ข้ามไปเนื้อหา

เลโอนิด เบรจเนฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เลโอนิด เบรซเนฟ)
เลโอนิด เบรจเนฟ
Леонид Брежнев
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต
ดำรงตำแหน่ง
14 ตุลาคม 2507 – 10 พฤศจิกายน 2525
ก่อนหน้านิกิตา ครุสชอฟ
ถัดไปยูรี อันโดรปอฟ
ประธานคณะผู้บริหารสูงสุดแห่งสภาโซเวียตสูงสุด
ดำรงตำแหน่ง
16 มิถุนายน 2520 – 10 พฤศจิกายน 2525
ก่อนหน้านีโคไล ปอดกอร์นืย
ถัดไปยูรี อันโดรปอฟ
ดำรงตำแหน่ง
7 พฤษภาคม 2503 – 15 กรกฎาคม 2507
ก่อนหน้าคลีเมนต์ โวโรชีลอฟ
ถัดไปอะนัสตัส มีโคยัน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 ธันวาคม พ.ศ. 2449
คาเมนสโคเย, จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 (75 ปี)
มอสโก, โซเวียตรัสเซีย, สหภาพโซเวียต
เชื้อชาติรัสเซียและยูเครน
พรรคการเมืองคอมมิวนิสต์
คู่สมรสวิคตอเรีย เบรจเนฟ
บุตรกาลินา เบรจเนฟ
ยูรี เบรจเนฟ
วิชาชีพวิศวกรโลหการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้สหภาพโซเวียต
สังกัดกองทัพแดง
ประจำการ2484–2488
ยศพลตรี
จอมพลแห่งสหภาพโซเวียต
บังคับบัญชากองทัพอากาศแห่งสหภาพโซเวียต
ผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2

เลโอนิด อิลยิช เบรจเนฟ (รัสเซีย: Леонид Ильич Брежнев, อักษรโรมัน: Leonid Ilich Brezhnev, สัทอักษรสากล: [ˈlʲɪɐˈnʲit ɨˈlʲjidʑ ˈbrʲeʐnʲɪf] ( ฟังเสียง); 19 ธันวาคม 2449 – 10 พฤศจิกายน 2525) เป็นนักการเมืองชาวโซเวียตที่เป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (พ.ศ. 2507-2525) และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะอภิมุขสูงสุดแห่งโซเวียตสูงสุด หรือ สภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต (พ.ศ. 2503-2507, 2520-2525) เบรจเนฟดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯเป็นเวลา 18 ปี ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งยาวนานเป็นอันดับสองรองจากโจเซฟ สตาลิน การดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯของเบรจเนฟยังคงเป็นที่ถกเถียงกันโดยนักประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาการปกครองของเขามีลักษณะเฉพาะตัวในการสร้างดุลยภาพทางการเมืองและความสำเร็จของนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ แต่ก็ยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ความไร้ประสิทธิภาพ เศรษฐกิจที่ซบเซา และช่องว่างทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกับตะวันตก

เบรจเนฟเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานในคาเมนสโคเย เขตผู้ว่าการเยคาเตรีโนสลัฟ จักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบันคือกามิยันสแก ประเทศยูเครน) หลังจากผลของการปฏิวัติเดือนตุลาคมสิ้นสุดลงด้วยการก่อตั้งสหภาพโซเวียต เบรจเนฟเข้าร่วมสันนิบาตยุวชนของพรรคคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2466 ก่อนเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2472 เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 เขาได้เข้าร่วมกองทัพแดงในฐานะผู้ตรวจการและได้เลื่อนยศเป็นพลตรีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอย่างรวดเร็ว หลังสงครามยุติ เบรจเนฟได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นคณะกรรมการกลางของพรรคใน พ.ศ. 2495 และได้ขึ้นเป็นสมาชิกโปลิตบูโรเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2500 ใน พ.ศ. 2507 เขาได้รวบรวมอำนาจมากพอที่จะปลดนีกีตา ครุชชอฟ ออกจากตำแหน่งเลขาธิการลำดับที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศ

ระหว่างดำรงตำแหน่ง แนวทางการปกครองแบบอนุรักษ์นิยมและปฏิบัติจริงของเบรจเนฟในการกำกับดูแลได้ปรับสถานะระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็รักษาตำแหน่งของพรรครัฐบาลที่บ้านให้มีเสถียรภาพ ในขณะที่ครุชชอฟมักประกาศใช้นโยบายโดยไม่ปรึกษากับโปลิตบูโรที่เหลือ เบรจเนฟระมัดระวังที่จะลดความขัดแย้งระหว่างผู้นำพรรคด้วยการตัดสินใจผ่านฉันทามติ นอกจากนี้ ในขณะผลักดันให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจทั้งสองในช่วงสงครามเย็น เขาได้บรรลุดุลยภาพทางนิวเคลียร์กับสหรัฐ และเสริมความแข็งแกร่งให้สหภาพโซเวียตในยุโรปกลางและตะวันออก นอกจากนี้ การสะสมอาวุธขนาดใหญ่และการแทรกแซงทางทหารที่แพร่หลายภายใต้การนำของเบรจเนฟได้ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตไปยังต่างประเทศอย่างมาก (โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกา) แม้ว่าความพยายามเหล่านี้จะพิสูจน์ได้ว่ามันมีค่าใช้จ่ายสูงและจะฉุดลากเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตในปีต่อ ๆ มา

ตรงกันข้าม การเพิกเฉยต่อการปฏิรูปการเมืองของเบรจเนฟทำให้เกิดยุคแห่งความเสื่อมโทรมของสังคมที่เรียกว่ายุคชะงักงันของเบรจเนฟ นอกเหนือจากนี้ การทุจริตที่แพร่หลายและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอย ช่วงเวลานี้ยังมีช่องว่างทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอีกด้วย เมื่อมีฮาอิล กอร์บาชอฟขึ้นสู่อำนาจใน พ.ศ. 2528 กอร์บาชอฟประณามรัฐบาลของเบรจเนฟในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพและความไม่ยืดหยุ่น ก่อนที่จะดำเนินนโยบายเพื่อเปิดเสรีต่อสหภาพโซเวียต

หลัง พ.ศ. 2518 สุขภาพของเบรจเนฟทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วและเขาก็ปลีกตัวจากกิจการระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ยังคงรักษาอำนาจไว้ เบรจเนฟถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 และยูรี อันโดรปอฟได้รับเลือกเป็นเลขาธิการกลางต่อจากเบรจเนฟ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เลโอนิด เบรจเนฟ ถัดไป
นิกิตา ครุสชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต
(พ.ศ. 2507 - 2525)
ยูรี อันโดรปอฟ