อำเภอปาย
อำเภอปาย | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Pai |
สะพานประวัติศาสตร์อำเภอปาย เมื่อปี พ.ศ. 2552 | |
คำขวัญ: ลำปายสายธาร นมัสการหลวงพ่ออุ่นเมือง ลือเลื่องกระเทียมพันธุ์ดี ป่าเขียวขจีรอบทิศ วิถีชีวิตสงบร่มเย็น | |
แผนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นอำเภอปาย | |
พิกัด: 19°21′31″N 98°26′24″E / 19.35861°N 98.44000°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | แม่ฮ่องสอน |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 2,244.7 ตร.กม. (866.7 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 38,702 คน |
• ความหนาแน่น | 17.24 คน/ตร.กม. (44.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 58130 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5803 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอปาย ถนนราษฎร์ดำรง ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58130 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ปาย (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นที่รู้จักกันดีในด้านความงามของธรรมชาติ[1]
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอปายตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดลางเคอ รัฐฉาน (ประเทศพม่า)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่แตง (จังหวัดเชียงใหม่)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสะเมิงและอำเภอกัลยาณิวัฒนา (จังหวัดเชียงใหม่)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนและอำเภอปางมะผ้า
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
[แก้]- ภูมิประเทศ เป็นที่ราบแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา มีดอยแม่ยะเป็นยอดดอยที่สูงที่สุด สูงประมาณ 2,005 เมตร มีแม่น้ำหลายสาย ได้แก่ น้ำปาย น้ำของ และน้ำแม่ปิงน้อย อีกทั้งมีลำห้วยอีกหลายสาย คือ ห้วยแม่เมือง ห้วยแม่เย็น และห้วยแม่ฮี้
- ภูมิอากาศ อำเภอปาย มี 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว อากาศหนาวจัดได้ถึง 2 องศาเซลเซียส บางวันมีหมอกลงหนาทึบ จนถึงเวลาประมาณ 11.00 น. ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอปายแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล 66 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[2] |
---|---|---|---|---|
1. | เวียงใต้ | Wiang Tai | 8
|
9,983
|
2. | เวียงเหนือ | Wiang Nuea | 10
|
4,840
|
3. | แม่นาเติง | Mae Na Toeng | 14
|
7,568
|
4. | แม่ฮี้ | Mae Hi | 6
|
3,583
|
5. | ทุ่งยาว | Thung Yao | 12
|
4,952
|
6. | เมืองแปง | Mueang Paeng | 9
|
4,243
|
7. | โป่งสา | Pong Sa | 7
|
3,384
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอปายประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลปาย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเวียงใต้
- องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเวียงใต้ (นอกเขตเทศบาลตำบลปาย)
- องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเวียงเหนือทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเติง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่นาเติงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฮี้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ฮี้ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งยาวทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแปง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองแปงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งสา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโป่งสาทั้งตำบล
ประชากรศาสตร์
[แก้]อำเภอปายถือว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ราว 53% ของประชากรเป็นชาวล้านนาและชาวไทใหญ่ และอีก 47% เป็นชาวเขา เช่น กะเหรี่ยง ม้ง ลีซอ และมูเซอ
ประวัติศาสตร์
[แก้]บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
อำเภอปายเป็นเมืองเก่าแก่ ประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาแต่เดิมคือชาวพ่ายหรือไปร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติก สาขาว้า-เรียง ดังมีร่องรอยหลักฐานซากวิหารและเจดีย์กระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนภูเขาสูง ที่ดอนเชิงเขา บริเวณพื้นราบลุ่มน้ำปาย บางแห่งก่อสร้างด้วยหิน เช่น ในผืนป่าบริเวณใกล้น้ำตกเอิกเกอเต่อ ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ปิงน้อย บางแห่งมีการขุดคูเป็นร่องลึกบนภูเขาสูงชัน มีเจดีย์บนยอดเขา
มีหลักฐานว่าเจ้าเมืองคนแรกคือ ขุนส่างปาย ในสมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ พระราชาธิบดีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่งเจ้าแก้วเมืองออกสำรวจชายแดน ได้พบว่าภูมิประเทศน่าสนใจ จึงแนะนำให้ขุนส่างปายย้ายเมืองมาตั้งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปายเพราะเป็นที่ราบกว้างขวาง ผู้คนจึงเรียกเมืองใหม่ว่า "เวียงใต้" ส่วนเมืองเก่าเรียกว่า "เวียงเหนือ"
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
[แก้]เมืองปายเป็นเมืองที่มีคนตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยประวัติศาสตร์บริเวณที่ตั้งเมืองปายเป็นเมืองสำคัญของล้านนาในสมัยราชวงศ์มังรายซึ่งมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ต่อมาเมืองปายได้ร้างไปพร้อมกับเมืองเชียงใหม่ ประมาณปี พ.ศ. 2318-2338 เมืองปายได้ฟื้นฟูเป็นหมู่บ้านและพัฒนาเป็นอำเภอปาย โดยมีผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ ได้แก่ คนไทยวน (คนเมือง) ชาวไทใหญ่ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) และชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเมืองปายตั้งอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัจจุบันเมืองปายเป็นเมืองชุมทางที่สำคัญเมืองหนึ่งบนเส้นทางระหว่างเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
[แก้]อำเภอปายมีร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีชุมชนโบราณที่ปรากฏชื่อในตำนานคัมภีร์ใบลานหลายเมือง และมีประวัติสืบต่อกันมานับร้อยปี ประกอบกับมีหลักฐานโบราณคดีปรากฏอยู่ในชุมชนโบราณดังกล่าวด้วย จากการศึกษาของพระครูปลัดกวีวัตน์ธนจรรย์ สุระมณี วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีรายงานการสำรวจว่าในเขตเมืองน้อย อำเภอปาย มีหลักฐานโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังนี้
- ถ้ำผีแมน บ้านห้วยหก ตำบลเวียงเหนือ อยู่ห่างจากบ้านห้วยหกไปทางทิศตะวันตกราว 1,500 เมตร พบซากกระดูกและระแทะคล้ายรางไม้ให้อาหารสัตว์หลงเหลืออยู่ บางส่วนถูกชาวบ้านเผาไปเกือบหมดแล้ว ถ้ำผีแมนซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์นี้มีอยู่หลายแห่งในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น
- ถ้ำป่าคาน้ำฮู ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
- ถ้ำน้ำลอด อำเภอปางมะผ้า พบหลักฐานของใช้ของคนถ้ำในยุคนั้นคือ กำไลแขนทำด้วยโลหะ หม้อดินลายเชือกทาบ ขวานหินขุด ระแทะไม้ ฯลฯ
- ถ้ำดอยปุ๊กตั้ง อยู่ทางทิศใต้ของบ้านห้วยเฮี้ย ตำบลเวียงเหนือ ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าจากหมู่บ้านประมาณ 1 ชั่วโมง พบเครื่องใช้ของมนุษย์ถ้ำมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่พบในถ้ำผีแมนแห่งอื่น ๆ
ชุมชนโบราณเมืองน้อย
[แก้]ชุมชนโบราณเมืองน้อยเป็นชุมชนที่พบหลักฐานทางด้านโบราณคดี หลักฐานตำนาน และศิลาจารึกที่สะท้อนให้เห็นว่าเมืองน้อยเป็นเมืองสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์ราชวงศ์มังราย ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ ตำแหน่งละติจูดที่ 19 องศา 30 ลิปดา 58 พิลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 98 องศา 30 ลิปดา 50 พิลิปดาตะวันออก ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร จากอำเภอปายไปทางทิศเหนือ เมื่อสองร้อยปีเศษมานี้ เมืองน้อยมีสภาพเป็นเมืองร้าง ปัจจุบันได้มีชนเผ่าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) เข้าไปจับจองอาศัยตั้งบ้านเรือนที่บ้านเมืองน้อย โดยมีชื่อใหม่หลายหมู่บ้าน คือ บ้านหัวฝาย บ้านห้วยงู บ้ายห้วยเฮี้ย บ้านห้วยหก บ้านกิ่วหน่อ และบ้านมะเขือคัน
เมืองน้อย : ชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์
[แก้]ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวเมืองน้อยว่า ในรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช (พระญาติโลกราชะ) ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 1984-2030 พระองค์มีโอรสชื่อท้าวบุญเรืองหรือศรีบุญเรืองครองเมืองเชียงราย ต่อมาถูกแม่ท้าวหอมุกกล่าวโทษ จึงให้ท้าวบุญเรืองไปครองน้อย ในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย[1] เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าติโลกราชแล้ว โอรสของท้าวบุญเรือง ชื่อพญายอดเชียงราย (พระญายอดเชียงราย) ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ ปกครองได้ไม่นานถูกกล่าวหาว่า พระองค์ราชาภิเษกวันจันทร์ ถือว่าเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ไม่ประพฤติอยู่ในขนบธรรมเนียมของท้าวพระญา ไม่ประพฤติอยู่ในทศพิธราชธรรม และยังมีใจฝักใฝ่ไมตรีกับฮ่อ เสนาอำมาตย์จึงได้ล้มราชบัลลังก์และได้อัญเชิญให้ไปครองเมืองน้อย ในปี พ.ศ. 2038 พญายอดเชียงรายประทับอยู่เมืองน้อยได้ 10 ปี ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2048 เมื่อพระชนมายุได้ 50 พรรษา พญาเมืองแก้ว (กษัตริย์เมืองเชียงใหม่และราชโอรสของพญายอดเชียงราย) ได้เสด็จมาถวายพระเพลิงพระศพของพญายอดเชียงรายที่เมืองน้อย และสร้างอุโบสถครอบ[3]
ครั้นพญาเมืองแก้วเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2068 เสนาอำมาตย์ได้อัญเชิญพระอนุชาจากเมืองน้อยให้มาครองราชย์เชียงใหม่และราชาภิเษกเป็นพระเมืองเกษเกล้า (พระญาเมืองเกส) ในปี พ.ศ. 2069 พระองค์ครองราชย์จนถึง พ.ศ. 2081 (พระเมืองเกษเกล้าครองราชย์เมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068-2081 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086-2088) เสนาอำมาตย์ไม่ชอบใจได้ปลดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ และอัญเชิญท้าวซายคำราชโอรสให้ครองราชย์แทนในปี พ.ศ. 2081 ท้าวซายคำประพฤติตนไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม เสนาอำมาตย์ได้ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2086 และได้อัญเชิญพระเมืองเกษเกล้าจากเมืองน้อยมาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2[4]
บ้านเมืองน้อยมีโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดเจดีย์หลวง" ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ มีแนวกำแพงกำหนดเขตพุทธาวาสขนาด 80 x 100 x 1 เมตร ขนาดชุกชีวิหาร ฐานชุกชีอุโบสถขนาด 4 x 8.50 เมตร (สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพญายอดเชียงราย) ซุ้มประตูโขงด้านทิศตะวันออก เจดีย์ขนาด 11 x 11 x 17 เป็นเจดีย์แบบเชิงช้อนย่อเหลี่ยม บางส่วนยังมีลวดลายการก่ออิฐทำมุม เจดีย์ถูกสร้างขึ้นจากอิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เจดีย์ถูกขุดค้นหาสมบัติลักษณะแบบผ่าอกไก่จากยอดถึงฐานต่ำสุด มีหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ทำให้มองเห็นฐานรากของการก่อสร้างเจดีย์ที่ใช้ก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่วางซ้อนกันเป็นฐานราก ก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างมีขนาด 6 x 11 นิ้ว และในบริเวณวัดเจดีย์หลวงยังพบจารึกบนแผ่นอิฐ 2 ชิ้น
จารึกหลักแรกพบในบริเวณด้านเหนือของโบราณสถาน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยวน จำนวน 3 บรรทัด บรรทัดที่ 2-3 จารึกกลับหัว จากบรรทัดที่ 1 ความว่า "(1) เชแผง (2) เนอ เหย เหย (3) ฅนบ่หลายแล แล แล" ความในจารึกชิ้นนี้กล่าวถึงนายเชแผง ผู้เป็นหนึ่งในผู้ปั้นอิฐในการก่อสร้างศาสนสถานแห่งนี้ รำลึกถึงคนจำนวนไม่มากนักในการสร้างศาสนสถานแห่งนี้หรือในเมืองนี้
จารึกหลักที่สองพบก่อร่วมกับอิฐก้อนอื่น ๆ ในบริเวณแนวกำแพงด้านใต้ของโบราณสถาน จารึกด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทยวน จำนวน 1 บรรทัด ส่วนครึ่งแรกหายไป ส่วนครึ่งหลังอ่านได้ใจความว่า "สิบกา (บ)" จารึกชิ้นนี้บอกผู้ปั้นว่าสิบกาบ คำว่า "สิบ" อาจหมายถึงตำแหน่งขุนนางล้านนาสมัยโบราณ เรียกว่า "นายสิบ" หรือเนื่องจากอิฐส่วนหน้าที่หักหายไปบริเวณกี่งกลางของก้อนอิฐนั้น คำว่า "สิบกา(บ)" อาจสันนิษฐานได้ว่า ข้อความเต็มด้านหน้าที่หายไปเป็น "(ห้า) สิบกาบ" หรือขุนนางระดับนายห้าสิบก็อาจเป็นได้[5]
วิวรรณ์ แสงจันทร์ กล่าวว่า จากหลักฐานโบราณคดี ซากวัดร้างต่าง ๆ จำนวน 30 แห่งในเมืองน้อย รวมทั้งวัดเจดีย์หลวงและข้อความที่พบสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนที่นี่เป็นเมืองใหญ่ในอดีตมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่จำนวนมากได้
ชุมชนโบราณบ้านเวียงเหนือ
[แก้]นอกจากเมืองน้อยแล้ว เมืองปายยังพบชุมชนโบราณที่บ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ ตั้งอยู่ในตำแหน่งละติจูด 19 องศา 22 ลิปดา 34 พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด 98 องศา 27 ลิปดา 17 พิลิปดาตะวันออก
เมืองปายมีหลักฐานตำนานกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ในสมัยพญาแสนภู (พระญาแสนพู) กษัตริย์เชียงใหม่ (พ.ศ. 1868-1877) สร้างเมืองเชียงแสน พ.ศ. 1871 ได้กำหนดให้เมืองปายเป็นเมืองขึ้นของพันนาทับป้องของเมืองเชียงแสนในสมัยนั้น (พงศาวดารโยนก หน้าตำนานเชียงแสนว่า เมืองจวาดน้อย/จวาดน้อย/สันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกับคำว่าชวาดน้อย)
วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2028 ปีมะเส็ง สัปตศก (วันศุกร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ จุลศักราช 847 ปีดับใส้) เจ้าเถรสีลสังยมะให้หล่อพระพุทธรูปเวลารับประทานอาหารเช้า (ยามงาย)[6]
พ.ศ. 2032 มหาเทวี (พระมารดาพญายอดเชียงราย) พระราชทานที่ถวายพระมหาสามีสัทธัมมราชรัตนะ ก่อสร้างมหาเจดีย์ มหาวิหาร ผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดศรีเกิด (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกวัดหนองบัว (ร้าง) บ้านแม่ฮี้ ตำบลแม่ฮี้) พ.ศ. 2033 มีการถวายข้าทาสอุปัฏฐากพระมหาสามีสัทธัมมราชรัตนะ อุโบสถ มหาวิหาร มหาเจดีย์ พระพุทธรูป ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำข้าทาสเหล่านี้ไปทำงานอื่นหากยังเคารพนับถือพญายอดเชียงรายอยู่ หากฝ่าฝืนขอให้ตกนรกอเวจี[7]
พ.ศ. 2044 ปีระกา ตรีศก เจ้าหมื่นพายสรีธัม(ม์)จินดา หล่อพระพุทธรูปหนักสี่หมื่นห้าพันทอง เดือนเจ็ด ไว้ในอุโบสถวัดดอนมูน เมืองพายแล (เมืองพาย/อำเภอปาย) (ปัจจุบันพระพุทธรูปนี้เก็บรักษาไว้ ณ วัดหมอแปง ตำบลแม่นาเติง ดร.ฮันส์ เพนธ์ คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านฐานพระพุทธรูปวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ความว่า "ในปีร้วงเร้า สักราชได้ ๘๖๓ ตัว เจ้าหมื่นพายสรีธัมจินดา ส้างรูปพระพุทธะเป็นเจ้าตนนี้ สี่หมื่นห้าพันทอง ในเดือนเจ็ด ไว้ในอุโบสถวัดดอนมูน เมืองพายแล" (ดร.ฮันส์ เพนธ์กล่าวว่า "หมื่น" เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองพาย ตำแหน่งใหญ่เทียบเท่าเมืองเชียงแสน เมืองลำปาง และ 1 ทอง เท่ากับ 1.1 กรัม)
พ.ศ. 2124 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พญาลำพูนมาครองเมืองปาย (พลาย)[8]
พ.ศ. 2283 ปรากฏชื่อวัดป่าบุก ตั้งอยู่ทิศใต้ของเมืองปาย (พลาย) ช้างตัวผู้ ดังความว่า "วัดป่าบุก ใต้เมืองพายช้างพู้" (คัมภีร์ ธัมมปาทะ (ธรรมบท) ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดดวงดี อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2330 เมืองปายรวมตัวกับเมืองพะเยา เมืองเชียงราย เมืองฝาง เมืองปุ และเมืองสาดขับไล่พม่า แต่เมืองพะเยาทำการไม่สำเร็จ[9]
พ.ศ. 2412 ขณะที่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2399-2413) ลงไปถวายบังคมกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครว่า ฟ้าโกหล่านเมืองหมอกใหม่ ยกกองทัพมาตีเมืองปายซึ่งสมัยนั้นมีฐานะเมืองขึ้นของเชียงใหม่ เจ้าราชภาคีไนย นายบุญทวงศ์ นายน้อยมหาอินท์รักษาการเมืองเชียงใหม่ ทำหนังสือถึงเจ้าเมืองลำปางและเมืองลำพูนให้มาช่วยเมืองปาย หลังจากนั้นเจ้านายและกองทัพจากสามเมือง ยกกำลังมาช่วยเมืองเชียงใหม่รบกับกองทัพของฟ้าโกหล่าน โดยมีนายบุญทวงศ์ นายน้อยมหาอินท์คุมกำลัง 1,000 คนจากเมืองลำปาง มีนายน้อยพิมพิสาร นายหนายไชยวงศ์คุมกำลัง 1,000 คนจากเมืองลำพูน มีนายอินทวิไชย นายน้อยมหายศคุมกำลัง 500 คน แต่ไม่สามารถป้องกันเมืองปายได้ กองทัพฟ้าโกหล่านจุดไฟเผาบ้านเรือนในเมืองปาย กวาดต้อนผู้คนและครอบครัวไปอยู่เมืองหมอกใหม่ กองทัพทั้งสามเมืองจึงได้ติดตามไปถึงฝั่งแม่น้ำสาละวิน แต่ตามไม่ทันจึงได้เดินทางกลับ
พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ตั้งแต่เมืองปายถูกฟ้าโกหล่านตีแตก จุดไฟเผาบ้านเมือง กวาดต้อนผู้คนไปเมืองหมอกใหม่แล้ว เมืองปายมีสภาพเป็นร้างบางส่วน ไม่มีผู้รักษาเมือง ทั้งยังถูกกองทัพเงี้ยวและลื้อกวาดต้อนครอบครัวไปอยู่เป็นประจำ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาชัยสงคราม (หนานธนันไชย บุตรราชวงศ์มหายศ) เป็นพระยาเกษตรรัตนอาณาจักรไปปกครองเมืองปาย ให้ยกเอาคนจากเมืองเชียงใหม่ไปตั้งเมืองปาย ให้เป็นภูมิลำเนาบ้านเรือนเหมือนเดิม เพื่อจะได้ป้องกันรักษาด่านเมืองเชียงใหม่[10]
พ.ศ. 2438 พระยาดำรงราชสิมา ผู้ว่าราชการเมืองปาย ถูกพวกแสนธานินทร์พิทักษ เจ้าเมืองแหงปล้น แล้วแสนธานินทร์พิทักษประกาศเกลี้ยกล่อมคนเมืองปั่น เมืองนาย เมืองเชียงตอง และเมืองพุมารบเมืองปาย โดยจะเก็บริบเอาทรัพย์สิ่งของให้หมด พระยาทรงสุรเดชพร้อมด้วยเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ประชุมเจ้านายหกตำแหน่งมอบหมายให้เจ้าอุตรโกศลออกไปปราบปราม[11]
วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ส่างนันติ คนในบังคับอังกฤษ ใช้ดาบฟันส่างสุนันตาและเนอ่อง คนในบังคับสยามตาย ณ ตำบลกิ่วคอหมา แขวงเมืองปาย และนำทรัพย์สินไปมูลค่าประมาณ 1,000 บาท ศาลต่างประเทศ เมืองนครเชียงใหม่ได้ตัดสินประหารชีวิต (คำพิพากษาที่ 25/125 ศาลต่างประเทศ เมืองนครเชียงใหม่ วันที่ 24 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 125 อ้างในศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2535/คำพิพากษานี้เป็นคำพิพากษาในสมัยที่สยาม (ไทย) ตกอยู่ภายใต้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตตามสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398) และจำเลยได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กรุงเทพ ได้ยกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย และให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษาศาลล่าง (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 20 ปี ค.ศ. 1906 อ้างในศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ. 2536)
พ.ศ. 2454 กระทรวงมหาดไทยได้ยกเลิกการปกครองเมือง เปลี่ยนฐานะเมืองปายเป็น อำเภอปาย และได้แต่งตั้งหลวงเจริญเขตเขลางค์นคร (สอน สุขุมมินทร์) เป็นนายอำเภอคนแรกระหว่างปี พ.ศ. 2454-2468[12]
การท่องเที่ยวและการพัฒนา
[แก้]อำเภอปายในอดีตเคยเป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบมีวิถีของชาวไทยใหญ่ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศพม่า อำเภอปายในช่วงแรกเริ่มรู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางแบบแบ็คแพ็ค ที่เลือกมาสัมผัสบรรยากาศที่ผ่อนคลายของเมือง ที่เต็มไปด้วยเกสต์เฮ้าส์ที่มีราคาที่พักไม่สูงมากนัก ร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหาร และรอบเมืองที่มีสปาและแคมป์ช้างจึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ นอกจากนี้อำเภอปายยังมีน้ำตก น้ำพุร้อน และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ
อำเภอปายในปัจจุบันมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัยและสะดวกสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน มีร้านสะดวกซื้อ มีสถานพักตากอากาศหรูรวมกว่า 350 แห่ง มีคลับบาร์เบียร์อยู่ทั่วไป เพื่อตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น
ในช่วงฤดูท่องเที่ยวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางยังอำเภอปายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ในภายหลังก็มีนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อำเภอปายเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์แนวโรแมนติก 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องเดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก และเรื่องรักจัง
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
[แก้]- น้ำตกหมอแปง
- วัดกลาง
- วัดพระธาตุศรีวิชัย
- วัดน้ำฮู
- หมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่ปิง
- เจดีย์พระธาตุแม่เย็น
- โป่งน้ำร้อนท่าปาย
- น้ำตกแม่เย็น
- กองแลน
- น้ำพุร้อนเมืองแปง
- ห้วยจอกหลวง
- ถนนคนเดิน ปาย
- สะพานข้ามแม่น้ำปาย
- หมู่บ้านจีนยูนนาน
สถานที่ราชการสำคัญ
[แก้]- ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน สาขาปาย เป็นศาลจังหวัด สาขา มีลักษณะความโดดเด่น คือ มีอาคารศาลที่แปลกไปจากอาคารศาลทั่วไป เป็นอาคารที่สร้างขึ้นให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของอำเภอปาย โดยการจำลองแบบมาจากบ้านพักนายอำเภอปาย เริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552
- ที่ว่าการอำเภอปาย
- โรงพยาบาลปาย
- ท่าอากาศยานปาย
- โรงเรียนปายวิทยาคาร
เหตุการณ์สำคัญ
[แก้]- ปี 2548 เกิดน้ำท่วม ทำให้อาคารบ้านเรือน, สถานตากอากาศ, ร้านค้า, และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น สะพาน ได้รับความเสียหายอย่างมาก
- 27 กรกฎาคม 2553 และ 21 มีนาคม 2554 เกิดแผ่นดินไหว วัดขนาดได้ที่แมกนิจูด 3.0 และ 3.1 ตามลำดับ
- 9 พฤศจิกายน 2566 เกิดแผ่นดินไหว[13][14] วัดขนาดได้ที่แมกนิจูด 4.7 จุดศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ ไม่มีรายงานความเสียหาย โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ฉุกเฉิน[15]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, หน้า 77, 83.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, หน้า 84.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, พบคำว่าเมืองน้อยและคำว่าเมืองชวาดน้อย.
- ↑ ฮันส์ เพนธ์. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
- ↑ ฮันส์ เพนธ์, 2542.
- ↑ ฮันส์ เพนธ์, ศิลปากร, 2519, หน้า 72-76.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, หน้า 97.
- ↑ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 จากเรื่องพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ณ เมรุวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2516, หน้า 47.
- ↑ ประชากิจกรจักร, พงศาวดารโยนก หน้า 501–502 และประชุมพงศาวดาร เล่ม 3 ในพระชุมพงศาวดาร ภาค 3 และภาค 4 ตอนต้น, หน้า 118-119.
- ↑ ชัยยง ไชยศรี, 2546, หน้า 22.
- ↑ สรุปความจาก เมืองปาย : ชุมทางชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีต โดยโกศล กันธะรส ภูมิปัญญาล้านนาในมิติวัฒนธรรม บรรณาธิการ : ยิ่งยง เทาประเสริฐ และอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยคณะอนุกรรมการวิจัยวัฒนธรรมภาคเหนือ ธันวาคม พ.ศ. 2542 สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปี 2541 หน้า 183-189 (ปรับปรุง มิถุนายน 2549).
- ↑ "แผ่นดินไหวขนาด 4.7 ต.เวียงเหนือ อ.ปาย สะเทือนถึงเชียงใหม่". www.thairath.co.th. 2023-11-09.
- ↑ "แผ่นดินไหวขนาด 2.4 ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 2023-11-09 14:42:54 ตามเวลาประเทศไทย". earthquake.tmd.go.th.
- ↑ ข่าวนายกฯ ห่วงใยประชาชนกรณีแผ่นดินไหวปาย, สืบค้นเมื่อ 2023-11-11