ฮฺว่า กั๋วเฟิง
ฮฺว่า กั๋วเฟิง | |||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
华国锋 | |||||||||||||||||||||
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน | |||||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 | |||||||||||||||||||||
รอง | เย่ เจี้ยนอิง | ||||||||||||||||||||
ก่อนหน้า | เหมา เจ๋อตง | ||||||||||||||||||||
ถัดไป | หู เย่าปัง | ||||||||||||||||||||
ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน คนที่ 9 | |||||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 | |||||||||||||||||||||
ก่อนหน้า | เหมา เจ๋อตง | ||||||||||||||||||||
ถัดไป | เติ้ง เสี่ยวผิง | ||||||||||||||||||||
นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 2 | |||||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 – 10 กันยายน พ.ศ. 2523 | |||||||||||||||||||||
รองหัวหน้ารัฐบาล | เติ้ง เสี่ยวผิง | ||||||||||||||||||||
ประมุขแห่งรัฐ | ซ่ง ชิ่งหลิง เย่ เจี้ยนอิง | ||||||||||||||||||||
ก่อนหน้า | โจว เอินไหล | ||||||||||||||||||||
ถัดไป | จ้าว จื่อหยาง | ||||||||||||||||||||
รองประธานลำดับที่ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน | |||||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 6 เมษายน พ.ศ. 2519 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 | |||||||||||||||||||||
ประธาน | เหมา เจ๋อตง | ||||||||||||||||||||
ก่อนหน้า | โจว เอินไหล | ||||||||||||||||||||
ถัดไป | เย่ เจี้ยนอิง | ||||||||||||||||||||
รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน | |||||||||||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 – 12 กันยายน พ.ศ. 2525 | |||||||||||||||||||||
ประธาน | หู เย่าปัง | ||||||||||||||||||||
ข้อมูลส่วนบุคคล | |||||||||||||||||||||
เกิด | ซู จู้ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 เจียวเฉิง มณฑลชานซี สาธารณรัฐจีน | ||||||||||||||||||||
เสียชีวิต | 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551 (87 ปี) ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน | ||||||||||||||||||||
พรรคการเมือง | พรรคคอมมิวนิสต์จีน (เข้าร่วมใน พ.ศ. 2481) | ||||||||||||||||||||
คู่สมรส | หัน จือจฺวิ้น (สมรส พ.ศ. 2492) | ||||||||||||||||||||
บุตร | 4 | ||||||||||||||||||||
ลายมือชื่อ | |||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 华国锋 | ||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 華國鋒 | ||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||
ซู จู้ | |||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 苏铸 | ||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 蘇鑄 | ||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||
สมาชิกสถาบันกลาง
| |||||||||||||||||||||
ฮฺว่า กั๋วเฟิง (จีนตัวย่อ: 华国锋; จีนตัวเต็ม: 華國鋒; พินอิน: Huà Guófēng; 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551) เป็นนักการเมืองชาวจีน เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเริ่มดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในรัฐบาล พรรค และกองทัพ ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล แต่ต่อมาได้ถูกบีบให้อกจากตำแหน่งโดยสมาชิกพรรคที่มีอิทธิพลมากกว่าในปี พ.ศ. 2524 และต่อมาก็ถอนตัวจากเวทีการเมือง แม้ว่าจะยังคงเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการกลางจนถึงปี พ.ศ. 2545
เขามาจากมณฑลชานซี เริ่มดำรงตำแหน่งในภูมิภาคในหูหนานระหว่างปี พ.ศ. 2492–2514 แรกเริ่มเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคประจำจังหวัดเซียงถาน พื้นที่ภูมิลำเนาของเหมา ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคในมณฑลระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงท้าย ๆ เขาถูกยกขึ้นสู่ระดับชาติในต้นปี 2519 และขึ้นชื่อมากเรื่องความภักดีไม่สั่นคลอนต่อเหมา หลังโจว เอินไหลเสียชีวิต เหมายกให้เขาเป็นประธานสภาแห่งรัฐ คอยควบคุมดูแลงานรัฐบาล และรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นทายาทของเหมา
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังการเสียชีวิตของเหมาไม่นาน เขาได้ปลดแก๊งสี่คนอกจากอำนาจทางการเมืองโดยจัดการจับกุมพวกเขาในกรุงปักกิ่ง ต่อมาเขาดำรงตำแหน่งประธานพรรคและประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง ฉะนั้นเขาจึงเป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ประธานคณะมนตรีรัฐกิจ และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางพร้อมกัน
ฮฺว่าพยายามปฏิรูปสายกลางและย้อนส่วนเกินบางส่วนของนโยบายสมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่ทว่าเพราะเขายืนกรานที่จะสืบทอดแนวทางของเหมาและปฏิเสธรับการปฏิรูปขนานใหญ่ จึงเผชิญกับการต่อต้านในหมู่ระดับสูงของพรรค
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 กลุ่มสมาชิกพรรคซึ่งมีเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นนักปฏิรูปปฏิบัตินิยม ได้บีบให้ฮฺว่าออกจากอำนาจแต่ยังให้เขามีตำแหน่งอยู่บ้าง เขาค่อย ๆ หลบออกจากวังวนการเมือง แต่ยังคงยืนยันความถูกต้องของหลักการของเหมา เขาถูกจดจำว่าเป็นบุคคลยุคเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์การเมืองจีนสมัยใหม่
ชีวิตช่วงต้น
[แก้]ฮฺว่าเกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 ในอำเภอเจียวเฉิง มณฑลชานซี ชื่อเดิมของเขาคือ ซู จู้ (จีนตัวย่อ: 苏铸; จีนตัวเต็ม: 蘇鑄; พินอิน: Sū Zhù) เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของครอบครัวที่มีพื้นเพมาจากมณฑลเหอหนาน พ่อของฮฺว่าเสียชีวิตเมื่อเขาอายุได้ 7 ปี[1] เข้าศึกษาที่โรงเรียนพาณิชย์อำเภอเจียวเฉิง และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี พ.ศ. 2481 ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง[2]
เขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฮฺว่า กั๋วเฟิง เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์หลายคนในยุคนั้นที่ใช้ชื่อใหม่ในการปฏิวัติ ชื่อใหม่ของเขาเป็นคำย่อของ "แนวหน้ากอบกู้ชาติต่อต้านญี่ปุ่นของจีน" (จีนตัวย่อ: 中华抗日救国先锋队; จีนตัวเต็ม: 中華抗日救國先鋒隊; พินอิน: Zhōnghuá kàngrì jiùguó xiānfēng duì) หลังจากเข้าเป็นทหารในกองทัพลู่ที่ 8 ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลจู เต๋อ มาเป็นเวลา 12 ปี[2] เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของคณะกรรมาธิการพรรคประจำอำเภอเจียวเฉิงในปี พ.ศ. 2490 ในช่วงสงครามกลางเมืองจีน
ฮฺว่าย้ายไปยังมณฑลหูหนานร่วมกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (中国人民解放军) ที่ได้รับชัยชนะในปี พ.ศ. 2491 ต่อมาเขาแต่งงานกับหัน จือจฺวิ้น (韩芝俊) และอยู่ที่นั่นจนถึงปี พ.ศ. 2514
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2492 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคประจำอำเภอเซียงยิน ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคประจำนครเซียงถาน อันเป็นภูมิลำเนาของเหมา[3]
เหมา เจ๋อตงได้พบกับฮฺว่าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 และเหมารู้สึกประทับใจกับความเรียบง่ายของฮฺว่าอย่างเห็นได้ชัด[4]
เนื่องจากผู้ว่าการมณฑลหูหนาน นายพลเฉิง เฉียน (程潜) ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แท้ เนื่องจากเคยอยู่พรรคก๊กมินตั๋งมาก่อน ฮฺว่าจึงค่อย ๆ มีอำนาจในมณฑลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าการมณฑลในปี พ.ศ. 2501[1]
ในปี พ.ศ. 2502 ฮฺว่าได้เข้าร่วมการประชุมหลูชาน (庐山会议) ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะสมาชิกคณะผู้แทนพรรคจากมณฑลหูหนาน เขาได้เขียนรายงานสองฉบับเพื่อปกป้องนโยบายของเหมาอย่างเต็มที่
อิทธิพลของฮฺว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในฐานะผู้สนับสนุนและเป็นผู้นำขบวนการปฏิวัติในมณฑลหูหนาน เขาจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิวัติในท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2510 โดยเขาดำรงตำแหน่งรองประธาน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการปฏิวัติและเลขาธิการพรรคประจำมณฑลหูหนาน
ฮฺว่าได้รับเลือกเป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 9 ในปี พ.ศ. 2512[1]
เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2514 ฮฺว่าถูกเรียกตัวเข้ากรุงปักกิ่งเพื่อมาควบคุมสำนักงานเจ้าหน้าที่คณะมนตรีรัฐกิจของโจว เอินไหล แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือนก่อนจะกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมที่มณฑลหูหนาน[3] ต่อมาในปีเดียวกัน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมาธิการสืบสวนคดีของจอมพลหลิน เปียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไว้วางใจอันแรงกล้าที่เหมามีต่อตัวเขา ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ฮฺว่าก็ได้รับเลือกอีกครั้งให้เป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 10 และเลื่อนขั้นเป็นสมาชิกกรมการเมือง ในปีเดียวกันนั้น โจว เอินไหลได้มอบหมายเขาให้ดูแลด้านการพัฒนาการเกษตร
ในปี พ.ศ. 2516 เหมาได้แต่งตั้งฮฺว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และรองนายกรัฐมนตรี สิ่งนี้ทำให้เขาสามารถควบคุมตำรวจและกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของฮฺว่าได้รับการยืนยันจากการที่เขาได้รับเลือกให้กล่าวสุนทรพจน์เรื่องการปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัยในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน[5]
โจว เอินไหล ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พันธมิตรนักปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิง ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะยืนหยัดต่อสู้กับทั้งเหมา เจ๋อตงที่กำลังป่วย และแก๊งสี่คน (เจียง ชิง, จาง ชุนเฉียว, หวัง หงเหวิน, และเหยา เหวินหยวน) หนึ่งสัปดาห์หลังจากอ่านคำกล่าวสรรเสริญของนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ เติ้งก็ออกจากปักกิ่งพร้อมกับพันธมิตรใกล้ชิดหลายคนเพื่อความปลอดภัยไปยังกว่างโจว[6]
มีรายงานว่า เหมา เจ๋อตงต้องการจะแต่งตั้งจาง ชุนเฉียวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของโจว เอินไหล แต่สุดท้ายเขาก็แต่งตั้งฮฺว่าเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาประชาชนแห่งชาติ[7] ในเวลาเดียวกัน สื่อที่ถูกแก๊งสี่คนควบคุมก็ได้เริ่มประณามเติ้งอีกครั้ง (ซึ่งเคยถูกกำจัดในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และกลับสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2516)
อย่างไรก็ตาม ความรักที่ประชาชนมีต่อโจว เอินไหลถูกประเมินต่ำเกินไป อันนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์กรณีเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารกับพลเมืองปักกิ่งที่ต้องการไว้อาลัยให้กับโจวในเทศกาลเช็งเม้งตามประเพณี ในเวลาเดียวกัน ฮฺว่าได้กล่าวสุนทรพจน์ "แถลงการณ์อย่างเป็นทางการสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์เติ้ง เสี่ยวผิง" ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเหมาและคณะกรรมาธิการกลางพรรค
ในช่วงเหตุการณ์กรณีเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 ผู้คนหลายพันคนประท้วงการถอนพวงหรีดของทหารเพื่อเป็นเกียรติแก่โจวที่หน้าอนุสาวรีย์วีรชน ยานพาหนะถูกเผา สำนักงานถูกรื้อค้น และมีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก[8] ผลที่ตามมาคือ เติ้ง เสี่ยวผิงถูกกล่าวหาว่ายุยงให้เกิดการประท้วง และถูกถอดตำแหน่งในพรรคและรัฐบาลทั้งหมด แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่ตามคำสั่งของเหมา หลังจากนั้นไม่นาน ฮฺว่าก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานลำดับที่หนึ่งของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนายกรัฐมนตรี
หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในถังชาน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2519 ฮฺว่าได้ไปเยือนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและได้ช่วยชี้แนะแนวทางการบรรเทาทุกข์
กำจัดแก๊งสี่คน
[แก้]เหมา เจ๋อตง ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2519 และฮฺว่าในฐานะสมาชิกอันดับสองของพรรค และนายกรัฐมนตรีก็ได้เป็นผู้นำการจัดพิธีรำลึกระดับชาติในกรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นเกียรติแก่เหมาในวันที่ 18 กันยายน และเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในการเฉลิมฉลองอนุสรณ์สถานของเหมาในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในขณะนั้น องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศคือคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง ซึ่งประกอบด้วยฮฺว่า, เย่ เจี้ยนอิง, จาง ชุนเฉียว และหวัง หงเหวิน เย่อยู่ในช่วงใกล้จะเกษียณอายุ ส่วนจางและหวังเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งสี่คน[9]
ฮฺว่ารู้ดีว่ามีสุญญากาศในอำนาจหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา และคิดว่าหากแก๊งสี่คนไม่ถูกกำจัดออกไปโดยใช้กำลัง แก๊งก็อาจจะพยายามกำจัดเขาออกไปเสียก่อน[9] ฮฺว่าจึงติดต่อกับเย่เป็นเวลาหลายวันหลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการกำจัดแก๊งสี่คน เย่เริ่มไม่แยแสแก๊งก่อนที่เหมาจะถึงแก่อสัญกรรม ดังนั้น เขาและฮฺว่าจึงตกลงกันอย่างรวดเร็วเพื่อจัดการกับแก๊งนี้ [9]
ฮฺว่ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากวัง ตงซิง หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ภักดีต่อเหมา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารพิเศษ 8341 รวมถึงบุคคลสำคัญในคณะกรรมาธิการกรมการเมืองคนอื่น ๆ อาทิ รองนายกรัฐมนตรีหลี่ เซียนเนี่ยน และนายพลเฉิน ซีเหลียน ผู้บัญชาการเขตการทหารปักกิ่ง และหลัว ชิงฉาง หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง[9][1] กลุ่มของฮฺว่าได้หารือถึงแนวทางในการกำจัดแก๊งสี่คน รวมทั้งจัดประชุมคณะกรรมาธิการกรมการเมืองหรือคณะกรรมการกลางเพื่อกำจัดพวกเขาผ่านขั้นตอนของพรรคที่จัดตั้งขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวถูกล้มเลิกไปเพราะในขณะนั้นคณะกรรมการกลางประกอบด้วยผู้สนับสนุนแก๊งสี่คนเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกลุ่มของฮฺว่าจึงตัดสินใจใช้กำลัง
ต่อมาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519[10] ฮฺว่าได้เชิญจาง ชุนเฉียว, หวัง หงเหวิน และเหยา เหวินหยวน มาประชุมที่จวนจงหนานไห่เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายของเหมา และพวกเขาถูกจับกุมขณะกำลังเดินไปเข้าร่วมการประชุมที่ห้องประชุมหฺวายเหริน
ตามความทรงจำของฮฺว่า เขากล่าวว่า มีเพียงเขาและจอมพลเย่ เจี้ยนอิง เท่านั้นที่เข้าร่วมการประชุมเพื่อรอการมาถึงของสมาชิกของแก๊ง เมื่อจับกุมทั้งสามคนได้แล้ว เขาได้อ่านแถลงการณ์จับกุมเป็นการส่วนตัวและกล่าวว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการกระทำการ "ต่อต้านพรรคและสังคมนิยม" และ "สมรู้ร่วมคิดแย่งชิงอำนาจ" ส่วนเจียง ชิง และเหมา หย่วนซิน ถูกจับในบ้านพักของตน[11]
กองกำลังเฉพาะกิจที่นำโดยเกิ่ง เปียว ได้เข้ายึดสำนักงานใหญ่โฆษณาชวนเชื่อหลักของพรรค เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนของแก๊งสี่คนในขณะนั้น อีกกลุ่มหนึ่งถูกส่งไปเพื่อรักษาเสถียรภาพในเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นฐานอำนาจหลักของแก๊ง ในการประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมาธิการกรมการเมืองในวันรุ่งขึ้น ฮฺว่า กั๋วเฟิง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน[12]
การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงของฮฺว่านั้นถูกต้องตามกฎหมายโดยคำพูดของเหมาที่กล่าวว่า "เมื่อมีคุณรับผิดชอบ ฉันก็สบายใจ" ซึ่งตีพิมพ์หลังจากการกวาดล้างแก๊งสี่คน และใช้เป็นหลักฐานยืนยันความไว้วางใจของเหมาที่มีต่อฮฺว่า[13]
เถลิงอำนาจ
[แก้]ฮฺว่า กั๋วเฟิงมีระยะเวลาครองอำนาจค่อนข้างสั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521
ฮฺว่าได้กำจัดแก๊งสี่คนออกจากอำนาจทางการเมืองอย่างรวดเร็ว และด้วยเหตุนี้การขึ้นเป็นผู้นำของฮฺว่าจึงกลายเป็นจุดสิ้นสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หลังจากการจำคุกแก๊งสี่คน และการสถาปนาผู้ปกครองสามฝ่ายใหม่ (ฮฺว่า กั๋วเฟิง, จอมพลเย่ เจี้ยนอิง และหัวหน้านักวางแผนเศรษฐกิจ หลี่ เซียนเนี่ยน) ก็ได้เริ่มการฟื้นฟูอำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิง และเริ่มกำจัดอิทธิพลของแก๊งสี่คนทั่วทั้งระบบการเมือง อันนำไปสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างฮฺว่าและเติ้ง[14]
การเมืองภายในประเทศ
[แก้]ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2519 ฮฺว่าได้เริ่มการรณรงค์วิพากษ์วิจารณ์แก๊งสี่คนทั่วประเทศ ร่วมกับกระบวนการ "กลับคำตัดสิน" สำหรับผู้ที่วิจารณ์แก๊ง ผู้คนที่ถูกลงโทษหลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 ได้รับการปล่อยตัว[15] ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 ผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 4,600 คนที่เสื่อมเสียชื่อเสียงในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมก็ได้รับการฟื้นฟูเกียรติภูมิ[12]
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2520 ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 11 เติ้ง เสี่ยวผิง ได้รับการฟื้นฟูเกียรติภูมิโดยได้รับความเห็นชอบจากฮฺว่า การประชุมครั้งนี้ยังถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในองค์ประกอบของคณะกรรมธิการกลางพรรค มีสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ 68 คนซึ่งมากกว่า 20 คนเป็นเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฟื้นฟูเกียรติภูมิ[12]
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ฮฺว่าได้เสนอนโยบายใหม่ว่า "เราจะสนับสนุนการตัดสินใจของประธานเหมาอย่างเด็ดเดี่ยว และจะปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานเหมาอย่างแน่วแน่" เรียกอย่างเสียดสีว่า "สองสิ่ง" ต่อมานโยบายนี้ถูกใช้เพื่อวิจารณ์ฮฺว่าว่าเขาเชื่อฟังคําสั่งของเหมาอย่างหลับหูหลับตาเกินไป[16] และฮฺว่ายังได้อนุญาตให้มีการสอบเข้าวิทยาลัยแห่งชาติครั้งแรกนับตั้งแต่การปฏิวัติทางวัฒนธรรม[16]
ฮฺว่าพยายามแก้ไขระเบียบการของรัฐซึ่งเป็นวิธีการยกระดับอำนาจของเขา ในปี พ.ศ. 2521 มีการสั่งการให้สถานศึกษาทุกแห่งและการประชุมทุกครั้งจะต้องแขวนรูปเหมาและฮฺว่าไว้เคียงกัน เช่น ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ฮฺว่ายังได้แก้ไขเนื้อเพลงชาติจีนให้มีชื่อของเหมาและพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเปลี่ยนความหมายของเพลงจากการชุมนุมสงครามเป็นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล้วน ในที่สุดเนื้อเพลงเหล่านี้ก็ถูกปฏิเสธ
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 การประชุมสมัยแรกของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 5 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งฮฺว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรมและกลไกการวางแผนบางส่วนจากรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมปี พ.ศ. 2499 แม้ว่าจะยังคงกล่าวถึงการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องและลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ต่อมาเพียง 4 ปีก็ถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่[15]
เศรษฐกิจ
[แก้]ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ฮฺว่าได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจของจีนที่กําลังจะล่มสลาย ฮฺว่าจึงได้ทำงานร่วมกับหลี่ เซี่ยนเนี่ยน เพื่อทำการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนแผนการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มงบประมาณวิสาหกิจ และการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เขาได้เสนอแผนเศรษฐกิจ 10 ปีอันทะเยอทะยาน ซึ่งพยายามสร้างเศรษฐกิจตามแบบโซเวียตโดยเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและพลังงาน การใช้เครื่องจักรการเกษตร และใช้เทคโนโลยีนำเข้าเพื่อสร้างโรงงานผลิตใหม่[17]
อย่างไรก็ตาม แผนเศรษฐกิจดังกล่าวถูกยกเลิกอย่างรวดเร็วโดยหันไปสนับสนุนแผนเศรษฐกิจ 5 ปีที่ถูกกว่าและทำได้ง่ายกว่า ซึ่งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเบาและสินค้าอุปโภคบริโภค[18] โครงการเศรษฐกิจและการเมืองของฮฺว่าเป็นการฟื้นฟูแผนอุตสาหกรรมตามแบบโซเวียต และการควบคุมพรรคที่คล้ายคลึงกับประเทศจีนก่อนการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้ได้ถูกปฏิเสธโดยผู้สนับสนุนเติ้ง เสี่ยวผิง ที่สนับสนุนการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจแบบเอกชนมากกว่า
การต่างประเทศ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2521 ฮฺว่าเยือนประเทศยูโกสลาเวียและโรมาเนีย เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง[19]
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2522 ฮฺว่าได้เดินทางไปยุโรป ซึ่งเป็นครั้งแรกของผู้นำจีนหลังจากปี พ.ศ. 2492 เขาเดินทางไปที่เยอรมนีตะวันตกและฝรั่งเศส ในวันที่ 28 ตุลาคม ฮฺว่าเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรและเข้าพบนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ของอังกฤษ ทั้งสองมีส่วนร่วมในการเจรจาฉันมิตรและหารือเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษในขณะนั้น
ฮฺว่าได้เยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีการรถไฟสหราชอาณาจักร เพื่อดูการพัฒนารถไฟโดยสารขั้นสูง[20] การเยือนของเขาเกิดขึ้นพร้อมกับการบริจาครถจักรไอน้ำ 4-8-4 KF Class No 7 ของรัฐบาลจีนให้กับพิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติในยอร์ก[21] ฮฺว่ายังได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มแห่งหนึ่งในออกซฟอร์ดเชอร์ และเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[22]
ฮฺว่าเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติกลุ่มสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี แห่งอิหร่าน ก่อนที่จะถูกโค่นราชวงศ์ในปี พ.ศ. 2522[24]
การชิงอำนาจและการลงจากตำแหน่ง
[แก้]แม้ว่าเติ้งจะสนับสนุนนโยบายของฮฺว่ามาโดยตลอด แต่ต่อมาเขาก็เริ่มวิจารณ์ฮฺว่า โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอํานาจของตนเอง ได้รับการสนับสนุนจาก หู เย่าปัง ผู้ซึ่งวิจารณ์ฮฺว่าว่าดื้อรั้นมากเกินไป[25] ในที่สุดสิ่งนี้ก็นำไปสู่บทบรรณาธิการสำคัญของนักปรัชญา หู ฝูหมิง ซึ่งร่างและตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2521 ในหัวข้อ "การปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวในการทดสอบความจริง" ซึ่งเชื่อว่าความผิดพลาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความจริงผ่านการปฏิบัติอย่างจริงจัง บทความนี้แม้จะถูกวิจารณ์จากสมาชิกพรรคบางคน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากเติ้งอย่างรวดเร็ว[25]
ในวันที่ 10 พฤศจิกายน การประชุมการทำงานส่วนกลางได้ถูกจัดขึ้น โดยที่ฮฺว่าพยายามที่จะถอยห่างจากการเน้นการต่อสู้ทางชนชั้นของพรรค ไปเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแทน[25] แม้จะประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ถูกสมาชิกอาวุโสในพรรคตำหนิเพราะไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 มากพอ[26] ภายใต้การสนับสนุนของ เย่ เจี้ยนอิง และเฉิน ยฺหวิน ผู้อาวุโสของพรรค ฮฺว่าได้ยอมรับข้อตำหนิดังกล่าว เขากล่าวในการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนว่า "เหตุการณ์เทียนอันเหมินเป็นขบวนการมวลชนปฏิวัติโดยสิ้นเชิง จำเป็นต้องได้รับการประเมินอีกครั้งอย่างเปิดเผยและทั่วถึง" สิ่งนี้มีบทบาทสําคัญในการผลักดันเติ้งไปสู่การฟื้นอำนาจหลังจากการฟื้นฟูเกียรติภูมิ เช่นเดียวกับการคืนสถานะผู้นำให้กับปั๋ว อี้ปัว และหยาง ช่างคุน สมาชิกอาวุโสในพรรคหลายคนพูดถึงความทุกข์ทรมานของพวกเขาในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และวิจารณ์ฮฺว่าที่ไม่ได้แตกหักกับลัทธิเหมาอย่างชัดเจน ฮฺว่าได้วิจารณ์ตนเองในวันที่ 13 กันยายน โดยกล่าวว่าเขาสนับสนุนจุดยืนของเหมามากเกินไป[26]
ฮฺว่าสูญเสียอํานาจจริง ๆ ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 11 หลังจากนั้น เติ้ง เสี่ยวผิง ก็กลายเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของจีน และนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาได้รับการยอมรับจากพรรค[27] เขายังคงมีอำนาจอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขัดขวางการเพิ่มเนื้อหาที่วิจารณ์เขาใน "ปณิธานทางประวัติศาสตร์" ที่ร่างโดยผู้นําของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อประเมินการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[28]
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2523 คณะกรมการเมืองได้ออกมาวิจารณ์ฮฺว่าอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม โดยมองว่าเขาเป็นบุคคลที่ต่อต้านปฏิรูปและพยายามเลียนแบบเหมาเท่านั้น สิ่งนี้ได้รับการเสริมเพิ่มเติมด้วยมติทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านรับรองในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 11 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ซึ่งกล่าวว่าฮฺว่าทำน้อยเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา[28] นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าเขาทําได้ดีในการกําจัดแก๊งสี่คน แต่หลังจากนั้นเขาได้กระทำ "ข้อผิดพลาดร้ายแรง"
ในขณะที่เติ้งค่อย ๆ เข้ามาควบคุมพรรค ฮฺว่าก็ถูกประณามจากการส่งเสริมนโยบายสองสิ่ง ในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 สื่อของรัฐได้หยุดเรียกเขาว่าผู้นำ และเขาถูกแทนที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดย จ้าว จื่อหยาง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2523[28] ถูกแทนที่ในตำแหน่งประธานพรรคโดย หู เย่าปัง และถูกแทนที่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางโดยเติ้งเองในปี พ.ศ. 2524
ฮฺว่า กั๋วเฟิง ถูกลดตำแหน่งตำแหน่งเป็นรองประธานพรรค และเมื่อตำแหน่งนี้ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2525 เขายังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสามัญของคณะกรรมาธิการกลางพรรค ซึ่งดำรงตำแหน่งจนถึงการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 16 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 แม้ว่าเขาจะเกินอายุเกษียณในวัย 70 ปี ในปี พ.ศ. 2534 ก็ตาม
เกษียณอายุและถึงแก่อสัญกรรม
[แก้]ฮฺว่าสูญเสียที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นทางการ หลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 16 ของพรรคในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีรายงานว่าเขาสมัครใจที่จะถอนตัวเนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ แต่ทางพรรคก็ไม่ได้ยืนยันในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ[29]
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2550 เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 17 ของพรรค ในฐานะผู้แทนพิเศษ และเขาก็ปรากฏตัวในพิธีรำลึกวันเกิดครบรอบ 115 ปีของเหมา เจ๋อตง ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550[30] แม้จะมีตำแหน่งในพรรค แต่ฮฺว่าก็เริ่มตีตัวออกห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง งานอดิเรกหลักของเขาคือการเพาะปลูกองุ่น และติดตามสถานการณ์บ้านเมืองโดยการอ่านหนังสือพิมพ์[31]
สุขภาพของฮฺว่าเริ่มแย่ลงในปี พ.ศ. 2551 เขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคแทรกซ้อนที่ไตและหัวใจ[31] และถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551 โดยไม่ได้ระบุสาเหตุการถึงแก่อสัญกรรม[32]
เนื่องจากการถึงแก่อสัญกรรมของเขาเกิดขึ้นในช่วงกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน สื่อของรัฐจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก มีเพียงการออกอากาศในรายการข่าวระดับชาติ "ซินเหวินเหลียนปัว"(新闻联播) เพียง 30 วินาที[ต้องการอ้างอิง] และย่อหน้าสั้น ๆ ที่มุมหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี (People's Daily) เพียงเท่านั้น[33]
พิธีศพของฮฺว่าถูกจัดขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคม ที่สุสานปฏิวัติปาเป่าชาน (八宝山革命公墓) มีสมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมืองทุกคนเข้าร่วม อาทิเช่น อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และอดีตนายกรัฐมนตรีจู หรงจี้[34]
มรดก
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]ฮฺว่า กั๋วเฟิงแต่งงานกับหัน จือจฺวิ้น (韩芝俊) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2492 มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน และทั้งหมดมีนามสกุลว่า "ซู" (苏) ตามนามสกุลเมื่อแรกเกิดของฮฺว่า:
- ซู หฺวา (苏华) เป็นนายทหารอากาศเกษียณอายุ
- ซู ปิน (苏斌) เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
- ซู หลิง (苏玲) เป็นเจ้าหน้าที่พรรคและสหภาพแรงงานในสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน
- ซู ลี่ (苏莉) ทำงานในคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อbio1
- ↑ 2.0 2.1 Palmowski, Jan: "Hua Guofeng" in A Dictionary of Contemporary World History. Oxford University Press, 2004.
- ↑ 3.0 3.1 Wang, James C.F., Contemporary Chinese Politics: An Introduction (Prentice-Hall, New Jersey: 1980), p. 36.
- ↑ Li, Xiaobing; Tian, Xiansheng (2013-11-21). Evolution of Power: China's Struggle, Survival, and Success (ภาษาอังกฤษ). Lexington Books. p. 67. ISBN 978-0-7391-8498-1.
- ↑ Wang, James C.F., Contemporary Chinese Politics: An Introduction (Prentice-Hall, New Jersey: 1980), p. 37.
- ↑ Hollingworth, Clare, Mao and the Men Against Him (Jonathan Cape, London: 1985), p. 291ff
- ↑ Fontana 1982, p. 245.
- ↑ Hollingworth, Clare, Mao and the Men Against Him (Jonathan Cape, London: 1985), pp. 297–298
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 华国锋口述:怀仁堂事变真实经过. Duowei. 3 November 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-08. สืบค้นเมื่อ 2023-09-20.
- ↑ Hsü, Immanuel Chung-yueh (1990), China Without Mao: the Search for a New Order, Oxford University Press, p. 18, ISBN 0-19536-303-5
- ↑ Hsin, Chi. The Case of the Gang of Four. Revised ed. Hong Kong: Cosmo, 1978. Print.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Li-Ogawa 2022, p. 126.
- ↑ Li-Ogawa 2022, p. 131.
- ↑ "Post-Mao Period, 1976-78". ibiblio.org. สืบค้นเมื่อ 1 May 2019.
- ↑ 15.0 15.1 Gewirtz 2022, p. 15.
- ↑ 16.0 16.1 Gewirtz 2022, p. 16.
- ↑ Gewirtz 2022, p. 17–18.
- ↑ Weber 2021, p. 106.
- ↑ Andelman, David A. (20 August 1979). "China's Balkan Strategy". International Security. 4 (3): 60–79. doi:10.2307/2626694. JSTOR 2626694. S2CID 154252900.
- ↑ "Chairman Hua Officially Visits the UK". Hua Guofeng Memorial Website. 28 October 1979. สืบค้นเมื่อ 27 March 2010.
- ↑ "Chinese Government Railways Steam Locomotive 4-8-4 KF Class No 7". National Railway Museum. 10 April 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 June 2017. สืบค้นเมื่อ 10 April 2017.
- ↑ "1979: Chairman Hua arrives in London". BBC News. 28 October 1979. สืบค้นเมื่อ 27 March 2010.
- ↑ 华主席抵德黑兰进行正式友好访问 巴列维国王举行盛大宴会热烈欢迎. People's Daily (ภาษาChinese (China)). 1978-08-30. p. 1.
- ↑ Wright, Robin (17 November 2004). "Iran's New Alliance With China Could Cost U.S. Leverage". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 4 May 2010.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 Gewirtz 2022, p. 18–19.
- ↑ 26.0 26.1 Gewirtz 2022, p. 20.
- ↑ Li-Ogawa 2022, p. 134.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 Gewirtz 2022, p. 26–27.
- ↑ "Pakistan Daily Times Article". Daily Times. สืบค้นเมื่อ 10 February 2005.
- ↑ 十七大之后拜访华国锋 [Visiting Hua Guofeng after the 17th Congress]. Sohu. สืบค้นเมื่อ 22 September 2008.
- ↑ 31.0 31.1 简单的晚年生活 华国锋远离政治的日子 [A simple late life: Hua Guofeng's days away from politics]. China News Weekly (ภาษาChinese (China)). 21 September 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2020. สืบค้นเมื่อ 21 September 2008.
- ↑ Keith Bradsher and William J. Wellman, "Hua Guofeng, 87, Who Led China After Mao, Dies", The New York Times, 20 August 2008.
- ↑ 华国锋在京病逝 曾经担任党和国家重要领导职务. Sohu via Xinhua. 21 August 2008. สืบค้นเมื่อ 31 December 2011.
- ↑ 华国锋同志遗体在京火化 胡锦涛等到革命公墓送别. People's Daily. 30 August 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 December 2011. สืบค้นเมื่อ 31 December 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติอย่างเป็นทางการของฮฺว่า กั๋วเฟิง (ภาษาจีน), สำนักข่าวซินหัว 31 สิงหาคม 2551
- เอกสารเก่าของฮฺว่า กั๋วเฟิง ในเอกสารสำคัญทางอินเทอร์เน็ตของลัทธิมาร์กซิสต์