อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม
อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข | |
ดำรงตำแหน่ง 29 กันยายน พ.ศ. 2535 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2537 | |
นายกรัฐมนตรี | ชวน หลีกภัย |
ก่อนหน้า | สมศักดิ์ เทพสุทิน จรูญ งามพิเชษฐ์ |
ถัดไป | เตือนใจ นุอุปละ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2485 |
เสียชีวิต | 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566 (80 ปี) |
ศาสนา | พุทธ |
พรรคการเมือง | พลังธรรม (2531—2538) นำไทย (2538-2539) |
คู่สมรส | มรกต ศรีแสงนาม |
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม[1] เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังธรรม เป็นประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและเครือข่ายลดอุบัติเหตุ, ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และนักจัดรายการวิทยุคลื่น FM 96.5 MHz คลื่นความคิด"รายการดนตรีและชีวิต"
ประวัติ
[แก้]ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2485 เป็นบุตรของนายประชา กับนางพาณี ศรีแสงนาม จบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2511, Fellowship of the Royal College of Physicians, มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh)
ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางมรกต ศรีแสงนาม (สกุลเดิม:ดวงพัตรา) มีบุตร-ธิดา 4 คน
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566 สิริอายุรวม 80 ปี[2]
การทำงาน
[แก้]ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เป็นอดีตรองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม เขาเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 5 เขตห้วยขวาง และเขตพระโขนง (บางส่วน) ครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคพลังธรรม โดยได้รับเลือกตั้งพร้อมกับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคพลังธรรมเช่นเดิม
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย[3] พร้อมกับนายรักเกียรติ สุขธนะ และนายเอนก ทับสุวรรณ ต่อมาเขาได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537
เป็นบุคคลริเริ่มผลักดันจนสามารถตั้งสถาบันสุขภาพจิต (กรมสุขภาพจิต) และ สถาบันแพทย์แผนไทย (กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก), เป็นผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมสะมาริตันส์ แห่ง ประเทศไทย (Samaritans Thailand) เมื่อ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นสมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย [4] อีกทั้งเป็นผู้จุดประกายกระแสการวิ่งเพื่อสุขภาพ เขียนหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" (พ.ศ. 2539) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน [5]
ต่อมาเขาได้เข้าร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในตำแหน่งรองผู้จัดการ และตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการ[6] เขาได้รับรางวัล "สังข์เงิน" ผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมสุขภาพพลานามัย รางวัล "บุคคลตัวอย่างแห่งปี 2541" รางวัล "บุคคลยอดเยี่ยมด้านการบำบัดฟื้นฟูและพัฒนาผู้ติดยาเสพติด" รางวัล "มหิดลทยากร" ปี 2551 [7]
อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม มีบทบาทในการรณรงค์ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" โดยการสร้างความตระหนักให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น[8][9]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2537 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[10]
- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ “ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม” ผู้บุกเบิก “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” จุดกระแสคนไทยใส่ใจสุขภาพ
- ↑ ลูกสาวโพสต์ข่าวเศร้า! สิ้น ‘ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม’ ที่ปรึกษา สสส.-อดีตรมช.สธ.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๘ ราย)
- ↑ "สะมาริตันส์คืออะไร?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-12. สืบค้นเมื่อ 2016-03-10.
- ↑ วิ่งสู่ชีวิตใหม่
- ↑ หนุนพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย-ไร้เหล้า
- ↑ มหิดลทยากร
- ↑ วิ่งแล้วรอด (ตาย) สู่หลักคิด “สร้างดีกว่าซ่อม” “ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม”
- ↑ เปิดใจ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผู้สร้างตำนาน “วิ่งสู่ชีวิตใหม่”
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2485
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2566
- บุคคลจากกรุงเทพมหานคร
- แพทย์ชาวไทย
- อาจารย์คณะแพทยศาสตร์
- ศาสตราจารย์
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- พรรคพลังธรรม
- บุคคลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.