พระยม
พระยม | |
---|---|
เทพเจ้าแห่งความตาย ผู้ปกครองยมโลก ผู้ตัดสินวิญญาณคนตาย | |
เทวรูปพระยมตามแบบทิเบต | |
ชื่อในอักษรเทวนาครี | यम |
เป็นที่บูชาใน | ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทพโลกบาล |
ที่ประทับ | เมืองยมปุระ ในยมโลก,นรก |
ดาวพระเคราะห์ | ดาวยม (ดาวพลูโต) |
อาวุธ | บ่วงยมบาศ,กระบองยมทัณฑ์,ตรีศูล,ขอช้าง ฯลฯ |
พาหนะ | กระบือ |
เป็นที่นับถือใน | อินเดีย ไทย ลาว จีน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | พระนางปรียา,ธิดา 13 นางของพระทักษะประชาบดี ฯลฯ |
บุตร - ธิดา | ยุธิษฐิระ ฯลฯ |
บิดา-มารดา |
|
พระยม ยมราช หรือ มัจจุราช คือเทพเจ้าแห่งนรกและความตาย ตามความเชื่อในศาสนาแบบอินเดีย
ศาสนาฮินดู
[แก้]ศาสนาฮินดูเชื่อว่าพระยมเป็นเทพผู้ดูแลรักษาวัฏสงสาร ให้ดำเนินต่อไปด้วยความราบรื่น เป็นเทพโลกบาลประจำทิศทักษิณ (ทิศใต้) ยมราช เป็นบุตรของพระอาทิตย์ กับพระนางศรัณยา มีชื่อเดิมว่า ยม เป็นผู้ทำหน้าที่เทพแห่งความตาย ปกครองยมโลกและนรก ทำหน้าที่ตัดสินและมอบผลกรรมแก่วิญญาณผู้ตาย พระยมมีอาวุธวิเศษ ที่สร้างขึ้นมาจากฝีมือของพระวิศวกรรม คือ บ่วงยมบาศ และ กระบองยมทัณฑ์ ที่สามารถมอบความตายให้แก่ทุกสรรพชีวิต บางตำนานเล่าว่า พระยมเป็นมนุษย์คนแรกบนโลกที่ตายไปจากโลก และได้รับรู้เรื่องราวหลังความตายและทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวิญญาณทั้งหลาย และได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ฤๅษีนจิเกตัส บางตำนานเล่าว่า พระยมเคยเกิดเป็นกษัตริย์กรุงโกศัมพี แคว้นไวศาลี ทรงฝักใฝ่ในการทำสงคราม ก่อนตายทรงอธิษฐานให้ได้เกิดเป็นเจ้านรก เมื่อตายแล้วได้มาเกิดเป็นพระยม แต่ยังต้องรับกรรมโดยการดื่มน้ำทองแดงวันละ 3 เวลา เมื่อสิ้นกรรมแล้วจะได้เกิดเป็นท้าวสมันตราช พระยม เป็นสาวกเอกของทั้งพระศิวะและพระวิษณุ พระยมยังมีอีกนาม ชื่อ ธรรมราช ในตำนานฮินดู มีบุคคลที่สามารถเอาชนะความตายได้ คือ ฤๅษีมารกัณเฑยะ และ นางสัตยวดี ในมหาภารตะ พระยมได้ให้กำเนิดบุตร คือ ยุธิษฐิระ และอวตารเป็นท้าววิทูร
ลักษณะของพระยม
[แก้]ลักษณะของพระยม ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีแดงดังแสงแรกแห่งดวงอาทิตย์ มี ๒ กร ทรงบ่วงบาศและไม้เท้าหัวกะโหลกเป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า สวมอาภรณ์สีแดง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีแดง บ้างก็ว่าสีดำ รูปร่างใหญ่โต กำยำล่ำสัน นัยน์ตาสีแดงที่เป็นภัย หากจ้องมองสิ่งใดด้วยความโกรธ สิ่งนั้นจะวินาศ มีขาพิการ มี ๔ กร ทรงบ่วงยมบาศ กระบองยมทัณฑ์ ตรีศูล ขอช้าง ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีสีแดง สวมอาภรณ์สีแดงและสีดำ ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและทองแดง ประทับนั่งบนดอกบัว ทรงกระบือเป็นพาหนะ พระยม ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระธรรมราช,พระกาล,พระมัจจุราช,พระมฤตยูราช,พระเปรตราช,พระภยังกร,พระมหิเษส,พระทัณฑธร,พระนรกธีศะ,พระปิตฤปติ,พระอันตกะ,พระภัยโลจนะ ฯลฯ พระยม ในคติไทย เมื่อประทับบัลลังก์ จะมีเจ้าหน้าที่บัญชีอยู่เคียงคู่ 2 องค์ คือ พระสุวรรณเลขา จดบัญชีบุญลงในบัญชีแผ่นทองสุก และ พระสุวานเลขา จดบัญชีบาปลงในบัญชีหนังสุนัข ในคติฮินดู พระยมมีวิมาน ชื่อ กาลีจิ สร้างจากทองแดงและเหล็ก ประทับบัลลังก์ ชื่อ วิจานภู จะมีพระจิตรคุปต์เป็นผู้ตรวจดูบัญชี นอกจากนี้พระยมยังมีบริวารอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระกาฬ เทพผู้ส่งสารแห่งความตาย ยมทูตองครักษ์ 2 ตน ชื่อ มหาจัณฑะ และ กาลปุรสุษะ และยังมีสุนัข 2 ตัว ชื่อ สามะ เป็นสุนัขดำ และสวละ เป็นสุนัขด่าง แต่ละตัวมี 4 ตา มีรูจมูกกว้าง ทำหน้าที่เฝ้าประตูยมโลก และเหล่ายมทูตและยมบาล อีกทั้งเหล่ากา นกฮูก นกแสก ล้วนเป็นบริวารของพระยม
พระยมเมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว เทียบได้กับเฮดีสตามเทพปกรณัมกรีก และออร์กัสตามเทพปกรณัมโรมัน
ศาสนาพุทธ
[แก้]ศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท ถือว่าพระยมมีชาติกำเนิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา[1] และเป็นเจ้าแห่งเวมานิกเปรต คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าในมหานรกแต่ละขุมมีพระยมประจำอยู่ทั้ง 4 ประตู[2] มหานรกมี 8 ขุม จึงมีพระยมทั้งสิ้น 32 องค์[1]
ในเทวทูตสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระยมมีหน้าที่ซักถามสัตว์นรกเกี่ยวกับเทวทูต 5 ได้แก่ ทารกแรกเกิด คนแก่ คนป่วย นักโทษ และคนตาย เพื่อให้สัตว์นรกนั้นได้ระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนเคยทำมา หากสัตว์นรกจำได้ก็จะพ้นจากนรก หากจำไม่ได้ยมบาลก็จะนำตัวสัตว์นรกนั้นไปลงโทษตามบาปกรรมที่ได้ทำมา[3]
บางตำนานเล่าว่า อดีตชาติ พระยมเกิดเป็นผู้นำหมู่บ้านผู้ทรงปัญญา ตัดสินคดีความอย่างเป็นธรรม ครั้งหนึ่งบิดาของท่านกระทำผิดกฎหมาย ท่านจึงต้องตัดสินประหารบิดาตนเอง หลังจากนั้นท่านเสียใจและออกบำเพ็ญตบะในป่า เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดเป็นกุมภัณฑเทวดาในสวรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ในเมืองทางทิศใต้ ท้าววิรุฬหกได้แต่งตั้งให้เป็นพญายมราช ทำหน้าที่ตัดสินคนตาย
พระยม มิใช่เทพ แต่เป็นตำแหน่ง อันได้แก่ พระยมในมหานรก รวม 32 พระองค์ พระยมในยมโลกียนรก รวม 320 พระองค์ และพระยมองค์ประธานในยมโลกอีก 1 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 353 พระองค์
ส่วนลัทธิข้างจีนฝ่ายมหายานว่า พญายมเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทำหน้าที่พิพากษาแก่ดวงวิญญาณทั้งหลาย แต่ทางลัทธิเต๋าว่าพระยม มีทั้งหมด 10 พระองค์
ยมทูต
[แก้]ยมทูต คือ เจ้าหน้าที่ผู้นำวิญญาณคนตายจากโลก มาสู่ยมโลก ในศาสนาพุทธ ยมทูต เป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา ประเภทกุมภัณฑ์ ทำหน้าที่เพียงควบคุมวิญญาณ ไม่ได้มีหน้าที่ลงโทษ แต่ในศาสนาฮินดู ยมทูต เป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีนิสัยดุร้าย เป็นบริวารของพระยม ทำหน้าที่ทั้งควบคุมวิญญาณและลงโทษวิญญาณบาปทั้งหลาย ตามผลกรรมของพวกเขา
ยมบาล
[แก้]ยมบาล หรือ นิรยบาล คือ เจ้าพนักงานในนรกภูมิ มีหน้าที่ลงโทษทรมานสัตว์นรกตามคำสั่งของพระยม[4] ศาสนาพุทธเชื่อว่ายมบาลมีชาติกำเนิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา[1] มี 3 ประเภท คือ ยมบาลยักษ์และยมบาลกุมภัณฑ์ ยมบาลยักษ์คือยักษ์ที่อยากทำร้ายสัตว์นรก จึงจำแลงกายเป็นยมบาล เที่ยวไล่ทำร้ายสัตว์นรกต่าง ๆ หรือแปลงกายเป็นแร้งกาจิกกินสัตว์นรก และยมบาลกุมภัณฑ์ คือยมบาลที่อาศัยประจำในนรก มีหน้าที่ทำร้ายสัตว์นรก หรือแปลงกายเป็นแร้งกาจับสัตว์นรกกิน[1] อีกประเภท เป็นยมบาลที่เกิดขึ้นจากวิบากกรรมของสัตว์นรกเอง เรียกว่า นายนิรยบาล มีกายใหญ่โต ผิวสีดำทมิฬ เนื่องจากเกิดจากกรรมของสัตว์นรกตนนั้นๆ จึงไม่มีชีวิตจิตใจ จึงลงโทษสัตว์นรกนั้นโดยไร้ความเมตตาปรานี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 พระสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ 5 เล่ม 1 วีถิมุตตสังคหะ ภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ, พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, 2546, หน้า 8-11, 107
- ↑ อรรถกถาเทวทูตสูตร, อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
- ↑ เทวทูตสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 6 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 939