พระยาอู่
พระยาอู่ ဗညာဥူ | |
---|---|
กษัตริย์แห่งเมาะตะมะ–หงสาวดี | |
ครองราชย์ | ค.ศ. 1348 – 2 มกราคม ค.ศ. 1384 |
ก่อนหน้า | พระยาอายลาว |
ต่อไป | พระเจ้าราชาธิราช |
มุขมนตรี | แพรจอ (1348–1369) สมิงชีพราย (1370s–1384) |
ประสูติ | ป. พฤศจิกายน ค.ศ.1323 ป. เดือนนะดอ จ.ศ. 685 เมาะตะมะ อาณาจักรเมาะตะมะ |
สวรรคต | 2 มกราคม ค.ศ. 1384 (60 พรรษา) วันเสาร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนตะโปแตฺว จ.ศ. 745 พะโค หงสาวดี (อาณาจักรหงสาวดี) |
ชายา | นางจันทะมังคะละที่ 2 นางอำเตียว นางมหาจันทเทวี นางราชเทวี พระนางสิริมายาเทวี |
พระราชบุตร รายละเอียด | ตะละแม่ศรี พระเจ้าราชาธิราช ตะละแม่ท้าว พ่อขวัญเมือง |
ราชวงศ์ | พระเจ้าฟ้ารั่ว |
พระราชบิดา | พระเจ้ารามมะไตย |
พระราชมารดา | นางจันทะมังคะละ |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
พระยาอู่ (มอญ: ဗညာဥူ; พม่า: ဗညားဦး; อักษรโรมัน: Binnya U; ค.ศ. 1323–1384) พระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้าช้างเผือก (พม่า: ဆင်ဖြူရှင်; อักษรโรมัน: Hsinbyushin) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรหงสาวดีตั้งแต่ ค.ศ. 1348 ถึง ค.ศ. 1384 รัชกาลของพระองค์มีความวุ่นวายภายในและภายนอก เช่น จากกบฏ และการรุกรานจากล้านนา ซึ่งพระองค์ทรงผ่านมาได้ด้วยดีจนถึง ค.ศ. 1364 นับแต่นั้นเป็นต้นมา ขอบอำนาจของพระองค์กินพื้นที่เพียงภูมิภาคหงสาวดี แต่ก็เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดในทางยุทธศาสตร์ในบรรดาภูมิภาคทั้งสามของอาณาจักร นอกจากนี้ พระองค์ยังประชวรบ่อยครั้ง ทำให้ทรงอาศัยพระพี่นาง คือ พระมหาเทวี (Maha Dewi) ว่าราชการแทนเป็นนิจ ครั้น ค.ศ. 1383 พระองค์ทรงมอบหมายพระราชอำนาจทั้งปวงให้แก่พระมหาเทวีอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพระราชโอรสพระองค์โต คือ พระยาน้อย (Binnya Nwe) ทรงเป็นกบฏ แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พระยาน้อยก็สืบราชสมบัติต่อมาเป็นพระเจ้าราชาธิราช (Razadarit)
ในหน้าประวัติศาสตร์พม่า พระยาอู่ทรงเป็นที่จดจำในฐานะที่เป็นพระบิดาของพระเจ้าราชาธิราช ส่วนมรดกตกทอดจากรัชกาลของพระองค์ คือ การที่เมืองหงสาวดีสามารถตั้งตัวเป็นศูนย์อำนาจแห่งใหม่ในเขตพม่าตอนล่างแทนเมาะตะมะ และอยู่ในสถานะนั้นต่อไปจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16
ต้นพระชนม์
[แก้]พระยาอู่ประสูติเมื่อราวปลาย ค.ศ. 1323[note 1] เป็นพระโอรสพระองค์เดียวของพระยารามมะไตย (Binnya Ran De) พระมหากษัตริย์แห่งหงสาวดีซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่เมาะตะมะ กับพระนางจันทะมังคละ (Sanda Min Hla) ผู้เป็นพระมเหสี พระยาอู่มีพระพี่นางสองพระองค์ คือ เม้ยเน (Mwei Ne) ซึ่งสิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์ กับเม้ยนะ (Mwei Na) ซึ่งภายหลังได้พระนามใหม่ว่า พระมหาเทวี นอกจากนี้ พระยาอู่มีพระอนุชาสองพระองค์ซึ่งร่วมพระบิดากัน คือ มิฉาน (Mi Ma-Hsan) กับมังลังกา (Min Linka)[1]
ด้วยสถานะดังกล่าว พระยาอู่จึงเป็นที่คาดหมายว่า จะได้สืบราชสมบัติต่อจากพระบิดา แต่เมื่อพระบิดาถูกปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1330 พระมารดา คือ พระนางจันทะมังคละ ก็ทรงยึดอำนาจและตั้งพระเชษฐาของพระนางเอง คือ พระยาอายลาว (Binnya E Law) ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และตั้งตนเองเป็นพระมเหสีของพระเชษฐา เพื่อจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป[2] ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองเรื่องผู้ใดจะสืบราชสมบัติต่อจากพระยาอายลาว ระหว่างพระยาอายลอง (Binnya E Laung) พระโอรสของพระยาอายลาว กับพระยาอู่ พระโอรสของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ความตึงเครียดดังกล่าวยิ่งทวีขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1340 เมื่อพระพลานามัยของพระยาอายลาวทรุดโทรมลงตามลำดับ จนที่สุดแล้ว พระยาอายลองกับพระยาอู่ก็กระทำยุทธหัตถีกัน และพระยาอู่ทรงมีชัยเหนือพระยาอายลอง ทำให้พระยาอายลาวพิโรธและรับสั่งให้จับพระยาอู่ไปฆ่า[3] แต่พระนางจันทะมังคละทรงห้ามไว้ พระยาอายลาวจึงทรงให้ปล่อยพระยาอู่ ไม่นานหลังจากนั้น พระยาอายลองสิ้นพระชนม์เพราะไข้ทรพิษ จึงเหลือพระยาอู่เป็นผู้มีสิทธิขึ้นสืบราชบัลลังก์แต่ผู้เดียว ครั้น ค.ศ. 1348 พระยาอายลาวสิ้นพระชนม์ พระยาอู่ขณะนั้นมีพระชนม์ 25 ชันษา จึงได้สืบราชสมบัติต่อ[4][5]
เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว พระยาอู่มีพระนามว่า "พระเจ้าช้างเผือก" เพราะทรงครอบครองช้างเผือกหนึ่งช้าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลแห่งความเป็นราชาในคติพม่า[4]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ พงศาวดาร Razadarit Ayedawbon (Pan Hla 2005: 161) ว่า พระยาอู่สิ้นพระชนม์ในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 745 (ตรงกับวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1384) พระชนม์ได้ 60 ปี แสดงว่า พระองค์ประสูติ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 684 (ตรงกับวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1323) ถึงวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 685 (ตรงกับวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1324) อนึ่ง พงศาวดารนี้บอกว่า (Pan Hla 2005: 40) เมื่อพระยาอู่ประสูตินั้น พระบิดาของพระยาอู่ได้ขึ้นครองราชย์แล้ว และบอก (Pan Hla 2005: 41) อีกว่า พระบิดาขึ้นครองราชย์ในเดือน Thadingyut จ.ศ. 685 (ตรงกับช่วงวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1323 ถึงวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1323) ข้อมูลทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า พระยาอู่จะต้องประสูติ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงเดือน Thadingyut (ตรงกับเดือนกันยายน ค.ศ. 1323) จนถึงวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 685 (ตรงกับวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1324)