ข้ามไปเนื้อหา

แฮนส์ เครสแจน เออร์สเตด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฮนส์ เครสแจน เออร์สเตด
Der Geist in der Natur, 1854

แฮนส์ เครสแจน เออร์สเตด (เดนมาร์ก: Hans Christian Ørsted, ภาษาเดนมาร์ก: [ˈhænˀs ˈkʰʁestjæn ˈɶɐ̯steð] ( ฟังเสียง); 14 สิงหาคม พ.ศ. 2320 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2394) เป็นนักฟิสิกส์และนักเคมีชาวเดนมาร์ก เป็นผู้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างไฟฟ้ากับความเป็นแม่เหล็ก หรือที่เรียกว่า ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า

เออร์สเตดเกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2320 เขาเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ ประจำมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เออร์สเตดค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างไฟฟ้ากับสนามแม่เหล็กด้วยความบังเอิญ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2363 ขณะบรรยายวิชาฟิสิกส์ในหัวข้อ คุณสมบัติของกระแสไฟฟ้า (Electricity, Galvanism and Magnetism) โดยมีอุปกรณ์ในการทำการทดลองประกอบการบรรยาย คือ แบตเตอรี่ สายไฟ และเข็มทิศ

เออร์สเตดได้ทำการทดลองเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เข็มทิศจะเบนเมื่อมีฝนตกหนัก และฟ้าแลบ เพื่อลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเข็มทิศ ถ้าผ่านกระแสไฟเข้าไปในลวดตัวนำ เขานำลวดตัวนำตั้งฉากกับเข็มทิศและพบว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หลังจากการบรรยายสิ้นสุด เออร์สเตดลองวางลวดตัวนำขนานกับเข็มทิศ และผ่านกระแสไฟฟ้าไปในลวดตัวนำ กลับพบว่าเข็มทิศกระดิกและเริ่มเบน การค้นพบนี้ทำให้เออร์สเตดเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างกระแสไฟฟ้ากับแม่เหล็กหรือนำไปสู่ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างแม่เหล็กกับไฟฟ้า (Electro Magnetism Theory)

ต่อมาในวันที่ 11 กันยายน ปีเดียวกันนั้นเอง การค้นพบของเออร์สเตดได้รับการนำเสนอที่ราชสมาคมฝรั่งเศสโดยดอมีนิก ฟร็องซัว ฌ็อง อาราโก เขาระบุว่าการค้นพบนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าการค้นพบไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษอีกหลายคนที่พยายามแข่งขันเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เออร์สเตดค้นพบ โดยเฉพาะนักทดลองชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ฌ็อง-บาติสต์ บีโย และเฟลิกซ์ ซาวาร์ เป็นนักฟิสิกส์คนแรก ๆ ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างละเอียดได้

นับได้ว่าการค้นพบของเออร์สเตดได้จุดประกายที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนพยายามค้นพบเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงอ็องเดร-มารี อ็องแปร์ ผู้ค้นพบทฤษฎีแม่เหล็กโลก