ปูทะเล
ปูทะเล | |
---|---|
Scylla serrata | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์ขาปล้อง Arthropoda |
ไฟลัมย่อย: | Crustacea Crustacea |
ชั้น: | Malacostraca Malacostraca |
อันดับ: | Decapoda Decapoda |
อันดับย่อย: | Pleocyemata Pleocyemata |
อันดับฐาน: | Brachyura Brachyura |
วงศ์: | วงศ์ปูว่ายน้ำ Portunidae |
วงศ์ย่อย: | Portuninae Portuninae |
สกุล: | Scylla Scylla De Haan, 1833 |
ปูทะเล เป็นปูในสกุล Scylla ในวงศ์ปูว่ายน้ำ (Portunidae) อาศัยอยู่ในทะเล มี 4 ชนิด[1][2] โดยที่ S. serrata พบได้แพร่หลายที่สุด ปูเหล่านี้พบได้ทั่วอินโด-แปซิฟิกตะวันตก[3] ปูทะเล 4 ชนิดนั้น แบ่งได้ังนี้:[4][2]
ภาพ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | ชื่อสามัญ | ที่อยู่อาศัย |
---|---|---|---|
Scylla olivacea (Herbst, 1796) | ปูดำ, ปูแดง, ปูทองแดง | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงปากีสถาน และจากญี่ปุ่นถึงออสเตรเลียตอนเหนือ | |
Scylla paramamosain Estampador, 1949 | ปูขาว, ปูทองหลาง | ทะเลจีนใต้ตอนใต้ถึงทะเลชวา | |
Scylla serrata (Forskål, 1775) | ปูเขียว, ปูทองโหลง | ญี่ปุ่นตอนใต้ถึงออสเตรเลียตะวันออกเฉียงใต้ นิวซีแลนด์ตอนเหนือ | |
Scylla tranquebarica (Fabricius, 1798) | ปูม่วง | ปากีสถานและไต้หวันถึงกลุ่มเกาะมลายูและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอื่น ๆ |
ลักษณะ
[แก้]มีลักษณะกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านข้างนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่น ๆ ไม่มีหนาม ตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด เจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ โดยตรงขอบหลังของกระดองจะเผยออกให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ซึ่งเรียกว่า ปูสองกระดอง ถ้าหากเป็นตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เพศจะมีไข่อยู่ในกระดอง ซึ่งพบมากในเดือนพฤศจิกายน ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลมเรียกว่า "ขาเดิน" ทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้ายเรียกว่า "ขาว่ายน้ำ"ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย ใช้สำหรับว่ายน้ำ
การขยายพันธุ์
[แก้]ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม สามารถ วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง[5]
ปูที่เกิดใหม่จะอยู่ในระยะซูเอี้ย ดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอน ล่องลอยตามมวลน้ำ หลังผ่านการลอกคราบ 5 ครั้ง จึงพัฒนาเข้าสู่ระยะเมกาโลปา[1] ยังคงดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอน เมื่อเมกาโลปาลอกคราบจึงลงสู่พื้นท้องน้ำดำรงชีวิตเป็นสัตว์หน้าดิน การเจริญเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ใช้เวลาประมาณ 1.5 ปี ตัวผู้ขนาดโตเต็มที่อาจหนักได้ถึง 3.5 กิโลกรัม ขนาดกระดองกว้างกว่า 24 เซนติเมตร
การกระจายพันธุ์และความสำคัญต่อมนุษย์
[แก้]พบกระจายพันธุ์อยู่ตามแถบชายฝั่งของแอฟริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงออสเตรเลีย โดยอาศัยอยู่ในโคลนตมตามป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำที่น้ำท่วมถึง กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซากพืช ซากสัตว์ต่าง ๆ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
ปูทะเลนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์ในฐานะของสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมนำมาปรุงสดเป็นอาหาร เช่น ปูผัดผงกะหรี่, ปูนึ่ง เป็นต้น โดยทางการ ได้แก่ กรมประมง สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง โดยมักจะเลี้ยงในกระชังใกล้กับทะเล เช่น ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร ถึงขนาดจัดเป็นเทศกาลท่องเที่ยวโดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)[6]
ปูทะเลเป็นที่นิยมรับประทานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเวลาที่กำลังลอกคราบเพราะเนื้อปูจะนิ่ม กระดองยังไม่แข็งเท่าไหร่ ซึ่งเรียกว่า "ปูนิ่ม"[7]
ที่ประเทศจีนมีตู้อัตโนมัติหยอดเหรียญจำหน่ายปูทะเลด้วย โดยจำหน่ายใส่กล่องพลาสติกกล่องละตัว[8] และในประเทศญี่ปุ่นมีการดัดแปลงให้เป็นลักษณะตู้คล้ายตู้คีบตุ๊กตา[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 สำนักงานวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง. "การเพาะเลี้ยงปูทะเล" เกษตรปราดเปรื่อง (Smart farmer) สืบค้นเมื่อ 2023-07-27
- ↑ 2.0 2.1 Peter K. L. Ng; Danièle Guinot & Peter J. F. Davie (2008). "Systema Brachyurorum: Part I. An annotated checklist of extant Brachyuran crabs of the world" (PDF). Raffles Bulletin of Zoology. 17: 1–286. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
- ↑ L. Le Vay (2001). "Ecology and management of mud crab Scylla spp". Asian Fisheries Science. 14: 101–111. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-25.
- ↑ Keenan, Clive P.; Davie, Peter J.F.; Mann, David L. (1998). "A revision of the genus Scylla de Haan, 1833 (Crustacea: Decapoda: Brachyura: Portunidae)". The Raffles Bulletin of Zoology. 46 (1): 217–245.
- ↑ "การเพาะเลี้ยงปูทะเล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-05. สืบค้นเมื่อ 2010-05-30.
- ↑ "ตามรอย 5 แหล่งกินปูสุดเด็ดของไทย อร่อยถูกใจนักชิม". ผู้จัดการออนไลน์. 2014-03-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-06. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.
- ↑ "สารคดีเกษตร ปูนิ่ม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-29. สืบค้นเมื่อ 2010-05-30.
- ↑ nueak (2010-10-24). "ตู้ขายปูเป็นๆ อัตโนมัติ ที่ประเทศจีน". พันทิปดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.
- ↑ "Love Hokkaido (Ep05) : ตะลุยกินของดีฤดูหนาว ในฮอกไกโดตะวันออก เก็บถาวร 2023-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". trippino-hokkaido. 2017-03-24. สืบค้นเมื่อ 2017-04-23.