พล่า
พล่ากุ้ง | |
ประเภท | ยำ |
---|---|
มื้อ | อาหารจานหลัก |
แหล่งกำเนิด | ไทย |
ส่วนผสมหลัก | เนื้อสัตว์ (เช่นเนื้อวัว กุ้ง ฯลฯ) น้ำยำ ตะไคร้ ใบมะกรูด น้ำพริกเผา |
พล่า เป็นอาหารไทยประเภทยำ ใช้เนื้อสัตว์สด ๆ ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา พริก ตะไคร้ฝอย ใบสะระแหน่ เป็นต้น พล่าต่างจากยำตรงที่พล่ามักใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่สุกมาก คลุกกับผักและเครื่องปรุงแบบยำแต่ใส่ตะไคร้ ใบมะกรูด และน้ำพริกเผาเพิ่มเข้ามาด้วย พล่ายังคล้ายกับแสร้งว่า แต่แสร้งว่าเป็นน้ำพริกเครื่องจิ้มผักดิบมักใช้กุ้งที่ย่างหรือลวกจนสุก[1]
ประวัติ
[แก้]พล่าเป็นอาหารโบราณ ปรากฏในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอน ศึกท้าวสัทธาสูร วิรุญจำบัง ที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2313 (จ.ศ. 1132) ความว่า[2]
บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทนอกซ้ายขวา | |
หุงต้มปิ้งจี่เป็นโกลา | ยำพล่าอุตลุดวุ่นไป |
ปรากฏใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความว่า[3]
ช้าช้าพล่าเนื้อสด | ฟุ้งปรากฏรสหื่นหอม | |
คิดความยามถนอม | สนิทเนื้อเจือเสาวคนธ์ |
ตำรา แม่ครัวหัวป่าก์ (พ.ศ. 2452) ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้ระบุสูตรพล่าโดยอ้างจาก กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ว่า "พล่าเนื้อสด ตามตำราสมเด็จพระพันพรรษา (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี)" โดยเนื้อสดที่ว่าคือเนื้อสมัน ในสูตรกล่าวไว้ว่า
"หั่นบาง ๆ ให้พอจานหนึ่ง เอาเกลือป่นเคล้าให้เค็มสักหน่อย น้ำส้มนิด น้ำมะนาวลงขยำนวดไปจนเนื้อนั้นซีดสุก ออกสีขาว แล้วบิดให้แห้ง…เอากระเทียมแห้งปอกซอยตามกลีบ แบ่งเอาขึ้นเจียวกับมันหมูส่วนหนึ่ง เหลือดิบไว้สองส่วน พริกชี้ฟ้าผ่าแคะเมล็ดออก หั่นตามยาว เมล็ดแตงเอาขึ้นขั้วทั้งเปลือก แล้วแกะเอาแต่เมล็ดใน สระแหน่เด็ดเอาแต่ใบ แล้วเอาของที่กล่าวเหล่านี้ลงประสมเคล้ากับเนื้อ เอาน้ำเคยดี น้ำมะนาวเคล้าให้ทั่วกัน…"
สูตรดังกล่าวแตกต่างจากพล่าในปัจจุบันไม่ว่าจะมีกลิ่นกระเทียมเจียว รสเผ็ดจากพริกชี้ฟ้า หรือกระทั่งความนุ่มของเนื้อสดที่ใช้ เนื้อที่ใช้ในตำรานี้นอกจากเนื้อสมัน เนื้อกวาง นางเก้ง สุกรป่าก็ใช้ได้ ถ้าไม่มี เนื้อสันโคสดก็ใช้ได้[4] แต่ปัจจุบันการรับประทานดิบลดลงจึงประยุกต์มาทำเป็นเนื้อสัตว์แบบสุกมากขึ้น เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู หรือกุ้ง
บรรจบ พันธุเมธา นักภาษาศาสตร์ ระบุว่า คำว่า "พล่า" เป็นคำยืมมาจากคำเขมรว่า ภลา (เขมร: ភ្លា)[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เสน่ห์ อาหารไทยโบราณ หาทานยากในปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-10. สืบค้นเมื่อ 2023-01-10.
- ↑ "บทละครเรื่องรามเกียรติ์". วัชรญาณ.
- ↑ "พล่ากุ้งตะไคร้หอมแดงต้านโรค".
- ↑ กฤช เหลือลมัย. "ช้าช้าพล่าเนื้อ (สมัน) สดฯ".
- ↑ บรรจบ พันธุเมธา. อันเนื่องด้วยชื่อ. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 2526. 108 หน้า. หน้า 6.