102 ปิดกรุงเทพปล้น
102 ปิดกรุงเทพปล้น | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | ธนิตย์ จิตนุกูล |
บทภาพยนตร์ | ไทเกอร์ทีม |
นักแสดงนำ | ฉัตรชัย เปล่งพานิช อำพล ลำพูน โกวิท วัฒนกุล ประกาศิต โบสุวรรณ วิทิต แลต บุญถิ่น ทวยแก้ว พงศนารถ วินศิริ โสธรณ์ รุ่งเรือง ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย เศรษฐธร ธิติธนเศรษฐ์ เศรษฐวิทย์ พันธุ์เพ็ง |
กำกับภาพ | ธีระวัฒน์ รุจินธรรม |
ตัดต่อ | อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล |
วันฉาย | 29 เมษายน พ.ศ. 2547 |
ความยาว | 1 ชั่วโมง 29 นาที[1] |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 18.6 ล้านบาท(ประเทศไทย) |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
102 ปิดกรุงเทพปล้น (อังกฤษ: 102 Bangkok Robbery) เป็นภาพยนตร์แอ็กชันของประเทศไทย นำแสดงโดย อำพล ลำพูน และฉัตรชัย เปล่งพานิช ฉายเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2547[2] ผลิตโดยสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล กำกับภาพยนตร์โดยธนิตย์ จิตนุกูล
นักแสดง
[แก้]- พงศนารถ วินศิริ เป็น จำรัส ผู้ว่าแบงค์ชาติ
- ฉัตรชัย เปล่งพานิช เป็น ปกรณ์
- โกวิท วัฒนกุล เป็น ดาบจักร
- อำพล ลำพูน เป็น นาวิน
- ขจรศักดิ์ รัตนนิสัย เป็น เสธ
- มินดา นิตยวรรธนะ เป็น ผู้ประกาศข่าว
เรื่องย่อ
[แก้]รัฐบาลออกมาประกาศชำระเงินที่ยืมมาคืนให้แก่ IMF ทั้งหมด จนทำให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรใต้ดินโดยผู้ที่มีอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับแนวความคิดนี้ จนก่อให้เกิดแผนปฏิบัติการ 102 นาทีขึ้น เพื่อยับยั้งการชำระหนี้คืน IMF
กลุ่มก่อการร้ายอาชีพถูกดึงเข้ามาร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ภายใต้การนำของ นาวิน (อำพล ลำพูน) ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ซึ่งเป็นนายทหารมือดีแต่ต้องวางมือไปจากฝันร้ายของสงคราม เขาจำต้องกลับมารับงานนี้เพราะมีหนี้ชีวิตที่ติดค้างอยู่กับ นายพลอนุสรณ์ ผู้เป็นหนึ่งในแกนนำองค์กรโดยที่นาวินไม่รู้ว่าเขาเป็นเพียงเครื่องมือชำระหนี้แค้นและเป็นเหยื่อของแผนการ
จากการสืบสวนทุกรูปแบบของ ปกรณ์ (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) หัวหน้าหน่วยปราบปรามการก่อการร้ายทั้งในและนอกประเทศที่เข้ามารับผิดชอบคดีนี้กับเวลาที่เหลือน้อยจนต้องนับเป็นนาที "เงินต้องถูกโอนให้ IMF เพื่อปลดหนี้ของคนทั้งประเทศให้ได้" นั่นเป็นคำขาดจากรัฐบาล
ระเบิดปริมาณมหาศาลถูกวางไว้ทั่วกรุงเทพฯ ปกรณ์จำต้องสืบให้รู้แผนการทั้งหมดในการปฏิบัติการของนาวินครั้งนี้ ในขณะที่แผนปฏิบัติการ 102 นาทีดำเนินไป จุดหมายสูงสุดของแผนก็ค่อย ๆ ปรากฏชัดขึ้น ทองคำจำนวน 75 ตัน ในห้องมั่นคงของธนาคารชาติคือจุดประสงค์ของปฏิบัติการครั้งนี้ ปกรณ์และทีมกับปฏิบัติการ 102 นาทีของนาวิน ทั้งสองจำต้องขับเคี่ยวกันเพื่อแข่งกับเวลาที่กำลังจะหมดลง อยู่ที่ว่าใครจะถึงจุดหมายก่อนกัน ซึ่งเป็นปลายทางที่คนทั้งสองรู้อยู่ในใจ[3]
งานสร้างภาพยนตร์
[แก้]การถ่ายทำและสถานที่ถ่ายทำ
[แก้]102 ปิดกรุงเทพปล้น มีการถ่ายทำขนาดใหญ่หลายพื้นที่ในใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยการถ่ายทำที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในพื้นที่แยกปทุมวัน คือฉากการปะทะกันระหว่างฝ่ายตำรวจและฝ่ายกลุ่มก่อการร้าย ถ่ายทำในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยใช้ผู้กำกับภาพยนตร์ในวงการมาช่วยกันถ่ายทำในฉากนี้จำนวน 20 คน[4] ใช้กล้องทั้งหมด 15 ตัว ตัวประกอบประมาณ 500 คน รวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากจำนวนมาก อาทิ รถตำรวจ รถดับเพลิง และรถพยาบาล ใช้เวลาในการเตรียมการมากกว่า 3 เดือน เพื่อถ่ายทำในพื้นที่จริง ซึ่งสามารถปิดแยกเพื่อถ่ายทำได้เป็นเวลา 3 ชั่วโมง คือระหว่างเวลา 06.00 - 09.00 น. ถ่ายทำไปได้ทั้งหมด 3 เทค เทคละ 7 นาที ใช้เงินไปประมาณ 50 ล้านบาท[4]
เทคนิคพิเศษ
[แก้]เทคนิคพิเศษภายในเรื่องที่โดดเด่นและเป็นที่จดจำมากที่สุดก็คือ ฉากที่นาวิน ยิงเฮลิคอปเตอร์ของกองบินตำรวจจนตก และพุ่งชนตึกของศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกในการเข้ามาช่วย ซึ่งประมาณการว่าใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท[4]
กระแสตอบรับ
[แก้]การออกฉายและรายได้
[แก้]102 ปิดกรุงเทพปล้น เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2547 ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน โดยมีผู้กำกับคือ ธนิตย์ จิตนุกูล และนักแสดงนำเข้าร่วมการเปิดตัว[5] และฉายรอบปกติในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2547[2] ทำรายได้จากการเข้าฉายในปีนั้นไปประมาณ 18.6 ล้านบาท[6]
คำวิจารณ์
[แก้]102 ปิดกรุงเทพปล้น นั้นถูกพูดถึงในฐานะภาพยนตร์ที่มีพื้นหลังดำเนินเรื่องภายหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ระบุว่าภาพยนตร์ดังกล่าวหยิบยกมาจากเหตุการณ์การปลดหนี้ไอเอ็มเอฟของทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งตัวร้ายของภาพยนตร์พยายามที่จะขัดขวางการชำระหนี้นั้น[7]
การตอบรับของผู้ชม
[แก้]หลังจากภาพยนตร์ออกฉาย ผู้ชมบางส่วนมองว่า 102 ปิดกรุงเทพปล้น นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมากจากภาพยนตร์เรื่อง ฮีท คนระห่ำคน เนื่องจากความคล้ายคลึงในองค์ประกอบของเรื่องหลายอย่าง[8] จนทำให้ขณะรับชมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศนั้น[8] และยังมีอีกหลายความเห็นที่มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามนำเอาฉากเด่น ๆ ของภาพยนตร์ต่างชาติมาผสมรวมกันเกินไป แต่ไม่สามารถถ่ายทำออกมาได้ดีเท่า[9]
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงพื้นหลังของตัวละครเอกฝั่งผู้ก่อการร้ายในเว็บบอร์ดพันทิป.คอม ว่าตัวละครนั้นมีความคล้ายคลึงกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษในทางลับของราชการที่ชื่อว่า ชค.514 หรือชื่อเต็มว่า ชุดควบคุมและประสานงานโครงการ 514 ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก[10] ซึ่งปฏิบัติภารกิจการการรบนอกรูปแบบในการทลายแหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่พรมแดนไทยเช่นเดียวกัน[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ภาพยนตร์ 102 ปิดกรุงเทพปล้น
- ↑ 2.0 2.1 "ฉัตรชัย ยอมรับกัด อำพล ไม่ปล่อยใน 102 ปิดกรุงเทพปล้น". SIAMZONE.COM.
- ↑ 102 ปิดกรุงเทพปล้น, สืบค้นเมื่อ 2023-01-04
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "รวมพลผู้กำกับ ถ่ายทำฉากใหญ่ 102 ปิดกรุงเทพฯ ปล้น". SIAMZONE.COM.
- ↑ "ประมวลภาพงานเปิดตัวภาพยนตร์ไทย 102 ปิดกรุงเทพปล้น (มีรูปเยอะ)". SIAMZONE.COM.
- ↑ นิตยสาร Flicks Magazine ปีที่ 2 ฉบับที่ 66 วันที่ 31 ธ.ค. 47 – 6 ม.ค. 48
- ↑ "ภาพยนตร์สนทนาหนังไทยกับวิกฤติต้มยำกุ้ง: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) Thai Film Archive". www.fapot.org.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 8.0 8.1 "Bloggang.com : : ไมเคิล คอร์เลโอเน - 102 ปิดกรุงเทพฯปล้น (2004)". BlogGang. ใช้อ้างอิงความคิดเห็นที่มีต่อภาพยนตร์
- ↑ "วิจารณ์ 102 ปิดกรุงเทพปล้น (2004)". www.siamzone.com.
- ↑ "ชค.514 กับบางส่วนของเรื่อง 102 ปิดกรุงเทพปล้น เรื่องเดียวกันรึเปล่าครับ??". Pantip.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) ใช้อ้างอิงความคิดเห็นที่มีต่อภาพยนตร์ - ↑ ม้าพยศ, ทัพหน้า โดย (2018-03-31). "หน่วยปฏิบัติการลับ ...."ชค.514"". story.pptvhd36.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-04. สืบค้นเมื่อ 2023-01-04.