ข้ามไปเนื้อหา

ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
(1 ปี 127 วัน)
นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2540
(0 ปี 334 วัน)
นายกรัฐมนตรีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
24 ตุลาคม พ.ศ. 2540 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
(0 ปี 15 วัน)
นายกรัฐมนตรีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด14 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (78 ปี)
อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ศาสนาพระพุทธศาสนา
พรรคการเมืองพรรคกิจสังคม (2517 – 2538)
พรรคความหวังใหม่ (2538 – 2545)
พรรคไทยรักไทย (2545 – 2550)
พรรคประชาธิปัตย์ (2550 – ปัจจุบัน)
คู่สมรสกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่
บุตรร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่
แสงตะวัน ณ เชียงใหม่
บุพการีเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่
เต็ม ณ เชียงใหม่
ลายมือชื่อ
ชื่อเล่นหนุ่ย

ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ (ไทยถิ่นเหนือ: ) ชื่อเล่น หนุ่ย[1] อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 5 สมัย อดีตรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นนักการเมืองที่เคยถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้มากบารมีคนหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่[2]

ประวัติ

[แก้]

นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เป็นบุตรของ เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ นักธุรกิจเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ กับ เต็ม ณ เชียงใหม่ มีศักดิ์เป็นหลานลุงของ เจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ และมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ ยินดี ชินวัตร (มารดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) [3][4]

เจ้าธวัชวงศ์ สมรสกับ กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่[5] (สกุลเดิม โกไศยกานนท์) มีธิดา 2 คน คือ ร้อยเอกหญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และ แสงตะวัน ณ เชียงใหม่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตะวันพันดารา จำกัด

การศึกษา

[แก้]

งานด้านการเมือง

[แก้]

เจ้าธวัชวงศ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2529 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง [6] ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคกิจสังคม จากนั้นจึงย้ายมาร่วมงานกับพรรคความหวังใหม่ และได้รับเลือกต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535/1 การเลือกตั้ง พ.ศ. 2535/2 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็น ส.ส.ที่ได้รับคะแนนสูงที่สุด [7]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยตรงเป็นครั้งแรก และ เจ้าธวัชวงศ์ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนั้น โดยการสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พรรคไทยรักไทย ได้คะแนน 399,160 คะแนน ต่อมาหลังชนะการเลือกตั้งเกิดความขัดแย้งในเรื่องพื้นที่เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ กับ พายัพ ชินวัตร ส่งผลให้ธวัชวงศ์และครอบครัวได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย และในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2551 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงได้วางมือทางการเมืองชั่วคราว

เจ้าธวัชวงศ์ เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งเมื่อสนับสนุนกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2555 และการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 3 เชียงใหม่ พ.ศ. 2556 ของภรรยา ในนามพรรคประชาธิปัตย์ [8]

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง

[แก้]

เจ้าธวัชวงศ์ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2532 และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ในปี พ.ศ. 2535 [9] จนถึงปี พ.ศ. 2537 ในขณะดำรงตำแหน่งเขามีบทบาทในการผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการสร้างถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2537

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา [10] โดยมีผลงานในการริเริ่มให้มีการจัดตั้งองค์กรสนับสนุนและพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2539 [11][12] จนเป็นที่มาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายการให้แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรที่เกษียณอายุราชการได้ทำงานด้านบริการต่อในสถานพยาบาลของรัฐ เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคคลกรทางการแพทย์[13]

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ [14] มีผลงานที่สำคัญคือ การมอบนโยบายให้ธนาคารออมสินจัดทำโครงการนำร่องที่เรียกว่า โครงการ"บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยยึดหลักศาสนาอิสลามหรือบัญชีเงินฝากที่ไม่ให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย"[15][16] ก่อนจะเป็นที่มาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 เขาไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[17] ก่อนจะสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน

การดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง

[แก้]

เจ้าธวัชวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ในการประชุมสามัญ ประจำปี 2534 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2534[18] และได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2541 เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2542[19] จนกระทั่งเขาลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2544[20]

งานด้านธุรกิจ

[แก้]

เจ้าธวัชวงศ์ เป็นผู้เริ่มก่อตั้งกิจการโรงแรมมีชื่อว่า "โรงแรมดวงตะวัน" (ปัจจุบันคือ โรงแรมเซ็นทาราดวงตะวัน) ร่วมกับเจ้าบิดา และพี่สาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2533 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2536 ต่อมาได้ขายกิจการให้นายวัฒนา อัศวเหม ในปี พ.ศ. 2539 [21] นอกจากนั้น ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ได้ประกอบกิจการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

งานด้านการศึกษา

[แก้]

เจ้าธวัชวงศ์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2521 ถึงปี พ.ศ. 2522 [22] และเป็นที่ปรึกษาสมาคมฯ ในปี พ.ศ. 2549 [23] นอกจากนั้น ยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 [24] ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดแรก นับตั้งแต่ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ [25] จนถึงปี พ.ศ. 2552

งานด้านสังคม

[แก้]

เจ้าธวัชวงศ์ เป็นกรรมการมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ ชุดก่อตั้ง [26] ซึ่งเป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของฝ่ายเหนือ ในด้านของการร่วมงานสังคมในฐานะเจ้านายฝ่ายเหนือของธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ พบเห็นไม่บ่อยนัก

ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ มีส่วนสนับสนุนการผลักดันกฎหมายว่าด้วยสภาวิศวกรรม เพื่อจัดตั้งสภาวิศวกรขึ้น[27]

รางวัลและเกียรติยศ

[แก้]

เจ้าธวัชวงศ์ ได้รับพระราชทานยศนายกองโทแห่งกองอาสารักษาดินแดน [28]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ว่าด้วยตระกูลการเมือง'ล้านนา'
  2. ระลึกชาติ "เจ๊แดง-บุญทรง" คู่กรรม(การเมือง)
  3. สายโลหิตของเจ้านายฝ่ายเหนือที่เหลืออยู่
  4. "คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2009-07-20.
  5. เปิดขุมทรัพย์“เจ๊แดง-กิ่งกาญจน์” VS “เจ๊แดง”นายกฯสำรอง
  6. รายงานวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529. กรมการปกครอง. 2529
  7. "จากเว็บไซต์ข้อมูลการเลือกตั้งกรมการปกครอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-28. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
  8. "แม่แดง" ท้าชน "เจ๊แดง" ฐานการเงินแกร่ง 2 ตระกูลดังเชียงใหม่"
  9. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 734/2535 เรื่อง แต่งตั้งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่)
  10. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 49 ราย)ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 29ง วันที่ 18 กรกฎาคม 2538
  11. ปาริชาต ศิวะรักษ์. กำเนิดกองทุน สสส. เก็บถาวร 2017-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2546. 112 หน้า ISBN 974-91446-3-5
  12. กรณีศึกษาการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ[ลิงก์เสีย]
  13. จดหมายข่าวสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  14. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 49 ราย)ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 44ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539
  15. http://www.mof.go.th/home/Press_release/mofnews/26/news26.htm[ลิงก์เสีย]
  16. โครงการบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยยึดหลักศาสนาอิสลาม
  17. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 100ง วันที่ 24 ตุลาคม 2540
  18. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคความหวังใหม่เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค เล่ม 109 ตอนที่ 8 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535
  19. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่เล่ม 116 ตอนพิเศษ 46ง วันที่ 2 กรกฎาคม 2542
  20. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร พรรคความหวังใหม่ เล่ม 118 ตอนพิเศษ 61ง วันที่ 29 มิถุนายน 2544
  21. โสภณ เกียรติเชิดแสงสุข. การศึกษาการดำเนินงานของ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน เชียงใหม่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. 2555[ลิงก์เสีย]
  22. "มงฟอร์ตสาร ฉบับที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2556" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-06-25. สืบค้นเมื่อ 2014-06-30.
  23. "สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-03. สืบค้นเมื่อ 2014-06-30.
  24. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (จำนวน 12 ราย)
  25. "กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชุดที่ 1 (ปี พ.ศ. 2548 - 2552)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-17. สืบค้นเมื่อ 2016-08-07.
  26. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ"
  27. วสท. ผู้ก่อกำเนิด สภาวิศวกร
  28. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-10. สืบค้นเมื่อ 2017-03-01.
  29. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
  30. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙