ข้ามไปเนื้อหา

เพริคลีส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพริคลีส
เพริคลีสกำลังกล่าวสุนทรพจน์ไว้อาลัย (Perikles hält die Leichenrede) โดย ฟิลลิปส์ โฟล์ทซ.
เกิดc. 495 BC
นครรัฐเอเธนส์
เสียชีวิต429 BC
นครรัฐเอเธนส์
รับใช้นครรัฐเอเธนส์
ชั้นยศสตราทีโกส (Strategos) (ประมุขสันนิบาตโดยตำแหน่ง)
การยุทธ์ยุทธการที่ซิเชียน และ อาคาร์นาเนีย (454 BC)
สงครามศักดิ์สิทธิ์ครั้งที่ 2 (448 BC)
สงครามซาเมียน (440 BC)
การปิดล้อมไบแซนไทน์ (438 BC)
สงครามเพโลพอนนีเซียน (431–429 BC)

เพริคลีส (อังกฤษ: Pericles; กรีกโบราณ: Περικλῆς "เป-ริ-ขลีส" ; ราว 495–429 ก่อนคริสตกาล)เป็นรัฐบุรุษ นักปราศัย และนายพล ที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลอย่างสูง แห่งนครรัฐเอเธนส์ ในช่วงยุครุ่งเรืองของนครรัฐเอเธนส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กรีกทำสงครามสู้รบกับเปอร์เซีย (ดู สงครามกรีก-เปอร์เซีย) และ ในช่วงมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน

เพริคลีสสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่มาจากตระกูลแอลคมีโอนิดีที่มีอิทธิพลและทรงอำนาจ โดยเป็นหลานตาของ ไคลสธีนีส รัฐบุรุษผู้สถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับชาวเอเธนส์ เพริคลีสเป็นนักการเมืองที่อิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อนครเอเธนส์ มีส่วนอย่างมากในการสร้างอัตลักษณ์และความเจริญให้กับเอธนส์ใช่วงยุครุ่งเรือง ทิวซิดิดีสนักประวัติที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัย ขนานนามเพริคลีสว่าเป็น "พลเมืองหมายเลขหนึ่งของเอเธนส์"[1] เพริคลีสเปลี่ยนสันนิบาตดีเลียน (League of Delian) ให้กลายเป็นจักรวรรดิทางทะเลที่มีศูนย์กลางที่เอเธนส์ และเป็นผู้นำของชาวเอเธนส์จนถึงช่วงสองปีแรกของมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน ในช่วงระหว่างปี 461 ถึง 429 ก่อนคริสตกาล เพริคลีสนำนครเอเธนส์รุ่งเรืองจนสู่ขีดสูงสุด ส่งเสริมการพัฒนางานศิลปะ วรรณกรรม และวิทยาการความรู้สาขาต่าง ๆ จนผลักดันให้เอเธนส์กลายเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมและการศึกษาของโลกกรีซโบราณ เพริคลีสริเริ่มโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากมายจนเปลี่ยนเอเธนส์ให้กลายเป็นนครที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมหินอ่อนที่อลังการ รวมไปถึงวิหารพาร์เธนอน ซึ่งยังปรากฏให้เห็นบนอัครปุระของเอเธนส์มาจนปัจจุบัน โครงการก่อสร้างเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความสวยงามยิ่งใหญ่อลังการและช่วยปกป้องตัวเมืองจากศัตรู แต่ยังสร้างงานให้กับประชากรเอเธนส์ ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ยุคสมัยของเพริคลีส"

เพริคลีสเป็นนักพูดที่มีทักษะและไหวพริบมาก นอกจากนี้ยังเป็นรัฐบุรุษที่มีเสน่ห์และมีบารมีน่ายำเกรง เพราะมาจากตระกูลชนชั้นสูง เพริคลีสมักใช้ทักษะการพูด กล่าวตักเตือนให้ประชาชนของเอเธนส์มีความภาคภูมิใจในชาติ และมีความสามัคคีกัน ซึ่งจะเห็นได้จากเนื้อหาของสุนทรพจน์ไว้อาลัยของเพริคลีส (Pericles' Funeral Oration) ที่ให้ไว้ต่อชาวเอเธนส์เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในปีแรกของมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน กล่าวกันว่านครเอเธนส์เป็นประชาธิปไตยอยู่ได้อย่างมั่นคงก็เพราะมีนักการเมืองอย่างเพริคลีสเป็นผู้ชี้นำ เพริคลีสจึงไม่ได้เป็นเพียงนักการเมืองประชานิยมที่เก่งกาจ แต่ยังเป็นผู้นำทางจิตใจและทางศีลธรรมของชาวเอเธนส์ด้วย

ประวัติ

[แก้]
การเมืองของเราไม่ได้ลอกแบบมาจากจารีตของประเทศอื่น หากแต่เราเป็นแบบอย่างให้กับชนชาติอื่น สิ่งนี้เราเรียกว่า ประชาธิปไตย เพราะเราปกครองเพื่อคนส่วนมาก ไม่ใช่เพื่อคนส่วนน้อย กฎหมายของเราให้ความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกับทุกคน ไม่ว่าใครจะมีที่มาที่ไปของตนอย่างไร สำหรับเกียรติยศและโอกาสในการรับใช้ประเทศ สิ่งเหล่านี้เราถือว่าขึ้นอยู่กับชื่อเสียงในเรื่องความสามารถ หาใช่เพราะโชคหรือชาติกำเนิด ยิ่งไปกว่านี้ความยากจนก็หาเป็นอุปสรรคในบ้านเมืองของเราไม่ หากใครเป็นผู้มีสามารถอาจทำการให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้ ผู้นั้นย่อมไม่ถูกขัดขวางเพราะความต่ำต้อยของฐานะตน

ทิวซิดิดีส, สุนทรพจน์ไว้อาลัยของเพริคลีส (Pericles' Funeral Oration)[2]

เพริคลีสเกิดเมื่อราวปี 495 ก่อนคริสต์ศักราชในนครรัฐเอเธนส์ ท่านเกิดมาในตระกูล แอลค์มีออนิดี (Alkmaeonidae) ซึ่งเป็นตระกูลผู้ดีเก่าของเอเธนส์ โดยสืบขึ้นไปทางฝ่ายแม่ มารดาท่านชื่อ แอกะริสตี (Agariste) เป็นบุตรีของฮิปปอคราตีส แอกะริสตียังเป็นหลานลุงของ ไคลสธีนีส รัฐบุรุษผู้ก่อตั้งประชาธิปไตยขึ้นในเอเธนส์[3] เมื่อแอกะริสตีตั้งครรภ์ เธอฝันว่ามีพญาราชสีห์เข้ามาจุติในท้อง[4] เมื่อคลอดได้บุตรชายเธอกับ ซานธิปปัส (Xanthippus) สามีจึงตั้งชื่อให้ว่า เพริคลีส โดยขณะที่เพริคลีสเกิดนั้นเอเธนส์เพิ่งจะมีประชาธิปไตยได้ประมาณแค่สิบปี ในวัยเด็กเพริคลีสเป็นคนเก็บตัว ในสังคมกรีกโบราณ การเล่นและแข่งกีฬาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะวัฒนธรรมกรีกให้ความสำคัญกับการแข่งขัน หรือ อากอน (ἀγών; agon [en]) บุคคลที่ชนะการแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ แบบโอลิมปิกเกมส์ อาจอาศัยความสำเร็จนั้นเป็นบันไดไปสู่ความก้าวหน้าทางการเมือง แต่เพริคลีสกลับชอบอ่านตำราและเรียนหนังสือมากกว่า และด้วยความที่ครอบครัวร่ำรวย เพริคลีสจึงได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ กับอาจารย์ที่ดีที่สุดในสมัยนั้น

บุคคลิกและความสามารถ

[แก้]

เพริคลีสกับประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเอเธนส์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Thucydides, 2.65
  2. Thucydides, 2.37
  3. D. Kagan, Pericles of Athens, 11–12.
  4. Herodotus, The Histories, 6:131.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Crane, Gregory, Thucydides and the Ancient Simplicity: the Limits of Political Realism. Berkeley: University of California Press (1998).
  • Herodotus, The Histories, vol. VI. ดูเนื้อหาต้นฉบับที่ Perseus program
  • Kagan, Donald (1974). The Archidamian War. Ithaca: Cornell University Press. ISBN 0-8014-0889-X..
  • Kagan, Donald (1989). The Outbreak of the Peloponnesian War. Ithaca: Cornell University Press. ISBN 0-8014-9556-3..
  • Kagan, Donald (1991). Pericles of Athens and the Birth of Democracy. The Free Press. ISBN 0-0291-6825-2..
  • Kagan, Donald (1996). "Athenian Strategy in the Peloponnesian War". The Making of Strategy: Rules, States and Wars by Williamson Murray, Alvin Bernstein, MacGregor Knox. Cambridge University Press. ISBN 0-521-56627-4.
  • Kagan, Donald (2003). "War aims and resources (432–431)". The Peloponnesian War. Viking Penguin (Penguin Group). ISBN 0-670-03211-5.
  • Thucydides (1998). The Peloponnesian War, Norton Critical Edition. Walter Blanco(trans.). Norton & Company. ISBN 0-3939-7167-8.