ข้ามไปเนื้อหา

วิลาศ โอสถานนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิลาศ โอสถานนท์
ประธานรัฐสภาไทย และ
ประธานพฤฒสภา
ดำรงตำแหน่ง
4 มิถุนายน พ.ศ. 2489 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2489
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ก่อนหน้าพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)
(ประธานรัฐสภาไทย)
สถาปนาตำแหน่ง
(ประธานพฤฒสภา)
ถัดไปพระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดำรงตำแหน่ง
24 สิงหาคม พ.ศ. 2489 – 30 พฤษภาคม พ.ศ.​ 2490
นายกรัฐมนตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ก่อนหน้าหม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์
ถัดไปเดือน บุนนาค
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต13 มกราคม พ.ศ. 2540 (97 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสคุณหญิงอมร โอสถานนท์(สีบุญเรือง)
นางบุญเรือน โอสถานนท์
บุตร4 คน
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้กรมราชองครักษ์
ยศ พันตรี
บังคับบัญชาสมุหราชองครักษ์

พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 - 13 มกราคม พ.ศ. 2540) หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 อดีตประธานพฤฒสภาและประธานรัฐสภา

ประวัติ

[แก้]

พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ณ บ้านริมคลองโอ่งอ่าง อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตของ พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) และ คุณหญิงนิล โอสถานนท์ (สกุลเดิม ศรีไชยยันต์) โดยมีชื่อ "วิลาศ" นั้น เป็นชื่อที่ได้รับประทานจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีความหมายว่า "ฝรั่งชาติอังกฤษ" เนื่องจากบิดาเป็นนักเรียนเก่าของประเทศอังกฤษ โดยมีน้องร่วมมารดา 8 คน และต่างมารดาอีก 2 คน

การศึกษา

[แก้]

จบการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 9 ปี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ต่อจากนั้นจึงได้รับพระราชทานทุนจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาเทียบเท่าปริญญาตรี [B.D.F.A] จาก City & Guild Engineering College School of University of London ทางวิศวกรรม และทางด้านเกษตรกรรม จาก Sylhale Agricultural Collage Devenshire

การรับราชการ

[แก้]

เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานนา กรมเกษตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2472 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2474 จึงได้เป็นผู้จัดการนาทดลองรังสิต

พันตรีวิลาศ ได้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองกับคณะราษฎร จากการชักชวนของ นายทวี บุณยเกตุ[1] ซึ่งเป็นเพื่อนข้าราชการกรมเกษตรเช่นเดียวกัน ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก่อนปฏิบัติการจริงแค่วันเดียวเท่านั้น โดยในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันปฏิบัติการนั้น นายวิลาศ ได้สวมชุดทหารมหาดเล็ก เข้าร่วมในการตัดสายโทรศัพท์และโทรเลขร่วมกับ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์), นายประยูร ภมรมนตรี และนายประจวบ บุนนาค ณ กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. และต้องเสร็จให้ทันภายในเวลา 05.00 น. [2]

วิลาศ เป็นหัวหน้าสำนักงานโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ในปี พ.ศ. 2481 - 2484[3]

บทบาทการเมือง

[แก้]

ต่อมา พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ได้รับการจัดตั้งเป็นผู้แทนราษฎร (ชั่วคราว) ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน นายวิลาศได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่ 2 ในรัฐสภา และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (ลอย) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 9 ซึ่งมีแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 พันตรีวิลาศ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภา และได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาและประธานพฤฒสภา ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน ปีเดียวกัน ถึง 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน[4]หลังจากพ้นจากตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 17 ซึ่งมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากนั้นแล้วยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2502 อีกด้วย และยังได้รับตำแหน่งทางราชการอีก อาทิ อธิบดีกรมโฆษณา (กรมประชาสัมพันธ์) เป็นคนแรก และผู้พิพากษากลางเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น ทหารราชองครักษ์ สังกัดทหารสื่อสาร และยังได้ร่วมเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยด้วย ทั้งนี้มีบันทึกไว้ว่าทางญี่ปุ่นได้ตั้งข้อรังเกียจ ดร.วิลาศ ร่วมกับ หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ว่าอาจมีใจเอนเอียงไม่ช่วยเหลือทางญี่ปุ่นอย่างแท้จริง เนื่องจาก ดร.วิลาศ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีภริยา (คุณหญิงอมร สีบุญเรือง) ซึ่งเป็นบุตรสาวของ นายเซียว ฮุดเช็ง ซึ่งเป็นประธานพรรคก๊กมินตั๋งในประเทศไทย ที่มีแนวทางทางการเมืองสนับสนุน นายพลเจียง ไคเช็ค ซึ่งต่อต้านญี่ปุ่นอยู่[5]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ด้านชีวิตครอบครัว พันตรีวิลาศ สมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับ คุณหญิงอมร สีบุญเรือง มีบุตร 2 คน คือ เรือโท วีระ โอสถานนท์ และ นายอภิลาศ โอสถานนท์

ครั้งที่ 2 กับ นางบุญเรือน โอสถานนท์ มีบุตร 2 คน คือ นายประสาน โอสถานนท์ และ นางกาญจนา สิงหเสนี

ถึงแก่อสัญกรรม

[แก้]

พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้ใช้ชีวิตช่วงปลายอย่างสุขสงบ ท่ามกลางครอบครัวและบุตรหลาน มีสุขภาพและความทรงจำดีกว่าคนในวัยเดียวกัน แม้ว่าจะเข้ารับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นครั้งคราว จนกระทั่งเมื่อล้มเจ็บลงด้วยโรคหวัด ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2539 ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวช เรื่อยมา และถึงแก่อสัญกรรมด้วยระบบหัวใจล้มเหลว ด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2540 สิริอายุได้ 97 ปี 67 วัน [6] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2540 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หน้า 101, ตรัง โดย ยืดหยัด ใจสมุทร (สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2539) ISBN 974-7115-60-3
  2. ส่วนร่วมสังคมไทย ตอน 24 มิถุนายน (3) โดย นรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-12-11. สืบค้นเมื่อ 2020-04-07.
  4. ทำเนียบประธานวุฒิสภา จากเว็บไซต์รัฐสภา[ลิงก์เสีย]
  5. หน้า 25, อำนาจ ๒ โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ (มีนาคม, พ.ศ. 2555) ISBN 978-616-536-079-1
  6. วิลาศ โอสถานนท์, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.วิลาศ โอสถานนท์ ป.ม., ท.ช., ต.จ., (กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์), 2540, หน้า 20.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๙, ตอน ๔๖ ง, ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕, หน้า ๑๒๔๙
  8. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตต์ภายใน
  9. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 6 ตอนที่ 29 เล่ม 59 ราชกิจจานุเบกษา 28 เมษายน 2485

พระบรมราชโองการ ประกาศ การแต่งตั้งและตั้งเพิ่มรัฐมนตรี (นายพันตรี หลวงเชวงศักดิ์สงคราม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นรัฐมนตรี) พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรตราธิการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (๑. หลวงเดชสหกรณ์ ๒. นายพันตรี วิลาศ โอสถานนท์)

ก่อนหน้า วิลาศ โอสถานนท์ ถัดไป
-
ประธานพฤฒสภา
(4 มิถุนายน 2489 - 24 สิงหาคม 2489)
พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน)