บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต
บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต | |
---|---|
เนย, แก้ว, ปัญ, เจนนิษฐ์, โมบายล์, เฌอปราง, อร, น้ำหนึ่ง และมิโอริ ในงานแคตเอ็กซ์โป 4 ที่สวนสนุกวันเดอร์เวิลด์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ที่เกิด | กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
แนวเพลง | |
ช่วงปี | พ.ศ. 2560–ปัจจุบัน |
ค่ายเพลง | independent Artist Management (iAM) |
สมาชิก | 40 คน |
อดีตสมาชิก | 59 คน |
เว็บไซต์ | www |
บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต (อังกฤษ: BNK48) เป็นกลุ่มไอดอลหญิงของประเทศไทย จากบริษัท อินดิเพนเดนท์ อาร์ตทิสต์ เมเนจเมนต์ หรือไอแอม (อังกฤษ: independent Artist Management iAM)[1] และเป็นวงน้องสาวต่างประเทศลำดับที่ 2 ของกลุ่มไอดอลญี่ปุ่น เอเคบีโฟร์ตีเอต (AKB48) ภายใต้แนวคิดร่วมกันคือ "ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้" (idols you can meet) ในสังกัด บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ วงเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ. 2559 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560 พร้อมกับซิงเกิลแรกในชื่อ อยากจะได้พบเธอ ด้วยสมาชิก 30 คน ทั้งนี้ สมาชิกของวงนั้นมีจำนวนไม่แน่นอนเนื่องจากมีการเปิดรับสมาชิกรุ่นใหม่และมีการจบการศึกษาอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันวงมีสมาชิกทั้งหมด 54 คน
ในช่วงแรกได้มีการประชาสัมพันธ์วงผ่านรายการโทรทัศน์ BNK48 Senpai และผลงานเพลงตามงานโรดโชว์ต่าง ๆ จนเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 จากผลงานเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" รวมถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในไทยครั้งแรกอย่าง งานจับมือ งานถ่ายรูปคู่ งานเลือกตั้งเซ็มบัตสึ และการแสดงในโรงละคร ทำให้วงเป็นที่กล่าวถึงและมีผลงานต่าง ๆ ตามมา เช่น ผลงานเพลง ผลงานการแสดงซีรีส์และภาพยนตร์ ผลงานภาพยนตร์โฆษณาสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาหนึ่งในผลงานภาพยนตร์ของวงเรื่อง BNK48: Girls Don't Cry ได้รับรางวัลเกียรติคุณสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561 สาขาภาพยนตร์ไทยสร้างสรรค์แห่งปี โดยกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้วงได้ร่วมทำกิจกรรมการกุศลช่วยเหลือสังคมด้านต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับรางวัลบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์และสนับสนุนงานด้านผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการดีเด่น ซึ่งจัดโดยมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และรางวัลจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
บีเอ็นเคโฟร์ตีเอตมีวงน้องสาวหนึ่งวงคือ ซีจีเอ็มโฟร์ตีเอต (CGM48) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562 โดยมีที่ตั้งและทำกิจกรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก
แนวคิด
วงก่อตั้งมาด้วยแนวคิดหลักเช่นเดียวกับวงเอเคบีโฟร์ตีเอต นั่นคือ "ไอดอลที่คุณสามารถพบได้" (idols you can meet)[2] ซึ่งมีจุดประสงค์หลักคือการเปลี่ยนความคิดแบบเก่าที่ปกติแฟนคลับจะสามารถพบเจอเกิร์ลกรุ๊ปทั่วไปได้เฉพาะตามงานคอนเสิร์ตหรือรายการโทรทัศน์เท่านั้น แต่วงได้พยายามลดระยะห่างระหว่างสมาชิกและแฟนคลับโดยการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ด้วยหลากหลายวิธี อาทิเช่น การสร้างโรงละครประจำวงที่มีการแสดงทุกสัปดาห์ การจัดตั้งงานจับมือ การถ่ายทอดสดในไลฟ์สตูดิโอ (ตู้ปลา) ฯลฯ[3][4] และมีสีประจำวงเป็นสีม่วงอ่อนของดอกกล้วยไม้[5]
ที่มาของชื่อ
ปกติแล้ว ชื่อของทุกวงในเครือ 48 กรุ๊ปจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรละตินตัวใหญ่ 3 ตัวซึ่งย่อมาจากถิ่นกำเนิดของวงนั้น ๆ แล้วตามด้วยเลข "48" (อ่านเป็น "โฟร์ตีเอต") สำหรับ BNK48 แล้วนั้น คำว่า "BNK" ย่อมาจากบางกอก (BANGKOK) หรือกรุงเทพมหานคร[5] ส่วนเลข "48" มาจากนามสกุลของ โคตาโระ ชิบะ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เอเคเอส โดยคำว่า "ชิ" และ "บะ" เป็นคำพ้องเสียงของภาษาญี่ปุ่น สามารถแปลความหมายได้เป็นเลข "4" และ "8" ตามลำดับ[6]
วงน้องสาว
บีเอ็นเคโฟร์ตีเอตเป็นหนึ่งในวงน้องสาวทั้ง 12 วง และเป็นวงน้องสาวต่างประเทศลำดับที่ 2 ของเอเคบีโฟร์ตีเอต[โน้ต 1] ซึ่งวงเหล่านี้มีรูปแบบการจัดการและลักษณะคล้าย ๆ กันหลายประการ[7] อาทิเช่น การก่อตั้งโรงละครประจำวง การจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างงานเลือกตั้งเซ็มบัตสึ และหากวงน้องสาวมีต้นกำเนิดนอกประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีการออกซิงเกิลเพลงที่เป็นการแปลจากเพลงต้นฉบับของวงพี่สาวให้อยู่ในฉบับภาษาท้องถิ่น เป็นต้น รวมไปถึงระบบแลกเปลี่ยนสมาชิกที่เปิดโอกาสให้สมาชิกวงสามารถย้ายไปเป็นสมาชิกวงอื่นในเครือเดียวกันได้[8] นอกจากนี้ วงยังมีวงน้องสาวเป็นของตัวเองในประเทศไทยคือ ซีจีเอ็มโฟร์ตีเอต ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562 โดยมีที่ตั้งและทำกิจกรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก[9]
เนื้อเพลง
ยาซูชิ อากิโมโตะ เป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลงต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด[10] และเพลงหลายเพลงของวงจะเป็นการนำเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นจากวงพี่สาวอย่างเอเคบีโฟร์ตีเอตมาแปลเป็นภาษาไทย ที่ยังคงความหมายและทำนองเดิมเหมือนเพลงต้นฉบับทุกประการ ซึ่งพงศ์จักร พิษฐานพร ผู้กำกับเพลงของวงได้กล่าวไว้ว่า ข้อจำกัดข้อนี้มาจากต้นสังกัดที่ประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ต้องการให้ความหมายของเพลงผิดเพี้ยนไปมาก จึงทำให้เป็นเรื่องยากในการแต่งเพลงให้ได้อรรถรส เนื่องจากวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนไทยกับญี่ปุ่นนั้นต่างกัน แต่ถึงกระนั้น ในเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" ก็ได้มีการบิดแปลงคำศัพท์และความหมายมากกว่าเพลงอื่น ๆ ซึ่งพงศ์จักรมองว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เพลงนี้เข้าถึงกลุ่มคนฟังทั่วไปได้ง่ายกว่า[11][12]
เครื่องแต่งกาย
ชิโนบุ คายาโนะ นักออกแบบเสื้อผ้าชาวญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตและออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับวง ตัวชุดสำหรับสมาชิกแต่ละคนจะให้ความรู้สึกคล้าย "เครื่องแบบ" ประจำเพลงนั้น ๆ ที่มีลักษณะอยู่ในโทนเดียวกันทั้งหมด แต่ก็ยังมีจุดที่แตกต่างกันเล็กน้อยอยู่บ้าง อาทิเช่น มีการติดกระดุมหรือการผูกเนคไทในแต่ละจุดที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ตำแหน่งที่สมาชิกคนนั้นได้รับ[13]
จิรัฐ บวรวัฒนะ ผู้บริหารวง ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเครื่องแต่งกายเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดผู้สมัครให้เข้ามาออดิชันกับวงได้ เนื่องจากเชื่อว่าชุดเหล่านี้จะสามารถทำให้เด็กผู้หญิงเกิดความรู้สึกอยากจะสวมใส่ เพื่อที่จะได้เป็นที่จับตามองเมื่อได้ขึ้นแสดงบนเวที ชุดของวงยังถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของวงเป็นอย่างมากเพราะเป็นสัญลักษณ์ของความวัยเยาว์และความฝัน ถึงแม้จะมีคนบางกลุ่มมองว่าการออกแบบชุดเหล่านี้จะเอื้อต่อการตอบสนองโลกแฟนตาซีทางเพศของกลุ่มผู้ชายบ้างก็ตาม[14]
ปณิธาน
สมาชิกหลายคนตระหนักดีว่า "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอตเป็นเพียงทางผ่านทางหนึ่ง" เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองเข้าสู่วงการบันเทิง หรือต่อยอดสายอาชีพในอนาคตได้ง่ายขึ้น เนื่องจากทุกคนไม่ได้คาดหวังว่าจุดสำเร็จสูงสุดในชีวิตคือการได้เป็นส่วนหนึ่งของวง หากแต่จะเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่จะได้รับมากกว่า[15] และเมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครบแล้ว หรือเมื่อมองไม่เห็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง สมาชิกดังกล่าวก็จะ "จบการศึกษา" ออกจากวงเพื่อที่จะได้ทำตามปณิธานของตัวเองต่อไป[16] แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีสมาชิกบางคนที่เข้าวงมาโดยความชอบส่วนตัวเป็นหลักเช่นกัน
ในส่วนของตัววงเอง จิรัฐ บวรวัฒนะ ได้กล่าวไว้ว่าปณิธานสูงสุดคือการได้จัดตั้งคอนเสิร์ตที่ราชมังคลากีฬาสถานเป็นของตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการประสบความสำเร็จได้[16] ซึ่งในเนื้อเพลงของเพลง "วันแรก" ก็ได้มีการพูดถึงความใฝ่ฝันนี้เช่นเดียวกัน[17] นอกจากนี้จิรัฐยังได้กล่าวอีกว่าปณิธานหลักอีกอย่างคือการนำวงเข้าสู่ตลาดเพลงประเทศจีนและญี่ปุ่น รวมถึงประเทศละแวกเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม[18] โดยจะเริ่มจากผลิตซีรีส์ออกอากาศในประเทศ พม่า, ลาว, กัมพูชา, จีน และประเทศอื่น ๆ เพื่อให้วงได้เป็นที่รู้จักในประเทศดังกล่าวมากขึ้น[19]
ประวัติ
พ.ศ. 2554–2559: ก่อนเปิดตัวและการคัดเลือกสมาชิก
ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจัดตั้งวงบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2554 ยาซูชิ อากิโมโตะ ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์เอเคบีโฟร์ตีเอต ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารจีคิว (GQ)[20] และรายการทีวีวารัตเตะ อีโตโมะ[21] ของประเทศญี่ปุ่น ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งวงน้องสาวนอกประเทศญี่ปุ่นต่อจากวงเจเคทีโฟร์ตีเอต (JKT48) ซึ่งประเทศที่เป็นไปได้ก็คือประเทศไต้หวันและประเทศไทย
ช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 โรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอร์ปอเรชั่น แพ้การประมูลทีวีดิจิทัล หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ของกสทช. ทำให้บริษัทเดินหน้าทำงานเกี่ยวกับการดูแลศิลปินแทน จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ ได้ติดต่อเอเคเอส บริษัทที่จัดการและบริหารกลุ่มไอดอลญี่ปุ่นเอเคบีโฟร์ตีเอต เพื่อขอสิทธิ์มาทำวงน้องสาวในประเทศไทย[22]
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในงานคอนเสิร์ตจบการศึกษาของ มินามิ ทากาฮาชิ สมาชิกวงเอเคบีโฟร์ตีเอต ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการก่อตั้งวงน้องสาวต่างประเทศของเอเคบีโฟร์ตีเอตวงใหม่อีกสามวงด้วยกัน ซึ่งได้แก่วงทีพีอีโฟร์ตีเอต (TPE48) ประเทศไต้หวัน (ปัจจุบันปิดตัวลงและตั้งทีมใหม่ในนาม เอเคบีโฟร์ตีเอต ทีมทีพี)[23], เอ็มเอ็นแอลโฟร์ตีเอต (MNL48) ประเทศฟิลิปปินส์ และบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต (BNK48) ประเทศไทย[24]
ต่อมามีการประกาศรับสมัครสมาชิกรุ่นแรกอย่างเป็นทางการ[25] โดยเปิดรับสมัครผ่านทางเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 มีผู้สมัครทั้งหมด 1,357 คน[26] ต่อมาทีมงานได้คัดเลือกผู้เข้าสมัครจำนวน 330 คนให้ผ่านเข้ารอบครั้งต่อไปในวันที่ 5 กันยายน[27] และคัดเหลือ 80 คนในวันที่ 23 กันยายน แต่เดิมนั้นวงมีแผนที่จะเปิดตัวสมาชิกรุ่นแรกภายในปี พ.ศ. 2559 แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทำให้วงต้องระงับกิจกรรมทั้งหมดชั่วคราวถึงวันที่ 18 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคัดเลือกรอบสุดท้ายจนเหลือผู้เข้าสมัครเพียง 29 คน เป็นสมาชิกรุ่นแรกของวง[โน้ต 2]
พ.ศ. 2560: การเปิดตัวกับสมาชิกรุ่นแรกและซิงเกิล "คุกกี้เสี่ยงทาย"
วงได้ประกาศและเปิดเผยสมาชิกรุ่นแรกจำนวน 29 คนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[28][29] ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน รินะ อิซึตะ สมาชิกวงเอเคบีโฟร์ตีเอต ประกาศว่าจะเข้าร่วมวงด้วย ทำให้สมาชิกในวงทั้งหมดเพิ่มเป็น 30 คน[8] ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน พร้อมกับซิงเกิลแรกในชื่อ อยากจะได้พบเธอ ซึ่งประกอบด้วยเพลง 3 เพลงด้วยกัน ได้แก่ "อยากจะได้พบเธอ", "ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ" และ "365 วันกับเครื่องบินกระดาษ" พร้อมกับประกาศสมาชิกเซ็มบัตสึชุดแรกจำนวน 16 คน[30] ซึ่งวงได้เปิดขายแผ่นซีดีของซิงเกิลนี้ในเฉพาะระยะเวลาสั้น ๆ โดยออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม และขายได้ 13,500 ชุด[31][32] นอกจากนี้ วงยังได้จัดกิจกรรมงานจับมือเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่เซ็นทรัลพลาซา บางนา มีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 4,000 คน[33]
ต่อมาวงได้เปิดตัวเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย เป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ต 2017: 411 Fandom Party in Bangkok ร่วมกับศิลปินไทย ผลิตโชค อายนบุตร และกลุ่มดนตรีเกาหลี ไอคอน ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์[34][35] ซึ่งเป็นเพลงหลักของซิงเกิลลำดับที่ 2 ในชื่อเดียวกันที่วางจำหน่ายในวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งขายได้ 30,000 แผ่น[36] จากนั้นวงได้แสดงเพลงนี้อีกครั้งในงาน เจแปนเอกซ์โปอินไทยแลนด์ 2017 เมื่อวันที่ 1 และ 3 กันยายน ร่วมกับกลุ่มดนตรีญี่ปุ่น เวิลด์ออเดอร์ (World Order) พร้อมกับเปิดตัวเพลงรองเพลงแรกในซิงเกิลที่ 2 ชื่อเพลง "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต"[37]
ในวันที่ 10 กันยายน วรรษมณฑ์ พงษ์วานิช (คิตแคต) หนึ่งในสมาชิกรุ่นแรกของวง เป็นคนแรกที่ได้ประกาศจบการศึกษาเนื่องจากเหตุผลที่ต้องการศึกษาต่อทางสายแพทยศาสตร์ ซึ่งวงก็ได้จัดคอนเสิร์ตอำลาในวันที่ 23 กันยายน ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์[38] ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ไอรดา ธวัชผ่องศรี (ซินซิน) ได้ประกาศจบการศึกษาเช่นกัน โดยงานที่เธอเข้าร่วมเป็นครั้งสุดท้ายคือคอนเสิร์ตชื่อ บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต มินิไลฟ์แอนด์แฮนด์เชค ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่เจเจมอลล์[39] และภายในงานวงได้เปิดตัวเพลงรองอีกเพลงในซิงเกิลที่ 2 ชื่อเพลง "พลิ้ว" โดยสมาชิกยูนิตพิเศษ 7 คน รวมถึงเปิดตัวมิวสิกวีดีโอเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย"[40][41] ซึ่งหลังจากที่วงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอนั้น ด้วยทำนองและคำร้องของเพลงที่ติดหู ทำให้วงเริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วไปรวมทั้งศิลปินท่านอื่น ๆ อีกมากมาย[42]
ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม วงได้ประกาศก่อตั้งทีมบีทรี (BIII) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 24 คน[43] รวมถึงประกาศซิงเกิลลำดับที่ 3 ในชื่อเพลง วันแรก[44]
พ.ศ. 2561: อัลบั้มแรกและการเปิดตัวรุ่นที่ 2
วันที่ 13 มกราคม มีการประกาศเพลงรองอีก 2 เพลงที่จะใช้ประกอบในซิงเกิลที่ 3 ซึ่งได้แก่เพลง "ประกายน้ำตาและรอยยิ้ม" และ "คำสัญญาแห่งคริสต์มาสอีฟ" ต่อมา เจตสุภา เครือแตง (แจน) ได้ประกาศจบการศึกษาในวันที่ 29 มกราคม เนื่องจากเธอได้รับโอกาสไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น[45] เช่นเดียวกับ คริสติน ลาร์เซ่น (น้ำหอม) ที่จบการศึกษาในระยะไล่เลี่ยกัน[46] ด้วยความประสงค์ที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศเดนมาร์ก[47] ในช่วงนี้วงมีการเปิดรับสมัครสมาชิกรุ่นที่ 2 ผ่านทางเว็บไซต์จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561[48] มีผู้เข้าสมัครเป็นจำนวน 10,782 คน[49] ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ วงได้คัดเลือกให้เหลือผู้สมัครเพียง 300 คน[50] วันที่ 27 กุมภาพันธ์ วงได้เปิดจำหน่ายซีดีของซิงเกิล "วันแรก" ซึ่งมียอดขายทั้งหมด 170,000 แผ่น[51] นอกจากนี้วงยังได้รับเลือกให้เป็นทีมเชียร์หลักให้แก่ฟุตบอลทีมชาติไทย[52] และได้เปิดตัวเพลง "วันแรก" ในงานฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 46 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม[53]
วงได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบคัดเลือกสมาชิกรุ่นที่ 2 รอบสุดท้ายจำนวน 94 คนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม โดยผู้เข้ารอบทั้งหมดได้ไปปรากฏตัวที่ดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอเมื่อวันที่ 26–29 มีนาคม และ 2–3 เมษายน[54] และในวันที่ 31 มีนาคม และ 1 เมษายน ทางวงได้แสดงคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชื่อ BNK48 1st Concert Starto ณ ไบเทค บางนา ฮอลล์ 106[55] ซึ่งได้มีการแสดงเพลงรองในซิงเกิลที่ 3 ครั้งแรก ได้แก่เพลง "ประกายน้ำตาและรอยยิ้ม" และ "ความทรงจำและคำอำลา" นอกจากนี้ยังแสดงเพลงชุด "ปาร์ตี้ในฝัน" ซึ่งจะเป็นการแสดงเฉพาะสำหรับในโรงละครเท่านั้น[56] รวมไปถึงเพลง ริเวอร์ ซึ่งจะเป็นเพลงหลักในอัลบั้มรวมเพลงซิงเกิลที่ 1–3 ของวงที่ผ่านมา ซึ่งจะวางจำหน่ายในวันที่ 31 พฤษภาคม[57]
ในวันที่ 24–27 มีนาคม วงเอเคบีโฟร์ตีเอตได้เปิดโอกาสให้สมาชิกจากวงบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต สามารถเข้าร่วมสมัครงานเลือกตั้งเซ็มบัตสึประจำซิงเกิลที่ 53 ได้ มีผู้ลงสมัครจากวงเป็นจำนวน 10 คน และเป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตให้วงน้องสาวนอกประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมกิจกรรมได้[58] ซึ่งเฌอปราง อารีย์กุล และแพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค) ได้อันดับที่ 39 และ 72 ตามลำดับ[59] ต่อมาวันที่ 29 เมษายน วงได้ประกาศและเปิดเผยสมาชิกรุ่นที่ 2 จำนวน 27 คน[60][61] ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 17 กรกฎาคม ด้วยเพลงประจำรุ่นอย่าง "ฤดูใหม่" ที่เป็นเพลงรองในซิงเกิลลำดับที่ 4 ชื่อ เธอคือ...เมโลดี้[62] ซึ่งมียอดขายสุทธิ 340,000 แผ่น[63] ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม นายิกา ศรีเนียน (แคน) ได้ประกาศจบการศึกษา โดยงานที่เธอเข้าร่วมเป็นครั้งสุดท้ายคือการแสดงในโรงละครในวันที่ 26 สิงหาคม[64] และในวันที่ 18–19 สิงหาคม วงได้ประกาศสมาชิกเซ็มบัตสึในเพลง "เธอคือ...เมโลดี้" ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 21 คน (จากเดิม 16 คน)[65] และเพลงรอง "หมื่นเส้นทาง" นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษสำหรับเซ็นเตอร์เพลง "หมื่นเส้นทาง" ซึ่งได้แก่ จิรดาภา อินทจักร (ปูเป้) ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นคนอำนวยการผลิตคอนเสิร์ตชื่อ BNK48 D-DAY Jiradapa Produced Concert โดยในการแสดงจะต้องให้สมาชิกทั้ง 5 คนที่ไม่เคยติดเซ็มบัตสึของเพลงหลักทั้ง 4 ซิงเกิลมาก่อน มาแสดงในตำแหน่ง "เซ็นเตอร์" อย่างน้อยคนละ 1 เพลง ซึ่งมีการจัดคอนเสิร์ตในวันที่ 23 ตุลาคม[66]
ในวันที่ 15 กันยายน วงได้จัดคอนเสิร์ตแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายที่รวมสมาชิกทั้งรุ่นที่ 1 และ 2 ไว้ด้วยกัน ในชื่อ BNK48 1st 2gether Concert ณ ลานกิจกรรมเซ็นทรัลเวิลด์[67] ซึ่งในงานนี้วงได้แสดงเพลง "เธอคือ...เมโลดี้" และเพลง "หมื่นเส้นทาง" เป็นครั้งแรก พร้อมยูนิตพิเศษของเฌอปรางและแพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค) ในเพลง "ถึงแม้จะมีน้ำตา" ซึ่งเป็นเพลงที่ทั้งคู่ได้แสดงในงานขอบคุณตำแหน่งเลือกตั้งเซ็มบัตสึประจำซิงเกิลที่ 53 ที่ประเทศญี่ปุ่น[68] ต่อมาวันที่ 28 กันยายน เมษา จีนะวิจารณะ (เมษา) ได้ประกาศจบการศึกษา โดยงานที่เธอเข้าร่วมเป็นครั้งสุดท้ายคืองานถ่ายรูปคู่ (2-Shot) ของวันที่ 21 ตุลาคม[69] และในวันที่ 30 กันยายน วงได้ประกาศซิงเกิลลำดับที่ 5 ชื่อ บีเอ็นเคเฟสติวัล ซึ่งประกอบด้วยเพลงรองสองเพลง ได้แก่ "คิดถึง..." และ "ถึงแม้จะมีน้ำตา" พร้อมประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 6[70] ต่อมาในวันที่ 24–25 พฤศจิกายน วงได้เปิดตัวเพลง "บีเอ็นเคเฟสติวัล" และเพลง "คิดถึง..." เป็นครั้งแรกในงาน TOYOTA Master CS:GO Bangkok 2018[71]
และในวันที่ 22–23 ธันวาคม วงได้จัดกิจกรรมพิเศษส่งท้ายปี ที่เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ในชื่อ BNK48 Fan Festival 2018 รวมพลคนรักบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ภายในงานประกอบไปด้วยนิทรรศการแฟนเฟสติวัล, กิจกรรมบนเวที และโชว์พิเศษจากวงและแฟนคลับของแต่ละสมาชิก[72]
พ.ศ. 2562: งานเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งแรก
วันที่ 26 มกราคม รอบเช้าวงได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่ 2 ในชื่อ BNK48 Space Mission Concert ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี[73] ส่วนรอบเย็นได้จัดงานประกาศผลการเลือกตั้งเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 6 ณ สถานที่เดียวกัน[74] ซึ่งในการเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งแรกนี้ ผู้ที่ได้อันดับ 1 ได้แก่ เฌอปราง อารีย์กุล[75] ได้เป็นเซ็นเตอร์ในซิงเกิลลำดับที่ 6 ชื่อ บีกินเนอร์ ซึ่งประกาศชื่อซิงเกิลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์[76] และในวันที่ 2 มีนาคม วงเปิดตัวเพลง "บีกินเนอร์" และเพลงรองในซิงเกิลที่ 6 ชื่อเพลง "ก็เพราะว่าชอบเธอ" ครั้งแรกในคอนเสิร์ตขอบคุณงานเลือกตั้งในชื่อ BNK48 Thank you and The Beginner ที่ลานฮาร์ดร็อคคาเฟ่ สยามสแควร์[77] ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม วงได้เปิดเผยเพลงรองอีกเพลงในซิงเกิลที่ 6 ชื่อเพลง "Let U Go" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Where We Belong[78] และเป็นเพลงแรกที่วงได้ทำเพลงเป็นของตัวเอง[79]
วันที่ 7 เมษายน วงได้ประกาศรายละเอียดอัลบั้มที่ 2 ของวงในชื่ออัลบั้ม จาบาจา[80] ซึ่งประกอบไปด้วยเพลงหลักชื่อเดียวกับอัลบั้ม, เพลงรอง "รีบอร์น" และเพลง "บ๊ายบาย…นายพลาสติก" ซึ่งเป็นเพลงประกอบโฆษณาของเซเว่น อีเลฟเว่น[81] รวมถึงเพลงจากซิงเกิลที่ 4–6 ของวงที่ผ่านมาด้วย ต่อมาวันที่ 7–8 พฤษภาคม วงได้จัดคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกของ ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ (แก้ว) ในชื่อ BNK48 A Passage To Fly จัดแสดงทั้งหมด 2 รอบ ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ[82] วันที่ 2 มิถุนายน วงประกาศจัดตั้งวงน้องสาววงใหม่ในประเทศไทยในชื่อวงซีจีเอ็มโฟร์ตีเอต (อังกฤษ: CGM48) โดยมีที่ตั้งและทำกิจกรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก[9] และต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน พิมพ์นิภา ตั้งสกุล (ดีนี่) ได้ประกาศจบการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นที่ 2 คนแรกที่ประกาศจบการศึกษาเนื่องด้วยเหตุผลทางการศึกษา โดยงานที่เธอเข้าร่วมเป็นครั้งสุดท้ายคืองานจับมือของวันที่ 11 สิงหาคม[83]
วันที่ 5 กรกฎาคม วงเปิดตัวอัลบั้มลำดับที่ 2 และเปิดตัวเพลง "จาบาจา" พร้อมมิวสิกวีดีโอ และเพลง "รีบอร์น" ในงาน Everybody Says Jabaja at Iconsiam[84] ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม ในงานเปิดตัววงน้องสาว CGM48 We Need You เจ้า ได้มีการประกาศย้ายสมาชิก ประกอบด้วย รินะ อิซึตะ และ ปุณยวีร์ จึงเจริญ (ออม) โดยทั้ง 2 คนจะย้ายไปในสถานะสมาชิกวงซีจีเอ็มโฟร์ตีเอต พร้อมรับตำแหน่งผู้จัดการวงและหัวหน้าวงตามลำดับ ซึ่งจะมีผลเมื่อซีจีเอ็มโฟร์ตีเอตประกาศสมาชิกรุ่นแรก[85] วันที่ 30 สิงหาคม นวพร จันทร์สุข (เค้ก) ได้ประกาศจบการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นที่ 2 คนที่สองที่ประกาศจบการศึกษาเนื่องด้วยเหตุผลทางการศึกษา โดยงานที่เธอเข้าร่วมเป็นครั้งสุดท้ายคืองานจับมือของวันที่ 21 กันยายน[86]
วันที่ 1 กันยายน วงได้เปิดตัวยูนิตมิมิกูโมะ ที่งาน Nippon Haku Bangkok 2019[87] วันที่ 7 กันยายน วงได้จัดงาน เทศกาลกีฬาบางกอก ๔๘ ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก[88] วันที่ 5 ตุลาคม วงได้เปิดตัวมิวสิกวิดีโอเพลง Candy[89] ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม วงได้ประกาศจัดงานคอนเสิร์ตของ BNK48 รุ่นที่ 2 โดยคอนเสิร์ตมีชื่อว่า BNK48 2nd Generation Concert “Blooming Season” จัดขึ้นวันเสาร์ ที่ 2 พฤศจิกายน ที่ BITEC Bangna Hall 106[90] วันที่ 14 ตุลาคม วงได้ประกาศจัดงานแฟนมีตของเฌอปราง โดยงานมีชื่อว่า Cherprangs Fanmeet - Me and My Cats จัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน ที่ MCC Hall เดอะมอลล์บางกะปิ[91] วันที่ 30 ตุลาคม วงได้เปิดตัวเพลง 77 ดินแดนแสนวิเศษ พร้อมมิวสิกวิดีโอในงาน BNK48: The Journey to 7th Single ณ ลาน เดอะสตรีท รัชดา[92] ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน มะอิระ คูยามา (มัยร่า) ได้ประกาศจบการศึกษา เป็นสมาชิกรุ่นที่ 2 คนที่สามที่ประกาศจบการศึกษา โดยงานที่เธอเข้าร่วมเป็นครั้งสุดท้ายคืองานจับมือของวันที่ 7 ธันวาคม[93]
วันที่ 16 พฤศจิกายน วงได้ก่อตั้งทีมเอ็นไฟว์ (Team NV) โดยมีการประกาศสมาชิกทีมใหม่ เนื่องจากมีการสับเปลี่ยนสมาชิกจากทีมบีทรีเดิมมาอยู่ทีมเอ็นไฟว์[94] วันที่ 18 พฤศจิกายน วงได้ประกาศจัดงานแฟนมีตของยูนิตมิมิกูโมะ โดยงานมีชื่อว่า Mimigumo 1st Fanmeet “Secret of Mimigumo” จัดขึ้นวันเสาร์ที่ 21 และวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม ที่ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน[95] วันที่ 29 พฤศจิกายน วงได้เปิดตัวมิวสิกวีดีโอเพลง Myujikkii ที่งาน มหกรรมการเงินส่งท้ายปี ครั้งที่ 3 Money Expo Year-End 2019[96] วันที่ 4 ธันวาคม วงได้เปิดตัวดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอ ที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์[97] วันที่ 8 ธันวาคม วงได้ประกาศเพลงของซิงเกิลที่ 8 ทั้ง 3 เพลง และได้ประกาศจัดงาน BNK48 9th Single Senbatsu General Election (งานเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งที่ 2)[98] วันที่ 22 ธันวาคม วงได้เปิดตัวมิวสิกวิดีโอเพลง Heart Gata Virus (หัวใจไวรัส) ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม วงได้ประกาศรับสมาชิกรุ่นที่ 3 ณ โรงละครของวง[99]
พ.ศ. 2563: งานเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งที่สอง การเปิดตัวรุ่นที่ 3 และงานเป่ายิ้งฉุบเลือกเซ็มบัตสึครั้งแรก
วันที่ 17 มกราคม ดุสิตา กิติสาระกุลชัย (แนทเธอรีน) และณัชชา กฤษฎาสิมะ (อุ้ม) ได้ประกาศจบการศึกษา โดยทั้งสองเป็นสมาชิกรุ่นที่ 2 คนที่ 4 และ 5 ที่ประกาศจบการศึกษา งานสุดท้ายที่แนทเธอรีนและอุ้มเข้าร่วมคืองานจับมือ BNK48 7th Single 77 no Suteki na Machi e Handshake Event วันที่ 15–16 กุมภาพันธ์[100] ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มนัญญา เกาะจู (นิ้ง) ได้ประกาศจบการศึกษา โดยกิจกรรมสุดท้ายที่นิ้งเข้าร่วมคืองานจับมือ BNK48 7th Single 77 no Suteki na Machi e Handshake Event วันที่ 15–16 กุมภาพันธ์ เช่นกัน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ วงได้เปิดตัวเพลง ไฮเทนชัน พร้อมมิวสิกวิดีโอในงาน BNK48: Welcome to High Tension Company ณ ลานรีเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม[101] วันที่ 19 เมษายน มีการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 9 ซึ่งในการเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งนี้ ผู้ที่ได้อันดับ 1 ได้แก่ กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์ (เจน) ได้เป็นเซ็นเตอร์ในซิงเกิลลำดับที่ 9[102] วันที่ 11 มิถุนายน เพลินพิชญา โกมลารชุน (จูเน่) ประกาศจบการศึกษา แต่ยังคงเป็นศิลปินในค่าย iAM โดยจูเน่เป็นสมาชิกรุ่นที่ 2 คนที่ 6 ที่ประกาศจบการศึกษา[103] วันที่ 26 กรกฎาคม วงได้เปิดตัวเพลง เฮฟวีโรเทชัน พร้อมมิวสิควิดีโอในงาน BNK48 Wonderland ณ อัลตร้า อารีน่า ฮอลล์ โชว์ดีซี[104] วันที่ 9 สิงหาคม วงเปิดตัวสมาชิกรุ่นที่ 3 จำนวน 19 คน[105] วันที่ 26 กันยายน มีการจัดงานเป่ายิ้งฉุบเลือกเซ็มบัตสึครั้งแรกในชื่อ "BNK48 JANKEN Tournament 2020 – The Senbatsu of Destiny" ที่ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ ซึ่งเป็นงานที่ใช้การแข่งขันเป่ายิ้งฉุบในการเลือกเซ็มบัตสึเพลงหลักของอัลบั้มที่สามของวง[106] ซึ่งผู้ชนะเลิศได้แก่ ณัฐกุล พิมพ์ธงชัยกุล (จีจี้) ได้เป็นเซ็นเตอร์เพลงหลักอัลบั้มที่สาม[107] ต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน จุฑามาศ คลทา (เข่ง) และ ปวีณ์ธิดา สกุลพิพัฒน์ (ฟีฟ่า) ได้ประกาศจบการศึกษาเป็นคนที่ 7 และ 8 ของรุ่นที่ 2 ตามลำดับ โดยฟีฟ่ายังคงเป็นศิลปินในค่าย iAM ส่วนงานสุดท้ายที่ทั้ง 2 คนเข้าร่วมคือการแสดงแบบเดี่ยวในโรงละคร โดยเข่งจะแสดงในวันที่ 4 ธันวาคม[108] ส่วนฟีฟ่าจะแสดงภายในสิ้นเดือนธันวาคม[109] วันที่ 29 พฤศจิกายน วงได้ประกาศรายละเอียดอัลบั้มที่ 3 ของวงในชื่ออัลบั้ม วาโรตะพีเพิล ซึ่งประกอบไปด้วยเพลงหลักชื่อเดียวกับอัลบั้ม เพลงจากซิงเกิลที่ 7–9 ของวง รวมถึงเพลงประกอบสารคดี วันเทก, ซีรีส์ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ และภาพยนตร์ ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้[110]
ในปีเดียวกัน มีการตั้งไลร่า (Lyra) เป็นกลุ่มย่อย (ยูนิต) ที่ 2 เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตและยูนิเวอร์แซลมิวสิกกรุป[111] ซิงเกิลแรกของยูนิต "LYRA" เผยแพร่ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563[112] ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีการประกาศเปลี่ยนชื่อยูนิตเป็นไวร่า (Vyra)[113] หลังจากกานต์ธีรา วัชรทัศนกุล (เนย) ประกาศยุติบทบาทการเป็นสมาชิกในยูนิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[114]
พ.ศ. 2564–2565
วันที่ 8 มกราคม วงได้เปิดตัวเพลง วาโรตะพีเพิล เพลงหลักของอัลบั้มที่สาม[115] ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล (มิวนิค) ได้ประกาศจบการศึกษาเป็นคนที่ 9 ของรุ่นที่ 2 ด้วยเหตุผลทางการศึกษาและปัญหาเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้ยังคงเป็นศิลปินในค่าย iAM อยู่ ส่วนงานสุดท้ายคือการแสดงแบบเดี่ยวในโรงละครซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมกับการแสดงในวันเกิด ในช่วงกลางถึงปลายเดือนพฤษภาคม[116] วันที่ 19 มีนาคม วงประกาศว่าสุมิตตา ดวงแก้ว (ฝ้าย) และณัฐกฤตา สังดำหรุ (จีจี้) พ้นจากการเป็นสมาชิกวง[117] วันที่ 2 มิถุนายน วงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลง ดีอะ ซึ่งเป็นซิงเกิลลำดับที่ 10[118]
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 วงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลง เฟิสต์แรบบิต ซึ่งเป็นเพลงเปิดตัวรุ่นที่ 3[119] ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม วงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลง ซาโยนาระครอวล์ ซึ่งเป็นซิงเกิลลำดับที่ 11[120] วันที่ 9 เมษายน มีการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 12 ซึ่งในการเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งนี้ ผู้ที่ได้อันดับ 1 ได้แก่ พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค (โมบายล์) ได้เป็นเซ็นเตอร์ในซิงเกิลลำดับที่ 12[121] และในงานเดียวกันนี้ แพรวา สุธรรมพงษ์ ได้ประกาศจบการศึกษา โดยเธอจะยังเป็นสมาชิกของวงไปจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2565[122] วันที่ 24 เมษายน จณิสตา ตันศิริ (แบมบู) ได้ประกาศจบการศึกษาเป็นคนที่ 10 ของรุ่นที่ 2 ด้วยเหตุผลทางการศึกษา โดยงานสุดท้ายที่แบมบูจะเข้าร่วมคืองานจับมือวันที่ 14–15 พฤษภาคม และการแสดงแบบเดี่ยวในโรงละครจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤกษาคม[123] วันที่ 12 พฤษภาคม กมนธิดา โรจน์ทวีนิธิ (วิว) ได้ประกาศจบการศึกษาเป็นคนที่ 11 ของรุ่นที่ 2 ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ[124] วันที่ 28 สิงหาคม วงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลง บีลีฟเวอส์ ซึ่งเป็นซิงเกิลลำดับที่ 12[125]
ต่อมาในเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน สมาชิกวงรุ่นที่หนึ่ง ได้แก่ พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค (โมบายล์) วรัทยา ดีสมเลิศ (ไข่มุก) เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ (เจนนิษฐ์) สุชญา แสนโคต (จิ๊บ) วฑูศิริ ภูวปัญญาสิริ (ก่อน) พิชญาภา นาถา (น้ำใส) พัศชนันท์ เจียจิรโชติ (อร) ณปภัช วรพฤทธานนท์ (จ๋า) กุลจิราณัฐ วรรักษา (เจน) กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล (เนย) ปัญสิกรณ์ ติยะกร (ปัญ) อิสราภา ธวัชภักดี (ตาหวาน) รินรดา อินทร์ไธสง (เปี่ยม) มิลิน ดอกเทียน (น้ำหนึ่ง) จิรดาภา อินทจักร (ปูเป้) กรภัทร์ นิลประภา (เคท) ปณิศา ศรีละเลิง (มายด์) และณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ (แก้ว) ได้ประกาศจบการศึกษา โดยพวกเธอจะยังเป็นสมาชิกของวงไปจนถึงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565[a] วันที่ 30 ตุลาคม วงเปิดตัวสมาชิกรุ่นที่ 4 จำนวน 11 คน[135] วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 วงจัดคอนเสิร์ตอำลาสมาชิกรุ่นแรกที่ประกาศจบการศึกษาไปก่อนหน้านี้ 19 คน ในชื่อ BNK48 1st Generation Concert "Dan D'1ion" ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค[140] และต่อมา วันที่ 28 ธันวาคม ในงาน BNK48 Digital Live Studio: New Year Special 2023 ณัฐพล บวรวัฒนะ ประธานฝ่ายปฏิบัติการบริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ ประกาศแต่งตั้งให้ เฌอปราง อารีย์กุล เป็นชิไฮนิน (ผู้จัดการวง) ควบคู่กัปตันและสมาชิกวง รวมถึงรับหน้าที่ดูแลในส่วนของเธียเตอร์และประสานงานกับทางสมาชิกวงเป็นหลัก และในขณะเดียวกัน ทางวงได้ประกาศซิงเกิลลำดับที่ 13 ชื่อ อีวาเกะเมย์บี รวมไปถึงเพลง โชวโจตาจิ โยะ ซึ่งเป็นเพลงเปิดตัวรุ่นที่ 4[141]
พ.ศ. 2566
วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 ณิชารีย์ วชิรลาภไพฑูรย์ (พิม) ได้ประกาศจบการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นที่ 3 คนแรกที่ประกาศจบการศึกษา แต่ยังคงเป็นศิลปินในสังกัด iAM โดยงานสุดท้ายที่พิมจะเข้าร่วมคือการแสดงแบบเดี่ยวในโรงละคร โดยพิมจะแสดงในวันที่ 15 มกราคม ซึ่งเป็นการแสดงรอบสุดท้ายของโรงละครบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต เดอะแคมปัส ก่อนทางห้างเดอะมอลล์บางกะปิจะทำการปิดปรับปรุง[142]วันที่ 3 กุมภาพันธ์ วงเปิดตัวสมาชิกรุ่นที่ 4 จำนวน 11 คน พร้อมเปิดตัวมิวสิกวิดีโอเพลง โชวโจตาจิ โยะ ในงาน Japan Expo 2023 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[143] วันที่ 26 กุมภาพันธ์ วงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลง อีวาเกะเมย์บี ซึ่งเป็นซิงเกิลลำดับที่ 13[144] วันที่ 12 มีนาคม สาริศา วรสุนทร (แพมแพม) ได้ประกาศจบการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นที่ 3 คนที่ 2 ที่ประกาศจบการศึกษา[145] วันที่ 9 เมษายน มีการจัดงานเป่ายิ้งฉุบเลือกเซ็มบัตสึครั้งที่สองในชื่อ "BNK48 JANKEN Tournament 2023 – The Senbatsu of Destiny" ที่ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ ซึ่งผู้ชนะเลิศได้แก่ นภัสนันท์ ธรรมบัวชา (แองเจิ้ล) ได้เป็นเซ็นเตอร์เพลงหลักอัลบั้มที่สี่[146] โดยในงานนี้เฌอปราง อารีย์กุล สมาชิกรุ่นที่ 1 ได้ประกาศจบการศึกษา โดยเธอจะยังคงเป็นผู้จัดการวงต่อไป[147] วันที่ 18 มิถุนายน วงเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง สัญญานะ ซึ่งเป็นซิงเกิลลำดับที่ 14[148] วันที่ 3 กันยายน วงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลง กิงงัมเช็ก ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ 4 ของวง[149] วันที่ 16 กันยายน มิโอริ โอคุโบะ สมาชิกรุ่นที่ 1 ได้ประกาศจบการศึกษา โดยเธอจะยังร่วมกิจกรรมกับวงจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566[150] วันที่ 2 ธันวาคม วงเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง แค่นี้ก็พอใจแล้ว ซึ่งเป็นซิงเกิลลำดับที่ 15 วันที่ 9 ธันวาคม มีการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 16 ซึ่งในการเลือกตั้งเซ็มบัตสึครั้งนี้ ผู้ที่ได้อันดับ 1 ได้แก่ พรวารินทร์ วงศ์ตระกูลกิจ (พิม) ได้เป็นเซ็นเตอร์ในซิงเกิลลำดับที่ 16[151]
พ.ศ.2567
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ วงได้เปิดตัวเพลง Kiss Me! (ให้ฉันได้รู้) ซึ่งเป็นซิงเกิ้ลลำดับที่ 16 พร้อมมิวสิกวิดีโอในงาน BNK48 16th SINGLE “Kiss Me!” FIRST PERFORMANCE ณ ลาน เอาท์ดอร์สแควร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวสมาชิกรุ่นที่ 5 จำนวน 12 คน [152] วันที่ 26 กุมภาพันธ์ สมาชิกวงรุ่นที่สอง ได้แก่ ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา (ฟ้อนด์) ณัฐกุล พิมพ์ธงชัยกุล (จีจี้) มณิภา รู้ปัญญา (ขมิ้น) รชยา ทัพพ์คุณานนต์ (มินมิน) กวิสรา สิงห์ปลอด (มายยู) ชัญญาภัค นุ่มประสพ (นิว) วรินท์รัตน์ ยลประสงค์ (นิกี้) ภัทรนรินทร์ เหมือนฤทธิ์ (นาย) พาขวัญ น้อยใจบุญ (พาขวัญ) จิดาภา แช่มช้อย (แพนด้า) สิริการย์ ชินวัชร์สุวรรณ (ผักขม) รตา ชินกระจ่างกิจ (รตา) ตริษา ปรีชาตั้งกิจ (สตางค์) และวีรยา จาง (วี) ได้ประกาศจบการศึกษา โดยพวกเธอจะยังเป็นสมาชิกของวงไปจนถึงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2567[153]
สมาชิก
จำนวนสมาชิกของวงมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งเนื่องจากมีการเปิดรับสมาชิกรุ่นใหม่ การจบการศึกษา และการแลกเปลี่ยนสมาชิกกับวงพี่น้อง ปัจจุบันวงมีสมาชิกทั้งหมด 36 คน แบ่งออกเป็นสมาชิกทีมบีทรี (BⅢ) 12 คน สมาชิกทีมเอ็นไฟว์ (NV) 9 คน และสมาชิกฝึกหัด 15 คน[154][155] โดยมีเฌอปราง อารีย์กุล เป็นผู้จัดการวง ปาฏลี ประเสริฐธีระชัย เป็นหัวหน้าวงและหัวหน้าทีมบีทรี และ ภัทรนรินทร์ เหมือนฤทธิ์ เป็นหัวหน้าทีมเอ็นไฟว์[155]
ระบบเซ็มบัตสึ
เนื่องจากวงมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะกระจายเวลาออกอากาศให้กับทุกคนเท่า ๆ กัน จึงมีการจัดตั้งระบบการคัดเลือกสมาชิกพิเศษสำหรับแต่ละซิงเกิลขึ้นมา สมาชิกเหล่านี้จะเรียกกันว่า "เซ็มบัตสึ" และจะมีเวลาออกอากาศมากกว่าคนอื่นจนกว่าจะสิ้นสุดเวลาการประชาสัมพันธ์ของซิงเกิลนั้น ๆ[156] การคัดเลือกเซ็มบัตสึเป็นไปตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร เว้นแต่ในบางกรณีที่แฟนคลับสามารถลงคะแนนโหวตเองได้ โดยส่วนมากแล้วเซ็มบัตสึจะมีเพียง 16 คนต่อซิงเกิลเท่านั้น เว้นแต่ในซิงเกิล "เธอคือ...เมโลดี้" ที่มี 21 คน, 77 ดินแดนแสนวิเศษ ที่มี 24 คน และ ซาโยนาระครอวล์ ที่มี 32 คน
ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นเซ็มบัตสึในซิงเกิลนั้น ๆ จะเรียกกันว่า "อันเดอร์"[157] มีหน้าที่คอยแลกเปลี่ยนตำแหน่งกับเซ็มบัตสึในกรณีที่เซ็มบัตสึไม่สามารถออกงานได้[158]
การแบ่งทีม
จุดประสงค์ของทีมมีไว้เพื่อแบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อที่แต่ละกลุ่มจะสามารถผลัดหมุนเวียนกันขึ้นแสดงในโรงละครของวงได้เนื่องจากในแต่ละสัปดาห์มีการแสดงบ่อยครั้ง[159] การแบ่งทีมนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของฝ่ายบริหารเช่นเดียวกับการคัดเลือกเซ็มบัตสึ ส่วนสมาชิกที่ยังไม่ได้รับการเลื่อนขั้นให้สังกัดทีมใดทีมหนึ่งจะดำรงสถานะสมาชิกฝึกหัด (เค็งกีวเซ)[160][161] และจะขึ้นแสดงในโรงละครกับสมาชิกฝึกหัดด้วยกันเป็นส่วนมาก สมาชิกวงทุกคนที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้ามาใหม่จะอยู่ในสถานะสมาชิกฝึกหัดจนกว่าจะได้รับการเลื่อนขั้น[158]
ทีมแรกของวงมีชื่อว่าทีมบีทรี (Team BⅢ) ซึ่งเป็นการนำตัวอักษรโรมันตัวแรกจากชื่อวงมาเป็นชื่อทีม ตามด้วยเลขโรมันที่บ่งบอกถึงลำดับการตั้ง "ทีมบี" (Team B) ใน 48 กรุ๊ปทั้งหมด[162] ในกรณีนี้ "ทีมบี" ของวง ก่อตั้งมาเป็นลำดับที่ 3 เนื่องจากมีทีมบีมาก่อนสองทีมคือ "ทีมบี" (Team B) ของเอเคบีโฟร์ตีเอต และ "ทีมบีทู" (Team BII) ของเอ็นเอ็มบีโฟร์ตีเอต[43]
ทีมที่สองของวงมีชื่อว่าทีมเอ็นไฟว์ (Team NV) ซึ่งเป็นการนำตัวอักษรโรมันตัวที่สองจากชื่อวงมาเป็นชื่อทีม ตามด้วยเลขโรมันที่บ่งบอกถึงลำดับการตั้ง "ทีมเอ็น" (Team N) ใน 48 กรุ๊ปทั้งหมด[162] ในกรณีนี้ "ทีมเอ็น" ของวง ก่อตั้งมาเป็นลำดับที่ 5 เนื่องจากมีทีมเอ็นมาก่อนสี่ทีมคือ ทีมเอ็น (Team N) ของเอ็นเอ็มบีโฟร์ตีเอต ทีมเอ็นทู (Team NII) ของเอสเอ็นเอชโฟร์ตีเอต ทีมเอ็นทรี (Team NIII) ของเอ็นจีทีโฟร์ตีเอต และทีมเอ็นโฟร์ (Team NIV) ของเอ็มเอ็นแอลโฟร์ตีเอต
การจบการศึกษา
สมาชิกทุกคนมีสิทธิ์ออกจากวงได้โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดสัญญา ซึ่งปกติแล้วการออกจากวงจะใช้คำว่า "จบการศึกษา" เป็นหลัก[163] และจะมีการจัดพีธีจบการศึกษาให้แก่สมาชิกที่โรงละครของวงพร้อมกับสมาชิกคนอื่นในทีมที่สมาชิกคนนั้นสังกัดอยู่[164] หรือบางครั้งอาจจัดเป็นคอนเสิร์ตจบการศึกษาให้แทน หลังจากนั้นสมาชิกดังกล่าวจะมาปลดรูปตนเองออกจากโรงละคร จึงจะถือเป็นการจบพิธีโดยสมบูรณ์ สมาชิกที่ออกจากวงไปแล้วจะไม่สามารถร่วมงานกับวงได้อีก แต่ทั้งนี้อาจยังอยู่ในสังกัด บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ ต่อได้ เหตุผลในการจบการศึกษาของสมาชิกมีหลากหลาย แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นประเด็นเรื่องการศึกษาเป็นหลัก
ยูนิตย่อย
มิมิกูโมะ
มิมิกูโมะ เป็นกลุ่มยูนิตย่อย กลุ่มแรกของวง โดยแสดงเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562[87]
ประวัติ
ยูนิต Mimigumo หมายความถึง “ก้อนเมฆมีหู” ซึ่งผสมคำจาก Mimi (耳) กับ Kumo (雲) ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ มิวสิค (แพรวา สุธรรมพงษ์), ไข่มุก (วรัทยา ดีสมเลิศ), จ๋า (ณปภัช วรพฤทธานนท์) มีที่มาจาก จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ (ชื่อขณะนั้น) มอบโอกาสให้สมาชิกของวงแต่ละคนนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ตัวต่อตัวถึงสิ่งใหม่ที่อยากทำในวง โดยมิวสิคต้องการนำเสนอการแสดงที่มีแนวทางน่ารักมากกว่าที่ผ่านมา คือให้เป็นแบบไอดอลสายหลักในญี่ปุ่น จึงได้อนุมัติและให้รวบรวมอีก 2 คน มิวสิคจึงชวนไข่มุกและจ๋าเข้าร่วมด้วย การแสดงเปิดตัวครั้งแรก ในงาน Nippon Haku 2019 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 วางจำหน่ายครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562[165]
สมาชิก
- แพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค)
- วรัทยา ดีสมเลิศ (ไข่มุก)
- ณปภัช วรพฤทธานนท์ (จ๋า)
ซิงเกิล
ยูนิตพิเศษ
คาร์ร่า
เกิร์ลกรุปสัญชาติไทย ก่อตั้งโดยอินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ และยูนิเวอร์แซลมิวสิก ประเทศไทย
อิหล่า (eRAA)
โปรเจกต์เพลงอีสานประกอบด้วย 6 สมาชิกอย่าง พาขวัญ (พาขวัญ น้อยใจบุญ), เอิร์ธ (นภสรณ์ ศิริปาณี), อีฟ (อิสรีย์ ทวีกุลพาณิชย์), จีจี้(ณัฐกุล พิมพ์ธงชัยกุล), แพนเค้ก (พิทยาภรณ์ เกียรติฐิตินันท์) และ ออม (ปุณยวีร์ จึงเจริญ)
การจัดการ
บริษัท บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ จำกัด (BNK48 Office) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการวงโดยเฉพาะ[166] ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างแพลน บี มีเดีย 35%, โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ 34.8%, บริษัทในประเทศจีน 15.2% และเอเคเอส 15%[167] โดยสมาชิกวงแต่ละคนจะได้รับสัญญา 6 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาใหม่ได้[168] ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นาย จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในขณะนั้นได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ จำกัด เป็นบริษัท Independent Artist Management จำกัด หรือ iAM[169]
การเงิน
จิรัฐ บวรวัฒนะ กล่าวว่าบริษัทได้ลงทุนเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2560 และ 2561 โดยคาดหวังว่าจะคืนทุนได้ในปี พ.ศ. 2562[167] ซึ่งจิรัฐได้กล่าวอีกว่าจะทำการประชาสัมพันธ์วงนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นส่วนมาก และรายได้หลักจะมาจาก 3 ช่องทางเท่า ๆ กันคือ การขายสปอนเซอร์ชิพให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ว่าจ้างสมาชิกให้เป็นพรีเซ็นเตอร์, การขายสินค้าที่ระลึก เช่น รูปถ่าย เสื้อผ้า ของสะสม แผ่นซีดี ฯลฯ, และการขายบัตรคอนเสิร์ตกับบัตรเข้าชมการแสดงในโรงละคร[170] นอกจากนี้วงยังได้รับการสนับสนุนจากคูลเจแปน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินให้แก่วงน้องสาวต่างประเทศของเอเคบีโฟร์ตีเอต[171]
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561 วงได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ "บีเอ็นเค โปรดักชั่น" (BNK Production) โดยการร่วมทุนระหว่างเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ 50%, บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ 49.99% และจิรัฐ บวรวัฒนะ 0.01% ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 4 ล้านบาท มีจุดประสงค์หลักคือการผลิตรายการโทรทัศน์และงานคอนเสิร์ต[172] โดยในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 บริษัทบีเอ็นเค โปรดักชั่นได้ประกาศเลิกกิจการ [173] นอกจากนี้ วัฒนพงษ์ ใจวาท คอลัมนิสต์แบรนด์อินไซด์ ยังได้ให้การประเมินว่าปัจจุบันวงมีมูลค่าประมาณ 520.7 ล้านบาท[174]
ข้อวิจารณ์
หลายครั้งที่ผ่านมา บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ มักได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานและจัดส่งของช้ากว่ากำหนด[175][176] นักวิจารณ์บางคนได้ตั้งข้อสงสัยและคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายของบริษัทที่จะบรรลุผลตามได้เป้า โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลมาจากการจัดการวงที่ไม่ได้คุณภาพ และขาดแผนการในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล คอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นและผู้ดำเนินรายการท่องเที่ยว ได้มองว่าบริษัท "ยังไม่มีความพร้อม" เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี และไม่สามารถวางแผนกิจกรรมหรือประกาศรายละเอียดได้ก่อนเนื่องจากต้องมีการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าชม นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่ายอดขายรวมของซิงเกิลแรกอยู่ที่ 13,500 แผ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของกลุ่มนั้นมีฐานกลุ่มคนดูที่เฉพาะ ณัฐพงศ์ยังกล่าวอีกว่าตัวบริษัทเองต้องแบกรับความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะต้องดูแลศิลปิน 30 คน และอาจจะไม่สามารถอยู่รอดในทางธุรกิจได้เกิน 2 ปี[177]
นอกจากนี้ เฉลิมพล สูงศักดิ์ นักร้องนำวงซีลพิลโลว์ ได้เสริมว่าหนึ่งในจุดอ่อนของวงนี้ก็คือการนำสมาชิกวงที่มีความสามารถแตกต่างกันมาคัดเลือกด้วยวิธีเดียวกันหมด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ค่ายอาจนำความสามารถด้านอื่นมาเป็นจุดขายได้เวลาออกงาน[178]
การประชาสัมพันธ์
การถ่ายทอดสด
ต้นสังกัด บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ ได้สร้างดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอ (นิยมเรียกว่า "ตู้ปลา") ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ให้แก่วงเพื่อให้สมาชิกได้เปิดโอกาสพูดคุยหรือทำกิจกรรมในหัวข้อต่าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก เริ่มถ่ายทอดสดครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560[179] (ใช้เวลาถ่ายทอดสดอย่างน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง) โดยในระยะแรกวัน, เวลาและสมาชิกที่เข้าร่วมถ่ายทอดสดในแต่ละครั้ง ทางวงจะมีประกาศล่วงหน้าผ่านเฟซบุ๊กของวงเอง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) ออกอากาศสดเป็นประจำทุกวันจันทร์ของทุกสัปดาห์ โดยใช้ชื่อรายการว่า Hi! Live
นอกจากนี้ สมาชิกแต่ละคนยังได้ผลัดกันปรากฏตัวถ่ายทอดสดผ่านทางแอปพลิเคชันวูฟ (Voov) อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ตั้งแต่เวลา 20.00–00.00 น. โดยประมาณ (ใช้เวลาถ่ายทอดสดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง) เริ่มถ่ายทอดสดครั้งแรกวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งสมาชิกและเวลาที่จะเริ่มถ่ายทอดสด จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของวูฟ[180] โดยได้ถ่ายทอดสดทางวูฟครั้งสุดท้ายวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561
หลังจากนั้น วงได้ย้ายไปถ่ายทอดสดผ่านแอปพลิเคชันของวงเอง คือแอปพลิเคชัน iAM48 Official Application โดยสมาชิกแต่ละคนสามารถถ่ายทอดสดได้อย่างอิสระ (ไม่จำกัดครั้งและเวลาในการถ่ายทอดสด) เริ่มถ่ายทอดสดตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 สมาชิกและเวลาที่จะเริ่มถ่ายทอดสด จะประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ของวงและในแอปพลิเคชัน[181]
หลังจากดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอ เอ็มควอเทียร์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560 จนถึง 26 กันยายน พ.ศ. 2562 ย้ายไปอยู่ในศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ แห่งใหม่[182]
ทั้งนี้ บางกรณี ดิจิตอลไลฟ์สตูดิโออาจออกอากาศสดจากหอพักของสมาชิก เช่น ในช่วงการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 หรือบางกรณีที่มีการประกอบอาหารที่ต้องใช้ความร้อน หรือ อาจออกอากาศสดในรูปแบบทางไกลจากบ้านของสมาชิกแต่ละคน เช่น ในช่วงการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนาในประเทศไทย ทั้งการระบาดระลอกแรกในเดือนเมษายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และการระบาดระลอกสองและระลอกปัจจุบัน ในช่วงเดือนมกราคม และเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 (รวมถึงช่วงที่สมาชิกต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการในกรณีพบการติดเชื้อในบรรดาสมาชิกวง หรือ ไปถ่ายทำงานในต่างประเทศซึ่งต้องกักตัวตามมาตรการของประเทศปลายทาง)
โรดโชว์
เมื่อช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม พ.ศ. 2560 วงได้จัดงานโรดโชว์ทุกวันเสาร์–อาทิตย์ ที่ห้างสรรพสินค้าบลูพอร์ตและเครือเดอะมอลล์สาขาต่าง ๆ และเพื่อให้สมาชิกในวงได้ปรากฏตัวสู่สาธารณะมากขึ้น นอกจากนี้วงยังได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้ไปแสดงในงานกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เกม หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น[183] ปัจจุบันวงมีการจัดงานโรดโชว์ร่วมกับสปอนเซอร์ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศอยู่เป็นระยะ ๆ[184]
โรงละคร
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ณัฐพล บวรวัฒนะ ผู้จัดการวง ได้ประกาศสถานที่ตั้งของโรงละครหรือ "เธียเตอร์" ชื่อว่า "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต เดอะแคมปัส" (BNK48 The Campus) ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 เดอะมอลล์บางกะปิ ในพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยโรงละครขนาด 350 ที่นั่ง, คาเฟ่, ร้านขายสินค้าที่ระลึก และสำนักงาน[185][186] โดยมีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561[187] มีการแสดงรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 5 และ 6 พฤษภาคม รวมทั้งสิ้น 3 รอบ และกำหนดเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน โดยการที่จะได้สิทธิ์เข้าชมการแสดงจะต้องทำการจองบัตรผ่านระบบ ซึ่งระบบจะทำการสุ่มผู้ได้รับสิทธิ์และสุ่มที่นั่งก่อนถึงรอบการแสดง[188]
โรงละครเป็นสถานที่ที่ใช้ในการแสดงของแต่ละทีม การแสดงจะแบ่งออกเป็นรอบ รอบละ 16 คน จำนวน 5 รอบต่อสัปดาห์ ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันวงมีการแสดงที่แบ่งแยกสำหรับสมาชิกทีมบีทรี, สมาชิกทีมเอ็นไฟว์ และสมาชิกทีมฝึกหัด แต่ทั้งนี้สมาชิกทีมฝึกหัดสามารถขึ้นแสดงร่วมกับทั้งสองทีมได้[189]
งานจับมือ
งานจับมือ เป็นกิจกรรมพบปะและให้กำลังใจกับสมาชิกในเวลาจำกัด[190] รูปแบบงานจับมือมี 2 แบบคือ งานจับมือเดี่ยวและงานจับมือกลุ่ม การเข้าร่วมงานจับมือเดี่ยวนั้นจะต้องมีบัตรเข้าร่วมงาน ซึ่งจะแนบมากับซีดีในแต่ละซิงเกิล โดยตั้งแต่ซิงเกิลที่ 6 เป็นต้นไป บัตรเข้าร่วมงานจะได้รับภายในแอปพลิเคชัน iAM48 Official ซึ่งแบ่งตามวันที่จัดงาน[191] ภายในงานนอกจากการจับมือกับสมาชิกนั้น มีกิจกรรมใหม่เพิ่มเติมเข้ามาเช่น กิจกรรมเป่ายิงชุบ เป็นการเป่ายิงชุบกับสมาชิก หากชนะจะได้รับรางวัลพิเศษจากสมาชิก ซึ่งต้องใช้บัตรจับมือจำนวน 2 ใบ/ครั้ง และกิจกรรม 1-Shot เป็นการให้สมาชิกพูดข้อความให้กำลังใจลงคลิปวิดีโอ ซึ่งต้องใช้บัตรจับมือจำนวน 3 ใบ/ครั้ง[192] นอกจากนี้ภายในงานยังมีการขายสินค้าที่ระลึกในแต่ละซิงเกิลนั้น ๆ เช่น รูปสมาชิก (Photo Set), พวงกุญแจ, เข็มกลัด, โปสเตอร์, ริสแบนด์, เสื้อ, หมวก, ผ้าเชียร์ ฯลฯ และสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างแฟนคลับ รวมถึงซุ้มคาเฟ่ขายเครื่องดื่ม[193][194]
ปี | วันที่จัดงาน | ชื่องาน | สถานที่ | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|
2560 | 27 สิงหาคม | BNK48 1st Handshake Event | บางนาฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา บางนา | [195][196] |
18 พฤศจิกายน | BNK48 Mini Live and Handshake | ศูนย์การค้า เจเจ มอลล์ | [197][198] | |
2561 | 13–14 มกราคม | BNK48 2nd Single "Koisuru Fortune Cookie" Handshake Event | เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน | [199] |
21 เมษายน | BNK48 Campus Card Handshake | เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์บางกะปิ | [200][201] | |
2–3 มิถุนายน | BNK48 3rd Single "Shonichi" Handshake Event | ไบเทค บางนา ฮอลล์ 98–99 | [202][203] | |
18–19 สิงหาคม | ||||
3–4 พฤศจิกายน | BNK48 4th Single "Kimi wa Melody" Handshake Event | [204][205] | ||
2562 | 12–13 มกราคม | |||
16–17 กุมภาพันธ์ | ||||
6–7 เมษายน | BNK48 5th Single "BNK Festival" Handshake Event | ไบเทค บางนา ฮอลล์ 106–107 | [206][207] | |
25–26 พฤษภาคม | ไบเทค บางนา ฮอลล์ 98–99 | |||
22–23 มิถุนายน | ไบเทค บางนา ฮอลล์ 106–107 | |||
6–7 กรกฎาคม | BNK48 6th Single "Beginner" Handshake Event | [208][192] | ||
10–11 สิงหาคม | ||||
21–22 กันยายน | ||||
7–8 ธันวาคม | BNK48 7th Single "77 no Suteki na Machi e" Handshake Event | [209] | ||
2563 | 15–16 กุมภาพันธ์ | |||
1–30 กันยายน | BNK48 8th Single "High Tension" Mini Handshake Event | ชั้น 4 โซน D ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ | [210] | |
3–4 ตุลาคม | BNK48 8th Single "High Tension" Handshake Event | ยูเนี่ยนฮอลล์ ชั้น 6 ศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ | [211] | |
28–29 พฤศจิกายน | BNK48 9th Single "Heavy Rotation" Handshake Event | ไบเทค บางนา ฮอลล์ 106 | [212] | |
2564 | 2–21 ธันวาคม (22–30 ธันวาคม ยกเลิกงาน) |
BNK48 10th Single "ดีอะ" Mini Handshake Event | ชั้น 4 โซน A ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ | |
2565 | 14–15 พฤษภาคม | BNK48 11th Single "Sayonara Crawl" Handshake Event | ยูเนี่ยนฮอลล์ ชั้น 6 ศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ | |
22–23 ตุลาคม | BNK48 12th Single "Believers" Handshake Event | |||
2566 | 25–26 มีนาคม | BNK48 13th Single "Iiwake Maybe" Handshake Event | ||
17–18 มิถุนายน | BNK48 14th Single "สัญญานะ" Handshake Event | |||
16–17 ธันวาคม | BNK48 15th Single "Kibouteki Refrain" Handshake Event | |||
2567 | 20–21 เมษายน | BNK48 16th Single "Kiss Me!" Handshake Event | เซ็นเตอร์พ้อยท์ สตูดิโอ ลาซาล | |
24–25 สิงหาคม | BNK48 17th Single "BORDERLESS" Handshake Event | ศูนย์การค้า เจเจ มอลล์ |
งานจับมือกลุ่มครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 ในงาน Japan Expo in Thailand 2017 ที่ชั้น 5 สยามพารากอน[213] ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ในงาน BNK48 Road Show in Chiangmai ที่เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่[214]
งานถ่ายรูปคู่
งานถ่ายรูปคู่ หรือ ทูช็อต (2-Shot) เป็นกิจกรรมถ่ายรูปคู่กับสมาชิกแบบตัวต่อตัว โดยใช้โทรศัพท์มือถือในการถ่ายภาพ[215] การเข้าร่วมงานถ่ายรูปคู่นั้น จะต้องมีบัตรทูช็อต ซึ่งแนบมากับซีดีในแต่ละอัลบั้ม โดยจะต้องลงทะเบียนบัตรผ่านระบบก่อน ถึงจะสามารถถ่ายรูปคู่กับสมาชิกได้[216] นอกจากนี้ภายในงานยังมีการขายสินค้าที่ระลึก, โซนแลกเปลี่ยนสินค้า และซุ้มคาเฟ่ขายเครื่องดื่มเช่นเดียวกันกับงานจับมือ
ปี | วันที่จัดงาน | ชื่องาน | สถานที่ | หมายเหตุ | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|
2561 | 30 กันยายน | BNK48 1st Album RIVER 2-Shot Event | ไบเทค บางนา Hall 98 | [217][218] | |
20–21 ตุลาคม | ไบเทค บางนา Hall 106 | ||||
15–16 ธันวาคม | MCC Hall เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน | รอบเสริมสำหรับสมาชิกที่มีผู้ลงทะเบียนเต็มก่อนกำหนด | |||
22–23 ธันวาคม | Westgate Hall ชั้น 4 เซ็นทรัล เวสต์เกต | ||||
2562 | 27–28 กรกฎาคม | BNK48 2nd Album Jabaja 2-Shot Event | ไบเทค บางนา Hall 106–107 | [219][220][221] | |
19–20 ตุลาคม | |||||
2564 | 18–19 ธันวาคม | BNK48 3rd Album Warota People 2-Shot Event | Union Hall ชั้น 6 ยูเนี่ยนมอลล์ | ||
2566 | 16–17 กันยายน | BNK48 4th Album Gingham Check 2-Shot Event | |||
2567 | 7–8 ธันวาคม | BNK48 5th Album #SukiNanda 2-Shot Event | MCC Hall เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ |
งานเลือกตั้งเซ็มบัตสึ
งานเลือกตั้งเซ็มบัตสึ หรือ เซ็มบัตสึโซเซ็งเกียว (ญี่ปุ่น: 選抜総選挙; โรมาจิ: 'Senbatsu Sousenkyo') เป็นการค้นหาสมาชิกวงที่ได้รับความนิยมจากมุมมองของแฟนคลับ ซึ่งการลงคะแนนสามารถทำได้ผ่านการซื้อแผ่นซีดีซิงเกิลที่บรรจุบัตรลงคะแนน เพื่อให้แฟนคลับสามารถโหวตสมาชิกที่ตนชื่นชอบ โดยสมาชิกที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุด (16 อันดับแรก) จะได้รับการประชาสัมพันธ์ในซิงเกิลเลือกตั้งนั้น ๆ หรือเรียกว่า "เซ็มบัตสึ" สมาชิกที่มีคะแนนสูงเป็น 7 อันดับแรกจะเรียกว่า "คามิเซเว่น" (神7 Kami 7) และสมาชิกที่ได้อันดับ 1 จะได้รับตำแหน่ง "เซ็นเตอร์"
โดยวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 วงได้ประกาศจัดงานเลือกตั้งเซ็มบัตสึเป็นครั้งแรก ในชื่อ การเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 6 หรือ BNK48 6th Single Senbatsu General Election[222] ซึ่งจัดงานประกาศผลคะแนนในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี[223]
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562 วงได้ประกาศจัดงานเลือกตั้งเซ็มบัตสึเป็นครั้งที่สอง ในชื่อ การเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 9 หรือ BNK48 9th Single Senbatsu General Election
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564 วงได้ประกาศจัดงานเลือกตั้งเซ็มบัตสึเป็นครั้งที่สาม ในชื่อ การเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 12 หรือ BNK48 12th Single Senbatsu General Election
วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2566 วงได้ประกาศจัดงานเลือกตั้งเซ็มบัตสึเป็นครั้งที่สาม ในชื่อ การเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 16 หรือ BNK48 16th Single Senbatsu General Election
งานกีฬาสี
งานกีฬาสี (ญี่ปุ่น: Dai Undoukai) เดิมเป็นงานแข่งขันกีฬาในหลากหลายประเภท โดยแบ่งตามทีมของแต่ละวงของ 48 Group ซึ่งทีมที่ชนะจะได้รับรางวัล และทีมที่โหล่จะมีบทลงโทษที่แตกต่างกันออกไป[224] ซึ่งงานกีฬาสีครั้งแรกของวงในชื่องาน เทศกาลกีฬาบางกอก๔๘ ได้ปรับรูปแบบทีมเป็นการให้สมาชิกวงจับสลากแบ่งเป็น 4 สี ประกอบด้วย สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง และสีฟ้า[225] โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก
งานกีฬาสีครั้งที่สอง ในชื่องาน งานกีฬาสีอนุบาลหนูน้อย48 2022 ซึ่งในครั้งนี้ได้มีสมาชิกวงซีจีเอ็มโฟร์ตีเอตเข้าร่วมเป็นครั้งแรก รูปแบบทีมเป็นการให้สมาชิกวงจับสลากแบ่งเป็น 4 สี ประกอบด้วย สีแดง, สีส้ม, สีเขียว และสีฟ้า โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี
และงานกีฬาสีครั้งที่สาม ในชื่องาน BNK48 & CGM48 Sports Day 2024 NEKO WARS รูปแบบทีมเป็นการให้สมาชิกวงจับสลากแบ่งเป็น 4 ทีม ตามชื่อของสายพันธุ์แมว ประกอบด้วย ชิโร่, คุโระ, ชาโทร่า และซาบะโทระ โดยงานจัดในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่ยิมเนเซียม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ผลงาน
ผลงานของวงปัจจุบันประกอบด้วยซิงเกิล 17 ชุด ชุดละ 3–5 เพลง และมีอัลบั้มรวมซิงเกิลและเพลงพิเศษต่าง ๆ 4 ชุด ซึ่งเพลงของซิงเกิลหลักนั้นจะขับร้องโดยเซ็มบัตสึทั้งหมดของเพลงนั้น ๆ โดยจำนวนเซ็มบัตสึของแต่ซิงเกิลจะมีไม่เท่ากัน โดยเพลงแต่ละเพลงจะมาจากเพลงต้นฉบับของวงพี่สาวอย่างเอเคบีโฟร์ตีเอต ที่นำมาร้องใหม่โดยมีการแปลภาษาเป็นเนื้อร้องภาษาไทย[226] และเป็นเพลงที่ทางวงทำขึ้นเป็นของวงเอง โดยได้รับอนุญาตจากต้นสังกัดแล้ว[79]
รายการโทรทัศน์
ในปี พ.ศ. 2560 วงมีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเอง 2 รายการ ได้แก่รายการ BNK48 Senpai รายการสารคดีเกี่ยวกับช่วงระหว่างการคัดเลือกสมาชิก และชีวิตของแต่ละคนหลังการเข้าวง โดยช่วงหลังเป็นรายการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และมีสมาชิกจากวงเอเคบีโฟร์ตีเอตเป็นแขกรับเชิญ และรายการ BNK48 Show รายการวาไรตีที่ให้สมาชิกในวงเล่นเกมและมีช่วงให้สมาชิกแต่ละคนแสดงความสามารถพิเศษ[183]
ปี พ.ศ. 2561 วงมีรายการโทรทัศน์ 5 รายการ ได้แก่รายการ เพื่อนร่วมทาง The Journey รายการเรียลลิตี้โชว์ที่ถ่ายทำในประเทศญี่ปุ่น โดยมีสมาชิก 4 คน คือ แจน ปัญ แก้ว และตาหวาน[227], รายการ อยากจะได้พบเธอ! ญี่ปุ่น รายการท่องเที่ยวตามสถานที่จริงในฉากอนิเมะ มีสมาชิกวง 6 คนรับหน้าที่พิธีกร[228], รายการ อนิพาเร่! เป็นรายการแนะนำอนิซองญี่ปุ่นและวัฒนธรรมอนิเมะ โดยมีสมาชิกวงรับหน้าที่พิธีกร[229] ต่อมาวงได้ร่วมกับเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์และโต๊ะกลมโทรทัศน์ ผลิตรายการ Victory BNK48 เป็นรายการวาไรตีที่ให้สมาชิกในวงเล่นเกม โดยมีแขกรับเชิญเป็นดารา, ศิลปินชื่อดังในประเทศไทย[230] และรายการ BNK48 Senpai 2nd Generation รายการสารคดีกึ่งเรียลลิตี้เกี่ยวกับช่วงระหว่างการคัดเลือก และหลังการคัดเลือกของสมาชิกรุ่นที่ 2[231]
ปี พ.ศ. 2562 วงมีรายการโทรทัศน์ 3 รายการ ได้แก่รายการ Dream in Japan รายการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 เดือนของพิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค (โมบายล์)[232] รายการ ii ne JAPAN รายการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น โดยมีสมาชิกวง 6 คนรับหน้าที่เป็นพิธีกร[233] และรายการ Fun X Fun Japan ตะลุยดินแดนอาทิตย์อุทัยกับ BNK48 โดยมีมิวสิค เจน และสมาชิกจากวงเอสเคอีโฟร์ตีเอต เป็นผู้ดำเนินรายการ[234] และยังคงมีรายการอื่นออกอากาศมาเรื่อย ๆ
ภาพยนตร์
ในปี พ.ศ. 2561 วงได้ร่วมมือกับบริษัท แซลมอน เฮ้าส์ ผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกในชื่อ บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต: เกิร์ลดอนต์คราย (อังกฤษ: BNK48: Girls Don't Cry) กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และจัดจำหน่ายโดย จีดีเอช ห้าห้าเก้า กำหนดฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม[235] ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลให้เป็นภาพยนตร์ไทยสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561 จากกระทรวงวัฒนธรรม[236]
ต่อมา จิรัฐ บวรวัฒนะ ซีอีโอของวงต้องการสร้างภาพยนตร์อิสระของวงเองในนาม บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ฟิล์ม (อังกฤษ: BNK48 Films) เพื่อเปิดโอกาสให้เมมเบอร์ในวงแสดงความสามารถและผลักดันให้เมมเบอร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 วงได้เปิดเผยภาพยนตร์ที่จะฉายภายในปี พ.ศ. 2562 ด้วยกันทั้งหมด 2 เรื่องประกอบไปด้วย Sisters กระสือสยาม ซึ่งวงได้ร่วมงานกับ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล หลังจากที่ภาพยนตร์ได้ถ่ายทำเสร็จไปแล้ว นำแสดงโดย นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล (มิวนิค) กำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว เข้าฉายวันที่ 4 เมษายน[237], Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า นำแสดงโดย แพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค) และเจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ ร่วมด้วยสมาชิกวงอีก 6 คน กำกับโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี เข้าฉายวันที่ 20 มิถุนายน[238]
ต่อมา วงได้เปิดเผยภาพยนตร์ที่จะฉายภายในปี พ.ศ. 2563 ด้วยกันทั้งหมด 2 เรื่องประกอบไปด้วย ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ ซึ่งเนื้อเรื่องจะเป็นการทำเพลง "หมอลำ" และต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่ภาคอีสาน กำกับโดย สุรศักดิ์ ป้องศร เข้าฉายวันที่ 23 มกราคม[239] และ One Take ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีภาคต่อจาก BNK48: Girls Don't Cry กำกับโดย มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล เข้าฉายวันที่ 18 มิถุนายน บนเน็ตฟลิกซ์ หลังเลื่อนเข้าฉายในโรงภาพยนตร์[240] ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อค่ายภาพยนตร์จาก บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ฟิล์ม เป็น ไอแอม ฟิลม์ (อังกฤษ: i AM Films)[241]
ปี 2565 iAM FILMs และ Studio Commuan ส่งภาพยนตร์เรื่อง The Cheese Sisters แนวหนังเกิร์ลเลิฟ โดยมี 8 นักแสดงนำ ได้แก่ น้ำหนึ่ง - มิลิน ดอกเทียน BNK48 , เนย- กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล BNK48 , เจนนิษฐ์ - เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ BNK48 , ปัญ - ปัญสิกรณ์ ติยะกร BNK48 , วี- วีรยา จาง BNK48 , ฟ้อนด์ - ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา BNK48 , คนิ้ง - วิทิตา สระศรีสม CGM48 และมามิงค์- มาณิฌา เอี่ยมดิลกวงศ์ CGM48
ซีรีส์
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561 จีดีเอชร่วมกับค่ายนาดาวบางกอกได้จัดงาน GDH x นาดาว Party นิ่งเป็นปรับ ขยับเป็นเปิด ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อเป็นการขอบคุณแฟน ๆ ที่ติดตามผลงานของจีดีเอชและนาดาวบางกอก ทางค่ายได้เปิดเผยข้อมูลโปรเจกต์ใหม่จำนวน 8 โปรเจกต์ โดย 2 ใน 8 โปรเจกต์นั้นมีซีรีส์เรื่อง Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ นำแสดงโดย ชัญญาภัค นุ่มประสพ (นิว) และ 7 หนุ่มจากไนน์บายนาย[242] และซีรีส์เรื่อง One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ เป็นซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ นำแสดงโดย เฌอปราง, จิรายุ ละอองมณี ร่วมด้วยสมาชิกวงอีก 7 คน[243]
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 วงได้เปิดเผยซีรีส์เกี่ยวกับเรื่องราวของสมาชิกวงทั้ง 51 คน ในชื่อ BNK48 Story ซึ่งจะออกอากาศเฉพาะในประเทศพม่า, ลาว, กัมพูชา, จีน และประเทศอื่น ๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ได้เปิดตัวซีรีส์ The Underclass ห้องนี้ไม่มีห่วย เป็นซีรีส์ดราม่า นำแสดงโดย มิวสิค, มิวนิค, ธนัชชัย วิจิตรวงศ์ทอง ร่วมด้วยสมาชิกวงอีก 10 คน (รวมอดีตสมาชิก 1 คน) กำกับโดย ภาส พัฒนกำจร จะออกอากาศช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 และเน็ตฟลิกซ์
แอปพลิเคชัน
วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 วงร่วมกับ Mad Virtual Reality Studio เปิดแอปพลิเคชันชื่อ BNK48 AR แอปที่สามารถดูภาพเคลื่อนไหวของสมาชิกได้โดยการสแกนรูป Photo Set ชุด Debut, Thai costume และ Halloween[244] ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้เปิดแอปพลิเคชันเพิ่มอีก 2 ตัวได้แก่ BNK48 Sweet Call แอปนาฬิกาปลุกที่สามารถตั้งเสียงปลุกเป็นเสียงของสมาชิกรุ่นที่ 1 ทั้ง 29 คน และระบบการสุ่มเสียงปลุกของสมาชิกภายในแอป[245] และ BNK48 Jigsaw แอปต่อจิ๊กซอว์รูปภาพของสมาชิกรุ่น 1 มีภาพจิ๊กซอว์ให้เล่นและสะสมกว่า 300 ภาพในแบบต่าง ๆ[246] ซึ่งปัจจุบันแอป BNK48 Sweet Call มีอัปเดตเสียงของสมาชิกรุ่นที่ 2 เพิ่มเข้ามา ส่วนแอป BNK48 AR และ BNK48 Jigsaw ยังไม่มีอัปเดตเพิ่มเติม
วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ซัมซุงได้เปิดตัวมือถือรุ่น Samsung Galaxy J8 โดยมีบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ และมีแอปพลิเคชันชื่อ BNK48 ที่ในช่วงแรกมีเฉพาะในรุ่นนี้เท่านั้น ซึ่งภายในแอปจะมีวอลเปเปอร์เมมเบอร์ และริงโทนเสียงเมมเบอร์ แอปนี้ยังคงมีการปรับปรุงอัปเดตสิ่งใหม่เพิ่มเข้าไปในแอปอยู่เรื่อย ๆ[247] ล่าสุดได้มีการเพิ่มแอป BNK48 ลงไปในมือถือรุ่น Samsung Galaxy J4+ และ Samsung Galaxy J6+ ปี 2018 และต่อมาได้ทยอยเพิ่มในมือถือรุ่นอื่น ๆ ของซัมซุง[248]
วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561 วงได้ร่วมกับ Ookbee ประกาศเปิดตัวแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการของวง ในชื่อ iAM48 Official Application (BNK48 Official เดิม)[249] โดยในแอปพลิเคชันนี้จะประกอบไปด้วย การถ่ายทอดสดเดี่ยวพร้อมดูย้อนหลังของแต่ละเมมเบอร์ (ย้ายจากแอปพลิเคชันวูฟ), การส่งของขวัญให้เมมเบอร์ในแอป, การถ่ายทอดสดพิเศษในโรงละคร(จ่ายเงินรายเดือนหรือรายปี), การจองบัตรสุ่มเข้าชมโรงละคร, การโหวตลงคะแนนซิงเกิลเลือกตั้ง, การใช้บัตรเข้าร่วมงานจับมือ, การฟังเพลงจากโค้ด "Music Card", การสั่งจองหรือสั่งซื้อสินค้าที่ระลึก รวมถึงรายละเอียดข่าวสารงานต่าง ๆ ของวงในอนาคตด้วย[250]
วีดีโอเกม
วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561 วงได้เปิดตัวและเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันชื่อ BNK48 Star Keeper[251] แอปพลิเคชันเกมส์แนวอาร์เคด เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับดาวจักรราศีทั้ง 13 กลุ่ม ถูกสิ่งมีชีวิตจากกาแลคซี่อื่นยึดครอง ยานอวกาศของกัปตันทั้ง 16 คน จึงต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงกำจัดเหล่าลูกน้องของมินิบอส และบอสของแต่ละด่านไปให้ได้ ซึ่งในระบบจะมีเสียงพากย์เกมส์ รวมทั้งไอเทมพิเศษ และชิพการ์ดของสมาชิกทุกคนอีกด้วย[252] ต่อมาวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีการปล่อยแอปพลิเคชันใหม่ ชื่อ Sisters Hunters[253] แอปพลิเคชันเกมส์แนวอาร์เคด เกี่ยวกับการปราบกระสือ เพื่อเป็นการโปรโมทภาพยนตร์เรื่องSisters กระสือสยามในช่วงนั้นอีกด้วย วันที่ 8 กรกฎาคม ปีเดียวกันได้ปล่อยแอปพลิเคชันชื่อ BNK48 Oshi Festival แอปพลิเคชันเกมส์แนวเพลง ซึ่งในระบบจะมีเพลงของบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต เสียงพากย์เกมส์ และตัวละครในเกมส์ที่เป็นสมาชิกรุ่นหนึ่ง[254]
หนังสือ
ปี พ.ศ. 2561 วงได้ร่วมกับสำนักพิมพ์แซลมอน[255] จัดทำหนังสือชื่อ B Side The Untold Story of BNK48 เป็นหนังสือเล่มแรกของวงที่มีบทสัมภาษณ์สมาชิกรุ่นแรกและบอกเล่าเรื่องราวของวงในมุมที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน[256] ต่อมาช่วงปลายปีวงได้ร่วมกับสำนักพิมพ์ เซนชู ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนของวงเองเรื่องแรกในชื่อ BNK48 Comic Most Dream เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอล โดยเนื้อเรื่องได้รับลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่น จัดทำและวาดลายเส้นการ์ตูนใหม่โดยนักวาดการ์ตูนคนไทย มีทั้งหมด 3 เล่ม วางจำหน่ายในรูปแบบหนังสือการ์ตูน และอีคอมมิค[257]
ปี พ.ศ. 2562 วงร่วมกับเว็บไซต์ข่าว Mango Zero และนิตยสาร Nylon Thailand จัดทำหนังสือด้วยกัน 2 เล่ม คือ BNK48 6th Single Senbatsu General Election เป็นหนังสือรวมบทสัมภาษณ์และเบื้องหลังเกี่ยวกับงานเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ประจำซิงเกิลที่ 6[258] และ BNK48 2nd Anniversary เป็นหนังสือรวบรวมบทสัมภาษณ์สมาชิกที่ได้เป็นเซ็นเตอร์และเหตุการณ์สำคัญของวงที่ผ่านมาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันครบรอบวง 2 ปี[259]
กิจกรรมการกุศล
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2560 วงได้จัดงานประมูลรูปสมาชิกในวงเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรูปของสมาชิกที่มีราคาสูงที่สุดคือ เฌอปราง อารีย์กุล ประมูลได้ไป 77,000 บาท[260]
ปี พ.ศ. 2561 มีการจัดคอนเสิร์ตการกุศลชื่อ Thailand for Attapeu เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมเนื่องจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ในแขวงจำปาศักดิ์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้เกิดน้ำท่วม ที่แขวงอัตตะปือ[261] วันที่ 23 ตุลาคม ปีเดียวกัน วงได้มอบเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต BNK48 D-DAY Jiradapa Produced Concert เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ให้กับสมาคมกีฬาสเปเชี่ยลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการฝึกซ้อมและเตรียมตัวไปแข่งขันสเปเชี่ยลโอลิมปิคเวิร์ดเกมส์ ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นกีฬาสำหรับคนที่พิการทางสมองและปัญญา โดยสเปเชี่ยลโอลิมปิคเป็นองค์กรสากล ที่ต้องการพัฒนาคนที่พิการทางสมองและปัญญาด้วยกีฬา และส่งเสริมการยอมรับและความเข้าใจซึ่งกันและกันกับคนปกติ[262] ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน วงได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวโครงการ The Blue Carpet Show for UNICEF ซึ่งจัดขึ้นโดย UNICEF ประเทศไทย[263]
ในปี พ.ศ. 2562 วงได้ทำกิจกรรมพิเศษเมื่อวันที่ 9 มกราคม โดยลงพื้นที่ร่วมฟื้นฟูและให้กำลังใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ณ ศาลาประชาสันต์ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช[264] ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ วงได้กล่าวถึงการจัดตั้ง มูลนิธิ BNK48 ที่จะทำหน้าที่ส่งมอบความรัก กำลังใจ และกำลังทรัพย์ ในโครงการรวมพลังรักและหวังดี เพื่อช่วยเหลือสังคมในด้าน เด็ก สตรี และพื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติ โดยใช้แอปพลิเคชัน BNK48 เป็นช่องทางการบริจาค นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายหุ่นฟิกเกอร์ของ เฌอปราง อารีย์กุล ในชื่อ BNK48 Cherprang Premium Collectible จัดทำโดย Toylaxy Studio เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิด้วย[265]
กระทั่งวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้ง มูลนิธิบีเอ็นเค ขึ้นอย่างเป็นทางการ[266]
การตอบรับ
สุภลักษณ์ เตชะพิชญภักดี คอลัมนิสต์มติชน อธิบายว่าบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตเป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยม และถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมในประเทศไทย[267] โดยเฉพาะหลังช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 จากผลงานเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" รวมไปถึงข่าวเกี่ยวกับวงต่าง ๆ ทั้งตามสื่อหลักและในโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่อยู่เป็นระยะ ๆ[268] ปัจจุบันวงได้ขายซิงเกิลไปแล้วเป็นจำนวนกว่าหนึ่งล้านแผ่น ซึ่งมีการมองว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับกระแสในยุคที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมซื้ออัลบั้มเป็นแผ่น หากแต่จะเน้นการฟังเพลงผ่านยูทูปหรือการสตรีมมิงแทนมากกว่า[269] และมีรายได้จากงานเลือกตั้งประจำซิงเกิลที่ 6 กว่า 200 ล้านบาท[270] จิรัฐกล่าวว่าจากการตอบรับนี้ ทำให้วงสามารถผลิตผลงานเพลง ผลงานการแสดงซีรีส์และภาพยนตร์ และผลงานภาพยนตร์โฆษณาสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง[271] เขายังกล่าวอีกว่าปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของวงคือการขยายความนิยมผ่านสื่อสังคม[272] ซึ่งสอดคล้องกับรางวัล "ศิลปินกลุ่มที่มีผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย" ที่วงได้รับจากงานไทยแลนด์โซเชียลอะวอดส์ และการที่มีบุคคลบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากอยู่แล้วจำนวนหลายคนเข้ามาร่วมเป็นแฟนคลับของวง[273]
ธัญวัฒน์ อิพภูดม คอลัมนิสต์เดอะแมตเทอร์ มองว่าความสำเร็จของวงมีอิทธิพลในการปลุกกระแส "ไอดอล" ในเมืองไทยและเป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงท่าทีของแบรนด์หรือภาคธุรกิจที่พร้อมจะลงทุนในธุรกิจนี้[274] รวมไปถึงการเป็นทางผ่านสำหรับกลยุทธ์การเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อเรียกคะแนนนิยมของพรรคการเมืองบางพรรค[275]
ภาพลักษณ์
สมาชิกของวงนั้นจะเรียกกันว่า "ไอดอล" ที่ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าจุดขายของวงนั้นไม่ได้มาจากทักษะในการร้องหรือการเต้น แต่มาจากพัฒนาการและบุคลิกภาพของสมาชิกแต่ละคนมากกว่า ในขณะเดียวกัน การที่แฟนคลับส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ชายมายืนมองดูสมาชิกใน "ตู้ปลา" ก็ถือว่าเป็นภาพที่ค่อนข้างแปลกตาในสังคมไทยเช่นกัน[276] แต่ถึงกระนั้น คนทั่วไปอาจเห็นว่าแฟนคลับที่ชื่นชอบวงส่วนมากจะเป็นผู้ชาย เพราะผู้ชายอาจจะแสดงออกมากกว่า ทั้งจากที่เห็นรวมกลุ่มยืนร้องเพลงประสานเสียงหน้าเวทีหรือที่งานจับมือ คนจึงจดจำว่าแฟนคลับมีแต่กลุ่มผู้ชาย แต่จริง ๆ แล้วมีสัดส่วนเป็นครึ่งต่อครึ่ง[277]
นอกจากนี้ สมาชิกวงทุกคนยังมีข้อพึงปฏิบัติตามเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น การห้ามทำศัลยกรรม ห้ามถ่ายแบบแฟชั่นแนวเซ็กซี่ ห้ามถ่ายรูปคู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ ฯลฯ รวมไปถึงธรรมเนียมปฏิบัติบางข้อที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การห้ามมีความรัก ซึ่งธรรมเนียมเหล่านี้ จิรัฐได้กล่าวไว้ว่าเป็นผลพวงมาจากมาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเป็นการตอบสนองจุดประสงค์ที่ต้องการให้วงมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อเยาวชน[278][272]
ข้อวิจารณ์
เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561 วงได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไปประชาสัมพันธ์สถานีวิทยุของรัฐ ซึ่งมีผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่าการกระทำนี้เป็นการหาเสียงจากสมาชิกวงในการเลือกตั้งของประเทศไทยที่กำลังจะถึง แต่วงปฏิเสธในภายหลังว่ากิจกรรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง[275]
รางวัล
รางวัลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง
ปี | รางวัล | สาขา | เสนอชื่อเข้าชิง | ผล | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|
2561 | ไทยแลนด์ โซเชียล อวอร์ดส์ | ศิลปินกลุ่มที่มีผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | ชนะ | [279][273] |
เดอะกีตาร์ แม็ก อะวอร์ด | ศิลปินหน้าใหม่แห่งปี | เสนอชื่อเข้าชิง | [280][281] | ||
เพลงฮิตที่ได้รับความนิยมแห่งปี | "คุกกี้เสี่ยงทาย" | ชนะ | |||
จูกซ์ไทยแลนด์มิวสิก อะวอดส์ | ศิลปินหน้าใหม่แห่งปี | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | ชนะ | [282] | |
เอ็มไทย ท็อป ทอล์ก อะเบาต์ | ศิลปินที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด | ชนะ | [283] | ||
เณศไอยรา เพรส อวอร์ด | ศิลปินตัวอย่างดีเด่น | ชนะ | [284] | ||
แคส อวอร์ดส์ | เพลงฮิตแห่งปี | "คุกกี้เสี่ยงทาย" | เสนอชื่อเข้าชิง | [285] | |
ศิลปินหน้าใหม่มาแรง | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | ชนะ | |||
ป๊อปปูล่าโหวต | เสนอชื่อเข้าชิง | ||||
ไลน์สติกเกอร์ อวอร์ดส์ | สติกเกอร์ดารายอดนิยมแห่งปี | ชนะ | [286] | ||
ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ | เพลงแห่งปี | "คุกกี้เสี่ยงทาย" | เสนอชื่อเข้าชิง | [287] | |
ขวัญใจมหาชน | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
สยามดารา สตาร์ส อวอร์ดส์ | นักร้องกลุ่มยอดนิยม | ชนะ | [288] | ||
เพลงฮิตโดนใจ | "คุกกี้เสี่ยงทาย" | ชนะ | |||
มายา อวอร์ดส์ | ศิลปินกลุ่มยอดนิยมแห่งปี | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | ชนะ | [289] | |
2562 | ไทยแลนด์ โซเชียล อวอร์ดส์ | ศิลปินกลุ่มที่มีผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย | ชนะ | [290] | |
ไบโอสโคป อวอร์ดส์ | ศิลปินหน้าใหม่น่าจับตา | ชนะ | [291] | ||
โฮม อวอร์ดส์ | People Choice (ฝ่ายหญิง) | ชนะ | [292] | ||
คมชัดลึก อวอร์ด | นักร้องเพลงไทยสากลยอดนิยม | เสนอชื่อเข้าชิง | [293] | ||
แคส อวอร์ดส์ | ศิลปินหญิงยอดนิยม | "เธอคือ...เมโลดี้" | เสนอชื่อเข้าชิง | [294] | |
ป๊อปปูล่าโหวต | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
ขวัญใจนิตยสาร KAZZ (ฝ่ายหญิง) | ชนะ | ||||
ดาราเดลี่ อวอร์ดส์ | ป๊อปปูล่าโหวตฝ่ายหญิง | เสนอชื่อเข้าชิง | [295] | ||
รายการโทรทัศน์ที่สุดแห่งปี | "วิกทอรีบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
นักร้องหญิงที่สุดแห่งปี | "เธอคือ...เมโลดี้" | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
Hot Girl ที่สุดแห่งปี | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | เสนอชื่อเข้าชิง | |||
ไลน์สติกเกอร์ อวอร์ดส์ | สติกเกอร์ขวัญใจมหาชน | ชนะ | [296] | ||
2564 | จูกซ์ ไทยแลนด์ มิวสิก อวอร์ดส์ 2021 | Top Social Artist of The Year | เสนอชื่อเข้าชิง | [297] | |
เดอะกีตาร์ แม็ก อะวอร์ด 2021 | ป็อปปูล่าโหวต คนดนตรีมหาชน | เสนอชื่อเข้าชิง | [298] | ||
2565 | ไทยแลนด์ โซเชียล อวอร์ดส์ 2022 | ศิลปินกลุ่มที่มีผลงานยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย | ชนะ | [299] | |
โทตี้มิวสิกอวอร์ดส์ 2021 | เพลงศิลปินกลุ่มหญิงยอดนิยม | "ดีอะ (D.AAA)" | เสนอชื่อเข้าชิง | [300] | |
จูกซ์ ไทยแลนด์ มิวสิก อวอร์ดส์ 2022 | Top Social Thai Artist of the year | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | เสนอชื่อเข้าชิง | [301] | |
2566 | โทตี้มิวสิกอวอร์ดส์ 2022 | เพลงศิลปินกลุ่มหญิงยอดนิยม | "เฟิสต์แรบบิท" | เสนอชื่อเข้าชิง | [302] |
ไทยแลนด์ โซเชียล เอไอเอส เกมมิ่ง อวอร์ดส์ 2023 | The Most Popular Game Female Celebrity | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต & ซีจีเอ็มโฟร์ตีเอต" | ชนะ | [303] | |
2567 | ไทยแลนด์ โซเชียล เอไอเอส เกมมิ่ง อวอร์ดส์ 2024 | The Most Popular Female Game Content Creator | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | ชนะ | [304] |
Siamrath Awards 2024 | ศิลปินกลุ่มไอดอลหญิง | "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต" | ชนะ | [305] |
รางวัลที่ได้รับมอบ
ปี | รางวัล | ประเภท | มอบโดย | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|
2561 | Heart For All ครั้งที่ 1 | บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์และสนับสนุนงานด้านผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการดีเด่น | มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม | [306] |
2562 | เทพทองพระราชทาน ครั้งที่ 19 | องค์กรดีเด่น | สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ | [307] |
2565 | อินฟลูเอนเซอร์ผู้สร้างคุณประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ไทย–ญี่ปุ่น | สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย | [308] |
เชิงอรรถ
หมายเหตุ
- ↑ เดิมเคยเป็นลำดับที่ 3 ถ้านับรวมเอสเอ็นเอชโฟร์ตีเอต (SNH48) ของประเทศจีน ซึ่งทางเอเคเอสประกาศตัดความสัมพันธ์ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับโฟร์ตีเอตกรุ๊ป ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559
- ↑ มีการบันทึกเทปเพื่อตัดต่อในรายการโทรทัศน์ บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต เซ็มไป
- ↑ รวมอ้างอิงสมาชิกรุ่นที่ 1 ที่ประกาศจบการศึกษาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565:
- พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค (โมบายล์)[126]
- วรัทยา ดีสมเลิศ (ไข่มุก)[127]
- เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ (เจนนิษฐ์)[128]
- สุชญา แสนโคต (จิ๊บ)[129]
- วฑูศิริ ภูวปัญญาสิริ (ก่อน)[130]
- พิชญาภา นาถา (น้ำใส)[131]
- พัศชนันท์ เจียจิรโชติ (อร)[132]
- ณปภัช วรพฤทธานนท์ (จ๋า)[133]
- กุลจิราณัฐ วรรักษา (เจน)[134]
- กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล (เนย) ปัญสิกรณ์ ติยะกร (ปัญ) และอิสราภา ธวัชภักดี (ตาหวาน)[135]
อ้างอิง
- ↑ "บริษัท BNK48 รีแบรนด์ชื่อเป็น iAM มองอนาคตเป็น Talent Management". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-08. สืบค้นเมื่อ 2019-11-08.
- ↑ พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ (2017-07-17). "ไอดอล BNK48 จะไปได้ไกลแค่ไหนในวงการบันเทิงไทย". voicetv.co.th. Voice TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-11. สืบค้นเมื่อ 2017-10-13.
- ↑ "Japanese Idol Group AKB48 to Perform at MIPCOM" (Press release). Reuters. 2009-07-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-16. สืบค้นเมื่อ 2011-07-29.
- ↑ "What is AKB48? / AKB48 [Official]". AKB48. 2011-02-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-08. สืบค้นเมื่อ 2011-06-29.
- ↑ 5.0 5.1 "台湾、フィリピン、タイにて新たな姉妹グループ誕生!". akb48.co.jp. AKS. 2016-03-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-10. สืบค้นเมื่อ 2017-02-19.
- ↑ "เคยสงสัยกันมั้ย AKB48 ทำไมต้อง 48?". marumura.com. Marumura. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-20. สืบค้นเมื่อ 2017-02-12.
- ↑ "SKE松井珠理奈、NMB渡辺美優紀がAKB48に期間限定加入". Natalie. Natasha, Inc. March 25, 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-27. สืบค้นเมื่อ March 25, 2012.
- ↑ 8.0 8.1 "แฟนคลับไทยเฮ! อิสึตะ รินะ ไอดอล AKB48 ประกาศย้ายมาอยู่วง BNK48". thairath.co.th. ไทยรัฐ. 2017-04-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-25. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.
- ↑ 9.0 9.1 "ไอดอลบุกเมืองเหนือ BNK48 ประกาศตั้งวงน้อง CGM48 ที่เชียงใหม่". thairath.co.th. ไทยรัฐ. 2019-06-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ "[นักแต่งเพลงอาชีพ] วิธีแต่งเพลงฉบับเจ้าพ่อคุกกี้เสี่ยงทาย "Akimoto Yasushi"". nuchun.com. 2018-11-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
- ↑ "เปิดเบื้องหลังการทำเพลงของไอดอล 'เอ๊ะ ละอองฟอง' Music Director ของ BNK48". mangozero.com. mangozero. 2018-11-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-04. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
- ↑ "ข้อจำกัดของ BNK48 เมื่อแปลเพลง 'วันแรก' เป็นไทย ทำไมไม่ติดหูเท่า 'คุกกี้เสี่ยงทาย'". gmlive.com. Gmlive. 2018-11-01. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 秋元康、AKB48 衣装図鑑 放課後のクローゼット〜あの頃、彼女がいたら〜 เก็บถาวร 2017-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน オサレカンパニー 宝島社〈TJMOOK〉、 2017年3月25日。ISBN 978-4800268815 หน้าที่ 272-273
- ↑ "ก่อนวันที่จะออกมาเต้นพลิ้ว ๆ - เบื้องหลังความงดงามบนหยาดเหงื่อของคอสตูม จาก AKB48 สู่ BNK48". gmlive.com. Gmlive. 2018-11-01. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เพราะความฝันของพวกเรามันยิ่งใหญ่ : อร เนย ปัญ น้ำหนึ่ง BNK48". fungjaizine.com. Fungjaizine. 2018-10-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-04. สืบค้นเมื่อ 2018-10-31.
- ↑ 16.0 16.1 "เปิดใจ จิรัฐ ถึงความสำเร็จ ในฐานะผู้ก่อตั้งเกิร์ลกรุ๊ป BNK48". dailynews.co.th. Dailynews. 2018-10-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-17. สืบค้นเมื่อ 2018-10-31.
- ↑ "นี่คือ 'ราชมังคลาฯ' ที่ยิ่งใหญ่ ฝันที่ 'BNK48' ต้องมา". gmlive.com. Gmlive. 2018-10-31. สืบค้นเมื่อ 2018-10-31.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "BNK48 ถอดรหัส DNA แห่งความพยายามและปรากฏการณ์ไอดอลครองเมือง". thestandard.co. The Standard. 2018-11-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-20. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
- ↑ "สรุป ประเด็นสำคัญงาน BNK48 We Talk To You". mangozero.com. Mango Zero. 2019-02-25. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-26. สืบค้นเมื่อ 2019-02-25.
- ↑ 鈴木正文 (2012-03-07). "AKB48プロジェクトの創造者、秋元 康が、いまの日本の、おもしろさを語る【2】". gqjapan.jp (ภาษาญี่ปุ่น). GQ JAPAN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-26. สืบค้นเมื่อ 2016-05-04.
- ↑ 真紀和泉 (2011-12-23). "【エンタがビタミン♪】「数年後は世界で総選挙も」。秋元康が"いいとも"でAKBの将来性について語る。". japan.techinsight.jp (ภาษาญี่ปุ่น). Techinsight. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-14. สืบค้นเมื่อ 2016-05-04.
- ↑ "ล้วงความลับผู้วางกลยุทธ์ BNK48 ตั้งเป้าร้อยล้าน ดังแบบไม่ใช้คุกกี้เสี่ยงทาย". The Standard. 2018-01-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-23. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
- ↑ "AKB48運営会社が「TPE48」の契約解消 「AKB48 Team TP」発足へ". oricon.co.jp (ภาษาญี่ปุ่น). Oricon. 2018-07-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-20. สืบค้นเมื่อ 2018-07-30.
- ↑ "New AKB48 sister groups to be formed in Manila, Bangkok and Taipei". japantoday.com (ภาษาอังกฤษ). Japan Today. 2016-03-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-19. สืบค้นเมื่อ 2017-02-19.
- ↑ "BNK48 เปิดออดิชั่น ต้อนรับวงน้องสาว AKB48 ประจำประเทศไทย!". Japanmase. 2016-08-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-28. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
- ↑ "「BNK48」メンバー募集オーディション開催決定" (ภาษาญี่ปุ่น). タイランドハイパーリンクス. 2016-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-05. สืบค้นเมื่อ 2017-02-17.
- ↑ "BNK48_2nd_Round_Qualifier.pdf" (PDF). BNK48 Office. 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-11-16. สืบค้นเมื่อ 2017-02-17.
- ↑ "เผยโฉม 29 สาว BNK48 เกิร์ลกรุ๊ปน้องสาว AKB48 ประจำประเทศไทย". manager.co.th. Manager. 2017-02-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-15. สืบค้นเมื่อ 2017-02-12.
- ↑ "「BNK48」1期生29人、バンコクでお披露目 日タイ修好130周年シンボルに". ORICON NEWS (ภาษาญี่ปุ่น). oricon ME. 2017-02-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-13. สืบค้นเมื่อ 2017-02-13.
- ↑ "ภาพ คลิป จัดเต็ม! BNK48 The Debut เปิดตัว 16 เซ็นบัตสึ พร้อมสัมภาษณ์พิเศษ 6 สาว ยูนิตแรก". music.trueid.net. True ID. 2017-06-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-16. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.
- ↑ "อยากฟิน-ต้องซื้อ! BNK48 เปิดจองซิงเกิ้ลเดบิวต์ 'Aitakatta อยากจะได้พบ(เธอ)'". mthai.com. M Thai. 2017-07-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-06. สืบค้นเมื่อ 2017-07-19.
- ↑ พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ (2017-08-07). "ไขปม: การตลาดโอตะ กระแส BNK48 จะอยู่รอดในตลาดไทยได้จริงหรือ?". news.voicetv.co.th. Voice TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-11. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.
- ↑ แก้วตา เกษบึงกาฬ (2017-08-27). "แฟนคลับ BNK48 แห่ร่วมงานจับมือครั้งแรกของวง". news.voicetv.co.th. Voice TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-27. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.
- ↑ คมชัดลึก (2017-08-14). "โฟร์วันวัน จัดหนัก! รวม 3 บิ๊กไอดอล จาก 3 สัญชาติ". Nation TV. Nation Broadcasting Corporation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-31. สืบค้นเมื่อ 2017-08-31.
- ↑ "411 Fandom Party in Bangkok". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). Bangkok Post Public Company Limited. 2017-08-08. สืบค้นเมื่อ 2017-08-31.
- ↑ "คาวาอี้ BNK48 บานสะพรั่ง ธุรกิจเพลงใสใส…ได้ใจสาวก". ประชาชาติธุรกิจ. Bangkok: ประชาชาติธุรกิจ. 2017-12-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-26. สืบค้นเมื่อ 2017-12-26.
- ↑ วัชรพล (2017-09-01). "แฟน ๆ งง! 4 สาวชราไลน์ BNK48 โดนเด้งเป็น UnderGirl งาน JapanExpo 2017". Thairath. ไทยรัฐออนไลน์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-02. สืบค้นเมื่อ 2017-09-02.
- ↑ แก้วตา เกษบึงกาฬ (2017-09-23). "BNK48 จัดคอนเสิร์ตอำลา 'คิตแคต' อย่างอบอุ่น". news.voicetv.co.th. Voice TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-24. สืบค้นเมื่อ 2017-09-23.
- ↑ พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ (2017-10-31). "จบการศึกษาอีกราย 'ซินซิน BNK48' ประกาศออกจากวง". news.voicetv.co.th. Voice TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-31. สืบค้นเมื่อ 2017-10-31.
- ↑ กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวี (2017-11-18). "แฟนคลับประทับใจงาน 'BNK48 Mini Live and Handshake'". voicetv.co.th. Voice TV. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 2017-11-18.
- ↑ "BNK48 เปิดตัวเอ็มวีแรกสุดน่ารัก "คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie)"". sanook.com. Sanook. 2017-11-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-08. สืบค้นเมื่อ 2019-06-18.
- ↑ "เมื่อเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย ของวง BNK48 กำลังแรง มีใครอินบ้าง". sanook.com. Sanook. 2018-01-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2019-06-11.
- ↑ 43.0 43.1 "รู้จักทีม BIII (บีทรี) ทีมอย่างเป็นทางการของ BNK48". gmlive.com. GM Live. 2017-12-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-10. สืบค้นเมื่อ 2017-12-24.
- ↑ "สรุปทุกประกาศในงาน #BNK48 We Wish You A Merry Christmas : ทีม BIII, ซิงเกิล 3, Photobook และอีกเพียบ !!". mangozero.com. Mango Zero. 2017-12-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-25. สืบค้นเมื่อ 2017-12-24.
- ↑ "ช็อกโอตะ! 'แจนBNK48' จบการศึกษา(ออกจากวง) มุ่งลุยงานร่วมกับญี่ปุ่น..." dailynews.co.th. Bangkok: Dailynews. 2018-01-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-30. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.
- ↑ "โอตะเศร้าซ้ำ"น้ำหอม BNK48" ประกาศจบการศึกษา!". Dailynews. Bangkok: dailynews.co.th. 2018-02-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-09. สืบค้นเมื่อ 2018-02-09.
- ↑ "จบเพื่อเริ่มใหม่! น้ำหอม BNK48 ขอประกาศจบการศึกษา กลับไปเรียนต่อที่เดนมาร์ก". True ID. Bangkok: music.trueid.net. 2018-02-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-11. สืบค้นเมื่อ 2018-02-09.
- ↑ "ใกล้ชิดแบบฟิน ๆ กับ BNK48 ในแฟนมีตติ้ง BNK48 We Wish You! A Merry Christmas". music.trueid.net. trueid. 2017-12-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-25. สืบค้นเมื่อ 2017-12-24.
- ↑ "ปรากฏการณ์ใหม่ของวงการเพลงไทย !!! มีผู้สมัคร "ออดิชั่น" สมาชิก BNK48 รุ่นที่ 2 ยอดถล่มทลาย มากกว่ารุ่นแรกเกือบ 10 เท่า !!!". tnews.co.th. tnews. 2018-02-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-27. สืบค้นเมื่อ 2018-02-02.
- ↑ "BNK48 2nd Generation Audition ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าสู่รอบ Audition.pdf" (PDF). BNK48 Office. 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "ใกล้ชิดแบบฟิน ๆ กับ BNK48 ในแฟนมีตติ้ง BNK48 We Wish You! A Merry Christmas". music.trueid.net. Bangkok: True Digital & Media Platform. 2017-12-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-25. สืบค้นเมื่อ 2017-12-25.
- ↑ ""ช้างศึก" ดึง BNK48 เป็นไอดอลร่วมเชียร์ทีมชาติไทย". komchadluek.net. Bangkok: komchadluek. 2018-03-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-28. สืบค้นเมื่อ 2018-02-28.
- ↑ "BNK48 ได้ฤกษ์เปิดตัวซิงเกิล "Shonichi (วันแรก)" ก่อนทัพช้างศึกลงสนามคิงส์คัพ". sanook.com. Sanook. 2018-03-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-10. สืบค้นเมื่อ 2018-10-28.
- ↑ "โอตะเตรียมพร้อม ! เผยโฉม 94 ผู้ผ่านเข้ารอบ BNK48 2nd Generation". online-station.net. Bangkok: Online Station. 2018-03-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-11. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "ผังมาแล้ว! BNK48 1st Concert คอนเสิร์ตเดี่ยวเต็มรูปแบบครั้งแรกของ BNK48". ทรูไอดี. Bangkok: www.trueid.net. 2018-02-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-11. สืบค้นเมื่อ 2018-02-08.
- ↑ "จัดหนักจัดเต็ม "BNK48" คอนเสิร์ตใหญ่ "ซึตาโตะ"". เนชั่นทีวี. 2018-04-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2018-04-06.
- ↑ "กระเป๋าตังโอตะสั่น !! เปิดพรีออเดอร์อัลบั้มแรก "BNK48" พรุ่งนี้". nationtv.tv. Bangkok: Nation Broadcasting Corporation. 2018-05-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-16. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
- ↑ "ไม่รอปลดล็อก-ตีความ 10 เมมเบอร์ BNK48 ลงเลือกตั้ง 'เวิลด์เซ็นบัตสึ'". Thairath.co.th. Bangkok: Thairath online. 2018-03-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-26. สืบค้นเมื่อ 2018-03-26.
- ↑ "ผลเลือกตั้ง! เวิลด์เซ็นบัตสึ เฌอปราง-มิวสิค BNK48 เจ้าตัวถึงกับร้องไห้". Thairath.co.th. Thairath. 2018-06-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-17. สืบค้นเมื่อ 2018-06-16.
- ↑ ""เปิดวาร์ป "BNK48 รุ่นที่ 2" ทำความรู้จักพวกเขาแล้วเตรียม "โอชิ" กันได้เลย". sanook.com. Sanook. 2018-04-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2019-06-18.
- ↑ "เปิดตัว BNK48 รุ่น 2 "ลูกแม่หญิงการะเกด" ติดด้วย!!". mgronline.com. Bangkok: Mgronline. 2018-04-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-29. สืบค้นเมื่อ 2018-04-29.
- ↑ Sam Ponsan (2018-07-17). "สรุป 7 เรื่องใหม่ของ BNK48 ที่โอตะต้องจดไว้ l เปิดตัวเพลงใหม่รุ่นของ 2 l เปิดตัวซิงเกิ้ล 4 l เพิ่มรอบเธียร์เตอร์ l ตู้ปลารุ่น 2 และอื่นๆ". mangozero.com. Bangkok: The Zero Publishing. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-31. สืบค้นเมื่อ 2018-07-17.
- ↑ ""เธอคือ...เมโลดี้" ซิงเกิ้ลที่ 4 ของ "BNK48" ยอดสั่งจองซีดีทะลุสูงขึ้นเป็นจำนวน 340,000 แผ่น!". dodeden.com. BNK48. 2018-09-04. สืบค้นเมื่อ 2018-09-04.
- ↑ Thairath (2018-08-05). "ช็อก! แคน BNK48 ประกาศจบการศึกษา บนสเตจที่ BNK48 Campus". thairath.co.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-06. สืบค้นเมื่อ 2018-08-05.
- ↑ "BNK48 ประกาศฟ้าผ่ากลางงานจับมือ! 21 เซ็มบัตสึ ซิงเกิ้ลที่ 4 Kimi wa Melody". trueid.net. True ID. 2018-09-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-07. สืบค้นเมื่อ 2018-09-15.
- ↑ "ปูเป้ BNK48 เผยความรู้สึก! หลังได้เป็นเซ็นเตอร์เพลงใหม่ และ โปรดิวเซอร์คอนเสิร์ต". sanook.com. Sanook. 2018-08-20. สืบค้นเมื่อ 2018-08-20.
- ↑ "เหล่าโอตะนับพันยืนชมคอนเสิร์ต "BNK 48" รุ่น1 และ รุ่น2 ท่ามกลางสายฝน แน่นลานเซ็นทรัลเวิลด์". posttoday.com. Post Today. 2018-09-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-06. สืบค้นเมื่อ 2019-06-18.
- ↑ "BNK48・チャープラン、ミュージックの2人が魅せる『てもでもの涙』で観客圧倒!!<AKB48グループ感謝祭>". wws-channel.com. WWS Channel. 2018-09-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-05. สืบค้นเมื่อ 2018-09-21.
- ↑ ""เมษา BNK48" ประกาศจบการศึกษาเป็นคนที่ 6 ของวง!!". mgronline.com. MGRonline. 2018-10-10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2018-10-10.
- ↑ "สิ้นสุดการรอคอย! BNK48 จัดเลือกตั้ง ม.ค.ปีหน้าที่อิมแพ็ค-"ปัญ" คว้าเซ็นเตอร์ซิงเกิ้ล 5". mgronline.com. MGROnline. 2018-09-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-01. สืบค้นเมื่อ 2018-09-30.
- ↑ ""ปัญ BNK48" นำทีมเปิดตัวเพลงใหม่ BNK festival". mgronline.com. MGR Online. 2018-11-24. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ "มหกรรมรวมพลคนรัก BNK48 กับงาน BNK48 Fan Festival 2018". komchadluek.net. คม ชัด ลึก. 2018-12-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-23. สืบค้นเมื่อ 2018-12-23.
- ↑ "ครบรสทุกความสนุก! คอนเสิร์ตใหญ่เต็มรูปแบบของ BNK48 Space Mission Concert". thestandard.co. The Standard. 2019-01-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-13. สืบค้นเมื่อ 2019-06-18.
- ↑ "เกาะติดงานประกาศผล BNK48 6th Single Senbatsu General Election". trueid.net. True ID. 2019-01-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-01. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "ไม่พลิก! เฌอปรางคว้าอันดับ 1 งานเลือกตั้งครั้งแรกของ BNK48". thestandard.co. The Standard. 2019-01-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-10. สืบค้นเมื่อ 2019-06-18.
- ↑ "BNK48 ประกาศซิงเกิลที่ 6 คือเพลง "Beginner" !! พร้อมเปิด Pre Order 3 มี.ค.นี้". mangozero.com. Mango Zero. 2019-02-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2019-02-18.
- ↑ "ภาพบรรยากาศงานคอนเสิร์ต BNK48 Thank you & The Beginner". thestandard.co. The Standard. 2019-03-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-31. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "ประกาศด่วน! Let you go เพลงรองที่ 3 ของซิงเกิ้ล Beginner". mangozero.com. Mango Zero. 2019-03-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ 79.0 79.1 "เปิดรายได้ 'BNK48' จาก 'จิรัฐ บวรวัฒนะ' ชายผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ไอดอลครองเมือง". gmlive.com. Bangkok: Gmlive. 2017-05-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-04. สืบค้นเมื่อ 2017-05-04.
- ↑ "BNK48 ประกาศอัลบั้ม 2 เปิดตัว 2เพลงใหม่ Jabaja เพลงหลัก และการมาของ Reborn!". trueid.net. TrueID. 2019-04-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-29. สืบค้นเมื่อ 2019-06-18.
- ↑ "ตูน-อาทิวราห์ ถ่ายคลิปใต้น้ำขอบคุณคนไทยที่ช่วยกันลดใช้ถุงพลาสติก ก้าวต่อไป "พี่ตูน ผนึก BNK48" เป้า 1,000 ล้านใบ เพื่อ 77 โรงพยาบาล". mgronline.com. MGR Online. 2019-04-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-03. สืบค้นเมื่อ 2019-04-03.
- ↑ "แก้ว BNK48 สอบผ่านฉลุย คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรก A Passage to Fly". trueid.net. True ID. 2019-05-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-12. สืบค้นเมื่อ 2019-05-19.
- ↑ "ช็อกโอตะ"ดีนี่BNK48" ประกาศจบการศึกษาแล้ว". dailynews.co.th. DailyNews. 2019-06-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-07. สืบค้นเมื่อ 2019-06-07.
- ↑ "JABAJA มาแล้ว! งานใหญ่ BNK48 เปิดตัวอัลบั้ม 2 และ 2 เพลงใหม่ JABAJA และ Reborn". trueid.net. TrueID. 2019-07-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-05. สืบค้นเมื่อ 2019-07-05.
- ↑ "BNK48 เปิดตัววงน้องสาว "CGM48" ออม นั่งแท่นกัปตัน รินะ เป็นผู้จัดการวง". khaosod.co.th. ข่าวสด. 2019-07-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-14. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ "โอตะ ช็อค!! "เค้ก BNK48" ประกาศจบการศึกษา". Nation TV. 2019-08-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2019-08-30.
- ↑ 87.0 87.1 "BNK48 เปิดตัวยูนิตพิเศษ "MIMIGUMO" พร้อมเพลง Candy, Myujikkii และ Heart Gata Virus". idolth.com. STRATUSFOTOMOMENTS. 2019-09-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-19. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "จัดเต็มกีฬาสีครั้งแรก BNK48 งานเทศกาลกีฬาบางกอก48 ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก". idolth.com. STRATUSFOTOMOMENTS. 2019-09-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-19. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "ปล่อยแล้ว MV เพลง "Candy" จาก mimigumo พร้อมเผยสปอยล์ว่าอีก 2 เพลงมี MV ตามมาแน่ๆ". idolth.com. IDOLTH. 2019-10-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-31. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "คอนเสิร์ต BNK48 รุ่นที่2 มาแล้ว!!". idolth.com. STRATUSFOTOMOMENTS. 2019-10-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-14. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "Cherprang's Fanmeet มาแล้ว!". nationtv.tv. Nation TV. 2019-10-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-31. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "เปิดตัวแล้ว!! BNK48 ซิงเกิลที่7 "77 ดินแดนแสนวิเศษ "". idolth.com. STRATUSFOTOMOMENTS. 2019-10-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-17. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "ด่วน!! "มัยร่า BNK48" ประกาศจบการศึกษา". Nation TV. 2019-11-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-05. สืบค้นเมื่อ 2019-11-05.
- ↑ "BNK48 ประกาศทีม NV พร้อม Shuffle สมาชิกจากทีม BIII เข้าสู่ทีมใหม่ และการแสดงเธียเตอร์เพลงใหม่ถึง 2 ชุด". idolth.com. IDOLTH. 2019-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-17. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "Mimigumo 1st Fanmeet "Secret of Mimigumo"". facebook.com. BNK48. 2019-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "ปล่อยแล้ว MV เพลง Myujikkii กับเทคนิคการถ่ายทำแบบ Long Take". idolth.com. IDOLTH. 2019-11-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-12. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "เปิดแล้วตู้ปลาแห่งใหม่ใจกลางเมือง BNK48 Digital Live Studio ณ MBK Center". idolth.com. IDOLTH. 2019-12-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-12. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "BNK48 ประกาศซิงเกิ้ลใหม่ที่ 8 "High Tension" พร้อมกิจกรรมเลือกตั้งครั้งที่ 2 ต้นปีหน้าเจอกัน". idolth.com. IDOLTH. 2019-12-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-12. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "ลำดับ Timeline ของการรับสมัคร BNK48 ตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงล่าสุด การเปิดรับสมัคร BNK48 รุ่นที่ 3". idolth.com. SIRADA SOONTORNYATARA. 2019-12-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-31. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
- ↑ "ช็อก! "แนทเธอรีน-อุ้ม" ประกาศจบการศึกษาจากวง "BNK48" พร้อมกัน". Sanook.com. 2020-01-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-18. สืบค้นเมื่อ 2020-01-17.
- ↑ "BNK48 เปิดตัว High Tension ซิงเกิลที่ 8 และเซ็นเตอร์ครั้งแรกของ 'น้ำหนึ่ง' เพลงที่ชวนทุกคนออกมาเต้นให้หายเครียด". thestandard.co. 2020-02-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-13. สืบค้นเมื่อ 2020-04-01.
- ↑ "สรุปผลงานเลือกตั้ง BNK48 General Election เจน BNK48 คว้าอันดับ 1 เฌอปราง มิวสิค คว้าอันดับ 2 และ 3". True ID Music. 2020-04-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-28. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
- ↑ "[Breaking] จูเน่ BNK48 ประกาศจบการศึกษา". Mango Zero. 2020-06-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-11. สืบค้นเมื่อ 2020-06-11.
- ↑ "เปิดตัวแล้ว! 9th Single "Heavy Rotation" ในงาน BNK48 WONDERLAND". Bright TV. 2020-07-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-26. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
- ↑ รพีพรรณ เกตุสมพงษ์ (2020-08-10). "ทำความรู้จักสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 3 พร้อมช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของทั้ง 19 คน". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2020-08-12.
- ↑ "เผยผลจับสลากประกบคู่ BNK48 Janken Tournament 2020 วัดดวงหาเซ็นเตอร์". Thairath. 2020-09-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-22. สืบค้นเมื่อ 2020-09-26.
- ↑ ""จีจี้" มาพร้อมดวง! "เป่ายิ้งฉุบ" จนชนะงานจังเก้นจนเป็นเซ็นเตอร์เพลงใหม่ BNK48". Sanook. 2020-09-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-11. สืบค้นเมื่อ 2020-09-26.
- ↑ "ช็อกเหล่าโอตะ 'เข่งBNK48' ประกาศจบการศึกษาแล้ว!". เดลินิวส์. November 5, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-05. สืบค้นเมื่อ November 5, 2020.
- ↑ ""ฟีฟ่า BNK48" โบกมือลาการเป็นไอดอล ประกาศจบการศึกษากลางไลฟ์". สนุก.คอม. 2020-11-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-05. สืบค้นเมื่อ 2020-11-05.
- ↑ สุพัฒน์ ศิวะพรพันธ์ (November 30, 2020). "BNK48 เผยชื่อซิงเกิลอัลบั้มที่ 3 Warota People ผลงานจากวงรุ่นพี่ NMB48 'จีจี้' ผู้ชนะจากงาน Janken รับตำแหน่งเซ็นเตอร์". The Standard. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-30. สืบค้นเมื่อ November 30, 2020.
- ↑ "BNK48 เปิดตัวยูนิต Universal Music ในชื่อ Lyra กับ 6 สาวแห่งดวงดาวที่อยากจะผลักดัน T-POP สู่ระดับโลก". The Standard. July 16, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-08. สืบค้นเมื่อ November 5, 2020.
- ↑ "DEBUT แล้ว 'LYRA' เกิร์ลกรุ๊ปที่จะทำให้วงการ T-Pop สะเทือน". กรุงเทพธุรกิจ. October 8, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ November 5, 2020.
- ↑ "#VYRAisCOMING! ออฟฟิเชียลประกาศ 'LYRA' เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น 'VYRA' อย่างเป็นทางการ". True ID. March 12, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-11. สืบค้นเมื่อ March 12, 2021.
- ↑ ""เนย" อำลา "LYRA" ต้นสังกัดวงร่อนแถลงการณ์ยุติบทบาทสมาชิก". Sanook. February 11, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-20. สืบค้นเมื่อ March 12, 2021.
- ↑ "#หัวเราะเซ่ 555+ BNK48 ปล่อยเพลงใหม่ 'Warota People' นำทีมฮาโดยจีจี้". Mago Zero. January 8, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-08. สืบค้นเมื่อ January 8, 2021.
- ↑ Jiratchaya Laosakul (2021-03-12). "มิวนิค BNK48 ประกาศจบการศึกษา ผ่านไลฟ์ในแอป iAM48 โดยจะยังอยู่ในสังกัด iAM และทำงานด้านการแสดงต่อไป". Mago Zero. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-12. สืบค้นเมื่อ 2021-03-12.
- ↑ "ต้นสังกัดประกาศ 'ฝ้าย' พ้นสภาพสมาชิก BNK48 ยกเลิกทุกกิจกรรม ยันปลดไม่เกี่ยวการเมือง". Matichon. March 19, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-19. สืบค้นเมื่อ March 19, 2021.
- ↑ "BNK48 จากบทเพลงแห่งการพบเจอ สู่ ดีอะ เพลงออริจินัลที่แต่งขึ้นจากพวกเธอ บอกเล่าโดยพวกเธอ และเพื่อพวกเธออย่างแท้จริง". The Standard. June 3, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-05. สืบค้นเมื่อ June 5, 2021.
- ↑ "First Rabbit ซิงเกิลเดบิวต์ BNK48 รุ่นที่ 3 เหล่าฝูงกระต่ายที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับทุกความเจ็บปวด เพื่อมอบรอยยิ้มแก่ทุกคน". The Standard. February 8, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-26. สืบค้นเมื่อ March 20, 2022.
- ↑ "BNK48 ปล่อยทีเซอร์ตัวสุดท้ายเอ็มวีซิงเกิลหลักที่ 11 Sayonara Crawl ก่อนเริ่มงานเปิดตัว 20 มี.ค. นี้". The Standard. March 19, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-24. สืบค้นเมื่อ March 20, 2022.
- ↑ "'โมบายล์' คว้าอันดับ 1 งานเลือกตั้ง 'BNK48 12th Single Senbatsu General Election'". TrueID Music. April 9, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-09. สืบค้นเมื่อ April 9, 2022.
- ↑ "ช็อก ! มิวสิค BNK48 ประกาศจบการศึกษากลางงานเลือกตั้ง - โมบายล์ คว้าอันดับ 1". kapook.com/. kapook. 2022-04-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-09. สืบค้นเมื่อ 2022-04-09.
- ↑ "แบมบู BNK48 ประกาศจบการศึกษาจากวง เพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ". Mango Zero. April 24, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-24. สืบค้นเมื่อ April 24, 2022.
- ↑ ""วิว BNK48" ประกาศจบการศึกษาจากวง เตรียมไลฟ์อำลาเพราะปัญหาสุขภาพ". Sanook. May 13, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-12. สืบค้นเมื่อ May 13, 2022.
- ↑ "'Believers' เพลงหลักในซิงเกิลที่ 12 ที่สะท้อนวิถีไอดอลจากวง 'BNK48'". Workpoint Today. August 29, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-29. สืบค้นเมื่อ September 28, 2022.
- ↑ "'โมบายล์' ประกาศจบการศึกษาจาก BNK48 เผยทำกิจกรรมกับวงถึงปลายเดือน ธ.ค.นี้". TrueID Music. 2022-10-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-01. สืบค้นเมื่อ 2022-10-01.
- ↑ ""ไข่มุก" อำลาแฟนๆ กลางเวที ประกาศข่าวเศร้าจบการศึกษาจาก BNK48". Sanook. 2022-10-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-02. สืบค้นเมื่อ 2022-10-02.
- ↑ "โอตะใจหาย 'เจนนิษฐ์' BNK48 รุ่น 1 ประกาศจบการศึกษาอีกราย". Matichon. October 8, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-08. สืบค้นเมื่อ October 8, 2022.
- ↑ "จิ๊บ BNK48 ประกาศจบการศึกษาสิ้นปี 2565 อำลาวงกลางสเตจวันเกิด (ภาพ)". Sanook. October 9, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09. สืบค้นเมื่อ October 9, 2022.
- ↑ "ใจหาย! 'ก่อน BNK48' ประกาศจบการศึกษาในสเตจทีม BIII รอบเย็น". True ID Music. October 9, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09. สืบค้นเมื่อ October 9, 2022.
- ↑ "'น้ำใส' ประกาศจบการศึกษาจาก BNK48 ทำกิจกรรมถึงช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้". True ID Music. October 16, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-16. สืบค้นเมื่อ October 16, 2022.
- ↑ ""อร BNK48" ประกาศจบการศึกษาแล้ว โดยจะทำกิจกรรมถึงสิ้นปีนี้". TNN Thailand. October 20, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-20. สืบค้นเมื่อ October 20, 2022.
- ↑ "'จ๋า' ประกาศจบการศึกษาจาก BNK48 ในงานจับมือซิงเกิลที่ 12 'Believers'". True ID Music. October 22, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-23. สืบค้นเมื่อ October 24, 2022.
- ↑ "เจน BNK48 ถึงเวลาอำลาวง ประกาศจบการศึกษากลางงานจับมือซิงเกิล 12 (อัลบั้มภาพ)". Sanook. October 23, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-23. สืบค้นเมื่อ October 24, 2022.
- ↑ 135.0 135.1 "เนย-ปัญ-ตาหวาน ประกาศจบการศึกษา และสรุปประกาศใหม่จากงาน BNK48 & CGM48 Request Hour 2022". The Standard. October 31, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-31. สืบค้นเมื่อ November 1, 2022.
- ↑ "'เปี่ยม' ประกาศจบการศึกษาจาก BNK48 ทำกิจกรรมถึงช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้". TrueID Music. November 6, 2022. สืบค้นเมื่อ November 7, 2022.
- ↑ "น้ำหนึ่ง-มิลิน ดอกเทียน ประกาศจบการศึกษาจาก BNK48". The Standard. November 13, 2022. สืบค้นเมื่อ November 14, 2022.
- ↑ "Love you. I say, Goodbye my dearest. บรรยากาศ "Jiwaru DAYS" First Performance ซิงเกิลแห่งมิตรภาพความผูกพันของ BNK48 รุ่นที่ 1". Mango Zero. November 20, 2022. สืบค้นเมื่อ November 21, 2022.
- ↑ "'แก้ว BNK48' ประกาศจบการศึกษาในงาน Kaew Natruja "Dear You" Concert". TrueID Music. November 27, 2022. สืบค้นเมื่อ November 27, 2022.
- ↑ "บันทึกโมเมนต์สุดประทับใจจาก BNK48 1st Generation Concert "Dan D'1ion" คอนเสิร์ตส่งท้ายสมาชิก BNK48 รุ่น 1". The Standard. 2022-12-22. สืบค้นเมื่อ 2022-12-22.
- ↑ "'เฌอปราง' รับตำแหน่งชิไฮนินคนใหม่! BNK48 ประกาศเพลงเดบิวต์รุ่น 4 พร้อมซิงเกิลลำดับที่ 13 'Iiwake maybe'". TrueID. 2022-12-29. สืบค้นเมื่อ 2022-12-29.
- ↑ "กระต่ายน้อยโบกมืออำลา พิม BNK48 รุ่นที่ 3 ประกาศจบการศึกษา". Mango Zero. January 9, 2023. สืบค้นเมื่อ January 9, 2023.
- ↑ "Shoujotachi yo – วันใหม่ เพลงแห่งดวงดาวที่เปล่งประกายจาก BNK48 รุ่นที่ 4". The Standard. February 4, 2023. สืบค้นเมื่อ February 4, 2023.
- ↑ "แจกความสดใส ใจกลางสวนสาธารณะ! ในงาน BNK48 13th Single "iiwake Maybe" First Performance ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ". Mangozero. 2023-02-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-27. สืบค้นเมื่อ 2023-02-27.
- ↑ ""แพมแพม BNK48" ประกาศข่าวใจหาย จบการศึกษาจากวงกลางเวที (ภาพ)". Sanook. March 22, 2023. สืบค้นเมื่อ March 12, 2023.
- ↑ "แองเจิ้ล CGM48 คว้าตำแหน่งเซ็นเตอร์จากงาน BNK48 Janken Tournament 2023". Matichon. April 9, 2023. สืบค้นเมื่อ April 10, 2023.
- ↑ "'เฌอปราง' ประกาศจบการศึกษาจาก BNK48 เตรียมจัดคอนเสิร์ตแกรด 29 ต.ค." Matichon. April 9, 2023. สืบค้นเมื่อ April 10, 2023.
- ↑ "สัญญานะ ซิงเกิลส่งท้าย เฌอปราง BNK48 กับคำมั่นสัญญาว่าจะคอยเป็นกำลังใจให้กันและกันเสมอ". The Standard. June 19, 2023. สืบค้นเมื่อ June 19, 2023.
- ↑ ""BNK48" ปล่อยเพลงใหม่ "Gingham Check"". INN News. August 15, 2023. สืบค้นเมื่อ September 16, 2023.
- ↑ @bnk48official (September 16, 2023). "มิโอริ-มิโอริ โอคุโบะ (Miori BNK48) ประกาศจบการศึกษาจาก BNK48" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
- ↑ ""พิม CGM48" คว้าแชมป์เลือกตั้ง ขึ้นแท่นเซ็นเตอร์ ซิงเกิลที่16 ของ BNK48". TrueID. December 12, 2023. สืบค้นเมื่อ December 12, 2023.
- ↑ ""Kiss Me! (ให้ฉันได้รู้)" เปิดตัวซิงเกิลที่ 16 ของ BNK48 อันยองทักทาย ฉีกภาพจำเดิม ทะยานสู่ NEW ERA!". Mango Zero. February 23, 2024. สืบค้นเมื่อ February 23, 2024.
- ↑ "BNK48 รุ่น 2 ประกาศจบการศึกษายกรุ่น ในงาน BNK48 & CGM48 Matsuri 2024 มีใครบ้าง ?". BrickInfoTV. February 26, 2024. สืบค้นเมื่อ February 26, 2024.
- ↑ "BNK48 Members". bnk48.com. BNK48 Office. 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-18. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ 155.0 155.1 "สิ้นสุดการรอคอย! BNK48 ตั้งทีม NV "ตาหวาน" คว้ากัปตัน "ปัญ-เจนนิษฐ์" ยังอยู่ BIII". mgronline.com. ผู้จัดการออนไลน์. 2019-11-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-16. สืบค้นเมื่อ 2019-11-16.
- ↑ "HKT中2コンビが超選抜のタブーに直撃 片思いは?給料は?". oricon.co.jp. Oricon News. 2018-10-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2018-10-20.
- ↑ "Thai filmmaker's intimate portrait of girl pop sensation". dailymail.co.uk. Dailymail. 2018-10-10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-26. สืบค้นเมื่อ 2018-10-20.
- ↑ 158.0 158.1 "อันเดอร์พยายามเพื่ออะไร? : มองระบบเมมเบอร์ BNK48 ผ่านมุมมองของทีมฟุตบอล". mainstand.co.th. Mainstand. 2018-10-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-25. สืบค้นเมื่อ 2018-10-20.
- ↑ 境真良 (2014-10-24). "AKB48が、「非メディア頼み」でも強い理由". 東洋経済オンライン. 東洋経済新報社. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-26. สืบค้นเมื่อ 2018-08-07.
- ↑ 境真良 (2014-10-24). "AKB48が、「非メディア頼み」でも強い理由". 東洋経済オンライン. 東洋経済新報社. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-26. สืบค้นเมื่อ 2018-08-07.
- ↑ "JKT48 - アカデミー". JKT48 Official Web Site. JKT48 Operation Team. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ 2018-08-06.
- ↑ 162.0 162.1 境真良 (2014-10-24). "AKB48が、「非メディア頼み」でも強い理由". 東洋経済オンライン. 東洋経済新報社. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-03. สืบค้นเมื่อ 2017-09-13.
- ↑ "BNK48 จบการศึกษาคือ? ไขศัพท์แฟนเพลงขาจร". dailynews.co.th. Dailynews. 2018-01-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2018-10-20.
- ↑ "แคน BNK48 ประกาศจบการศึกษาบนสเตจที่ BNK48 Campus". thairath.co.th. Thairath. 2018-08-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-27. สืบค้นเมื่อ 2018-10-20.
- ↑ "สตอรีก่อนจะมาเป็น Mimigumo ยูนิตสุดคาวาอี้ว่าด้วย แคนดี้ ไวรัส และกล้ามโต". charcoal.in.th. Charcoal. 2019-09-03. สืบค้นเมื่อ 2019-10-11.
- ↑ "BNK48 Office เปิดตัวไอดอลกรุ๊ป BNK48". thansettakij.com. ฐานเศรษฐกิจ. 2017-06-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-23. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.
- ↑ 167.0 167.1 "ฟังจากปาก 'ต้อม-จิระ' อัลติดาเมจ 'PlanB x BNK48' ทำให้วงการไอดอลเปลี่ยนไปอย่างไร". dbd.go.th. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. 2019-06-08. สืบค้นเมื่อ 2019-06-08.[ลิงก์เสีย]
- ↑ อำภรณ์ศรี, สันติชัย, บ.ก. (2017-07-05). "Ham Feature: Return of Japanese Idol?". Hamburger Magazine. Day Poets (91): 6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-10. สืบค้นเมื่อ 2017-12-26.
- ↑ "บริษัท BNK48 รีแบรนด์ชื่อเป็น iAM มองอนาคตเป็น Talent Management และเตรียมทำไอดอลผู้ชาย". brandinside asia. Wattanapong Jaiwat. 2019-11-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-08. สืบค้นเมื่อ 2019-11-08.
- ↑ "เปิดรายได้ 'BNK48' จาก 'จิรัฐ บวรวัฒนะ' ชายผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ไอดอลครองเมือง". gmlive.com. Gmlive. 2018-05-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-04. สืบค้นเมื่อ 2018-05-04.
- ↑ "台北、マニラ、バンコク!AKB海外新グループをサプライズ発表". スポーツ報知 (ภาษาญี่ปุ่น). 報知新聞社. 2016-03-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-27. สืบค้นเมื่อ 2017-09-10.
- ↑ "หนังสือที่ WORK 11/2561 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2561 เรื่อง แจ้งการลงทุนของบริษัท" (PDF). efinanceThai.com. Bangkok: efinanceThai.com. 2018-06-11. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-25. สืบค้นเมื่อ 2018-06-12.
- ↑ "เกิดอะไรขึ้นกับ BNK Production และอนาคตของรายการ Victory BNK48". OTA Story. 2019-09-18. สืบค้นเมื่อ 2019-11-08.
- ↑ "BNK48 กลายเป็นวงไอดอลมูลค่า 500 ล้านบาท หลังแพลนบีมีเดีย ประกาศเข้าลงทุน". brandinside.asia. วัฒนพงษ์ ใจวาท. 2018-05-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-08. สืบค้นเมื่อ 2018-05-24.
- ↑ กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวี (2017-12-20). "BNK48: บุคคลแห่งปี VoiceTV". voicetv.co.th. Voice TV. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-22. สืบค้นเมื่อ 2017-12-20.
- ↑ "วิเคราะห์ทิศทางของ BNK48 ความท้าทายปี 2561 ถ้าไม่ดัง ก็อาจร่วงได้?". gmlive.com. Bangkok: GM Multimedia Group. 2017-12-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-28. สืบค้นเมื่อ 2017-12-28.
- ↑ ยิ่งเกียรติคุณ, พิเชฐ (2017-08-07). "ไขปม: การตลาดโอตะ กระแส BNK48 จะอยู่รอดในตลาดไทยได้จริงหรือ?". Voice TV. Ditigal TV Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-07. สืบค้นเมื่อ 2017-08-07.
- ↑ เกษบึงกาฬ, แก้วตา (2017-08-23). "จาก AKB48 สู่ BNK48: เส้นทางสายไอดอลไทย". Voice TV. Digital TV Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-23. สืบค้นเมื่อ 2017-08-23.
- ↑ "BNK48 Digital Live Studio ตู้ปลาครั้งแรก". tudsinjai.com. tudsinjai. 2017-06-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-28. สืบค้นเมื่อ 2018-10-04.
- ↑ "BNK48 หนึ่งเดือนหลังเดบิวท์ กับ รีวิวฉบับโอตะหน้าใหม่". Online Station. Online Station. 2017-07-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-28. สืบค้นเมื่อ 2017-07-28.
- ↑ "ส่องตารางไลฟ์ BNK48 แต่ละคนผ่านทาง BNK48.com และแอปพลิเคชันได้แล้ววันนี้!!". BNK48 Official Website. BNK48. 2018-11-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-18. สืบค้นเมื่อ 2018-11-16.
- ↑ "อำลาตู้ปลา BNK48 มอบรางวัลให้เมมเบอร์ BNK48 Digital Live Studio Awards ก่อนย้ายไปอยู่ในศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-28.
- ↑ 183.0 183.1 "[Idol News] BNK48 กางแผนโปรโมท …ตั้งเป้าไอดอลอันดับ 1 ของประเทศไทย!". megaxgame.com. MEGAXGAME. 2017-02-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-22. สืบค้นเมื่อ 2017-02-20.
- ↑ ."BNK48 ร่วมงานกับ SAMSUNG & TOYOTA จัดงาน Road Show ทั่วประเทศ". bnk48.com. BNK48. 2018-08-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-18. สืบค้นเมื่อ 2018-08-17.
- ↑ "แฟนคลับประทับใจงาน BNK48 Mini Live and Handshake". voicetv.co.th. Voice TV. 2017-11-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 2017-11-19.
- ↑ "BNK48 The Campus เดอะมอลล์บางกะปิ รีวิวแบบเท่าที่จำได้". travel.trueid.net. Trueid. 2018-04-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-11. สืบค้นเมื่อ 2018-04-16.
- ↑ ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส (2018-04-20). "เนย BNK48 เด็กผู้หญิงขี้อาย ขี้หวง ตัวละครลับที่อยากบอกทุกคนว่า ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร". thestandard.co. The Standard. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-11. สืบค้นเมื่อ 2018-04-21.
- ↑ "เว็บไซต์แจ้งข้อมูลรอบการแสดง และ การจองที่นั่งสำหรับเข้าชม ของศิลปินวง BNK48". ticket.bnk48.com. Bangkok: BNK48. 2018-12-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-24. สืบค้นเมื่อ 2018-12-11.
- ↑ "รีวิวเธียเตอร์'BNK48'ฉบับเต็ม ความรักของไอดอลแห่งปี". dailynews.co.th. Bangkok: สี่พระยาการพิมพ์. 2018-06-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-15. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
- ↑ "แฟน ๆ BNK48 สงสัย บัตรจับมือ 1 ใบใช้จับมือเม็มเบอร์ได้กี่วินาที?". beartai.com. Beartai. 2017-08-25. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-18. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "วิเคราะห์ระบบบัตรจับมือใหม่ มีอะไรบ้าง ไปดูกัน". mangozero.com. Mango Zero. 2019-02-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-11. สืบค้นเมื่อ 2019-02-26.
- ↑ 192.0 192.1 "BNK48 Beginner Handshake Event บันทึกความสุขเมื่อ "งานจับมือ" ไม่เหมือนเดิม". sanook.com. Sanook. 2019-07-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-13. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ "โอตะ BNK48 ควรอ่าน 'คู่มือการเป็นโอตะที่ดี - อต.101'". mangozero.com. Mango Zero. 2018-02-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-23. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "คู่มือการเป็นโอตะที่ดี ๑๐๑ : บทที่ 2 งานจับมือต้องทำตัวยังไงบ้าง". mangozero.com. Mango Zero. 2018-06-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-01. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "BNK48 1st Handshake Event" (PDF). BNK48 Office. 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-29. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "แฟนคลับ BNK48 แห่ร่วมงานจับมือครั้งแรกของวง". voicetv.co.th. Voice TV. 2017-08-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-14. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "BNK48 Mini Live and Handshake" (PDF). BNK48 Office. 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-13. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "10 ความประทับใจใน BNK48 Mini Live and Handshake". mangozero.com. Mango Zero. 2017-11-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-12. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "BNK48 2nd Single Koisuru Fortune Cookie Handshake Event" (PDF). BNK48 Office. 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-23. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "BNK48 Campus Card Handshake" (PDF). BNK48 Office. 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-13. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "งามตะลึง 26 สาว BNK48 ร่วมแต่งชุดไทยจับมือแฟนคลับ". dailynews.co.th. Dailynews. 2018-04-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-28. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "BNK48 3rd Single Shonichi Handshake Event" (PDF). BNK48 Office. 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-14. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "ภาพบรรยากาศงานจับมือ BNK48 3rd Single 'Shonichi' Handshake Event". thestandard.co. The Standard. 2018-08-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-13. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "BNK48 4th Single "Kimi wa Melody" Handshake event" (PDF). BNK48 Office. 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-13. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "BNK48 Kimi wa Melody Handshake Event งานจับมือสุดท้ายของปี ที่ดีต่อใจเกินคาด". sanook.com. Sanook. 2019-02-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-14. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ "BNK48 5th Single "BNK Festival" Handshake event" (PDF). BNK48 Office. 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-23. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "คึกคักเช่นเคยงานจับมือ'BNK48' พ่วงกิจกรรม เป่ายิ้งฉุบ". dailynews.co.th. Dailynews. 2019-04-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-07. สืบค้นเมื่อ 2019-04-06.
- ↑ "BNK48 6th Single Beginner Handshake Event" (PDF). BNK48 Office. 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-18. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "รายละเอียดการ Pre-order BNK48 7th Single 77 no Suteki na Machi e". Facebook.com. BNK48. 2019-10-31. สืบค้นเมื่อ 2019-11-05.
- ↑ "ประกาศงานจับมือ BNK48 8th Single "High Tension" Mini HandShake Event แบบ New Normal ตลอดเดือนกันยายนที่ MBK Center". facebook.com. BNK48. 2020-08-20. สืบค้นเมื่อ 2020-09-06.
- ↑ "ประกาศ! สำหรับงาน BNK48 8th Single "High Tension" Handshake". facebook.com. BNK48. 2020-08-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2020-09-06.
- ↑ "ประกาศวันเวลา และสถานที่สำหรับงาน BNK48 9th Single Heavy Rotation Handshake Event". facebook.com. BNK48. 2020-08-31. สืบค้นเมื่อ 2020-09-06.
- ↑ "BNK48 Group Handshake @ Japan Expo in Thailand 2017 at Royal Paragon Hall". BNK48 Office. 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "พลังแฟนคลับ! เหล่าแฟนคลับ BNK48 เชียงใหม่ไปเฝ้ารอซื้อของที่ระลึกตั้งแต่ 2 ทุ่ม". chiangmainews.co.th. Chiang Mai. 2018-02-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-02. สืบค้นเมื่อ 2018-02-02.
- ↑ "BNK48 "RIVER" 2-Shot Event การรอคอยอันคุ้มค่า เพื่อรูปในความทรงจำกับไอดอลแห่งยุค". sanook.com. Sanook. 2018-10-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-24. สืบค้นเมื่อ 2018-10-22.
- ↑ "หน่วยงานรัฐเรียกสอบ 2-shot ถ่ายภาพคู่ BNK48". dailynews.co.th. Dailynews. 2018-08-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-26. สืบค้นเมื่อ 2018-08-26.
- ↑ "BNK48 1st Album RIVER 2-Shot Event [20 - 21 Oct. 2018]". bnk48.com. BNK48. 2018-10-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-13. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "ดาเมจรุนแรงขั้นสุดกับอัลบั้มภาพ + คลิป ในงาน BNK48 1st Album RIVER 2 Shot". beartai.com. Beartai. 2018-10-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "BNK48 2nd Album "Jabaja"". Facebook.com. BNK48. 2019-06-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-22. สืบค้นเมื่อ 2019-11-17.
- ↑ "BNK48 2nd Album "JABAJA" 2-shot Event ในวันที่ 27 - 28 กรกฎาคม 2562". Facebook.com. BNK48. 2019-07-25. สืบค้นเมื่อ 2019-11-17.
- ↑ "BNK48 2nd Album "JABAJA" 2-shot Event ในวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2562". Facebook.com. BNK48. 2019-10-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2019-11-17.
- ↑ "BNK48 Official - Senbatsu General Election". election.bnk48.com. BNK48. 2018-11-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-30. สืบค้นเมื่อ 2018-11-01.
- ↑ "มาแล้ว!!รายละเอียดสำหรับ BNK48 6th Single Senbatsu General Election". bnk48.com. BNK48. 2018-11-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-13. สืบค้นเมื่อ 2018-11-13.
- ↑ "กิจกรรมที่น่าสนใจของเหล่าไอดอล 48Group มีอะไรบ้างไปดูกัน". mangozero.com. Mango Zero. 2019-02-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-29. สืบค้นเมื่อ 2019-05-29.
- ↑ "วิเคราะห์ 4 ตัวเต็งเทศกาลกีฬาบางกอก๔๘ ของแต่ละสี". mangozero.com. Mango Zero. 2019-05-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-29. สืบค้นเมื่อ 2019-05-29.
- ↑ NYX (2017-06-08). "BNK48 เดบิวต์อย่างยิ่งใหญ่ มุ่งเป้าไอดอลอันดับ 1". Daco. Bangkok: Data & Communique Express. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-23. สืบค้นเมื่อ 2017-12-25.
- ↑ ""BNK48" รับต้องแข่งขันระหว่างสมาชิกในวง". nineentertain.mcot.net. Nine Entertain. 2018-01-25. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-02. สืบค้นเมื่อ 2022-11-02.
- ↑ "เตรียมพบกับกลุ่มไอดอลที่กำลังมาแรง BNK48 ซึ่งเธอจะพาไปสัมผัสประเทศญี่ปุ่น โดยตามแกะรอยฉากต่างๆในอนิเมะ "อยากจะได้พบเธอ! ญี่ปุ่น"". amarintv.com. Amarin TV. 2017-12-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-16. สืบค้นเมื่อ 2017-12-28.
- ↑ "AniParade! รายการใหม่ช่องวัน 31 เรียนรู้วัฒนธรรมอนิเมะ พร้อมพิธีกรจาก BNK48". reviewspooh.com. Reviewspooh. 2018-06-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-19. สืบค้นเมื่อ 2018-06-16.
- ↑ "WorkPoint เผยตัวอย่างรายการ Victory BNK48". beartai.com. @bigpigs. 2018-06-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-09. สืบค้นเมื่อ 2018-06-25.
- ↑ "เปิดแคตตาล็อกชีวิต! BNK รุ่น 2 ผ่านรายการใหม่ BNK48 SENPAI 2nd Generation". workpoint.co.th. Workpoint. 2018-09-8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-02. สืบค้นเมื่อ 2022-11-02.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "อย่าลืมหนูนะคะ! โมบายล์ BNK48 ออกเดินทางไปญี่ปุ่น ปัญ แก้ว และโอตะไปส่งสุดอบอุ่น". trueid.net. TrueID. 2019-01-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-31. สืบค้นเมื่อ 2019-06-18.
- ↑ "BNK48出演、北海道ロケの番組『ii ne JAPAN』2/24放送". bnktyo.site. ii ne Japan. 2019-01-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-26. สืบค้นเมื่อ 2019-01-23.
- ↑ "Fun x Fun! Japan!". gmm25.com. GMM25. 2019-11-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-28. สืบค้นเมื่อ 2019-12-29.
- ↑ "ฉายแล้ว "Girls Don't Cry" ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของ BNK48". thairath.co.th. Thairath. 2018-08-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-17. สืบค้นเมื่อ 2018-08-22.
- ↑ "นายกฯ มอบรางวัล 6 บุคคลแห่งปี 2561". komkhaotuathai.com. KomKhaoTuaThai. 2018-12-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-29. สืบค้นเมื่อ 2018-12-26.
- ↑ "'SisterS กระสือสยาม' แหวกความระทึกขวัญ". khaosod.co.th. Khaosod. 2019-03-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-07. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "Where We Belong งานแสดงนำของมิวสิคและเจนนิษฐ์ BNK48 เตรียมฉาย 20 มิถุนายนนี้". thestandard.co. The Standard. 2019-05-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-06. สืบค้นเมื่อ 2019-06-01.
- ↑ "เริ่มถ่ายทำแล้ว!! เผยบรรยากาศในการถ่ายหนัง ไทบ้าน x BNK48". mthai.com. M Thai. 2019-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-01. สืบค้นเมื่อ 2019-06-01.
- ↑ "โดนัท มนัสนันท์ เผยกันยายนนี้ได้ชมแน่ 'REAL ME' สารคดีเรื่องที่ 2 ของ BNK48". matichon.co.th. Matichon. 2019-03-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-14. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ "บริษัท BNK48 รีแบรนด์ชื่อเป็น iAM มองอนาคตเป็น Talent Management". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-08. สืบค้นเมื่อ 2019-11-08.
- ↑ "เปลี่ยนเธอเป็นนาย ตัวอย่างซีรีส์สุดจิ้น "Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ"". sanook.com. Sanook. 2019-01-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-09. สืบค้นเมื่อ 2019-01-28.
- ↑ ""เฌอปราง" นำทีม 8 สาว BNK48 ประเดิมซีรีส์เรื่องแรกกับ GDH". sanook.com. Sanook. 2018-10-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-13. สืบค้นเมื่อ 2018-10-13.
- ↑ "BNK48 AR VIDEO". play.google.com. Google. 2017-06-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-23. สืบค้นเมื่อ 2018-06-01.
- ↑ "ให้สาวๆ BNK48 ปลุกตอนเช้า ด้วยแอปนาฬิกาปลุก BNK48 Sweet Call". mangozero.com. Mango Zero. 2019-01-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-09. สืบค้นเมื่อ 2019-01-07.
- ↑ "BNK48 Jigsaw เกมมือถือเกมแรกของเหล่าไอดอลสาวที่มาแรงที่สุดในขณะนี้". /digitalmore.co. Digitalmore. 2017-10-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-07. สืบค้นเมื่อ 2018-06-01.
- ↑ "ซัมซุงเปิดตัว Galaxy J8 ปลุกตลาดสมาร์ตโฟน ฮือฮาดึง BNK48 แบรนด์แอมบาสเดอร์". khaosod.co.th. Khaosod. 2018-07-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-25. สืบค้นเมื่อ 2018-07-24.
- ↑ "เปิดตัว Galaxy J4+ และ Galaxy J6+ มาพร้อม BNK48 สดใสน่ารัก ในราคาเริ่มต้นเบาๆ". droidsans.com. Droidsans. 2018-09-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-19. สืบค้นเมื่อ 2018-09-20.
- ↑ "BNK48 จับมือ Ookbee สร้างแอพของตัวเอง เอาใจโอตะ". brandinside.asia. Brand Inside. 2018-11-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2018-11-15.
- ↑ "BNK48 Official Application พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้ว!!!!". bnk48.com. BNK48. 2018-11-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-28. สืบค้นเมื่อ 2018-11-06.
- ↑ "BNK48 ปล่อยเกมมือถือ ชวนโอตะกอบกู้จักรวาล". online-station.net. Online Station. 2018-12-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-06. สืบค้นเมื่อ 2018-12-23.
- ↑ "BNK48 Star Keeper แอปพลิเคชันเกมแนวอาร์แคดใหม่ล่าสุดของ BNK48". play.google.com. BNK48. 2018-12-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2018-12-23.
- ↑ "เกม SisterS HunterS เป็นเกมที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็นนักฆ่ากระสือ เพื่อปกป้อง SisterS ไม่ให้โดนกระสือทำร้าย". play.google.com. Snoozefox. 2019-04-05. สืบค้นเมื่อ 2019-04-05.
- ↑ "BNK48 Oshi Festival เกมใหม่จาก BNK48 เปิดให้ดาวน์โหลดแล้ว". techoffside.com. techoffside. 2019-06-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-31. สืบค้นเมื่อ 2019-06-03.
- ↑ "สำนักพิมพ์แซลมอน (Salmon Books)". salmonbooks.net. Salmon Books. 2018-05-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-14. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ "B Side. The Untold Story of BNK48 | เมื่อโอตะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมมเบอร์รุ่น 1". patsonic.com. Patsonic. 2018-05-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-01. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ "[BNK48 COMIC] Most Dream มาในรูปแบบ E-Book". comico.com. Comico. 2018-10-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-06. สืบค้นเมื่อ 2018-11-05.
- ↑ "เตรียมพบกับหนังสือ BNK48 6th Single Senbatsu General Election". bnk48.com. BNK48. 2019-01-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-14. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ "เตรียมพบกับหนังสือฉลอง 2 ปี BNK48 ที่บันทึกเรื่องราวสำคัญของวงไอดอลเบอร์หนึ่งของไทย". bnk48.com. BNK48. 2019-06-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-14. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
- ↑ ไทยรัฐออนไลน์ (2017-08-06). "เหนือบรรยาย! ประมูลรูป เฌอปราง BNK48 ใบละ 7.7 หมื่น รวมทำบุญกว่า 2 แสน". Thairath Online. Thairath. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-06. สืบค้นเมื่อ 2017-08-06.
- ↑ "BNK48ผนึกกำลังจัดคอนเสิร์ต#ThailandforAttapeuช่วยสปป.ลาว". TNN. TNN. 2018-07-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-29. สืบค้นเมื่อ 2018-07-30.
- ↑ "BNK48 มอบเงิน 1,000,000 บาท ให้สมาคม Special Olympics Thai". specialolympicsthai.com. Special Olympics Thai. 2018-11-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-25. สืบค้นเมื่อ 2018-11-13.
- ↑ "BNK48 ร่วมงานแถลงข่าว The Blue Carpet Show for UNICEF". unicef.org. Unicef Thailand. 2018-11-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-13. สืบค้นเมื่อ 2018-11-13.
- ↑ "6 สาว BNK 48 บุกเมืองคอน มอบความสุขผู้ประสบวาตภัย'ปาบึก'". naewna.com. แนวหน้า. 2019-01-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-14. สืบค้นเมื่อ 2019-01-09.
- ↑ "BNK48 ปีนี้ไม่รับรุ่น 3 ลุยรุกอาเซียน-จีน ผุดมูลนิธิช่วยเด็ก สตรี และภัยพิบัติ". mgronline.com. MGR Online. 2019-02-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-03. สืบค้นเมื่อ 2019-04-03.
- ↑ "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิบีเอ็นเค"" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-23. สืบค้นเมื่อ 2019-09-19.
- ↑ "รู้จักและสำรวจปรากฏการณ์ "BNK48" เมื่อ "ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป" ฮิตสนั่นเมือง!". matichonweekly.com. มติชน. 2018-02-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ "BNK48: สร้างแบรนด์แบบใหม่ และปรากฏการณ์ FOMO". bangkokbiznews.com. กรุงเทพธุรกิจ. 2018-02-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ "BNK48 ฟีเว่อร์ ดันธุรกิจปัง ! แบบไม่ต้องเสี่ยงทาย". money.kapook.com. กระปุก. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ "จาก AKB48 ถึง BNK48 เลือกตั้ง Senbatsu โอตะทุ่มกว่า 200 ล้าน". thairath.co.th. Thairath. 2019-02-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-04. สืบค้นเมื่อ 2019-02-04.
- ↑ "เปิดใจ "จิรัฐ บวรวัฒนะ" เบื้องหลังพลังคอนเทนต์ ปั้นแบรนด์ BNK48 สู่คุกกี้ฟีเวอร์". brandinside.asia. กระปุก. 2018-04-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ 272.0 272.1 "ล้วงความลับผู้วางกลยุทธ์ BNK48 ตั้งเป้าร้อยล้าน ดังแบบไม่ใช้คุกกี้เสี่ยงทาย". thestandard.co. The Standard. 2018-01-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-29. สืบค้นเมื่อ 2018-12-24.
- ↑ 273.0 273.1 "สิ่งที่นักการตลาดควรเรียนรู้จากปรากฏการณ์ BNK48". nuttaputch.com. Bangkok: nuttaputch. 2018-01-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-07. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ Ippoodo, Thanyawat (2019-02-08). "วงการไอดอลกำลังไปทางไหน? บุกไปหาคำตอบในงาน IDOL EXPO เวทีรวมไอดอลไทยครั้งใหญ่ที่สุด". thematter.co. Bangkok: The Matter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-02. สืบค้นเมื่อ 2019-06-02.
- ↑ 275.0 275.1 ทองเทพ, วัชชิรานนท์ (2018-04-24). "จับมือ "BNK48" กลยุทธ์แนวใหม่ "ประยุทธ์" เพื่อเจาะฐานคนรุ่นใหม่ ปูทางศึกเลือกตั้ง". bbc.com. London: BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-27. สืบค้นเมื่อ 2018-04-24.
- ↑ Kanin Srimaneekulroj (2017-06-22). "Sisters are doin' it for themselves". bangkokpost.com. Bangkok Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2017-12-27.
- ↑ "เบื้องหลังการจับมือที่น่าสนใจระหว่าง สมใจ x BNK48". readthecloud.co. Read The Cloud. 2018-10-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-03. สืบค้นเมื่อ 2018-10-20.
- ↑ "ไอดอล = นักโทษหน้าตาดี? เมื่อระบบของวงการอาจทำให้ "ความเป็นมนุษย์" ของไอดอลสูญหาย". medium.com. Medium. 2018-06-29. สืบค้นเมื่อ 2018-12-24.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Thailand Zocial Awards 2018". Thailandzocialawards.com. Thailand Zocial Awards. 2018-02-28. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "13 รางวัลอันทรงเกียรติกับ The Guitar Mag Awards 2018". Theguitarmag.com. Bangkok: ฺThe Guitar Mag by WONGSAWANG CREATIONS CO., LTD. 2018-03-15. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ผลรางวัล 'THE GUITAR MAG AWARDS". Komchadluek.net. Bangkok: ฺคมชัดลึก. 2018-03-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-13. สืบค้นเมื่อ 2018-03-12.
- ↑ "กัปตันเฌอปราง แห่ง BNK48 เผยสาเหตุ หลั่งน้ำตาบนเวที JOOX Awards 2018". music.Sanook.com/. Bangkok: ฺSanook! Music Powered by JOOX. 2018-03-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-25. สืบค้นเมื่อ 2018-03-20.
- ↑ "รายชื่อผู้ได้รับรางวัล MThai Top Talk-About 2018 สาขาต่าง ๆ". Mthai.com. Bangkok: ฺMThai. 2018-03-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-28. สืบค้นเมื่อ 2018-03-28.
- ↑ "แรงจริง! BNK48 สุดปลื้ม! คว้ารางวัล เณศไอยรา สาขา ศิลปินตัวอย่างดีเด่น จาก PRESS AWARD 2018". music.trueid.net. True ID. 2018-04-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-01. สืบค้นเมื่อ 2018-04-30.
- ↑ "มาแล้วจ้า! สรุปผลรางวัล Kazz Awards 2018 ไมค์ ภัทรเดช คว้าหนุ่มปังแห่งปี". bugaboo.tv. Bangkok: Bugaboo. 2018-05-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-23. สืบค้นเมื่อ 2018-05-16.
- ↑ "งานประกาศผล LINE Stickers Awards 2018 รางวัลสุดยอดครีเอเตอร์นักออกแบบไลน์สติกเกอร์". mangozero.com. Bangkok: mango zero. 2018-06-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 2018-06-08.
- ↑ "สะท้านพรมม่วง คนบันเทิงตบเท้าร่วมงาน "ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2018"". siamdara.com. Bangkok: Siamdara. 2018-06-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-12. สืบค้นเมื่อ 2018-06-09.
- ↑ ""ญาญ่า-ณเดชน์- ซันนี่-ลำไย-BNK-ปุ๊กลุก" คว้าสยามดารา สตาร์ อวอร์ดส์ 2018". siamdara.com. Siamdara. 2018-06-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-26. สืบค้นเมื่อ 2018-06-29.
- ↑ "BNK48がトップアーティスト賞獲得[MAYA AWARDS 2018]". thaich.net. Thaich. 2018-08-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-03. สืบค้นเมื่อ 2018-12-11.
- ↑ "BNK48 รับรางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม จาก เวที Thailand Zocial Awards 2019 สมัยที่ 2 !". mangozero.com. Mango Zero. 2019-02-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-11. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
- ↑ "เวียร์-สู่ขวัญ นำทัพ รับรางวัล Bioscope Award 2018". thebangkokinsight.com. The BangkokInsight. 2019-03-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-05.
- ↑ "ออฟ-กันคว้ารางวัล The BEST Couple Award ในงาน HOWE Awards 2018". zoonzones.com. Zoon Zones. 2019-03-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-12.
- ↑ "เปิดโผผู้เข้าชิงความนิยม คม ชัด ลึก อวอร์ดครั้งที่ 15". komchadluek.net. คม ชัด ลึก. 2018-11-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-23. สืบค้นเมื่อ 2019-03-21.
- ↑ "Kazz Awards 2019 เฌอปราง คว้าดาวรุ่งหญิงแห่งปี วงไอดอลตบเท้าร่วมงานเพียบ!". online-station.net. Online Station. 2019-05-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-24. สืบค้นเมื่อ 2019-05-19.
- ↑ "ดาวจรัสฟ้าเต็มพื้นที่งาน "daradaily Awards" ครั้งที่ 8 ระยิบระยับไปกับธีมชุด Yellow Gold". naewna.com. แนวหน้า. 2019-06-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-21. สืบค้นเมื่อ 2019-06-16.
- ↑ "'BNK48-เดอะทอยส์-คริส-สิงโต' รับรางวัล'Line Stickers Awards 2019'". dailynews.co.th. Bangkok: dailynews. 2019-07-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 2019-07-09.
- ↑ "ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง JOOX Thailand Music Awards 2021 ครั้งที่ 5". newtv. 2021-04-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-28.
- ↑ "เที่ยงตรงวันนี้!!! รวมพลร่วมโหวต The Guitar Mag Awards 2021 Popular Vote คนดนตรีมหาชน 10 ศิลปินที่มีแฟนคลับมากที่สุดในปี 2020". facebook. The Guitar Mag. 2021-04-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-12. สืบค้นเมื่อ 2021-04-28.
- ↑ "THAILAND ZOCIAL AWARDS ครั้งที่ 10 งานประกาศรางวัลโซเชียลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด". สปริงนิวส์. 2022-02-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-22. สืบค้นเมื่อ 2022-02-22.
- ↑ สุพัฒน์ ศิวะพรพันธ์ (March 1, 2022). "สรุปผลรางวัล TOTY Music Awards 2021 Tilly Birds คว้า 4 รางวัลใหญ่ 4EVE คว้ารางวัล Best Music of the Year และ Best Female Group". The Standard. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-01. สืบค้นเมื่อ March 1, 2022.
- ↑ "Three Man Down-นนท์ ธนนท์ ฮอตทั่วไทย! คว้ารางวัลใหญ่งาน JTMA 2022". สนุก.คอม. 2022-04-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-04-06.
- ↑ สุพัฒน์ ศิวะพรพันธ์ (2023-03-14). "สรุปผลรางวัล TOTY Music Awards 2022". THE STANDARD. สืบค้นเมื่อ 2023-03-17.
- ↑ "AIS จับมือ ไวซ์ไซท์ จัดงาน Thailand Social AIS Gaming Awards 2023 ต่อเนื่องปีที่ 3". spacebar.th. 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 2023-05-19.
- ↑ "กลับมาอีกครั้งกับเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย Thailand Social AIS Gaming Awards 2024 ที่สุดแห่งรางวัลโซเชียลสายเกมและอีสปอร์ต!". Dailynews. 2023-04-23. สืบค้นเมื่อ 2023-04-23.
- ↑ "ผลรางวัล "Siamrath Awards 2024"". Siamrath. 2023-04-24. สืบค้นเมื่อ 2023-04-24.
- ↑ "มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการเชิดชูเกียรติ มอบโล่รางวัล HEART FOR ALL ครั้งที่ 1". 77jowo.com. T News. 2018-08-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-23. สืบค้นเมื่อ 2019-05-24.
- ↑ "BNK48 นำทีมคนบันเทิง ร่วมรับรางวัล เทพทองพระราชทาน ครั้งที่ 19". khaosod.co.th. Khaosod. 2019-03-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-07. สืบค้นเมื่อ 2019-03-11.
- ↑ "'BNK48' ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นคนไทยผู้สร้างคุณประโยชน์ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น". Workpoint Today. 2022-08-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-29. สืบค้นเมื่อ 2022-09-06.
305. " 'เปิดโปรไฟล์ 12 ไอดอลรุ่นใหม่จาก BNK48 5th Generation
The Standard . 2024-02-22.เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-02-22 . สืบค้นเมื่อ 2024-02-23
อ้างอิง
- Fernquest, Jon (28 March 2016). "Thai sister group for Japan's AKB48 all-girl pop group". bangkokpost.com. Bangkok: Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 June 2017.
- Srimaneekulroj, Kanin (22 June 2017). "Sisters are doin' it for themselves". bangkokpost.com. Bangkok: Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 June 2017.
- Lersakvanitchakul, Kitchana (31 March 2018). "Cuteness by the numbers". nationmultimedia.com. Bangkok: The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-07. สืบค้นเมื่อ 7 April 2018.
- โดม ไกรปกรณ์ (2022). BNK 48 วัฒนธรรมบันเทิงแบบใหม่ในสังคมไทยร่วมสมัย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ (PDF). คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ISBN 978-616-296-272-1. สืบค้นเมื่อ 3 September 2022.