เส้นแบ่งเขตวันสากล
เส้นแบ่งเขตวันสากล (อังกฤษ: International Date Line: IDL) เป็นเส้นสมมติที่ลากในแนวเหนือ-ใต้บนพื้นผิวของโลก ผ่านใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งกำหนดสถานที่ซึ่งวันตามปฏิทินเริ่มต้น เส้นดังกล่าวอยู่ที่ประมาณลองจิจูด 180 องศา ตรงข้ามกับเส้นเมริเดียนแรก แต่ลากอ้อมบางดินแดนและกลุ่มเกาะบางกลุ่ม
เวลาทางตะวันออกของเส้นแบ่งเขตวันสากลช้ากว่าทางตะวันตกอยู่ 1 วัน เมื่อข้ามเส้นดังกล่าวไปทางตะวันออกจึงต้องหักวันออกหนึ่งวัน และเมื่อข้ามเส้นดังกล่าวไปทางตะวันตกต้องเพิ่มวันเข้าหนึ่งวัน
ภูมิศาสตร์
[แก้]บางส่วนของความยาว เส้นแบ่งเขตวันสากลตามลองจิจูดเมอริเดียน 180 องศา หยาบ ๆ ลงมากลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อเลี่ยงมิให้เส้นลากทับประเทศหนึ่ง จึงต้องลากอ้อมตะวันออกไกลของรัสเซียและกลุ่มเกาะหลายกลุ่มในแปซิฟิก
การเปลี่ยนแปลงในอดีต
[แก้]ฟิลิปปินส์
[แก้]ฟิลิปปินส์ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุปราชแห่งนิวสเปน มีการติดต่อสื่อสารสำคัญที่สุดกับเมืองอากาปุลโกในเม็กซิโกมาเป็นเวลานาน และถูกกำหนดอยู่ฝั่งตะวันออกของเส้นแบ่งเขตวัน แม้จะอยู่ที่ริมตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เวลา 00.01 น. วันอังคารในลอนดอน จึงเป็นเวลา 17.21 น. วันจันทร์ในอากาปุลโก และราว 08.05 น. วันจันทร์ในมะนิลา ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 ความสนใจการค้าเปลี่ยนไปยังจีน หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ และพื้นที่ใกล้เคียง ฟิลิปปินส์จึงเปลี่ยนไปอยู่ทางฟากตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวัน วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1844 จึงตามด้วยวันพุธที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1845 ทำให้ปีนั้นฟิลิปปินส์มี 365 วัน ทั้ง ๆ ที่เป็นปีอธิกสุรทิน[1]
อะแลสกา
[แก้]จนถึง ค.ศ. 1867 อะแลสกาใช้วันของรัสเซีย โดยเส้นแบ่งเขตวันลากผ่านพรมแดนที่กำหนดไว้บางส่วนระหว่างดินแดนรัสเซียนอะแลสกากับดินแดนบริติชนอร์ทอเมริกา รวมทั้งอาณานิคมบริติชโคลัมเบีย วันก่อนหน้าการซื้ออะแลสกาของสหรัฐอเมริกาจะมีผล วันนั้นเป็นวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1867 ในปฏิทินจูเลียนที่ใช้ในรัสเซียขณะนั้น หรือตรงกับวันที่ 18 ตุลาคมตามปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ด้วยการเปลี่ยนการปกครอง ทำให้วันที่ในอะแลสกาเลื่อนให้เร็วขึ้น 12 วัน ดังนั้น วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1867 ในอะแลสกา จึงตามด้วยวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1867
หมู่เกาะซามัวและโตเกเลา
[แก้]หมู่เกาะซามัวตั้งอยู่ทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันจนกระทั่ง ค.ศ. 1892 เมื่อพ่อค้าอเมริกันได้เข้าไปโน้มน้าวกษัตริย์มาลีเอโตอา เลาเปปา (Malietoa Laupepa) ให้รับวันที่ของสหรัฐอเมริกามาใช้ ซึ่งเป็นสามชั่วโมงหลังแคลิฟอร์เนีย แทนวันที่แบบเอเชีย (หรือสี่ชั่วโมงก่อนญี่ปุ่น) การเปลี่ยนแปลงนี้ทำโดยซ้ำวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1892[2][3] ใน ค.ศ. 2011 119 ปีให้หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งแรก ซามัวตัดสินใจเปลี่ยนกลับไปอยู่ทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันโดยข้ามวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2011 จากเขตเวลา -11 เป็น +13[2] เหตุผลสำหรับการเปลี่ยนนี้คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของซามัวและเป็นแหล่งชุมชนผู้ย้ายภูมิลำเนาขนาดใหญ่ การตามหลังอยู่ 21 ชั่วโมงจึงทำให้ธุรกิจยุ่งยาก เพราะมีวันหยุดแตกต่างกัน หมายความว่า มีวันทำงานร่วมกันเพียงสี่วันในหนึ่งสัปดาห์[4]
โตเกเลา ดินแดนของนิวซีแลนด์ ทางเหนือของซามัว ประกาศว่าจะเปลี่ยนวันที่ด้วยเหตุผลเดียวกัน[5] ส่วนอเมริกันซามัวซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเล็กน้อยยังใช้วันที่ตามสหรัฐอเมริกาอยู่ ทำให้เส้นแบ่งเขตวันสากลขณะนี้ผ่านระหว่างซามัวกับอเมริกันซามัว แผนที่ชุดโลกส่วนใหญ่ยังไม่สนใจการเลื่อนเส้นแบ่งเขตวันและยังแสดงเส้นแบ่งเขตวันเป็นเส้นตรงผ่านอาณาเขตของหมู่เกาะซามัวและโตเกเลา
คิริบาสตะวันออก
[แก้]เมื่อครั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คิริบาสมีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะกิลเบิร์ตซึ่งตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันเดิม เมื่อได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1979 สาธารณรัฐใหม่นี้ได้รับหมู่เกาะฟีนิกซ์และหมู่เกาะไลน์จากสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของเส้น จึงกลายเป็นว่าอาณาเขตของประเทศนี้อยู่คร่อมเส้นแบ่งเขตวันพอดี หน่วยงานรัฐบาลบนสองฝั่งของเส้นแบ่งเขตวันสามารถติดต่อสื่อสารธุรกิจประจำวันทางวิทยุหรือโทรศัพท์ได้เพียงสี่วันต่อสัปดาห์ (ซึ่งเป็นวันทำงานตรงกันทั้งสองฝั่ง) เท่านั้น ทางการจึงตัดสินใจเปลี่ยนวันที่ในส่วนตะวันออกของประเทศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1994 จากเขตเวลา -11 และ -10 เป็น +13 และ +14 หลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เส้นแบ่งเขตเวลาบางส่วนจึงถูกเลื่อนโดยอ้อมไปทางตะวันออกเพื่อโอบรอบอาณาเขตของประเทศนี้ ผลคือ ดินแดนตะวันออกสุดของคิริบาส ได้แก่ หมู่เกาะไลน์รวมทั้งเกาะคิริสมาสที่มีคนอยู่อาศัยจึงเริ่มต้นปี ค.ศ. 2000 ก่อนประเทศใดในโลก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่รัฐบาลคิริบาสพยายามเน้นเนื่องจากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แต่จนถึง ค.ศ. 2005 แผนที่ชุดโลกส่วนใหญ่ยังไม่สนใจการเลื่อนเส้นแบ่งเขตวันและยังแสดงเส้นแบ่งเขตวันเป็นเส้นตรงผ่านอาณาเขตของคิริบาส[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ A History of the International Date Line
- ↑ 2.0 2.1 Tamara McLean, Samoa's dateline jump passes into law Herald Sun of New Zealand. Accessed 11 August 2011.
- ↑ Samoa confirms dateline switch Borneo Post online. Accessed 11 August 2011.
- ↑ "Samoa to jump forward in time by one day". BBC News. 9 May 2011. สืบค้นเมื่อ 27 November 2011.
- ↑ Tokelau to follow Samoa on dateline switch Radio New Zealand International. Accessed 15 October 2011.
- ↑ Ariel, Avraham (2005). Plotting the Globe: Stories of Meridians, Parallels, and the International Date Line. Greenwood Press. p. 149. ISBN 0275988953.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help)