ข้ามไปเนื้อหา

สิงโต

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Lion)

สิงโต
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลสโตซีน–ปัจจุบัน
สิงโตตัวผู้
สิงโตตัวเมีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
อันดับ: สัตว์กินเนื้อ
วงศ์: วงศ์เสือและแมว
สกุล: แพนเทอรา
สปีชีส์: P.  leo
ชื่อทวินาม
Panthera leo
(Linnaeus, 1758)
ชนิดย่อย
P. l. leo
P. l. melanochaita
P. l. sinhaleyus
การกระจายพันธุ์ของสิงโตในอดีตและปัจจุบันในแอฟริกา เอเชีย และยุโรป
ชื่อพ้อง
Felis leo
(Linnaeus, 1758)

สิงโต (ชื่อวิทยาศาสตร์: Panthera leo) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมว สิงโตมีขนาดลำตัวใหญ่ ขนาดไล่เลี่ยกับเสือโคร่งทั่วไป (P. tigris) ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุลแพนเทอรา (Panthera) เหมือนกัน จัดเป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองมาจากเสือโคร่งไซบีเรีย (P. t. altaica) พื้นลำตัวสีน้ำตาล ไม่มีลาย ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ขนปลายหางเป็นพู่ ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง มีน้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม (550 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า มักทำหน้าที่ล่าเหยื่อ มีน้ำหนักประมาณ 180 กิโลกรัม (400 ปอนด์) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดีย ในป่าธรรมชาติ สิงโตมีอายุขัยประมาณ 10-14 ปี ส่วนสิงโตที่อยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุยืนถึง 20 ปีสิงโตฝูงหนึ่งมักประกอบด้วยตัวผู้ที่โตเต็มวัย ตัวเมียและลูกสิงโตจำนวนหนึ่ง สิงโตตัวเมียมีหน้าที่ออกล่าเหยื่อและมักออกล่าเป็นกลุ่ม โดยทั่วไปอาหารหลักของสิงโตคือสัตว์กีบเท้า สิงโตเป็นนักล่าระดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหารและในบางครั้งอาจล่ามนุษย์เพื่อเป็นอาหาร แม้โดยปกติมนุษย์จะมิใช่อาหารหลัก

ที่อยู่อาศัยของสิงโตตามธรรมชาติ ได้แก่ ทุ่งหญ้า, สะวันนา และป่าพุ่ม โดยทั่วไปสิงโตมักใช้ชีวิตกลางวัน แต่สามารถปรับตัวให้มีพฤติกรรมตื่นตัวในเวลากลางคืนเมื่อถูกคุกคามได้มากกว่าสัตว์ตระกูลแมวชนิดอื่น ในช่วงยุคหินใหม่ สิงโตขยายอาณาเขตแพร่กระจายไปทั่วทวีปแอฟริกาและยูเรเซีย ตั้งแต่ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดีย แต่ในเวลาต่อมาได้ลดจำนวนลงเหลือกระจัดกระจายในแอฟริกาตอนใต้รวมถึงทะเลทรายซาฮารา และอินเดียตะวันตก สิงโตเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีชื่ออยู่ในรายการของบัญชีแดงไอยูซีเอ็นมาตั้งแต่ปี 1996 เนื่องจากประชากรในทวีปแอฟริกาได้ลดลงมากถึง 43% นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ปัญหาในปัจจุบันคือ สิงโตที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์โดยทั่วไปไม่ได้รับการคุ้มครอง และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการลดจำนวนลง แต่คาดว่าสาเหตุหลักมาจากการถูกคุมคามที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์

สิงโตเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด และมีความผูกพันกับวัฒนธรรมของมนุษย์ โดยมักปรากฎในงานศิลปะ ประติมากรรม ธงชาติ และสื่อรวมถึงวรรณกรรมร่วมสมัยและภาพยนตร์สมัยใหม่ สิงโตถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน และเป็นสัตว์สายพันธุ์สำคัญที่ได้รับการร้องขอให้จัดแสดงในสวนสัตว์ทั่วโลกตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 นอกจากนี้ ยังมีการแสดงภาพสิงโตอย่างเด่นชัดในวัฒนธรรมสมัยอียิปต์โบราณ สืบมาถึงวัฒนธรรมโบราณและยุคกลาง

ศัพทมูลวิทยา

คำว่า lion คล้ายกับหลายคำในกลุ่มภาษาโรมานซ์ซึ่งกลายมาจากภาษาละติน "leo"[1] และภาษากรีกโบราณ "λέων" (leon)[2] คำในภาษาฮีบรู "לָבִיא" (lavi) ก็อาจเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน[3] สิงโตเป็นหนึ่งสปีชีส์ที่ถูกจัดจำแนกโดยลินเนียสผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่สิงโตว่า Felis leo ซึ่งปรากฏอยู่ในงานของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระบบธรรมชาติ (Systema Naturae, ค.ศ. 1758)[4] องค์ประกอบในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera leo มักจะสันนิษฐานว่ามาจากภาษากรีก pan- ("ทั้งหมด") และ ther ("สัตว์ร้าย") แต่ก็อาจจะเป็นศัพทมูลวิทยาพื้นบ้าน แม้ว่าคำนี้จะกลายเป็นภาษาอังกฤษจากภาษาแบบแผน แต่เนื่องจากคล้ายคำ pundarikam "เสือ" ในภาษาสันสกฤตอย่างมาก ซึ่งคำนี้อาจมาจากคำ pandarah "ขาว-เหลือง"[5]

อนุกรมวิธานและการวิวัฒนาการ

สิงโตเป็นสปีชีส์ในสกุล แพนเทอรา (Panthera) และเป็นญาติใกล้ชิดกับสปีชีส์อื่นในสกุลเดียวกันคือ เสือโคร่ง, เสือจากัวร์ และเสือดาว Panthera leo มีวิวัฒนาการในทวีปแอฟริการะหว่าง 1 ล้านถึง 800,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคซีกโลกตอนเหนือ[6] สิงโตปรากฏตัวในทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ 700,000 ปีก่อน ซึ่งมีการค้นพบสิงโตชนิดย่อย Panthera leo fossilis ที่อีแซร์เนีย (Isernia) ในประเทศอิตาลี จากสิงโตชนิดนี้ก็กลายเป็นสิงโตถ้ำ (Panthera leo spelaea) ในภายหลัง ปรากฏตัวขึ้นเมื่อ 300,000 ปีมาแล้ว ระหว่างปลายสมัยไพลสโตซีน สิงโตได้แพร่กระจายสู่อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้และวิวัฒนาการเป็นสิงโตอเมริกา (Panthera leo atrox)[7] สิงโตได้สูญหายไปจากตอนเหนือของทวีปยูเรเชียและทวีปอเมริกาในช่วงจุดจบของการเปลี่ยนสภาพโดยธารน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อ 10,000 ปีมาแล้ว[8] ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งที่สองของมหพรรณสัตว์ (megafauna) ในสมัยไพลสโตซีน[9]

ชนิดย่อย

สิงโตในปัจจุบัน เดิมมี 12 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ จำแนกความแตกต่างจาก แผงคอ ขนาด และการกระจายพันธุ์ เพราะลักษณะเหล่านี้ไม่ได้มีนัยสำคัญและมีความแปรผันในแต่ละตัวสูง ทำให้รูปแบบส่วนมากอาจไม่ใช่ชนิดย่อยที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิงโตในสวนสัตว์ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มานั้นอาจมี "ความโดดเด่น แต่ผิดปกติ" ในลักษณะทางสัณฐานวิทยา[10] ปัจจุบันเหลือเพียง 8 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ[8][11] แม้ว่าหนึ่งในนั้น (สิงโตแหลมกูดโฮพ ปกติจำแนกเป็น Panthera leo melanochaita) อาจเป็นโมฆะ[11] แม้ว่า 7 ชนิดย่อยที่เหลืออาจดูมาก แต่ความแปรผันของไมโทคอนเดรียในสิงโตแอฟริกาปัจจุบันกลับไม่มากนักซึ่งแสดงว่าสิงโตในตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราทั้งหมดสามารถพิจารณาเป็นชนิดย่อยเดียวกันได้ อาจเป็นเพราะการแยกตัวในสองเครือบรรพบุรุษหลัก หนึ่งในทางตะวันตกของเกรตริฟต์แวลลีย์ และอีกหนึ่งในทางตะวันออก สิงโตจากซาโว (Tsavo) ในทางตะวันออกของประเทศเคนยามีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสิงโตในทรานซ์วาล (Transvaal) แอฟริกาใต้มากกว่าสิงโตในเทือกเขาอเบอร์แดร์ (Aberdare) ในทางตะวันตกของประเทศเคนยา[12][13] ในทางกลับกัน เปอร์ คริสเตียนเซน (Per Christiansen) ทำการวิเคราะห์กะโหลกสิงโต 58 กะโหลกในสามพิพิธภัณฑ์ในยุโรป และพบว่าถ้าใช้สัณฐานวิทยาของกะโหลกสามารถแยกชนิดย่อยได้เป็น krugeri nubica persica และ senegalensis ขณะที่มีการเลื่อมล้ำกันระหว่าง bleyenberghi กับ senegalensis และ krugeri สิงโตเอเชีย persica มีความโดดเด่นอย่างเด่นชัด และสิงโตแหลมกูดโฮพมีลักษณะใกล้ชิดกับสิงโตเอเชียมากกว่าสิงโตแอฟริกา[14]

สิงโตในปัจจุบัน

มี 8 ชนิดย่อยในปัจจุบัน (สมัยโฮโลซีน) ที่ได้รับการยอมรับ:

สิงโตสมัยไพลสโตซีน

มีชนิดย่อยของสิงโต 2-3 ชนิดที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์:

  • P. l. atrox หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตอเมริกาหรือสิงโตถ้ำอเมริกา กระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาจากประเทศแคนาดาถึงประเทศเปรูในสมัยไพลสโตซีนจนกระทั่งราว 10,000 ปีมาแล้ว ชนิดย่อยนี้บางครั้งได้รับการพิจารณาเป็นตัวแทนที่แยกจากกันของชนิด เป็นสัตว์สปีชีส์อื่นที่ไม่ใช่สิงโต แต่การศึกษาถึงวิวัฒนาการแสดงว่าแท้จริงแล้วมันคือชนิดย่อยของสิงโต (Panthera leo)[8][21] เป็นสิงโตขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ 1.6–2.5 ม. (5–8 ฟุต)[22]
  • P. l. fossilis หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตถ้ำไพลสโตซีนต้นตอนกลาง มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 500,000 ปีมาแล้ว ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่ประเทศเยอรมนีและประเทศอิตาลี มีขนาดใหญ่กว่าสิงโตแอฟริกาในปัจจุบัน ขนาดใกล้เคียงกับสิงโตถ้ำอเมริกา[8][23]
ภาพสิงโตถ้ำในโถงแมว ถ้ำลาสโก
  • P. l. spelaea หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตถ้ำยุโรป สิงโตถ้ำยูเรเชีย หรือสิงโตถ้ำยุโรปไพลสโตซีนตอนปลาย ปรากฏขึ้นเมื่อในยูเรเชีย 300,000 ถึง 10,000 ปีมาแล้ว[8] สิงโตชนิดนี้เป็นที่รู้จักจากภาพวาดยุคหินเก่า, งาหรือเขาสัตว์แกะสลัก และรูปปั้นจากดิน[24] มีลักษณะหูยื่น หางเป็นพู่ อาจมีลายทางจางๆคล้ายเสือโคร่ง และเพศผู้บางตัวมีขนแผงคอ[25]

ชนิดย่อยที่ยังไม่แน่นอน

  • P. l. sinhaleyus หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตศรีลังกา ดูเหมือนจะสูญพันธุ์เมื่อประมาณ 39,000 ปีมาแล้ว มีการขุดค้นพบเพียงฟัน 2 ซี่เท่านั้นที่กุรุวิตา (Kuruwita) ด้วยพื้นฐานของฟัน 2 ซี่นี้ พี. ดีแรนนิรากะยา (P. Deraniyagala) ได้ตั้งชนิดย่อยขึ้นในปี ค.ศ. 1939[26]
  • P. l. europaea หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตยุโรป สถานะชนิดย่อยของสิงโตชนิดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งมันอาจจะเป็นชนิดย่อย Panthera leo persica หรือ Panthera leo spelea ก็ได้ สิงโตชนิดนี้สูญพันธุ์เมื่อราวคริสต์ศักราชที่ 100 เพราะการล่าและหาประโยชน์มากเกินไป สิงโตมีถิ่นอาศัยในบอลข่าน, คาบสมุทรอิตาลี, ตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส, และคาบสมุทรไอบีเรีย เป็นสัตว์ที่นิยมล่าในโรมันและกรีก
  • P. l. youngi หรือ Panthera youngi มีชีวิตอยู่เมื่อ 350,000 ปีมาแล้ว[27] ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิงโตชนิดย่อยในปัจจุบันยังคลุมเครือ มันอาจเป็นสปีชีส์ที่แยกออกไปต่างหาก
  • P. l. maculatus หรือที่รู้จักกันในชื่อมาโรไซหรือสิงโตลายจุด บางคนเชื่อว่าเป็นสิงโตชนิดย่อยแต่ก็อาจเป็นสิงโตเต็มวัยที่ยังคงเหลือลายจุดจากวัยเด็กไว้ ถ้ามันเป็นชนิดย่อยจริง สิงโตชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 ยังมีความเป็นไปได้อีกกรณีหนึ่งคือมันเป็นลูกผสมตามธรรมชาติของสิงโตกับเสือดาวหรือที่รู้จักกันในชื่อเลโอปอน (leopon) แต่มีความเป็นไปได้น้อยมาก[28]

ลักษณะ

โครงกระดูกสิงโตแอฟริกากำลังโจมตีละมั่ง ตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์กระดูก โอคลาโฮมาซิตี โอคลาโฮมา

สิงโตเป็นสัตว์ที่สูงที่สุด (สูงจรดหัวไหล่) ในวงศ์แมวและมีน้ำหนักมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเสือโคร่ง สิงโตมีกะโหลกศีรษะคล้ายกับเสือโคร่งมาก แม้ว่าบริเวณกระดูกหน้าผากจะยุบลงและแบนราบ กับหลังเบ้าตาสั้นกว่าเล็กน้อย กะโหลกศีรษะของสิงโตมีโพรงจมูกกว้างกว่าเสือโคร่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความแปรผันในของกะโหลกศีรษะของสัตว์ทั้งสองชนิด ปกติแล้วจึงมีเพียงโครงสร้างของขากรรไกรล่างเท่านั้นที่เป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือได้ว่าเป็นสปีชีส์ใด[29] สีขนของสิงโตจะมีตั้งแต่สีน้ำตาลอมเหลืองจางๆถึงค่อนข้างเหลือง ออกแดง หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่าและพู่หางมีสีดำ ลูกสิงโตที่เกิดมาจะมีจุดลายรูปดอกกุหลาบสีน้ำตาลบนลำตัวคล้ายกับเสือดาว แม้ว่าจุดเหล่านี้จะจางหายไปเมื่อสิงโตโตเต็มวัย แต่บ่อยครั้งกลับยังสามารถพบเห็นได้จางๆบนขาและส่วนท้องโดยเฉพาะในสิงโตเพศเมีย

สิงโตเป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวในวงศ์เสือและแมวที่แสดงความแตกต่างระหว่างเพศอย่างชัดเจน และแต่ละเพศก็จะบทบาทพิเศษต่างกันไปในฝูง ในกรณีสิงโตเพศเมีย เป็นนักล่าไม่มีแผงคอหนาเป็นภาระเช่นในเพศผู้ ซึ่งดูเหมือนเป็นอุปสรรคต่อสิงโตเพศผู้ที่จะอำพรางตัวเข้าใกล้เหยื่อและสร้างความร้อนเป็นอย่างมากเมื่อต้องวิ่งไล่ติดตามเหยื่อ สีของแผงคอในสิงโตเพศผู้อยู่ระหว่างสีเหลืองอ่อนถึงดำ ปกติจะเข้มขึ้นเรื่อยๆเมื่อสิงโตมีอายุมากขึ้น

ในการเผชิญหน้ากับสิงโตตัวอื่น แผงคอจะทำให้สิงโตดูมีขนาดใหญ่ขึ้น

น้ำหนักของสิงโตที่โตเต็มที่จะอยู่ระหว่าง 150–250 กก. (330–550 ปอนด์) สำหรับเพศผู้ และ 120–182 กก. (264–400 ปอนด์) สำหรับเพศเมีย[30] โนเวลล์ (Nowell) และแจ็คสัน (Jackson) รายงานว่าน้ำหนักตัวของสิงโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 181 กก.สำหรับเพศผู้ และ 126 กก.สำหรับเพศเมีย มีสิงโตเพศผู้ตัวหนึ่งที่ถูกยิงตายใกล้กับภูเขาเคนยามีน้ำหนัก 272 กก. (600 ปอนด์)[16] สิงโตมีแนวโน้มของขนาดตัวที่แปรผันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและบริเวณถิ่นอาศัย ผลการบันทึกน้ำหนักของสิงโตที่กระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ในกรณีสิงโตในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มของน้ำหนักตัวมากกว่าสิงโตในแอฟริกาตะวันออก 5 %[31]

ส่วนศีรษะและลำตัวยาว 170–250 ซม. (5 ฟุต 7 นิ้ว – 8 ฟุต 2 นิ้ว) ในสิงโตเพศผู้ และ 140–175 ซม. (4 ฟุต 7 นิ้ว – 5 ฟุต 9 นิ้ว) ในสิงโตเพศเมีย สูงจรดหัวไหล่ราว 123 ซม. (4 ฟุต) ในเพศผู้ และ 107 ซม. (3 ฟุต 6 นิ้ว) ในเพศเมีย หางยาว 90–105 ซม. (2 ฟุต 11 นิ้ว - 3 ฟุต 5 นิ้ว) ในเพศผู้ และ 70–100 ซม. (2 ฟุต 4 นิ้ว – 3 ฟุต 3 นิ้ว) ในเพศเมีย[30] สิงโตตัวที่ยาวที่สุดเป็นสิงโตเพศผู้แผงคอสีดำที่ถูกยิงตายใกล้กับมุคส์ซู (Mucsso) ทางตอนใต้ของประเทศแองโกลาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1973 สิงโตที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติคือสิงโตกินคนซึ่งถูกยิงตายในปี ค.ศ. 1936 นอกเมืองเฮกทอร์สพริต (Hectorspruit) ในทางตะวันออกของจังหวัดทรานสวาล (Transvaal) ประเทศแอฟริกาใต้ มีน้ำหนัก 313 กก. (690 ปอนด์)[32] สิงโตในที่เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตในธรรมชาติ สิงโตที่หนักที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้เป็นสิงโตเพศผู้ที่สวนสัตว์โคลเชสเตอร์ (Colchester) ในประเทศอังกฤษ มีชื่อว่าซิมบา (Simba) ในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งมีน้ำหนักถึง 375 กก. (826 ปอนด์)[33]

มีลักษณะเด่นชัดมากที่ปรากฏในสิงโตเพศผู้และเพศเมียคือมีขนกระจุกที่ปลายหาง ในสิงโตบางตัว ขนกระจุกจะปกปิด"เงี่ยงกระดูก"หรือ"ปุ่มงอก"ซึ่งยาวประมาณ 5 มม.ซึ่งเกิดจากส่วนสุดท้ายของกระดูกหางรวมตัวกัน สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวเพียงชนิดเดียวที่มีขนกระจุกที่ปลายหาง หน้าที่ของขนกระจุกและเงี่ยงกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เมื่อแรกเกิดลูกสิงโตจะไม่มีขนกระจุกนี้ ขนกระจุกจะเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อมีอายุประมาณ 5½ เดือน และสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่ออายุ 7 เดือน[34]

ขนแผงคอ

แผงคอของสิงโตเพศผู้ที่โตเต็มวัยเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของสบีชีส์นี้ ซึ่งไม่พบในสัตว์ในวงศ์เดียวกันชนิดอื่น ส่งผลให้มันแลดูมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยในแสดงออกของการข่มขู่ได้ดีเยี่ยมเมื่อเผชิญหน้ากับสิงโตตัวอื่นและคู่แข่งที่สำคัญในแอฟริกา ไฮยีนาลายจุด[35] การที่มีหรือไม่มีแผงคอ รวมถึงสีและขนาดนั้นเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางพันธุกรรม การเจริญเติบโต สภาพอากาศ และการสร้างเทสโทสเตอโรน มีหลักทั่วไปว่าขนแผงคอสีเข้มกว่าและใหญ่กว่าคือสิงโตที่มีสุขภาพดีกว่า การเลือกคู่ของนางสิงห์นั้นมักจะเลือกสิงโตเพศผู้ที่มีแผงคอหนาแน่นและมีสีเข้มที่สุด[36] จากการศึกษาในประเทศแทนซาเนียยังแสดงให้เห็นว่าขนแผงคอที่ยาวเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการประสบความสำเร็จในการต่อสู้ระหว่างสิงโตเพศผู้ด้วยกันอีกด้วย แผงคอที่เข้มดำอาจบ่งบอกถึงช่วงเจริญพันธุ์ที่ยาวนานกว่าและลูกหลานที่มีโอกาสรอดชีวิตสูง แม้ว่าต้องอดอยากในเดือนที่ร้อนที่สุดของปีก็ตาม[37] ในฝูงที่ประกอบไปด้วยสิงโตเพศผู้ 2-3 ตัว มีทางเป็นไปได้ที่นางสิงห์จะจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศผู้ที่มีขนแผงคอใหญ่ที่สุด หนักที่สุด[36]

สิงโตซาโว เพศผู้มีขนแผงคอเพียงหรอมแหรม จากอุทยานแห่งชาติซาโวตะวันออก ประเทศเคนยา

นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่าสถานะความแตกต่างในระดับชนิดย่อยสามารถแบ่งแยกได้ทางสัณฐานวิทยา ซึ่งรวมถึง ขนาดของขนแผงคอ รูปร่างทางสัณฐานของสิงโตสามารถระบุบถึงความแตกต่างของชนิดย่อยได้ เช่น สิงโตบาร์บารีและสิงโตแหลมกูดโฮพ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาระบุบว่าปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อสีและขนาดของขนแผงคอสิงโต เช่น อุณหภูมิในสภาพแวดล้อม[37] เช่น อากาศหนาวเย็นของสวนสัตว์ในยุโรปและอเมริกาเหนืออาจมีผลทำให้ขนแผงคอหนาและหนักขึ้น ดังนั้น แผงคอจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการระบุบถึงชนิดย่อย[11][38] แต่อย่างไรก็ตาม สิงโตเอเชียเพศผู้มีขนแผงคอบางกว่าสิงโตแอฟริกาโดยเฉลี่ย[39]

มีรายงานถึงสิงโตเพศผู้ที่ไม่ปรากฏขนแผงคอในประเทศเซเนกัลและอุทยานแห่งชาติซาโวตะวันออกในประเทศเคนยา และสิงโตขาวเพศผู้ตัวแรกเริ่มจากทิมบาวัตติ (Timbavati) นั้นก็ไม่มีแผงคอด้วยเช่นกัน ฮอร์โมน เทสโทสเตอโรนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญของขนแผงคอ ดังนั้นสิงโตที่ได้รับการทำหมันนั้นบ่อยครั้งที่มีแผงขอเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เนื่องจากไปการนำเอาต่อมบ่งเพศที่เป็นแหล่งสร้างเทสโทสเตอโรนออกไป[40] สิงโตที่ไม่มีขนแผงคออาจพบในประชากรสิงโตที่มีการผสมพันธุ์ในเชื้อสายที่ใกล้ชิด ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำ[41]

ภาพวาดฝาผนังของสิงโตถ้ำยุโรปได้แสดงถึงสัตว์ที่ไม่มีขนแผงคอหรือมีเพียงเล็กน้อยซึ่งชี้ให้เห็นว่าสิงโตชนิดนี้ไม่มีขนแผงคอ[25]

สิงโตขาว

สิงโตขาวเป็นสิ่งที่เกิดจากลักษณะด้อยของหน่วยพันธุกรรม เป็นรูปแบบที่หาได้ยากของสิงโตชนิดย่อย Panthera leo krugeri

สิงโตขาวไม่ได้รับการจำแนกออกเป็นชนิดย่อยของสิงโต แต่เป็นลักษณะพิเศษทางภาวะพันธุกรรมที่เรียกว่าภาวะด่าง (leucism)[10] ซึ่งเป็นสาเหตุให้สีซีดลง เป็นภาวะที่พบในเสือโคร่งขาวเช่นเดียวกัน ภาวะนี้คล้ายกับภาวะการมีเม็ดสีมากเกินไป (melanism) เช่นเดียวกับเสือดำ ลักษณะของสิงโตขาวไม่ใช่ภาวะเผือก ยังมีเม็ดสีปกติในตาและหนัง บางครั้งสามารถพบสิงโตขาวทรานเวล (Panthera leo krugeri) ได้ในบริเวณอุทยานแห่งชาติครูเกอร์และเขตสงวนส่วนบุคคลทิมบาวาติ (Timbavati Private Game Reserve) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงในทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา แต่ในสถานที่เลี้ยงกับพบเห็นได้เป็นเรื่องปกติจากการเพาะพันธุ์ด้วยการคัดเลือกอย่างจงใจ โดยทั่วไปแล้วขนของสิงโตจะมีสีครีมซึ่งเกิดจากยีนด้อย[42] มีรายงานว่า มีการเพาะพันธุ์สิงโตขาวในค่ายพักในแอฟริกาใต้เพื่อใช้เป็นเหยื่อสำหรับเกมล่า (canned hunt)[43]

เควิน ริดชาร์ดซัน (Kevin Richardson) ผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมสัตว์ โดยเฉพาะกับเสือและสิงโตในแอฟริกา ปัจจุบันเขาทำงานอยู่ในสถานที่พิเศษที่ชื่อว่าอาณาจักรสิงโตขาวในเมืองบรูเดอร์สทรูม (Broederstroom)[44] ซึ่งห่างจากโจฮันเนสเบิร์ก 50 ไมล์[45] สถานที่นี้สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของร็อดนีย์ ฟูห์ร (Rodney Fuhr)[46] และสร้างสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์เรือง White Lion: Home is a Journey[45] ที่แห่งนี้มีสิงโตขาวถึง 39 ตัว[44] ริดชาร์ดซันได้ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะป้องกันและรักษาสายพันธุ์สิงโตสีขาวไว้ สถานอนุรักษ์นี้ปัจจุบันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวแต่มีแผนที่จะยกให้เป็นสาธารณสมบัติในเร็วๆ นี้[47]

พฤติกรรม

สิงโตใช้เวลาส่วนมากไปกับการพักผ่อนประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน[48] แม้ว่าสิงโตจะสามารถกระตือรือร้นได้ทุกช่วงเวลา แต่โดยทั่วไปแล้วมันจะกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวามากที่สุดตอนพลบค่ำกับช่วงเข้าสังคม แต่งขน และขับถ่าย เมื่อต้องล่าเหยื่อสิงโตจะกระตือรือร้นเป็นพักๆ ไปตลอดทั้งคืนจวบจนกระทั่งรุ่งเช้า โดยเฉลี่ยแล้ว สิงโตจะใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมงและกิน 50 นาทีต่อวัน[49]

การรวมฝูง

สิงโตเป็นสัตว์จำพวกแมวที่อยู่เป็นสังคมมากกว่าแมวป่าชนิดอื่นๆ ที่มักอยู่อย่างโดดเดี่ยว สิงโตเป็นสัตว์นักล่าที่มีสังคมสองรูปแบบ รูปแบบแรกเป็นการรวมตัวกันที่เรียกว่า "ฝูง (prides)"[50] ปกติฝูงหนึ่งจะประกอบไปด้วยสิงโตตัวเมียห้าถึงหกตัว ลูกสิงโต และสิงโตตัวผู้หนึ่งถึงสองตัว ซึ่งเป็นคู่ของนางสิงห์ (แม้ว่า จะมีการพบฝูงขนาดใหญ่ที่มีจำนวนสิงโตถึง 30 ตัว) ตัวผู้ในฝูงจะมีไม่เกินสองตัว แต่อาจเพิ่มจำนวนถึง 4 ตัวและลดจำนวนลงเมื่อเวลาผ่านไป ลูกสิงโตตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูงเมื่อโตเต็มที่

นางสิงห์สองตัวและสิงโตตัวผู้หนึ่งตัวในตอนเหนือของเซเรนเกติ

พฤติกรรมการรวมกลุ่มทางสังคมแบบที่สองเรียกว่า "พวกเร่ร่อน (nomads)" มีขอบเขตการหากินกว้างและย้ายถิ่นฐานเป็นระยะๆ อาจเป็นสิงโตโทนหรือคู่สิงโต[50] คู่สิงโตนั้นบ่อยครั้งเป็นสิงโตตัวผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากฝูงที่มันเกิดฝูงเดียวกัน สิงโตอาจเปลี่ยนวิถีชีวิตจากพวกร่อนเร่อาจจะกลายเป็นผู้อยู่อาศัยในฝูงและอาจเป็นในทางกลับกัน สิงโตตัวผู้จะมีวิถีชีวิตแบบดังกล่าวแต่สิงโตตัวผู้บางตัวจะไม่เคยรวมฝูงเลยตลอดชีวิต สิงโตตัวเมียที่กลายเป็นพวกเร่ร่อนจะเข้าร่วมฝูงใหม่ยากมากเพราะตัวเมียในฝูงใหม่จะพยายามกีดกันไม่ให้ตัวเมียที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเข้าร่วมฝูงของครอบครัว

พื้นที่ที่ฝูงสิงโตอาศัยอยู่เรียกว่า "อาณาเขตของฝูง (pride area)" ขณะที่พวกเร่ร่อนเรียกว่า "ขอบเขต (range)"[50] ตัวผู้ในฝูงมักจะอยู่ในบริเวณชายขอบอาณาเขต ลาดตระเวนไปในอาณาเขตของตน พฤติกรรมทางสังคมที่ปรากฏขึ้นมากกว่าแมวชนิดใดที่พัฒนาขึ้นในนางสิงห์นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่าเพราะเหตุใด ความประสบความสำเร็จในการล่าสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเป็นเหตุผลที่เห็นได้ชัดจากพฤติกรรมทางสังคมดังกล่าว แต่การตรวจสอบยังน้อยเกินไปที่จะยืนยันได้ สมาชิกของฝูงมีแนวโน้มที่จะได้รับบทบาทเดียวกันคือนักล่า แต่อย่างไรก็ตาม บางตัวจะได้รับบทบาทเลี้ยงดูลูก ซึ่งอาจถูกปล่อยทิ้งไว้ตามลำพังเป็นเวลานาน สุขภาพของนักล่าเป็นสิ่งแรกที่สำคัญต่อการอยู่รอดของฝูง พวกมันมักเป็นพวกแรกที่ลงมือกินเหยื่อ ณ สถานที่ที่มันล้มเหยื่อได้ ประโยชน์อื่นๆที่ได้รับจากการรวมฝูง ประกอบด้วย การเลือกสรรเชิงเครือญาติ (Kin selection) (แบ่งปันอาหารกับสิงโตที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดดีกว่าคนแปลกหน้า), ปกป้องลูกสิงโต, ดูแลอาณาเขต, และประกันว่าจะปลอดภัยจากการบาดเจ็บและความหิวในสิงโตรายตัว[16]

วีดิทัศน์ของสิงโตในป่า

นางสิงห์จะทำหน้าที่ล่าเหยื่อเพื่อเป็นอาหารของฝูงเสียส่วนใหญ่ เนื่องด้วยมีขนาดเล็กกว่า รวดเร็วกว่า และกระฉับกระเฉงกว่าตัวผู้ และไม่มีภาระจากขนแผงคอที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความร้อนสูงเกินไประหว่างกิจกรรม เหล่าตัวเมียจะประสานงานและทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อย่องตามเหยื่อและล้มเหยื่อจนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวผู้อยู่ใกล้กับสถานที่ล่า ตัวผู้มีแนวโน้มที่จะเข้าครอบครองเหยื่อที่นางสิงห์ล่าได้ ตัวผู้จะแบ่งปันเหยื่อให้กับลูกสิงโตมากกว่าแบ่งให้กับตัวเมีย แต่เกิดขึ้นน้อยมากที่ตัวผู้จะแบ่งปันเหยื่อที่มันล่าได้เอง เหยื่อขนาดเล็กจะถูกกินในจุดที่ล่าได้ โดยแบ่งปันกันในหมู่นักล่า เมื่อล้มเหยื่อขนาดใหญ่ได้ สิงโตมักจะลากเหยื่อไปกินในอาณาเขตของฝูง แม้จะมีการแบ่งปันเหยื่อขนาดใหญ่[51] สมาชิกฝูงมักประพฤติตัวก้าวร้าวใส่สมาชิกตัวอื่น และแต่ละตัวจะพยายามกินอาหารให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

สิงโตทั้งสองเพศจะช่วยกันปกป้องฝูงจากผู้บุกรุก โดยมีสิงโตบางตัวเป็นผู้นำในการต่อต้านผู้บุกรุก ขณะที่ตัวอื่นล้าอยู่ข้างหลัง[52] แต่สิงโตมีแนวโน้มที่จะคงบทบาทเฉพาะในฝูง ดังนั้น สิงโตตัวที่ล้าหลังอาจมีหน้าที่อื่นในกลุ่ม[53] สมมติฐานคือมีรางวัลที่เกี่ยวข้องกับการกลายเป็นจ่าฝูงของผู้ที่ขจัดผู้บุกรุกไปได้ และระดับของนางสิงห์ได้จะได้รับจากความรับผิดชอบขับไล่ผู้บุกรุกนั้น[54] สิงโตตัวผู้ในฝูงจะปกป้องความสัมพันธ์ของมันกับฝูงไว้จากสิงโตตัวผู้นอกฝูงที่พยายามเข้าแทนที่ความสัมพันธ์นั้น ตัวเมียถือว่าเป็นหน่วยทางสังคมที่มั่นคงในฝูง และไม่ยินยอมให้ตัวเมียนอกฝูงเข้าร่วมฝูง[55] การเปลี่ยนแปลงของสมาชิกจะเกิดจากการเกิดและตายของนางสิงห์เท่านั้น[56] แม้ว่า ตัวเมียบางตัวจะผละจากฝูงกลายเป็นพวกเร่ร่อน[57] ในทางกลับกัน ตัวผู้ที่ยังเด็กจะออกจากฝูงเมื่อโตเต็มที่ ประมาณอายุ 2–3 ปี[57]

การล่าและอาหาร

สิงโตกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มันกินสัตว์ได้แทบทุกชนิด เช่น กระต่าย ไก่ป่า จระเข้ ลิง เม่น งูหลามแอฟริกา ม้าลาย ควายป่า แอนทิโลปและช้าง เป็นต้น แม้แต่ซากสิงโตด้วยกันเองก็กิน ลูกสิงโตที่อ่อนแอจะถูกกินเพื่อให้ตัวที่แข็งแรงกว่าได้อยู่รอด

การแข่งขันกับนักล่าอื่น

สิงโตมักจะมีคู่แข่งการล่าของมัน เช่น เสือชีตาร์ จระเข้แม่น้ำไนล์ และไฮยีน่า ซึ่งพบบ่อยที่สุดคือไฮยีน่าลายจุด ซึ่งพวกมันมักจะคอยแย่งเหยื่อที่สิงโตล่าได้เป็นประจำ ในบางครั้งไฮยีน่าก็กลายเป็นอาหารของสิงโตเอง

การสืบพันธุ์และวงจรชีวิต

ฤดูผสมพันธุ์ไม่แน่นอนมีได้ทุกเวลาตลอดปี ระยะของการเป็นสัดนาน 4-16 วัน ตัวเมียเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 3 ปี ตัวผู้ประมาณ 4-6 ปี เคยมีรายงานอายุ 2 ปี ก็ผสมพันธุ์ได้ ตั้งท้องนานราว 100 วัน ตกลูกครั้งละ 3-5 ตัว เคยมีรายงานได้ลูกถึง 7 ตัว ลูกอดนมเมื่ออายุ 3-6 เดือน อายุยืนประมาณ 30-60 ปี ลูกตัวที่อ่อนแออาจถูกทิ้งให้ตายหรือถูกกินในหมู่สิงโตด้วยกัน

สถานภาพ

ปัจจุบันคาดว่ามีสิงโตในทวีปแอฟริกาเหลืออยู่ประมาณ 30,000 ถึง 100,000 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก สิงโตในแอฟริกาตะวันตกเหลืออยู่น้อยและลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทั่วทั้งทวีป สิงโตที่อยู่นอกเขตคุ้มครองลดจำนวนลงเรื่อย ๆ

ประเทศที่ยังมีสิงโตอยู่ทั่วไปได้แก่ บอตสวานา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอธิโอเปีย เคนยา แทนซาเนีย ซาอีร์ และแซมเบีย สถานภาพในแองโกลา โมซับบิก ซูดาน และโซมาเลียยังไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากความไม่สงบในประเทศ คาดว่าในแองโกลายังมีสิงโตอยู่ทั่วไปแต่จำนวนน้อย ส่วนในโซมาเลียมีเป็นบางส่วนโดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศ

ในนามิเบีย ประชากรสิงโตในอุทยานแห่งชาติอีโตชามีประมาณ 300 ตัว บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ 130-200 คาปรีวี 40-60 ตัว บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ 35-40 ตัว

ในซิมบับเว อุทยานแห่งชาติฮวางเก 500 ตัว อุทยานแห่งชาติโกนารีเซา 200 ตัว หุบเขาแซมบีซีและเซบังเวคอมเพล็กซ์ 300 ตัว

ในประเทศเบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูนตอนเหนือ ประเทศชาดตอนใต้ คองโกตอนใต้ ไอวอรีโคสต์ตอนเหนือ กานาตอนเหนือ กีนีตอนเหนือ กีนีบิสเชาตะวันออก มาลีตอนใต้ ไนจีเรียตอนเหนือ และอูกันดา คาดว่ามีสิงโตอยู่กระจัดกระจายและจำนวนน้อย ในประเทศบุรุนดี มลาวี ไนเจอร์ รวันดา เซเนกัล และแอฟริกาใต้ ประชากรส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในป่าอนุรักษ์

ประเทศที่คาดว่าสิงโตสูญพันธุ์ไปแล้วหรือถือได้ว่าสูญพันธุ์ไปแล้วได้แก่ ประเทศจิบูตี กาบอง เลโซโท มอริเตเนีย สวาซิแลนด์ และโตโก

ความหนาแน่นของประชากรสิงโต (นับเฉพาะสิงโตตัวเต็มวัยและวัยรุ่นต่อ 100 ตารางกิโลเมตร) ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในพื้นที่ซาวูตี ในอุทยานแห่งชาติโชเบ ของบอตสวานามีความหนาแน่นต่ำประมาณ 0.17 ส่วนในอุทยานแห่งชาติคาราฮารีเกมสบ็อก อุทยานแห่งชาติอีโตชา มีประมาณ 1.5-2 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่คุ้มครองของทางแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้มีประมาณ 3-18 ตัว พื้นที่ ๆ ความหนาแน่นสูงที่สุดคือในป่าสงวนแห่งชาติมาไซมาราของเคนยา มีประชากร 30 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ความหนาแน่นของสิงโตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำนวนของเหยื่อ พื้นที่หากินเฉลี่ย 26 ถึง 226 ตารางกิโลเมตรต่อฝูง เคยพบฝูงหนึ่งในอุทยานแห่งชาติอิโตชาที่มีพื้นที่หากินกว้างถึง 2,075 ตารางกิโลเมตร

สถานภาพของสิงโตเอเชียทุกพันธุ์อยู่ในระดับอันตราย ไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 ส่วนสิงโตแอฟริกาอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ส่วนสิงโตพันธุ์บาร์บารีและสิงโตเคปได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

การสื่อสาร

การถูศีรษะและการเลียเป็นพฤติกรรมทางสังคมตามปกติในฝูงสิงโต

เมื่อพักผ่อน การขัดเกลาทางสังคมของสิงโตจะเกิดขึ้นผ่านพฤติกรรมต่างๆ และการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่แสดงออกมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก กริยาท่าทางการสัมผัสที่เป็นปกติสุขและพบได้มากที่สุดคือการถูศีรษะและการเลียเชิงสังคม[58] ซึ่งเปรียบได้กับการดูแลขนให้เรียบร้อยในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม[59] การถูศีรษะ ดุนด้วยจมูกเบาๆ ที่หน้าผาก หน้า และลำคอของสิงโตตัวอื่นดูเหมือนจะเป็นรูปแบบของการทักทาย[60] มักพบเห็นได้บ่อยครั้งหลังจากสิงโตแยกจากตัวอื่น หรือหลังการต่อสู้หรือหลังการเผชิญหน้า ตัวผู้มักถูกับตัวผู้ด้วยกันเอง ขณะที่ลูกสิงโตและสิงโตตัวเมียจะถูกับตัวเมีย[61] การเลียเชิงสังคมมักจะเกิดขึ้นหลังการถูศีรษะ โดยทั่วไปแล้วจะเกิดขึ้นควบคู่กัน และตัวที่ได้รับมักแสดงความพอใจออกมาอย่างชัดเจน ศีรษะและลำคอจะเป็นส่วนที่ได้รับการเลียมากที่สุด อาจเป็นผลมาจากการบริการสาธารณะ เพราะสิงโตไม่สามารถเลียพื้นที่เหล่านี้เองได้[62]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

สิงโตอินเดียตัวผู้สองตัวในอุทธยานแห่งชาติสัญชัย คานธี (Sanjay Gandhi National Park) มุมไบ ประเทศอินเดีย

ในทวีปแอฟริกา สิงโตสามารถพบได้ในทุ่งหญ้าซาวันนา ที่มีต้นอาเคเชียซึ่งคอยให้ร่มเงาขึ้นกระจัดกระจาย[63] สำหรับถิ่นอาศัยในอินเดียคือพื้นที่ป่าหญ้าแล้งและป่าละเมาะแล้งผลัดใบ[64] ในอดีต การกระจายพันธุ์ของสิงโตอยู่ในส่วนใต้ของทวีปยูเรเชีย ช่วงจากประเทศกรีซถึงประเทศอินเดีย และพื้นที่ทั้งหมดของทวีปแอฟริกา ยกเว้น บริเวณป่าดิบชื้นกลางทวีปและทะเลทรายสะฮารา เฮอรอโดทัสรายงานว่าพบสิงโตได้ทั่วไปในกรีซในช่วงเวลาราว 480 ก่อนคริสต์ศักราช มันโจมตีอูฐบรรทุกหีบห่อของกษัตริย์เปอร์เซีย จักรพรรดิเซอร์ซีสมหาราช ในขบวนตลอดทั้งประเทศ อาริสโตเติลกล่าวว่าพบเห็นสิงโตได้ยากในช่วง 300 ก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงคริสต์ศักราชที่ 100 มันถูกกำจัดจนหมดสิ้น[65] ประชากรสิงโตอินเดียเหลือรอดจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 10 ในคอเคซัส เป็นที่มั่นสุดท้ายในทวีปยุโรป[66]

สิงโตถูกกำจัดหมดสิ้นไปจากปาเลสไตน์ในสมัยกลาง และจากส่วนที่เหลือของทวีปเอเชียหลังจากการมาถึงของอาวุธปืนที่พร้อมใช้งานในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 สิงโตได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สิงโตหายไปจากประเทศตุรกีและพื้นที่ทางตอนเหนือส่วนใหญ่ของประเทศอินเดีย[10][67] ขณะที่ มีการพบเห็นสิงโตอินเดียที่ยังมีชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศอิหร่านในปี ค.ศ. 1941 (ระหว่างชีราซและจาห์รอม (Jahrom) จังหวัดฟาร์ส) แม้ว่ามีการพบศพสิงโตตัวเมียบนฝั่งแม่น้ำการูน (Karun river) จังหวัดคูเซสตาน (Khūzestān) ในปี ค.ศ. 1944 ต่อมาไม่มีรายงานที่เชื่อถือได้จากประเทศอิหร่านอีก[68] สิงโตอินเดียหลงเหลือแค่เพียงในและรอบป่ากีร์ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียเท่านั้น[15] มีสิงโตราว 300 ตัวอาศัยในพื้นที่เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า 1,412 km2 (545 sq mi) ในรัฐคุชราต ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของป่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเป็นไปอย่างช้าๆ[69]

สิงโตกับมนุษย์

ดูบทความหลักที่ สิงโตในมุทราศาสตร์

ไฟล์:FA crest.png
สัญลักษณ์ Three Lions

สิงโตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและความแข็งแกร่งมาตั้งแต่โบราณ มนุษย์ในทุกภาษา ทุกวัฒนธรรมล้วนแต่ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ในเชิงนี้ทั้งนั้น เช่น ในปรัมปราของศาสนาฮินดู พระนารายณ์เคยอวตารลงมาเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงโต ชื่อว่า "นรสิงห์" เพื่อปราบมาร ในวัฒนธรรมไทย เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จออกยังมุขหรือบัญชร จะเรียกว่า "สีหบัญชร" (หมายถึง หน้าต่างสิงโต) และเรียกพระบรมราโชวาทในครั้งนี้ว่า "สีหนาท" (หมายถึง เสียงคำรามของสิงโต) เป็นต้น

ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีคำศัพท์เรียกสิงโตในเชิงยกย่องซึ่งเป็นคนที่คนไทยรู้จักกันดี คือ "ราชสีห์" หมายถึงพญาสิงโต หรือราชาแห่งสิงโต ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานถือว่าดุร้ายและมีพละกำลังมาก

ในประเทศจีน ซึ่งไม่มีสิงโตเป็นสัตว์พื้นเมือง แต่ก็รับเอาสิงโตมาจากเปอร์เซีย ก็มีการเชิดสิงโต เป็นการละเล่นประกอบในพิธีมงคลหรือรื่นเริงต่าง ๆ เพราะมีความเชื่อว่า สิงโตเป็นสัตว์ใหญ่ที่สัตว์ต่าง ๆ เกรงขาม จึงมีพลังอำนาจในการขับไล่สิ่งอัปมงคลได้

ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ในภาคพื้นยุโรป ที่ก็ไม่มีสิงโตเป็นสัตว์พื้นเมืองเช่นกัน แต่ก็ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ใช้สิงโต 3 ตัวเป็นสัญลักษณ์และใช้เป็นสัญลักษณ์ของทีมชาติด้วยเรียกว่า "Three Lions" และกษัตริย์อังกฤษหลายพระองค์ก็ถูกขนานพระราชสมัญญานามเปรียบเทียบกับสิงโตด้วยเช่นกัน เช่น พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 มีพระราชสมัญญานามว่า "พระเจ้าริชาร์ด ใจสิงห์" (Richard the Lionheart) เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย สิงโตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานกระทรวงมหาดไทยและใช้เป็นสัญลักษณ์ของคณะรัฐศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยมีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ ตามสีของสิงโต เช่น "สิงห์ดำ" หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, "สิงห์แดง" หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, "สิงห์ทอง" หมายถึง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

สิงโตที่มีชื่อเสียง

อ้างอิง

  1. Simpson DP (1979). Cassell's Latin Dictionary (5th ed.). London: Cassell Ltd. p. 342. ISBN 0-304-52257-0.
  2. Liddell, Henry George Scott, Robert (1980). A Greek-English Lexicon (Abridged Edition). United Kingdom: Oxford University Press. p. 411. ISBN 0-19-910207-4.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  3. Simpson, J.; Weiner, E., บ.ก. (1989). "Lion". Oxford English Dictionary (2nd ed.). Oxford: Clarendon Press. ISBN 0-19-861186-2.
  4. Linnaeus, Carolus (1758). Systema naturae per regna tria naturae :secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis (ภาษาละติน). Vol. 1 (10th ed.). Holmiae (Laurentii Salvii). p. 41. สืบค้นเมื่อ 8 September 2008.
  5. "Panther". Online Etymology Dictionary. Douglas Harper. สืบค้นเมื่อ 5 July 2007.
  6. Yamaguchi, Nobuyuki; Alan Cooper; Lars Werdelin; David W. Macdonald (August 2004). "Evolution of the mane and group-living in the lion (Panthera leo): a review". Journal of Zoology. 263 (4): 329–342. doi:10.1017/S0952836904005242.
  7. Turner, Allen (1997). The big cats and their fossil relatives : an illustrated guide to their evolution and natural history. New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-10229-1.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Burger, Joachim (March 2004). "Molecular phylogeny of the extinct cave lion Panthera leo spelaea" (PDF). Molecular Phylogenetics and Evolution. 30 (3): 841–849. doi:10.1016/j.ympev.2003.07.020. PMID 15012963. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-25. สืบค้นเมื่อ 20 September 2007.
  9. Harington, CR (1996). "American Lion". Yukon Beringia Interpretive Centre website. Yukon Beringia Interpretive Centre. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-19. สืบค้นเมื่อ 8 March 2010.
  10. 10.0 10.1 10.2 Grisham, Jack (2001). "Lion". ใน Catherine E. Bell (บ.ก.). Encyclopedia of the World's Zoos. Vol. 2: G–P. Chofago: Fitzroy Dearborn. pp. 733–39. ISBN 1-57958-174-9.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Barnett, Ross; Nobuyuki Yamaguchi, Ian Barnes and Alan Cooper (August 2006). "Lost populations and preserving genetic diversity in the lion Panthera leo: Implications for its ex situ conservation". Conservation Genetics. 7 (4): 507–14. doi:10.1007/s10592-005-9062-0.
  12. Barnett, Ross; Nobuyuki Yamaguchi, Ian Barnes and Alan Cooper (2006). "The origin, current diversity and future conservation of the modern lion (Panthera leo)" (PDF). Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences. 273 (1598): 2119–2125. doi:10.1098/rspb.2006.3555. PMC 1635511. PMID 16901830. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-08-08. สืบค้นเมื่อ 4 September 2007.
  13. Dubach, Jean (January 2005). "Molecular genetic variation across the southern and eastern geographic ranges of the African lion, Panthera leo". Conservation Genetics. 6 (1): 15–24. doi:10.1007/s10592-004-7729-6.
  14. Christiansen, Per (2008). "On the distinctiveness of the Cape lion (Panthera leo melanochaita Smith, 1842), and a possible new specimen from the Zoological Museum, Copenhagen". Mammalian Biology. 73 (1): 58–65. doi:10.1016/j.mambio.2007.06.003.
  15. 15.0 15.1 Wildlife Conservation Trust of India (2006). "Asiatic Lion—History". Asiatic Lion Information Centre. Wildlife Conservation Trust of India. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 15 September 2007.
  16. 16.0 16.1 16.2 Nowell K, Jackson P (1996). "Panthera Leo". Wild Cats: Status Survey and Conservation Action Plan (PDF). Gland, Switzerland: IUCN/SSC Cat Specialist Group. pp. 17–21. ISBN 2-8317-0045-0.
  17. Yadav, P. R. (2004). Vanishing And Endangered Species. Discovery Publishing House. p. 176. ISBN 8171417760. สืบค้นเมื่อ 14 December 2010.
  18. Burger, Joachim (2006). "Urgent call for further breeding of the relic zoo population of the critically endangered Barbary lion (Panthera leo leo Linnaeus 1758)" (PDF). European Journal of Wildlife Research. 52: 54. doi:10.1007/s10344-005-0009-z. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-07-03. สืบค้นเมื่อ 2011-01-14.
  19. Black, Simon; Yamaguchi, Nobuyuki; Harland, Adrian; Groombridge, Jim (2010). "Maintaining the genetic health of putative Barbary lions in captivity: an analysis of Moroccan Royal Lions". European Journal of Wildlife Research. 56: 21–31. doi:10.1007/s10344-009-0280-5.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Macdonald, David Wayne (2006). The Encyclopedia of Mammals. pp. 628–35. ISBN 0871968711.
  21. Barnett, Ross et al. (2009): Phylogeography of lions (Panthera leo ssp.) reveals three distinct taxa and a late Pleistocene reduction in genetic diversity เก็บถาวร 2010-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Mol. Ecol. Vol.18, pp. 1668–77.
  22. Martin, Paul S. (1984). Quaternary Extinctions. Tucson, Arizona: University of Arizona Press. ISBN 0-8165-1100-4.[ลิงก์เสีย]
  23. Ernst Probst: Deutschland in der Urzeit. Orbis Verlag, 1999. ISBN 3-572-01057-8
  24. Packer, Craig; Jean Clottes (November 2000). "When Lions Ruled France" (PDF). Natural History: 52–57. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-25. สืบค้นเมื่อ 27 August 2007.
  25. 25.0 25.1 Koenigswald, Wighart von (2002). Lebendige Eiszeit: Klima und Tierwelt im Wandel. Stuttgart: Theiss. ISBN 3-8062-1734-3. (เยอรมัน)
  26. Kelum Manamendra-Arachchi, Rohan Pethiyagoda, Rajith Dissanayake, Madhava Meegaskumbura (2005). "A second extinct big cat from the late Quaternary of Sri Lanka" (PDF). The Raffles Bulletin of Zoology Supplement. National University of Singapore. 12: 423–434. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-08-07. สืบค้นเมื่อ 31 July 2007.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  27. Harington, CR (1969). "Pleistocene remains of the lion-like cat (Panthera atrox) from the Yukon Territory and northern Alaska". Canadian Journal Earth Sciences. 6 (5): 1277–1288.
  28. Shuker, Karl P.N. (1989). Mystery Cats of the World. Robert Hale. ISBN 0-7090-3706-6.
  29. Heptner, V.G; Sludskii, A.A. (1992). Mammals of the Soviet Union, Volume II, Part 2. Leiden u.a.: Brill. ISBN 9004088768.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  30. 30.0 30.1 Nowak, Ronald M. (1999). Walker's Mammals of the World. Baltimore: Johns Hopkins University Press. ISBN 0-8018-5789-9.
  31. Scott, Jonathon; Scott, Angela. (2002) Big Cat Diary: Lion, p. 80
  32. Wood, The Guinness Book of Animal Facts and Feats. Sterling Pub Co Inc (1983), ISBN 978-0-85112-235-9
  33. Jungle Photos Africa Animals mammals—lion natural history Wood, G. 1983. The Guinness book of animal facts and feats. Sterling Pub. Co. Inc. 3rd. edition. 256 pp.
  34. Schaller, p. 28
  35. Trivedi, Bijal P. (2005). "Are Maneless Tsavo Lions Prone to Male Pattern Baldness?". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 7 July 2007.
  36. 36.0 36.1 Trivedi, Bijal P. (22 August 2002). "Female Lions Prefer Dark-Maned Males, Study Finds". National Geographic News. National Geographic. สืบค้นเมื่อ 1 September 2007.
  37. 37.0 37.1 West, Peyton M.; Packer, Craig (August 2002). "Sexual Selection, Temperature, and the Lion's Mane". Science. 297 (5585): 1339–43. doi:10.1126/science.1073257. PMID 12193785.
  38. Yamaguchi, Nobuyuki; B. Haddane (2002). "The North African Barbary lion and the Atlas Lion Project". International Zoo News. 49: 465–81.
  39. Menon, Vivek (2003). A Field Guide to Indian Mammals. Delhi: Dorling Kindersley India. ISBN 0-14-302998-3.
  40. Munson, Linda (March 3, 2006). "Contraception in felids". Theriogenology. 66 (1): 126–34. doi:10.1016/j.theriogenology.2006.03.06. PMID 16626799.
  41. Trivedi, Bijal P. (12 June 2002). "To Boost Gene Pool, Lions Artificially Inseminated". National Geographic News. National Geographic. สืบค้นเมื่อ 20 September 2007.
  42. McBride, Chris (1977). The White Lions of Timbavati. Johannesburg: E. Stanton. ISBN 0-949997-32-3.
  43. Tucker, Linda (2003). Mystery of the White Lions—Children of the Sun God. Mapumulanga: Npenvu Press. ISBN 0-620-31409-5.
  44. 44.0 44.1 flashnews. "The Lion Whisperer Kevin Richardson". Zimbio. สืบค้นเมื่อ 26 January 2011.
  45. 45.0 45.1 "About the White Lion Movie". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-27. สืบค้นเมื่อ 26 January 2011.
  46. Coder, Maria. "Kevin Richardson, Lion Tamer". I Work With Animals!. Pawnation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-21. สืบค้นเมื่อ 26 January 2011.
  47. "Can we see Kevin interacting with the animals?". FAQ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-16. สืบค้นเมื่อ 26 January 2011.
  48. Schaller, p. 122.
  49. Schaller, pp. 120–21.
  50. 50.0 50.1 50.2 Schaller, p. 33.
  51. Schaller, p. 133.
  52. Heinsohn, R.; C. Packer (1995). "Complex cooperative strategies in group-territorial African lions". Science. 269 (5228): 1260–62. doi:10.1126/science.7652573. PMID 7652573.
  53. Morell, V. (1995). "Cowardly lions confound cooperation theory". Science. 269 (5228): 1216–17. doi:10.1126/science.7652566. PMID 7652566.
  54. Jahn, Gary C. (1996). "Lioness Leadership". Science. 271 (5253): 1215. doi:10.1126/science.271.5253.1215a. PMID 17820922.
  55. Schaller, p. 37.
  56. Schaller, p. 39.
  57. 57.0 57.1 Schaller, p. 44.
  58. Schaller, p. 85.
  59. Sparks, J (1967). "Allogrooming in primates:a review". ใน Desmond Morris (บ.ก.). Primate Ethology. Chicago: Aldine. ISBN 0-297-74828-9. (2007 edition: 0-202-30826-X)
  60. Leyhausen, Paul (1960). Verhaltensstudien an Katzen (2nd ed.). Berlin: Paul Parey. ISBN 3-489-71836-4. (เยอรมัน)
  61. Schaller, pp. 85–88.
  62. Schaller, pp. 88–91.
  63. Rudnai, Judith A. (1973). The social life of the lion. Wallingford: s.n. ISBN 0-85200-053-7.
  64. "The Gir—Floristic". Asiatic Lion Information Centre. Wildlife Conservation Trust of India. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-16. สืบค้นเมื่อ 14 September 2007.
  65. Schaller, p. 5.
  66. Heptner, V.G.; A. A. Sludskii (1989). Mammals of the Soviet Union: Volume 1, Part 2: Carnivora (Hyaenas and Cats). New York: Amerind. ISBN 90-04-08876-8.
  67. "Past and present distribution of the lion in North Africa and Southwest Asia". Asiatic Lion Information Centre. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-10. สืบค้นเมื่อ 1 June 2006.
  68. Guggisberg, C. A. W. (1961). Simba: the life of the lion. Cape Town: Howard Timmins.
  69. Wildlife Conservation Trust of India (2006). "Asiatic Lion—Population". Asiatic Lion Information Centre. Wildlife Conservation Trust of India. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 15 September 2007.

บรรณานุกรม

  • Baratay, Eric; Elisabeth Hardouin-Fugier (2002). Zoo : a history of zoological gardens in the West. London: Reaktion Books. ISBN 1861891113.
  • Blunt, Wilfred (1975). The Ark in the Park: The Zoo in the Nineteenth Century. London: Hamish Hamilton. ISBN 0241893313.
  • de Courcy, Catherine (1995). The Zoo Story. Ringwood, Victoria: Penguin Books. ISBN 0140239197.
  • Schaller, George B. (1972). The Serengeti lion: A study of predator-prey relations. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 0226736393.

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Panthera leo ที่วิกิสปีชีส์