โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี | |
---|---|
กำกับ | ปวีณ ภูริจิตปัญญา |
เขียนบท | ปวีณ ภูริจิตปัญญา วสุธร ปิยารมณ์ ทศพร เหรียญทอง |
เนื้อเรื่อง | ปวีณ ภูริจิตปัญญา นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ |
อำนวยการสร้าง | ปวีณ ภูริจิตปัญญา วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | ภิไธย สมิตสุต |
ตัดต่อ | นัฏฐพล ทิมเมือง |
ดนตรีประกอบ | ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | เน็ตฟลิกซ์ |
วันฉาย | 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 |
ความยาว | 117 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี (อังกฤษ: GHOST LAB) เป็นเว็บภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญเชิงวิทยาศาสตร์ กำกับโดย ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผลิตโดยจีดีเอช ห้าห้าเก้า และจอกว้าง ฟิล์ม ภายใต้การควบคุมการผลิตโดย เน็ตฟลิกซ์ นำแสดงโดย ธนภพ ลีรัตนขจร พาริส อินทรโกมาลย์สุต ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ มีกำหนดเผยแพร่อย่างเป็นทางการบนเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลก ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องที่สองที่ได้ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ในฐานะภาพยนตร์ต้นฉบับของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix Original Movies) ต่อจาก บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต: วันเทก และยังถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยี HDR ตามมาตรฐานของเน็ตฟลิกซ์และดอลบี วิชั่นตลอดทั้งเรื่อง[1]
เรื่องย่อ
[แก้]“คุณเชื่อในโลกหลังความตายไหม”
หลังจากเห็น “ผี” ตัวเป็นๆ ด้วยกันครั้งแรก กล้าและวี แพทย์หนุ่มคู่หูตัดสินใจร่วมกันทำการทดลองเพื่อหาทางพิสูจน์ว่า “โลกหลังความตาย” มีจริง และในการค้นหาทฤษฎีควบคุมการปรากฏตัวของผี พวกเขาต้องออกตามล่าวิญญาณมาเป็น “ผู้ร่วมทดลอง” ด้วยความเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะเป็นบุคคลกลุ่มแรกของโลกที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ได้ว่า “ผีมีจริง” โดยหารู้ไม่ว่าคำตอบที่ตามหานั้น มาพร้อมกับหายนะที่ไม่คาดคิด
นักแสดงและตัวละคร
[แก้]- ธนภพ ลีรัตนขจร รับบท หมอวี
- สุนิติ สุภวราหะสุนทร รับบท วี (วัยเด็ก)
- พาริส อินทรโกมาลย์สุต รับบท หมอกล้า อาจอง / อา-จอง
- อลันตา ปอทเจส รับบท กล้า (วัยเด็ก)
- ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ รับบท ใหม่
- ณัฐวุฒิ เจนมานะ รับบท หมอนะโม
- สู่ขวัญ บูลกุล รับบท แม่วี
- รัชนี ศิระเลิศ รับบท ก้อย (แม่กล้า)
- ธัญชนก กู๊ด รับบท ชลลิตา
- ชาลีดา กิลเบิร์ต รับบท กิ๊บ (น้องสาวกล้า)
- อัญชุลีกร บัวแก้ว รับบท ป้าพยาบาล
- จินต์จุฑา รัตนบุรี รับบท พยาบาลจูน
งานสร้าง
[แก้]แนวคิดภาพยนตร์เรื่องนี้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยบริษัทยังเป็นจีทีเอช โดย จิระ มะลิกุล ได้จัดค่ายการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยให้ผู้กำกับทั้งหมดของจีทีเอชเข้าร่วมประชุมและจับคู่กันคิดโครงเรื่องภาพยนตร์ให้ได้คู่ละหนึ่งเรื่อง ซึ่งตัวของปวีณ ได้จับคู่กับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เดิมทีทั้งคู่มีความชอบที่คล้าย ๆ กันอยู่แล้ว คือชอบแนววิทยาศาสตร์และแนวสยองขวัญ แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำภาพยนตร์เรื่องอะไร จนกระทั่งในคืนนั้นเกิดข่าวลือว่าห้องพักของ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ มีผีอาศัยอยู่ และทำให้ภาคภูมิต้องขอแลกห้องกับผู้กำกับคนอื่น ปวีณและนวพลจึงเกิดความสงสัยว่าในห้องมีผีจริงหรือไม่ และการหาความจริงในเรื่องนี้จึงต้องมีการทดลอง สิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายวันนั้น ทำให้ปวีณและนวพลเลือกนำเสนอโครงเรื่องภาพยนตร์สยองขวัญกึ่งวิทยาศาสตร์ โดยที่มีตัวเอกสองคนร่วมทดลองหาความจริงถึงเรื่องผี และโลกหลังความตาย และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงเรื่องที่จะถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ต่อไป[ต้องการอ้างอิง]
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2562 จีดีเอช ห้าห้าเก้า ต้องการโครงเรื่องเพื่อพัฒนาเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ เนื่องจากภาพยนตร์ที่เตรียมไว้ได้หมดสต็อก และบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการถ่ายทำละครฉลาดเกมส์โกงซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ปวีณและนวพลจึงได้เสนอให้ จีดีเอช หยิบโครงเรื่องนี้ขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์ และก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงริเริ่มพัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่แล้วด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้แผนงานของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเลื่อนจากปี พ.ศ. 2563 เป็น พ.ศ. 2564 จนกระทั่งจีดีเอชเห็นแนวโน้มว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จีดีเอช จึงได้เปลี่ยนแผนจากนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นการฉายภาพยนตร์ออนไลน์ทีเดียวทั่วโลก บริษัทฯ จึงได้เสนอขายภาพยนตร์ให้ เน็ตฟลิกซ์ นำไปจัดจำหน่าย ซึ่งหลังจากธุรกรรมแล้วเสร็จ เน็ตฟลิกซ์ จึงได้เข้ามากำหนดมาตรฐานการสร้างภาพยนตร์เพิ่มเติม โดยขอให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบดอลบี วิชั่นและมาตรฐาน HDR 10+ ตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงการมิกซ์เสียงก็ได้ขอให้มีการมิกซ์ในระบบ 5.1 เพื่อให้ภาพยนตร์มีคุณภาพทัดเทียมกับภาพยนตร์เน็ตฟลิกซ์จากผู้ผลิตต่างประเทศ ซึ่งระหว่างกระบวนการตัดต่อในช่วงสุดท้ายนี้ เน็ตฟลิกซ์ ได้หยิบนำเอาบทภาพยนตร์ไปแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เพื่อทำการพากย์เสียงในภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติมภายใต้สตูดิโอของเน็ตฟลิกซ์ เพื่อเตรียมที่จะปล่อยฉายพร้อมกันทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมด้วยเช่นกัน
เพลงประกอบภาพยนตร์
[แก้]เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ปวีณ ได้ติดต่อให้ ปิยทัศน์ เหมสถาปัตย์ หรือ Bill Hemstapat ผู้กำกับเสียงของโซนี่ อินเตอร์แอ็กทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ มาร่วมทำเพลงประกอบให้ทั้งเรื่อง เพื่อให้เพลงประกอบมีความน่าค้นหาตามเนื้อหาหลักของภาพยนตร์[ต้องการอ้างอิง]
การประชาสัมพันธ์และการออกฉาย
[แก้]ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานแถลงข่าว GDH Xtraordinary 2021 Line-up เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยอธิบายเส้นเรื่องหลักของภาพยนตร์ว่าจะเกี่ยวข้องกับการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ มากกว่าเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ[2]
เดิมที โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 แต่ถูกเลื่อนแผนงานมายังปี พ.ศ. 2564 จากเหตุการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย และถูกเลื่อนแผนงานอีกครั้งจากการระบาดระลอกที่สองและระลอกที่สาม จนในที่สุดภาพยนตร์จึงถูกเน็ตฟลิกซ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ทั่วโลกในเวลาต่อมา[1] โดยมีงานแถลงข่าวและงานเปิดตัวภาพยนตร์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19.00 น. ก่อนเปิดให้รับชมภาพยนตร์อย่างเป็นทางการในเวลา 20.00 น. ของวันเดียวกัน[3]
หลังจากมีการออกฉายได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบเรื่องการแสดง บทที่สามารถเดาได้ง่าย การจบที่ไม่สมเหตุสมผล และ CGI ที่ไม่ค่อยสมจริง หลังจากเผยแพร่แล้วได้คะแนนที่เว็บไซต์ Rotten Tomatoes เพียง 20% ของคะแนนผู้ชม และต่ำกว่า 5.5 ในเว็บไซต์ IMdB ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับผลวิจารณ์แย่ที่สุดแห่งปีของภาพยนตร์ค่าย GDH [4]
รางวัล
[แก้]ปี | ผู้มอบรางวัล | สาขาที่เข้าชิง | ผู้ได้รับเสนอชื่อ | ผล |
---|---|---|---|---|
2565 | คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 18[5] | ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม | GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี | เสนอชื่อเข้าชิง |
ผู้กำกับยอดเยี่ยม | ปวีณ ภูริจิตปัญญา | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ธนภพ ลีรัตนขจร | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | พาริส อินทรโกมาลย์สุต | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ปวีณ ภูริจิตปัญญา, วสุธร ปิยารมณ์, ทศพร เหรียญทอง | เสนอชื่อเข้าชิง |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 GDH ส่ง GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี ลง Netflix ดูได้ทั่วโลก 26 พ.ค. นี้
- ↑ GDH เปิดตัว 5 ภาพยนตร์ใหม่ รับก้าวต่อไปในปีที่ 6 ของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย
- ↑ Netflix จัดงาน “GHOST LAB Virtual Premiere” ครั้งแรกของไทย
- ↑ https://www.heavenofhorror.com/reviews/ghost-lab-netflix-horror/
- ↑ "ตัวเต็งมาแน่น! เปิดโผผู้เข้าชิง คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 18". TrueID. 2022-02-25.