หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน
หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน | |
---|---|
ชนิด | ระบบการถอดเป็นอักษรโรมันสำหรับ |
ผู้ประดิษฐ์ | ราชบัณฑิตยสถาน |
ประดิษฐ์เมื่อ | พ.ศ. 2482 |
ช่วงยุค | ปัจจุบัน |
ภาษาพูด | ไทย |
หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน คือระบบทางการ[1] ที่ใช้สำหรับแสดงคำในภาษาไทยเป็นอักษรโรมันตามวิธีอ่าน จัดทำโดยราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันคือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา) และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2482[2] และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2542[3]
หลักเกณฑ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ถอดวิสามานยนามในป้ายบอกทางและเอกสารต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการเป็นหลัก และเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานการถอดเสียงภาษาไทยมาตรฐานหนึ่ง ๆ มากที่สุด แต่การใช้หลักเกณฑ์นี้ในทางปฏิบัติเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอแม้ในหมู่หน่วยงานราชการเอง ระบบการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันตามหลักเกณฑ์นี้แทบจะเหมือนกับระบบที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน ISO 11940-2
ลักษณะเด่น
[แก้]ลักษณะเด่นของหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง พ.ศ. 2542 ได้แก่
- เลือกใช้เฉพาะอักษรโรมันที่ไม่ผ่านการดัดแปลงและไม่ใส่เครื่องหมายเสริมสัทอักษรใด ๆ
- ถอดเสียงสระเดี่ยวและสระประสมทั้งหมดโดยใช้อักษรที่เป็นสระ ได้แก่ ⟨a⟩, ⟨e⟩, ⟨i⟩, ⟨o⟩, ⟨u⟩
- อักษรเดี่ยว ⟨a⟩, ⟨e⟩, ⟨i⟩, ⟨o⟩, ⟨u⟩ แทนเสียงสระเดี่ยวที่มีค่าเสียงเดียวกันอย่างในชุดสัทอักษรสากล
- ใช้อักษรแทนเสียงพยัญชนะตามอักษรในชุดสัทอักษรสากล ยกเว้น
- ทวิอักษรที่ลงท้ายด้วย ⟨h⟩ กล่าวคือ ⟨ph⟩, ⟨th⟩, ⟨kh⟩ แทนเสียงพยัญชนะพ่นลม /pʰ, tʰ, kʰ/ เพื่อแยกความแตกต่างจาก ⟨p⟩, ⟨t⟩, ⟨k⟩ ซึ่งแทนเสียงพยัญชนะไม่พ่นลม /p, t, k/
- ⟨ch⟩ แทนทั้งเสียงพยัญชนะ /t͡ɕʰ/ และเสียงพยัญชนะ /t͡ɕ/
- ⟨ng⟩ แทนเสียงพยัญชนะ /ŋ/
- ⟨y⟩ แทนเสียงพยัญชนะ /j/ (ในตำแหน่งต้นพยางค์)
- ถอดเสียงพยัญชนะตามเสียงที่ออกโดยไม่คำนึงถึงการสะกดการันต์ เช่น ศรี /sǐː/ = si (ไม่ใช่ sri); ลาด /lâːt/ = lat (ไม่ใช่ lad); ศิลป์ /sǐn/ = sin (ไม่ใช่ silp)
- ถอดเสียงสระลดรูปและสระเปลี่ยนรูปตามเสียงที่ออก เช่น กล /kōn/ = kon (ไม่ใช่ kn หรือ kl); สวย /sǔaj/ = suai (ไม่ใช่ swi หรือ swy); บรรจง /bān.t͡ɕōŋ/ = banchong (ไม่ใช่ brrchng)
- ในคำหลายพยางค์ หากพยางค์ที่ตามมาขึ้นต้นด้วยสระ หรือหากพยางค์หน้าลงท้ายด้วยสระ และพยางค์ที่ตามมาขึ้นต้นด้วย ⟨ng⟩ ให้ใส่เครื่องหมายยัติภังค์เพื่อเลี่ยงความกำกวมในการแยกพยางค์ เช่น สะอาด = sa-at; สำอาง = sam-ang; สง่า = sa-nga
- ในการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันให้เขียนแยกเป็นคำ ๆ เช่น ถนนโชคชัย = Thanon Chok Chai (ไม่ใช่ Thanonchokchai); จังหวัดชลบุรี = Changwat Chon Buri (ไม่ใช่ Changwatchonburi); สถาบันไทยคดีศึกษา = Sathaban Thai Khadi Sueksa (ไม่ใช่ Sathabanthaikhadisueksa) ยกเว้นคำประสมและวิสามานยนามที่เป็นชื่อบุคคล รวมทั้งวิสามานยนามที่เป็นคำสมาสและออกเสียงสระเชื่อมกลางคำ ให้เขียนติดกัน เช่น รถไฟ = rotfai (ไม่ใช่ rot fai); นายโชคชัย จิตงาม = Nai Chokchai Chitngam (ไม่ใช่ Nai Chok Chai Chit Ngam); อำเภอธัญบุรี = Amphoe Thanyaburi (ไม่ใช่ Amphoe Thanya Buri)
- ในกรณีของวิสามานยนามที่เป็นชื่อภูมิศาสตร์ ให้ถอดคำบอกประเภทวิสามานยนามนั้นเป็นอักษรโรมันโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ เช่น เกาะช้าง = Ko Chang (ไม่ใช่ Chang Island); เขาสอยดาว = Khao Soi Dao (ไม่ใช่ Soi Dao Hill); แม่น้ำป่าสัก = Maenam Pa Sak (ไม่ใช่ Pa Sak River); คลองแสนแสบ = Khlong Saen Saep (ไม่ใช่ Saen Saep Canal); ถนนหนองระแหง = Thanon Nong Rahaeng (ไม่ใช่ Nong Rahaeng Road); ซอยบ้านบาตร = Soi Ban Bat (ไม่ใช่ Ban Bat Lane)
ตารางเทียบเสียง
[แก้]ตารางเทียบเสียงพยัญชนะและสระตามหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง พ.ศ. 2542 เป็นดังนี้[3]
พยัญชนะ | สระ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
|
ประวัติ
[แก้]ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลง
[แก้]อักษรไทย | อักษรโรมัน (ตัวต้น) | อักษรโรมัน (ตัวสะกด) | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ธรรมการ 2475[4] |
ราชบัณฑิต 2482[2] |
ราชบัณฑิต 2511 |
ราชบัณฑิต 2542[3] |
ธรรมการ 2475[4] |
ราชบัณฑิต 2482 |
ราชบัณฑิต 2511 |
ราชบัณฑิต 2542[3] | |||
ทั่วไป | ทั่วไป | พิสดาร | ทั่วไป | ทั่วไป | พิสดาร | |||||
จ | č | čh | č | ch | ch | t | t | t / č | t | t |
ฉ | ch | ch | ch | ch | ch | t | t | t / ch | t | t |
ช | ch | ch | c῾ | ch | ch | t | t | t / c῾ | t | t |
ซ | s | s | ç | s | s | t | t | t / ç | t | t |
ทร | s | s | ç᾿ | s | s | t | t | t / ç᾿ | t | t |
ศ | s | s | ś | s | s | t | t | t / ś | t | t |
ษ | s | s | ṣ | s | s | t | t | t / ṣ | t | t |
ส | s | s | s | s | s | t | t | t / s | t | t |
ฤ [รึ] | rư | rư | ṛư̆ | ru | rue | — | ||||
ฤ [เรอ] | rơ | rœ | ṛœ | roe | roe | — | ||||
ฤๅ | rư | rư | ṛư | ru | rue | — | ||||
ฦ | lư | lư | ḷu | lu | lue | — | ||||
ฦๅ | lư | lư | ḷ́ư | lu | lue | — |
อักษรไทย | อักษรโรมัน | |||||
---|---|---|---|---|---|---|
ธรรมการ 2475[4] |
ราชบัณฑิต 2482[2] |
ราชบัณฑิต 2511 |
ราชบัณฑิต 2542[3] | |||
ทั่วไป | พิสดาร | ทั่วไป | พิสดาร | |||
–ึ; –ื | ư | ư̆; ư̄ | ư | ư̆; ư | u | ue |
แ–ะ; แ– | e̦ | ĕ̦; ē̦ | æ | æ̆ḥ; æ | ae | ae |
เ–าะ; –อ | o̦ | ŏ̦; ō̦ | ǫ | ǫ̆ḥ; ǫ | o | o |
เ–อะ; เ–ิ; เ–อ | ơ | ơ̆; ơ̄ | œ | œ̆ḥ; œ̆; œ | oe | oe |
เ–ือะ; เ–ือ | ưa | ưă; ưā | ưa | ư̆ăḥ; ưa, ưœ | ua | uea |
ใ– | ai | ăi | ai | ăĭ | ai | ai |
ไ– | ai | ăi | ai | ăi | ai | ai |
–ัย | ai | ăi | ai | ăy | ai | ai |
–าย | ai | āi | ai | ai | ai | ai |
เ–ือย | ưai | — | ưai | ưœi | uai | ueai |
–ิว | iu | — | iu | iu | iu | io |
แ–็ว; แ–ว | e̦o | ĕ̦o; ē̦o | æo | æo | aeo | aeo |
เ–ียว | iau | — | ieo | ieo | ieo | iao |
ฉบับ พ.ศ. 2475
[แก้]ใน พ.ศ. 2474 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณากำหนดวิธีการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันให้เป็นระบบเดียวกัน[2] เนื่องจากในเวลานั้นมีการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันหลายวิธี บางวิธีอาศัยการถอดอักษรตามรากศัพท์ในภาษาเดิม บางวิธีก็อาศัยการถอดอักษรตามเสียง คณะกรรมการมีความเห็นว่าควรกำหนดวิธีการถอดอักษรตามวิธีเขียนประกอบไปกับวิธีออกเสียงในภาษาไทย เพราะถ้ายึดหลักการถอดอักษรตามรากศัพท์ในภาษาเดิม อาจทำให้ต้องถอดอักษรไทยตัวเดียวกันเป็นอักษรโรมันต่างกัน และถ้าจะยึดหลักการถอดอักษรตามเสียงเท่านั้น ก็ไม่ตรงกับวิธีเขียนของไทยเสียทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่าควรจัดทำวิธีการถอดอักษรขึ้น 2 แบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ได้แก่ แบบทั่วไปและแบบพิสดาร (แบบละเอียด) แบบทั่วไปควรอนุโลมตามวิธีอ่านของไทย โดยใช้ในกรณีที่การออกเสียงสำคัญกว่าการเขียนตัวสะกดการันต์ เช่น ชื่อต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนแบบพิสดารควรอนุโลมตามวิธีเขียนของไทย โดยใช้ในกรณีที่ต้องการแสดงที่มาหรือความหมายของคำให้ละเอียดแม่นยำเป็นต้น
ในการกำหนดวิธีการถอดอักษรแบบทั่วไป คณะกรรมการได้อาศัยหลักต่อไปนี้[2]
- แบบทั่วไปควรเป็นวิธีที่จะขยายออกไปให้เป็นแบบพิสดารได้
- แบบทั่วไปควรอาศัยหลักสัทศาสตร์ กล่าวคือ เสียงเสียงหนึ่งเขียนแทนด้วยตัวอักษรตัวหนึ่ง
- แบบทั่วไปจะต้องสอดคล้องกับอักขรวิธีและวิธีออกเสียงในภาษาไทย
- ในการเลือกตัวอักษรหรือเครื่องหมาย จะต้องคำนึงถึงตัวพิมพ์และตัวพิมพ์ดีดที่มีอยู่ ตลอดจนวิธีถอดอักษรที่มีใช้กันอยู่แล้วด้วย
เมื่อได้พิจารณาวิธีออกเสียงและตัวอักษรในภาษาไทยแล้ว คณะกรรมการมีความเห็นว่าในวิธีการถอดอักษรแบบทั่วไปไม่ต้องมีเครื่องหมายแสดงเสียงวรรณยุกต์หรือเครื่องหมายแสดงความสั้นยาวของเสียงสระ มีไว้สำหรับแบบพิสดารก็พอแล้ว
เมื่อคณะกรรมการได้จัดทำวิธีการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันเรียบร้อยแล้ว ก็ทำบันทึกเสนอต่อกระทรวงธรรมการ กระทรวงธรรมการนำเรื่องไปหารือกับราชบัณฑิตยสภา ราชบัณฑิตยสภาเห็นว่ากระทรวงธรรมการควรตีพิมพ์เผยแพร่วิธีการดังกล่าวเพื่อรับฟังความเห็นจากสาธารณชนเสียก่อน ต่อเมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติม จึงจะเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้ต่อไป กระทรวงธรรมการเห็นด้วย จึงนำบันทึกรายงานของคณะกรรมการตีพิมพ์ลงในวารสาร วิทยาจารย์ และส่งสำเนาบันทึกรายงานให้หนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีกบางฉบับตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2475[2] อย่างไรก็ตาม วิธีการถอดอักษรที่ตีพิมพ์ในวารสาร วิทยาจารย์ นั้นครอบคลุมแบบทั่วไปและแบบพิสดารสำหรับสระเท่านั้น มิได้กล่าวถึงแบบพิสดารสำหรับพยัญชนะแต่อย่างใด[4]
ฉบับ พ.ศ. 2482
[แก้]วิธีการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันที่กระทรวงธรรมการกำหนดไว้นั้นไม่ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อราชบัณฑิตยสถานรับโอนงานนี้มาจากกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. 2477 ก็ได้สานงานนี้ต่อ[2] โดยพิจารณาทั้งแบบทั่วไปและแบบพิสดารร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศที่ฮานอย สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศเห็นชอบกับหลักการ แต่เสนอว่าควรแก้เครื่องหมายและตัวอักษรบางตัวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และควรแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสระที่มีตัวสะกดกับสระที่ไม่มีตัวสะกดเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ราชบัณฑิตยสถานได้นำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาดัดแปลงแก้ไขอีกเล็กน้อย ในที่สุดวิธีการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันทั้งสองแบบก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2482[2]
การวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง พ.ศ. 2542 ไม่ครอบคลุมลักษณะบางประการของระบบเสียงภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อบกพร่องดังต่อไปนี้
- ไม่แสดงเสียงวรรณยุกต์
- ไม่จำแนกความต่างระหว่างสระเสียงสั้นกับสระเสียงยาว
- สัญลักษณ์ ⟨ch⟩ ไม่จำแนกความต่างระหว่างเสียงพยัญชนะ /t͡ɕ/ กับเสียงพยัญชนะ /t͡ɕʰ/ (ดูตารางด้านล่าง) หลักเกณฑ์นี้ควรใช้ ⟨c⟩ แทน /t͡ɕ/ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้สัญลักษณ์แทนเสียงพยัญชนะไม่พ่นลมเสียงอื่น ๆ แต่ผู้จัดทำหลักเกณฑ์ให้เหตุผลว่า หากใช้ ⟨c⟩ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า ⟨c⟩ ออกเสียงเป็น [kʰ] หรือ [s] อย่างในภาษาอังกฤษ[3]
- สัญลักษณ์ ⟨o⟩ ไม่จำแนกความต่างระหว่างเสียงสระ /ɔ/ กับเสียงสระ /o/ (ดูตารางด้านล่าง)
หน่วยเสียง 1 | หน่วยเสียง 2 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรโรมัน | อักษรไทย | สัทอักษรสากล | คำบรรยาย | ตัวอย่าง | อักษรไทย | สัทอักษรสากล | คำบรรยาย | ตัวอย่าง |
ch | จ, จร | t͡ɕ | พยัญชนะกักเสียดแทรก เพดานแข็งปุ่มเหงือก ไม่ก้อง ไม่พ่นลม |
จาม = cham จริง = ching จันทร์ = chan |
ฉ, ช, ฌ | t͡ɕʰ | พยัญชนะกักเสียดแทรก เพดานแข็งปุ่มเหงือก ไม่ก้อง พ่นลม |
ชาม = cham ฉิ่ง = ching ฌาน = chan |
o | โ–ะ, – | o | สระหลัง กึ่งปิด ปากห่อ เสียงสั้น |
จน = chon ชล = chon |
เ–าะ, –อ, –็อ | ɔ | สระหลัง กึ่งเปิด ปากห่อ เสียงสั้น |
จ้อน = chon ช่อน = chon |
โ– | oː | สระหลัง กึ่งปิด ปากห่อ เสียงยาว |
โจร = chon โชน = chon |
–อ, – | ɔː | สระหลัง กึ่งเปิด ปากห่อ เสียงยาว |
จร = chon ช้อน = chon |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Report on the Current Status of United Nations Romanization Systems for Geographical Names: Thai (PDF)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การถอดอักษรไทยเป็นโรมัน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56: 3718. 26 มีนาคม 2482.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (37 ง): 11–12. 11 พฤษภาคม 2542.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 "การถอดอักษรไทยเป็นโรมัน." วิทยาจารย์. เล่มที่ 32, ตอนที่ 8 (ประจำวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2475), 835–851.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- thai2english.com ถอดอักษรไทยออนไลน์ ตามการอ่านเสียง, ตามหลักราชบัณฑิตฯ, ตามสัทอักษรสากล ฯลฯ
- โปรแกรมถอดอักษรไทยสำหรับวินโดวส์ โดย ผศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล