อำเภอลี้
อำเภอลี้ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Li |
คำขวัญ: องค์พระธาตุสูงค่า ตระการตาอุทยานแม่ปิง ยอยศยิ่งพระนางจามรี ประเพณีงามล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดนักบุญล้านนา | |
แผนที่จังหวัดลำพูน เน้นอำเภอลี้ | |
พิกัด: 17°48′12″N 98°57′0″E / 17.80333°N 98.95000°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ลำพูน |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 1,701.99 ตร.กม. (657.14 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 69,270 คน |
• ความหนาแน่น | 40.70 คน/ตร.กม. (105.4 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 51110 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5104 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอลี้ เลขที่ 29 หมู่ที่ 4 ถนนลำพูน-ลี้ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ลี้ (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดลำพูน มีเนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัด เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และยังมีโบราณสถานหลายแห่งน่าเที่ยวชม เป็นอำเภอที่มีความเจริญอันดับที่ 2 รองจาก อำเภอเมืองลำพูน และพื้นที่ 1 ใน 3 เป็นพื้นที่เดิมของอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก (ตำบลก้อ เนื้อที่ 531.9 ตารางกิโลเมตร)[1]
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอลี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอฮอด (จังหวัดเชียงใหม่) อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอทุ่งหัวช้าง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอทุ่งหัวช้าง และอำเภอเถิน (จังหวัดลำปาง)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเถิน อำเภอแม่พริก (จังหวัดลำปาง) และอำเภอสามเงา (จังหวัดตาก)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสามเงา (จังหวัดตาก) และอำเภอดอยเต่า (จังหวัดเชียงใหม่)
ประวัติ
[แก้]อำเภอลี้ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเก่าแก่ โดยได้ก่อตั้งเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ก่อนปี พ.ศ. 1800 มีพระนางจามะรี เป็นราชธิดาของเจ้าเมืองหลวงพระบาง เป็นหัวหน้าในการอพยพผู้คนหลบหนีลี้ภัยข้าศึกและโรคระบาดจากเมืองหลวงพระบางลงมายังทางทิศใต้สู่แคว้นล้านนา ได้สร้างเมือง ณ บริเวณวัดพระธาตุดวงเดียว เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเหมาะสม มีสายน้ำ 3 สายมาบรรจบกัน ปัจจุบันเรียกว่า "แม่ลี้" "แม่แต๊ะ" และ "แม่ไป" จึงตั้งชื่อเมืองว่า เมืองลี้ เมืองลี้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา จวบจนทางกรุงสุโขทัยได้ยกทัพมาตี โดยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินไปยังกรุงสุโขทัย เมืองลี้จึงกลายเป็นเมืองร้าง
ต่อมามีผู้คนอพยพมาจากเมืองเชียงใหม่ ลำพูน เถิน และตาก เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยจนถึงกลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองลำพูนหรือนครหริภุญไชยได้แต่งตั้งเจ้าเมืองมาปกครองและตั้งเป็นเมืองลี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น อำเภอเมืองลี้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2460 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอลี้ โดยตั้งแต่ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอจนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว
บริเวณที่สร้างเมืองลี้ในอดีตปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานซากกำแพงเมืองให้เห็นบริเวณวัดพระธาตุดวงเดียว วัดพระธาตุห้าดวง วัดพระธาตุแท่นคำ วัดลี้หลวง วัดโปงกาง (ปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดร้าง) ซึ่งวัดดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณ 2 ข้างทางถนนลำพูน-ลี้ ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 15 ตำบลลี้
ภูมิศาสตร์
[แก้]อำเภอลี้มีพื้นที่กว้างขวางเกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,702.12 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่สูง ส่วนมากเป็นภูเขาต้นน้ำลำธารหรือลำห้วย แม่น้ำหรือลำห้วยเกือบทุกสายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำลี้ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่บ้านวังสะแกง เขตอำเภอเวียงหนองล่อง แม่น้ำลี้เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านจากทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือโดยผ่าน 4 อำเภอของจังหวัดลำพูน ได้แก่ อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอเวียงหนองล่อง แม่น้ำลี้จึงเปรียบเสมือนเส้นโลหิตสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตทั้ง 4 อำเภอ
สำหรับสภาพอากาศโดยทั่วไปมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ส่วนใหญ่อากาศเย็นสบาย ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็น
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอลี้แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 8 ตำบล 99 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2559)[2] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2559)[2] | |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | ลี้ | Li | 17 | 13,512 | 4,502 9,010 |
(ทต.วังดิน) (ทต.ลี้) |
2. | แม่ตืน | Mae Tuen | 17 | 11,127 | 3,470 7,657 |
(ทต.แม่ตืน) (อบต.เวียงแก้ว) |
3. | นาทราย | Na Sai | 23 | 19,351 | 19,351 | (อบต.นาทราย) |
4. | ดงดำ | Dong Dam | 6 | 3,081 | 3,081 | (ทต.ดงดำ) |
5. | ก้อ | Ko | 4 | 2,437 | 2,437 | (ทต.ก้อ) |
6. | แม่ลาน | Mae Lan | 7 | 3,104 | 3,104 | (อบต.แม่ลาน) |
7. | ป่าไผ่ | Pa Phai | 12 | 9,427 | 9,427 | (ทต.ป่าไผ่) |
8. | ศรีวิชัย | Si Wichai | 13 | 7,614 | 7,614 | (ทต.ศรีวิชัย) |
รวม | 99 | 69,653 | 39,541 (เทศบาล) 30,112 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอลี้ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลวังดิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลี้ (สุขาภิบาลวังดินเดิม - เฉพาะหมู่ที่ 4, 6, 14-15)
- เทศบาลตำบลแม่ตืน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ตืน (สุขาภิบาลแม่ตืนเดิม - เฉพาะหมู่ที่ 3, 11-12)
- เทศบาลตำบลลี้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลี้ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลวังดิน)
- เทศบาลตำบลดงดำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงดำทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลศรีวิชัย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีวิชัยทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลก้อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลก้อทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลป่าไผ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าไผ่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ตืน (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลแม่ตืน)
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาทรายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ลานทั้งตำบล
แหล่งท่องเที่ยว
[แก้]- อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ดังนี้ แก่งก้อ น้ำตกก้อหลวง ทุ่งกิ๊ก ถ้ำยาวี สามารถเดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 [แยกทางหลวงหมายเลข 1 (เถิน)-ต่อเขตเทศบาลนครเชียงใหม่] บริเวณกิโลเมตรที่ 47 แล้วเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1087 [แยกทางหลวงหมายเลข 106 (ลี้)-ก้อทุ่ง] บริเวณกิโลเมตรที่ 20-21 ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เดิมนั้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด-แม่ก้อ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มีพื้นที่ 1,003 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้
ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีพื้นที่บางส่วนเป็นลำน้ำปิงซึ่งยาวประมาณ 140 กิโลเมตร และสองฝั่งแม่น้ำเป็นเกาะแก่ง หน้าผา หินงอก หินย้อย การเดินทางท่องเที่ยวลำน้ำปิงสามารถเริ่มจากอ่างเก็บน้ำดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เรือหางยาว แล้วมาต่อแพที่แก่งสร้อย ล่องมาจนถึงเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ในทางกลับกันอาจจะเช่าเรือหรือแพจากเขื่อนภูมิพลล่องขึ้นไปก็ได้
- วัดบ้านปาง ตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านปาง หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย ห่างจากตัวอำเภอลี้ 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลี้-บ้านโฮ่ง-เชียงใหม่ กิโลเมตรที่ 89 เป็นวัดซึ่งครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรก ภายในบริเวณวัดนอกจากจะมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีโบสถ์วิหารสวยงาม และยังมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาศรีวิชัย ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน ได้แก่ สบง จีวร หมอน กระโถน และแจกัน เป็นต้น
- วัดพระธาตุห้าดวง (เวียงเจดีย์ห้าหลัง) ตั้งอยู่ที่ตำบลลี้ สามารถเดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ประมาณ 2 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณเวียงเก่าลี้ เพราะมีซากกำแพงและคูเมืองตั้งเป็นแถว วัดนี้เป็นที่ตั้งของหมู่เจดีย์ 5 องค์ ตามตำนานกล่าวว่าพระนางจามเทวี กษัตริย์ครองเมืองหริภุญไชยได้ยินข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่ามีดวงแก้ว 5 ดวง ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เวลากลางคืนจึงได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้ง 5 ดวง ลอยอยู่บนกองดิน 5 กอง จึงได้สอบถามความเป็นมาก็ทราบว่า คือพระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยล้างพระหัตถ์ และน้ำก็ไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง 5 ลงพื้นดิน พระนางจึงเกิดศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง 5 กองไว้ และในวันที่ 20 เมษายนของทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง
- วัดพระบาทห้วยต้ม และ หมู่บ้านกะเหรี่ยงห้วยต้ม วัดพระบาทห้วยต้มเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 บริเวณกิโลเมตรที่ 46-47 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่
วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ภายในมีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด และมีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม โดยครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังของทางภาคเหนือเป็นผู้บูรณะก่อสร้างและจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รอบบริเวณวัด ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน และทุกปีประมาณเดือนธันวาคม ชาวกะเหรี่ยงจะจัดงานชุมนุมชาวกะเหรี่ยงและสืบสานวัฒนธรรม มีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การแสดงทางวัฒนธรรมชาวดอย การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และออกร้านจำหน่ายสินค้าฝีมือชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านพระบาทห้วยต้ม
- ถ้ำป่าไผ่ เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีรอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าไผ่
- ผาตั้ง เป็นภูเขาหินอ่อน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน
- หลักเมืองลี้
ศาสนสถาน
[แก้]- วัดพุทธ (วัดราษฎร์) จำนวน 48 วัด
- สำนักสงฆ์ จำนวน 35 แห่ง
- โบสถ์คริสต์ (นิกายโปรเตสแตนต์) จำนวน 1 แห่ง (อยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลป่าไผ่)
อำเภอลี้ได้ชื่อว่าเป็น "เมืองแห่งนักบุญของล้านนา" มีวัดสำคัญหลายวัดที่มีตำนานแห่งนักบุญและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ดังนี้
- วัดบ้านปาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย เป็นวัดถิ่นกำเนิดของครูบาศรีวิชัย[3]
- วัดพระพุทธบาทผาหนาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 ตำบลป่าไผ่ เป็นวัดของลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย คือ ครูบาอภิชัยขาวปี[4]
- วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย เป็นวัดครูบาวงศ์
- วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าไผ่ เป็นวัดของพระมหาสิงห์ วิสุทโธ ศิษย์พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) วัดท่าซุง มีรอยพระพุทธบาทและถ้ำอันกว้างใหญ่สวยงาม
- วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง มีรอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน
- วัดพระธาตุห้าดวง ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า หมู่ที่ 15 ตำบลลี้
- วัดพระธาตุดวงเดียว ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า หมู่ที่ 15 ตำบลลี้
- วัดพระธาตุแท่นคำ ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า หมู่ที่ 4 ตำบลลี้
- วัดลี้หลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลลี้ มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์เก่าแก่ สำคัญ 2 องค์
- อนุสาวรีย์ 3 ครูบาตั้งอยู่บริเวณตลาดสดเทศบาลตำบลวังดิน หมู่ที่ 4 ตำบลลี้
- อนุสาวรีย์ครูบาอภิชัยขาวปี ตั้งอยู่บริเวณบ้านแม่เทยพัฒนา หมู่ที่ 14 ตำบลแม่ตืน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง งดการเก็บเงินข้าราชการแก่ราษฎรในตำบลบ้านก้อ แขวงเมืองตาก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 21 (24): 390. September 11, 1904.
- ↑ 2.0 2.1 รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน พ.ศ. 2559 จังหวัดลำพูน กรมการปกครอง
- ↑ "ไขปริศนาวันเวลาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพ 20 กุมภาพันธ์, 21 กุมภาพันธ์ หรือ 22 มีนาคม?". มติชนสุดสัปดาห์. 31 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เปิดประวัติ "ครูบาอภิชัยขาวปี" ศิษย์เอก "ครูบาศรีวิชัย" !!! ครูบาต้องมลทิน ที่ "จอมพลสฤษดิ์" นับถือเป็นที่สุด
- ประวัติเมืองลี้ เก็บถาวร 2008-01-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิทยุชุมชนคนเมืองลี้
- ครูบาศรีวิชัย ตอน 1 เก็บถาวร 2008-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ครูบาศรีวิชัย ตอน 2 เก็บถาวร 2008-01-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- fanpage ฮักเมืองลี้