อำเภอฝาง
อำเภอฝาง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Fang |
สถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขาง | |
คำขวัญ: เมืองพระเจ้าฝาง ดอยอ่างขางสูงซ้อน น้ำพุร้อน-เย็นลือเลื่อง เมืองเกษตรกรรม แหล่งวัฒนธรรมล้านนา ล้ำเลอค่าน้ำมันดิบ | |
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอฝาง | |
พิกัด: 19°55′8″N 99°12′49″E / 19.91889°N 99.21361°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 888.164 ตร.กม. (342.922 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 153,010 คน |
• ความหนาแน่น | 138.50 คน/ตร.กม. (358.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 50110, 50320 (เฉพาะตำบลแม่งอนและแม่ข่า) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5009 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอฝาง ถนนโชตนา ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50110 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ฝาง (ไทยถิ่นเหนือ: ᨺᩣ᩠ᨦ ()) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ประชากรมีทั้งชาวไทยพื้นราบและชาวไทยภูเขา อำเภอฝางเป็นอำเภอศูนย์กลางความเจริญในเขตเชียงใหม่ตอนบน มีอำเภอบริวารคือ อำเภอแม่อาย และ อำเภอไชยปราการ มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสามของจังหวัดเชียงใหม่ รองจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ และ อำเภอสันทราย[1] มีทั้งประชากรจริงและประชากรแฝง อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปจังหวัดเชียงรายได้อย่างสะดวกหลายช่องทาง ทำให้อำเภอฝางจะได้รับความเจริญจากจังหวัดเชียงรายจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจีนตอนใต้-อินโดจีนในอนาคต
ในปี พ.ศ. 2552 อำเภอฝางได้รับการเสนอเพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดฝาง[2] โดยการรวมเอาอำเภอใกล้เคียงเข้าด้วยกัน[3][4] ซึ่งในระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร[5]
ประวัติ
[แก้]อำเภอฝาง หรือชื่อเดิม "อำเภอเมืองฝาง" เคยเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ต่อมาเมื่อเห็นว่าเมื่อติดต่อราชการกับจังหวัดเชียงราย ต้องเดินทางถึง 8-9 วัน แต่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลาเพียง 5-6 วัน จึงยกอำเภอเมืองฝาง มาขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ปีเดียวกัน[6]
ภูมิศาสตร์
[แก้]ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอฝางตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐฉาน (ประเทศพม่า) และอำเภอแม่อาย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่อาย
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่สรวย (จังหวัดเชียงราย) และอำเภอไชยปราการ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับรัฐฉาน (ประเทศพม่า)
สภาพภูมิอากาศ
[แก้]- มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 25 องศา มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 10-19 องศา ส่วนอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ประมาณ 39 องศา
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอฝางแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 8 ตำบล 119 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2566)[7] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2566)[7] | |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | เวียง | Wiang | 20 | 28,383 | 8,435 19,948 |
(ทต. เวียงฝาง) (อบต. เวียง) |
2. | ม่อนปิ่น | Mon Pin | 15 | 21,490 | 21,490 | (อบต. ม่อนปิ่น) |
3. | แม่งอน | Mae Ngon | 15 | 16,789 | 16,789 | (อบต. แม่งอน) |
4. | แม่สูน | Mae Sun | 17 | 14,486 | 14,486 | (อบต. แม่สูน) |
5. | สันทราย | San Sai | 17 | 11,061 | 11,061 | (ทต. สันทราย) |
6. | แม่คะ | Mae Kha | 15 | 15,006 | 15,006 | (อบต. แม่คะ) |
7. | แม่ข่า | Mae Kha | 13 | 9,463 | 1,829 7,634 |
(ทต. บ้านแม่ข่า) (ทต. แม่ข่า) |
8. | โป่งน้ำร้อน | Pong Nam Ron | 7 | 6,332 | 6,332 | (อบต. โป่งน้ำร้อน) |
รวม | 119 | 123,010 | 28,959 (เทศบาล) 94,051 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอฝางประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลเวียงฝาง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเวียง
- เทศบาลตำบลบ้านแม่ข่า ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแม่ข่า
- เทศบาลตำบลแม่ข่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ข่า (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลบ้านแม่ข่า)
- เทศบาลตำบลสันทราย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสันทรายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเวียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเวียง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลเวียงฝาง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลม่อนปิ่นทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่งอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่งอนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สูน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สูนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่คะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่คะทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อนทั้งตำบล
สถานที่ราชการที่สำคัญ
[แก้]
|
|
ประวัติศาสตร์
[แก้]เดิมอำเภอฝางเป็นที่ตั้งของเมืองฝาง มีอายุนับพันปีในตำนานโยนกกล่าวไว้ว่า เมืองฝาง ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1184 โดยเจ้าลาวจังกราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลาวจักราช เป็นหัวเมืองทางตอนเหนือของอาณาจักรล้านนา พญามังรายเคยเสด็จมาปกครองเมืองฝางและประทับอยู่ที่เมืองนี้ (ก่อนหน้านั้นเมืองฝางอาจจะเป็นเมืองร้างหรือถูกพญามังรายเข้ายืดจากเจ้าเมืององค์ก่อนหรือไม่ยังไม่ทราบแน่ชัด) พระองค์ทรงเตรียมกำลังพลก่อนที่จะยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัย สร้างเวียงกุมกาม และสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839 เรียกสั้นๆ ว่า นครเชียงใหม่ต่อไป ดังนั้นเมืองฝางจึงเป็นเมืองโบราณที่มีอายุนับพันปี ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ กำแพงเมืองและคูเมือง แบบเดียวกับในเมืองเชียงใหม่ [8]
อำเภอฝางเคยเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย แต่ถูกโอนมาสังกัดจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 ด้วยเหตุผลเรื่องการคมนาคมและการติดต่อราชการ อำเภอฝางได้มีการสร้างที่ว่าการอำเภอฝางขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2488 ต่อมาได้มีการแยกกิ่งอำเภอออกคือ กิ่งอำเภอแม่อายในปีพ.ศ. 2510 ก่อนที่ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอแม่อายในปีพ.ศ. 2516 ต่อมาได้แยกกิ่งอำเภออีกคือกิ่งอำเภอไชยปราการในปีพ.ศ. 2531 และได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอไชยปราการในปีพ.ศ. 2537
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
[แก้]ดอยอ่างขาง
[แก้]ดอยอ่างขาง เป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งมีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่หาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง โดยมีชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง จีนฮ่อ และไทยใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแปลงทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ ท้อ บ๊วย พลัม ฯลฯ พืชผักเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ เช่น แคร์รอต ผักสลัดต่างๆ สวนสมุนไพร แปลงดอกไม้ เช่น คาร์เนชั่น กุหลาบ แอสเตอร์ เบญจมาศ ฯลฯ โรงบรรจุผลไม้เพื่อส่งจำหน่ายและสหกรณ์ของโครงการ ซึ่งจำหน่ายผลิตผลที่ปลูกในบริเวณโครงการให้แก่นักท่องเที่ยวตามฤดูกาล
ดอยอ่างขาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ 137 กม. แยกซ้ายเข้าไปอีก 25 กม. ดอยอ่างขางเป็นเทือกดอยสูงติดกับสันเขาพรมแดนประเทศพม่า จุดเด่นที่นักท่องเที่ยวไปเยือนดอยอ่างขางคือการไปเที่ยวชมดอกไม้เมืองหนาวภายโครงการฯ สถานีเกษตรดอยอ่างขางได้รับการจัดตั้งเมื่อปี 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อวิจัยพืชเมืองหนาวเพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นและหยุดการทำลายป่า ดอยอ่างขางมีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบในหุบเขาลักษณะเหมือนท้องกะทะหรือเหมือนอ่าง อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,400 เมตร ภายในโครงการมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาก เช่น แปลงปลูกไม้ดอกไม้ประดับกลางแจ้ง แปลงปลูกไม้ในร่ม แปลงทดลองกุหลาบ แปลงปลูกผัก แปลงปลูกผักในร่ม สวนท้อ สวนบ๊วย ป่าซากุระ ป่าเมเปิ้ล พระตำหนักดอยอ่างขาง
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)
[แก้]พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการเผยแพร่พระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการลดพื้นที่ปลูกพืชเสพติดโดยสันติวิธี และพระราชวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา รวมทั้ง วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นที่สูงภาคเหนือ อย่างรอบด้าน ครบวงจร และยั่งยืน ของพระองค์
เนื่องจาก พิพิธภัณฑ์ฯ มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (living SITE MUSEUM) สถานที่ที่ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ จึงประกอบไปด้วย
- อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสะสม และเก็บรวบรวมข้อมูล อันเกี่ยวข้องกับมูลนิธิโครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) และ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
- อาคารโรงงานหลวงฯ เป็นพื้นที่จัดแสดงสายการผลิตและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ "ดอยคำ" เช่น ลิ้นจี่กระป๋อง สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง น้ำดื่มบริสุทธิ์ เสาวรสแช่แข็ง และบ๊วยดอง เป็นต้น รวมทั้ง แปลงสาธิตวัตถุดิบ
- ชุมชนบ้านยาง อดีตเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวยาง (ปะกากะญอ) แต่ถูกชาวจีนยูนนานที่อพยพหนีภัยสงครามการเมืองจากประเทศจีน เข้ามาลงหลักปักฐานพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านวัฒนธรรม ความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา รวมทั้ง การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุทกภัยน้ำป่า
นอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของแนวทางการพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีปรัชญาที่ประธานมูลนิธิโครงการหลวง (หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี) สรุปความจากแนวพระราชดำริที่ว่า ผลสัมฤทธิ์ของมูลนิธิโครงการหลวงคือการ "ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก" นั้นหมายความว่าอย่างไร
พิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งอยู่ที่ตีนดอยอ่างขาง แยกจากทางขึ้นสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ไปประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเที่ยวชมประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังมีคำบรรยายภาพและนิทรรศการ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย
อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก
[แก้]อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตท้องที่ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าและของป่าหลายชนิด มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงาม เช่น ถ้ำห้วยบอน บ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ และสามารถเดินทางเข้าไปเที่ยวได้โดยสะดวกสบาย มีเนื้อที่ประมาณ 380 ตารางกิโลเมตร หรือ 237,500 ไร่ ได้ประกาศจัดตั้งเป็น "อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง" เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543
โป่งน้ำร้อนฝาง
[แก้]โป่งน้ำร้อนฝางเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากความร้อนใต้ดิน มีไอร้อนคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำประมาณ 40-88 องศาเซสเซียล มีจำนวนมากมายหลายบ่อในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ (บ่อใหญ่มีไอน้ำร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง 40-50 เมตร) อุทยานแห่งชาติได้จัดบริการห้องอาบน้ำแร่และอบไอน้ำ บ่อน้ำร้อนจะอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเล็กน้อย และทางอุทยานแห่งชาติได้จัดให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้นเขาผ่านป่าเบญจพรรณมาถึงบ่อน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร
น้ำตกโป่งน้ำดัง
[แก้]ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็กที่สวยงามมีการไหลของน้ำที่สม่ำเสมอ ชั้นบนสุดมีความสูงกว่า 10 เมตร บริเวณน้ำตกมีถ้ำขนาดเล็กๆ พอให้คนเข้าไปนั่งเล่นได้ 3-4 คน เพดานถ้ำมีน้ำหยดตลอดเวลาและเกิดเป็นหินงอกเล็กๆ ไปทั่ว ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มฝ.3 (น้ำตกโป่งน้ำดัง) บ้านแม่สูนน้อย ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง ต้องเดินตามเส้นทางเดินป่าไปสู่น้ำตก ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ระหว่างทางผ่านป่าดิบแล้งที่ร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ บางช่วงต้องเดินข้ามลำธารที่มีน้ำใสไหลเย็น
กิจกรรม - ชมพรรณไม้ - ดูผีเสื้อ - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก
ถ้ำห้วยบอน
[แก้]ถ้ำห้วยบอนตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก มีความลึกจากปากถ้ำหนึ่งถึงอีกปากถ้ำหนึ่งประมาณ 324 เมตร กว้างประมาณ 20-30 เมตร ภายในถ้ำไม่มีจุดอันตรายต่อผู้เข้าชม ประมาณกลางถ้ำจะพบโถงถ้ำใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 40-50 คน สภาพถ้ำเต็มไปด้วยเสาหินและหินงอกหินย้อยขนาดต่างๆ และบริเวณใกล้เคียงมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยประมาณ 10 ถ้ำ อยู่ห่างจากอำเภอฝางประมาณ 12 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยทางเท้าจากบ่อน้ำร้อนระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
วัดเจดีย์งาม
[แก้]วัดเจดีย์งามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2021 เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2475 ท่านพระครูโสภณเจติยาราม อดีตเจ้าคณะอำเภอฝาง ได้ทำการบูรณะพัฒนาขึ้นมาเป็นวัด เดิมชื่อว่า “วัดหัวกาด” ต่อมาชื่อว่า “วัดหนองไผ่” (จากคำบอกเล่าถวายของพระเดชพระคุณพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสำเภอ อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่) และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดเจดีย์งาม” ตามองค์พระธาตุเจดีย์งาม ได้รับพระราชทานพัทธสีมา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 เขตพัทธสีมา กว้าง 60 เมตร ยาว 80 เมตร และเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2541 ได้มีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้วัดเจดีย์งามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีความกว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร ประกาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
พุทธศักราช 2536 ได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นมา 1 หลังโดยทำการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยพระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วงวรปุญญมหาเถระ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือได้เมตตาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ซึ่งเป็นอุโบสถหลังนี้สร้างด้วยศิลปะแบบไทยล้านนาผสมศิลปะแบบภาคกลาง โดยใช้ไม้สักแกะสลักลงรักปิดทองผนังด้านนอกอุโบสถเขียนลายรดน้ำ ประกอบเป็นภาพลายรดน้ำ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ส่วนผนังด้านในอุโบสถแกะสลักเป็นภาพทศชาติ และมหาชาติทำการลงรักปิดทอง และเขียนภาพไตรภูมิพระร่วง ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวล้านนาในอดีต และวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมชาวไทเขินเมืองเชียงตุง พร้อมกันนี้ยังได้เขียนภาพประวัติของพ่อขุนเม็งรายมหาราชผู้ปกครองเมืองฝางไว้ในอุโบสถด้วย
อุโบสถหลังนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 7 ปี (2536-2542) จึงจะแล้วเสร็จ โดยมีช่างผู้ชำนาญการในการแกะสลักไม้สักทองจำนวน 5 ชุด สิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 22 ล้าน 5 แสนบาท
อนุสาวรีย์พระเจ้าฝางอุดมสิน-พระนางสามผิว
[แก้]มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ พระเจ้าฝางอุดม (อภิปราย) |
มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ พระนางสามผิว (อภิปราย) |
อนุสาวรีย์ พระเจ้าฝางอุดมสิน – พระนางสามผิว (บ่อน้ำซาววา) ตั้งอยู่ที่ สวนสุขภาพ หน้าวัดพระบาทอุดม ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติความเป็นมา
ตามหลักฐานที่ค้นพบหลายๆแห่งระบุว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน พระนามเดินชื่อ “พระยาเชียงแสน” เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าเมืองเชียงแสน ได้มาปกครองเมืองฝาง ในปี พ.ศ. 2172 ศักราชได้ 99 ตั๋ว เดือนแปดแรม 13 ค่ำ พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระชายาซึ่งมีพระนามว่า “พระนางสามผิว” ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าเมืองล้านช้าง (เวียงจันทร์) ซึ่งมีพระศิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่าพระองค์มีผิวพระวรกายถึงสามผิว ในแต่ละวันคือตอนเช้าจะมีผิวขาวดังปุยฝ้าย ในตอนบ่ายจะมีสีแดงดังลูกตำลึงสุก และในตอนเย็นผิวพระวรกายของพระนางจะเป็นสีชมพูดุจดอกปุณฑริก(ดอกบัวขาบ)
พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว มีพระราชธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า “พระนางมัลลิกา” ในขณะที่พระองค์มาปกครองเมืองฝางนั้น เมืองฝางยังคงเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าฝางจึงทรงมีความคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองฝาง โดยให้ส้องสุมผู้คนและได้ตระเตรียมอาวุธเสบียงกรัง โดยไม่ยอมส่งส่วยและขัดขืนคำสั่งของพม่า ซึ่งทางพม่าได้ล่วงรู้ว่าเมืองฝางคิดจะแข้งข้อต่อตน จึงได้ยกกองทัพมาปราบ โดยกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะพระนามว่า “พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา” เป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพเข้าตีเมืองฝางในปี พ.ศ. 2176 ศักราชได้ 955 ตั๋ว พระเจ้าฝางนำกองทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาเข้าตีเมืองไม่ได้
พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่โดยนำกำลังทหารล้อมเมืองไว้ พร้อมทั้งตั้งค่ายอยู่บนเนินด้านทิศเหนือของเมืองฝาง คือที่ตั้งศาลจังหวัดฝาง เรือนจำจังหวัดฝาง สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง หรือที่เราเรียกว่า “เวียงสุทโธ” ในปัจจุบันนี้ แล้วสั่งให้ทหารระดมยิงธนูไฟ (ปืนใหญ่) เข้าใส่เมืองฝางทำให้บ้านเมืองฝางเกิดระส่ำระส่าย ประชาชนเสียขวัญและทหารล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ทั้งสองพระองค์ทรงคิดว่าสาเหตุของการเกิดศึกในครั้งนี้ ต้นเหตุนั้นเกิดจากพระองค์ทั้งสองแท้ๆที่คิดจะกอบกู้อิสรภาพ ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนและการกระทำครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จ ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องผู้คนเมืองฝางให้พ้นจากความอดอยากและการถูกเข่นฆ่าจากกองทัพของพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา
และในคืนนั้นคือวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 เหนือปี พ.ศ. 2180 ศักราชได้ 999 ตั๋ว พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระนางสามผิว จึงได้สละพระชนม์ชีพ ด้วยการกระโดดบ่อน้ำซาววา และในตอนรุ่งสางของวันนั้น กองทัพพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาก็ตีและบุกเข้าทางกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองฝางได้สำเร็จ เมื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้ออกคำสั่งมิให้ทหารของพระองค์ ทำร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองฝางอีก และได้ยกกองทัพกลับไปกรุงอังวะ ประเทศพม่า โดยมิได้ยึดครองเมืองฝางแต่ประการใด
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะลูกเสือชาวบ้านพร้อมด้วยผู้ที่เคารพนับถือในสองพระองค์ท่าน จึงได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิวขึ้น ณ ด้านหน้าบ่อน้ำซาววา ในปี พ.ศ. 2522 โดยก่อสร้างด้วยปูน ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่โดยให้ทำการหล่อด้วยโหละ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2540 เพื่อจะได้เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนตลอดปี
สถานที่อื่นๆ
[แก้]- วัดต้นรุง หรือ จองออก ศิลปะชาวไต
- วัดจองแป้น หรือ จองตก ศิลปะชาวไต
- วัดพระธาตุเฉลิมพระเกียรติ ตำบลม่อนปิ่น
- ศาลหลักเมือง
- ศาลเจ้าปุงเถ่ากงเวียงฝาง
สถานศึกษาในอำเภอฝาง
[แก้]- วิทยาลัยการอาชีพฝาง
- โรงเรียนฝางชนูปถัมภ์
- โรงเรียนรังษีวิทยา
- โรงเรียนฉือจี้เชียงใหม่
- โรงเรียนบ้านเวียงฝาง
- โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา
- โรงเรียนสายอักษร
- วิทยาลัยอาชีวศึกษานอร์ทฝาง
ธนาคาร
[แก้]มี 9 ธนาคาร และอีก 1 สาขาย่อย ได้แก่
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกรุงเทพ มี 2 สาขาคือ สาขาฝาง และสาขาย่อยโลตัส ฝาง
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารทหารไทยธนชาต
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
[แก้]อำเภอฝางถือว่าเป็นอำเภอที่มีความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากมาย เช่น ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก โป่งน้ำร้อน เป็นต้น อำเภอฝางยังเป็นอำเภอที่ปลูกส้มมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นต้นกำเนิดของ ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มพันธุ์ใหม่ที่มีรสชาติดี จนทำให้ส้มกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของอำเภอฝาง และสวนส้มยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อำเภอฝางยังเป็นแหล่งที่ค้นพบบ่อน้ำมันดิบแห่งแรกของประเทศไทย มีการขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาใช้เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และพิพิธภัณฑ์ปิโตรเลียม ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ด้านปิโตรเลียมและพลังงานอื่น ๆ ของกรมการพลังงานทหาร ณ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ อำเภอฝาง ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- น้ำมันดิบ ปิโตรเลียม มีการสำรวจขุดเจาะและเก็บกลั่นน้ำมันได้วันละ 1,200 บาเรล โดย กรมการพลังงานทหารกระทรวงกลาโหม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลแม่คะ สำหรับแหล่งน้ำมันที่ขุดได้อยู่ในเขต ตำบลสันทราย ตำบลแม่สูน และตำบลแม่คะ อำเภอฝาง
- ป่าไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ดอยผ้าห่มปก ป่าสงวนแห่งชาติแม่หลักหมื่น และป่าสงวนแห่งชาติแม่สูน ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ซึ่งมีพันธุ์ไม้ต่างๆที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ลำดวนดง ประดู่ ทะโล้ จำปีป่า ฯลฯ
- บ่อน้ำพุร้อนฝาง ตั้งอยู่ ณ ตำบลโป่งน้ำร้อน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ นอกจากนี้แล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่น่าท่องเที่ยวได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ
- น้ำรู แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ตำบลม่อนปิ่น ต้นน้ำเกิดจากธารน้ำที่ดอยอ่างขาง เป็นน้ำที่ผุดขึ้นมาตามธรรมชาติเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
- น้ำตกโป่งน้ำดัง ต.แม่สูน ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติโป่งน้ำดัง มีธารน้ำที่สวยงามมาก
- อุทยานแห่งชาติแม่เผอะ ห้วยรักษาต้นน้ำดอยอ่างขาง มีพรรณไม้หลากหลายเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิทยาเป็นอย่างมาก ป่าไม้มีความสมบูรณ์สูง
การเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
[แก้]- ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง ลิ้นจี่ หอมหัวใหญ่ ข้าว บ๊วย ท้อ สาลี่ องุ่น สตรอเบอรี่ พุทธานม ฯลฯ
- ชื่อแหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ - แม่น้ำฝาง - ห้วยแม่ใจ - ลำน้ำแม่มาว - ลำน้ำแม่เผอะ - เขื่อนแม่มาว - เขื่อนบ้านห้วยบอน - ห้วยแม่งอน ฯ
- โรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่
- โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรฝาง ผลิตผัก และ ผลไม้บรรจุกระป๋อง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 17 ตำบลเวียง
- โรงานเอราวัณฟู๊ด ผลิตผัก และผลไม้กระป๋อง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลแม่งอน
- โรงงานโครงการหลวง ผลิตสินค้าแปรรูปตรา ดอยคำ ของโครงการหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 12 ตำบลแม่งอน
- โรงงานเคลือบไขส้มธนาธร เป็นโรงงานทำความสะอาดและเคลือบไขส้มสายน้ำผึ้งของบริษัท ธนาธร ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่สูน
- โรงงานอาหารสำเร็จรูปสหปราจีน ผลิตอาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่คะ
การคมนาคม
[แก้]อำเภอฝางตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่บนถนนสายเชียงใหม่–ฝาง (ถนนโชตนา) ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 154 กิโลเมตร การคมนาคมของอำเภอฝาง ทางบก มีทางหลวงแผ่นดินที่สำคัญ คือ
- มีทางแผ่นดินหมายเลข 107 (ถนนโชตนา) ระยะทางถึงไชยปราการประมาณ 24 กิโลเมตร
- ทางหลวงหมายเลข 109 ระยะทางจากฝางถึงแม่สรวย ประมาณ 67 กิโลเมตร
- ทางหลวงหมายเลข 1089 ระยะทางจากฝางถึงแม่อาย ประมาณ 13 กิโลเมตร
- ทางหลวงหมายเลข 1249 ระยะทางจากปากทางอ่างขางถึงอรุโณทัย ประมาณ 65 กิโลเมตร
- ทางหลวงหมายเลข 107 ถึงทางเลี่ยงเมืองฝาง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://chiangmai.nso.go.th/images/s-101.pdf
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-21. สืบค้นเมื่อ 2010-11-30.
- ↑ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9530000167264[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-05. สืบค้นเมื่อ 2010-11-30.
- ↑ ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. ...
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โอนอำเภอเมืองฝาง จังหวัดเชียงรายไปขึ้นจังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ง): 203–204. 26 เมษายน 2468.
- ↑ 7.0 7.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-22. สืบค้นเมื่อ 2010-11-27.
ก่อนหน้า | อำเภอฝาง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เวียงเชียงราย | เมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 1818–1824) |
เวียงกุมกาม |