กระดูกข้อมือ
กระดูกข้อมือ (Carpus) | |
---|---|
'กระดูกข้อมือ' แถวต้น: A=สแคฟฟอยด์, B=ลูเนท, C=ไตรกีตรัล, D=พิสิฟอร์ม แถวปลาย: E=ทราพีเซียม, F=ทราพีซอยด์, G=แคปปิเตต, H=ฮาเมต | |
รายละเอียด | |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | ossa carpi |
MeSH | D002348 |
TA98 | A02.4.08.001 |
TA2 | 1249 |
FMA | 23889 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก |
ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ กระดูกข้อมือ (อังกฤษ: Carpal bones; Carpus) เป็นกลุ่มของกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียงตัวอยู่ระหว่างกระดูกของส่วนปลายแขนและกระดูกฝ่ามือ (Metacarpal bones) และเป็นกระดูกที่ประกอบกันเป็นส่วนประกอบหลักของข้อมือ (wrist)
กระดูกส่วนใหญ่ของกลุ่มกระดูกข้อมือจะมีรูปร่างคล้ายลูกเต๋า โดยที่พื้นผิวทางด้านหลังมือ (dorsal surface) และฝ่ามือ (palmar surface) จะมีลักษณะขรุขระเนื่องจากมีเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น (tendon sheath) พาดผ่าน ขณะที่พื้นผิวด้านอื่น ๆ จะค่อนข้างเรียบเพื่อต่อกับกระดูกชิ้นอื่น ๆได้อย่างสนิท
สำหรับในมนุษย์ จะมีกระดูกข้อมือจำนวน 8 ชิ้น ซึ่งจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกระดูกข้อมือที่ติดต่อกับกระดูกเรเดียส จะเรียกว่า กระดูกข้อมือแถวแรก (proximal row) ซึ่งมีจำนวน 4 ชิ้น ส่วนอีกกลุ่มจะติดต่อกับกระดูกฝ่ามือ จะเรียกว่ากระดูกข้อมือแถวหลัง (distal row) ซึ่งมีจำนวน 4 ชิ้นเช่นกัน แต่เนื่องจากมือของคนมี 2 ข้างกระดูกข้อมือทั้งหมดในตัวมนุษย์จึงมี 16 ชิ้น
กระดูกข้อมือแถวแรก
[แก้]กระดูกข้อมือแถวแรกจะติดต่อกับกระดูกเรเดียส และกระดูกข้อมือในแถวหลัง ซึ่งได้แก่กระดูกสแคฟฟอยด์ (Scaffoid bone) กระดูกลูเนท (Lunate bone) กระดูกไตรกีตรัล (Triquetral bone) และกระดูกพิสิฟอร์ม (Pisiform bone)
กระดูกสแคฟฟอยด์ (Scaphoid bone)
[แก้]กระดูกสแคฟฟอยด์เป็นกระดูกข้อมือแถวแรกที่อยู่ทางด้านนิ้วหัวแม่มือ และเป็นกระดูกชิ้นที่ใหญ่ที่สุดของแถวแรก เนื่องจากมีรูปร่างงอเล็กน้อยคล้ายตัวเรือ จึงเป็นที่มาของชื่อ scaphoid ซึ่งในภาษาลาตินแปลว่า รูปเรือ แม้ว่าการแตกหักของกระดูกสแคฟฟอยด์จะเกิดไม่บ่อยนัก แต่เมื่อเกิดการบาดเจ็บของข้อมือ มักจะพบว่ากระดูกสแคฟฟอยด์จะได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังเป็นกระดูกที่มีการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ช้า เนื่องจากมีระบบเลือดไปเลี้ยงไม่มาก ดังนั้นเมื่อเกิดการบาดเจ็บของกระดูกชิ้นนี้จึงต้องรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากการที่ข้อมือผิดรูป
กระดูกลูเนท (Lunate bone)
[แก้]กระดูกลูเนทเป็นกระดูกข้อมือแถวแรกที่วางตัวอยู่ตรงกลางของข้อมือ และมีรูปร่างโค้งคล้ายพระจันทร์ โดยจะโค้งนูนไปทางกระดูกเรเดียส และส่วนเว้าของกระดูกนี้จะรับกับกระดูกแคปปิเตต (Capitate bone) ซึ่งอยู่แถวหลัง
กระดูกไตรกีตรัล (Triquetral bone)
[แก้]กระดูกไตรกีตรัลเป็นกระดูกข้อมือแถวแรกที่อยู่ทางด้านนิ้วก้อย และมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม ซึ่งพื้นผิวทั้งสามด้านจะติดต่อกับกระดูกข้อมือชิ้นอื่น ๆ ที่เด่นชัดที่สุดคือรอยบุ๋มรูปวงรีที่อยู่บนพื้นผิวด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณติดต่อกับกระดูกพิสิฟอร์ม (Pisiform bone)
กระดูกพิสิฟอร์ม (Pisiform bone)
[แก้]กระดูกพิสิฟอร์มเป็นกระดูกชิ้นเล็กๆที่วางอยู่ที่แถวหน้าของกระดูกข้อมือ และเป็นกระดูกแบบเซซามอยด์ (Sesamoid bone) แบบหนึ่ง นั่นคือเป็นกระดูกที่เกิดจากการสะสมแคลเซียมของเอ็นจนเป็นกระดูกที่ฝังตัวอยู่ในเส้นเอ็น เช่นเดียวกับกระดูกสะบ้า (Patella) ของข้อเข่า (knee joint) บนพื้นผิวของกระดูกชิ้นนี้จะมีรอยที่ติดต่อกับกระดูกไตรกีตรัลเป็นจุดเด่น
กระดูกข้อมือแถวหลัง
[แก้]กระดูกข้อมือในแถวหลังจะต่อต่อระหว่างกระดูกข้อมือในแถวแรก กับกระดูกฝ่ามือ ซึ่งได้แก่กระดูกทราพีเซียม (Trapezium bone) กระดูกทราพีซอยด์ (Trapezoid bone) กระดูกแคปปิเตต (Capitate bone) และกระดูกฮาเมต (Hamate bone)
กระดูกทราพีเซียม (Trapezium bone)
[แก้]กระดูกทราพีเซียมเป็นกระดูกข้อมือแถวหลังที่อยู่ทางด้านนิ้วหัวแม่มือ และมีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดต่อโดยตรงกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1 (Metacarpus I) และกระดูกสแคฟฟอยด์ (Scaffoid bone) ที่สำคัญคือบนพื้นผิวด้านฝ่ามือของกระดูกชิ้นนี้ จะมีร่องที่เป็นทางผ่านของเอ็นจากกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ คาร์ไพ เรเดียลิส (Flexor carpi radialis muscle) และพื้นผิวด้านนี้ยังเป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งได้แก่กล้ามเนื้อออพโพเนนส์ พอลิซิส (Opponens pollicis) กล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส เบรวิส (Abductor pollicis brevis muscle) และกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ พอลิซิส เบรวิส (Flexor pollicis brevis muscle)
กระดูกทราพีซอยด์ (Trapezoid bone)
[แก้]กระดูกทราพีซอยด์เป็นกระดูกชิ้นเล็กๆของกระดูกข้อมือแถวหลัง ซึ่งมีพื้นผิวติดต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่สอง (Metacarpus II) กระดูกสแคฟฟอยด์ และกระดูกแคปปิเตต
กระดูกแคปปิเตต (Capitate bone)
[แก้]กระดูกแคปปิเตตเป็นกระดูกข้อมือที่วางตัวอยู่ตรงกลางของกระดูกข้อมือแถวหลัง และเป็นกระดูกชิ้นที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มกระดูกข้อมือ โดยจะมีพื้นผิวด้านล่างติดต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2, 3 และ 4 พื้นผิวด้านบนจะติดต่อกับกระดูกลูเนท และพื้นผิวด้านข้างติดต่อกับกระดูกสแคฟฟอยด์และกระดูกฮาเมต
กระดูกฮาเมต (Hamate bone)
[แก้]กระดูกฮาเมตเป็นกระดูกข้อมือในแถวหลังที่วางตัวอยู่ทางด้านนิ้วก้อย โดยจะมีรูปร่างคล้ายรูปลิ่ม และมีลักษณะเด่นคือส่วนยื่นของกระดูกที่มีรูปร่างคล้ายตะขอซึ่งเรียกว่า ฮามิวลัส (hamulus) และเป็นที่มาของชื่อกระดูก hamate ซึ่งในภาษาลาตินแปลว่า ตะขอ กระดูกชิ้นนี้มีพื้นผิวติดต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 และ 5 รวมทั้งกระดูกไตรกีตรัลและกระดูกแคปปิเตต เนื่องจากลักษณะการวางตัวที่ค่อนข้างอยู่ทางด้านนอกของข้อมือ กระดูกฮาเมตจึงจัดว่าเป็นกระดูกที่เสียหายได้ง่ายที่สุดในบรรดากระดูกข้อมือ ซึ่งอาการจะสังเกตได้จากการกดเจ็บเหนือกระดูกชิ้นนี้ และอาจรู้สึกเจ็บเมื่อกำมือ นอกจากนี้เนื่องจากกระดูกฮาเมตวางตัวอยู่ใกล้กับเส้นประสาทอัลนา (Ulnar nerve) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายกับเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อของมืออ่อนแรง และเสียความรู้สึกของฝ่ามือในบริเวณนิ้วนางและนิ้วก้อย
รูปประกอบเพิ่มเติม
[แก้]-
กระดูกมือของมนุษย์
-
กระดูกของมือซ้าย จากด้านฝ่ามือ
-
กระดูกของมือซ้าย จากด้านหลังมือ
-
ภาคตัดตามยาวของข้อมือ แสดงการวางตัวของกระดูกข้อมือ
-
เอ็นข้อมือ มุมมองจากทางด้านหน้า
อ้างอิง
[แก้]- Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
- Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.