งอาจจะลึกไม่ต่ำกว่าสองเท่าของความลึกของหลุมอุกกาบาตแพน[2] อมัลเทียมีภูเขา 2 แห่ง ชื่อ Mons Lyctas และ Mons Ida ซึ่งมีความสูงถึง 20 กิโลเมตร[2]

จากรูปร่างที่ไร้รูปทรงและขนาดที่ใหญ่ของอมัลเทียทำให้ในอดีตได้มีการสรุปว่าอมัลเทียมีส่วนประกอบหลักเป็นของแข็งและคงตัว[7] ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าถ้าหากว่าส่วนประกอบหลักของดวงจันทร์เป็นน้ำแข็งหรือสสารอ่อนอื่น ๆ ส่วนประกอบเหล่านี้ควรจะถูกแรงดึงดูดของดวงจันทร์เองดึงออกจนกลายเป็นรูปทรงกลมมากกว่ารูปร่างดังเช่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในวันที่ 5 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ยานอวกาศกาลิเลโอได้บินผ่านในระยะห่างต่ำกว่า 160 กิโลเมตรจากอมัลเทีย และระยะทางที่เบี่ยงเบนของวงโคจรของอมัลเทียจะใช้ในการคำนวณหามวลของดวงจันทร์ (ปริมาตรของดวงจันทร์ได้คำนวณไว้ก่อนหน้านี้จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายที่มีทั้งหมด คาดว่าจะมีความผิดพลาดไม่เกิน 10%) [2] ในที่สุดเราก็สามารถหาความหนาแน่นของอมัลเทียได้ 0.86 กรัม ต่อ ลูกบาศก์เซนติเมตร[3][16] ดังนั้นส่วนประกอบหลักของอมัลเทียจะต้องเป็นน้ำแข็งหรือโครงสร้างของดวงจันทร์ต้องเป็นโพรงหรือรูพรุน หรือโครงสร้างหรือส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ผสมผสานกัน ในการวัดเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกล้องโทรทรรศน์ซูบารุได้ชี้ว่าดวงจันทร์ประกอบด้วยน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบหลัก[17] ซึ่งดวงจันทร์ไม่สามารถก่อตัวขึ้นได้ที่ตำแหน่งปัจจุบัน เนื่องจากดาวพฤหัสบดีในยุคก่อกำเนิดจะมีความร้อนสูงมาก ซึ่งจะละลายดวงจันทร์ก่อนที่ดวงจันทร์จะก่อตัวขึ้นมาได้ ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงที่ดวงจันทร์จะก่อตัวในวงโคจรที่ห่างไกลจากดาวพฤหัสบดี หรืออาจจะเป็นวัตถุที่พลัดหลงเข้ามาในระบบสุริยะและถูกดาวพฤหัสบดีจับยึดไว้[3] เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีภาพถ่ายจากยานในขณะที่บินผ่านเนื่องจากเกิดความเสียหายของกล้องถ่ายภาพของยานกาลิเลโอจากการแผ่รังสี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 และภาพถ่ายอื่น ๆ ที่ได้มีความละเอียดต่ำ

อมัลเทียแผ่ความร้อนออกมามากกว่าที่รับจากดวงอาทิตย์เล็กน้อยซึ่งอาจจะเกิดจากอิทธิพลฟลักซ์ความร้อนของดาวพฤหัส (<9 เคลวิน) แสงแดงซึ่งสะท้อนจากดาวพฤหัสบดี (<5 K) และการโจมตีโดยอนุภาค (<2 K) [14] ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ไอโอถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากต่างสาเหตุกัน

ชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์

[แก้]

มีสถานที่อยู่ 4 ที่ซึ่งได้มีการตั้งชื่อบนอมัลเทีย ได้แก่หลุมอุกกาบาต 2 หลุมและพื้นที่สว่าง (faculae) [18]ซึ่งเชื่อว่าเป็นภูเขา พื้นที่สว่างนี้ตั้งอยู่บนขอบของสันเขาด้านตรงข้ามดาวพฤหัสของอมัลเทีย[2]

ชื่อสถานที่ ตั้งชื่อตาม
แพน (หลุมอุตกาบาต) แพน เทพเจ้าของกรีก
ไกอา (หลุมอุตกาบาต) ไกอา เทพเจ้าของกรีก
Lyctos Facula Lyctos ครีต
Ida Facula Mount Ida ครีต

ความสัมพันธ์กับวงแหวนของดาวพฤหัสบดี

[แก้]

เนื่องด้วยความหนาแน่นที่ต่ำมากและรูปร่างที่ไร้รูปทรงของดวงจันทร์ทำให้เกิดความเร็วหลุดพ้น ณ จุดใด ๆ บนพื้นผิวของอมัลเทียมีค่าไม่เกิน 1 เมตร ต่อ วินาที ซึ่งเป็นค่าที่ห่างไกลจากค่าความเร็วหลุดพ้นของดาวพฤหัสบดีอย่างมาก ที่ความเร็วหลุดพ้นต่ำขนาดนี้แม้แต่ฝุ่นก็สามารถหลุดออกจากดวงจันทร์ได้โดยง่ายแม้เพียงการพุ่งชนของอุกกาบาตขนาดไมโคร ซึ่งฝุ่นที่หลุดออกจากผิวดวงจันทร์นี่เองที่ได้รวมตัวและก่อเกิดเป็นชั้นวงแหวนเบาบางอมัลเทีย[7]

ในระหว่างที่ยานกาลิเลโอบินผ่านอมัลเทีย ยานกาลิเลโอได้ตรวจพบสัญญาณกระพริบ 9 ครั้งซึ่งน่าจะเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวงโคจรของอมัลเทีย เนื่องจากสัญญาณตรวจพบได้จากจุดเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถวัดระยะทางที่แท้จริงได้ ดวงจันทร์ขนาดเล็กอาจมีขนาดได้ตั้งแต่ก้อนกรวดหรือสนามกีฬา ยังไม่เป็นที่ทราบถึงต้นกำเนิดของดวงจันทร์ขนาดเล็กเหล่านี้ บางทีอาจถูกจับไว้โดยแรงดึงดูดในตำแหน่งวงโคจรปัจจุบัน หรืออาจเป็นชิ้นส่วนที่หลุดออกมาเมื่อดวงจันทร์ถูกอุกกาบาตชน ในวงโคจรต่อไปซึ่งเป็นวงโคจรสุดท้ายของยานกาลิเลโอ ยานได้ตรวจพบดวงจันทร์ขนาดเล็กอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในครั้งนี้อมัลเทียได้โคจรอยู่ที่อีกด้านของดางพฤหัสบดี ดังนั้นจึงน่าจะเป็นไปได้ที่วัตถุเหล่านี้จะก่อตัวขึ้นเป็นวงแหวนรอบดาวพฤหัสบดีซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวงโคจรของอมัลเทีย[19][20][21][22]

ทิวทัศน์ของอมัลเทียและทิวทัศน์ที่มองจากอมัลเทีย

[แก้]
การจำลองวิวของท้องฟ้าเมื่อมองจากอมัลเทีย

จากพื้นผิวของดาวพฤหัสบดีหรือเหนือชั้นเมฆของดาวพฤหสับดี อมัลเทียจะปรากฏอย่างสุกสว่างด้วยค่าความส่องสว่างปรากฏที่ – 4.7[b] ซึ่งเป็นความสว่างระดับเดียวกับดาวศุกร์เมื่อมองจากโลก แต่อมัลเทียปรากฏขนาดเพียง 8 ลิปดา (arcminutes) [c] ซึ่งมีขนาดเล็กจนสังเกตได้ยาก คาบการโคจรของอมัลเทียยาวกว่าวันของดาวพฤหัสบดีเพียงเล็กน้อย (สำหรับกรณีนี้ประมาณ 20%) ซึ่งหมายความว่าอมัลเทียเดินทางข้ามขอบฟ้าของดาวพฤหัสบดีอย่างช้า ๆ เวลาตั้งแต่ดวงจันทร์อมัลเทียขึ้นถึงดวงจันทร์อมัลเทียลับขอบฟ้าจะมากกว่า 29 ชั่วโมง[23]จากพื้นผิวของอมัลเทียดาวพฤหัสบดีปรากฏขนาดใหญ่มากประมาณ 46 องศา[c] อมัลเทียมีขนาดใหญ่ประมาณ 92 เท่าของจันทร์เต็มดวงเมื่อมองจากโลกเพราะว่าการหมุนไปพร้อมกันกับดาวพฤหัสบดีจะปรากฏคงที่บนท้องฟ้าไม่เคลื่อนที่ไปไหน และจะไม่สามารถมองเห็นได้จากอีกด้านของอมัลเทีย ดวงอาทิตย์ถูกดาวพฤหัสบดีบดบังราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งทุก ๆ ครั้งที่โคจรครบหนึ่งรอบ และด้วยคาบการโคจรของอมัลเทียที่สั้นมากทำให้มีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่าหกชั่วโมง แม้ว่าดาวพฤหัสบดีจะปรากฏความสว่างมากกว่า 900 เท่าเมื่อเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงที่มองจากโลก แต่ก็กระจายไปบนพื้นที่มากกว่า 8500 เท่า ดังนั้น จึงไม่สว่างมากกว่าเมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่[b]

การสำรวจ

[แก้]

ในช่วง พ.ศ. 2522 – 2523 ยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 ได้ถ่ายภาพแรกของอมัลเทียซึ่งแสดงให้เห็นถึงพื้นผิวของอมัลเทีย[2] อมัลเทียยังได้รับการตรวจวัดแสงทั้งในย่านความถี่ที่มองเห็นได้และย่านอินฟราเรดและตรวจวัดอุณหภูมิของพื้นผิว[14] ต่อมายานกาลิเลโอได้ถ่ายภาพพื้นผิวของอมัลเทียโดยสมบูรณ์ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ยานกาลิเลโอได้เข้าใกล้อมัลเทียที่ความสูงประมาณ 160-170 กม. ยานได้ตรวจวัดมวลของอมัลเทียอย่างแม่นยำและยานกาลิเลโอได้อาศัยแรงดึงดูดของอมัลเทียในการเปลี่ยนวงโคจรเพื่อพุ่งเข้าไปยังดาวพฤหัสบดีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 อันเป็นการสิ้นสุดภารกิจของยานกาลิเลโอ[3] ใน พ.ศ. 2549 วงโคจรของอมัลเทียได้รับการตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้งโดยยานนิวฮอไรซันส์

ในนวนิยาย

[แก้]

อมัลเทียปรากฏเป็นฉากในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์หลายชิ้น รวมทั้งงานของอาร์เธอร์ ซี. คลาร์กและเจมส์ บลิช

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 คำนวณบนพื้นฐานของพารามิเตอร์อื่น ๆ
  2. 2.0 2.1 2.2 คำนวณบนพื้นฐานของระยะทางที่รู้จักขนาดระยะเวลาและความส่องสว่างปรากฏที่มองเห็นได้จากโลก ความส่องสว่างปรากฏที่เห็นจากดาวพฤหัสบดี mj คำนวณจากความส่องสว่างปรากฏจากบนโลก mv โดยใช้สูตร mj=mv−log2.512 (Ij/Iv) ที่ซึ่ง Ij และ Iv มีความสว่างตามลำดับ (ดูที่ความส่องสว่างปรากฏ) ซึ่งมีขนาดตามกฎกำลังสองผกผัน สำหรับความส่องสว่างปรากฏดูที่ http://www.oarval.org/ClasSaten.htm และดาวพฤหัส
  3. 3.0 3.1 คำนวณจากขนาดที่รู้จักและระยะทางของวัตถุ โดยใช้สูตร 2*arcsin (Rb/Ro) โดยที่ Rb คือรัศมีของวัตถุและ Ro คือรัศมีของวงโคจรของอมัลเทียหรือระยะหาวจากผิวหน้าดาวพฤหัสถึงอมัลเทีย

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Cooper Murray et al. 2006.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 Thomas Burns et al. 1998.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Anderson Johnson et al. 2005.
  4. 4.0 4.1 4.2 Simonelli Rossier et al. 2000.
  5. Observatorio ARVAL.
  6. 6.0 6.1 Barnard 1892.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Burns Simonelli et al. 2004.
  8. Lick Observatory (1894). A Brief Account of the Lick Observatory of the University of California. The University Press. p. 7–.
  9. Bakich M. E. (2000). The Cambridge Planetary Handbook. Cambridge University Press. pp. 220–221. ISBN 9780521632805.
  10. "Planet and Satellite Names and Discoverers". Gazetteer of Planetary Nomenclature. International Astronomical Union (IAU) Working Group for Planetary System Nomenclature (WGPSN). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-21. สืบค้นเมื่อ 2014-10-08.
  11. Blunck J. (2010). Solar System Moons: Discovery and Mythology (PDF). Springer. pp. 9–15. Bibcode:2010ssm..book.....B. doi:10.1007/978-3-540-68853-2. ISBN 978-3-540-68852-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-04-27.
  12. Flammarion C.; Kowal C.; Blunck J. (1975-10-07). "Satellites of Jupiter". IAU Circular. Central Bureau for Astronomical Telegrams. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 2014-10-17. (บิบโค้ด[1])
  13. Flammarion 1893.
  14. 14.0 14.1 14.2 Simonelli 1983.
  15. Burns Showalter et al. 1999.
  16. Swiss Cheese Moon.
  17. Takato Bus et al. 2004.
  18. USGS: Jupiter: Amalthea.
  19. Fieseler P. D.; Adams O. W.; Vandermey N.; Theilig E. E.; Schimmels K. A.; Lewis G. D.; Ardalan S. M.; Alexander C. J. (2004). "The Galileo star scanner observations at Amalthea". Icarus. 169 (2): 390–401. Bibcode:2004Icar..169..390F. doi:10.1016/j.icarus.2004.01.012.
  20. "Another Find for Galileo". Jet Propulsion Laboratory. 9 April 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-11-04. สืบค้นเมื่อ 2012-03-27. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  21. Fieseler P. D.; Ardalan S. M. (2003-04-04). "Objects near จูปิเตอร์ 5 (Amalthea)". IAU Circular. Central Bureau for Astronomical Telegrams. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-02. สืบค้นเมื่อ 2014-10-12. (บิบโค้ด[2])
  22. Emily Lakdawalla (2013-05-17). "A serendipitous observation of tiny rocks in Jupiter's orbit by Galileo". The Planetary Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-14. สืบค้นเมื่อ 2014-10-14.
  23. Ley, Willy (July 1968). "Interplanetary Communications". For Your Information. Galaxy Science Fiction. pp. 116–124.

บรรณานุกรม

[แก้]