เกออร์กี จูคอฟ
เกออร์กี จูคอฟ | |
---|---|
Геoргий Жyков | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหภาพโซเวียต | |
ดำรงตำแหน่ง 9 กุมภาพันธ์ 1955 – 26 ตุลาคม 1957 | |
นายกรัฐมนตรี | นีโคไล บุลกานิน |
ก่อนหน้า | นีโคไล บุลกานิน |
ถัดไป | โรดีออน มาลีนอฟสกี |
เสนาธิการใหญ่กองทัพแดง | |
ดำรงตำแหน่ง กุมภาพันธ์ 1941 – 29 กรกฎาคม 1941 | |
ก่อนหน้า | คีริลล์ เมเรตสคอฟ |
ถัดไป | โบริส ชาปอชนีคอฟ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 1 ธันวาคม ค.ศ. 1896 สเตรลคอฟคา คาลูกา จักรวรรดิรัสเซีย |
เสียชีวิต | 18 มิถุนายน ค.ศ. 1979 กรุงมอสโก สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย สหภาพโซเวียต | (82 ปี)
เชื้อชาติ | โซเวียต |
ศาสนา | คริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์รัสเซีย |
พรรคการเมือง | พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต |
คู่สมรส | อะเล็กซันดรา ดีฟนา ซุยโควา (1920-1953) กาลีนา อะเล็กซันดรอฟนา เซมโยโนวา (1965-1973) |
บุตร | อีรา จูโควา (ช. 1928) มาร์การีตา จูโควา (1929-2011) |
วิชาชีพ | ทหาร |
รางวัล | วีรชนแห่งสหภาพโซเวียต (4) |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | รัสเซีย สหภาพโซเวียต |
สังกัด | กองทัพบกจักรวรรดิรัสเซีย กองทัพแดง กองทัพบกโซเวียต |
ประจำการ | 1915–1957 |
ยศ | จอมพลแห่งสหภาพโซเวียต |
บังคับบัญชา | มณฑลทหารบกเคียฟ แนวรบตะวันตก แนวรบเบียโลรัสเซียที่ 1 มณฑลทหารบกโอเดสซา |
ผ่านศึก | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามกลางเมืองรัสเซีย สงครามชายแดนโซเวียต–ญี่ปุ่น (ยุทธการฮาลฮิน กอล) มหาสงครามรักชาติ |
เกออร์กี คอนสตันตีโนวิช จูคอฟ (รัสเซีย: Гео́ргий Константи́нович Жу́ков, อังกฤษ: Georgy Konstantinovich Zhukov) เป็นนายทหารของกองทัพแดงและเป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียต เคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการใหญ่, รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และเคยเป็นสมาชิกสภาเปรซิเดียมพรรคคอมมิวนิสต์ฯ จูคอฟเคยเป็นแม่ทัพภาคสนามที่นำกองทัพแดงได้รับชัยชนะหลายครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นแม่ทัพโซเวียตที่โด่งดังที่สุดจากยุคสงครามโลก
จูคอฟเกิดในครอบครัวยากจนในภาคกลางของรัสเซีย เขาเข้ารับราชการทหารในกองทัพบกจักรวรรดิรัสเซียและเคยสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมาจูคอฟเข้าร่วมกับกองทัพแดงในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ ในปีค.ศ. 1939 จูคอฟเป็นแม่ทัพกลุ่มและได้รับชัยชนะอย่างขาดลอยเหนือญี่ปุ่นในยุทธการที่ฮาลฮิน กอล ชัยชนะครั้งนี้ทำให้เขาได้รับเหรียญวีรชนแห่งสหภาพโซเวียตเป็นครั้งแรก ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 จูคอฟได้รับตำแหน่งเสนาธิการใหญ่กองทัพแดง
จูคอฟดำรงตำแหน่งเสนาธิการใหญ่ได้ไม่นาน นาซีเยอรมนีก็บุกสหภาพโซเวียต ทำให้เขาถูกปลดจากตำแหน่งและถูกส่งตัวไปรับผิดชอบการป้องกันสามเมืองใหญ่ เลนินกราด, มอสโก และสตาลินกราด เขายังมีส่วนร่วมวางแผนการรุกตีสำคัญหลายครั้ง อาทิ ยุทธการที่คูสค์ และปฏิบัติการบากราติออน ต่อมาในปีค.ศ. 1945 จูคอฟบังคับบัญชาแนวรบเบียโลรัสเซียที่ 1 และมีส่วนร่วมในการรุกวิสตูลา–โอเดอร์กับยุทธการที่เบอร์ลิน ซึ่งนำไปสู่ความปราชัยของนาซีเยอรมนีและการสิ้นสุดสงครามบนทวีปยุโรป จูคอฟได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนฝ่ายโซเวียตในการรับตราสารยอมจำนนของเยอรมนี
จูคอฟเป็นนายพลที่ขึ้นชื่อที่สุดคนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง[1] ความสามารถในการบังคับบัญชาทางปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ของเขาทำให้เขาเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างมาก[2] สัมฤทธิภาพการรบของเขาพัฒนาความรู้ทางทหารของมนุษยชาติอย่างสำคัญ โดยมีอิทธิพลมากทั้งต่อทฤษฎีทางทหารของโซเวียตและทั้งโลก[3]
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]จูคอฟเกิดในครอบครัวชาวนารัสเซีย พ.ศ. 2458 ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารในกองทัพบกจักรวรรดิรัสเซีย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขารบได้อย่างกล้าหาญ จึงได้รับเหรียญตราและถูกเลื่อนยศ หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม แห่งปี พ.ศ. 2460 ชูคอฟเข้าร่วมกับพรรคบอลเชวิค และต่อสู้ในสงครามกลางเมืองรัสเซีย ช่วงปี พ.ศ. 2461 – พ.ศ. 2464 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2466 เขาขึ้นเป็นผู้บัญชาการกรม พ.ศ. 2473 เป็นผู้บัญชาการกองพัน ชูคอฟเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญในทฤษฎีใหม่ของสงครามยานเกราะ เขาโดดเด่นเรื่องการวางแผนการรบที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย เขาเน้นระเบียบวินัยและความเข้มงวด เขาเป็นหนึ่งในบรรดานายทหารไม่มากนักที่รอดพ้นจากการกวาดล้างกองทัพครั้งใหญ่ของสตาลิน ช่วงปี พ.ศ. 2481 – พ.ศ. 2482
พ.ศ. 2481 ชูคอฟ เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพโซเวียตมองโกเลียที่ 1 และเป็นผู้บัญชาการรบกับกองทัพกวางตุ้งของญี่ปุ่นที่บริเวณพรมแดนมองโกเลียกับรัฐแมนจูกัวของญี่ปุ่นในสงครามอย่างไม่เป็นทางการช่วงปี พ.ศ. 2481 – พ.ศ. 2482 ที่เริ่มจากการกระทบกระทั่งรายวันตามแนวพรมแดน โดยญี่ปุ่นหวังจะทดสอบกำลังในการป้องกันเขตแดนของฝ่ายโซเวียต จนเรื่องนี้กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบอย่างรวดเร็ว ที่เรียกว่า ยุทธการที่ฮาลฮินโกล ญี่ปุ่นทุ่มกำลังพล 80,000 นาย รถถัง 180 คัน และอากาศยาน 450 ลำเข้าสู่สงคราม งานนี้ชูคอฟสามารถพิชิตฝ่ายญี่ปุ่นได้โดยง่าย และได้รับตำแหน่งเป็นวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียตแต่ชื่อเสียงของเขาไม่เป็นที่รู้จักในภายนอก เพราะช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ชาติตะวันตกไม่สนใจการรบแบบยานเกราะเคลื่อนที่ที่เขานำมาลองใช้ที่ ฮาลฮิน โกล สงครามสายฟ้าแลบของเยอรมันต่อฝรั่งเศส จึงสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนมากมาย
ชูคอฟ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอกในปี พ.ศ. 2483 ระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2484 เขาเป็นประธานเสนาธิการกองทัพแดง แต่เพราะความขัดแย้งกับสตาลิน เขาจึงถูกปลด หลังจากที่นาซีเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตได้ไม่นาน
แม่ทัพใหญ่
[แก้]มูลเหตุของความขัดแย้งกับสตาลินในครั้งนั้น ก็คือจูคอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในนายทหารไม่กี่คน ที่กล้าที่จะท้วงติงผู้นำ เขาทักท้วงสตาลินว่า เคียฟคงจะทานการรุกของข้าศึกไม่ไหว ทางที่ดีน่าจะถอยทัพออกมาก่อน แต่สตาลินไม่พอใจอย่างมาก จึงปลดเขาจากตำแหน่งเมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 และส่งไปดูแลการรบที่เลนินกราด แต่ในที่สุดแล้วจูคอฟก็พิสูจน์ว่าเขาเป็นฝ่ายถูก เมื่อโซเวียตเสียทหารไปถึงครึ่งล้านที่เคียฟ
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484 เมื่อข้าศึกรุกเข้าประชิดกรุงมอสโก จูคอฟถูกเรียกตัวมาเป็นผู้บัญชาการแนวรบกลาง แทนนายพล เซมิออน ตีโมเชนโค เพื่อปกป้องกรุงมอสโก ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จ เมื่อสามารถผลักดันข้าศึกให้ถอยออกไปจนมอสโกพ้นขีดอันตราย ความสำเร็จนี้ทำให้สตาลินยอมรับฟังความคิดเห็นของนายพลของเขามากขึ้น และยอมถูกวิจารณ์มากขึ้น และชูคอฟก็กลับมาเป็นนายทหารคู่ใจของเขาอีกครั้ง ปีต่อมา จูคอฟ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการสูงสุด และส่งไปดูแลสตาลินกราด ซึ่งที่นี่ โซเวียตสามารถพิชิตกองทัพที่ 6 ของเยอรมนีลงได้สำเร็จ แม้จะต้องเสียทหารไปเป็นล้าน
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2486 เขาดูแลการตีฝ่าการล้อมเลนินกราดครั้งแรก ในเดือกรกฎาคมปีเดียวกัน ในบันทึกความทรงจำ ชูคอฟบอกว่าเขามีบทบาทสำคัญในการวางแผนยุทธการที่คูสค์ (Kursk) ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม โดยที่นี่กองทัพเยอรมันประสบความปราชัยในช่วงฤดูร้อนเป็นครั้งแรก จึงถือว่าเป็นชัยชนะที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับที่สตาลินกราด
หลังจากนั้น ชูคอฟ ก็ดูแลเรื่องการปลดปล่อยการปิดล้อมเลนินกราดที่ประสบความสำเร็จ เดือนมกราคม พ.ศ. 2487 ชูคอฟ นำกองทัพโซเวียตในการรุกที่มีชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการเบรเกรชั่น ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปฏิบัติการณ์ทางทหารที่สุดยอดที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง เดือนเมษายน พ.ศ. 2488 กองทัพโซเวียตยึดกรุงเบอร์ลินได้ และฟาสซิสต์เยอรมนียอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข
หลังสงคราม
[แก้]หลังสงครามจบสิ้น ชูคอฟเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเขตยึดครองโซเวียตในเยอรมนี และเป็นผู้ว่าการทหารที่นั่น ความที่เขาเป็นที่นิยมชมชอบจากคนหลายฝ่ายอย่างมาก จึงมองกันว่าเขามีแนวโน้มเป็นอันตรายอย่างมากกับระบอบเผด็จการสตาลิน ปี พ.ศ. 2489 เขาจึงถูกเก็บเข้ากรุ และโดนย้ายมาเป็นผู้บัญชาการเขตการทหารโอเดสซา ซึ่งห่างไกลจากเมืองหลวง และไม่ค่อยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ หลังการตายของสตาลิน เขาก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในปี พ.ศ. 2496 และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ในปี พ.ศ. 2498
มิถุนายน พ.ศ. 2500 ชูคอฟ ได้ขึ้นเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลาง สภาเปรสซิเดียม แต่ถูกนิกิต้า ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตยุคนั้นปลดจากกระทรวงและคณะกรรมาธิการกลางเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพราะความขัดแย้งทางนโยบายด้านการทหารหลายเรื่อง
หลังครุชชอฟถูกโค่นล้มเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 เลโอนิด เบรซเนฟ ผู้นำประเทศคนใหม่ได้ฟื้นฟูความนิยมให้ชูคอฟอีกครั้ง แต่ไม่ฟื้นฟูอำนาจให้ชูคอฟกลับมาเป็นที่นิยมในโซเวียตจวบจนเสียชีวิตไปในปี พ.ศ. 2517 และศพของเขาถูกนำมาประกอบพิธีอย่างสมเกียรติ
ความด่างพร้อย
[แก้]ท่ามกลางบรรยากาศของชัยชนะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายทหารหลายคนในฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มมีบทบาทเป็นนักการเมืองหรือเตรียมตัวเป็นผู้มีอำนาจบริหารประเทศหลายคน เช่น ชาร์ล เดอ โกลล์แห่งฝรั่งเศส, ดไวต์ เดวิด ไอเซนฮาวร์แห่งสหรัฐอเมริกา สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เกิดความหวาดระแวงว่า จูคอฟอาจจะมีพฤติกรรมเช่นนั้นและลงเอยแบบนโปเลียนที่ทำลายการปกครองแบบพรรค ซึ่งคล้ายคลึงกับความหวาดระแวงต่อจอมพลตูคาเชฟสกี ด้วยวาทะ "นโปเลียนแดง" ที่ถูกประหารชีวิตในช่วงการกวาดล้างครั้งใหญ่ในสหภาพโซเวียต
เครื่องอิสริยาภรณ์
[แก้]จักรวรรดิรัสเซีย
[แก้]กางเขนแห่งนักบุญจอร์จ ชั้นที่ 3 |
สหภาพโซเวียต
[แก้]ต่างประเทศ
[แก้]วีรชนแห่งสาธารณรัฐประชาชนมองโกลเลีย (ค.ศ. 1969) | |
เหรียญที่ระลึก "ครบรอบ 30 ปี ยุทธการที่ฮาลฮิน กอล" (ค.ศ. 1969) | |
เครื่องอิสริยาภรณ์ชุคบาตาร์ (3 ครั้ง ค.ศ. 1968, ค.ศ. 1969, ค.ศ. 1971) | |
เครื่องอิสริยาภรณ์ธงแดง (มองโกเลีย) (2 ครั้ง, ค.ศ. 1939 และ ค.ศ. 1942) | |
เหรียญที่ระลึก "ครบรอบ 50 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนมองโกลเลีย" ( ค.ศ. 1971) | |
เหรียญที่ระลึก "ครบรอบ 50 ปี การสถาปนากองทัพประชาชนมองโกลเลีย" (ค.ศ. 1971) | |
เหรียญที่ระลึก "สำหรับชัยชนะเหนือญี่ปุ่น" (ค.ศ. 1945) | |
เครื่องอิสริยาภรณ์สิงโตขาว, ชั้นประถมาภรณ์ (เชโกสโลวัก, ค.ศ. 1945) | |
เครื่องอิสริยาภรณ์ทหารสิงโตขาว,"สำหรับชัยชนะ" ชั้นประถมาภรณ์ (เชโกสโลวัก,ค.ศ. 1945) | |
กางเขนสงครามเชโกสโลวัก (เชโกสโลวัก, ค.ศ. 1945) | |
กางเขนแห่งกรุนวอลด์ ชั้นประถมาภรณ์ (ค.ศ. 1945) | |
เครื่องอิสริยาภรณ์สงครามเวอร์ตูติ มิลิตาริ ชั้นประถมาภรณ์ (ค.ศ. 1945) | |
เครื่องอิสริยาภรณ์โปโลเนีย รีสติตูตา ชั้นที่ 3 (ค.ศ. 1968, และ กางเขนนายทัพ, ค.ศ. 1973) | |
เหรียญ "สำหรับวอร์ซอ ค.ศ. 1939-ค.ศ. 1945" (ค.ศ. 1946) | |
เหรียญสำหรับโอเดอร์, ไนส์เซ และบอลติก (ค.ศ. 1946) | |
ลีเจียนออฟเมอริต หัวหน้าผู้บัญชาการ (สหรัฐอเมริกา, ค.ศ. 1945) | |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์บาธ ชั้นสังวาล ฝ่ายทหาร (สหราชอาณาจักร, ค.ศ. 1945) | |
เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นประถมาภรณ์ (ฝรั่งเศส, ค.ศ. 1945) | |
ครัวซ์เดอแกรซ์ (ฝรั่งเศส) | |
เหรียญ "มิตรภาพจีน-โซเวียต" (1953 และ 1956) | |
อิสริยาภรณ์แห่งเสรีภาพ (ค.ศ. 1956) | |
อิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณยิ่ง ชั้นประถมาภรณ์ (ค.ศ. 1956) | |
เหรียญที่ระลึก "ครบรอบ 90 ปี ชาตกาลของแกออร์กี ดีมีตรอฟ" (บัลแกเรีย) | |
เหรียญที่ระลึก "ครบรอบ 25 ปี การสถาปนากองทัพประชาชนบัลแกเลีย" (บัลแกเรีย) | |
Garibaldi Partisan Star (อิตาลี, ค.ศ. 1956) | |
Order of the Republic (สาธารณรัฐประชาชนตูวาน, ค.ศ. 1939) |
- Title of Honorary Italian Partisan (อิตาลี, ค.ศ. 1956)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Dwight D. Eisenhower. "Crusade in Europe" (1948), p. 285.
- ↑ Harold Shukman (1993) Stalin's Generals, Grove Press, New York City, p. 172, ISBN 1842125133.
- ↑ John Eisenhower (1974). Strictly Personal. New York. 1974. p. 21, ISBN 0385070713.