ข้ามไปเนื้อหา

จังหวัดอ่างทอง

พิกัด: 14°35′N 100°29′E / 14.59°N 100.48°E / 14.59; 100.48
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อ่างทอง)
จังหวัดอ่างทอง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันChangwat Ang Thong
พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร
ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ
คำขวัญ: 
พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่
วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน
ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอ่างทองเน้นสีแดงประเทศมาเลเซียประเทศพม่าประเทศลาวประเทศเวียดนามประเทศกัมพูชาจังหวัดนราธิวาสจังหวัดยะลาจังหวัดปัตตานีจังหวัดสงขลาจังหวัดสตูลจังหวัดตรังจังหวัดพัทลุงจังหวัดกระบี่จังหวัดภูเก็ตจังหวัดพังงาจังหวัดนครศรีธรรมราชจังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดระนองจังหวัดชุมพรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จังหวัดเพชรบุรีจังหวัดราชบุรีจังหวัดสมุทรสงครามจังหวัดสมุทรสาครกรุงเทพมหานครจังหวัดสมุทรปราการจังหวัดฉะเชิงเทราจังหวัดชลบุรีจังหวัดระยองจังหวัดจันทบุรีจังหวัดตราดจังหวัดสระแก้วจังหวัดปราจีนบุรีจังหวัดนครนายกจังหวัดปทุมธานีจังหวัดนนทบุรีจังหวัดนครปฐมจังหวัดกาญจนบุรีจังหวัดสุพรรณบุรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจังหวัดอ่างทองจังหวัดสิงห์บุรีจังหวัดสระบุรีจังหวัดลพบุรีจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดบุรีรัมย์จังหวัดสุรินทร์จังหวัดศรีสะเกษจังหวัดอุบลราชธานีจังหวัดอุทัยธานีจังหวัดชัยนาทจังหวัดอำนาจเจริญจังหวัดยโสธรจังหวัดร้อยเอ็ดจังหวัดมหาสารคามจังหวัดขอนแก่นจังหวัดชัยภูมิจังหวัดเพชรบูรณ์จังหวัดนครสวรรค์จังหวัดพิจิตรจังหวัดกำแพงเพชรจังหวัดตากจังหวัดมุกดาหารจังหวัดกาฬสินธุ์จังหวัดเลยจังหวัดหนองบัวลำภูจังหวัดหนองคายจังหวัดอุดรธานีจังหวัดบึงกาฬจังหวัดสกลนครจังหวัดนครพนมจังหวัดพิษณุโลกจังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดสุโขทัยจังหวัดน่านจังหวัดพะเยาจังหวัดแพร่จังหวัดเชียงรายจังหวัดลำปางจังหวัดลำพูนจังหวัดเชียงใหม่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอ่างทองเน้นสีแดง
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอ่างทองเน้นสีแดง
ประเทศ ไทย
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการ พิริยะ ฉันทดิลก[1]
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2566)
พื้นที่[2]
 • ทั้งหมด968.372 ตร.กม. (373.891 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่อันดับที่ 72
ประชากร
 (พ.ศ. 2566)[3]
 • ทั้งหมด270,726 คน
 • อันดับอันดับที่ 70
 • ความหนาแน่น279.57 คน/ตร.กม. (724.1 คน/ตร.ไมล์)
 • อันดับความหนาแน่นอันดับที่ 12
รหัส ISO 3166TH-15
ชื่อไทยอื่น ๆเมืองวิเศษไชยชาญ
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
 • ต้นไม้มะพลับ
 • ดอกไม้ไม่มี
 • สัตว์น้ำปลาตะเพียนทอง
ศาลากลางจังหวัด
 • ที่ตั้งถนนเทศบาล 1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง 14000
 • โทรศัพท์0 3561 1235
เว็บไซต์http://www.angthong.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อ่างทอง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ตุ๊กตาชาววัง กลอง และงานจักสาน เป็นต้น

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

จังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง พิกัดภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 พิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนกว้างตามแนวทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และส่วนยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968.372 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 605,232.5 ไร่ และมีอาณาเขตดังนี้

ภูมิประเทศ

[แก้]

จังหวัดอ่างทอง มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน และมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายแขนงที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง ซึ่งไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทองประมาณ 40 กิโลเมตร

ภูมิอากาศ

[แก้]

ลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในโซนร้อนและชุ่มชื้น เป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อากาศหนาวเย็น และแห้งแล้งในช่วงนี้ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกในช่วงนี้

ประวัติศาสตร์

[แก้]

อ่างทองในอดีตนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่มานานหลายพันปี พื้นที่ทางตอนบนของจังหวัดค่อนข้างเป็นที่ดอน และค่อย ๆ ลาดลงจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ไม่มีภูเขา ป่า หรือแร่ธาตุ จังหวัดอ่างทองได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้อาศัยทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และคมนาคมตลอดมา

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบทำให้ทราบว่าในเขตพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มีลำดับพัฒนาการจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคประวัติศาสตร์ ดังนี้

1.ยุคหินใหม่ ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมยุคแรกเริ่ม พบ 2 แห่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านสีบัวทอง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา อายุประมาณ 3,000 ปี และแหล่งโบราณคดีบ้านคลองสำโรง ต.หลักแก้ว อ.วิเศษชัยชาญ อายุประมาณ 4,000 ปี โดยมากพบเศษขวานหินขัด และกระดูกสัตว์

2.ยุคสำริด ได้ขุดพบเครื่องมือที่ทำจากสำริดในแหล่งโบราณคดีบ้านสีบัวทอง อ.แสวงหา

3.ยุคเหล็ก พบ 3 แห่ง คือ 1.แหล่งโบราณคดีบ้านยางช้าย อ.โพธิ์ทอง 2.แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาวง และ 3.แหล่งโบราณคดีบ้านหัวกระบัง อ.สามโก้ ซึ่งพบลูกปัดหินอาเกต และหินคาร์เนเลียน

4.ยุคทวารวดี สันนิษฐานว่ามีผู้คนอาศัยเป็นชุมชนขนาดกลางแล้ว เช่นที่บ้านคูเมือง อ.แสวงหา และบ้านทางพระ อ.โพธิ์ทอง

5.ยุคก่อนอยุธยา - อยุธยาตอนต้น ในพื้นที่วัดเขาแก้ว อ.โพธิ์ทอง ขุดพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวนจากเตาหลงฉวน และผู่เถียน เครื่องถ้วยเชลียง เครื่องถ้วยจากบ้านบางปูน(สุพรรณบุรี) และเครื่องถ้วยจากเตาเผาแม่น้ำน้อย(สิงห์บุรี)

6.สมัยอยุธยาตอนกลาง - ปลาย ขุดพบได้ทั่วไปในจังหวัดอ่างทอง

ที่มาของชื่อ

[แก้]

เมืองอ่างทอง ได้ชื่อนี้มาจากไหน มีการสันนิษฐานเป็น 3 นัย

นัยแรกเชื่อว่า คำว่า “อ่างทอง” น่าจะมาจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่นี้ คือเป็นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งคล้ายอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนาที่ออกรวงเหลืองอร่ามเหมือนทอง จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดอ่างทอง และดวงตราของจังหวัด เป็นรูปรวงข้าวสีทองอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ

นัยที่สองเชื่อว่า อ่างทองน่าจะมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมที่เรียกว่า “บางคำทอง” ตามคำสันนิษฐานของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา เมื่อครั้งที่กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ใน พ.ศ. 2459 ว่า ชื่อของเมืองอ่างทองก็จะมาจากชื่อ บางคำทอง ซึ่งแต่งตั้งครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากกรุงเก่า “ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง น้ำป่วนเป็นฟอง คว่างคว้าง” และบางกระแสก็ว่า อาจเพี้ยนมาจากชื่อของแม่น้ำลำคลองในย่านนั้น ที่เคยมีชื่อว่า “ปากน้ำประคำทอง” ซึ่งเป็นทางแยกแม่น้ำหลังศาลากลางจังหวัด และส่วนในเข้าไปเรียกว่า “แม่น้ำสายทอง” ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินใช้ไม่ได้แล้ว

นัยที่สามเชื่อว่า ชื่ออ่างทองน่าจะมาจากชื่อ บ้านอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์เรื่องสร้างเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “เมืองอ่างทองดูเหมือนจะตั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร เดิมชื่อเมืองว่า วิเศษไชยชาญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ที่ลงมาจากนครสวรรค์ อยู่มาแม่น้ำน้อยตื้นเขิน ฤดูแล้งใช้เรือไม่สะดวก ย้ายเมืองออกมาตั้งริมแม่น้ำพระยาที่บ้านอ่างทองจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง”

ถึงแม้ว่าชื่อของจังหวัดอ่างทอง จะได้มาตามนัยใดก็ตาม ชื่ออ่างทองนี้เป็นชื่อที่เริ่มมาในสมัยกรุงธนบุรีหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในอดีต สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น อ่างทองเป็นที่รู้จักในนามของเมืองวิเศษไชยชาญ ดังนั้นการศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเมืองอ่างทองนั้น หมายถึงการศึกษาความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปกว่า 1 พันปี เป็นสมัยที่ชื่อเสียงของเมืองอ่างทองยังไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอาจจะสรุปได้ว่าดินแดนนี้มีลักษณะเด่นชัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำให้มีมนุษย์ตั้งหลักฐานอยู่กันมานานนับพัน ๆ ปี และเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในแง่การเป็นยุทธศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา

การก่อตั้งเมือง

[แก้]

จังหวัดอ่างทองในสมัยทวารวดีได้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองแล้ว แต่เป็นเมืองไม่ใหญ่โตนัก หลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ คูเมืองที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ซึ่งนายบาเซอลีเย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจพบ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ปัจจุบันนี้บ้านคูเมืองอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาไปทางทิศเหนือ 4 กิโลเมตร ในสมัยสุโขทัย ก็เข้าใจว่าผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเช่นกัน และดินแดนอ่างทองได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยด้วย โดยการสังเกตจากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในท้องถิ่นที่อ่างทองมีลักษณะเป็นแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะต้น ๆ สันนิษฐานว่าอ่างทองคงเป็นชานเมืองของกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะยกฐานะเป็นเมืองมีชื่อว่า “แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2127 โดยในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองวิเศษไชยชาญเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังทรงเป็นมหาอุปราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จยกกองทับไปรบกับพระยาพะสิมที่เมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้เสด็จโดยทางเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนาม ที่ตำบลลุมพลี พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญอันเป็นที่ชุมพล จึงสันนิษฐานว่า เมืองวิเศษไชยชาญได้ตั้งเมืองในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ตัวเมืองวิเศษไชยชาญสมัยนั้นตั้งอยู่ทางลำแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก หมู่บ้านตรงนั้นปัจจุบันยังเรียกว่า “บ้านจวน” แสดงว่าเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมืองเดิม ต่อมา สภาพพื้นที่และกระแสน้ำในแควน้ำน้อยเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมไปมาระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำใหญ่ (คือแม่น้ำเจ้าพระยา) เดินทางติดต่อไม่สะดวก จึงย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ตรงวัดไชยสงคราม (วัดกระเจา) ฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” ส่วนเมืองวิเศษไชยชาญยังคงเป็นเมืองอยู่ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2439 จึงลดลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอไผ่จำศีล ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอวิเศษไชยชาญ[4][5] และราชการก็ใช้ชื่อ อำเภอวิเศษไชยชาญ มาจนถึงอย่างน้อยวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2509 [6] หลังจากนั้น ก็พบว่า เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2509 ราชการก็ใช้ชื่อเป็น อำเภอวิเศษชัยชาญ[7] (ไม่พบหลักฐานคำสั่งให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา)

กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาภูธร สมุหนายกไปเป็นแม่กองทำการเปิดทำนบกั้นน้ำที่หน้าเมืองอ่างทอง เพื่อให้น้ำไหลไปทางคลองบางแก้วแต่ไม่สำเร็จ จึงย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ท้องที่อำเภอเมืองอ่างทองฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยาจนถึงปัจจุบันนี้

สมัยอยุธยา

[แก้]

เมืองอ่างทองมีท้องที่ต่อเนื่องกับกรุงศรีอยุธยา เสมือนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลวง จึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ราว พ.ศ. 2122 ญาณพิเชียรมาซ่อมสุมคนในตำบลยี่ล้น ขุนศรีมงคลแขวง ส่งข่าวกบฏนั้นมาถวาย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระยาจักรียกกำลังไปปราบปราม ตั้งทัพในตำบลมหาดไทย ญาณพิเชียรและพรรคพวกก็เข้าสู้รบกับพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีเสียชีวิตในการสู้รบ พวกชาวบ้านก็เข้าเป็นพวกญาณพิเชียร ญาณพิเชียรติดเอาเมืองลพบุรี ก็ยกกำลังไปปล้นเมืองลพบุรี จึงเกิดรบกับพระยาสีหราชเดโช ญาณพิเชียรถูกยิงตาย พรรคพวกกบฏก็หนีกระจัดกระจายไป กบฏญาณพิเชียรนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง ที่ชาวบ้านยี่ล้นและชาวบ้านมหาดไทย แขวงเมืองวิเศษไชยชาญเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาตั้งที่บ้านสระเกศ ท้องที่ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกกองทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบทหารพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษไชยชาญ จึงได้เข้าโจมตีทหารพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้จัดกองทัพยกลงมา สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นตระเวนดูก่อน กองทัพระราชมนูไปปะทะกับกองทัพพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นถอยทัพกลับมา แล้วพระองค์ก็โอบล้อมรุกไล่ตีทัพพม่าแตกทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงที่ตั้งทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกพ่ายกลับไป

พ.ศ. 2130 พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารไทยได้เอาปืนลงเรือสำเภาขึ้นไประดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี จนพระเจ้าหงสาวดีทนไม่ไหวต้องถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยขบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมก จนพม่าแตกพ่ายถอยทัพกลับไป

พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพจากรุงศรีอยุธยาไปตั้งที่ทุ่งป่าโมก แล้วยกทัพหลวงไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ และทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ตำบลตระพังตรุ หนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี จนมีชัยชนะยุทธหัตถีในครั้งนั้น

พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปตีกรุงอังวะ เสด็จเข้าพักพลที่ตำบลป่าโมก แล้วเสด็จไปทางชลมารค ขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก ตัดไม้ข่มนามตามพระราชพิธีของพราหมณ์แล้วยกทัพไป แต่สวรรคตเสียที่เมืองหางหรือเมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถนำพระบรมศพกลับกรุงพร้อมด้วยพระเกียรติและในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พระองค์ได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชนไปในงานฉลองพระอาราม ได้ทรงชกมวยได้ชัยชนะถึง 2 ครั้ง สถานที่เสด็จไปก็คือ บ้านพระจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ เชื่อกันว่างานฉลองวัดที่เสร็จไปนั้นอาจเป็นวัดโพธิ์ถนนหรือวัดถนน ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ในตำบลตลาดกรวด (อำเภอเมืองอ่างทอง) นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าดินแดนของอ่างทองยังคงความสำคัญต่อเมืองหลวง คือ กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ของสามัญชนที่เลื่องลือเข้าไปถึงพระราชวังในเมืองหลวง แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระทัยที่จะทอดพระเนตรและทรงเข้าร่วมด้วยกันอย่างสามัญ

พ.ศ. 2269 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์ได้เสด็จไปควบคุมชลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เพราะปรากฏว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดป่าโมก น้ำเซาะกัดตลิ่งจนทำให้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อาจพังลงได้ จึงมีรับสั่งให้ทำการชลอพระพุทธไสยาสน์เข้าไปประดิษฐานห่างฝั่งออกไป 150 เมตร กินเวลาทั้งหมดกว่า 5 เดือน

เนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลายครั้ง จึงมีบรรพบุรุษของเมืองอ่างทองได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลายท่าน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ทั้งสี่ท่านเป็นชาวบ้านสีบัวทอง (ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหาในปัจจุบัน) และมีนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านเป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ ได้ร่วมกับชาวบ้านของเมืองวิเศษไชยชาญสู้รบกับพม่าอยู่ที่ค่ายบางระจัน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และสนามรบส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอแสวงหา วีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทยค่ายบางระจันสมัยนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอ และนายทองแก้วไว้ที่บริเวณวัดวิเศษไชยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520 ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี ชาวเมืองอ่างทองจึงได้กระทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านเป็นประจำทุกปี

อีกครั้งของวีรกรรมของนับรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ คือ ขุนรองปลัดชูกับกองอาทมาต คือเมื่อปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ขึ้นครองราชสมบัติกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในครั้งนั้น พระเจ้าอลองพญาครองราชสมบัติกรุงอังวะรัตนสิงห์ ปกครองพม่ารามัญทั้งปวง พระองค์ให้เกณฑ์ไพร่พล 8000 ให้มังฆ้องนรธาเป็นนายทัพยกมา ตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี พระเจ้าเอกทัศทรงเกณฑ์พล 5000 แบ่งเป็นสองทัพ โดยให้พระราชรองเมืองว่าที่ออกญายมราชคุมทัพใหญ่พล 3000 แลให้ออกญารัตนาธิเบศร์คุมทัพหนุนพล 2000 ในครั้งนั้นมีครูฝึกเพลงอาวุธอยู่ในเมืองวิเศษไชยชาญอยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ ครูดาบชู ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้เป็นปลัดเมือง กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ชาวบ้านจึงเรียนว่าขุนรองปลัดชู นำกองอาทมาต 400 มาอาสาศึก แลได้ติดตามไปกับกองทัพออกญารัตนาธิเบศร์ เมื่อเดินทางข้ามพ้นเขาบรรทัดก็ได้ทราบว่า เมืองมะริดและตะนาวศรีเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงตั้งทัพรออยู่เฉย ๆ โดยทัพพระราชรองเมืองตั้งอยู่ที่แก่งตุ่มตอนปลายแม่น้ำตะนาวศรี ส่วนออกญารัตนาธิเบศร์ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรี แต่ให้กองอาทมาตมาขัดตาทัพรอที่อ่าวหว้าขาว

จากนั้นสามวันทัพพม่าเข้าตีทัพไทยที่แก่งตุ่มแตกพ่าย และยกมาเพื่อเข้าตีทัพหนุน กองอาทมาตของขุนรองปลัดชู ได้รับคำสั่งให้ตั้งรับพม่าที่ตำบลหว้าขาวริมทะเล ครั้นพอเพลาเช้า ทัพพม่า 8000 ก็ปะทะกับกองอาทมาต 400 นาย ทัพทั้งสองปะทะกันดุเดือดจนถึงเที่ยง มิแพ้ชนะ แต่ทัพไทยพลน้อยกว่าก็เริ่มอ่อนแรง ขุนรองปลัดชูรบจนสิ้นกำลังถูกทหารพม่ารุมจับตัวไป จากนั้นพม่าให้ช้างศึกเข้าเหยียบย่ำทัพไทยล้มตายเป็นอันมาก กองอาทมาต 400 คนตายแทบจะสิ้นทั้งทัพ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของกองอาสาวิเศษไชยชาญในครั้งนั้น จึงได้มีการสร้างวัดขึ้นเป็นที่ระลึกแก่นักรบกล้าทั้ง 400 คนโดยเรียกกันว่า "วัดสี่ร้อย"

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

[แก้]
  • คำขวัญประจำจังหวัด คือ พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
  • ตราประจำจังหวัด คือ รูปอ่างทอง ในอ่างมีรวงข้าวและใบข้าว จังหวัดอ่างทองเป็นที่ราบลุ่ม มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำภูมิประเทศเหมาะแก่การเพาะปลูก ดวงตราของจังหวัดจึงเป็นรูปอ่างสีทองซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัด และในอ่างมีรวงข้าวและใบข้าวซึ่งหมายถึงการทำนา อาชีพหลักของคนในภูมิภาคนี้
  • ต้นไม้ประจำจังหวัด คือ มะพลับ (Diospyros malabarica)
  • สัตว์น้ำประจำจังหวัด คือ ปลาตะเพียนทอง (Barbonymus altus)

การเมืองการปกครอง

[แก้]

หน่วยการปกครอง

[แก้]
แผนที่อำเภอในจังหวัดอ่างทอง

การปกครองส่วนภูมิภาคของจังหวัดอ่างทองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 73 ตำบล 513 หมู่บ้าน โดยอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่

  1. อำเภอเมืองอ่างทอง
  2. อำเภอไชโย
  3. อำเภอป่าโมก
  4. อำเภอโพธิ์ทอง
  5. อำเภอแสวงหา
  6. อำเภอวิเศษชัยชาญ
  7. อำเภอสามโก้

จังหวัดอ่างทองมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 65 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง, เทศบาลเมือง 1 แห่ง คือ เทศบาลเมืองอ่างทอง, เทศบาลตำบล 20 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 43 แห่ง[8] โดยรายชื่อเทศบาลทั้งหมดในจังหวัดอ่างทองแบ่งตามอำเภอมีดังนี้

เจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด

[แก้]

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองโดยนำระบบเทศาภิบาลมาใช้ในประเทศไทย เมืองอ่างทองยังคงมีสภาพเป็นเมืองตามรูปการปกครองแบบเดิมก่อนการปฏิรูป ปรากฏพระนามและรายนามผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองดังนี้

ประชากร

[แก้]
สถิติประชากรตามทะเบียนราษฎรจังหวัดอ่างทอง
ปีประชากร±%
2553 284,970—    
2554 284,061−0.3%
2555 283,882−0.1%
2556 283,732−0.1%
2557 283,568−0.1%
2558 283,173−0.1%
2559 282,404−0.3%
2560 281,187−0.4%
2561 280,840−0.1%
2562 279,654−0.4%
2563 276,584−1.1%
2564 274,763−0.7%
2565 272,587−0.8%
2566 270,726−0.7%
อ้างอิง:กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย[9]

เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2556 จังหวัดอ่างทองมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 283,732 คน จำแนกเป็นชาย 136,237 คน เป็นหญิง 147,495 คน (อันดับที่ 69 ของประเทศ) จำนวนบ้าน 92,520 หลัง ความหนาแน่นของประชากร 292.99 ตร.กม (อันดับที่ 11 ของประเทศ)

ศาลหลักเมือง

[แก้]

หลักเมืองมีความหมายว่า เป็นประธานของเมือง เป็นศูนย์รวมความมั่นคงของเมือง เป็นนิมิตมงคลของเมือง เป็นหลักชัย หลักใจ และศูนย์รวมความสามัคคีของประชาชน หลักเมืองจะเป็นเสาหลักโดดเด่น ไม่มีภาพ รูป หรือพระพุทธรูป การสร้างหลักเมืองต้องขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศก่อน เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าเมืองจึงจะดำเนินการสร้างต่อไปได้

เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเสาหลักเมืองและศาลหลักเมือง จังหวัดอ่างทอง ได้มีปรากฏอยู่ที่ใด คณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนจังหวัดอ่างทองจึงได้ร่วมใจกันจัดหาทุนสร้างศาลหลักเมืองขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของประชาชนในจังหวัด จังหวัดอ่างทอง ได้มอบให้นายกำจัด คงมีสุข ข้าราชการครูบำนาญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบสร้างศาลหลักเมือง และมีพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลเป็นที่ปรึกษา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2533 การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายทวีป ทวีพาณิชย์) เข้าเฝ้าน้อมเกล้า ฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย และทรงบรรจุ แผ่นยันต์เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2534 เวลา 16.30 นาฬิกา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมารเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธียกเสาหลัก เมืองและเปิดศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2534 เวลา 15.30 นาฬิกา

ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข (4 หน้า) ยอดปรางค์หลังคาเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดงตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภา พุ่มข้าวบิณฑก้านแยกสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน

เสาหลักเมืองซึ่งประดิษฐ์อยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยมพื้นปูด้วยหินอ่อนทำจากไม้ชัยพฤกษ์ซึ่ง ถือเป็นไม้มงคล คัดจาก 1 ในจำนวน 5 ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า ไม้ขานาง คือลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น 2 กิ่ง แบบง่ามหนังสติ๊กโบราณถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิการ ไม้มงคลซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้นได้ผ่านพิธีคัดเลือก ต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสาและฉลองรับขวัญอย่างถูกต้อง ตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์และนายกำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็น ชาวอ่างทอง และมีความชำนาญในการสร้างเมืองมาหลายจังหวัดแล้ว

ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมืองมีศาลาตรีมุข ซึ่งใช้เป็นที่ประทับหรือที่นั่งขององค์ประธานหรือประธาน ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ด้านทิศใต้มีศาลาทรงไทย 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่ายระหว่างตัวศาลหลักเมือง คือ ศาลาตรีมุขซึ่งห่างกันประมาณ 30 เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและการแสดงต่าง ๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้สวยงาม

ศาลหลักเมืองของจังหวัดอ่างทอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัยและหลักใจของประชาชน ชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดอ่างทองไม่ควรละเว้นที่จะไปเคารพสักการะศาลหลักเมืองและหาของดีเมืองอ่างทองบริเวณศาลนั้น เพื่อเป็นสมบัติประจำตนและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

การขนส่ง

[แก้]
  1. ใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากกรุงเทพมหานคร แยกเข้าเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ผ่านอำเภอบางปะอิน-บางปะหัน-อยุธยา-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ใกล้ที่สุด
  2. ใช้เส้นทางตัดใหม่ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-ตลิ่งชัน เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (บางบัวทอง-ชัยนาท) ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-อยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
  3. ใช้เส้นทางกรุงเทพมหานคร-ปทุมธานี ผ่านอำเภอปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-อยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 (วังน้อย-สิงห์บุรี) เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร

บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถปรับอากาศทุกวัน วันละหลายเที่ยว สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (จตุจักร)

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

[แก้]

บุคคลที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 245 ง หน้า 4 วันที่ 2 ตุลาคม 2566
  2. ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
  3. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_66.pdf 2566. สืบค้น 3 มีนาคม 2567.
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/029/817_2.PDF
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2012-11-15.
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/019/1059.PDF
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/019/1089.PDF
  8. ข้อมูลจำนวน อปท. แยกรายจังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ข้อมูลประชากร2560

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°35′N 100°29′E / 14.59°N 100.48°E / 14.59; 100.48