ข้ามไปเนื้อหา

เกร์นิกา (ปิกาโซ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกร์นิกา
ภาพจำลอง เกร์นิกา ทำจากกระเบื้องที่ถนนอัลเลนเดซาลาซาร์ เมืองเกร์นิกา
ศิลปินปาโบล ปิกาโซ
ปีค.ศ. 1937
สื่อจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
มิติ349.3 cm × 776.6 cm (137.4 in × 305.5 in)
สถานที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระราชินีโซฟีอา มาดริด, สเปน

เกร์นิกา (สเปน: Guernica) เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่วาดโดยปาโบล ปิกาโซ ศิลปินชาวสเปนในปี ค.ศ. 1937 ภาพมีขนาด 3.49 × 7.76 เมตร แสดงถึงชิ้นส่วนมนุษย์และสัตว์ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ปัจจุบัน เกร์นิกา ถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระราชินีโซฟีอาในกรุงมาดริด

ในปี ค.ศ. 1937 ระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน ปิกาโซได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนที่ 2 ให้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อใช้แสดงในงานนิทรรศการโลกที่กรุงปารีส[1] แต่หลังทราบข่าวการทิ้งระเบิดที่เกร์นิกาที่ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ปิกาโซก็ได้ความคิดในการวาดภาพที่สะท้อนถึงความโหดร้ายของสงคราม[2] ปิกาโซใช้เวลาวาด 35 วัน หลังจากนั้นภาพได้ถูกนำไปจัดแสดงทั่วยุโรปและอเมริกา[3] ในปี ค.ศ. 1968 ฟรันซิสโก ฟรังโก ผู้นำเผด็จการของสเปนสนใจที่จะนำ เกร์นิกา มาจัดแสดงที่สเปน แต่ปิกาโซปฏิเสธและกล่าวว่าภาพนี้จะไม่ถูกจัดแสดงในสเปนจนกว่าสเปนจะมี “เสรีภาพและประชาธิปไตย” เกิดขึ้น[4] หลังปิกาโซและฟรังโกเสียชีวิต สเปนปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่นครนิวยอร์กที่เก็บรักษาภาพนี้ไว้จึงส่งคืนให้สเปนในปี ค.ศ. 1981[5]

เกร์นิกา เป็นหนึ่งในผลงานของปิกาโซที่เป็นที่รู้จักดีที่สุด[6] มีการตีความภาพนี้อย่างหลากหลาย หนึ่งในการตีความถึงสัตว์ในภาพคือ กระทิงสื่อถึงความโหดร้ายของสงคราม ส่วนม้าสื่อถึงความทุกข์ทรมานของผู้คน[7] เบฟเวอร์ลี เรย์ นักวิชาการกล่าวว่า “ปิกาโซใช้สีดำ ขาว เทาเพื่อสื่อถึงความเจ็บปวดและความวุ่นวาย เปลวไฟในภาพไม่ใช่แค่สื่อถึงการทำลายเกร์นิกา แต่ยังสื่อถึงพลังทำลายล้างของสงคราม”[8] ในขณะที่อาเลฆันโดร เอสกาโลนากล่าวว่า “สีดำ ขาวและเทาทำให้ผู้ชมรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระยะประชิดทำให้รู้สึกอึดอัดและไม่มีทางหนี”[9] ด้านนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า เกร์นิกา เป็นภาพวาดที่สื่อถึงความโหดร้ายของสงครามได้ทรงพลังที่สุด และสารจากภาพยังเป็นสากลและไร้กาลเวลา[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Guernica". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ August 2, 2019.
  2. "'เกอร์นิคา' ความทรงจำที่ปวดร้าวผ่านสายตาของ 'ปิกัสโซ'". THE MOMENTUM. February 8, 2017. สืบค้นเมื่อ August 2, 2019.
  3. Farthing, Stephen (2016). 1001 Paintings You Must See Before You Die. London, Great Britain: Octopus Publishing Group. p. 702. ISBN 9781844039203.
  4. Timeline, part of a series of web pages on Guernica in PBS's Treasures of the World series. Accessed 16 July 2006.
  5. "30 años del “Guernica” en España" Universidad Nacional de Educación a Distancia (UNED). Retrieved 18 July 2013. (สเปน)
  6. "Pablo Picasso". Biography.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-07. สืบค้นเมื่อ 2019-08-02.
  7. "Pablo Picasso's 'Guernica': A Symbol Against War". The Culture Trip. July 26, 2017. สืบค้นเมื่อ August 2, 2019.
  8. Ray (2006), 168–171.
  9. 9.0 9.1 Escalona, Alejandro. 75 years of Picasso's Guernica: An Inconvenient Masterpiece, The Huffington Post, 23 May 2012.