เท้ายายม่อม (พืช)
เท้ายายม่อม | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Monocots |
อันดับ: | Dioscoreales |
วงศ์: | Dioscoreaceae |
สกุล: | Tacca |
สปีชีส์: | T. leontopetaloides |
ชื่อทวินาม | |
Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze, 1891[1] |
ระวังสับสนกับ ไม้เท้ายายม่อม
เท้ายายม่อม[2] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tacca leontopetaloides) หรือมันเท้ายายม่อม เป็นพืชในวงศ์ Taccaceae เป็นพืชที่มีหัว มีใบ 1–3 ใบ แต่ละใบจักเป็นสามแฉก เว้าแบบขนนก ดอกเป็นช่อยาว แต่ละช่อมีดอกย่อย 20–40 ดอก ผลกลม หัวของพืชชนิดนี้นำไปทำแป้งที่เรียกแป้งเท้ายายม่อม พืชชนิดนี้เป็นพืชท้องถิ่นในทวีปแอฟริกา, เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ออสเตรเลียเหนือ, นิวกินี, ซามัว, หมู่เกาะไมโครนีเซีย และฟีจี[1] และมีการแพร่กระจายไปในหมู่เกาะแปซิฟิกเนื่องมาจากการอพยพของคน ชื่อสามัญของพืชชนิดนี้ ได้แก่ Polynesian Arrowroot (ภาษาอังกฤษ), Pia (ฮาวาย, เฟรนช์พอลินีเชีย, นีวเว และหมู่เกาะคุก), Masoa (ซามัว), Mahoaʻa (ตองงา), Yabia (ฟีจี) Gapgap (กวม) และ Taka (อินโดนีเซีย)[3]
เท้ายายม่อมเป็นไม้ล้มลุกอายุยืน ไม่มีลำต้น เหง้าใต้ดินเป็นหัว กลมแบนหรือรีกว้าง เปลือกหัวบาง ผิวเรียบ เมื่ออ่อนสีขาว แก่แล้วเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล เนื้อหัวสีขาว ฉ่ำน้ำเล็กน้อย ดอกสีเหลืองหรือเขียวแกมม่วงเข้ม ผลสีส้มอ่อน มีเมล็ดมาก เนื้อผลฟ่าม ๆ เมล็ดแบน คาดว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจายพันธุ์ตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย ไปจนถึงโอเชียเนีย
หัวสดรับประทานไม่ได้ มีรสขม แต่สามารถสกัดแป้งมาใช้ประโยชน์ได้ แป้งที่ได้ใช้ทำขนมปัง พุดดิ้งและขนมได้หลายชนิด ในฟีจีนำแป้งที่ยังไม่ได้ตากแห้งห่อใบไม้นำไปฝังดิน ปล่อยให้เกิดการหมักก่อนรับประทาน ในซามัวใช้แป้งสดเป็นกาว ในกาบองรับประทานผล ใบรับประทานเป็นผัก ก้านใบและก้านดอกให้เส้นใยใช้ทำหมวกและอุปกรณ์ตกเบ็ด หัวและแป้งใช้รักษาโรคบิดและอาการบวม เคยเป็นอาหารหลักในฮาวาย, ตาฮีตี และฟีจี แต่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยมันสำปะหลัง รสขมในหัวเกิดจากเบตาซิโตสเตอรอล อัลคาลอยด์ ซาโปนิน หัวอ่อนรสขมมากกว่าหัวแก่
แป้งเท้ายายม่อม
[แก้]แป้งเท้ายายม่อมเป็นแป้งที่แปรรูปได้จากหัวมันเท้ายายม่อม (Tacca leontopetaloides) ซึ่งเก็บหัวได้ปีละครั้ง จึงทำให้เป็นแป้งที่มีราคาแพง ลักษณะของแป้งเป็นผงสีขาวมีเม็ดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ทำให้ขนมมีลักษณะใส เช่นเดียวกับแป้งถั่ว [4] เมื่อทำให้สุกด้วยการกวนกับน้ำด้วยไฟอ่อนปานกลาง แป้งละลายง่าย สุกง่าย เมื่อสุกจะเริ่มใส มีเงาในเนื้อแป้ง เหนียวปานกลาง เมื่อเย็นแล้ว แป้งรวมตัวเป็นก้อน ล่อนออกจากภาชนะได้ดี [5]
เป็นวัตถุดิบทำขนมไทยตามสูตรดั้งเดิม เช่น ขนมเปียกปูน หรือ ขนมชั้น แต่ในปัจจุบันมักถูกทดแทนด้วยแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพด หรือแป้งสูตรผสมที่ให้คุณสมบัติใกล้เคียงกัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze". Germplasm Resources Information Network. United States Department of Agriculture. 2002-05-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-02. สืบค้นเมื่อ 2009-11-17.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 584.
- ↑ "Tacca leontopetaloides (Dioscoreaceae)". Meet the Plants. National Tropical Botanical Garden. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-13. สืบค้นเมื่อ 2009-11-17.
- ↑ ตำรับขนมหวาน. กทม. แสงแดด. 2537
- ↑ จรรยา สุบรรณ์. ตำรับอาหารชุดพิเศษ. กทม. ศรีสยามการพิมพ์. 2542
- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9: พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 217 - 219
- Brennan, Jennifer (2000). Tradewinds & Coconuts: A Reminiscence & Recipes from the Pacific Islands. Periplus. ISBN 962-593-819-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เท้ายายม่อม (พืช)