ข้ามไปเนื้อหา

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2476

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2476

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2480 →

78 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไทย
ผู้ใช้สิทธิ41.45%
  First party
 
ผู้นำ พระยาพหลพลพยุหเสนา
พรรค คณะราษฎร
ที่นั่งที่ชนะ 78

นายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง

พระยาพหลพลพยุหเสนา
คณะราษฎร

ว่าที่นายกรัฐมนตรี

พระยาพหลพลพยุหเสนา
คณะราษฎร

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2476 มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในสยาม เพื่อเลือก ส.ส. จำนวน 78 ที่นั่ง จาก 156 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีก 78 ที่นั่ง ได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[1][2] เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้แทนตำบลระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม ถึง 15 พฤศจิกายน[2]

ขณะนั้นยังไม่มีพรรคการเมือง[3] ดังนั้น ผู้สมัครทุกคนจึงลงสมัครเป็นผู้สมัครอิสระ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคิดเป็น 41.5%[4]

ที่มาของการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังที่เหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติลงในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลได้ปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว จำต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ในขณะนั้นประเทศไทย (ยังคงใช้ชื่อว่า สยาม) แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด มีจังหวัดทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกผู้แทนฯได้จังหวัดละคน มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯได้มากกว่าหนึ่งคน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดนครราชสีมา มีผู้แทนฯได้ 2 คน ขณะที่จังหวัดพระนครและจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้แทนฯได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯได้หนึ่งคน

และบวกรวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นอีก 78 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 156 คน

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอ ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จากนั้นผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง

ในขณะนั้นมีผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ทั้งหมด 4,278,231 คน มีผู้ออกไปใช้สิทธิทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82 และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71

ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกนี้นั้น ที่ได้กลายมาเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเวลาต่อมา ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเลียง ไชยกาล, นายโชติ คุ้มพันธ์ เป็นต้น

หลังการเลือกตั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกเอา พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (เป็นสมัยที่ 2) และถือเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 ของไทย[5] ซึ่งคณะรัฐมนตรีคณะนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "88 ปี การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป 'ครั้งแรก' และ 'ครั้งเดียว' ของไทย". The States Times.[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 Dieter Nohlen, Florian Grotz & Christof Hartmann (2001) Elections in Asia: A data handbook, Volume II, p266 ISBN 0-19-924959-8
  3. Nohlen et al., p284
  4. Nohlen et al., p278
  5. คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หน้า 8 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับที่ 22,324 ประจำวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ๕. ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544, หน้า 11. ISBN 974-00-8586-5
  • สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร, ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539, หน้า 111. ISBN 974-599-876-1